Home » การจำกัดความเร็วตามกฎหมายจราจรไทย เหมาะสมหรือยัง
speedlimit
บทความ สกู๊ปเด็ด

การจำกัดความเร็วตามกฎหมายจราจรไทย เหมาะสมหรือยัง

ตั้งแต่เมื่อช่วงก่อนวันหยุดยาวที่ผ่านมา โลกออนไลน์ตื่นตัว กับ การประกาศบางพื้นที่ของจังหวัดสระบุรี เป็นเขตจำกัดความเร็ว 60 ก.ม./ช.ม.  และในระยะช่วงวันสองวันที่ผ่านมา เรื่องความเร็วตามกฎหมายกำหนด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีการพูดถึงมากขึ้น และดูเหมือนจะมีความจริงมากขึ้น ในหลายๆ ทาง หลายพื้นที่ตั้งไปจำกัดความเร็ว และน่าจะเตรียมบังคับใช้ในเร็วๆ นี้

ความเร็วตามกฎหมายกำหนดใหม่ในเขตเมือง ถูกรายงานว่า มีการบังคับใช้ในบางพื้นที เช่น พื้นที่จังหวัดนนทบุรี ช่วงก่อนถึงสะพานพระราม 4 พร้อมกล้องตรวจจับความเร็ว และ พื้นที่ถนนพระราม 2 ช่วง ก่อนถึงจังหวัดสมุทรสาคร 

การจำกัดความเร็วดังกล่าว อาจจะมีเจตนาที่ดีเพื่อ ป้องกันอันตรายที่เกิดจากการขับขี่ และลดอุบัติเหตุ หรือความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว แต่คำถามที่หลายคนสงสัยไม่แพ้กัน คือว่า รัฐบาลเอาอะไรมาพิจารณา ว่า ความเร็วเท่าใด จึงจะเหมาะสม

60 ก.ม./ช.ม. ไม่ใช้กฎหมาย แต่ขอความร่วมมือ

หลังจากที่มีกระแสข่าวออกมาเรื่องการบังคับใช้ความเร็วไม่เกิน 60 ก.ม./ช.ม. ในบางพื้นที่ ทีมข่าว   Voice TV ได้ติดตามกรณีดังกล่าวและทางเจ้าหน้าที่ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี ได้ออกมาชี้ แจงว่า การบังคับดังกล่าวได้เลือกในส่วนของพื้นที่ชุมชน และใกล้สถานศึกษา การบริหารความเร็วเขตชุมชน ไม่ได้ตรวจจับด้วยกล้องวงจรปิด แต่เป็นเชิงขอความร่วมมือ ทำให้ผ่อนคลายสถานการณ์คับขันจากความไม่เข้าใจของประชาชนไปได้

ทว่าการที่ป้ายจำกัดความเร็ว 60 ก.ม./ช.ม .ยังโผล่ในอีกหลายพื้นที่ ในเส้นทางระหว่างเมืองเช่นรถนนพระราม 2 ช่วงนาเกลือ ถนนราชพฤกษ์ และคาดว่าจะมีอีกหลายเส้นทางที่ออกกฎในลักษณะนี้ตามมา ส่งผลต่อการเดินทางของประชาชน ซึ่งจนถึงบัดนี้ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ใดๆ สร้างความแคลงใจว่า สรุปแล้ว รัฐบาลจะบังคับใช้จริงหรือไม่

เดิมทีตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในพรบ. จราจรทางบก 2522 ระบุให้รถยนต์ สามารถขับในเขตเมืองได้ไม่เกินความเร็ว 80 ก.ม./ช.ม. และ นอกเขตสามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 100 ก.ม. ก่อนที่จะมีการปรับลดความเร็วนอกเขตเมืองเหลือเพียงไม่เกิน 90 ก.ม./ช.ม. และบังคับใช้มาจนปัจจุบัน จนกระทั่งทีการสร้างมอเตอร์เวย์ จึงระบุให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 ก.ม./ช.ม. บนเส้นทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมือง แต่ก็แค่เพียงบางช่วงการจราจรเท่านั้น

