เปิดตัวออกมาอย่างสวยงามสำหรับรถยนต์ Honda City ใหม่ อีโค่คาร์อีกรุ่น ที่มาพร้อม เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เทอร์โบชาร์จ
การเผย เครื่องยนต์ Honda 1.0 ลิตร เทอร์โบ ถือเป็นขุมพลังนิมิตใหม่ สำหรับรถยนต์นั่งขนาดเล็กค่ายนี้ หลังจากสืบสานตำนานเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 4 สูบแถวเรียงมายาวนาน 3 เจนเนอร์เรชั่นก่อนหน้ารุ่นปัจจุบัน จนการปรับเครื่องยนต์ครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับสาวก โดยเฉพาะเมื่อกระแสเครื่องยนต์ขนาดเล็กพกระบบเทอร์โบชาร์จ กำลังได้รับความสนใจจากคนไทยจำนวนมาก
ขุมพลังรุ่นใหม่นี้มีรหัสว่า “P10A6” เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ตระกูล Earth Dream เผยโฉมออกมาตั้งแต่ช่วงปี 2014 ตามแผนของฮอนด้าต้องการลดการปล่อยไอเสียในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่วางขายทั่วโลก ตอนเปิดตัวไลน์อัพเทอร์โบทุกคนได้เห็นว่าฮอนด้ามีแผนพัฒนาเครื่องยนต์บล็อกเล็กเทอร์โบ หมายมั่นปั้นมือให้มันมาอยู่ในรถยนต์นั่งขนาดเล็ก อย่าง Honda Jazz และ Honda City
หากตอนแนะนำเครื่องยนต์รุ่นนี้เข้าทำตลาดครั้งแรก มันกลับถูกวางในรถยนต์ Honda Civic ใหม่ ในภูมิภาคยุโรป ที่มีความเข้มงวดทางด้านไอเสีย ก่อนถูกหิ้วไปใส่ในรถยนต์อีกหลายรุ่น อาทิ Honda Crider ในเมืองจีน จนกระทั่งในที่สุดมาถึงคิวของ ฮอนด้า ซิตี้ใหม่
การหันมาใช้เครื่องยนต์สามสูบของฮอนด้า ไม่ใช่เรื่องใหม่อย่างที่หลายคนคิด ฮอนด้าใช้เครื่องยนต์สามสูบมายาวนานตั้งแต่รหัส EA เพียงแต่มันอยู่ในรถยนต์นั่งขนาดเล็กภายในประเทศญี่ปุ่น หรือ Kei car เท่านั้น ตอนปี 2003 ทางฮอนด้า แนะนำเครื่องยนต์ P Series เข้าสู่ตลาด
มันแตกต่างจากเครื่องยนต์ที่เราได้เห็นใน Honda City ใหม่ ขุมพลังรุ่นแรกๆ เป็นแบบแคมเดี่ยว 2 วาล์ว ต่อสูบ ทำงานในระบบ Dsi หรือ 2 หัวเทียน (ที่คนไทยไม่เอา) และไม่มีเทอร์โบ เครื่องรุ่นแรกมีรหัสว่า P07A ใช้มายาวนาน ปัจจุบันมีกำลังสูงสุด 51 แรงม้า ให้แรงบิด 60 นิวตันเมตร
ความเข้มงวดทางด้านไอเสีย และความต้องการเรื่องประหยัดน้ำมัน ทำให้ฮอนด้า ตัดสินใจควักของดีจากในประเทศมาพัฒนาต่อ แนวความคิดบริษัทในการเป็นจ้าวเทอร์โบไลน์อัพออกมาในช่วงหลังปี 2013 เริ่มแนะนำ เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร VTEC Turbo และ 2.0 ลิตร เทอร์โบก่อน
ขุมพลัง 3 สูบ 1.0 ลิตรเทอร์โบ พัฒนาหลังสุด มีเป้าหมายให้รถฮอนด้า สามารถแข่งขันได้ในตลาด ยุโรป , จีนและตลาดอื่นๆ ที่มีความเข้มงวดไอเสีย ทดแทนเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร รุ่นเดิม ตลอดจนในเชิงวิศวกรรม เครื่องยนต์ขนาดเล็กยังลดการเสียดทานชิ้นส่วน , ลดการเสียกำลังจังหวะดูด แต่พวกเขาต้องทำให้เครื่องยนต์ขนาดเล็กไม่ด้อยกว่าเครื่องยนต์รุ่นเดิมที่ทำตลาดมายาวนาน อัตราเร่งและตอบสนองต้องดีเทียบเท่าเดิม ไม่ให้ลูกค้ารู้สึกว่า มีความแตกต่างด้วยปัจจัยทางด้านขนาด จึงเคาะออกมาเป็น 3 เป้าหมาย
