Home » เหตุใด ค่ายญี่ปุ่น “ปรับโฉมรถช้า” ในเวลานี้ ?
บทความ สกู๊ปเด็ด

เหตุใด ค่ายญี่ปุ่น “ปรับโฉมรถช้า” ในเวลานี้ ?

ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา นับเป็นช่วง ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตขึ้นอย่างมาก จนเริ่มสร้างผลกระทบ จากการมาของผู้ผลิตชาวจีนต้นเหตุนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวที่กำลังเกิดขึ้น เพราะในระดับโลก กระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า กำลังท้าทายผู้ผลิตหน้าเก่าหลายราย โดยเฉพาะจากค่ายญี่ปุ่น

ไหนจะภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคงไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก แม้ว่าโควิด-19 จะผ่านมาสักระยะใหญ่ จนทำให้เรากำลังเห็น กระแสบางอย่างจากผู้ผลิตชาวญี่ปุ่น ที่เริ่มประวิงเวลา ปล่อยรถรุ่นใหม่ออกมาช้าลง โดยเฉพาะในบรรดา รถระดับ Mass Market ขายทั่วโลก ที่ควรเปลี่ยนรุ่นแปลงร่างอย่างรวดเร็วตั้งนานแล้ว แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นอยู่ดี

Mazda2-diesel-launched034

กระแสเลื่อนการขายรถรุ่นใหม่ ทั้งที่ถึงเวลาที่ควรปรับรุ่นปรุงโฉม เริ่มมีการพูดถึงกันบ้างในช่วงปีทีผ่านมา แม้จะอยู่ในวงแคบ แต่ก็มีการจับสังเกตว่าน่าจะเป็นเรื่องจริง

ข้อสังเกตเด่นชัดก็มาจาก การที่บรรดาผู้ผลิตชั้นนำทั้งหลาย ต่างยังคงขายรถรุ่นปัจจุบันโดยเป็นรุ่นที่ถูกลากยาวมาเกือบ 10 ปี ซึ่งถือว่าเกินอายุขัยผลิตภัณฑ์ที่ควรจะเป็นไปมาก (รถเก๋งจะมีอายุ 7-8 ปี รถกระบะอาจมีอายยุ 9-10 ปี) ทั้งที่หลายรุ่นขายดี และหากเปลี่ยนรุ่นใหม่ เข้าทำตลาดก็น่าจะสร้างเสริมยอดขาย ให้เป็นกอบเป็นกำได้อย่างชัดเจน

เทรนด์นี้เราไม่ถึงกับต้องไปมองดูในต่างประเทศ เพราะเห็นได้ประเทศไทยของเราเองก็ค่อนข้างชัด เพราะหากวาดตาไปในตลาดปัจจุบัน จะพบว่า ในประเทศไทย มีรถจำนวนหนึ่งที่ ขายมาตั้งแต่ราวๆ ช่วงกลางทศวรรษก่อน และยังไม่มีการเปลี่ยนรุ่น ทั้งที่น่าสมควรแก่เวลาแล้ว

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า มาจากการระบาด ของโควิด-19 ที่ทำให้หลายค่ายต่างตัดสินใจ ชะลอการเปิดตัวรถใหม่ไปก่อน เพราะถึงเปิดตัวมาก็แป็ก ยอดขายไม่โดดเด่นเข้าตา แถมเมื่อพ้นภัยมา ภาวะการทำตลาดก็ยังไม่สู้ดีจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แถมมีศึกรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาอีกด้วย

ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน นั่นคือ รถยนต์ยอดนิยมขวัญใจวัยรุ่น Mazda 2 , โดยทางค่ายได้ทำการปรับรุ่นมาสด้า 2 ในปี 2015 แนะนำในฐานะรถ ตามโครงการอีโค่คาร์ระยะที่ 2

