Home » PM 2.5 .. ปัญหา และทางออก อากาศเน่าคนกรุง
Blog Buster บทความ

PM 2.5 .. ปัญหา และทางออก อากาศเน่าคนกรุง

เปิดปีใหม่มา นอกจากพายุปาบึกที่ข้ามาทางภาคใต้แล้ว ในกรุงเทพมหานครรวมถึงพื้นที่ปริมณฑล ดูจะเผชิญปัญหาใหม่ ค่าละอองฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน ถือเป็นปัญหาที่ทุกคนกำลังกังวล หน่วยงานรัฐออกมาพยายามแก้ไขอย่างจริงจัง หากความจริงจำเป็นต้องหาทางแก้ในระยะยาว

ฝุ่น  PM 2.5   คืออะไร

ฝุ่น หรือ ละอองฝุ่น ถูกเรียกว่า Particulate Matter  หรือแทนคำอั้นเยิ้นเย้อได้ว่า “PM”    

ค่าขนาดของฝุ่นถูกวัดและกำหนดเป็นค่าความหนา เป็นหน่วยไมครอน เพื่อให้เห็นภาพถึงขนาดที่เล็กมากจิ๋วมากของมัน ค่าความเล็กของมันจิ๋วขนาดไหน ลองคิดถึงผมของเราบนศรีษะครับ นั่นคือขนาด 50-70 ไมครอน ฝุ่นที่เราเห็นได้ด้วยตาเปล่าเช่นฝุ่นก่อสร้าง ฝุ่นทรายเป็นต้น มีขนาด 10 ไมครอน ดังนั้นฝุ่น  PM2.5   จึงเล็กว่าฝุ่นเหล่านี้ 4 เท่า และเราอาจไม่สามารถเห็นมันด้วยตาเปล่าได้

มันมาจากไหน

ฝุ่น  PM 2.5   มาจากไหน ?? เป็นคำถามที่เชื่อว่าหลายคนอาจจะอยากทราบ แหล่งกำเนิดฝุ่น   PM 2.5  มีจำเลยหลักอยู่ 3-4 แหล่งด้วยกัน ได้แก่

1.การปล่อยไอเสียของรถยนต์ทั้งเบนซินและดีเซล

2.การเผาไหม้ขยะ เผาป่า เผาไร่

3.จากโรงงานต่างๆบางประเภท รวมถึงโรงงานไฟฟ้า

4.เกิดจากบางปรากฎการณ์ของธรรมชาติ แต่หาได้น้อยมากในความเป็นจริง

ฝุ่นในกรุงทพมหานคร ที่เปลี่ยนสยามเมืองยิ้ม เป็นสยามเมืองฝุ่น มีสาเหตุมาจากไหน ถ้ามองจากโจทย์ทั้ง 4 ข้อที่บอกไปข้างต้น จะพบว่า ตั้งแต่ข้อ 2-4 ไม่มีทางเป็นไปได้ หรือเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจาก สภาพพื้นที่ในกทม. ไม่มีการทำไรทำสวน มีโรงงานจริง แต่ก็มักจะตั้งในเขตชานเมืองมากกว่าในเมือง  

ดังนั้นเมื่อสโคปจำเลย ลงมา จะพบว่า ท้ายที่สุดปัญหา คือ รถยนต์ที่เราใช้เป็นประจำนี่แหละที่เป็นปัญหาเรื่องความสะอาดบริสุทธิ์อากาศในเมืองหลวง

รถเครื่องดีเซล ต้นตอปัญหา จริงหรือ

ในช่วงเริ่มแรกไม่มีใครเชื่อ ตามที่ทางทีมงาน   Ridebuster  เคยนำเสนอไปว่า แม้ที่จริงแล้วรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลอาจจะเป็นปัญหาสำคัญ ฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพมหานคร

หลายคนต่างเชื่อว่า ฝุ่นต่างๆ เหล่านี้มาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายพร้อมๆ กัน นับเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปตลอดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนรัฐบาลแล้วพยายามผลักดันประเทศให้พัฒนามากขึ้น

ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจหลักวิศวกรรมที่แตกต่างกันระหว่างเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล เสียก่อน จึงจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ว่าทำไมเครื่องดีเซล จึงตกเป็นจำเลยในการปล่อยมลพิษฝุ่นละออกมากกว่าเครื่องเบนซิน

เครื่องยนต์เบนซินในปัจจุบัน ทำงาน 4 จังหวะสำคัญ ได้แก่ ดูด-อัด-ระเบิด-คาย กลับกันเครื่องยนต์ดีเซล ดูด-อัด-กำลัง-คาย 

CRV-diesel (3)

ความแตกต่างระหว่างเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลข้อสำคัญ อยู่ที่เครื่องยนต์ดีเซล ใช้วิธีการอัดอากาศ ให้ห้องเผาไหม้ จนมีอุณหภูมิถึง 700 องศา มันก็เหมือนคุณสูบจักรยานแล้วรู้สึกว่าตัวสูบมันร้อนขึ้น ดีเซลอัดอากาศเพื่อให้อากาศมีความร้อนมากขึ้น เพียงพอที่จะฉีดน้ำมันเข้าสู่ห้องเผาไหม้แล้วเกิดการจุดระเบิดได้ทันที

กลับกันเครื่องยนต์เบนซินพวกมันเพียงใช้การผสมระหว่างน้ำมันกับอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ลูบสูบทำหน้าที่เพียงอัดส่วนผสมแล้วจุดระเบิดด้วยหัวเทียน เพื่อให้กำลังเท่านั้นเอง

ในอดีต ดีเซลไม่ได้ใช้หัวฉีดน้ำมันเป็นตัวกำหนดช่วงเวลาการจุดระเบิดแบบในปัจจุบัน แต่ใช้หลักการเดียวกับเครื่องยนต์เบนซินในการผสมน้ำมันดีเซลเข้ากับอากาศก่อนแล้วจึงดูดเข้าไปในห้องเผาไหม้ ใครที่อายุมากกว่า 40 ปี แล้วเคยผ่านมือรถเครื่องดีเซล คงจะคุ้นหูกับระบบ Swirl Chamber  ในอดีต ซึ่งจะเอาอากาศมาผสมกับน้ำมันก่อนนำไปจุดระเบิด

ช่วงเวลาเดียวกันบริษัทรถยนต์บางรายพัฒนาระบบใหม่แบบฉีดตรง หรือ   Direct injection   ทำให้เครื่องยนต์ดีเซลลดปัญหาการใช้งานบางประการ และทำกำลังมากขึ้น แนวคิดนี้ถูกใช้มาเรื่อยแล้วมีการพัฒนาต่อเนื่องจนมาถึงยุคปั้มและหัวฉีดไฟฟ้า ที่สามารถจ่ายน้ำมันได้ละเอียดจนเผาไหม้ได้สมบูรณ์มากขึ้น หากก็ก่อให้เกิดผลที่ตามมาอย่างคาดไม่ถึง

ตามรายงานจากคณะกรรมการดูแลทรัพยากรอากาศแคลิฟอร์เนียเผยว่า  ดีเซลมีฝุ่นละออง  PM2.5  จากการเผาไหม้มานานแล้ว และรับผิดชอบร้อยละ 8 ของความสกปรกของอากาศในเขตเมืองแคลิฟอร์เนีย

สารที่อยู่ในควันเครื่องยนต์ดีเซล ประกอบ ด้วย 3 ส่วน สำคัญ คือ

1.ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์

2.คาร์บอนไดออกไซด์  

3.เขม่าการเผาไหม้

ก่อนอื่นเชื่อว่าน้อยคนน่าจะรู้จักแก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์น้อยมาก หรือแทบไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำไป

ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ หรือ   Nox   เป็นก๊าซที่เกิดจากการผสมของไนโตรเจนและออกซิเจน  มีผลทำให้เกิดการฝุ่นควัน (Smog)  และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดฝนกรดด้วย

ตัวก๊าซไนโตรเจนเมื่อปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ดีเซลแล้ว จะผสมเข้ากับอากาศทำให้เกิดก๊าซดังกล่าว โดยรายงานจากยุโรปในปี 2011 ชี้ว่า  Nox  กว่าร้อยละ 40 เกิดจากการใช้ยานพาหนะทางถนน และในช่วงเดียวกัน การสำรวจในลอนดอน ชี้ว่าร้อยละ 65  มาจากการใช้รถใช้ถนนของคนเมือง

