นอกจาก “ระบบเบรก” แล้ว ในส่วน “ระบบช่วยเหลือการเบรก” ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในปัจจุบันสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ ที่ทางผู้ผลิตต้องพัฒนาและออกมาหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้ง CBS / ABS / Combine ABS ซึ่งแท้จริงแล้วพวกมันทำงานต่างกันอย่างไรล่ะ ?
ก่อนอื่น ต้องบอกว่า “ระบบช่วยเหลือการเบรก” ในปัจจุบันนั้น ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาหลากหลายรูปแบบมาก ไม่ใช่แค่ CBS / ABS / Combine ABS แต่ยังมีทั้ง Cornering ABS, Intregral ABS, แม้กระทั่งระบบ Anti Rear Wheel Lift ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ล้อหลังลอยเวลาเบรกหน้าหนักๆก็ยังมี
แต่ระบบต่างๆในกลุ่มหลังที่ไล่เรียงมานั้น อาจจะเป็นระบบขั้นสูงในรถมอเตอร์ไซค์ราคาหลายแสนซึ่งลึกไปสักหน่อย ดังนั้นเราจึงของเจาะไปที่ระบบพื้นฐานที่ชาวไทยซึ่งใช้รถมอเตอร์ไซค์ราคาหลักหมื่นถึงแสนนิดๆเป็นหลักจะดีกว่า เพราะในอนาคตอันใกล้ ระบบช่วยเหลือการเบรกเหล่านี้ จะกลายเป็นของสามัญที่ต้องถูกติดตั้งมาในรถมอเตอร์ไซค์ทุกรุ่นที่มีการจำหน่ายในประเทศไทยนั่นเอง
ระบบ ABS
ระบบแรกสุดที่เราจะเกรินถึง ก็แน่นอนว่าจะต้องเป็นระบบ “ABS” ที่หลายคนคุ้นเคยกันดี เพราะมันเป็นระบบที่มีมาให้ใช้ไม่ใช่แค่ในรถมอเตอร์ไซค์เท่านั้น แต่ในรถยนต์เอง ก็มีให้รู้จักกันมานานนมแล้วด้วย
ซึ่งระบบนี้ ชื่อเต็มของมัน ก็คือคำว่า “Anti-Lock Braking System” ซึ่งหากแปลเป็นภาษาไทยตรงๆตัว ก็คือ “ระบบป้องกันอาการเบรกล็อค”
โดยระบบนี้ จะมีจุดประสงค์ตามชื่อ คือ คอยแก้อาการล้อหยุดหมุนแบบล็อคตายกระทันหันขณะเบรก จากการกดเบรก หรือกำเบรกแรงมากเกินไป จนมากเกินกว่าที่ยางจะสามารถสร้างแรงยึดเกาะกับพื้นถนนที่ย้อนทิศทางการเคลื่อนที่ ณ ขณะนั้นอยู่ได้ และเกิดการลื่นไถลในที่สุด
ซึ่งหากเป็นรถยนต์อาจจะแค่เกิดอาการหน้าแถ ท้ายขวาง หักเลี้ยวไม่ได้ แต่ในรถมอเตอร์ไซค์ อาจร้ายแรงถึงขั้น หน้ารถพับจนล้มกระแทกพื้น หรือท้ายขวางแล้วดีดคนขี่คนซ้อนกระเด็นออกจากรถได้เลย
ดังนั้นการมีอยู่ของระบบนี้จึงถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก สำหรับการใช้งานรถในชีวิตประจำวัน ที่เราอาจเจอกับสถานการณ์ไม่คาดฝันมากมาย ทั้งการถูกตัดหน้า หรือเจอพื้นลื่นๆแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะการมีระบบนี้จะทำให้เรายังสามารถควบคุมรถได้อยู่ แม้คุณอาจจะยังไม่ช่ำชองในการไล่น้ำหนักเบรกมากนักก็ตาม
