ในปัจจุบันเราพบว่า การซื้อ “รถใหม่ป้ายแดง” บางครั้งก็อาจจะไม่ได้นำมาซึ่งความสบายใจ หลายครั้งหลายหนที่รถคันใหม่ของหลายคนมีปัญหาในการใช้งาน ด้วยเหตุผลบางประการ ก่อให้เกิดความแคลงใจว่า เราเมีสิทธิจะเรียกร้องรถยนต์ใหม่ทดแทนคันที่มีปัญหาจากผู้ผลิตได้หรือไม่
ถ้าเป็นสินค้าราคาไม่กี่พันบาท อย่างดีก็คงจะเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น แล้วเมินของเดิมทำใจถือว่า “เสียค่าโง่” แต่รถยนต์มีราคาค่าตัวไม่ถูก แถมยังมีบุคคลที่สามอย่างบริษัทไฟแนนซ์เข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นคำถามและปัญหาคาใจว่า ถ้ารถให่ป้ายแดงมีปัญหา เราจะขอเปลี่ยนตัวสินค้า (ขอรถคันใหม่) ได้หรือไม่
การขอเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดในทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานใช้ยึดกันทั่วโลก คือจะสามารถเปลี่ยนสินค้าใหม่ได้ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ซื้อมาใช้งาน
แต่สินค้าบางประเภท อาทิเช่นรถยนต์ การพบปัญหาในการใช้งานอาจไม่ได้เกิดขึ้นใน 3-7 วัน จนกลายเป็นช่องโหว่ในทางกฎหมาย และทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบต่อผู้ผลิตเมื่อพบปัญหา จนหลายครั้งกรณีรถใหม่ป้ายแดงมีปัญหา ผู้บริโภคตกเป็นเบี้ยล่างในกระบวนการต่อรอง เนื่องจากไม่มีกฎหมายออกมาช่วยเหลืออย่างจริงจัง
ในทางปฏิบัติตามความเป็นจริง ผู้ผลิตรถยนต์ ในฐานะเจ้าของสินค้า สามารถตัดสินใจเปลี่ยนรถคันใหม่ให้กับผู้ใช้ได้ แต่การตัดสินใจจะเปลี่ยนให้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ นโยบายของผู้ผลิตที่มีต่อกระบวนการแก้ปัญหาในยามวิกฤติ , สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น เกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยของลูกค้าหรือไม่ ไปจนถึง แนวทางการแก้ไขต่อปัญหาดังกล่าว ว่าสามารถทำให้ลุล่วงได้หรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ลูกค้า
การเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ทดแทนคันเดิมให้ลูกค้า แม้ในมุมผู้บริโภคแลดูจะเป็นเรื่องง่ายและเป้นสิทธิของเราที่ควรจะได้สินค้าที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการประมวลตาม กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ถ้าเกิดความชำรุดบกพร่องของสินค้า”
นั่นหมายความว่า ในกรณีที่สินค้าเกิดข้อบกพร่องในระหว่างการใช้งาน ทำให้ผู้ซื้อขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากสินค้า ผู้ผลิตหรือผู้ขาย มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสินค้านั้นๆ แต่คำว่า “รับผิด” ก็ดูเหมือนจะกว้างมากในความเป็นจริง เพราะไม่ได้กล่าวว่า ต้องรับผิดอย่างไร อาจจะเป็นการซ่อมแซมให้ หรือเปลี่ยนให้ใหม่ไปเลย ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน
ใจอีกด้านหนึ่งทางผู้ผลิตเองก็ดี การจะเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ให้ลูกค้าก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ รถยนต์ไม่เหมือนสินค้าอื่นตรงที่มันมีมูลค่าสูง และ ส่วนใหญ่บริษัทค้าขายรถยนต์ก็เป็นบริษัทข้ามชาติองค์กรมีขนาดใหญ่ ครั้นจะตัดสินใจเปลี่ยนรถยนต์ให้ ในกรณีพบปัญหาก็น่าจะต้องมีขั้นตอนวุ่นวาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องสูญเสียกำไรจากการเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ แทนการซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ แล้วรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น เช่นค่าเสียเวลา ,ค่าเสียโอกาสของลูกค้า
