Home » เปลี่ยน “ไฟหน้า” อย่างเข้าใจ เพิ่มทัศนวิสัยอย่างไร ไม่โดนด่าตามหลัง
Headlight-know (7)
Bust topic เคล็ดลับเรื่องรถ

เปลี่ยน “ไฟหน้า” อย่างเข้าใจ เพิ่มทัศนวิสัยอย่างไร ไม่โดนด่าตามหลัง

ถ้าคุณเป็นคนที่ขับรถกลางคืนบ่อย ไม่ว่าจะเดินทางต่างจังหวะ หรือทำงานเลิกดึกบ่อยๆ ไฟหน้ารถยนต์เรียกว่าเป็นปราการด่านแรกของความปลอดภัยในการขับขี่ มันช่วยส่องสว่างเห็นสิ่งต่างๆ ไปครอบคลุมก่อนที่คุณจะขับผ่านมันไป ไฟหน้าที่ดี ช่วยให้การมองเห็นเป็นไปได้

หลายสิบปีที่ผ่านมาไฟหน้ารถยนต์ไม่เคยถูกพัฒนาจริงจัง จนกระทั่งปี 2000 ไฟหน้าแบบใหม่เริ่มมีออกวางจำหน่ายในตลาด นวัตกรรมการส่องสว่างที่เพิ่งถูกพัฒนาใช้งานในรถยนต์จากความล้ำสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้หลายคนสนใจอยากจะซื้อหามันมาใช้  แต่ก็ติดตรงความไม่เข้าใจ บ้างฟังจากโซเชี่ยลจนเกิดความกลัวว่า ถ้าเราเปลี่ยนไฟหน้าจะโดนเขาด่าไหม  

การปรับแต่งรถยนต์ให้เหมาะสมกับการขับขี่ของเราเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ แต่ต้องกระทำอย่างเข้าใจ และวันนี้เราขอหยิบยกเรื่องไฟหน้า มาพูดคุย เพราะมันให้ประโยชน์ในการใช้งาน และปลอดภัยยิ่งขึ้นในการขับขี่

 

ไฟ “ฮาโลเจน” เก่าแต่เก๋า ของดีติดรถ

ตั้งแต่รถยนต์เริ่มผลิตวางจำหน่ายมา ไฟหน้ารถยนต์ ที่เคยเป็นแสงเทียนจากตะเกียง ถูกเปลี่ยนเป็นชุดหลอดฮาโลเจน ใช้ในการส่องสว่างยามค่ำคืน

ไฟหน้าฮาโลเจนเป็นมาตรฐานจากผู้ผลิตรถยนต์ มันใช้ส่องสว่างได้ในระดับหนึ่ง โดยตัวหลอดจะคล้ายหลอดไส้ที่เราใช้ในบ้านดั้งเดิม มันทำงานโดยใช้ไฟฟ้าให้ค่าความร้อนกับไส้ทังสเตน จนเปล่งแสงออกมาโดยปฏิกิริยาของก๊าซฮาโลเจน ที่บรรจุภายในหลอด ยิ่งค่าความร้อนมาก แสงก็ยิ่งสว่างมาก

เช่นเดียวกันมันกินกำลังไฟมากขึ้น เนื่องจากต้องใช้ไฟกำลังวัตต์มากกว่าเพื่อทำให้เกิดความสว่าง แต่แม้จะสว่างมากเพียงใดหลอดไฟฮาโลเจน ก็ยังให้แสงสีส้มในการส่องสว่าง ข่าวดีคือมันไม่รบกวนเพื่อร่วมทาง หาซื้อง่ายจากตามร้านค้าทั้งหลาย  ทว่าด้วยความเข้มของแสงที่ต้องการจากไส้หลอด ทำให้การส่องสว่างไม่มากมายอย่างที่คิด

 

ไฟ “ซีนอน” ส่องสว่างกว่าหลายเท่า แต่ต้องเข้าใจ ..

ในช่วงปลายยุค 90 บริษัทรถยนต์สำเร็จในการพัฒนาไฟหน้าแบบใหม่มาแทนที่ไฟหน้าฮาโลเจน และเริ่มวางจำหน่ายในรถยนต์หรู ก่อนที่จะเริ่มขยายมาสู่รถยนต์ใหม่ๆ จนกลายเป็นของแต่งรถ ที่ใครก็สามารถหาซื้อได้จากคลองถม