ในทางหนึ่งการเกิด  Nox   จำนวนมากสร้างฝุ่นละอองจากกระบวนการเผาไหม้ หรือ   PM   ด้วยในทางหนึ่ง อันเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงเจอปัญหาฝุ่นละอองในกทม.เยอะมาก จนกำลังพูดถึงในขณะนี้  

ส่วนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เช่นเดียวกับเขม่าการเผาไหม้หรือ คราบควันดำเกิดขึ้นเมื่อเกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งไม่ว่าตัวไหนก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเลยต่อทั้งโลกและเรา

ดีเซลไทยสะอาดแค่ไหน!! 

หลายคนอาจจะอยากรู้บ้านเราใช้กฎไอเสียเครื่องยนต์ดีเซลให้มีการกรองสะอาดมากแค่ไหน

ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจ เรื่องของมาตรฐานไอเสียยูโร หรือที่ในข่าวคราวต่างๆ เรียกว่า  Euro Emission Standard   – มาตรฐานยูโร เป็นสิ่งที่บังคับใช้มานานมากแล้ว และในไทยเราก็กำลังปฏิบัติตามเช่นกัน

ความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นมีมานานมาในยุโรป โดยคณะกรรมการสหภาพยุโรปเห็นว่าถ้าไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงหรือข้อกำหนดใดๆ จะทำให้รถยนต์ปล่อยมลภาวะอย่างบ้าคลั่งและโลกอาจไม่สวยงามเหมือนปัจจุบันนี้

เครื่องยนต์ดีเซลในรถยนต์มาสด้า เป็นแบบ Euro 5

การกำหนดค่าดังกล่าวเริ่มขึ้นในปี 1992 แล้วขยับมาเป็นดีเซลยูโร 2 ในปี 1996 ในปี 2000 กลายเป็นดีเซลยูโร 3 และในปี 2005 กลายเป็นดีเซลยูโร 4

ในประเทศไทยทางภาครัฐบังคับให้บริษัทรถยนต์พัฒนาน้ำมันออกมาเป็นดีเซลยูโร 4 ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 หรือ ในช่วงเวลาเดียวกับในยุโรป มีแผนจะบังคับยูโร 5 ในปี 2009  และยูโร 6 ในปี 2015 ต่อไป

การละเลยของภาครัฐนับว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้บริษัทรถยนต์ไม่พัฒนารถยนต์ให้ปล่อยไอเสียน้อยลง เนื่องจากไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัท หากไม่ได้มีการบังคับจากหน่วยงานรัฐบาล ทำให้รถยนต์ที่เราใช้ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรถเก๋งและรถกระบะปล่อยไอเสียตามมาตรฐาน  Euro 4

เครื่องยนต์ในรถบางรุ่นสามารถอัพเกรดเป็นดีเซลยูโร 5 ได้ ทันที

ถ้าพูดให้เห็นภาพ ในการขับระยะทาง 1 กิโลเมตร จะปล่อยไอเสีย 0.5 กรัม ต่อกิโลเมตร ปล่อย Nox   0.25 กรัมต่อกิโลเมตร และปล่อยฝุ่นละออง 0.025 กรัมต่อกิโลเมตรเท่านั้น แต่เมื่อรถดีเซลมีจำนวนหลังหลายหมื่นคันแออัดในเมืองก็เป็นผลตามที่กำลังเกิดขึ้นปัจจุบัน

ไม่เข้าใจเรื่องไอเสีย คนไทยจึงละเลย

ในมุมหนึ่งปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นมาจากความไม่เข้าใจและเล็งเห็นว่าไม่จำเป็น ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งไม่สนใจเรื่องการปล่อยไอเสียเท่าไรนัก

ด้วยสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นของเครื่องยนต์ดีเซลในระยะหลัง ทำให้เครื่องยนต์ได้รับความนิยมมากขึ้นจากผู้ใช้ เมื่อประกอบพัฒนารถกระบะดั้งเดิมของคนไทย ทำให้เครื่องยนต์ดีเซลยิ่งได้รับความนิยม