 

ช่องทางหากิน หรือ ห่วงใยประชาชน

การกำหนดความเร็วโดยไร้ซึ่งการดูสภาพความเป็นจริงของการจราจรที่ขึ้นชื่อว่าเป็นถนนสายหลักของประเทศ กำลังเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดข้อกังขาว่า สรุปรัฐบาลทำเพื่อประชาชน หรืออยากหากินกับประชาชนกันแน่

ยิ่งภาพที่ออกมาในตลอดช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์ที่เข้มงวดในเรื่องการจำกัดความเร็วมากขึ้น มีกำหนดความเร็วเดินทางระหว่างเหมืองที่ความเร็ว 90 ก.ม./ช.ม. ทั้งประเทศ เพื่อหวังลดอุบัติเหตุ แต่ตัวเลขกลับไม่ได้น้อยลงไปมากอย่างที่ภาครัฐคิด อย่างบทสรุป 7 วันอันตราย สงกรานต์ พ.ศ. 2560 ชี้ชัดว่า รัฐอาจจะกำลังมองการป้องกันผิดทาง ด้วยยอดอุบัติรวม 3,690 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 243 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 3,808 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 152 ราย  มีเพียงยอดผู้เสียชีวิตรวม 390 ราย แต่ก็ลดลงจากปีก่อนเพียง 52 รายเท่านั้น 

ประเด็นสำคัญของการป้องกันอุบัติเหตที่จริง อาจจะไม่ใช่ความเร็วที่คนขับรถใช้อย่างเดียว อย่างที่ภาครัฐบาลเข้าใจ และพยายามใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินกฎหมาย จนไม่ว่าอุบัติเหตุครั้งไหนที่ร้ายแรงมากๆ ก็ตาม “ความเร็ว” คือตัวการเสมอ

“ความเร็ว” อาจจะดูเป็นสิ่งที่อันตรายในมุมหนึ่ง และมีความจริงที่ว่ายิ่งใช้ความเร็ว การชนที่เกิดขึ้นก็มีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ แต่ถ้ามองในอีกมุมให้ดี จะพบว่า การกำหนดความเร็วที่เหมาะสมและถูกต้องอาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็น และรัฐบาลควรจะคิดไตร่ตรองให้มากก่อนออกกฎหมายใดๆ บังคับใช้ออกมา

“ความเร็ว” ตัวการอันตรายหรือแค่ส่วนหนึ่ง ของอุบัติเหตุ

เมื่อช่วงปี 2013 ในเยอรมัน มีการถกเถียงถึงการกำหนดความเร็วตามกฎหมายในทางด่วนเลื่องชื่อ Autobahn  ทางด่วนที่ไร้ความเร็วตามกฎหมายกำหนดในบางช่วง และแถมยังกำหนดความเร็วขั้นต่ำที่ควรขับขี่ที่ 129 ก.ม./ช.ม.

ในตอนนั้นรัฐบาลเยอรมัน ถูกจูงจมูกให้เชื่อว่า การกำหนดความเร็วบนทางด่วนที่ 120 ก.ม./ช.ม. จะช่วยลดอุบัติภัยทางถนน โดยเฉพาะในเส้นทางที่ไม่จำกัดความเร็วสูงสุด ซึ่งในเยอรมัน มีเพียง 33%  ของเส้นทางมอเตอร์เวย์ที่จำกัดความเร็วสูงสุด  แต่เมื่อมีการศึกษาในรายละเอียดเชิงลึกก็พบว่า ปริมาณรถยนต์ที่ใช้เส้นทางเข้ามามีส่วนเกี่ยงข้องต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย ไม่ใช่จำกัดความเร็วสูงสุดแล้ว จะลดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บเสียชีวิตได้ทันที

ส่วนคณะกรรมการความปลอดภัยในการสัญจรยุโรป dHยอมรับว่า “ความเร็ว” ในการขับขี่เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่ไม่ใช่ทุกอย่างจะเกิดจากความเร็วเท่านั้น

