ในยามกลางค่ำกลางคืน เชื่อว่าใครหลายคนที่ขับรถผ่านไปเจอบรรดารถแต่งบางคันที่ออกมาวิ่งบนถนน จะพบว่ารถพวกนี้เสียงท่อดังไม่พอ บางคันยังมีเสียงระเบิดห้อยท้ายราวกับเอาประทัดใส่ไว้ในเครื่องยนต์ เสียงดังปังๆ น่ารำคาญ เหล่านี้ อาจจะข้องใจคุณ และสงสัยไหมว่ามันคืออะไร
เสียงดังจากปลายท่อ ปัง! ปัง ปัง เป็นเสียงที่จะมีในรถยนต์ที่มาพร้อมเครื่องยนต์เทอร์โบเท่านั้น มันเป็นระบบช่วยในการขับขี้ป้องการการสูญเสียแรงดันเทอร์โบ เพื่อป้องกันการรอรอบทำงานของเทอร์โบชาร์จ (Turbo Lag) ที่เรียกว่า “Anti Lag System”
ระบบ Anti Lag System ไม่ใช่เรื่องใหม่วงการรถยนต์ มันมีมานานและได้รับความนิยมในวงการมอเตอร์สปอร์ต โดยเฉพาะสายทางฝุ่น เป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากการขับเคี้ยวรถยนต์ในการแข่งขันแรลลี่ต้องการแรงบิดมหาศาลต่อเนื่องทุกครั้งที่บดคันเร่งลงไปกับพื้น
ทางทีมผู้ออกแบบจึงออกแบบระบบออกมาเพื่อให้เทอร์โบชาร์จคู่หูเครื่องยนต์ตัวการความแรงไม่แอบปอู้ระหว่างที่นักขับอาจจะจำเป็นต้องลดความเร็ว ในระหว่างเส้นทาง ด้วยการทำให้เทอร์โบอยู่ในรอบพร้อมทำงานสนับสนุนเครื่องยนต์เมื่อผู้ขับขี่ต้องการ
อย่างที่หลายคนอาจจะทราบดีว่า การทำงานของเทอร์โบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงหลักการเดียวกันคือการใช้ความร้อนและแรงดันอากาศจากห้องเผาไหม้ในเครื่องยนต์ หรือไอเสียมาดันให้ใบเทอร์โบฝั่งหนึ่งทำงานเพื่อหมุ่นอีกฝั่งหนึ่ง ไปปั่นอากาศดีเข้าสู่เครื่องยนต์ไปเผาไหม้
ด้วยแนวทางดังกล่าว เมื่อผู้ขับขี่ลดเกียร์ลดความเร็ว ทำให้ลิ้นปีกผีเสื้อ (throttle Valve) หรือบางคนอาจจะเรียก “ลิ้นเร่ง” ปิดการทำงาน แต่วาล์วไม่ปิดหมดเสียทีเดียว เนื่องจากเครื่องยนต์ยังต้องการอากาศอยู่ เพราะถ้าไม่มีอากาศจะไม่สามารถเผาไหม้ได้ เพียงแต่ไม่ต้องการเยอะเหมือนตอนเร่งเครื่องยนต์ทำความเร็ว
การปิดวาล์วดังกล่าวทำให้เครื่องยนต์ทำงานช้าลง และหมายความว่า อากาศที่เผาไหม้ส่งไปปั่นเทอร์โบก็น้อยลงตามไปด้วย ณ จุดหนึ่ง ชุดระบบเทอร์โบจะมีจังหวะต่ำกว่ารอบทำงานที่สามารถสร้างแรงดันได้ ทำให้เสียจังหวะในการขับขี่
เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ระบบ Anti -Lag system หรือ ALS จึงถูกนำมาติดตั้งในรถแข่งชั้นนำทั้งหลาย โดยมีการออกแบบท่อทางเดินใหม่ที่เรียกว่า “Turbo Dump Valve” หรือ “By Pass Valve” เข้ามาในระบบเครื่องยนต์
วาล์วอากาศตัวที่ 2 นี้มีหน้าที่เปิดให้ไอดีข้ามชุดลิ้นเร่งไปยังห้องเผาไหม้ เครื่องยนต์บางรุ่นอาจใช้การ Overlap ของวาล์วไอดี แทนการวางท่อทางเดินอากาศและชุดวาล์วตัวที่ 2 ก็ได้
ถึงมันอาจจะมีความแตกต่างกันบ้างในการวิศวกรรม หากในช่วงเวลาที่นักขับลดความเร็วหรือทำอะไรก็ตาม เครื่องยนต์จะยังทำงานตามปกติ ดูด-อัด-ระเบิด-คาย ตามหลักดังเดิม
การทำงานของ ALS ก็เพียงให้เวลาจ่ายไฟช้าลงกว่าปกติเล็กน้อย จ่ายน้ำมันและให้อากาศอยู่ในห้องเผาไหม้นานขึ้น แต่ไม่ได้จุดระเบิดตามเวลาเดิม ทำให้เมื่อใกล้จังหวะคายไอเสียของเครื่องยนต์ ชุดวาล์วจะเริ่มเปิดออกเพื่อให้อากาศไหล จังหวะเดียวกันเอง ระบบจะทำการจุดระเบิดหัวเทียน เพื่อให้เครื่องยนต์มีกำลังอย่างต่อเนื่อง และดันไอเสียออกจากห้องเผาไหม้