ด้วยสมรรถนะเครื่องยนต์อันยอดเยี่ยม ทำให้เครื่องยนต์ดีเซล มักถูกนำมาปรับแต่งตามความต้องการ เราจะได้ศัพท์คำว่า ดันราง ยกหัวฉีด กระบะซิ่งมาในระยะหลังนี้ และการปรับแต่งเครื่องยนต์เหล่านี้ไม่ได้มีกฎหมายควบคุม หรือเข้าไปดูแลอย่างจริงจัง แม้ว่าจะวิ่งกันควันดำฉุนทั่วทุกพื้นที่

รถกระบะและอเนกประสงค์เครื่องดีเซล เป็นที่นิยมของคนไทย เนื่องจากเชื่อว่าประหยัดกว่าเบนซิน

กระบะซิ่งคนไทยนับเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ฝุ่นละอองมากขึ้น เนื่องจากการรีดสมรรถนะจากเครื่องยนต์มากขึ้นหมายถึง จำเป็นต้องเพิ่มการจ่ายน้ำมันให้กับเครื่องยนต์เพื่อให้สมรรถนะสูงสุด ทำให้เกิดควันดำเวลาขับขี่ ซึ่งควันดำเหล่านี้เป็นสารประกอบอันตรายก่อมะเร็งกว่า 40 ชนิด

กระบะแต่งซิ่งในปัจจุบันมีมากมายและเห็นได้ทั่วไป แต่ไม่มีการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิด ทั้งที่สามารถเห็น และสามารถจับกุมได้ทันทีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นอกจากปัญหากระบะแต่งซิ่งแล้ว รถดีเซลเก่า ยังไม่ถูกแบนหรือห้ามใช้จากกรมการขนส่งทางบก เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง แต่ปัญหาที่ร้ายกว่านั้นคือ คนจำนวนไม่น้อยปรับแต่งเครื่องยนต์ดีเซล ด้วยความเข้าใจผิด โดยเฉพาะการเข้าใจผิดจากผู้เชี่ยวชาญ หรือช่างยนต์บางกลุ่มให้อุดอุปกรณ์หมุนวนไอเสียหรือ   Exhaust Gas Recirculation   (EGR)  

ทำให้ในความเป็นจริง แม้ว่ารถที่ใช้ในบ้านราจะเป็นมาตรฐานไอเสียยูโร 4 ตอนออกจากโชว์รูมแต่ขับจริงใช้งานจริง อาจเหลือเพียงยูโร 3 เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเรื่องจำเป็นต่อการมีตัวบทกฎหมายในการกำกับ ควบคุมดูแลรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ให้ต้องอยู่ในสภาพเครื่องยนต์สมบูรณ์พร้อมใช้งาน และห้ามมิให้มีการปรับแต่งอย่างอิสระเสรี โดยปราศจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมกำกับดูแล จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

พัฒนาดีเซลให้ลดฝุ่น ได้หรือไม่

เป็นที่ทราบกันดีในวงการวิศวกรรมยานยนต์ว่า เครื่องยนต์ดีเซล เป็นเครื่องยนต์ที่ปล่อยมลภาวะค่อนข้างสูง แต่ระยะหลังได้รับความนิยม เนื่องจากมีงานวิจัยและการพิสูจน์ว่า เครื่องยนต์ดีเซลสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าเครื่องเบนซิน และมีประสิทธิภาพในการขับขี่ดีกว่าด้วย

2017Honda-CRV-Diesel-Review004

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทย การประกาศมาตรฐานไอเสียดีเซล   Euro 4  ที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน นับเป็นความน่าผิดหวังต่อภาครัฐบาลไทย ต่อความจริงจังทางด้านเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งที่มีการวางแผนงานในการลดปัญหามลภาวะต่อเนื่องอยู่แล้ว ในแผนงานของทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การพัฒนาให้เครื่องยนต์ดีเซลสะอาดขึ้นไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ หาก จะต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่าย รวมถึงยังต้องสร้างความเข้าใจกับภาคประชาชนให้ตระหนักถึง พิษร้ายของควันไอเสียจากดีเซล อันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพตัวผู้ใช้ รวมถึงผู้คนรอบข้างด้วย