- ต้องประหยัดน้ำมันมากกว่า ร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ N/A 1.8
- ต้องให้แรงบิดทั้งในรอบต่ำและรอบกลางในระหว่างขับขี่ดีกว่าเดิม 20%
- ลดคุณลักษณะการสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์สามสูบ อันเป็นเอกลักษณ์ลง
การพัฒนาเครื่องยนต์ 3 สูบ 1.0 ลิตร เทอร์โบของฮอนด้า จึงไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด ทางทีมพัฒนาได้ ใช้ตัวเปรียบเทียบ คือ เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร N/A เดิม และ 1.8 ลิตร N/A เดิม ช่วยให้เครื่องยนต์บล็อกเล็กมีประสิทธิภาพใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้
แน่นอนการใส่เทคโนโลยีสำคัญๆ เข้ามาในขุมพลังขนาดเล็กเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ หากต้องรีดประสิทธิภาพเต็มเหนี่ยว การพัฒนาเริ่มตั้งแต่การออกแบบชุด Cylinder block ใหม่ให้น้ำหล่อเย็นสามารถไหลเวียนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ระบายความร้อนสะสมจากห้องเผาไหม้ ซึ่งจะมีอุณหภูมิสูงกว่า จากการติดตั้งระบบเทอร์โบชาร์จเข้ามา
เครื่องยนต์จะทำงานได้ดีที่สุดก็ต้องมีอุณหภูมิที่เหมาะสม ทางฮอนด้าพัฒนาระบบวาล์วน้ำใหม่ควบคุมด้วยไฟฟ้ามีฮีทเตอร์ในตัวลดช่วงเวลา cold Start ในยามปกติ และยังให้การหล่อเย็นได้เร็วขึ้นเมื่อพบว่า เครื่องยนต์ทำงานหนัก
ชิ้นส่วนในเครื่องยนต์ ได้รับการพัฒนากว่าครึ่ง โดยเฉพาะชิ้นส่วนสำคัญๆ ตั้งแต่ชุดเพลาข้อเหวี่ยง ลูกสูบปรับปรุงใหม่จับน้ำมันเครื่องขึ้นมาระบายความร้อนที่หัวสูบ มีช่อง Oil Gallery สามารถลดความร้อนผิวหน้าลูกสูบได้ 20 องศาเซลเซียส ตัวลูกสูบเป็นแบบ Shallow Dish shape แตกต่างจากเครื่อง 1.5 ลิตร เดิม
อย่างไรก็ดี , ทางฮอนด้าเน้นหนักในการพัฒนาระบบวาล์วในชุดฝาสูบ เริ่มจากเปลี่ยนการทำงาน SOHC หรือแคมเดี่ยวมาเป็น DOHC หรือ ระบบแคมคู่ ให้วาล์วไอดี-ไอเสียฝั่งละ 2 ตัว (รวม 4 วาล์ว) พกการจ่ายน้ำมัน Direct Injection
ชุดวาล์วทำงานร่วมกับระบบจัดการ Valve Timing Control หรือ VTC ติดตั้งให้ปรับจังหวะได้ทั้งในฝั่งไอดีและไอเสีย ไม่เพียงเท่านี้ มันยังมีชุดยกเพิ่มระยะเปิด-ปิดวาล์ว VTEC ติดตั้งมาเพิ่มเติมทางฝั่งไอดี ทำงานผ่านชุด Locker Arm ระบบทั้ง 2 จะทำงานผสานกัน เพื่อให้ความประหยัดสูงสุดในภาวะความเร็วต่ำ และยังมีแรงบิดต่อในช่วงรอบเครื่องยนต์ความเร็วสูง