ไฟซีนอน แตกต่างจาก ไฟ “ฮาโลเจน” ในขณะที่ฮาโลเจนใช้ค่าความร้อนในการให้แสงสว่าง ไฟซีนอนใช้การเกิดประกายไฟระหว่างขั้วไฟ หรือ  การ “อาร์ค” ไฟ ซึ่งจะมีกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่าน เมื่อมีกำลังไฟสูงในระดับหนึ่งไฟที่วิ่งผ่านจะมีความร้อน ซึ่งทำให้สาร   Metal Salt บรรจุในหลอดเกิดการแตกตัว แล้วกลายเป็นแสงสีต่าง ด้วยปฏิกิริยาของก๊าซเฉื่อย “ซีนอน” ที่บรรจุภายในหลอด ทำให้การส่องสว่างเกิดขึ้น

ด้วยการใช้การส่องสว่างโดยปฏิกิริยาทางเคมี จากการใช้การเกิดประกายระหว่างขั้วไฟ ถ้าคุณเคยเห็นหลอดซีนอน จะพบว่า มันสามารถกระจายแสงได้รอบ จากกระเปาะในหลอด นั่นจึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมหลอดไฟซีนอนจึงสว่างจ้ารอบทิศทาง ถ้า คุณนำหลอดไฟซีนอนใส่ไปในโคมไฟธรรมดามัลติรีเฟลกเตอร์ จะแยงตาเพื่อนร่วมทาง

Projector  เพื่อนคู่คิด เปลี่ยนไฟซีนอน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมีการออกแบบชุดบังคับแสงที่เรียกว่า “Projector”  ขึ้นมา ช่วยบังคับการฉายแสงของหลอดซีนอนให้เป็นไปตามทิศทางที่ต้องการ  และไม่ไปรบกวนสายตารถยนต์ที่ขับสวนมา  แถมยังทำให้การฉายแสงซีนอนคอมชัดมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

หลอดไฟซีนอน นอกจากจะต้องติดตั้งโดยใช้โคมโปรเจคเตอร์บังคับแสงแล้ว อีกส่วนที่สำคัญ คือหลอดซีนอนยังต้องติดตั้งชุดบัลลาสต์ เพื่อควบคุมการจ่ายไฟให้มีสเถียรภาพในระหว่างการใช้งาน  คล้ายกับที่คุณเคยเห็นในหลอดฟลูออเรสเซนต์ตามบ้าน ชุดบัลลาสต์เหล่านี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ แม้ว่าปัจจุบันจะมีขนาดเล็กลงแล้วก็ตามที

ถึงการมองหาไปซีนอนใหม่จะมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก และต้องเสียงบประมาณค่าใช้จ่ายสูง กว่าจะได้ไฟที่เป็นไปตามกฎระเบียบถูกต้องตามครรลอง ทว่าเมื่อเทียบกับหลอดไฟฮาโลเจน หลอดซีนอนมีความสว่างมากกว่าถึง 100-300 เท่า และแม้แต่หลอดซีนอนปลอม จากประเทศจีน ที่หาซื้อได้จากคลองถม ก็ยังมีความสว่างกว่าหลอดฮาโลเจนจากโรงงานผู้ผลิตรถยนต์
หลอด “LED สว่างได้ใจเปลี่ยนง่ายใช้สะดวก

ในช่วงปีที่ผ่านมา ชุดหลอดไฟแบบใหม่เริ่มเข้าสู่วงการรถยนต์ หลอดไฟ  LED   ไม่ใช่ของใหม่เสียบทีเดียว พวกมันถูกใช้มานานแล้วแต่เพิ่งจะเริ่มแนะนำในรถยนต์ช่วงปีสองปีทีผ่านมา

แนวคิดของไฟ  LED   ค่อนข้างซับซ้อนกว่า ตัวหลอดไฟใช้การจัดเรียงประจุไฟฟ้าระหว่างขั้วบวกและขั้วลบภายในอุปกรณ์ แล้วใช้การปล่อยโฟตอนของประจุในการกระจายแสง เกิดเป็นการส่องสว่างขึ้นมา

ข่าวดีคือมันใช้ไฟน้อยกว่า หลอดไฟแบบอื่นๆ ที่เคยถูกผลิตขึ้นมา และเทียบกับไฟซีนอนแล้วมันใช้ไฟน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง แถมหลอด LED ไม่ต้องการบัลลาสต์ในการทำงาน หากหลอดจากบางผู้ผลิตอาจจะมีตัวแปลงไฟ เพื่อทำให้ไฟแบบ   12  โวลต์ในรถยนต์เหมาะกับหลอด ตัวชิบ   LED   ที่อาจจะใช้แรงดันไฟฟ้ามากกว่า 

แต่ก็ยังให้ความสว่างในการขับขี่ค่อนข้างสูงรวมถึง ยังไม่จำเป็นต้องติดโคมโปรเจคเตอร์บังคับแสง เนื่องจากการส่องสว่างมีลักษณะคล้ายไฟฮาโลเจนดั้งเดิม แถมความสว่างยังใกล้เคียงกับไฟซีนอน