งานวิจัยจาก รูเน่ เอลวิค นักวิจัยจากสถาบันเศรษฐกิจการขนส่งของนอร์เวย์ ชี้ชัดว่า ทุกครั้งที่ความเร็วตามกฎหมายกำหนด เพิ่มขึ้น 4.8 ก.ม./ช.ม. ในการขับขี่จริงของคนใช้รถจะเพิ่มความเร็วในภาพรวม 16 ก.ม./ช.ม. หรือเกือบ 4 เท่า ของความเร็วจริงที่ใช้ งานวิจัยชิ้นนี้ถูกเรียกว่า  Power Model  และได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เนื่องจากมีการเก็บข้อมูลจากอุบัติเหตุกว่า 100 คดี จากกว่าหลายสิบประเทศ

thai-speeding-law (2)

แต่ความจริงในรายงานดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงและอ้างอิงมาตรฐานและพฤติกรรมการใช้รถของคนในแต่ละประเทศ  รวมถึงระยะเส้นทาง จำนวนปริมาณรถที่ใช้เส้นทาง  และรวมถึงภาพรวมของระบบการขนส่งของแต่ละประเทศ ที่นำข้อมูลมาทำการศึกษาวิจัย

ถนนต่างจังหวัด ตายมากกว่า 5 เท่า แต่รัฐมองข้าม

ในช่วงเทศกาลสำคัญ ที่รัฐชอบตั้งชื่อให้มันน่ากลัวว่า “7 วันอันตราย”  แล้วนำตัวเลขอุบัติเหตุ ทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต มารวบรวม สร้างความตระหนักแก่ประชาชนให้ขับขี่อย่างปลอดภัย แต่ตัวเลขดัชนีดังกล่าว อาจจะชี้วัดด้วยเช่นกันว่า อุบัติเหตุ ส่วนใหญ่เกิดในถนนต่างจังหวัด มากกว่าถนนระหว่างเมือง ที่มีความเข้มงวดกวดขันจากเจ้าหน้าที่ตลอดเส้นทาง ทุกจังหวัด-อำเภอ ที่มีถนนสายหลักวิ่งผ่าน

ในหลายประเทศทั่วโลก มีการชี้ชัดว่า ถนนที่ห่างไกลตามต่างจังหวัด (ถนนสายรอง) มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ ที่ทำให้มีการบาดเจ็บสาหัส และ เสียชีวิต สูงกว่าบนเส้นทางที่ขับระหว่างเมือง และหรือมอเตอร์เวย์ ถึง 5 เท่า  อย่างในเยอรมันเอง มีรายงานระหว่างช่วงปี 2007-2009 ว่า อุบัติเหตุตามถนนต่างจังหวัดส่วนใหญ่มีผู้เสียชีวิตร้อยละ 60 ขณะที่ทางหลวงระหว่างเมือง มีผู้เสียชีวิตเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น

Nissan-note-review-ridebuster (19)

“จำกัดความเร็ว” ใช่ได้ผล ที่จริง รถและถนน ดีขึ้น

ภาพหนึ่งการจำกัดความเร็วตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่น่าจะได้ผลทางด้านความปลอดภัย ก็อาจจะจริง อย่างในยุโรป มีการกำหนดความเร็วสูงสุดตามกฎหมาย 130 ก.ม./ชม. แทนที่ 167 ก.ม./ชม. ในเส้นทาง A61  แต่การจำกัดความเร็วไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะความสำเร็จของการลดอุบัติเหตุในเส้นทางนี้ได้ถึงร้อยละ 30  ส่วนหนึ่งมาจากการห้ามรถบรรทุกแซงกันเองด้วย ไม่ใช่กำหนดความเร็วสูงสุดอย่างเดียว

นอกจากนี้ ในปัจจุบันรถยนต์รวมถึงถนนได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขับขี่ปลอดภัยมากขึ้น