เสียงของการจุดระเบิดที่เราได้ยินปลายท่อไอเสียงดังปังค่อนข้างชัด ส่วนหนึ่งมาจากอากาศและน้ำมันที่ผสมกันที่ออกมาก่อน ซึ่งเมื่อโดนความร้อนของท่อไอเสีย ทำให้เกิดการระเบิดเกิดขึ้นที่บริเวณส่วนของเฮดเดอร์ ซึ่งการระเบิดทำให้เกิดแรงดันอากาศไปหมุนใบเทอร์โบที่ฝั่งไอเสีย ทำให้เทอร์โบที่เริ่มอ่อนแรงลงจากการขาดไอเสียหมุนต่อ และเมื่อไอเสียจากห้องเผาไหม้ ที่จุดระเบิดช้ากว่า ยังมีความร้อนสะสมอยู่มากออกมา
ตามหลักทางวิทยาศาสตร์ อากาศร้อนเดินทางไปหาอากาศเย็นเสมอ พวกมันจึงพรั่งพรูออกมาด้วยความเร็วกว่าปกติ เนื่องจากเพิ่งจุดระเบิด ทำให้เทอร์โบอยู่ในจุดที่พร้อมทำงาน เมื่อนักขับกลับมาเรียกหาอีกครั้ง ตอนเดินคันเร่งต่อ
ในบางบริบทระบบนี้ เรียกว่าระบบ “Mis- Firing System” หรือพูดให้เข้าใจเป็นระบบตั้งใจจุดระเบิดผิดจังหวะ ดังนั้นเราจึงมักพบว่ารถที่มีระบบพวกนี้ จะมีเสียงดังต่อเนื่อง ปัง ปัง ปัง … คนไทยชอบใจพวกมันมาก มันดูเท่ห์ และบางฟังชื่อระบบไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ ก็เลยเรียกมันว่า “ระบบมิสไซล์” เป็นอันเข้าใจตรงกัน
ระบบ Mis Firing System ปัจจุบันไม่ค่อยถูกนำมาใช้แล้ว เว้นในวงการมอเตอร์สปอร์ต เนื่องจากการเข้ามาแทนที่ของเทคนิคการขับ ซึ่งระยะหลังนักขับมือฉมังระดับโลกหลายคน ใช้เทคนิคการขับ “เบรกเท้าซ้าย” ทำให้รถกำลังรอบเครื่องยนต์ไม่ตกเทอร์โบทำงานต่อเนื่อง
ตลอดจนการทำงานของ EGR ในรถยนต์ยุคใหม่ ก็มีหน้าที่คล้าย By Pass Valve ในแง่หนึ่ง รวมถึงเสียงดังจากการระเบิดปลายท่อไอเสียหรือ Back Fire เป็นการรบกวนสมาธิการขับขี่อย่างมาก ระยะหลังนอกจากวงการแรลลี่ เราจึงไม่ค่อยเห็นคนใช้ระบบนี้มากนัก
อย่างไรก็ดี หลายคนมักจะชอบสับสนระบบ Mis-Firing System กับ อาการ Back Fire ที่อาจจะเกิดขึ้นจากจังหวะจุดระเบิดผิดพลาด หรือมีการแต่งส่วนผสมในระหว่างการจุดระเบิดหนาเกิดไป
สิ่งที่ต่างกันระหว่าง Mis Firing System และ Back Fire อยู่ที่จังหวะเสียงดังจากการระบิดของเครื่องยนต์ หากเป็นระบบ ALS จะมีอาการเสียงดังต่อเนื่อง ในจังหวะสั้นๆ ไม่ห่างกัน เช่น ปัง ..ปัง ..ปัง โดยเสียงที่ตามมาในช่วงหลัง อาจจะทุ้มกว่าเล็กน้อย
ส่วนอาการ Back Fire จะเกิดขึ้นเพียงหนเดียวหรือไม่เกิน 2 หน เนื่องจากส่วนใหญ่อาการนี้มาจากน้ำมันที่ฉีดมากเกินไปในห้องเผาไหม้ ทำให้อากาศที่มีน้ำมันผมเล็ดรอดออกมาจากเครื่องยนต์จนโดนท่อไอเสีย
เป็นอย่างไรบ้างครับ ได้เรียกได้ว่า เป็นระบบที่น่าสนใจสำหรับขาซิ่งทั้งหลาย ที่จะได้มีรถดุเสียงดังเอาไว้ข่มชาวบ้านที่มาแอบแซว ยังไงก็อย่าไปสับสนกับอาการ Back Fire นะครับ
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง นักทดสอบรถยนต์ และ คอลัมนิสต์ เว็บไซต์ Ridebuster.com ติดตามผลงานการเขียน และข้อมูลที่น่าสนใจได้ทาง Facebook
ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com