อันดับแรกที่จะทำให้ไอเสียจากดีเซลมีความสะอาดขึ้น ต้องเริ่มจากภาครัฐกำหนดมาตรฐานไอเสียในเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นต่อไปให้มีความสามารถในการปล่อยไอเสียสะอาดขึ้น

เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบัน อาทิจากมาสด้า , มิตซูบิชิ ,ฟอร์ด และอื่นๆ อีกหลายเจ้ามีความสามารถที่จะกรองไอเสียได้ในมาตรฐาน   Euro 6 เพียงแค่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติม ได้แก่  Diesel  Particle Filter   และ   Selective Catalytic Reduction ซึ่งทั้ง 2 ไม่ได้เพิ่มราคามากมายนักให้

Ad Blue สารเติมเพื่อใช้ในการลดฝุ่นเขม่า และ ฉีดทำลาย Nox ที่ออกมาจากการเผาไหม้เครื่องดีเซล

แต่ปัญหาสำคัญกลับตกไปอยู่ที่คนใช้ ซึ่งยังไม่เข้าใจระบบซับซ้อนในการกรองไอเสียดีนัก จนหลายครั้งทำให้เกิดปัญหาในขับขี่ อันมาจากผู้ใช้ยังไม่เข้าใจกระบวนการทำงานของระบบว่า ทำงานอย่างไร และต้องดูแลรักษาอย่างไรบ้าง

เครื่องยนต์เองเมื่อพร้อมสำหรับารกรองไอเสียมาตรฐานที่สูงขึ้น สิ่งที่จำเป็นตามมาก็หนีไม่พ้นคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะต้องมีประสิทธิภาพตามได้ด้วย น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพดีกำมะถันต่ำจำเป็นอย่างมากสำหรับรถที่ใช้ดีเซลยูโร 5 -6 แม้ว่าปัจจุบันปั้มน้ำมันหลายรายจะมีการออกน้ำมันเกรดพรีเมี่ยมประเภทสังเคราะห์พิเศษออกมา เพื่อให้ประสิทธิภาพการเผาไหม้ดีขึ้น ทว่าก็ยังไม่ได้การันตีการรองรับมาตรฐานไอเสียสูงขึ้น และส่วนใหญ่จะพูดเพียงว่าประหยัดกว่าแรงกว่า ไม่มีการพูดถึงแง่สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

รถยนต์จากยุโรปเครืองยนต์ดีเซล ที่ขายในบ้านเราส่วนใหญ่เป็น Euro 6 แล้ว

และท้ายสุดสิ่งที่จะลดการเกิดฝุ่น  PM 2.5   จากเครื่องยนต์ดีเซลได้จริงๆ คือการพยายามผลักดันสนับสนุนให้ผู้ใช้รถดีเซลเก่า ต้องเปลี่ยนรถยนต์ไปสู่รุ่นใหม่ เช่นการไม่ให้เครื่องยนต์ดีเซลที่มีมาตรฐานการปล่อยไอเสียต่ำกว่ายูโร 5 ใช้ในเมือง รวมถึงสมควรจะต้องสนับสนุนผู้ใช้เปลี่ยนรถใหม่ เพื่อให้รถส่วนบุคคลที่มีปริมาณการใช้งานมากในเมืองหลวงมีความสะอาดมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นหากเป็นไปได้ รัฐบาลต้องหาวิธีการให้คนรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นใช้รถยนต์ในเมืองมากขึ้น ความสะดวกของระบบขนส่งมวลชนที่ต้องครอบคลุมเข้าถึง และมีความสะดวกสบายมีความจำเป็นต่อการพัฒนาอย่างยิ่ง

ในส่วนของระบบขนส่งมวลชนที่ใช้รถวิ่งให้บริการ อาทิ รถโดยสารประจำทาง หรือรถโดยสาร BRT   สมควร เปลี่ยนไปสู่ระบบไฮบริด หรือใช้รถเมล์ระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า ทดแทนรถเมล์เก่าเดิมที่ใช้ต่อเนื่องมายาวนาน นับหลายสิบปี 

