แม้ในไทย ยอดขายอาจจะอยู่ในระดับขายได้เรื่อยๆ แต่ในยุโรป Honda NT1100 กลับเป็นรถมอเตอร์ไซค์แนวทัวร์ริ่งที่ขายดีที่สุด และมันก็พร้อมแล้วที่จะลุยตลาดต่อกับโฉมใหม่ในปี 2025 ที่มาพร้อมกับออพชันจัดเต็มมากขึ้น
2025 Honda NT1100 มาพร้อมการปรับโฉมครั้งใหญ่ แม้โฉมแรกสุดของมันจะพึ่งถูกเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2021 เท่านั้น และในคราวนี้ มันก็มีความแตกต่างจากเดิมที่เริ่มสังเกตกันได้เลยตั้งแต่หน้าตาตัวรถรอบคันซึ่งถูกปรับใหม่ให้ดูมีความแหลมเรียว โฉบเฉี่ยวยิ่งขึ้น
ทั้งจากแฟริ่งหน้าตัวรถซึ่งดูยื่นยาวออกไปด้านหน้ามากกว่าเดิม และมาพร้อมกับชุดไฟหน้า LED พร้อมแถบไฟ DRL ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นไฟเลี้ยวได้ในตัว เหมือนกับ Honda X-ADV 750 รุ่นใหม่ล่าสุดที่พึ่งเปิดตัวล่วงหน้าไปไม่กี่วันก่อนหน้านี้
ส่วนแฟริ่งข้างเอง ก็ถูกปรับใหม่ให้มีเส้นสันที่ชัดเจนและโดดเด่นมากขึ้น รับกับชุดแฟริ่งหน้าได้เป็นอย่างดี และเช่นเดียวกับ X-ADV 750 ในฝั่งชุดแฟริ่งพลาสติกด้านที่เป็นชิ้นแฟริ่งซับใน ก็ถูกสร้างขึ้นจากวัสดุย่อยสลายได้ DURABIO เช่นกันเพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงตัวชิลด์หน้าเอง ก็สามารถปรับระยะสูง-ต่ำ 167 มิลลิเมตร ย่อยเป็น 5 ระดับ ด้วยมือซ้ายเพียงข้างเดียวได้แล้ว โดยที่ตัวชิลด์ยังมีการปรับรูปทรงใหม่อีกเล็กน้อยเพื่อการจัดการลมปะทะผู้ขี่ที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะการแหวกลมออกจากแนวหมวกกันน็อคที่ดียิ่งขึ้นหากปรับเป็นตำแหน่งสูงสุด
และด้วยความเป็นรถทัวร์ริ่ง ดังนั้นทาง Honda จึงได้มีการปรับความยาวของบังโคลนหลังเพิ่มขึ้นอีก 150 มิลลิเมตร เพื่อลดน้ำดีดเข้าผู้ซ้อนและใต้ท้องรถ รวมถึงมีการปรับรูปทรงเบาะนั่งใหม่ซึ่งแม้ว่ามันอาจจะดูบางน้อยลง แต่อันที่จริงมันกลับมีเนื้อโฟมเยอะขึ้นอีกกว่า 20% และยังคงมีความสูงเบาะเท่าเดิมที่ 820 มิลลิเมตร ซึ่งไม่ได้ถือว่าสูงเกินไปเลยสำหรับความเป็นรถทัวร์ริ่งไบค์หนึ่งคัน
ท้ายสุดคือกล่องเก็บของด้านข้างที่เป็นออพชันติดรถ คราวนี้มีการปรับรูปทรงใหม่เล็กน้อย โดยการเพิ่มความลึกของกล่องอีก 25 มิลลิเมตร ช่วยให้มันมีความจุเพิ่มขึ้นเป็น 37 ลิตร สำหรับกล่องด้านซ้าย และ 36 ลิตรทางด้านขวา ช่วยให้มันสามารถใส่หมวกเต็มใบได้ทั้งสองฝั่ง จากที่เคยมีความจุ 33 ลิตร และ 32 ลิตร ตามลำดับซ้าย-ขวา