ถึงมาสด้า จะมีกระแสข่าวเรื่องโครงการ มาสด้า 2 รุ่นใหม่ มาโดยตลอดไม่ว่า จะเป็นกระแสว่า เครื่องยนต์ดีเซลไปต่อ เครื่องเบนซิน จะมีระบบใหม่ และ อาจจะมีระบบเครื่องยนต์ EREV ออกมาขาย ในอนาคต ด้วยขุมพลังโรตารี่ รวมถึงจะมีการแนะนำโครงสร้างตัวถังใหม่ด้วย

ทว่า มาสด้า 2 รุ่นใหม่ ยังไม่มีการวางขายในระดับโลก หรือ กระทั่งโชว์ว่าที่ตัวรถรุ่นใหม่ ในฐานะต้นแบบที่ไหนมาก่อน นับเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจุบัน ยังมีการปรับตัวรถในเชิง ยืดอายุให้โดนใจลูกค้า จากหลายเจ้า ด้วยการอัพเกรดขนานใหญ่ ให้สามารถต่อลมหายใจ แข่งกับสินค้าใหม่ๆได้

ตัวอย่างหนึ่ง ที่ค่อนข้างชัดเจน คือ Mitsubishi Pajero Sport ใหม่ ล่าสุด ที่เพิ่งจะมีการปรับรุ่นปรุงโฉมไปหมาดๆ โดยอัพเกรดเครื่องยนต์ใหม่ล่าสุด ยกจาก Mitsubishi Triton มาใส่

กรณีนี้เป็นเคสที่น่าสนใจ เพราะแม้ว่าจะเป็นการปรับเพื่อให้เข้ากับมาตรฐานไอเสียยูโร 5 ที่เพิ่งจะบังคับใช้เมื่อต้นปี พ.ศ 2567 ที่ผ่านมา กลายเป็นไฟล์ทบังคับ ให้หลายค่ายต้องปรับปรุงเครื่องยนต์ ในกระบะและอเนกประสงค์จากกระบะ หรือ PPV

แต่ในอีกมุม มิตซูบิชิไม่จำเป็นต้องทำขนาดนี้ก็ได้ เครื่องยนต์เดิมที่วางขายก่อนหน้านี้ ก็สามารถจะผ่านมาตรฐานไอเสียระดับนี้ได้ เนื่องจากมีการส่งไปขายยังยุโรปมายาวนานแล้ว

การเลือกจะเปลี่ยนเครื่องยนต์ ให้รถปลายโฉม ที่มียอดขายไม่ได้มากมายนัก นับเป็นเรื่องน่าแปลก

ส่วนหนึ่ง อาจจะต้องยอมรับว่า ทางมิตซูบิชิเอง น่าจะต้องการต่อลมหายใจ รถรุ่นนี้ไปอีก เพื่อการพัฒนารถรุ่นใหม่ให้ดีขึ้น ซึ่งที่จริงมันอยู่ในแผนว่าที่ผลิตภัณฑ์ใหม่ของมิตซูบิชิแล้ว แต่กว่าจะออกมาขายก็ในราวๆปี 2026 ตามแผนการใช้งบประมาณ 2025 นั่นเอง

มิตซูบิชิ เองไม่ใช่ค่ายเดียวที่ทำแบบนี้ เพื่อนบ้านอย่าง Nissan ล่าสุด มีการปรับ Nissan Navara ก็ใส่ใหญ่จัดเต็ม ถึงภายนอกจะดูเท่าเดิม เปลี่ยนไม่เยอะ เพราะมีแค่เสาวิทยุครีบฉลามที่ถูกเปลี่ยนเข้ามาแทนเสาลวดดั้งเดิม แต่พอเข้ามาภายใน พี่แกเล่นเปลี่ยนทั้งคอนโซล

กับกระบะที่มียอดขายไม่ได้มากมายนัก ในปลายโฉมต้องเล่นใหญ่กันขนาดนี้ ก็นับว่า นิสสันใจป้ำไม่น้อยกับลูกค้า

