ท่ามกลางสงครามรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่กำลังกรุ่นหมาดๆ หลังงาน Motor Expo เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของรถยนต์นั่งขนาดเล็กจากลุ่มเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ตีตั๋วเด็กลงมาสู่รุ่น 1.0 ลิตรเทอร์โบ หมายเกมรถเล็กน่าสนใจอย่างมาก แต่รถนั่งขนาดเล็กก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จในไทยเสียทั้งหมด
ตั้งแต่รถยนต์นั่งขนาดเล็กประเภท Sub Compact Car เข้ามาขายในประเทศไทย เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงตลาดรถยนต์ในภาพรวม คนเริ่มหันมาใช้รถยนต์ขนาดเล็กมากขึ้นจาก รถขนาดเครื่องยนต์ปกติ มาสู่กลุ่มเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ก่อนขยับมาสู่เครื่องยนต์ 1.2 ตามกระแสนิยมอีโค่คาร์ หากในบรรดารถยนต์นั่งขนาดเล็กมากมายในตลาด เรากลับเห็นว่า มีรถบางรุ่นไม่เป็นที่ถูกใจลูกค้า รถเหล่านี้มักมีขนาดเล็กกว่าปกติ ขนาดความยาวตัวรถไม่เกิน 3.6 เมตร และกว้างไม่เกิน 1.6 เมตร พวกมันคือ รถเล็กตัวจริง Subcompact Car A Segment (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า A Car) ซึ่งเดิมทีภาครัฐวางหมากให้รถขนาดนี้เป็นอีโค่คาร์ ไม่ใช่เกม จับเอารุ่นเล็กมาตีตั๋วเด็ก อย่าที่เราเห็นในวันนี้
เป็นเวลานับกว่า 10ปี ที่รถยนต์นั่งขนาดเล็กวัยกระเตาะพยายามเข้ามาทำตลาด และทุกรุ่นเหมือนจะประสบความล้มเหลวทางด้านงานขาย ทั้งที่รถเล็กก็ได้รับความนิยมในไทยไม่น้อยเช่นกัน การเข้ามาของ Proton Savvy , Naza Forza , Cherry QQ ไปจนถึงรถจากบรรดาเจ้าตลาดอย่าง Honda Brio และ Suzuki Celerio ที่ถึงกับต้องเอามือก่ายหน้าผาก จนกว่าจะสิ้นอายุขัยผลิตภัณฑ์
แนวคิดการขายรถยนต์นั่งขนาดเล็กจิ๋วไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนไปก่อนวิกฤติ ต้มยำกุ้ง แบรนด์ Daihatsu เข้ามาแจ้งเกิดในไทย ด้วยความตั้งใจขายรถนั่งขนาดเล็กสู้กันมันหยดด้วยราคาขายแสนถูก ได้รับความนิยมในระดับหนึ่งตามฉบับรถเล็กน่ารักราคาไม่แพง จนกระทั่งมาถึงยุคเศรษฐกิจฟุบ มีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ทำให้ ราคาขายแพงขึ้น จนคนไทยเริ่มเลิกมองรถเล็ก ทิ้งเป็นหน้าประวัติศาสตร์วงการยานยนต์ ก่อนบริษัทอำลาในไทย จนกระทั่งเพิ่งกลับมาใหม่ในไทย เมื่อไม่กี่ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีรถรุ่นใดออกมาวางขาย
