ทุกวันนี้ เวลาซื้อรถใหม่ก็เริ่มจะคำนึงเรื่องของการดูแลรักษารถยนต์ที่เรารักตั้งแต่เริ่มต้น กระบวนการเคลือบสี และอื่นๆ มากมาย ถูกกล่าวถึงและคำนึงจากผู้ใช้จำนวนมาก ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเรื่องเหล่านี้มามาก แต่เชื่อว่าน้อยคนจะเข้าใจว่า มันคืออะไร ทำเพื่ออะไร และที่สำคัญที่สุดได้เสียคุ้มค่าจริงหรือไม่
เรื่องราวสีรถยนต์
ก่อนจะไปไกลถึงเรื่องกระบวนการเคลือบสี และอื่นๆ อีกมาก อยากให้เข้าใจเรื่องการสร้างสีรถยนต์กันก่อนสักหน่อย จะได้เข้าใจวิถีอย่างถ่องแท้
การทำสีรถยนต์ไม่ว่าจะในโรงงานประกอบพ่นตัวถังหรือตามอุ่ต่างๆ มีขั้นตอน คล้ายๆ กัน เริ่มจากการเตรียมผิวเพื่อให้พร้อมสำหรับการพ่นเคลือบตัวถังรถ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการป้องกันสนิม ในโรงงานรถยนต์จะใช้การชุบโครงรถทั้งชิ้นลงไปในอ่างน้ำยาเพื่อให้เสมอเท่ากัน ขั้นตอนเดียวกันนี้ ทำกับช่วงวัสดุรองพื้นด้วย
จากนั้นโครงรถจะเข้าสู่กระบวนการพ่นสีจริง ตามปกติ (ถ้าไม่ใช่สีประเภทสีเหลือบ-มุก) จะพ่นกันอยู่ 2-3 รอบ เท่านั้น แล้วพ่นแล็คเกอร์เคลือบ อีก 2 ชั้น เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำสีรถยนต์ 1 คัน
การขัด-เคลือบสี
ขั้นตอนการขัดเคลือบสีรถ เป็นขั้นตอนที่ช่างทำสีหรือตัวถังรถยนต์ ตลอดจน พวกคาร์แคร์จะพูดรวมกันเสมอ จนผมมั่นใจว่า หลายคนคงเริ่มสับสน ว่ามันเป็นขั้นตอนเดียวกันไปแล้วด้วยซ้ำ
ถ้าคุณได้ยินคำว่า ขัดเคลือบสี เมื่อไร ให้เข้าใจว่า เป็น 2 ขั้นตอน เสมอ ไม่เหมือนกัน และทำหน้าที่แตกต่างกัน
การขัดสีรถ
ได้ยินแบบนี้หลายคนคงอาจจะตกใจ เฮ้ยอะไร มาขัดสีรถมันก็ด้านน่ะสิ หรือ สีจะจางไหม การขัดสี ที่จริงแล้วไม่ใช่ในแบบที่หลายคนเข้าใจจริง แต่เป็นการขัดล้างหน้าชั้นแล็คเกอร์ที่พ่นทับหน้าสีจริงของรถ
จำได้ไหมครับ ที่ผมเล่าเรื่องกระบวนการทำสีรถยนต์ไปว่า จะต้องมีการพ่นแล็คเกอร์ 2 ชั้น การขัดสีก็คือ การล้างหน้าชั้นแล็คเกอร์เดิม ที่อาจจะมีรอยขีดข่วนเล็กยิบยับมากมาย รอยเหล่านี้ในทางเทคนิค เราจะเรียกว่า “รอยขนแมว” มันไม่มีปัญหา ถ้ารถคุณใช้งานทั่วไป แต่ถ้าคุณต้องการอวดรถท่ามกลางแสงไฟ มีสปอร์ตไลท์ส่องลงมา รอยต่างๆ เหล่านี้ จะดูไม่สวยงามเท่าไรนัก
วิธีการขัดสีแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คร่าวๆ คือ การขัดถูแล็คเกอร์ และ การใช้น้ำยาขัด ซึ่งน้ำยาขัด หรือ อู่สีรถ จะเรียกว่า “ยาขัด” มี 2 ขั้นตอนสำคัญ คือ ขัดหยาบ (เอารอยกระดาษทรายออก) และ ขัดละเอียด ลบรอยทั้งหมด โดยใช้เครื่องหมุนความเร็วสูง และที่สำคัญต้องทำโดยช่างผู้ชำนาญการ หรือ มีความเชี่ยวชาญในการขัดสีรถยนต์
ขั้นตอนขัดสีจึงเป็นขั้นตอนมาตรฐานในการเตรียมผิวสีให้สวยงามก่อนการลงแว็กซ์ ในขั้นตอนเคลือบสี รวมถึง กระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้องกับสีรถยนต์ด้วย
และที่หลายคนไม่ทราบคือ เราควรเข้าไปขัดสีรถเป็นประจำ อย่างน้อย 2 ปี ครั้ง เพื่อให้สีรถเงางามเสมอ เนื่องจากเวลาเราใช้รถไปนานๆ จะมีคราบต่าง เช่น คราบฝุ่น , คราบน้ำ เมื่อนานไป จะทำให้สีหมอง และไม่เงางามเหมือนเดิม