ส่วนในภาคโรงงานอุตสาหกรรมที่มีส่วนในการปล่อย  PM2.5   ด้วยจากกระบวนการผลิตบางอย่าง ต้องไปจัดระเบียบควบคุมมลพิษจากโรงงานอย่างเข้มงวด ต่อไป

สู่ไฮบริดการลด  PM2.5  คนเมืองยั่งยืน

ปัญหา  PM2.5   และดูเหมือนจะบรรเทาแล้วในวันนี้ แต่มลภาวะแบบนี้จะกลับมาได้ทุกเมื่อ ที่เราปล่อยปละละเลย ฝุ่นขนาดเล็กส่งผลต่อสุขภาพในเมืองกรุง ปัญหามาจากการใช้รถยนต์ของพวกเรา โดยเฉพาะความนิยมของรถยนต์กระบะ-อเนกประสงค์ดีเซล เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

แนวทางสำคัญของเรื่องนี้ต้องมีการจัดการคล้ายในยุโรป ซึ่งบทสรุปของเครื่องยนต์ดีเซลคือการมุ่งสู่นวัตกรรมเครื่องยนต์ไฮบริด ไม่ว่าจะดีเซลหรือเบนซินไฮบริด ทั้งคู่ต่างลดการปล่อยก๊าซอันตราย และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5   ได้อย่างยั่งยืน

ระบบเครื่องยนต์ไฮบริด อาศัยการทำงานของมอเตอร์เข้าช่วยการทำงานเครื่องยนต์ทำให้มันลดปล่อยไอเสีย ใช้น้ำมันน้อยลงในการขับขี่ และยังเก็บพลังงานบางประการที่สูญเปล่ามาแปรเปลี่ยนเป็นกำลังขับเคลื่อนได้ด้วย เป็นการใช้งานระบบขับเคลื่อนที่คุ้มค่าครบครันพอสมควร

การสนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ไฮบริดมากขึ้นจะทำให้สิ่งแวดล้อมในภาพรวมดีขึ้นอย่างต้องสงสัย แต่ปัญหาของคนไทย คือความรู้มาก จนกลายเป็นความตื่นกลัวต่อเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้นการใช้รถไฮบริดอาจจะต้องเริ่มจากระบบขนส่งมวลชน ซึ่งมีปริมาณรถโดยสารประจำทางจำนวนมากที่วิ่งในเมือง และรถเหล่านี้เป็นรถเมล์เก่าอายุมากกว่า 20-30 ปี รถบางคันวิ่งมาตั้งแต่สมัยผมยังเด็กจนวันนี้ย่างเข้าวัย 30 กลางๆ ก็ยังใช้งานควันกลบตูดอยู่

การเปลี่ยนรถเมล์มาสู่รถไฮบริด น่าจะเป็นทางออกแรก ก่อนจะออกนโยบายทำให้คนสนใจอยากครอบครองรถไฮบริด แทนรถเก่าที่บ้าน เมื่อประจวบกับความครอบคลุมของเครือข่ายรถไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งจะเสร็จจริงก้น่าจะในปี พ.ศ. 2563 เป็นต้น เวลานั้นอากาศในเมืองหลวงก็น่าจะดีกว่าที่เป็นอยุ่ทุกวันนี้

ปัญหา  PM 2.5   ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องร่วมด้วยช่วยกันทุกฝ่าย ทั้งประชาชนที่สมควรจะเริ่มตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดีกว่าจะหันหน้าไปคนละทาง ใส่หน้ากากกันฝุ่นเข้าเมืองแล้วคิดว่าจะไม่อันตรายต่อชีวิต หรือภาครัฐที่ควรจะเริ่มให้งบประมาณบทบาทความสำคัญกับหน่วยงานทำหน้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่

การบรรเทาปัญหานี้ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เริ่มจากลดการใช้รถ วางแผนการเดินทาง ลดการใช้ไฟฟ้า ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง ส่วนภาครัฐ ต้องทำให้คนตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะมันคือสิ่งที่เราใช้ร่วมกัน ในทุกยามที่เราสูดอากาศหายใจ

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง – บรรณาธิการบริหาร Ridebuster.com

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.