Kia AD

Home » จาก Bigbike ถึง รถ EVs 500 ม้า ถึงเวลารึยัง ที่จะต้องจริงจังกับ “ทักษะการขับขี่” บนถนนเมืองไทย

Kia AD

Bust on talk บทความ

จาก Bigbike ถึง รถ EVs 500 ม้า ถึงเวลารึยัง ที่จะต้องจริงจังกับ “ทักษะการขับขี่” บนถนนเมืองไทย

สิบกว่าปีที่ก่อน ตลาดรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ เครื่องยนต์ใหญ่ ที่เรียกว่า Big Bike ได้เริ่มเป็นที่นิยมในประเทศไทยอีกครั้ง จนหลายคนเริ่มกังวลในเรื่องความปลอดภัย มาวันนี้ เรื่องราวทำนองเดียวกัน ก็ได้เกิดขึ้นกับ รถยนต์พลังถ่าน หรือ รถยนต์ไฟฟ้า ที่ให้สมรรรถนะสูงแบบก้าวกระโดด และกลายเป็นเรื่องถกเถียงกันท่ามกลางสังคมไทยอีก

ด้วยราคา 1,599,000 บาท คือ ราคาขายอย่างเป็นทางการ ของ BYD Seal AWD Performance ผู้พกมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ทำกำลังขับสูงสุด 530 แรงม้า ให้แรงบิดสูงสุด 670 นิวตันเมตร พร้อมเร่ง 0-100 ก.ม./ช.ม. ​ออกตัว ใน 3.8 วินาที ตามสเป็ค โรงงาน

สร้างความฮือฮา ด้วยการเป็นรถ 500 ม้า สมรรถนะสูง ในราคาถูกที่สุด เท่าที่เคยมีมา หลังจากปีที่แล้ว ฟอร์ด ได้ส่ง Ford Ranger Raptor V6 3.0 พร้อมซิ่งพร้อมลุย กับแรงม้าติดเครื่องเกือบ 400 ตัว มาในราคา 1.869 ล้านบาท ก่อนขยับเป็น 1.919 ล้านบาท ช่วงปลายปี เพื่อเปิดทางให้รุ่นดีเซลเข้าทำตลาด

ในอดีตรถยนต์สมรรถนะสูง พลังขับตั้งแต่ 300 แรงม้าขึ้นไป มีราคาค่อนข้างแพงมาก ไม่ใช่ทุกคน จะสามารถเข้าถึง รถระดับ High Performance ได้ ต้องเป็นผู้มีอันจะกิน หรือ คนที่ร่ำรวยอยู่เป็นทุนเดิม เป็นของเล่นของคนรวย จะว่าแบบนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดนัก

จนการมาของ BYD Seal ทำให้ทุกคนสามารถจับต้อง “รถแรงครึ่งพันม้า” ในราคาเทียบเท่ากับ รถเก๋งซีดานกลาง D-Segment อย่าง Honda Accord / Toyota Camry ทำให้หลายคนที่อยากได้ รถแรงระดับนี้อยู่เป็นทุนเดิม ก็หมายมั่นปั้นมือ ลูบมือ ว่ามันถึงเวลาแล้วครับ นาย.. ต้องมีเป็นรถคู่บุญ สักครั้ง

การยกระดับสมรรถนะในสิ่งของที่รู้จักกันอยู่แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าการยกระดับนั้น หมายถึง ความแรง ความเร็ว จนเริ่มมีอันตราย ต่อการใช้รถใช้ถนน ก็นับว่าน่าตระหนัก และหวั่นใจไม่น้อย

แน่นอน Seal ไม่ใช่รถรุ่นแรกที่มาพร้อมกำลังมากขนาดนี้ เพราะในประเทศไทย ก็มีรถยนต์พละกำลังเกิน 500 แรงม้า มาโลดแล่นกันนานนม

แต่การด้วยความเป็น รถแรงระดับนี้ ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไป ใครๆก็สามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายมากกว่าเดิมเยอะ เป็นรุ่นนแรกนี่แหละ ที่ผมกังวล

เพราะสำหรับรถที่แรง จนสามารถเร่งจาก 0-100 ก.ม./ช.ม. ใน 3.8 วินาที ตามการเคลมของ BYD อย่างเจ้า Seal คันนี้ ก็ไม่ต่างอะไร จากจรวดทางเรียบ ขีปนาวุธที่พุ่งอย่างรวดเร็ว เวลากดคันเร่งเต็ม