แต่สำหรับคนที่ติดโคมโปรเจคเตอร์ถ้าจะใส่ไฟ LED   ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่แสงที่ส่องออกไปอาจจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 

 

ค่า   K – Lumen   เรื่องต้องรู้ ก่อนเปลี่ยนไฟหน้า

ตามปกติเมื่อเราเปลี่ยนไฟหน้า เรามักจะดูแค่ว่ามันสว่างกว่าหรือไม่ แต่คำว่า “สว่างกว่า” อาจจะเป็นเพียงความรู้สึกที่เราจดจำโดยใช้สายตาในการวัดว่า ไฟหน้าใหม่สว่างกว่าหรือเปล่า 

เคยสงสัยไหมว่า เราเสียเงินเปลี่ยนไฟหน้า แล้วมันสว่างขึ้นจริงๆ หรือไม่ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของเขาเลย ค่า “Lumen”  ในการชี้วัดคุณภาพการเปล่งแสงจากแหล่งต้นกำเนิดว่า มีคุณภาพในการส่องสว่างมากแค่ไหน 

ค่าลูเมนจะวัดต้องใช้เครื่องวัด จึงจะรู้ความแกต่าง ซึ่งเราๆ ท่านๆ ไม่มีอย่างแน่นอน แต่ปัจจุบันผู้ผลิตหลายรายกล่าวอ้างถึงค่า   Lumen  จากไฟของพวกเขา ซึ่งเราไม่มีทางทราบว่า ข้อมูลดังกล่าวจริงหรือหลอก ???

นอกจากค่า   Lumen  แล้ว อุณหภูมิสีของแสงมีผลต่อความสว่างยามค่ำคืน อย่างที่คุณรู้หลอดฮอาโลเจนที่เป็นสีส้มดูไม่ค่อยสว่างเท่าไรนัก กลับกันไฟซีนอน ที่เป็นสีขาวกลับดูสว่างกว่า เนื่องจากสายตาของมนุษย์เราไวต่อแสงสีฟ้าในที่มืด ทำให้เรารู้สึกว่ามันสว่างกว่า ทั้งที่อาจจะให้ค่าความสว่างเท่ากัน

ตามปกติแล้ว ช่วงสีของแสงที่คุณควรใช้ในการขับรถ ถ้าหากเลือกซื้อไฟซีนอนหรือไฟ LED   มาใช้ คือช่วง 4,300 K  ไปจนถึง 6,000 K  ถ้าหากเกินกว่าช่วงนี้ สีของแสงจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีฟ้า ซึ่งทำให้ค่าความสว่างลดลงไป และอาจจะมีปัญหาในการใช้งานในบางลักษณะ

 

ไขข้อข้องใจ เรื่องไฟหน้ารถ ..
มาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคน คงมีปัญหาคาใจเรื่องการเปลี่ยนไฟหน้ารถยนต์มากมาย และผมขอนำเอาปัญหายอดฮิตมาไข้ข้อข้องใจที่ยังรบกวนการตัดสินใจของคุณ

 

จริงหรือไม่ ไฟซีนอนหรือ LED ส่องสว่างไม่ดี เมื่อเทียบกับหลอดไฟฮาโลเจน

จริงครับ แต่เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น ที่เราหลายคนอาจจะรู้สึกว่าไฟซีนอนและ  LED   ที่มีสีขาว ส่องสว่างได้ไม่ดี เมื่อขับรถท่ามกลางฝนตกหนัก เนื่องจากปฎิกิริยาสะท้อนแสงของน้ำ และหมอกก็มีสีขาว ทำให้แสงไฟสีขาวถูกรบกวนและอาจจะรู้สึกว่ามีคุณภาพลดลง ทั้งที่ความจริงไฟฮาโลเจน ก็เจอปฏิกิริยาเดียวกัน เพียงแต่ด้วยแสงสีส้มทำให้มันไม่สะท้อนและสามารถทะลุทะลวงทั้งสองสถานการณ์ดีกว่า นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมไฟตัดหมอกรถ และไฟใหญ่ในรถยนต์หลายรุ่นยังเป็นสีส้มอยู่

เปรียบเทียบตวามสว่างหลอดไฟหน้า  LED   และ ฮาโลเจน 

สรุปติดไฟซีนอน ยังไงก็ต้องใช้โคมโปรเจคเตอร์ ใช่หรือไม่

ใช่ครับ คุณต้องติดโคมโปรเจคเตอร์ หากคุณต้องการใช้ไฟซีนอน เนื่องจากลักษณะหลอดซีนอนไม่มีการบังคับทิศทางแสง ดังนั้นการติดโปรเจคเตอร์ในโคมจะช่วยในการรักษาควบคุมทิศทางแสง ไม่ให้จ้าจนรบกวนสายตาเพื่อนร่วมทาง และทำให้แสงคมขึ้นด้วย

 

ไฟซีนอน กับ   LED   ใครดีกว่ากัน

จริงๆ ไฟยุคใหม่ทั้ง 2 มีความเหมือนกัน ตรงกระบวนการผลิตไฟแตกต่างจากหลอดไส้ แล้วใช้กระบวนการอื่นเพื่อการเปล่งแสง ไม่ได้อาศัยความร้อนโดยตรงในการเปล่งแสง วิธีการที่ต่างกันทำให้ความเข้มแสงที่ออกมาแตกต่างกันด้วย

ข้อดีไฟซีนอนคือมันสว่างกว่าเล็กน้อย และมีความเข้มแสงที่ให้ความชัดเจนมากในยามค่ำคืน โดยเฉพาะ กลับกันไฟ   LED   เนื่องจากจุดกำเนิดแสงมีความเล็กกว่า (ขึ้นอยู่กับจำนวนชิบในหลอด) ทำให้การส่องสว่างจะมีความแตกต่างจากซีนอน แต่ทั้งคู่มีความเหมือนในเรื่องคุณสมบัติในการสะท้อนแสง พวกป้ายจราจรให้เด่นชัดขึ้นกว่าหลอดฮาโลเจน

 

เปลี่ยนไฟหน้ารถผิดกฎหมายหรือไม่

การเปลี่ยนไฟหน้ารถเป็นการดัดแปลงก็จริง แต่ไม่ได้ผิดกฎหมาย ถ้าคุณเปลี่ยนให้ถูกต้อง คือแสงสีขาว หรือสีส้มในการส่องสว่าง และไม่รบกวนสายตาของเพื่อนร่วมทาง

ที่ผ่านมาการเปลี่ยนไฟซีนอนถูกกล่าวถึงมาก เนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการของร้านคิดติดไฟบางราย ที่ไม่แนะนำให้ลูกค้าเปลี่ยนโคมไฟเป็น   Projector   ทำให้การกระจายแสง รบกวนสายตา แต่ปัจจุบันร้านค้าส่วนใหญ่จะขายการติดตั้งไฟซีนอนเป็นแพ็คเกจ คู่กับการเปลี่ยนโคมไฟ ทำให้ปัญหาในการใช้ไฟซีนอนลดลง

หลอดฮาโลเจนคุณภาพสูง ดีกว่าไฟ Led   จริงหรือไม่

เรื่องนี้ยอมรับว่าไม่เคยทดลองด้วยตัวเอง แต่เคยได้ยินมาสักระยะว่าไฟหน้าฮาโลเจนคุณภาพดี สามารถส่องสว่างได้เทียบเท่าหรือดีกว่า   LED

หลอดไฟฮาโลเจนคุณภาพสูง เป็นของที่มีวางจำหน่ายในต่างประเทศ และหาได้ยากในบ้านเรา โดยยี่ห้อที่ขึ้นชื่อ คือ  Sylvania   ซึ่งออกแบบไฟหน้าเป็นสีขาวและมีความสว่างกว่ากว้างกว่า ระยะไฟหน้าไกลกว่า และแน่นอนราคาแพงกว่าด้วย ไฟหน้าของ   Sylvania   ของบน   Amazon.com  มีราคาอยู่ที่ 1,200 บาท โดยประมาณ และยิ่งแพงขึ้นตามลักษณะขั้วที่ใช้ ในไทยมีเพียงของ   Philip   วางจำหน่าย

แต่ถ้ามองด้วยคุรสมบัติการะสะท้อนแสงออกไปส่องเส้นทางขับขี่ เราต้องยอมรับว่า ไฟหน้าแบบ   LED หรือ ซีนอน จะมีระยะการส่องสว่างมากกว่า คุณสามารถเห็นไปได้ตั้งแต่ระยะไกลในการเดินทางเลย

การเปลี่ยนไฟหน้ารถยนต์ ช่วยให้คุณมีความปลอดภัยในในการขับขี่มากขึ้น แต่การจะเปลี่ยนต้องเปลี่ยนอย่างเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงคุณสมบัติต่างๆ ของหลอดไฟหน้า ด้วยมันหมายถึงปราการสำคัญทางด้านความปลอดภัยในการขับขี่ค่ำคืน จะละเลยไม่ได้ครับ

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง

 

ชอบกดไลค์ใช่กดแชร์ ขอบคุณทุกกำลังใจสำหรับพวกเรา   ridebuster.com 



 

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*