Home » Honda CBR250RR SP 2023 เปลือกใหม่ ใส่เครื่องฯแรงขึ้น ขายไทย 269,000 บาท
คอมอเตอร์ไซค์

Honda CBR250RR SP 2023 เปลือกใหม่ ใส่เครื่องฯแรงขึ้น ขายไทย 269,000 บาท

หลังปล่อยให้ชาวอินโดนีเซีย และชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าตลาดหลักได้สัมผัสตัวรถกันไปก่อนเกือบปี ล่าสุด Honda CBR250RR SP รุ่นใหม่ปี 2023 ก็ได้ถูกนำมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วในบ้านเรา ด้วยการปรับรายละเอียดใหม่ ที่ไม่ได้มีเพียงชุดสีอีกครั้ง

Honda CBR250RR SP 2023 มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่ผู้พบเห็นสามารถสัมผัสได้ในทันทีที่พบเจอ เพราะมันมาพร้อมกับชุดแฟริ่งเปลือกนอกใหม่แทบทั้งคัน ที่ถูกปรับให้ตัวรถดูใหญ่โต และเป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • ชิ้นบังลมหน้า
  • ชิ้นข้างไฟหน้า
  • คางไฟหน้า
  • ชิ้นแฟริ่งรอบเรือนไมล์เปลี่ยนใหม่
  • ครอบถังชิ้นบนเปลี่ยนใหม่ มีสัญลักษณ์ RR อยู่ด้านท้าย
  • กาบแฟริ่งข้างที่ดูคล้ายกับรุ่นน้องอย่าง CBR150R และมีการปรับงานดีไซน์ช่องรีดอากาศออกจากห้องเครื่องใหม่
  • อกล่างไม่มีวิงเล็ท แต่เพิ่มช่องรีดอากาศระบายความร้อนออกจากห้องเครื่อง และไม่มีการอ้อมมาปิดแครงก์เครื่องยนต์อีกต่อไป
  • ชิ้นแฟริ่งใต้เบาะเปลี่ยนใหม่รับกับชิ้นแฟริ่งใต้ถังน้ำมัน
  • ชุดแฟริ่งท้ายใหม่ยกแผง กว้างขึ้น ช่องรีดอากาศใหญ่ขึ้น โดยมีชิ้นวิงเล็ทรีดอากาศอยู่ด้านใน และชิ้นพลาสติกเหนือไฟท้ายก็ปรับใหม่ ให้ยื่นยาวกว่าเดิม แถมยังเป็นงานพลาสติกดำด้าน ไม่ต้องกังวลเรื่องรอยจากปลายเท้าตอนขึ้นคร่อมหรือลงจากรถ

จากการปรับปรุงงานดีไซน์เปลือกนอกที่ว่ามา จึงทำให้มิติตัวรถของมันเปลี่ยนไปเล็กน้อย นั่นคือ

  • ความกว้าง : 724 มิลลิเมตร (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 724 มิลลิเมตร)
  • ความยาว : 2,061 มิลลิเมตร (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 2,060 มิลลิเมตร)
  • ความสูง : 1,114 มิลลิเมตร (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 1,098 มิลลิเมตร)
  • ความสูงเบาะ : 790 มิลลิเมตร (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 790 มิลลิเมตร)
  • ความสูงใต้ท้องรถ : 148 มิลลิเมตร (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 145 มิลลิเมตร)
  • ระยะฐานล้อ : 1,385 มิลลิเมตร (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 1,389 มิลลิเมตร)
  • ความจุถังน้ำมัน : 14.5 ลิตร (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 14.5 ลิตร)
  • น้ำหนักตัวรถเมื่อรวมของเหลว : 168 กิโลกรัม (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 168 กิโลกรัม)

ในส่วนการปรับปรุงชิ้นส่วนโครงสร้างหลักอื่นๆของตัวรถ เรียกได้ว่าแทบจะเดิมสนิท เพราะชุดเฟรมของมันยังคงเป็นเฟรมถักเหมือนเดิม หน้าตาเดิม ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนใดๆ, งานออกแบบแผงคอ แฮนด์บาร์ ตำแหน่งท่านั่งต่างๆยังคงเหมือนเดิมทั้งหมด

สวิงอาร์มหลังอลูมิเนียมเหมือนเดิม, ชุดล้อ Enkei อลูมิเนียมน้ำหนักเบา 7 ก้านตรงแบบเดิม เพิ่มเติมการทำสีทอง รัดด้วยยางไซส์เดิมคือ 110/70-17 ทางด้านหน้า กับ 140/70-17 ทางด้านหลัง, ระบบเบรกดิสก์เดี่ยว ทำงานร่วมปั๊มโฟลทติ้งเมาท์ ทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง, และโช้กหลังต้นเดี่ยวปรับพรีโหลดได้ 5 ระดับ พร้อมชุดกลไกกระเดื่องทดแรง ก็ยังคงเป็นชุดเดิมทั้งหมดเช่นกัน