เรื่องที่น่าเป็นห่วง คือ มีคนจำนวนน้อยมาก เคยมีประสบการณ์กับรถแรงขนาดนี้ โดยเฉพาะ กลุ่มเป้าหมายของทาง BYD ที่มองว่า เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 30-45 ปี เป็นเจ้าของกิจการ ไปจนถึง ผู้บริหารระดับกลาง อยากอัพเกรด รถคันใหม่ เพื่อภาพลักษณ์ที่ดูดีกว่าเดิม

คนกลุ่ม ที่ซื้อรถราคาขนาดนี้ ก็น่าจะผ่าน รถกลุ่ม คอมแพ็คคาร์หรือ SUV ที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท มาก่อนบ้าง แต่ทั้งสองกลุ่มที่กล่าวถึง ก็ล้วนเป็นรถที่มีกำลังสูงสุดไม่เกิน 200 แรงม้า มีเพียงฮอนด้าที่เกินมานิดหน่อย และก็แค่บางช่วงบางตอนการทำงานเท่านั้น ไม่ได้พร้อมใช้ พร้อมให้กดตะพัดตะพือขนาดนั้น

และถ้าเรา มองย้อนให้ละเอียดกันนิด การขับรถคันแรกในกลุ่มอีกโค่คาร์ 90-120 แรงม้า ข้ามมาคอมแพ็คคาร์ ก็ราวๆ 150-160 ม้า ก่อนจะขยับมาเป็นกลุ่ม SUV/PPV ระดับ 200 ม้า

จะเห็นได้ว่ากำลังขับที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้มากมายเท่าไรนัก และเป็นการไต่ระดับราวๆ 30-40% จากรถเดิม อยู่ในจุดที่คนส่วนใหญ่น่าจะค่อยๆปรับตัวเข้าหาได้สบายมาก

ประกอบกับส่วนใหญ่มักเป็นรถสันดาป ไม่ก็ไฮบริด ที่ยังต้องมีการลากรอบ รอเทอร์โบ, รอการตอบสนองเกียร์ ผู้ใช้จึงจะไม่รู้สึกว่ามันกระชาก ดุดัน อะไรมากมายนัก หรือว่าง่ายๆ คือยังมีจังหวะให้เตรียมใจกันอยู่บ้าง

แต่รถยนต์ไฟฟ้า 500 แรงม้า ต่างออกไป เพราะแม้ BYD จะเซ็ท การตอบสนองคันเร่งให้มีความนวล พยายามไม่ให้กด ปุ๊ปมาปั๊บ หรือกดแล้วมาทันทีบ้างแล้ว แต่ด้วยพละกำลังมหาศาลจากมอเตอร์คู่ที่มีการตอบสนองไวตั้งแต่รอบต้นๆ ก็ยังจัดว่าตอบสนองเร็วกว่ารถสันดาป 200 แรงม้า ไปไกลพอสมควร

ทั้งนี้ เราก็ยอมรับว่าความน่ากลัวของมัน ไม่ใช่ ตอนขับเนิบๆ ไปเรื่อยๆ แบบที่บางคนอาจจะมองว่า 500 ม้า ซื้อมาขับ 90-120 ก็ได้ ไม่ต้องตะบึงตลอดเวลา

อันนั้น ก็ถูกต้องครับ แต่หากคุณลองคิดตามดีๆ

แต่หากคุณ หรือคือคนที่มีจริต ริคิดจะซื้อรถพลังขับระดับ รถสปอร์ตคาร์มองตาปริบๆ มีหรือที่คุณจะไม่อยากลิ้มลองของที่ติดรถคุณมา ?

ยังไง ด้วยความเป็นมนุษย์ของเรา ก็ต้องมีบ้างสักครั้ง ในวาระโอกาสใด ในเวลาใด เวลาหนึ่ง ผู้ใช้เองก็ต้องอยากจะกดเค้นสมรรถนะของตัวรถออกมา เพราะซื้อมาแล้วก็ต้องใช้

หรือในบางครั้ง เช่นกรณีจำเป็น ต้องรีบไปประชุม ลูกป่วย แฟนงอน รีบไปง้อ หรือเหตุต่างๆมากมาย ให้คุณต้องงัดพลังขับออกมาใช้ เพื่อไปถึงที่หมายให้เร็วที่สุด

ซึ่งแน่นอน การมีรถที่กำลังเหลือๆ ย่อมทำให้คุณสามารถไปถึงที่หมายได้เร็ว…

แต่คุณเคยตั้งคำถามไหมว่า ตัวเองจะเอาอยู่หรือเปล่า ถ้าพบว่าต้องเผชิญหน้า กับวินาทีสำคัญในระหว่างขับขี่ ตอนที่ต้องตัดสินใจยากๆ ในช่วงเวลาเพียงเสี้ยววินาที

จังหวะนั้นคุณควรจะต้องเร่ง หรือ เบรกเพื่อที่จะรอด จากสถานการณ์ความเป็นความตาย ?

