ท่ามกลางสมรภูมิการตลาดยานยนต์ ระหว่าง สงครามรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์น้ำมัน ปัจจุบันยังมีคนสร้างคอนเทนต์และคอมเม้นท์ ในเชิงสงครามระหว่างรถยนต์ ระหว่างศึกสองชาติจีน และ ญี่ปุ่นอีกด้วย
แต่ทุกครั้งที่มีประเด็นนี้โผล่มา ก็จะมีคนมาพูดในทำนอง ว่ารถญี่ปุ่นผูกขาดมานาน รถจีนคือผู้ปลดแอก ทั้งที่ความจริง รถญี่ปุ่นที่มียอดขายปังมหาศาล อาจไม่ได้มาจากการผูกขาด แต่เป็นความนิยม และความไว้เนื้อเชื่อใจ มาช้านาน หรือเปล่า ?
ผมเกิดมาจำความได้ก็โตมากับรถญี่ปุ่น เรื่องนี้จึงต้องพึ่งความรู้จากผู้คร่ำหวอดมานาน ผมมีโอกาส พูดคุยกับ “น้าตั๋ม – คุณ ถิระพร เนาถิ่นสุข” ผู้สื่อข่าวระดับอาวุโสในวงการยานยนต์ที่ผมนับถือ ว่าเมื่อสมัยก่อนที่ผมจะเกิดลืมตาบนโลกใบนี้แล้วเต็มไปด้วยรถญี่ปุ่น คนรุ่นปู่เขาใช้รถอะไรมาก่อน ?
น้าตั๋ม ก็ได้ใจดี เล่าให้ผมฟังว่า สมัยก่อนนั้น จะเป็นรถยนต์ฝรั่งจากซีกโลกตะวันตกกันเสียเยอะ โดยเฉพาะรถอเมริกันได้รับความนิยมมากๆ ก่อนที่บรรดารถจากยุโรป จะเริ่มเข้าทำตลาดวางขาย เช่น เปอร์โย, เรโนล์ต ที่ทุกวันนี้ได้จางหายไปแล้ว หรือ แม้กระทั่งฟอร์ด เองก็เคยเข้ามาทำตลาด จับกลุ่มคนที่พอจะซื้อหารถยนต์ใช้งานได้บ้าง
รถญี่ปุ่น จะเข้ามาในไทย ก็ราวๆ ช่วงยุค 70 เข้ามาแล้ว แต่ถ้านับย้อนไปว่า ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นเริ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งแต่สิ้นสมัยสงครามโลกก็เรียกว่า มีการพัฒนามาระดับหนึ่ง
ในช่วงแรก ผู้ผลิตญี่ปุ่นก็ใช้กระบวนการนำเข้ามาขายโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่น ทำแบบนี้มาเรื่อย และด้วยการขนส่งที่ใกล้กว่า ทำให้ราคาถูกกว่า
ตลอดจนประเทศไทย เป็นเมืองร้อน ทำให้รถฝรั่งบางรุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มประเภท เครื่องยนต์วางหลังขับเคลื่อนล้อหลัง มักจะพบประเด็นปัญหา ความร้อนจากการใช้งาน เนื่องจากรถถูกออกแบบ มาให้เหมาะสมสำหรับการใช้งานประเทศเมืองหนาว อาจมีหม้อน้ำขนาดไม่ใหญ่มาก และ พัดลมระบายความร้อน ไม่ได้เป็นแบบ Electro Magnetic ทำให้พบปัญหาความร้อนค่อนข้างเยอะ
รถญี่ปุ่นเริ่มทำตลาดในเมืองไทย ด้วยเทคโนโลยีที่อาจจะด้อยกว่า รถฝรั่ง (ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากทุกวันนี้มากนัก) แต่จุดสำคัญที่ทางญี่ปุ่นได้พัฒนาจนคนไทยติดใจ คือรถซ่อมง่าย ช่างที่ไหน ก็สามารถทำเองได้ ไม่ซับซ้อน