การเคลือบสี
ผมเชือว่า เราหลายคนรู้จักการเคลือบสีเป็นอย่างดี โดยเฉพาะคนที่รักและดูแลรถด้วยตัวเองเสม่ำเสมอ การเคลือบสีเป็นขั้นตอนหลังทำสี ในการทำให้ชั้นแล็คเกอร์สะอาดเสมอ โดยใช้น้ำยาพิเศษ หรือ Wax ทาลงไปบนชั้นแล็คเกอร์แล้วเช็ดออก เพื่อทำความสะอาดรถอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
การเคลือบสีรถเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสามารถทำได้ด้วยตัวเอง มีน้ำยาที่หลากหลาย ตั้งแต่ราคาไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงหลายพันบาท คุณสมบัติน้ำยา ก็จะแตกต่างกันไป แว็กซ์แต่ละตัวแต่ละยี่ห้อให้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน บางยี่ห้อแยกตามประเภทสีด้วยซ้ำไป
แต่โดยมากแล้วจะมีคุณสมบัติบางประการเหมือนกัน คือ 1.ทำความสะอาดชั้นแล็คเกอร์ 2. สร้างชั้นปกป้องบางๆ เหนือแล็คเกอร์ เพื่อลดการเกาะของฝุ่น น้ำ และคราบๆ ต่างๆ ที่ชั้นแล็คเกอร์ 3.ป้องกันคุณสมบัติแสงแดดในการทำอันตรายกับสีรถ
ดังนั้นในพื้นฐานการดูแลรถ การเคลือบสีด้วยแว็กซ์ธรรมดาทั่วไป ถือว่าเพียงต่อการดูแล ทว่าก็ต้องหมั่นดูและสม่ำเสมอ ควรทำการแว็กซ์รถ ทุกๆ 2-3 เดือน ถ้าจะให้ดีที่สุด เคลือบทุกเดือน ดำเนินการด้วยฟองน้ำ และผ้าไมโครไฟเบอร์เนื้อละเอียดเท่านั้น
แว็กซ์ที่ดีจะมีราคาค่อนข้างแพง แต่ซื้อมาแล้วใช้ได้นาน จนบางตัวใช้ปีต่อปีเลยทีเดียว
เคลือบแก้ว คืออะไร
เริ่มแรกก่อนมาถึงยุคเคลือบเซรามิค เชื่อว่า จะได้ยินคำว่า “เคลือบแก้ว” มาก่อนใครเพื่อน และเป็นที่นิยมขายแพ็คเกจให้ลูกค้าคนรักรถเข้ามาใช้บริการและราคาก็ใช่ว่าจะถูกๆ
การเคลือบแก้ว เป็นขั้นตอนการเคลือบสีลักษณะพิเศษ โดยใช้น้ำยาที่ผลิตจากสารประกอบ ซิลิคอนไดออกไซด์ พูดภาษาวิทยาศาสตร์คงพาหลายคนงง มันคือ “ซิลิก้า” นั่นเองครับ
น้ำยาเคลือบแก้วนั้นเรียกว่าเป็นการประยุกต์โดยวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ หาสารประกอบที่สามารถเคลือบชั้นผิวแล็คเกอร์ได้นานกว่าชั้นแว็กซ์เคลือบสีปกติ ช่วงแรกสารแบบซิลิก้าเป็นที่นิยมมาก แต่นั่นก็ประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ภายหลังมีการพัฒนาคุณลักษณะน้ำยาที่ใช้ในการเคลือบให้มีความเหนียวยิ่งขึ้น ทนทานยิ่งขึ้น และทางผู้ผลิตน้ำยา ไม่ลืมจะพยายามใส่ความแววาดลงไปด้วยเมื่อเคลือบลงไปบนรถ
ระยะหลัง น้ำยาเคลือบแก้วบางตัว จึงถูกเรียกว่า “น้ำยาเคลือบคริสตัล” ใช้วัตถุดิบต่างออกไปจากตัวเดิม มันจึงมีคุณสมบัติดีขึ้น ตอบโจทย์คนใช้รถมากขึ้น ในแง่คนขายบริการเคลือบแก้ว ก็สามารถทำราคาได้มากขึ้นด้วย
เคลือบเซรามิค คือ อะไร
เข้าใจเคลือบแก้วไปแล้ว ทีนี้มาถึงคิวพระเอก ประจำยุค “เคลือบเซรามิค” กันบ้าง
เคลือบเซรามิก น่าจะได้ยินกันมากในยุคนี้ แต่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจมันแท้จริง หลักการของการเคลือบเซรามิก คล้ายกับเคลือบแก้ว คือการใช้น้ำยาพิเศษสร้างชั้นพื้นผิวเพิ่มจากชั้นแล็คเกอร์ อีก 1 ชั้น เพื่อป้องกันการทำรอย ปฏิกิริยา กับชั้นแล็คเกอร์โดยตรง