ส่วนหลักการทำงาน หากให้อธิบายแบบคร่าวๆ มันก็จะอาศัยชิ้นส่วนเสริมต่างๆเข้ามาอย่างน้อย 3 ชุดด้วยกัน ได้แก่ ชุดจานเซนเซอร์วัดอัตราการหมุนของล้อหน้าและล้อหลัง, กล่องประมวลผล, และปั๊มไฟฟ้าสำหรับคุมแรงดันน้ำมันเบรกของระบบ ABS (นั่นจึงหมายความว่าระบบนี้จะใช้ได้กับรถที่มีระบบเบรกเป็นแบบดิสก์เบรก หรือดิสก์เบรกที่มีการคุมแรงกดด้วยระบบไฮดรอลิกที่อาศัยน้ำมันเบรกและปั๊มแรงดันเท่านั้น ไม่ใช่ระบบสายสลิง)
โดยอย่างที่หลายคนพอจะทราบกัน ว่าหากเป็นการทำงานของระบบเบรกทั่วๆไป แม่ปั๊มเบรกบน จะถูกออกแบบให้มีสายน้ำมันเบรกเชื่อมต่อกับแม่ปั๊มล่างโดยตรง
แต่ระบบ ABS ที่ว่านี้ จะมีการเปลี่ยนทิศทางของน้ำมันเบรกในระบบ จากที่ตัวสายเบรกและน้ำมันเบรกของปั๊มบนจะสามารถเดินทางจากแม่ปั๊มบน ไปสู่แม่ปั๊มล่างได้โดยตรง คราวนี้มันก็จะถูกตัดครึ่งแล้วปรับให้สายเบรก และน้ำมันเบรกไหลเข้าไปสู่ปั๊มของระบบ ABS ก่อนแล้วค่อยต่อออกมาหาปั๊มเบรกล่างอีกที
และเมื่อกล่องประมวลผลพบว่า ข้อมูลอัตราการหมุนของล้อหน้าและล้อหลัง ที่ส่งมาจากเซนเซอร์วัดอัตราการหมุนที่ล้อ มีความผิดปกติ หรือไม่สัมพันธ์กัน ตามค่าที่วิศวกรออกแบบไว้ เช่น ล้อหลังยังคงหมุนอยู่ แต่ล้อหน้ากลับหยุดไปแล้ว (เพราะล้อหน้าล็อคตายอยู่) หรือ ล้อทั้งสอง มีอัตราการหมุนที่ลดลงเร็วมากเกินไปจากที่ควรจะเป็น
ตัวกล่องประมวลผลก็จะสั่งให้ปั๊ม ABS ตัดแรงดันน้ำมันเบรกจากแม่ปั๊มบน ไม่ให้ถูกส่งต่อไปยังแม่ปั๊มล่าง เพื่อคลายการจับของผ้าเบรกและจานเบรกใหม่ เพื่อให้ล้อสามารถกลับมาหมุนและเคลื่อนตัวต่อได้ และหากผู้ใช้รถยังคงกำเบรกไว้เพราะต้องการให้รถช้าลงอยู่ แม่ปั๊มก็จะปล่อยให้มีแรงดันเบรกจากปั๊มบนไหลไปยังปั๊มล่างเพื่อจับจานเบรกใหม่อีกครั้ง
และหากเซนเซอร์ยังคงจับอาการได้ว่าล้อรถยังคงล็อคอยู่ ตัวกล่องก็จะสั่งให้ปั๊ม ABS ตัดแรงดันใหม่ วนลูปในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ใช้จะปล่อยเบรก หรือล้อทั้งสองมีอัตราการหมุนอยู่ในระดับที่ควรจะเป็นและสัมพันธ์กับความเร็วของรถ ณ ขณะนั้น
ซึ่งค่าความถี่ในการตรวจจับอัตราการหมุน หรือ ความถี่ในการสั่งตัดหรือปล่อยแรงดันน้ำมันเบรกในระบบนั้น อาจมีได้ตั้งแต่ 5 ครั้ง ต่อวินาที ขึ้นไป จนถึงหลายสิบครั้งต่อวินาทีกันเลยทีเดียว แล้วแต่ความสามารถ หรือคุณลักษณะ หรือรูปแบบการใช้งานของตัวรถที่ควรจะเป็น
ระบบ CBS
อันที่จริงระบบนี้ก็ไม่ใช่ของใหม่เท่าไหร่นัก เพราะในฝั่งรถมอเตอร์ไซค์เอง ก็มีให้ได้ยินกันมานานไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยชื่อเต็มของมันก็คือ “Combined-Brake System” ซึ่งจะทำงานไม่ซับซ้อนเท่ากับระบบ ABS ข้างต้น แต่ก็มีเหตุผลที่ใส่เข้ามาเพื่อเสริมความปลอดภัยให้กับผู้ใช้เช่นกัน