นอกจากนี้อีกประเด็นคือรถยนต์เป็นสินค้า ซึ่งปัจจุบันบริษัททางการเงินเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเชิงสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งในกรณีที่มีการเปลี่ยนรถคันใหม่ จะต้องมีการบอกเลิกสัญญาเดิมที่ทำไว้กับรถคันเก่าที่บกพร่องหรือมีปัญหา แล้วเปลี่ยนแปลงสัญญาไปสู่รถคันใหม่ ซึ่งก็แน่นอนว่ามีกระบวนการที่ยุ่งยาก ทำให้กรณีรถมีปัญหาส่วนใหญ่เราจะเห็นว่า เป็นการเรียกตรวจสอบแล้วแก้ไขปัญหา เพิ่มระยะรับประกัน มากกว่าจะเปลี่ยนรถยนต์ให้ลูกค้าใหม่ในทันที
อย่างไรก็ดีมีบางกรณีที่บริษัรถยนต์อาจจะยินดีเปลี่ยนรถคันใหม่ให้โดยไม่มีเงื่อนไข อาทิในอเมริกา บริษัท ซูบารุ พบว่ารถยนต์ Subaru Ascent มีความผิดพลาดจากการผลิต หลังตรวจพบมีการโปรแกรมหุ่นยนต์เชื่อมตัวถังผิดพลาด ทำให้โครงสร้างรถยนต์ จำนวน 293 คัน มีปัญหา โดยในจำนวนนี้ มี 9 คันที่ส่งไปถึงมือลูกค้า ทางซูบารุ จึงตัดสินใจเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ให้ลูกค้า โดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากกระทบต่อการใช้งานและความปลอดภัย รวมถึงยังไม่สามารถทำการซ่อมบำรุงจากช่างผู้ชำนาญการในศูนย์บริการได้
ส่วนในไทย แม้ว่าจะไม่มีกรณีชัดเจนถึงการเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ให้ลูกค้า แต่ในบางกระแสระบุว่า ทางฟอร์ด มีการดูแลลูกค้า Ford Ranger Raptor บางรายที่พบปัญหาในการใช้งานหลังใช้ โดยเปลี่ยนรถใหม่ให้ทันที ไม่มีเงื่อนไข และเชื่อว่าอาจจะมีอีกหลายตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ถูกสัญญาทางด้านกฎหมายจากบริษัทรถยนต์ไม่ให้แพร่งพรายข้อมูล ทำให้สังคมไม่เคยทราบมาก่อนว่า ประเทศไทยก็มีกรณีบริษัทรถยนต์เปลี่ยนรถยนต์ให้เหมือนกัน
ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ให้ลูกค้า กรณณี “รถใหม่ป้ายแดง” มีปัญหา จะเห็นได้น้อยมากในไทย หากต่อจากนี้น่าจะได้เห็นกันมากขึ้น หลังภาครัฐผ่านความเห็นชอบ พรบ. ความรับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า โดยใจความสำคัญคือ ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบต่อข้อบกพร่องสินค้าเป็นเวลา 6 เดือน แต่สามารถขอพิสูจน์ว่าสินค้าอาจจะบกพร่องจากทางผู้ผลิตจริงได้ ส่วนฝั่งลูกค้าสามารถฟ้องได้โดยมีกำหนด 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทราบปัญหา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้อยู่ในระหว่างการผ่านกฤษฏีกา เพื่อผ่านความเห็นชอบในปัจจุบัน
“รถใหม่ป้ายแดง” มีปัญหาจะขอให้เปลี่ยนได้หรือไม่ คำตอบคือได้ แต่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะในแง่มุมมองต่อปัญหาของผู้ผลิตรายนั้นๆ และวิธีการรวมถึงกระบวนการแก้ไขปัญหา ที่ทางบริษัทเลือกใช้ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ในกรณีที่เป็นปัญหาร้ายแรง มีผลความปลอดภัย และมาจากกระบวนการผลิต ทางบริษัทยินดีที่จะชดใช้ให้อย่างไม่มีเงื่อนไข
ส่วนในกรณีที่ผู้บริโภคเรียกร้องนั้นให้เปลี่ยนรถคันใหม่ อาจจะต้องเข้ากระบวนการพิสูจน์ว่า ปัญหาเกิดจากการผลิตจริงหรือไม่ และความเสียหายดังกล่าวสามารถซ่อมแซม แล้วรับผิดชอบค่าเสียเวลา เสียโอกาส แทนได้หรือเปล่า เนื่องจากบางครั้งความเสียหายหรือบกพร่องของสินค้า อาจจะเกิดจากการใช้งานของเราเองก็เป็นไปได้…เช่นกัน .
ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com