ศาสตราจารย์ เบนจามิน  เฮย์เดกเกอร์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวเปิดเผยว่า  ตอนที่รัฐบาลอังกฤษแนะนำความเร็วสูงสุดตามกฎหมายกำหนดใช้ในประเทศ อุบัติภัยทางถนนลดลงเพียง1/13 เท่านั้น แต่ปัจจัยที่แท้จริงที่ทำให้ตัวเลขอุบัติภัยลดลงตลอด 45 ปีที่ผ่านมา คือ รถยนต์ที่มีสมรรถนะในการขับขี่ รวมถึงถนนหนทางที่มีการปรับปรุง ให้ดีขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

Nissan-note-review-ridebuster (6)

กำหนดให้ขับช้า อันตรายมากกว่าที่ผู้คิด

ตั้งแต่มีกระแสว่า ในพื้นที่สระบุรี มีการกำหนดให้ขับช้า  60 ก.ม./ช.ม. ขึ้นมา รัฐบาลคงจะเห็นแล้วว่า ภาคสังคมต่างกร่นด่า และบอกว่า เอาอะไรมาคิด หรือไม่ก็ ท่านคิดได้อย่างไร  

ในมุมมองของรัฐบาล คงไม่พ้นว่า ยิ่งขับช้าก็น่าจะยิ่งปลอดภัย ในขณะที่คนออกกฎหมายอาจไม่ต้องสนใจข้อบังคับนี้ ด้วยเป็นผู้มีอำนาจมีสิทธิพิเศษในการขับขี่ และอาจไม่เข้าใจวิถีการขับรถของประชาชน เลยด้วยซ้ำไป

การขับเร็วเกินไปก็อันตราย แต่การขับช้าเกินไปก็อันตรายไม่แพ้กัน ในต่างประเทศ แนวความคิดที่ว่า คนขับรถช้ากว่ คือคนดี และไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น ถูกล้มล้างไปตั้งแต่เมื่อปี 2012 เมื่อมีรายงานวิจัยหัวข้อ  Driving anger and traffic violations: Gender differences ชี้ว่า ผู้ที่ขับรถช้าหรือตามกฎหมายที่กำหนด อาจจะมีส่วนสำคัญทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนมากกว่าที่คิด

ตามรายงานดังกล่าวเป็นการศึกษาเชิงเพศของผู้ขับขี่ ต่ออารมณ์ในการขับรถ แต่ในส่วนหนึ่งในงานวิจัยยังระบุว่า คนที่ขับรถช้าบนถนนเป็นต้นเหตุของการเกิดอารมณ์ในการขับขี่ได้มากกว่าผู้ที่ขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด  และสร้างความขุ่นเคืองใจให้ผู้ขับขี่คนอื่นๆ บนถนน จนทำให้ผู้คนที่ขับรถตามอาจจะมีอารมณ์เปลี่ยนพฤติกรรมการขับรถ จนเป็นอันตรายต่อไปได้

thai-speeding-law (1)

รายงานวิจัยดังกล่าวตรงกับรายงานการวิจัยล่าสุดจากออสเตรเลีย Accident Analysis and Prevention suggests. ที่เพิ่งจะออกมาในปีนี้ (2017) ระบุว่า เพียงผู้ขับขี่ชับรถช้าลง 5 ก.ม./ช.ม. ในภาวะขับตามการจราจร และช้าลง 3.2 ก.ม./ช.ม. บนการจราจรไหลลื่น  จะเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้ขับขี่รอบข้าง หรือ ที่ขับตามข้างหลัง เกิดหัวเสียในการขับขี่ ไม่ว่าผู้ขับขี่จะขับช้าอยู่แล้ว หรือเพราะเกิดเสียสมาธิในการขับขี่ในการทำกิจกรรมต่างๆ  ในระหว่างขับรถ