เพราะโดยปกติแล้ว สำหรับผู้ขี่มือใหม่ ที่ได้รับการปลูกฝังมาว่า “อย่าใช้เบรกหน้าพร่ำเพรื่อ เพราะเดี๋ยวเบรกหน้าจะล็อค แล้วพับเอา” โดยเฉพาะในยุคที่รถมอเตอร์ไซค์แม่บ้านพึ่งจะมีรุ่นที่ใช้ดิสก์เบรกหน้าใหม่ๆ ที่หลายคนอาจจะยังไล่แรงเบรกได้ไม่ชำนาญ ติดกับการขย้ำเบรกเพื่อให้อยู่ เหมือนตอนที่เคยใช้รถมอเตอร์ไซค์ที่มีระบบเบรกหน้าแบบดรัมเบรก จนหน้าพลิกหน้าคว่ำ หน้าคะมำกันไปหลายคน
นั่นจึงทำให้ในช่วงเวลานั้น (หรือแม้กระทั่งจนตอนนี้) หลายคนที่ซื้อรถมอเตอร์ไซค์มาพร้อมเบรกหน้าแบบดิสก์เบรก มีอาการแหยง หรือไม่กล้าใช้เบรกหน้าไปโดยปริยาย ทั้งๆที่มันมีประสิทธิภาพในการช่วยหยุคชะลอรถได้ดีกว่าเบรกหลังหลายเท่า
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ และเพื่อเสริมความปลอดภัยให้กับคนที่ถนัดใช้แต่เบรกหลัง ทางผู้ผลิตจึงคิดค้นระบบ คอมบายน์เบรก หรือ ลิงค์เบรก เข้ามา เพื่อให้ระบบเบรกทางด้านหน้า สามารถทำงานได้ แม้ผู้ขี่จะเลือกกำ หรือกดใช้แต่เบรกหลังเท่านั้นก็ตาม
โดยหลักการทำงาน แท้จริงแล้วก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นรถยนต์สกู๊ตเตอร์ขนาดเล็กทั่วๆไป (เพราะระบบ CBS ที่ชาวไทยคุ้นเคยกัน จะพบได้มากในกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์เหล่านี้) ทางผู้ผลิตจะทำการเพิ่มชิ้นส่วนที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างก้านเบรกหลัง เข้ากับระบบควบคุมการเบรกของล้อหน้า ยกตัวอย่างเช่นการเพิ่มหูดึงสลิงที่มือเบรกด้านซ้าย ให้ไปดึงสลิงของสายเบรกหน้าทางด้านขวา หรือหากเป็นรถที่ใช้เบรกหน้าแบบดิสก์เบรก ตัวสายสลิงที่ว่า ก็จะไปดึงก้านกดปั๊มเบรกหน้าแทน แค่แรงกดที่ส่งไปจะไม่เท่ากับการกดเบรกหน้าตรงๆก็เท่านั้น
แต่ด้วยกลไกที่ถูกออกแบบไว้ เมื่อผู้ใช้กำก้านเบรกขวา ซึ่งเป็นเบรกหน้า อย่างเดียว ตัวสายก้านเบรกด้านดังกล่าว จะไม่ไปดึงสลิงคุมเบรกฝั่งซ้าย ซึ่งหมายความว่า ถ้าเราตั้งใจเบรกรถ ด้วยเบรกหน้าอย่างเดียว เบรกหลังจะไม่ทำงานด้วยแต่อย่างใด
หรือว่าง่ายๆก็คือ ระบบจะเชื่อมต่อการทำงานระหว่างเบรกหน้า และเบรกหลังเข้าด้วยกัน เมื่อผู้ขี่กดเบรกหลังนั่นเอง
ส่วนในรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ ระบบ Combined Brake ก็จะใช้กลไกที่ต่างออกไปจากรถเล็กประมาณหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้แม่ปั๊มร่วมกันระหว่างเบรกหน้าและเบรกหลัง เหมือนรถยนต์ไปเลย หรือให้กล่องประมวลผลสั่งให้แม่ปั๊มเบรกอีกตัวทำงานด้วยเลย เมื่อผู้ขี่กดเบรกตัวใดตัวหนึ่งก็ตาม