เครื่องยนต์ยุคแรกเป็นเครื่องยนต์ประเภท OHV (Over Head Valve) จนเริ่มมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง Toyota ก็เริ่มจากบรรดา Toyopet 800 ตามมาด้วย Toyopet Tiara แล้ว พัฒนาตามมายุค มาสู่ตระกูล KE , Corona ยันปัจจุบัน
ถ้าฟังจากที่น้าเล่าให้ผมฟัง ในยุคเดิมคนไทยส่วนใหญ่ก็น่าจะใช้ รถยุโรป ในแบรนด์ที่เราห่างหายไปเช่น Renault , Peugeot , Skoda , Lancia รวมถึงแบรนด์ Volkswagen
น้าตั๋ม เสริมว่า Volkswagen เป็นแบรนด์ที่ติดตลาดในอดีต โดยเฉพาะ “เจ้าบีทเทิล หรือ รถเต่า” เนื่องจากรถไม่มีปัญหาความร้อน สามารถใช้งานได้อย่างสบายใจ ไม่เป็นประเด็นต่อผู้ใช้มากนัก
มาถึงยุคผมเอง ก็เรียกว่า ทั้งชีวิตแทบจะโตมากับรถญี่ปุ่น รถคันแรกที่ได้นั่ง จะเป็น Mazda 323 ตัว 5 ประตู คันเล็กๆ ของเพื่อนแม่ที่ทำงาน นั่งติดรถเขากลับบ้านเป็นประจำ จนมาตอนหลัง คุณพ่อออกรถ Toyota Hilux Hero มาใช้ ก็กลายเป็นรถประจำบ้าน ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็น Isuzu TFR, Isuzu Cameo
จนมาผมขับรถเอง อยากได้ BMW นกแก้ว (BMW Series-3 E36) ก็ได้มาครอบครอง จนมาซื้อรถเองก็เริ่มด้วยรถญี่ปุ่น Nissan Navara และ ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ
ถ้าคุยกันด้วยข้อเท็จจริง สาเหตุที่รถญี่ปุ่นอยู่ในใจคนไทยแทบทุกคนเวลาจะซื้อรถ มีหลายปัจจัยประกอบกัน
ข้อแรก การดูแลรักษาค่อนข้างง่ายมากในยุคก่อน รถยนต์สันดาป จะต้องมีการดูแลรักษาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเป็นประจำ ถ้าไม่ทำเอง ก็ต้องช่างอู่นอก ไม่งั้นก็ต้องเป็นศูนย์บริการที่มีมาตรฐาน
ในบรรดาค่ายญี่ปุ่น ยอดนิยม ทั้ง Toyota, Honda , Nissan เราจะสังเกตได้ว่า มีศูนย์บริการจำนวนเยอะมาก พร้อมให้บริการทุกที่ ยิ่งโตโยต้า แทบจะเรียกว่ามีทุกอำเภอใหญ่เลยก็ว่าได้ ถ้าไม่ได้ อยู่ในอำเภอเล็กห่างไกลมาก ก็มักจะมีอยู่เสมอ
ประการต่อมา ความทนทาน , ผมไม่ได้บอกว่า รถยุโรปไม่ทน แต่หลายคนที่เคยผ่านมือรถญี่ปุ่นมา ไม่ว่าจะเจ้าใด ก็คงสังเกตว่า รถญี่ปุ่น ทนมือทนไม้ดีเหลือเกิน ใช้งานได้ไม่มีปัญหาจุกจิกกวนใจ (แม้ว่ายุคนี้มันจะบ้างในบางแบรนด์)
ยกตัวอย่าง โตโยต้า ก็จะมีหลักการพัมนาผลิตภัณฑ์ที่ต้องทำให้ทนทาน ที่เรียกว่า QDR มาจาก Qaulity , Durability, Reliability หรือ คุณภาพ ทนทาน วางใจ
เรื่องนี้ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่ง ทางผู้ผลิตมีการใส่ใจกับการทำตลาดในประเทศไทยอย่างมาก จนมีทั้งหน่วยวิจัยและพัฒนาฝังตัวอยู่ในประเทศไทย เพื่อศึกษาการใช้รถ รวมถึง ยังมีการเข้ามาจัดตั้งโรงงานประกอบในประเทศไทยกันแต่เนิ่นๆ