ขุมกำลังของตัวรถ แม้จะยังคงเป็นเครื่องยนต์ 2 สูบเรียง UniCam 8 วาล์ว ระบายความร้อนด้วยน้ำ ความจุ 1,084cc จากขนาดกระบอกสูบ 92 มิลลิเมตร x ช่วงชัก 81.5 มิลลิเมตร เท่าเดิม แต่มันก็ได้รับการปรับจูนใหม่ ด้วยลักษณะที่คล้ายกันกับ Honda Africa Twin 1100 เจเนอเรชันล่าสุดที่ปรับโฉมใหญ่ไปแล้วก่อนหน้านี้เมื่อปลายปี 2023
เริ่มจากการปรับเพิ่มอัตราส่วนกำลังอัดให้สูงขึ้นจาก 10.1:1 เป็น 10.5:1, เพิ่มขนาดท่อดักลมเข้าหม้อกรอง จากหน้าตัด 25 มิลลิเมตร เป็น 33 มิลลิเมตร, เปลี่ยนรูปทรงปากแตรใหม่ และปรับความยาวมากขึ้นอีก 65 มิลลิเมตร ให้สามารถดูดอากาศเข้าได้มากขึ้น, ปรับขนาดลิ้นเร่งเป็นขนาด 46 มิลลิเมตร, ปรับองศาตำแหน่งหัวฉีดใหม่, ปรับจูนกล่อง ECU ใหม่, ปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนเพลาข้อเหวี่ยงใหม่, ปรับขนาดก้านสูบใหม่ให้มีรัศมีการหมุนกว้างขึ้นจาก 70 เป็น 75R, ปรับเปลี่ยนหน้าตาท่อนล่างเครื่องยนต์ใหม่ทั้งหมด, และเพิ่มความยาวลูกสูบอีก 400 ไมครอน เพื่อเพิ่มความทนทานต่อกำลังอัดและแรงระเบิดจากการสันดาปที่สูงขึ้น
จากการปรับปรุงข้างต้น ทำให้แม้เครื่องยนต์ลูกใหม่ของ NT1100 ตัวล่าสุด จะยังคงมีพละกำลังสูงสุด 102 แรงม้า PS ที่ 7,500 รอบ/นาที เท่าเดิม แต่มันกลับมีความสามารถในการเรียกแรงบิดช่วงรอบเครื่องต่ำ-กลางที่ดียิ่งขึ้นอีกราวๆ 7% และทำให้แรงบิดสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 105 นิวตันเมตร ที่ 6,250 รอบ/นาที ขยับขึ้นมาเป็น 112 นิวตันเมตร ณ รอบเครื่องยนต์ที่ต่ำลง คือที่ 5,500 รอบ/นาทีเท่านั้น
ระบบส่งกำลังชุดเกียร์ DCT ก็ถูกปรับจูนใหม่เช่นกัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้งานช่วงความเร็วต่ำที่นุ่มนวล ราบลื่นยิ่งขึ้น ทั้งการปรับวิธีคุมแรงดันน้ำมันในระบบคลัทช์ใหม่, ปรับจูนสมองกลจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ใหม่ ให้เหมาะสมกับพละกำลังที่มากขึ้น เช่นเดียวกันยังรวมถึงปรับจังหวะการลดเกียร์ให้เหมาะสมกับความเร็วที่ใช้ได้อย่างนุ่มนวลกว่าเดิม โดยคราวนี้ยังมีการปรับให้มันสามารถดึงข้อมูลจากเซนเซอร์ IMU 6 แกน เพื่อประมวลผลจังหวะในการเปลี่ยนเกียร์ในจังหวะเข้าโค้งให้แม่นยำและเหมาะสมมากขึ้น
โดยหากลูกค้าต้องการคุมจังหวะการทำงานของเกียร์เอง ก็สามารถเลือกปรับไปใช้โหมด Manual เพื่อปรับตำแหน่งเกียร์ขึ้น-ลง ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ได้เองตามสะดวก ซึ่งแน่นอนว่ามันจะต้องมาพร้อมกับความสามารถในการรับคำสั่งและสับเปลี่ยนเกียร์ที่รวดเร็วกว่าเดิม หรือหากคุณไม่อยากเปลี่ยนเกียร์เอง แต่อยากให้เกียร์มีจังหวะการเปลี่ยนขึ้น-ลงที่ดุดันยิ่งขึ้น ก็สามารถเลือกระดับความดุดันของการเปลี่ยนเกียร์อัตโนมัติเองได้อีก 3 ระดับ