ประวัติศาสตร์จาก มิร่า ผ่านมาสู่ยุครถเล็กราคาถูก ทั้ง Proton Savvy, NAZA Forza รวมถึง Cherry QQ เข้ามาวางตัวเองเป็นตำแหน่งตำแหน่งต่ำกว่ารถตลาดทั่วไป ราคาขายไม่พ้น 3 แสน เรียกให้คนไทยในต่างจังหวัดสนใจไม่น้อย หากด้วยการเอาราคาขามาชู ประกอบกับรถเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นรถแบรนด์โนเนม เพิ่งเข้ามาทำตลาดในไทย จึงพยายามใช้กลยุทธทางด้านราคาจูงใจลูกค้าให้หันมาสนใจ ภาพรถนั่งขนาดเล็กกลุ่ม A Segment จึงถูกทำให้คนทั่วไป มองว่าเป็นรถราคาถูก มีไว้ใช้ดีกว่าเดิน หรือขี่มอเตอร์ไซค์เท่านั้นเอง
จากภาพลักษณ์ในสมัยสงครามแบรนด์โนเนม ในที่สุด ช่วงปี พ.ศ. 2554 รถยนต์นั่งขนาดเล็กกลุ่มนี้กลับมาเป็นที่คึกคัก หลังจาก Honda Brio เริ่มออกมาวางขาย ฮอนด้าหมายมั่นปั้นมือรถรุ่นนี้มาก หากกลับโดนถล่มยับ ในเรื่องคุณภาพตัวรถ ชนิดไปต่อไม่เป็น ฮอนด้า บริโอ้ จากแบรนด์เจ้าตลาดขวัญใจคนไทย ถูกจับผิดหลายประเด็น ตลอดจนยังโดนค่อนขอดเรื่องงานออกแบบอีกต่างหาก ยังดีรถใช้เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร มีเรี่ยวแรงเร้าใจ พอเอาตัวรอดได้
หาก A Car ที่แม้ว่า จะเป็นมวยรองและไม่ใช่แบรนด์ที่คนไทยรู้จักมากในเวลานั้น แต่ KIA ดูจะป็นรถนั่งขนาดเล็กพอจะฝากผีฝากไข้ได้ ด้วยงานออกแบบถอดมาจากยุโรป ใน Kia Picato K1ราคาขายก็หาใช่ว่าจะแพง ทั้งที่เดิมทีว่าจะร่วมโครงการอีโค่คาร์ ก่อนจะตัดใจไม่ร่วมดีกว่าในภายหลัง ราคาขายของรถเกาหลีแบรนด์นี้อยู่ที่ 425,000 บาท ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และ 497,000 บาท ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ถือว่าไม่ได้แพงมากนักในความเป็นจริง
จุดตายของ KIA คือ การเป็นแบรนด์ภายใต้เครือยนตรกิจ ดันมีศูนย์บริการไม่มากนัก ทำให้ Kia Picanto K1 เป็นเพียงรถเล็กเศรษฐีชอบ ครอบครองโดยคนมีอันจะกิน อย่างน้อยแถวบ้านต้องศูนย์บริการ KIA อยู่บ้าง เพื่อเข้ารับบริการหรือหาอะไหล่ในยามฉุกเฉิน
ชื่อเสียง KIA หายไปรวดเร็ว ขณะที่ Honda Brio พอขายได้ อาศัยโปรโมชั่นไม้ตายงัดมาจูงใจลูกค้า จนกระทั่งปี 2015 Suzuki ส่งต้นแบบ Suzuki A Wind Concept ออกมา เป็นรถนั่งขนาดเล็กกลุ่มนี้รุ่นล่าสุด ภายหลังออกมาเป็น Suzuki Celerio ด้วยความตั้งใจว่าจะจับกลุ่มคนต้องการรถตัวจริงด้วยราคาขายถูก ผ่อนได้ในงบน้อย
ผลการวางจำหน่ายหลายปีกลับ ไม่เป็นไปตามคาดเท่าไรนัก ลูกค้าที่เฝ้ารอ Suzuki Celerio หลายคนยอมซื้อ Suzuki Swift แทน เนื่องจากเหตุผลทางด้านงานออกแบบ และสมรรถนะเครื่องยนต์ที่มีกำลังมากกว่า
จากตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา กว่า 1 หน้า กระดาษ A4 ของรถยนต์นั่งขนาดเล็ก จะเห็นว่า ยังไม่มีใครสามารถปาลูกดอกเข้าเป้าเอาใจคนไทยได้ตรงจุด ทั้งที่ ทุกวี่วันคนไทยชอบมองรถยนต์นั่งขนาดเล็ก Kei Car จากประเทศญี่ปุ่น แล้วลั่นเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากได้ !!