เช่น นิสสัน ตั้งโรงงานประกอบรถยี่ห้อดัทสัน และภายหลังกลายเป็น นิสสัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา โตโยต้า สร้างโรงงานประกอบปีเดียวกัน ผลิต Toyota Dyna JK 170 และ Toyota RT 140 เริ่มออกจากสายการผลิตในปี พ.ศ. 2507 หรือ Isuzu ก็ตั้งโรงงานผลิต มาตั้งแต่ปี พ.ศ 2509
ไม่เพียงเท่านี้ แบรนด์ใหม่ที่เข้ามาอย่าง ฮอนด้า ที่เข้ามาในช่วงหลัง ก็เข้ามาประกอบรถในประเทศไทย มาตั้งแต่ช่วงแรกที่เข้ามาทำตลาด
ส่วนมาสด้าเอง ก็เข้ามาจับมือกับ ตระกูลสุโกศล ก่อตั้ง บริษัท สุโกศล มาสด้า จำกัด และ เริ่มสร้าง โรงงานผลิตเครื่องยนต์ ในปีเดียวกัน สำหรับรถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น
นั่นอาจจะทำให้ คนไทยวางใจมากกับตัวรถ ว่าถ้าเกิดรถเสียในอนาคต ก็มีอะไหล่พร้อมซ่อมจากผู้ผลิต แถมศูนย์บริการก็เยอะ ถ้าหมดประกันศูนย์ ก็ซ่อมข้างนอกได้ ช่างที่ไหนก็ทำได้ ไม่ได้ซับซ้อนจนเกินไปนัก
อีกประการที่สำคัญ ที่ทำให้รถญี่ปุ่นได้รับความนิยม เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องของการบำรุงรักษา คือบ้านเรามีอะไหล่รถยนต์มือสองสภาพดี (หรือแย่หน่อย แต่ยังใช้ได้อยู่) นำเข้าจากญี่ปุ่น เป็นจำนวนมากกว่ารถยุโรป ทำให้เวลาจะซ่อมบำรุง หากเกิกรณีที่ชิ้นส่วนเสียจนซ่อมไม่ได้ ก็แค่เดินไปเชียงกง เลือกของ จ่ายเงิน ซื้อเครื่องยนต์ หรือชุดเกียร์ใหม่ รวมถึง อะไหล่ตัวถัง ไม่ต้องเบิกศูนย์ก็ได้
แถมท้ายสุด ด้วยปัจจัยความนิยมที่แพร่หลาย ทำให้ราคาขายต่อก็ดี โดยเฉพาะ เจ้าตลาดสำคัญๆอย่าง โตโยต้า ที่ลูกค้าสามารถซื้อรถมาขายไป โดยไม่ได้หลังหักจากส่วนต่างราคาที่ลดลงมากนัก จนไม่ต่างจากการได้เช่าใช้ไปพลางๆ ผิดกับรถยุโรป แม้ว่ารถจะขับดีกว่ารถญี่ปุ่นหลายเท่า แต่ใช้งานนานไป อาจจะซ่อมแพง ทำเอาลูกค้าหลายคนบ่นในทิศทางเดียวกัน ราคาขายต่อก็มีเพียงบางรุ่นที่ขายได้ราคา เพราะคนไม่กล้าเล่นต่อ ไม่เท่ากับรถญี่ปุ่นที่ซื้อง่ายขายคล่องกว่า
ญี่ปุ่นผูกขาด จริงหรือ ?
ประเด็นหนึ่ง ที่ผมได้ยินในระยะหลัง แล้วค่อนข้างแปลกใจ กับคนที่พูด คอมเม้นท์ คือ ญี่ปุ่นผูกขาดตลาดรถยนต์ในไทย
ในมุมนี้ ส่วนตัว ผมมองว่า น่าจะเป็นเพียงความคิดส่วนบุคคลมากกว่า
คำว่า ผูกขาด หมายถึง ไม่มีทางเลยที่ผู้ผลิตรายอื่น จะแทรกขึ้นมาได้ นั่นไม่จริง เมื่อคุณพบว่า ในวันนี้ Ford ก้าวเข้ามาอยู่เบอร์สาม ของตลาดรถกระบะในประเทศไทย ก็ต้องย้อนกลับว่าจริงไหม ?