น้ำยาที่ใช้ในขั้นตอนการเคลือบผิวนั้น ทำมาจากเซรามิกวิศวกรรม อาทิ ซิลิกอน คาร์ไบด์ เป็นต้น ใครที่เรียนสายวิทย์ ฯ อาจพอทราบว่า ซิลิก้า ที่ใช้ในเคลือบแก้ว นั้นก็เป็นสารเซรามิคประเภทหนึ่งเช่นกัน แต่เป็นประเภทเซรามิกดั้งเดิม ซึ่งคุณสมบัติของสารเซามิควิศวรรม จะมีคุณสมบัติที่ดีกว่าหลายประการ โดยเฉพาะ ความคงทนมากกว่า และทนทานต่อสารเคมีต่างๆมากมากกว่า
สำหรับการปกป้องชั้นแล็คเกอร์ สารที่มีความแข็งมากกว่าจะทำให้การปกป้องจากรอยขีดข่วนดีกว่า โดยส่วนใหญ่ค่าการขีดข่วนนี้จะถูกแทนด้วยคำว่า Hardness แทนด้วยอักษร H มีค่าความแข็งตั้งแต่ระดับ 1-9 ส่วนมากร้านเคลือบจะโฆษณาน้ำยาว่ามีความแข็งระดับ 9 H หมายความว่าทนต่อขีดข่วนด้วยดินสอได้เลย ในทางกลับกันมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่รอยจากการเช็ดรถด้วยผ้าจะทำอันตรายมันได้
รู้ให้จริงก่อนเคลือบแก้ว -เซรามิก
มาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจ การเคลือบแก้ว และ การเคลือบเซรามิค แล้วว่า มีความสามารถในการปกป้องรถที่เราใช้ได้อย่างไรบ้าง
แต่ก่อนที่เราจะเสียเงินไปเคลือบน้ำยามหัศจรรย์เหล่านี้ ก็ควรทราบข้อเท็จจริงบางประการด้วย
ประโยชน์
1.ลดการเกาะตัวของน้ำที่สีรถ
2.ลดการเกาะตัวคราบต่างๆ ที่สีรถ โดยเฉพาะโคลน หรือคราบสกปกรกอื่นๆ เช่นขี้นก ไม่ให้ทำอันตรายชั้นแลคเกอร์
3.ช่วยปกป้องชั้นแล็คเกอร์จากแสงแดดดีขึ้น ในระดับหนึ่ง
4.ปกป้องรถรอยขีดข่วนที่ไม่รุนแรง , รอยขนแมว
5สีรถเงางามเสมอ และล้างดูแลเพียงเล็กน้อยก็เงางามเหมือนเดิม
ข้อควรรู้
1.ต้องเข้าพบผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำ เพื่อตรวจสอบและรับบริการต่อเนื่อง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
2.การเคลือบแก้ว-เซรามิค ไม่สามารถทนต่อการชนกระแทก จนเป็นรอยบุบ , การขูดลึกที่มีความรุนแรง เช่นหินดีดจากถนน หรือ โดนไขควงขูด ได้
3.การเคลือบแก้ว-เซรามิค มีราคาสูง แต่สามารถอยู่ได้นาน 2-3 ปี เท่านั้น (หลังจากนั้นต้องเคลือบใหม่)
4.การเคลือบแก้ว-เซรามิก เหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีโอกาสดูแลรถนัก ในต่างประเทศชี้ว่าการเคลือบแบบนี้มีผลดีก้จริง แต่ถ้าเทียบกับคนขยันหมั่นเคลือบสีแล้ว ก็ถือว่าพอกัน
5.เวลารถเกิดอุบัติเหตุ ต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถัง การเคลือบเซรามิกเฉพาะจุดจะมีราคาแพงพอสมควร บางร้านอาจไม่ยอมทำให้เนื่องจากไม่คุ้มค่าน้ำยา
6.ต้องมีการเตรียมพื้นผิวที่ดีก่อนการทำการเคลือบแก้ว-เซรามิค ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่นิยมสำหรับรถใหม่ ส่วนรถเก่าต้องผ่านการล้างขัดสี แล้วจึงจะสามารถทำได้
มาถึงตรงนี้ผมว่า หลายคนคงเข้าใจการเคลือบสี-เคลือบแก้ว และ เคลือบเซรามิค บ้างพอสมควร ยังไงก่อนจะจ่ายเงินคิดให้ดีว่า เราจำเป็นจะต้องเคลือบรถเป็นอย่างดีมากแค่ไหน หรือบางทีเราหมั่นดูแลรถบ่อยครั้งหน่อยจะดีกว่า