คงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า บ้านเราเป็นเมืองแห่งรถยนต์กระบะและอเนกประสงค์เครื่องยนต์ดีเซล ความคิดคนเกี่ยวกับเครื่องยนต์แบบนี้ถูกปลูกฝังมานานนับสิบปีจนกลายเป็นที่นิยมสืบต่อกันมา
หลายปีแห่งการพัฒนาและวิศวกรรมเครื่องยนต์ดีเซลในโลกยุคใหม่ ต่างพยายามขยับปรับขนาดตัวเองให้เล็กลง ส่วนหนึ่ง เพื่อสร้างความประหยัดให้มากขึ้น ไปพร้อมกับการตอบโจทย์ภาพรวมเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม หากคนจำนวนไม่น้อยยังคงยึดติดกับเรื่องของขนาดในอดีตอันหมายถึงพละกำลังขับเคลื่อนด้วยในทางหนึ่ง
เครื่องยนต์ดีเซลกลุ่ม 2.5 ลิตร ถือเป็ยบล็อกเครื่องยนต์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามันใช้งานได้ดีมายาวนาน มีความสมดุลในแง่ท้งความประหยัดและสมรรถนะในการขับขี่จนคนไทยยอมรับในวงกว้าง มากกว่าเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่า แม้ว่าจะมีพละกำลังมากกว่าหากก็มาพร้อมเรื่องการซดน้ำมันเป็นเยี่ยมเช่นกัน
แนวความนิยมกระบะ-รถอเนกประสงค์ที่มีเครื่องยนต์ขนาด 2.5 ลิตร ถูกปลูกฝังในประเทศไทย มายาวนานหลายสิบปี ย้อนไปตั้งแต่ยุคเกือบแรกเริ่มเครื่องยนต์ดีเซล ในสมับก่อน ซึ่งยังไม่มีความทันสมัยเท่าวันนี้ เครื่องดีเซลขนาดนี้ถือว่ามีกำลังพอเหมาะพอดี ขยับทำกำลังขึ้นมาจาก 87 แรงม้า จนมามีกำลัง 90 แรงม้า ในช่วงยุค พ.ศ. 2530
เฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์เจ้าตลาด Isuzu ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เครื่องยนต์ 2.5 ลิตรของแบรนด์นี้ไม่เพียงกำลังดี หากยังพกความทนทานมหาศาลใช้งานหนักไม่หวั่น แม้นว่าเรื่องเสียงดังจะเป็นสิ่งเดียวที่ขวางกั้นคำว่าว่าสมบูรณ์แบบในเครื่องยนต์บล็อก 4JA1 ก็ตาม
ไม้เบื่อไม้เมาอย่างโตโยต้า นิสสัน และ มิตซูบิชิ ค่ายรถญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด ก็ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2.5 มายาวนาน จนกระทั่ง เริ่มมีการวางขายรถในกลุ่มกระบะลุยขับเคลื่อนสี่ล้อ เช่น Isuzu Rodeo จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เครื่องยนต์ดีเซล มีขนาดใหญ่ขึ้นออกมา
อาทิ Isuzu Rodeo เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร , เช่นเดียวกับมิตซูบิชิเครืองยนต์ 4M40 และ ตามมาด้วยการสู่ยุคเครื่องยนต์ 3.0 ลิตร ในรถอย่าง Toyota Hilux Tiger, Isuzu Dmax จุดสูงสุดของศึกเครื่องยนต์บล็อกใหญ่จบที่มิตซูบิชิออกเครื่องยนต์รหัส 4M41 ออกมาในมิตซูบิชิไทรทัน โฉมแรก จนเรียกว่า ทั้งหน้ากระดานมีเครื่องยนต์บล็อกใหญ่ รอพร้อมให้ลูกค้า