สาเหตุที่รถนั่ง A Car ยังไม่มีใครตีไข่แตกได้เสียที แบ่งออกเป็น 2 -3 ประเด็นหลักๆ เรื่องแรก , เป็นเรื่องพฤติกรรมการใช้รถยนต์ของคนไทย มีความต้องการจะใช้งานครอบคลุม ครบครันในการใช้งาน วันปกติ ขับไปทำงาน วันว่างขับไปเที่ยวต่างจังหวัด รวมถึงยังมีความคิดสุดโต่ง บางเรื่องในการใช้งาน เช่น นั่งโดยสารสี่คนจะอืดไหม จะขึ้นทางเขาไหวหรือเปล่า เมื่อนั่งเต็ม ทั้งที่รถคันนั้น อาจไม่เคยได้ขับไปไกลกว่า จากบ้านไปที่ทำงาน หรืออาจไม่เคยใช้มันออกต่างจังหวะด้วยซ้ำไป
พฤติกรรมใช้รถของคนไทย ต้องการรถ All Around ในการใช้งาน กลายเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ ทำให้คนไทยมองข้ามรถเล็ก ที่มีดี ในเรื่องความคล่องตัวในการใช้งาน การดูแลรักษาง่าย และค่าใช้จ่ายดูแลรักษารายปีไม่เยอะนัก จนหลายคนมองว่า เมื่อคำนวณดูแลไปซื้อกระบะสักคันน่าจะดีกว่า
ประการต่อมา คนไทยติดเรื่องภาพลักษณ์ค่อนข้างมาก รถยนต์สำหรับคนไทย เป็นเรื่องของสถานะทางสังคม คนมีรถขับ คือคนที่มีรายได้ดี เป็นภาพที่ติดจากอดีตมาจนปัจจุบัน แถมกว่าจะเก็บหอมรอมริบซื้อรถสักคัน ก็ยากพอสมควร จะซื้อทั้งทีเลยมักจะมองความคุ้มค่าในการจ่ายตามมาด้วย รถเล็กถูกมองข้ามไป เนื่องจากสังคมเมืองใหญ่ในไทย มีเพียงแต่ไม่กี่เมือง
ขณะที่ภาคชนบทของประเทศ จะซื้อรถแล้วคุ้มก็ต้องรถกระบะ 1 คัน ขับใช้งานก็ได้ค้าขายก็ดี ช่วยทำมาหากินได้ ไม่ใช่เพียงแค่พาหนะในการเดินทางให้ความสะดวกสบายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้รถกระบะยังเป็นรถที่มียอดขายอันดับ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี, ประเด็นที่ทำให้รถเล็กไม่เป็นที่ต้องตาต้องใจคนไทยมากที่สุด แม้ราคาจะเปิดออกมาแล้วถึงกับต้องร้อง ว้าว!! ในหลายๆ รุ่น หนีไม่พ้นงานออกแบบตัวรถที่ถูกบั่นทอนลง ของบรรดาผู้ผลิต ที่ตั้งใจปั้นรภให้มีราคาขายถูก ลืมไปว่า คนไทยมองรถที่งานออกแบบ และพร้อมที่จะจ่ายในสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ
สิ่งหนึ่งแสดงเรื่องนี้เห็นได้ชัด คือ ความหลงใหลในรถยนต์นั่งขนาดเล็ก Kei Car ประเทศญี่ปุ่น ของคนไทย ที่มีความน่ารัก สะท้อนตัวตนผู้ใช้ หรือผู้ซื้อได้เป็นอย่างดี ลบความรู้สึกว่า เป็นรถเล็กราคาถูกไปจนหมดสิ้น ผ่านงานออกแบบที่มีสไตล์รายละเอียดต่างๆ น่าสนใจ
ตลอดจน สิ่งที่สำคัญไม่แพ้งานออกแบบ คือ เรื่องฟังชั่นตัวรถ ที่ไม่ควรนำเสนอแค่ รถ 1 คันบังแดดบังฝน ดีกว่าเดิน หรือขี่มอเตอร์ไซค์ รถหลายรุ่นพยายามชูความประหยัด มาเดินเกมรถนั่งกลุ่มนี้ ซึ่งทุกคนต่างเข้าใจอยู่แล้วว่า มันน่าจะมีความประหยัดน้ำมัน เนื่องจากส่วนใหญ่ใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็ก ประกอบกับตัวรถมีพื้นฐานน้ำหนักเบา
หากฟังชั่นอื่นๆ อาทิ ระบบความปลอดภัยขั้นสูง รวมถึงลูกเล่นของตัวรถ กลับขาดแคลนอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะลูกเล่นความปลอดภัยขั้นสูง ควรใส่มาให้ในรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ซึ่งขับขี่ใช้งานในเมือง มีโอกาสจะเกิดอุบัติเหตุในระกว่างการขับขี่มากเป็นพิเศษ เรายังไม่เห็นของเหล่านี้ในรถเล็กระดับนี้มาก่อน หรือสร้างจุดขายใหม่ๆ เช่นพื้นที่ภายในห้องโดยสา รหรือ การใช้งานที่สะดวกสบาย
รถยนต์นั่งขนาดเล็ก A Segment Subcompact ในไทย มีภาพจำในอดีต ที่ถูกบริษัทในยุคก่อนปั้นวางมันให้เป็นรถเล็กต้องมีราคาถูกเท่านั้น ทั้งที่บริบทคนซื้อรถปัจจุบันอาจจะต้องการซื้อรถสักคันแสดงตัวตน มีฟังชั่นการใช้งานครบครัน และยินดีจะจ่ายในสิ่งที่พวกเขาชอบ ซึ่งวันนี้ยังไม่มีรถแบบนี้ในไทย