เมื่อรถเกิดการเสียหลัก เสียอาการ ในจังหวะกระทันหันเหล่านั้นขึ้นมา จะต้องทำอย่างไร ?

และสิ่งที่เราจะสื่อจนเป็นประเด็นสำคัญในครั้งนี้ ก็คือ ในอดีตคุณอาจจะมองว่าก็เคยทำได้ กับรถที่ตนเองเคยใช้

แต่กับรถที่พร้อมเร่งจาก 0-100 ใน 3.8 วิ ซึ่งเร็วกว่ารถบ้านทั่วๆไปไม่น้อยกว่า 2 เท่า คุณแน่ใจหรือว่า คุณจะตัดสินใจได้ฉับไว รับกับช่วงเวลาให้ตัดสินใจ ให้แก้สถานการณ์ความผิดพลาด ที่มีช่องว่างน้อยลงมากๆได้ ?

และแม้ รถอย่าง Seal ยังมีระบบช่วยในการขับขี่พิเศษ มากมาย จนหลายคนมองว่า แล้วจะกลัวไปทำไม ยังไงรถพวกนี้ก็มีระบบช่วยเหลือล้นคันอยู่แล้ว ไม่เว้นแม้กระทั่งระบบ Intelligence Torque Adaption Control ซึ่งเป็นระบบเฉพาะของรุ่นท็อป

แต่คุณรู้กันหรือไม่ ว่ามันทำงานอย่างไร ?

ไม่ต้องถึงขั้นนั้น เอาแค่ระบบความปลอดภัยพื้นฐาน อย่างระบบเบรก ABS หรือระบบเบรกป้องกันล้อล็อค มันทำงานมีหลักการทำงานอย่างไร ? ทุกคนคงพอทราบ

แต่ถ้าถามต่อว่า แล้วมันต้องใช้แบบไหน ถึงจะถูกต้อง ถึงจะเข้าเงื่อนไข หรือ ถ้ามันทำงานแล้ว มันฉลาดพอที่จะช่วยคุณได้มากเพียงใด ?

มีคนจำนวนมากแค่ไหน ที่เข้าใจใช้งานเป็น เปลี่ยนสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการกลับบ้านอย่างปลอดภัย คุณรู้กันหรือไม่ ?

นี่เป็นเพียงตัวอย่าง เบื้องต้นง่ายๆ ที่อยากสะท้อนว่าทักษะการขับขี่รถ คือสิ่งสำคัญ ในการเอาตัวรอด จากความเร็วความแรง รถที่มีพละกำลังมหาศาลระดับนี้ ไม่ใช่จะหวังพึ่งแต่ระบบความปลอดภัยของรถ ที่ต่อให้ฉลาดแค่ไหน ก็ยังมีเงื่อนไขในการทำงานของมันอยู่ดี เพียงอย่างเดียว

ก็ต้องยอมรับว่า ปัจจุบัน ในบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ที่รังสรรค์แรงม้าเพิ่มขึ้น ยังมีน้อยค่ายนัก ที่ให้ความสำคัญเรื่องการฝึกทักษะลูกค้า (ผู้ขับขี่) ในการขับรถสมรรถนะสูงอย่างจริงจัง ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็น และ ส่งเสริมให้ผู้ขับรถแบรนด์นั้นๆได้เข้าใจ และใช้รถได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

จะมีก็เพียงแบรนด์ยุโรป ชั้นนำ อย่าง Mercedes-AMG หรือ BMW ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่พอสมควร แล้วแบรนด์อื่นล่ะ ทำไมไม่เอาอย่างบ้าง ซึ่งนี่ก็ทำให้ผมตั้งคำถามไม่น้อย จนต้องออกมาพูด

เรื่องพลังขับเพิ่มขึ้นของพาหนะ สำหรับรถยนต์​อาจเป็นเรื่องที่เราเพิ่งจะเห็นเมื่อไม่นานมากนี้

