ในระยะ 2-3 ปี ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนน่าจะเห็นชัดว่ารถยนต์ยุคใหม่ มีความพยายามและแนวโน้มในการติดตั้งระบบเทอร์โบเข้ามาในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ทั้งรถยุโรป ลามไปถึงรถญี่ปุ่น จนเราเริ่มคุ้นชินว่า วันนี้รถยุคใหม่ต้องมีเทอร์โบชาร์จ
ระบบเทอร์โบชาร์จเจอร์ ไม่ใช่ของใหม่ในวงการวิศวกรรม พวกมันมีนานหลายสิบปี และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพเครื่องยนต์มากขึ้น โดยอุปกรณ์เทอร์โบจะติดตั้งเข้ากับไอเสียที่ออกมาจากห้องเผาไหม้ เพื่อใช้อากาศร้อนที่มีการไหลอกทางท่อไอเสียหมุนกังหัน ซึ่งเชื่อมติดกับกังหันอีกด้านเพื่อรีดอากาศดีเข้าสู่เครื่องยนต์ ในอดีตเทอร์โบถูกใช้เพิ่มสมรรถนะเครื่องยนต์เดิมให้มีความสามารถมากขึ้น ตอบสนองต่อการขับขี่ดีขึ้น
ช่วง10 ปีทีผ่านมา ภาวะโลกร้อนได้ทำให้รัฐบาลทั่วโลก รวมถึงหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อม พยายามหาวิถีทางการลดปัจจัยที่จะเป็นตัวต้นเหตุให้ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลก โดยปัจจัยหนึ่งที่ว่ากันว่า มีความสำคัญอย่างมาก คือไอเสียจากรถยนต์ที่เราใช้ในการเดินทาง มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Co2 รวมอยู่ด้วย ส่งผลบริษัทรถยนต์เริ่มถูกควบคุมการปล่อยก๊าซไอเสียจากรถยนต์ ที่ผลิตออกมาขายในระยะหลังๆ
ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินมาตรฐานไอเสียระดับยูโร นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่มาที่ไปของเทอร์โบในรถยนต์ยุคใหม่เท่านั้น
การบีบคั้นอย่างหนักหน่วง ทำให้ทีมวิศวกรพยายามอย่างยิ่งในการสร้างรถยนต์ที่ปล่อยไอเสียน้อย ในขณะทางฝั่งผู้บริกโภคเองก็ต้องการรถที่ขับมีประสิทธิภาพมากขึ้น พวกมันสมควรแรงขึ้นตอบสนองดีขึ้น
ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมา ก่อให้เกิดเทรนด์ใหม่ คือการลดขนาดเครื่องยนต์ หรือ Engine Down Sizing ทั่วโลก มันคือการนำเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กกว่ามาติดตั้งเทอร์โบ เพื่อให้ได้กำลังเทียบเท่าเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ในอดีต
ผลที่ได้ เครื่องยนต์มีสมรรถนะมากขึ้น ปล่อยไอเสียน้อยลง แถมยังประหยัดน้ำมันขึ้นอีกเล็กน้อย จากการไม่ต้องลากรอบเพื่อเอากำลังเครื่องยนต์เหมือนเครื่องยนต์ไร้เทอร์โบในอดีต แถมผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องเดินเครื่องในรอบลึกมาก ช่วยถนอมเครื่องยนต์อีกทาง แล้วยังสามารถปรับเพิ่มกำลังได้มากกว่า การใช้เครื่องยนต์ปกติดั้งเดิม
ด้วยความมีแต่ได้กับได้ ทำให้บริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่หันมาผลิตเครื่องยนต์เทอรโบมากขึ้น เช่น Honda ผลิตเครื่องยนต์ Earth Dream ใหม่ที่มีเทอร์โบ 3 ขนาด และใช้มาตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ในบ้านเราคงจะคุ้นเคยกับเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร เทอร์โบชาร์จ ใน Honda Civic และ Honda Accord