 ศาสตราจารย์ Oscar Oviedo-Trespalacios ผู้ทำวิจัยในเรื่อง Accident Analysis and Prevention suggests เปิดเผยว่า การลดความเร็วช้าลงกะทันหัน มีโอกาสที่ทำให้ผู้ขับขี่รายอื่นเกิดหัวเสียในการขับขี่ได้  และก่อพฤติกรรมการขับขี่ที่อันตรายขึ้นมาทันที  ไม่ว่าจะแสดงการแซงที่เกรี้ยวกราด เร่งความเร็ว แซง ปาดซ้ายขวา  จี้ตูด ซึ่งนำมาสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ 

ดังนั้นในกรณีที่รัฐกำหนดความเร็ว 60 ก.ม./ช.ม. ในบางพื้นที่ ที่เป็นเส้นทางระหว่างเมือง

เช่นกรณี ถนนมิตรภาพ ช่วงแก่งคอย ที่มีการกล่าวถึงมายาวนานในโลกโซเชี่ยล  Pantip.com  ซึ่งเป็นทางลาดชันขึ้นเขา และมีรถบรรทุกจำนวนมากใช้เส้นทาง หากผู้ขับขี่ขับรถตามกันมาด้วยความเร็วปกติ 90 ก.ม./ช.ม. ตามกฎหมายกำหนด แต่เมื่อมาถึงจุดดังกล่าวต้องลดความเร็วให้ช้าลง เพื่อจะได้ทำตามกฎหมายไม่โดนใบสั่งเป็นของฝากกลับบ้านให้ดูต่าง แถมยังต้องขับขึ้นเขาอีกด้วย ผู้ขับขี่จะต้องชะลอความเร็วให้ได้ตามกฎหมายกำหนด แล้วขับขึ้นเขาที่มีความลาดชันต่อเนื่อง ซึ่งความเร็วดังกล่าว จะทำให้รถบางประเภท เช่นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก อาทิ อีโค่คาร์ จะไม่มีแรงส่งขึ้นเนินต่อเนื่อง และทำให้การจราจรในภาพรวมชะลอตัว เกิดการติดขัด นำมาสู่อาการรถติดไร้สาระ เพราะรัฐออกกฎโดยลืมนึกถึงความเป็นจริง สภาพเส้นทาง

เช่นกันในพื้นที่ทั่วไป อย่างบนถนนชัยพฤกษ์มุ่งหน้าเข้าปากเกร็ด ถนนสายนี้ดั้งเดิมเป็นของพื้นที่เทศบาล แต่มีการปรับขยายถนนเป็นฝั่งละ 3 เลน เพื่อความสะดวกคล่องตัวในการขับขี่ เชื่อมต่อไปยังถนนราชพฤกษ์ และ วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก ตามกฎหมายจราจรทางบก ขับได้ที่ความเร็ว 90 ก.ม./ช.ม. (บนถนน 3 เลน)  แต่ล่าสุดมีการปักป้าย 60 ก.ม./ช.ม. ในช่วงก่อนโค้งขึ้นสะพานพระราม 4 ฝั่งมุ่งหนเปากเกร็ด

หากต้องปฏิบัติตามกฎหมายบังคับกำหนด เนื่องจากมีกล้องตรวจจับความเร็ว ติดตั้งอยู่ในอีกระยะ 100 เมตร หลังจากป้ายความเร็ส  เท่ากับผู้ขับขี่ต้องชะลอความเร็วทันที 30 ก.ม./ช.ม. ที่เห็นป้าย จึงจะได้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด  และเห็นสมควรว่าปลอดภัย ทั้งที่ข้างหน้าไม่มีอะไร เป็นแค่เส้นทาง 3 เลนปกติธรรมดา ที่สามารถใช้ความเร็วได้ตามปกติ  

จาก 2 ตัวอย่างที่ยกขึ้นมา การกำหนดช่วงความเร็วต่ำเชตเฉพาะ ดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ …..