ในช่วงรอบต่ำ มันสามารถปรับการทำงานเครื่องยนต์เป็น Atkinson Cycle สั้นๆ โดยปิดชุดวาล์วเร็วกว่าปกติ และเมื่อผู้ขับขี่ต้องการกำลังในการขับขี่มากขึ้น ระบบจะปรับจังหวะการทำงานไปโหมด 2 เพื่อให้มีกำลังแรงบิดมากขึ้น ลบข้อจำกัดของแอทคินสันไซเคิลออกไป
นอกจากนี้ ในส่วนของทางเดินอากาศก่อนเข้าห้องเผาไหม้ ออกแบบให้มีช่วงกระโดดหรือ Jump Ramp สั้นๆ เพื่อเร่งความเร็วอากาศลงไปหาลูกสูบ
ตัวเทอร์โบเป็นของ Borg Warner แบบ Mono Scroll รหัส B01 ควบคุมการทำงานด้วยชุดเวสเกทควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า ช่วยให้แรงดันเทอร์โบมีความสเถียรตลอดการขับขี่
การพัฒนามากมายดังกล่าว ทำให้เครื่องยนต์รุ่นนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร และมีความสามารถแรงบิดเทียบเท่าเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร เวอร์ชั่นรหัส A2 มันทำกำลังสูงสุด 129 แรงม้า ให้แรงบิดสูงสุด 200 นิวตันเมตร ส่วนบ้านเราที่ติดตั้งใน Honda City ใหม่ รหัส A6 ให้กำลัง 122 แรงม้า ทำแรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตร
ฮอนด้ากล่าวว่า เครื่องยนต์รุ่นนี้สามาสร้างกำลังแรงบิดสูงในรอบต่ำได้ 20% ที่ 2,250 รอบต่อนาที (ในเครื่องรหัส A2) เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ 1.8 ลิตรเดิม และยังให้อัตราประหยัดน้ำมันดีกว่าร้อยละ 26 นอกจากนี้ยังลดเสียงและการสั่นสะเทือนการทำงานลงจากเดิม เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรด้วย
ตลอดจนสมรรถนะอัตราเร่ง 80-120 ก.ม./ช.ม. ยังลดลงเหลือเพียง 9 วินาที (การทดสอบใน Honda Civic ) เร็วกว่าเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร พร้อมเกียร์ออโต้ 5 สปีด
ดังนั้น เมื่อมองเครื่องยนต์ Honda 1.0 เทอร์โบใหม่ เราจะพบว่า กำลัง 122 แรงม้า มีความสามารถเทียบเท่าเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ในยุคเก่าๆ หรือ เครื่องยนต์ 1.5 ลิตรเดิมที่เคยใช้ในรถยนต์ฮอนด้าขนาดเล็กอย่างแพร่หลาย กลับกันแรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตร ยังเทียบเท่าเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ใน Honda Civic และมาเร็วขึ้นตั้งแต่ 2,000 รอบต่อนาที
เครื่องยนต์ Honda 1.0 ลิตร เทอร์โบ รุ่นใหม่ เรียกได้ว่า มีความตั้งใจในการพัฒนาเพื่อทดแทนเครื่องยนต์รุ่นเก่า โดยมอบทั้งประสิทธิภาพการขับขี่และความประหยัดอย่างลงตัวในหนึ่งเดียว ปัจจุบันเครืองรุ่นนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในยุโรป ,และจีน วันนี้มันมาถึงไทย ขายใน Honda City ใหม่ แล้ว
ส่วน สมรรถนะมันจะดีขนาดไหน คงต้องรอหลังจากนี้ เมื่อมีโอกาสได้ทดลองขับรถยนต์ Honda city