แต่เรื่องทำนองนี้ ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การเข้ามาของบรรดามอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า Big Bike แทบไม่ต่างจาก สิ่งที่การมาของ Seal สร้างไว้ในปัจจุบัน

เพราะตอนที่รถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ เริ่มเข้ามามีบทบาทในไทย ลูกค้าจำนวนมากต่างสนใจ เนื่องจากราคาจำน่ายจับต้องได้ง่ายมากขึ้นรถมีพลังกำลังขับแรง เท่ ดูเหนือกว่าการขี่รถมอเตอร์ไซค์ในคลาส 150cc ที่ถือเป็นท๊อปคลาสเดิมๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตอนที่ รถมอเตอร์ไซค์พิกัด 650cc ก็มีราคาแค่ 2 แสนปลายๆเท่านั้น การจะใช้เงินดาวน์ ก็วางเพียงไม่กี่เหมื่น ผ่อนเฉลี่ย เดือนละ 6,000-7,000 บาท ไม่ได้เป็นฝันกลางวัน ของคนชอบความเร็วความแรงๆ

แรกๆผู้คนบนถนนหลายคน ก็ดูจะไม่ชินกับความเร็วของ 2 ล้อ เครื่องใหญ่ จนมีเหตุการณ์ ล้ม ชน มีเจ็บบ้าง ถึงฆาตบ้าง หรือ ภาษาชาวเน็ตชอบพูดว่า ธรรมชาติคัดสรร อยู่บ่อยครั้ง

จนกระทั่ง ฮอนด้า มาเปิดตลาดในนาม Honda Big Wing พร้อมขายตระกูล 500 ซีรีย์ ที่ราคาอยู่ในช่วงราวๆ 2 แสนต้นๆ ก็ยิ่งทำให้คนไทยสามารถจับต้องรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ได้ง่ายขึ้นไปอีก

แต่สิ่งที่ทางค่ายปีกนกไม่ลืม คือการสร้างมาตรฐานใหม่ ด้วยการเปิดโรงเรียนทักษะขับขี่ปลอดภัย และ ยังมีคอร์สอื่นๆที่น่าสนใจให้เรียนได้อีกเพียบ

ให้เรียนไม่พอ ยังมาเรียนซ้ำได้ แรกๆ ซ้ำได้ 3 ครั้ง หลังๆเหมือนบุฟเฟต์ ตามใจอยาก ใครอยากเรียนก็ลงทะเบียน เสียค่าธรรมเนียามตามพิธีกันไป ซึ่งไม่ได้แพงเท่าไหร่นัก

จนค่ายอื่นทำตามบ้าง ไม่ว่าจะ Yamaha, Suzuki, และยังมี BMW, Harley-Davidson ไปจนถึงชมรมฝึกขับขี่ปลอดภัย ที่ไม่ได้สังกัดแบรนด์ใด แต่จัดตั้งขึ้นมา อีกหลายกลุ่ม

และหากแค่นั้นยังไม่หนำใจ แต่ละแบรนด์มอเตอร์ไซค์ ยังมีการจัดกิจกรรมเสริมทักษะขั้นสูง ตามลักษณะการใช้งานของรถคันนั้นๆอีกมากมาย

ซึ่งเหตุผล ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เน้นไปทางด้านการฝึกทักษะการขับขี่อขงผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ และชมรมฯอื่นๆ

ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อให้ลูกค้าได้เสริมทักษะในระดับสูงของตนเองเท่านั้น แต่ยังมีไว้เพื่อให้ลูกค้า และผู้ใช้ได้ทำความรู้จักกับรถมอเตอร์ไซค์ของตนเองอย่างเต็มที่ รู้จักวิธีแก้ปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉิน และลดความเสี่ยงภัยที่จะเกิดขึ้น ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ หรือถูกวางแผนเอาไว้แล้วอีกด้วย ก่อนที่ลูกค้าจะไปเจอความเสี่ยงเหล่านั้น ในการใช้งานท่ามกลางการเดินทางในชีวิตประจำวันจริงๆ

สิ่งที่บิ๊กไบค์ และรถยนต์สมรรถนะสูง ไม่ว่าจะเป็นแบบที่ใช้ขุมกำลังสันดาป หรือขุมกำลังไฟฟ้า เหมือนกัน คือ พาหนะเหล่านี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว-แรง และมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ “มากกว่า” การใช้ยานหาพนะทั่วๆไป ไม่ใช่แค่ความปลอดภัย แต่ยังรวมถึงความเสี่ยงที่มากขึ้น