ความเร็วในเมืองไทยยังไม่เหมาะสม

อ่านมาถึงตรงนี้ ต้องเรียนให้ทราบว่า เจตนาบทความชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการล้มล้างความเชื่อเรื่องการขับตามความเร็วกฎหมายกำหนด แต่เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า มันไม่เหมาะสมในบางพื้นที่ และแทนที่จะเปลี่ยนเรื่องร้ายกลายเป็นดี กลับจะทำให้เลวร้ายลง เสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี การตั้งความเร็วสูงสุดตามกฎหมายกำหนด สมควรจะต้องคิดถึงปัจจัยต่างๆ มากกว่าแค่ ภาพของอุบัติเหตุ หรือจุดเสี่ยงที่เกิดขึ้น เท่านั้น หากยังต้องมองถึงคุณลักษณะถนน  และรูปแบบเส้นทาง ตลอดจนการเคลื่อนตัวของการจราจรในเส้นทางนั้นๆ ยานพานะที่ใช้เส้นทางว่า มีลักษณะใดบ้างด้วย รวมถึงต้องศึกษาพฤติกรรมการขับขี่ในเส้นทางนั้น ก่อนที่จะออกกฎอะไรที่กระทบกับคนในวงกว้าง

thai-speeding-law (3)

ในหลายประเทศ มีการแบ่งความเร็วตามกฎหมายกำหนดอย่างชัดเจน ไม่ใช่แบ่งเพียง ในเขตเมือง, นอกเขตเมือง และทางด่วนเ-มอเตอร์เวย์ เท่านั้น แต่ดูคุณลักษณะถนน ที่ใช้ในการขับขี่เป็นสำคัญว่าถนน เป็นแบบใด และ ควรใช้ความเร็วเท่าใด จะเหมาะสมกับเส้นทาง เพราะช้าไปก็ใช่ว่าจะปลอดภัย ผู้ขับขี่มีความเมื่อยล้ากว่าที่ควรจะเป็น และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ขับเร็วไปก็อันตราย สุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุ เช่นกัน

ตารางแสดงความเร็วตามกฎหมายกำหนดในแต่ละประเทศ

ประเทศ ในเขตเมือง -ชุมชน
(ก.ม./ช.ม.)
ถนนต่างจังหวัดแบบเลนสวน
(ก.ม./ช.ม.)
ถนนต่างจังหวัดแบบ 4 เลน (ก.ม./ช.ม.) มอเตอร์เวย-ทางด่วน
(ก.ม./ช.ม.)
อังกฤษ 48 96 112 112
ญี่ปุ่น  40 60 60 100 (120- บางเส้นทาง)
ออสเตรเลีย 50 100 100 110
ไทย 80 (60 ตามพื้นที่ ที่กำหนด) 90 90 120

 

“ความเร็ว” ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ การที่รัฐออกมาเซทความเร็วตามกฎหมายกำหนดในเมืองโดยไม่ประกาศใช้ไม่มีการประชาสัมพันธ์ ไม่มีการตรากฎหมาย แต่หวังให้คนทำตาม โดยหวังลดความเร็วเพิ่มความปลอดภัย อาจจะเป็นเจตนาที่ดี

หากข้อเท็จจริงการใช้รถใช้ถนน ที่ผู้ออกกฎหมายลืมดูไปยังมีอีกหลายประการ ไม่ว่าจะสภาพเส้นทาง, กระแสการจราจรในเส้นทาง ปริมาณรถ และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งรัฐควรจะต้องกลับไปทำการบ้านให้ชัดเจน เรื่องความเร็วที่เหมาะสมในการขับขี่ สมควรจะทดลองเพื่อทราบข้อเท็จจริง อย่าเอาเพียงคนที่นั่งโต๊ะทำงาน ไม่ได้ขับรถ มีเงินนั่งรถหรู มาออกกฎกับคนใช้ถนนหนทาง ซึ่งไม่ได้มองถึงความเป็นจริงในการใช้รถใช้ถนนคนไทย 
อย่าอ้าง…ทำเพื่อความปลอดภัย ทั้งที่ไม่ได้มองข้อเท็จจริง ในการใช้เส้นทาง

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง

ชอบกดไลค์ใช่กดแชร์ ขอบคุณทุกกำลังใจสำหรับพวกเรา   ridebuster.com 



แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.