แม้สหภาพยุโรป จะเป็นกลุ่มประเทศที่มีนโยบายผลักดันการเลิกใช้ยานยนต์ขุมกำลังสันดาปภายในอย่างชัดเจนกว่าใคร แต่ก็ใช้ว่าประเทศสมาชิกของพวกเขาจะเห็นด้วยกับนโยบายนี้ไปเสียหมด อย่างเช่น อิตาลี เป็นต้น
โดยแม้ในปัจจุบัน สหภาพยุโรปจะมีการผ่อนปรนเรื่องการ “ห้ามใช้ ห้ามขายยานยนต์ขุมกำลังสันดาปภายใน ในปี 2035” ให้กลายเป็น “ห้ามขายยานยนต์ที่มีการปลดปล่อยมลพิษ” ในปีดังกล่าวแทน ซึ่งส่งผลให้ยานพาหนะขุมกำลังสันดาปภายในจะยังคงสามารถวางจำหน่ายต่อไปในช่วงเวลาดังกล่าวได้แล้ว หากมันถูกปรับปรุงและพัฒนาให้มีการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ได้จริง
อย่างไรก็ดี เนื่องจากช่วงเวลาที่ถูกตีกรอบไว้นั้น ยังดูเหมือนจะสั้นเกินไปจนการพัฒนาเทคโนโลยีด้านยานยนต์อาจทำตามทันได้ยาก (ไม่ว่าจะทั้งเทคโนโลยียานยนต์ขุมกำลังสันดาปภายใน หรือยานยนต์ไฟฟ้าก็ด้วย)
ดังนั้นทางรัฐบาลประเทศอิตาลี จึงมองว่ามาตรการดังกล่าวควรต้องถูกปรับเปลี่ยน และมองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ และ Gilberto Pichetto Fratin รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ก็ยังออกมาระบุกับสื่อ Automotive News Europe ว่า นโยบายข้างต้นของสหภาพยุโรป ยังเป็นเพียงนโยบายที่เกิดขึ้นจากความคิดในอุดมคติเท่านั้น และพวกเขาจึงควรที่จะต้องมีวิสัยทัศน์ที่เป็นไปตามจริงมากกว่านี้
ไม่เพียงเท่านั้น นาย Adolfo Urso รัฐมนตรีกระทรวงธุรกิจและการผลิตในอิตาลี ยังออกมาระบุว่าทางสหภาพยุโรปควรชี้แจงรายละเอียดเงื่อนไขของมาตรการที่กำลังเป็นประเด็นอยู่นี่โดยเร็วที่สุด อย่างน้อยก็ต้องตั้งแต่ภายในช่วงต้นปี 2025 ไม่ควรต้องรอกันจนถึงปี 2026
เพื่อให้เหล่าภาครัฐของประเทศที่มีผู้ผลิตยานยนต์ในบ้านเกิดได้ศึกษาความเป็นไปได้ และผู้ผลิตจะได้วางแผนปรับตัวกันให้ทัน หากทางสหภาพยุโรปอยากให้ผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตผ่านมาตราการดังกล่าวจริง มิเช่นนั้นแล้วตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ของยุโรปอาจล่มสลายได้เลย (เพราะผู้ผลิตไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และไม่สามารถทำรถมาขายได้ หรือนำงบไปทุ่มกับการพัฒนาเยอะมากจนอาจเกิดปัญหาทางการเงินตั้งแต่รถยังไม่ทันได้ออกวางจำหน่าย)
โดยแทนที่จะบังคับให้ใน 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ต้องตีกรอบการขายรถยนต์ไฟฟ้าล้วนเท่านั้นในช่วงกลางทศวรรษหน้า Giorgia Meloni สมาชิกฝั่งขวาของรัฐบาลอิตาลี ก็ระบุว่าเหล่าประเทศสมาชิกควรให้อิสระในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนมากกว่านี้ เพราะการเปลี่ยนผันอย่างปุบปับทันทีไม่สามารถเกิดขึ้นได้ใน 10 ปี จากนี้ ดังนั้นการค่อยๆปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีไปทีละนิด จึงดูจะเป็นนโยบายที่สามารถใช้งานได้จริงมากกว่า
ไม่ใช่เพียงแค่ในมุมมองของภาครัฐ แต่ในมุมของเอกชนเอง เราก็จะพบว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปนั้นมีอัตราการเติบโตที่ต่ำมาก โดยเป็นผลมาจากทั้งในเรื่องของการเลิกนโยบายสนับสนุนราคารถยนต์ไฟฟ้าโดยภาครัฐในหลายๆประเทศ รวมถึงความสะดวกสบายในการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคสำหรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่แพร่หลายและไม่ดีเท่าที่ควร
จนทำให้ในปัจจุบัน หลายผู้ผลิตต้องทำการปรับแผน และกลยุทธ์การเดินตลาดในอุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Mercedes, Porshce, Bentley, Ford หรือแม้กระทั่ง Volvo ที่เคยตั้งเป้าชัดเจนว่าจะขายแต่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วนเท่านั้นในปี 2030 ยังต้องกลับลำนโยบายนี้ใหม่เช่นกัน