นอกจากนี้ ในผู้ผลิตบางราย ยังมีการออกแบบให้ระบบ CBS นี้ ไม่ได้ทำงานแค่เฉพาะในกรณีที่ผู้ขี่ต้องการใช้เบรกหลังอย่างเดียว แล้วระบบช่วยกดเบรกหน้าเพิ่มด้วยเท่านั้น แต่พวกเขายังออกแบบให้เบรกหลังช่วยทำงาน เมื่อผู้ขี่สั่งกดแต่เบรกหน้าอย่างเดียวได้ด้วย เพื่อเอาไว้ในกรณีที่ผู้ขี่ไม่สะดวกยกเท้าไปกดเบรกหลังได้ทัน เพื่อความปลอดภัยสูงสุด
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการสั่งการระบบต่างๆเหล่านี้ มักใช้ระบบไฟฟ้าเข้ามาช่วยประมวลผล สั่ง และควบคุมปั๊มแรงดัน ไม่ได้ใช้ระบบกลไกอีกต่อไป เนื่องจากผู้ผลิตก็อยากให้มันทำงานได้อย่างเหมาะสม กับสถานการณ์ที่เฉพาะตัวจริงๆ เพราะในบางครั้งระบบนี้ก็อาจจะไม่ได้ส่งผลดีเสมอไปในการหยุดชะลอตัวรถในบางสถานการณ์ (ซึ่งหากอธิบายเรื่องนี้คงต้องเขียนต่อกันอีกยาว จึงขอยกยอดกันไว้ก่อน)
ส่วนระบบสุดท้าย อย่าง…
ระบบ Combined ABS
แท้จริงแล้ว หากคุณเข้าใจใน 2 แบบข้างต้น มันก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เพราะมันก็คือการประสานการทำงานระหว่างระบบ CBS ที่คอยเชื่อมต่อการทำงานระหว่างเบรกหน้า และเบรกหลังเข้าไว้ด้วยกัน แล้วมีระบบ ABS มาคอยป้องกันล้อหน้า หรือ หลัง ล็อค หากผู้ขี่กำเบรก หรือเหยียบเบรกแรงเกินไป ด้วยหลักการที่เราได้อธิบายไว้ข้างต้น มาคอยช่วยเลือก หรือทำงานไปด้วยกัน ก็เท่านั้น
และอันที่จริง “ระบบช่วยเหลือการเบรก” สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ ยังมีระบบยิบย่อยอีกมากมายที่ถูกพัฒนา คิดค้นขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Intregal ABS (จริงๆก็คล้ายๆกับระบบ Combined ABS แต่มีการเซ็ทอัพวิธีการทำงาน หรือสถานการณ์ในการทำงานที่ต่างกันเล็กน้อย), ระบบ Cornering ABS (ระบบ ABS ที่สามารถแปรผันความถี่ในการจับ-ปล่อยเบรกได้ ให้เหมาะสมกับองศาการเอียงของตัวรถขณะเข้าโค้ง), ระบบ Anti Rear Wheel Lift (ระบบควบคุมแรงเบรกด้านหน้า ไม่ให้หนักเกินไปจนล้อหลังลอยแล้วรถตีลังคา), หรือแม้กระทั่งระบบช่วยเลี้ยงเบรกหลัง ขณะเข้าโค้ง เพื่อช่วยเสริมแรงเอนจิ้นเบรกให้รถสามารถหันหัวเข้าโค้งได้ดียิ่งขึ้น ก็ยังมีให้เห็นกันแล้วในรถมอเตอร์ไซค์รุ่นใหญ่สมรรถนะสูงทั้งหลาย
แต่แน่นอน เนื่องจากระบบต่างๆในกลุ่มหลังที่เราไล่เรียงมา อาจเป็นระบบช่วยเบรกขั้นสูงที่มีการทำงานซับซ้อนมากขึ้น และคงไม่ได้เห็นกันบ่อยเท่าไหร่นัก ซึ่งต่างจากระบบ ABS พื้นฐาน และ CBS ที่เราควรรู้จักมันไว้ก่อนก็ดี เพราะมันจะกลายมาเป็นระบบมาตรฐานที่รถมอเตอร์ไซค์ทุกคันต้องมี ตามกฏหมายกำหนดในเร็วๆนี้นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก Electronically Controlled Combined ABS | Honda Technology | Honda, Advanced Brake System | Honda Technology | Honda