อันที่จริง ในประเทศไทย มีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดเสมอ ยกตัวอย่างเช่น รถเกาหลี อย่าง Hyundai เคยเข้ามาทำตลาดก่อนหน้านี้ โดยมี พระนครยนตรการ เป็นผู้ดำเนินการทำตลาดอยู่พักใหญ่ แต่ก็ยุติไปช่วง ราวๆ 5-6 ปี ก่อนจะกลับมาโดยการส่งไม้ต่อให้ บริษัทตัวแทนจำหน่ายในญี่ปุ่น Sojitz เข้ามาทำตลาดในบ้านเราต่อ ภายใต้การร่วมมือกับทาง บริษัท อากิโก้ ไฮเทค จำกัด (มหาชน)
เครือพระนครยนตรการ อีกเช่นกัน ถ้ายังจำได้ก็มีช่วงเวลาที่รถยนต์จากเพื่อนบ้าน มาเลเซีย เข้ามาวางจำหน่ายให้คนไทยได้ซื้อหา ในนาม แบรนด์ Proton ก่อนจะหายไปในช่วง ต้นทศวรรษ ที่ผ่านมา
ไม่เพียงเท่านี้ ในอดีตยังมีรถยนต์จีน พยายามเข้ามาทำตลาดอยู่บ้าง เช่น Cherry, Naza แม้ กระทั่ง ตงฟง หรือ DFSK รถอินเดีย ก็มีมาเช่น แบรนด์ Tata
แต่สาเหตุที่รถทั้งหมด ยังสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องความวางใจ ความสบาย และ ที่สำคัญ ความจริงในการทำแบรนด์ ในประเทศไทย อย่างในกรณีที่น่าสนใจ ก็คือ Hyundai ที่อยู่รอดมาจนวันนี้ที่บริษัทแม่ เข้ามาทำตลาดด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับ KIA
ดังนั้น ถ้าในความคิดผม ญี่ปุ่นไม่ได้ผูกขาดทางการค้า แบบที่หลายคนเข้าใจ แต่ที่คนส่วนใหญ่ไม่ซื้อแบรนด์อื่นเพราะยังไม่มั่นใจว่า แบรนด์น้องใหม่จะอยู่ในไทยนานไหม ?
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในมุมมองคนไทยส่วนใหญ่ รถยนต์เป็นสิ่งของที่ต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างมีราคาสูง เพื่อให้คุ้มค่า จึงต้องใช้งานกันได้ยาวๆ คนจึงอยากจะมั่นใจมากกว่า ว่ารถที่พวกเขาซื้อ หลังจากผ่อนหมด จะใช้งานได้อีกนาน จึงต้องเลือกแบนด์ ที่มีความเชื่อมั่น น่าไว้ใจเอาไว้ก่อน
แน่นอน การเข้ามาของแบรนด์รถยนต์จากผู้ผลิตชาวจีน ช่วยให้ตลาดมีสีสันมากขึ้น แข่งขันกันดุเดือดมากขึ้น ทำให้มีการขยับปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด
แต่สำหรับคนไทย ไม่แปลกที่มีจำนวนไม่น้อย จะยังคงวางใจแบรนด์รถญี่ปุ่น ด้วยความที่พวกเขา(แบรนด์ญี่ปุ่น)อยู่ในไทยมานาน ค่อนข้างเข้าใจคนไทย มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ (แม้เสียงโซเชียลจะบ่นว่ากั๊กกันอยู่ซ้ำๆมาโดยตลอดก็ตาม)
ดังนั้น แม้ในศึกรถยนต์ไฟฟ้า ณ เวลาปัจจุบัน พวกเขาอาจจะยังไม่สามารถสู้ผู้ผลิตชาวจีนได้ในความคิดของหลายคน ทั้งในมุมมองเทคโนโลยี และออพชัน แต่ก่อนที่คุณจะหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทุกคนน่าจะเคยมีรถญี่ปุ่นที่บ้าน และมันคงเคยพาคุณไปไหนต่อไหน โดยที่ตัวคุณเอง หรือคนในบ้านคุณก็ยังพอใจในการเลือกครั้งนั้น และหลายคนก็ยังคงให้ความเชื่อใจดังกล่าวต่อไป
ไม่มีความจำเป็นต้องยกให้ผู้ผลิตญี่ปุ่นเป็นตัวร้าย หรือ ตราหน้าคนที่ไม่สนใจในรถยนต์ไฟฟ้า หรือคนที่ไม่สนใจรถจีน ว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยมเลยสักนิดเดียว