อาจดูแปลกใจ เมื่อเห็นหัวเรื่องบทความนี้ แต่นั่นคือความรู้สึกผมที่พยายามอยากจะถ่ายทอดจากใจ หลังได้เห็นบรรดารถยนต์ EV มากมายออกสู่ตลาดอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งแบรนด์หรูแบรนด์ตลาด จากจีนหรือญี่ปุ่นไปจนถึงฝั่งยุโรป กรีฑาทัพเข้าถล่มตลาดประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
การปล่อยผีของภาครัฐด้วยภาษี CO2 ส่งผลให้หลายบริษัทรถยนต์เริ่มสนใจทำตลาดรยนต์ไฟฟ้าในบ้านเร ถึงจะรู้ดีเต็มอกว่า คนไทยยังไม่เข้าใจห่างไกลจากความจริงอันสวยหรู ของเหล่านักวิชาการ และหน่วยงานรัฐบาลว่า ในอนาคตเราจะทำให้รถกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการและนิยมประดุจรถนำมันในปัจจุบัน
ราคาเริ่มต้นในช่วงแรก 2-3 ล้านบาท เริ่มทอนต่ำลงมาเรื่อๆ จนเหลือ 1 ล้านบาทปลาย ก็ยังไม่มีทีท่าว่าใครจะสนใจ กระทั่ง MG บริษัทรถยนต์สายเลือดอังกฤษทุนจีน เอารถ MG ZS EV เข้ามาด้วยราคาสุดฮือฮา ว่าคนทั่วไปสามารถแตะต้องได้ เริ่มทำให้กระแสรถยนต์ไฟฟ้าตื่นตัวมากขึ้น แต่เมื่อมองย้อนมายังความจริงพื้นฐานของประเทศไทย และหลายอย่างที่เป็นองค์ประกอบ ก่อเกิดความนิยม เรากับต้องพูดอย่างจริงใจว่า “วันนี้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า อาจยังไม่คุ้มสำหรับหลายคน”
ทำไมน่ะหรือ คงต้องไล่เรียงไปทีละประเด็น …
ประการแรก ความพร้อมของที่ชาร์จ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้า ไม่ได้วิ่งเข้าปั้มน้ำมัน ตะโกน “น้องเต็มถัง” จ่ายเงิน แล้วแล่นปรู๊ดออกไปได้ง่ายอย่างเดิม
การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ต้องอาศัยสถานีชาร์จ ที่ติดตั้งโดยบริษัทผู้เชี่ยวชาญทางด้านไฟฟ้า ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่บริษัทที่เข้ามาลงทุนทำธุรกิจนี้ หนึ่งในนั้นคือ EA บริษัทลูก ของบริษัทน้ำมัน Susco แล้วก็ดูเป็นบริษัทเดียวทีกระเหี้ยนกระหือรือเรื่องนี้
EA มีเป้าในการสร้างสถานีชาร์จอย่างชัดเจน ปัจจุบันขยายครอบคลุมทั่วทั้งเขต กทม. ปริมณฑล ไปตลอดจนหัวเมืองใหญ่ มีตู่ชาร์จสถานีชาร์จให้เห็นกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ฟังดูอุ่นใจรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มน่าใช้มากขึ้น
แต่ความจริงในเรื่องนี้กลับเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะ EA ตู้ชาร์จเยอะ และวางแผนเรื่องค่าบริการชัดเจนเอาไว้แล้ว แต่ยังไม่เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ เนื่องจากในขณะนี้ให้ชาร์จได้ฟรี ทำให้แรงดันหัวชาร์จไม่ได้จ่ายตามค่าจริงที่ควรจะเป็น จะช้าหรือเร็ว สุดแท้แล้วแต่พื้นที่เขตนั้น
จากที่สัมผัส และคนใช้รถยนต์ไฟฟ้าบางรายเล่าถึง ตู้ชาร์จ EA ชาร์จไฟฟ้าช้า ทำให้ เวลาในการชาร์จนาน แม้นข้อดีจะแลกด้วยไฟฟ้าฟรีเป็นของกำนัล หากในอีกมุมมันไม่ได้สะดวกโยธินในการใช้งาน สู้เก็บเงินค่าชาร์จแล้วทำให้ดีน่าจะดีกว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะดูน่าใช้งาน ไม่ใช่วันนี้ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า กลายเป็นที่จอดรถของอภิสิทธิ์ชน จนแลแล้วไร้ประโยชน์
อีกเรื่องยังคงเกี่ยวกับ EA คือ ระบบการชาร์จเร็ว หรือ ตู้ประเภท DC ยังไม่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ปัดตกเรื่องคุณสมบัติชาร์จเร็วที่มีในรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่นที่โฆษณาเอาไว้ และทำได้จริง เพราะข้อเท็จจริงสถานีชาร์จเร็วยังไม่เปิดให้ใช้เลย แม้ว่าจะมีการติดตั้งไว้แล้วก็ตาม
แม้นประเด็นเรื่องสถานีชาร์จจะเป็นจุดบกพร่องหลักก็ตาม แต่ทางบริษัทผู้ขายรถยนต์ไฟฟ้าหลายราย อาทิ นิสสัน และ MG ต่างมีแนวทางชัดเจน คือ สร้างสถานีชาร์จเอาไว้ที่ศูนย์บริการเลยง่ายดี
ต่างบริษัท ก็มีบริษัทซัพพลายรับสร้างสถานีชาร์จของตัวเอง อย่าง นิสสัน ดีลกับ เดลต้า อิเล็กทริกส์ ส่วน MG ดีล กับ EA ซึ่งเป้าหมายทั้งคู่เหมือนกัน คือให้สถานีชาร์จเหล่านี้ดึงดูดคนเข้ามาศูนย์บริกา รและเป็นการโฆษณาไปในตัว ชาร์จไฟฟ้าฟรี ซึ่งก็เป็นทางออกที่ดี เช่นกัน
ทางด้านผู้ใช้เอง จากประสบการร์นำรถยนต์ไฟฟ้ามาทดสอบ ต้องประบตัววางแผนการชาร์จไฟฟ้า หลายคนวาดฝันหรู เราจะติดหัวชาร์จไว้ที่บ้าน จบกันทีกู๊ดบายเด็กปั้ม ความจริงเรื่องนี้ก็ไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่พวกเราคิดกันเอาไว้
การติดตั้งหัวชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน มีข้อจำกัดสำคัญ คือ การดึงหลังงานไฟฟ้าของหัวชาร์จไปจ่ายไฟฟ้าให้รถนั้น มีโหลดสูง บางหัวชาร์จปกติ หรือ Home Charger ที่ต้องติดตั้งเพิ่ม อาจกินไฟถึง 32 แอมป์ ซึ่งสูงพอสมควรเลยทีเดียว
เนื่องจากบ้านปกติทั่วไป ทาวเฮ้าส์ ทางโฮม ส่วนใหญ่จะมาพร้อมหม้อมิเตอร์ 15/45 เป็นมาตรฐาน บ้านหลังใหญ่อาจใช้ 30/100 ซึ่งก็น่าจะประเภทบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ แบบนั้นไม่มีปัญฆา
กลับมาที่บรรดาบ้านคนทั่วไป หม้อ 15/45 พูดความจริงถามผู้เชี่ยวชาญการติดที่ชาร์จไฟฟ้า อย่า ง Delta Electric ผู้ทำที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf ชี้ว่า หม้อ 15/45 คงไม่พอต่อการใช้งาน เนื่องจากต้องคำนึงถึงโหลดภายในบ้าน
ยกตัวอย่างคุณชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตอนกลางคืน นอนเปิดแอร์- ดูทีวี ด้วย อาจไม่พอ เนื่องจากต้องคำนวณโหลดของ อุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ร่วมด้วย
เป็นเหตุให้ ประการต่อมา เรื่องการชาร์จที่บ้านก็จะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นตามไปด้วย เป็นเงาตามตัว เริ่มจากค่าที่ชาร์จติดบ้าน อันหนึ่งก็หาใช่ว่าจะถูก ต้องมีหลัก 3-4 หมื่นบาท ยังไม่รวมค่าติดตั้งโดยช่างผู้ชำนาญการเท่านั้นยังไม่พอ ค่าเครื่องชาร์จว่าเลวร้าย ความยุ่งยากจากการไฟฟ้านครหลวง – ภูมิภาค จะเลวร้ายยยิ่งกว่า
ตั้งแต่กระบวนการขอมิเตอร์ใหม่ เปลี่ยน 15/45 เป็น 30/100 ค่าขอมิเตอร์ไฟฟ้า ก็ใช่ว่าจะถูกๆ มีหลักหมื่นบาทขึ้นไปแน่นอน รวมถึงเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนสายไฟฟ้าเดินเข้าบ้านไปยังคัทเอาท์หลัก เผลอๆผมเคยถามช่างไฟฟ้า เราอาจจะต้องเปลี่ยนเมนเบรกเกอร์ในบ้านด้วย รวมถึง ต้องติดตั้งเบรกเกอร์แยก ต่างหากสำหรับที่ชาร์จ รวมถึงสายไฟฟ้าเข้าบ้าน
สรุปความเรื่องค่าติดตั้งที่ชาร์จภายในบ้าน ไปๆ มาๆ กว่าจะได้ติดตั้งจนแล้วเสร็จ อาจจะต้องมีเงินอีก 1-2 หมื่นบาท เป็นค่าจัดการแต่ละสิ่งที่ผมกล่าวไป (ถ้าบ้านที่เป็น 30/100 อยู่แล้วอาจไม่เป็นปัญหา)
ในด้านการใช้งานรถ จริงอยู่งานนี้ซาโยนาระเด็กปั้มวัยละอ่อน เราต่างทราบดีอยู่แล้วว่า รถยนต์ไฟฟ้าไม่ต้องเติมน้ำมัน และราคามันก็ไม่ได้ถูกมากมายมัก แต่ความจริงในแง่การใช้งาน อาจจะยังเหมาะขับขี่ในบางบริบทเท่านั้น
ทำไมผมพูดเช่นนี้ นั่นเพราะรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และระหว่างการขับเคลื่อน มันสามารถนำแรงจลย์เปลี่ยนเป็นไฟฟ้าได้ ด้วยระบบ Regenerative Braking ชาร์จไฟฟ้าแบตเตอร์รี่ ระบบนี้จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ อยู่ 3 กรณี คือ 1 เมื่อรถไหล โดยเราไม่ใช่คันเร่ง 2. เบรกเพื่อหยุดหรือชะลอรถ 3. ลงเนินที่มีความลดชัน
จากที่พูดมา คงจะเห็นได้ว่า 2 ใน 3 กรณี ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานในการจราจรคนเมือง ที่รถขับไปเจอไฟแดงเบรกหยุด หรือผ่อนคันเร่งรอจังหวะ ในทางกลับกัน ถ้าคุณขับรถเดินทางไกล ใช้ความเร็วต่อเนื่อง แบตเตอร์รี่จะถูกใช้งานต่อเนื่องไม่ถูกชาร์จไฟฟ้ากลับเข้าสักเท่าไรนัก เนื่องจากเราต้องการแรงขับอยู่สม่ำเสมอ ระหว่างทำความเร็ว
นั่นทำให้ได้ข้อสรุปว่า รถยนต์ไฟฟ้าเหมาะสำหรับขับใช้งานในเมืองมากกว่า การเดินทางอาจจะเป็นในลักษณะจากชานเมืองเข้าสู่เขตเมืองหลวง ซึ่งจะได้ใช้ประโยชน์จากระบบที่กล่าวมาข้างต้น
ผมไม่ได้บอกว่ารถยนต์ไฟฟ้าขับเดินทางต่างจังหวัดไม่ได้ เพียงแต่อาจไม่เหมาะเท่าการขับในเมือง อย่างที่ทราบจุดชาร์จรถยนต์เหล่านี้ยังไม่ครอบคลุมเท่าไรนัก ในตามต่างจังหวัด ขับอาจหวั่นใจสักหน่อย ผิดกับในเมืองจุดชาร์จมหาศาล และพร้อมในการใช้งานหลายจุด และจะดีกว่านี้ ถ้าเปิดเต็มระบบจริงจัง
เชื่อว่าวันนี้รถยนต์ไฟฟ้าอาจจะเริ่มเป็นที่สนใจของใครหลายคน แต่อาจยังไม่เหมาะกับทุกคน ด้วยหลายปัจจัยเสริมที่จะต้องทำให้รถยนต์เหล่านี้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณอาจต้องรอเวลาอีกสักหน่อยให้พวกมันพร้อมกว่านี้ ซึ่งเรื่องนั้นคงไม่ใช่แค่การผลักดันจากผู้ผลิตรถยนต์ หากยังรวมถึงภาครัฐที่ต้องมาร่วมด้วยช่วยกัน เหมือนในต่างประเทศ และเอื้อสิทธิความน่าสนใจให้แก่คนที่ยินดีเสียสละลดมลภาวะปล่อยไอเสีย