จุดที่เปลี่ยนไปจริงๆ คือมีเพียงชุดระบบกันสะเทือนโช้กหน้าหัวกลับจาก Showa ขนาดแกน 37 มิลลิเมตร เท่าเดิม แต่ไส้ในถูกเปลี่ยนจากแบบ SFF (Seperate Function Fork) เฉยๆ ที่ใช้แกนแบบ Twin Tube เป็น SFF-BP (Seperate Function Fork – Big Piston) ที่ใช้แกนแบบ Monotube ทำให้ได้วาล์วที่ใหญ่กว่าเดิม แรงดันน้ำมันภายในโช้กมีความเครียดลดลง ส่งผลให้การควบคุมความหนืดในการยืดยุบมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเข้าโค้งทำได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น

ด้านเครื่องยนต์ แม้จะยังคงเป็นบล็อค 2 สูบเรียง DOHC 4 วาล์วต่อสูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ ความจุ 249cc ลูกเดิม แต่เครื่องยนต์ในรุ่น SP และ SP QS ก็ได้ถูกปรับจูนใหม่ จนทำให้สามารถเค้นแรงม้าได้มากขึ้น จาก 41 PS เป็น 42 PS ที่รอบเท่าเดิมคือ 13,000 รอบ/นาที แต่แรงบิดยังคงเท่าเดิม คือ 25 นิวตันเมตร ที่ 11,000 รอบ/นาที ซึ่งการปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่ที่ว่า ก็จะประกอบไปด้วย

  • ฝาสูบเปลี่ยนใหม่
  • แคมชาฟท์ใหม่ เพิ่มระยะเวลาในการเปิดวาล์ว
  • วาล์วไอดีใหญ่ขึ้น
  • เพิ่มอัตราส่วนกำลังอัด จาก 12.1 : 1 เป็น 12.5 : 1
  • เพิ่มอัตราการจ่ายน้ำมันให้รับกับอากาศที่เข้าสู่ห้องเผาไหม้มากขึ้น
  • แหวนลูกสูบใหม่ ลดแรงเสียดทานให้น้อยลง
  • เพลาข้อเหวี่ยงเบาลง

และเพื่อให้การเรียกอัตราเร่งเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง รับกับพละกำลังที่มากขึ้น ทาง Honda ยังได้ทำการปรับปรุงระบบส่งกำลังใหม่ด้วย ซึ่งหลักๆก็คือ

  • ปรับอัตราทดเกียร์ 1-6 ใหม่ นั่นคือ เกียร์ 1-4 มีความจัดจ้านมากขึ้น แต่ในส่วนเกียร์ 5-6 จะมีอัตราทดต่ำลง เพื่อลดการเปลืองรอบ
  • จำนวนฟันสเตอร์หน้า-หลัง เปลี่ยนใหม่ จาก 14-41 เป็น 14-42 เพื่อการเรียกอัตราเร่งที่จัดจ้านมากขึ้น และไม่ทำให้อัตราทดเกียร์ 5-6 ที่ปรับให้ต่ำลง ส่งผลให้กำลังจากเครื่องยนต์ห้อยเกินไป

และสุดท้าย คือในด้านฟีเจอร์เสริมต่างๆ ตัวรถ CBR250RR SP รุ่นใหม่ล่าสุดนี้ก็ยังคงมีฟังก์ชันยิบย่อยเหมือนเดิม นั่นคือ มีระบบคันเร่งไฟฟ้า, ระบบ ABS ป้องกันล้อล็อคตายตอนเบรกหนักๆ,มีชุดกลไกสลิปเปอร์คลัทช์มาให้ เพื่อลดการกระชากของล้อหลังตอนลดเกียร์หนักๆ, มีระบบ Quick Shifter แบบ 2 ทางขึ้น/ลง มาให้ เพื่อความฉับไวในการต่อเกียร์ และลดเกียร์ (เฉพาะรุ่น SP และ SP QS)

แต่ในคราวนี้ ตัวรถมีระบบไฟผ่าหมากใส่มาให้ด้วย และยังมีการสลับตำแหน่งปุ่มปรับโหมดเครื่องยนต์ 3 ระดับ (Sport, Sport+, Comfort) จากตรงปลายนิ้วชี้ มาไว้ที่ข้างปุ่มปรับไฟสูงต่ำ ซึ่งเดิมเป็นปุ่มจัดเวลาต่อรอบ (Lap) ที่จะสลับตำแหน่งกันนั่นเอง โดยที่มันก็ยังคงไม่มีระบบ Traction Control มาให้เช่นเคย สำหรับตัวรถที่วางจำหน่ายในไทย ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย

โดย Honda CBR250RR SP 2023 ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย จะถูกสนนราคาเอาไว้ที่ 269,000 บาท และจะมีเพียงเฉดสีเดียวให้เลือกเท่านั้น นั่นคือ สี ไตรคัลเลอร์ แดง-ขาว-น้ำเงิน

ส่วนกำหนดการเปิดตัวในไทย คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด ภายในช่วงไม่เกินสิ้นปีนี้

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.