หรือหากคุณไม่ชอบระบบเกียร์ DCT จริงๆ ตัวรถยังคงมีรุ่นที่ใช้ระบบเกียร์ธรรมดา 6 สปีด คลัทช์มือให้เลือกซื้อเช่นเดิม เพียงแต่ในไทยจะมีการนำเข้ามาให้ชาวไทยได้เลือกใช้กันหรือไม่ ? ยังต้องรอดูกันต่อ
และในเมื่อทั้งเครื่องยนต์กับระบบเกียร์มีการปรับจูนใหม่ ระบบคันเร่งไฟฟ้าที่ยังคงใส่เข้ามาก็ถูกปรับเซ็ทใหม่เช่นกัน เพื่อส่งความรู้สึกในการคุมจังหวะเครื่องยนต์ที่ตรงไปตรงมามากขึ้น และลดแรงหน่วงของเครื่องยนต์ขณะปิดคันเร่ง (Engine Brake) ให้มีความนุ่มนวลกว่าเดิมโดยเฉพาะในช่วงเกียร์ต่ำ
ทั้งนี้ ตัวรถยังคงมาพร้อมกับโหมดการขับขี่ ที่จะปรับทั้ง พละกำลังเครื่องยนต์, อัตราการตอบสนองของระบบเกียร์ DCT, และ ระดับความหน่วงของแรง Engine Brake ขณะปิดคันเร่ง ตามแต่ละโหมดที่วิศวกรออกแบบไว้ได้อีก 3 แบบ ได้แก่ Urban, Rain, Tour และยังมีอีก 2 โหมด User ให้ผู้ขี่สามารถเลือกปรับค่าต่างๆข้างต้นได้ตามความชอบของตนอีกด้วย
ส่วนระบบความปลอดภัยอย่าง ระบบ Cornering-ABS, Honda Selectable Torque Control (HSTC) + Wheelie Control ยังคงมีมาให้ปรับค่าตามความต้องการขณะใช้งานเช่นเดิม (เฉพาะ HSTC)
อีกสิ่งที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของ NT1100 รุ่นปี 2025 ก็คือการเพิ่มทางเลือกระบบช่วงล่างไฟฟ้า Showa Electronically Equipped Ride Adjustment (Showa-EERA™) เข้ามา หลังจากที่เคยเป็นออพชันซึ่งสงวนไว้เฉพาะใน Africa Twin 1100 เท่านั้นก่อนหน้านี้
แต่เนื่องจากลักษณะการใช้งานตัวรถต่างกัน ดังนั้นแม้ระบบและวิธีการคิดพื้นฐานจะใช้ส่วนควบคุมเดียวกัน แต่การเซ็ทอัพการทำงานต่างๆของตัวโช้กอัพจะต่างกันชัดเจน โดยฝั่ง NT1100 ตัวใหม่ ย่อมใช้โช้กที่ต้องเน้นรองรับการใช้งานบนทางดำเป็นหลักมากกว่า
และเจ้าโช้กไฟฟ้าที่ว่านี้ ก็จะสามารถทำได้ทั้งปรับค่าการทำงานพื้นฐาน ตามโหมดการขับขี่ทั้ง 5 รูปแบบ และในขณะเดียวกันยังสามารถแปรผันค่าความหนืดในการยืด-ยุบของโช้กได้ตามสภาพถนนกับความเร็วที่ใช้ ด้วยความเร็วในการประมวลผลหลัก 15 มิลลิวินาที ต่อครั้ง
โดยหากเจาะจงค่าการทำงานพื้นฐานในแต่ละโหมดการขับขี่สำคัญๆ ก็จะแบ่งออกเป็น
- Urban : เน้นช่วงกว้างในการทำงานของโช้กให้สามารถแปรผันความหนืดได้รองรับกับทุกสภาพผิวถนนในเมือง ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ
- Tour : เน้นเพิ่มความมั่นคงของตัวรถ โดยการเพิ่มความหนืดในการยืดยุบให้สูงขึ้น เพื่อความกระชับในการพลิกเลี้ยว และความมั่นใจขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง
- Rain : เน้นปรับให้โช้กมีความนุ่มนวล เพื่อเพิ่มความสามารถในการถ่ายน้ำหนักตัวรถลงหน้ายาง ช่วยเพิ่มความสามารถในการยึดของยางขณะวิ่งบนทางเปียกลื่นด้วยความเร็วต่ำ
ส่วนโหมด User ทั้ง 2 ผู้ขี่สามารถเลือกปรับระดับการทำงานของโช้กได้ตามชอบ ทั้งระดับความหนืดในการยืดยุบ, ความแข็งสปริงกว่า 24 ระดับ โดยตัวโช้กหน้าจะเป็นโช้กอัพตะเกียบคู่หัวกลับขนาดแกน 43 มิลลิเมตร พร้อมช่วงยุบกว่า 150 มิลลิเมตร และโช้กหลังก็จะเป็นโช้กต้นเดี่ยวพร้อมระบบแก๊สอัดภายในกระบอกสูบขนาด 14 มิลลิเมตร ช่วงยุบ 150 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับสวิงอาร์มอลูมิเนียมแขนคู่
ชุดเฟรม หรือโครงสร้างตัวรถ ยังคงเป็นแบบเหล็กหล่อขึ้นรูปกึ่งเปลคู่ พร้อมการออกแบบระยะฐานล้อที่สั้นเพียง 1,535 มิลลิเมตร กับองศาแผงคอ 26.5 องศา / ระยะเทรล 108 มิลลิเมตร เพื่อการเข้าโค้งแคบๆที่คล่องตัวดังเดิม ส่วนชุดล้อเอง ก็เป็นล้ออัลลอยด์น้ำหนักเบา และออกแบบให้สามารถซับแรงกระแทกจากผิวถนนขรุขระได้ดี พร้อมรัดด้วยยางเรเดียลขนาด 120/70-17 กับ 180/55-17 ตามลำดับหน้า-หลัง
ระบบเบรกตัวรถ ด้านหน้าเป็นแบบดิสก์คู่ขนาด 310 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับปั๊มเรเดียลเมาท์ 4 พอท ด้านหลังจานเดี่ยวขนาด 256 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับปั๊มโฟลทติ้งเมาท์ 1 พอท สำหรับการหยุดยั้งตัวรถซึ่งหนัก 238 กิโลกรัม ในรุ่นเกียร์ธรรมดา 6 สปีด และ 248 กิโลกรัม ในรุ่นเกียร์ DCT ซึ่งหากผู้ใช้เลือกตัวรถที่มาพร้อมกับระบบโช้กไฟฟ้าก็จะมีการบวกน้ำหนักตัวเพิ่มอีก 1 กิโลกรัม แต่หากเทียบกับ NT1100 รุ่นก่อนหน้า ทาง Honda ก็ได้ไล่เบารถแล้วส่วนหนึ่งด้วยแบตเตอรี่ลิเธียม SKYRICH HJ13L ที่เบาลงกว่าเดิมถึง 2.5 กิโลกรัม
ด้านลูกเล่นสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆก็มีทั้ง หน้าจอมาตรวัดแบบ Full Digital TFT ขนาด 6.5 นิ้ว พร้อมฟังก์ชันระบบสัมผัส รองรับการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือผ่านสัญญาณบลูทูธ หรือ ระบบ Apple CarPlay และระบบ Android Auto, มีระบบ Cruise Control, ระบบแฮนด์อุ่นมือ, ระบบ ACC พร้อมพอร์ทชาร์ไฟ USB, ระบบไฟเลี้ยวยกเลิกได้เอง, ระบบไฟกระพริบเมื่อมีการเบรกฉุกเฉิน, และขาตั้งคู่ออกโรงงาน
ทั้งนี้ ราคาสำหรับการวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการของ Honda NT1100 รุ่นปี 2025 ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขออกมา ส่วนกำหนดการขายในไทยเอง ก็ยังไม่มีช่วงเวลาที่แน่ชัดเช่นกัน โดยอย่างเร็วสุดอาจจะเกิดขึ้นภายในช่วงต้นปีหน้า