การปรับทัพของบรรดาบริษัทรถยนต์อาจจะทำให้ให้หลายคนคิดว่ารถกระบะเครื่องใหญ่ขายดี แต่ความจริงแล้วผิดถนัด รถกระบะเครื่องบล็อกใหญ่ไม่ได้เป็นที่ต้องการของคนไทย แม้ว่าจะมีความต้องการกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อสำหรับการใช้งานอันสมบุกสมบัน หากก็เป็นเพียงจำนวนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับกระบะขับเคลื่อนสองล้อ
ยิ่งในยุคหลังเกมกระบะมีทางเลือกใหม่ในรุ่น ขับเคลื่อนสองล้อยกสูง สำหรับไว้ลุยได้บ้างเล็กน้อย ยิ่งทำให้ตลาดรถยนต์เครื่องใหญ่ เรียกว่าแทบจะมาถึงทางตัน เพราะคนที่ซื้อรถไว้ลุยจริงๆ น้อยมาก
จนการเปลี่ยนแปลงเริ่มเห็นจากแบรนด์ชั้นนำ มิตซูบิชิ ตัดสินใจหนีตายจากเกมเครื่องเล็ก เครื่องใหญ่เป็นรายแรก เมื่อครั้นแนะนำการเปลี่ยนแปลงในกระบะ Nissan Navara ในปี 2007 มันเป็นกระบะร่นแรกที่ใช้เครื่องยนต์ 2.5 บล็อกเดียว ไม่มีเครื่องขนาดใหญ่ดังในอดีต จนทำให้ Mitsubishi Triton ไมเนอร์เชนจ์ตัวก่อนปัจจุบันออกมา (2012) เห็นทางสว่างปรับเครื่องยนต์ 3.2 ลิตรออกไป เหลือเพียง เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ 2.4 ลิตรในรุ่นปัจจุบัน
หลังจากนั้นไม่นาน แบรนด์ Chevrolet ก็ตามมาติดๆ ด้วยการสั่งปลดระวางเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร ที่ทั้งเสียงดังและไม่เป็นที่นิยมของคนไทยออกไป เหลือเพียงเครื่อง Duramax 2.5 ลิตร ที่มีการปรับเซทกำลังใหม่จนไล่เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร เดิมได้
และท้ายสุดตามมาด้วย Ford ที่เพิ่งเปลี่ยนทั้งไลน์อัพเป็น 2.0 ลิตร แต่มีให้เลือกกำลังตามการใช้งาน โดยผลัดเปลี่ยนการจูนเครื่องยนต์ให้ตรงตามความต้องการการใช้งานของลูกค้า มีทั้ง 180 ม้า และ 213 ม้า ตามลำดับ
จนปัจจุบัน กระบะที่มี 2 เครื่องยนต์ตอบตลาด เหลือเพียงโตโยต้า และ อีซูซุ ที่ยังมี 2 ขนาดให้เลือกตามความชอบใจเท่านั้น แต่ ถ้าไปเจาะรายละเอียดลึกๆ จะพบว่ารถกระบะโตโยต้า เครื่อง 2.4 ลิตร ขายดีกว่า เครื่อง 2.8 ลิตร
เช่นเดียวกับเสียงบ่นจากลูกค้า Isuzu หลังจากเปลี่ยนมาเป็นเครื่องยนต์ดีเซล 1.9 ลิตรแม้ว่าจะมีกำลังและแรงบิดเทียบเคียงเครื่องยนต์ 2.5 ลิตร รุ่นเดิม แต่ส่วนใหญ่ จากที่เฝ้าสังเกตการณ์ในกลุ่มคาร์คลับ ต่างให้ความเห็นว่า พวกเขารู้สึกดีกับเครื่องยนต์ 2.5 ลิตรมากกว่า
ทั้งหมดนี้ชี้ว่า วัฒนธรรมการซื้อกระบะคนไทย จะยึดหัวหาดที่เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร มากกว่าเครื่องยนต์ขนาดอื่นๆ ที่มีในตลาด
ประเด็นสำคัญที่ทำให้คนไทยยังชอบเครื่องยนต์ดีเซล 2.5 ลิตรมากกว่าแบบอื่นๆ ส่วนสำคัญ มาจากความมั่นใจได้ในเรื่องการประหยัดน้ำมันที่สมเหตุสมผล และเหมาะสำหรับการใชงานทั้งในและนอกเมือง จนเป็นความคุ้นเคยจากรุ่นสู่รุ่น และยังมั่นใจ เมื่อในยามต้องบรรทุกจนสินค้า หรือขึ้นเขาลงห้วย
นอกจากเรื่องความกังวลใจในการบริโภคน้ำมันแล้ง ส่วนที่ชี้ชัดว่ารถยนต์กระบะเหมาะใช้งานต้องเครื่องยนต์ 2.5 ลิตรเท่านั้น ยังมาจากการกำหนดหลักการภาษีประจำปีของภาครัฐบาล จน Isuzu นำมาชูเป็นจุดขายสำคัญต่อเครื่องยนต์ 1.9 ลิตร ว่า เสียภาษีน้อยกว่า รถที่ใช้เครื่อง 2.5 เดิม
เนื่องจากฐานภาษีรถยนต์นั่ง (รวมถึงกระบะ 4 ประตู) มีหลักการคิดตามขนาดซีซีเครื่องยนต์เป็นหลัก เมื่อเกิน 1800 ซีซี ขึ้นไป จะเสียซีซีละ 4 บาท ซึ่งหมายความว่า ถ้ารถเครื่องยนต์ 2500 ซีซี จะต้องเสียภาษี ส่วนเกินขนาดเครื่องยนต์ที่คิด ซีซีละ 4 บาท อีก 700 ซีซี (2,800 บาท)
หรือถ้าลองคำนวณภาษีต่อปีง่ายๆ รถกระบะ เครื่อง 2.5 ลิตร จะเสียภาษีปีละ
1. 600 cc แรก cc ละ 0.5 บาท = 600×0.5 = 300 บาท
2. 601-1800 cc ละ 1.50 บาท = (1,800-600) = 1199 x 1.50 = 1,798.50 บาท
3 1800 cc ซีซีละ 4 บาท ( 2500-1800)= 700*4 = 2800
บาท รวมสุทธิ 4,898.50 บาท ต่อปี
กลับกัน ถ้าลองคำนวณอัตราเดียวกันกับกระบะ 3,000 ซีซี จะพบว่า
1. 600 cc แรก cc ละ 0.5 บาท = 600×0.5 = 300 บาท
2. 601-1800 cc ละ 1.50 บาท = (1,800-600) = 1199 x 1.50 = 1,798.50 บาท
3. เกิน 1801 cc ละ 4 บาท = (3,000 – 1,801) = 1199 x 4.00 = 4,796 บาท
เสียภาษีรวม 6,894.50 บาท ต่อปี หรือมากกว่ากระบะ 2,500 ซีซี 1,996 บาท เลยทีเดียว
ดังนั้นเมื่อรวมเอาความคุ้นเคยที่พิสูจน์แล้วจากรุ่นสู่รุ่นในเรื่องประหยัดน้ำมัน,มีกำลังเพียงพอต่อการใช้งาน , ลักษณะการใช้งานรถของคนไทย ที่ขับไปได้ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด แถมยังต้องรับน้ำหนักบรรทุก รวมถึงการไม่ต้องรับค่าภาษีประจำปีเยอะมากมายในการใช้งาน ทำให้วันนี้กระบะ 2500 ซีซี ยังอยู่ในใจคนไทย
แม้ว่าในโลกยุคใหม่ เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กจะทำกำลังขับขี่ได้มั่นใจอกมั่นใจมากขึ้น หากการวางใจที่ขนาดดเครื่องยนต์ยังเป็นสิ่งที่ยากจะปรับให้เข้าใจ และคงต้องใช้การพิสูจน์จากผู้ใช้ เมื่อนั้นคนไทยจะยอมรับว่า เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กกว่า 2.5 ลิตร ก็เพียงพอต่อการใช้งาน แถมประหยัดกว่าในหลายด้านด้วย