ผู้ใช้ / ผู้ขับขี่ ยานพาหนะเหล่านี้ จึงควรมีทักษะการขับขี่ ทักษะในการควบคุม ให้อยู่หมัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ในยามขับขี่ ไม่ว่าจะขับธรรมดา ตามกฏหมายกำหนด หรือลองสมรรถนะอย่างถึงกึ๋น

โดยเฉพาะจังหวะที่คุณจำเป็นต้องใช้พละกำลังของตัวรถ (เพื่อไปทำเหตุฉุกเฉินบางอย่างก็ตามแต่) แล้วเกิดเหตุไม่คาดคิดตรงหน้าขึ้นมา ทักษะเหล่านี้ก็จะช่วยคุณได้ และเพิ่มโอกาส ความเป็น แทนตาย ของคุณอีกมาก

ไม่ใช่ BigBike ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ก็ยังมีคอร์สให้ฝึกขับขี่ปลอดภัย.

เพราะ “ทักษะการขับขี่” เป็นสิ่งที่ยอมรับกันในสากล ว่าสามารถช่วยให้ผู้ขับขี่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในการควบคุมรถ หรือกระทั่งแก้ไขสถานการณอย่างไร ตลอดจนเข้าใจ การใช้เทคโนโลยีที่มากับตัวรถ ว่าทำงานอย่างไร

ดั่งสุภาษิตไทยว่า เรียนผูก ก็ต้องเรียนแก้ นั่นแหละ

อย่างในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นได้ว่า โดยเฉพาะโซนยุโรป ค่อนข้างให้ความสำคัญ กับทักษะการขับขี่ของผู้ใช้รถเป็นอย่างมาก จนคุณอาจตกใจ

เช่น เยอรมัน การสอบใบขับขี่ ไม่ได้มีแค่ ท่าสอบตายตัวแบบบ้านเรา เช่น การถอยเข้าซอง, การเดินรถทางแคบ และเทียบข้าง หรือการอ่านป้ายจราจร

แต่ยังมีการทดสอบความสามารถในการแก้ไขปัญหา เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ เช่นการเบรกในสภาวะฉุกเฉิน การหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางในสภาวะฉุกเฉิน การแก้ปัญหาเมื่อรถเกิดการลื่นไถล และอีกมากมาย

หรือ อย่างใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์เอง ก็ยังมีการแบ่งระดับ ตามอายุ และทักษะ เพื่อจำกัดระดับพลังของรถ ว่าผู้ถือใบขับขี่สามารถใช้รถที่แรงขนาดไหนได้บ้าง หรือที่เรียกว่า A-License ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปอีก

ไม่เหมือนกับบ้านเรา ที่ถือใบขับขี่เพียงระดับเดียว (ไม่นับใบแรกอายุ 2 ปี) ก็สามารถใช้ได้ตั้งแต่รถมอเตอร์ไซค์ 125cc ไปจนถึง 1,000+ cc (แม้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จะมีการออกกฏหมายใบขับขี่ Big Bike แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เห็นการบังคับใช้ เพราะยังไม่มีมาตรฐานการสอบที่แน่ชัดให้ผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ไปสอบกันอยู่ดี)

ดังนั้น จะบอกว่าแค่ขับให้มีสติ นั่งนับ นะโมๆ สามจบ แล้วให้ระบบช่วยเหลือความปลอดภัยของตัวรถ ซึ่งไม่รู้ว่าจะทำงานตอนไหน ทำงานได้ดีเพียงใด แบกหน้าที่ไป แค่นี้ก็รอด

แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียน ที่ลองทดสอบรถมามากมาย ตั้งแต่รถอีโคคาร์ จนระดับซุปเปอร์คาร์ รถแข่ง แม้กระทั่งในฝั่งมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่รถแม่บ้านจ่าย ยันซุปเปอร์ไบค์หลักล้าน

บอกเลยว่า เมื่อถึงเวลาจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรถที่มีสมรรถนะสูงมากๆ เช่น BYD Seal ที่เป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้

ด้วยช่องว่างในการแก้ไขสถานการณ์ที่น้อยลงมาก

“แค่สติ มันไม่พอ…” ยังไงคุณก็ควรที่จะต้องมีทักษะร่วมด้วยอยู่ดี

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.