แต่ถ้ามองในอีกมุมการเปลี่ยนมากขนาดนี้ ก็คงต้องการซื้อเวลาให้ นิสสัน นาวาร่า รุ่นใหม่ ที่มีแนวโน้ม จะเปิดตัวในปี งบประมาณ 2025 คล้ายกับทางมิตซูบิชิเช่นกัน

นอกจากทั้ง 2 ค่าย กระบะแล้ว เบอร์รองแล้ว ในกลุ่มตลาดหลักอย่าง โตโยต้า เมื่อต้นปี ก็เพิ่งจะปรับ Toyota Hilux Revo ไป ด้วยหน้าตาใหม่ พร้อมเครื่องยนต์ผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 5

แถมยังมีรุ่นพร้อมลุย Toyota Hilux Revo GR Sport Wide Tread ออกมา ซึ่งเป็นรุ่นใหญ่ จัดหนักมาเต็ม ตอบลูกค้า สายลุย ชนิดจองวันนี้รับรถปีหน้า ยอดขายทะลุเพดาน

รีโว่ วางขายครั้งแรกในปี 2015 นั่นหมายความว่าที่จริง รุ่นใหม่ก็น่าจะเปิดตัวปีหน้า ถ้าเปลี่ยนตามรอบผลิตภัณฑ์ แต่การปรับครั้งนี้ ก่อน 1 ปี ที่จะเปลี่ยนรุ่น ทำให้รถใหม่จะต้องเลื่อนออกไป

ถ้ามองอีกเหตุผลสำคัญในกลุ่มกระบะ คือ ประเทศไทย มีแผนในปรับมาตรฐานไอเสียสู่ยูโร 6 ในปี พ.ศ. 2569 หรือ ปี 2026

หากเป็นไปตามมาตรการนี้ การแนะนำ รถกระบะโฉมต่อไป สมควรจะเป็นรถที่ผ่านมาตรฐานไอเสียใหม่ ระดับ ยูโร 6 ไปเลย

เรื่องนี้ก็มีความเป็นไปได้เพราะ แบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง อีซูซุ มีการเร่งผลิตภัณฑ์ ด้วยการปรับตัวรถ Isuzu D-max เมื่อไตรมาส 3 ปีที่แล้ว หรือ เพียง 3 ปี ก็ปรับโฉมแล้ว นับเร็วกว่ากำหนด ปกติรถกระบะ จะอยู่ในตลาดราวๆ 10 ปี เปลี่ยน รุ่นปรับหน้า ทุก 4 ปี โดยประมาณ

นั่นทำให้ อีซูซุ อาจคำนวนว่ารีบปรับ เพื่อปรับครั้งต่อไป จะได้สอดรับกับมาตรฐานใหม่ที่จะออกมาในอนาคต ซึ่งก็จะอยู่ในช่วงกรอบเวลาที่ดี

จากทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้ผลิตหลายราย เริ่มเกมดึงเชง ไม่ปล่อยรุ่นใหม่ จนกว่าหลายอย่างจะนิ่งกว่านี้ ทั้งภาวะเศรษฐกิจ, มาตรฐานไอเสีย รวมถึง ทิศทางของเทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้า ว่าจะกินรวบตลาด หรือ กินแบ่งส่วนกัน แน่

นั่นทำให้เราในวันนี้ จึงเห็นว่า ตลาดรถยนต์ใหม่ ดูขาดสีสันไปบ้าง รุ่นใหม่ที่ทำตลาดส่วนใหญ่ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าตามกระแสนิยม หรือปรับ เอาให้ขายได้ตามกฏมาตรฐานยูโร 5

แต่ในอีกไม่นาน เราน่าจะได้เห็นความเคลื่อนไหว จากทางฝั่งญี่ปุ่นกันอีกครั้ง เหมือนดังวันดีๆในอดีต

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.