ขณะที่แบรนด์อื่น อย่าง Toyota ก็มีเครื่องยนต์เทอร์โบ 1.2 ลิตร แนะนำในรถยนต์หลายรุ่น เช่น Toyota C-HR แต่ไม่แนะนำในไทย หรือ Nissan เพิ่งจะแนะนำเครื่องยนต์ 1.3 ลิตร เทอร์โบใหม่ใน Nissan X-Trail ที่ขายในยุโรป และยังมีอีกหลายแบรนด์ที่ปรับขยายมาหาเครื่องยนต์เทอร์โบมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม และยังผลพลอยได้ต่อสมรรถนะการขับขี่ด้วย
ถึงแม้นว่าจะมีข้อดีมากมายที่เรากล่าวไปแล้ว ไม่ว่าจะปล่อยไอเสียน้อย , รถแรงขึ้น สมรรถนะดีขึ้น ประหยัดน้ำมันมากขึ้น หากในทางกลับกันเครื่องยนต์เทอร์โบ ก็มาพร้อมความรับผิดชอบสำคัญมากมาย อาทิ การต้องดูแลรักษาระบบเทอร์โบที่เป็นอุปกรณ์ส่วนควบมากขึ้น ซึ่งมีหลายอุปกรณ์ ส่วนควบ ไม่ว่าเทอร์โบ , ตัวแลกเปลี่ยนความร้อนอากาศที่ดูดจากเทอร์โบ หรือ Intercooler ตลอดจน การต้องใส่ใจเรื่องน้ำมันเครื่องที่ใช้กับเครื่องยนต์มากเป็นพิเศษ นี่ยังไม่นับการจำกัดความสามารถการใช้พลังงานทางเลือกของเครื่องยนต์ ด้วยข้อจำกัดของระบบเทอร์โบชาร์จทำให้มีกำลังอัดสูง โดยมากจึงจำกัดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้สูงสุดเพียง E20 เท่านั้น
ตลอดจน ผู้ขับขี่จำนวนมากและโดยส่วนใหญ่ ยังไม่เข้าใจวิธีการขับเครื่องเทอร์โบ ยังคงใช้การขับขี่หลักการเดียวกับเครื่องทั่วไป ทั้งที่เครื่องเทอร์โบ อาจไม่จำเป็นต้องลากรอบสุดๆ เพื่อได้กำลัง ทำให้เครื่องยนต์และส่วนใหญ่คือตัวเทอร์โบชาร์จเองเสื่อมสภาพเร็ว แถมเมื่อซ่อมบำรุงทั้งจากการสึกหรอปกติ หรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เช่นชนทางด้านหน้ามีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ในทางหนึ่งเครื่องเทอร์โบก็มีข้อเสียเช่นกัน
ถึงแม้เครื่องยนต์เทอร์โบจะก้าวเข้ามาในโลกยุคใหม่ ในฐานะตัวการลดมลภาวะการปล่อยไอเสียสำหรับรถในวันนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้ซื้อจำนวนมากยังไม่เช้าใจพวกมันเท่าไรนัก เลยทำให้ไม่ได้รับความนิยมในไทย คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าเทอร์โบ เป็นเรื่องสมรรถนะมากกว่าในเรื่องความประหยัด และปล่อยไอเสียน้อยลง ทั้งที่โลกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว
ปัจจุบันรถยนต์สมัยใหม่หลายรุ่นเริ่มมีทางเลือกเครื่องยนต์เทอร์โบมากขึ้น และเชื่อว่าน่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ เครื่องยนต์พร้อมระบบอัดอากาศอาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นชินนักสำหรับคนไทย แต่ไม่ในอนาคต สงสัยเลยว่าเราจะพบพวกมันบ่อยขึ้นในอนาคต และเปลี่ยนความเชื่อว่าเครื่องยนต์ขนาดเล็กก็ขับได้ดีเท่าเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ในวันวาน