หลังผ่านการทดสอบแบบสั้นๆไปเพียงไม่นาน ดูเหมือน Thai Honda จะรู้ว่าสื่อฯสายขี่ยังไม่สะใจในการทดสอบ Honda CL-Series น้องใหม่ ทำให้ก่อนเข้าหน้าฝน ผู้บริหารไม่รอช้า รีบจัดทริปขี่จริงจังให้เราอย่างรวดเร็ว !
ก่อนจะไป รีวิว Honda CL500 ขอเล่าถึงรูปแบบทริปทดสอบที่ทาง Thai Honda ได้จัดไว้ให้สื่อฯที่เข้าร่วมได้สัมผัสกัน
เริ่มจากการที่คราวนี้ จะไม่ได้เป็นการขี่รถแบบยกก๊วนเหมือนการทดสอบรถแบบ Riding Trip ทั่วๆไป ที่ทุกสื่อฯจะได้ขี่รถไปด้วยกันทั้งหมดในคราวเดียวจนหมดวัน
แต่คราวนี้จะเป็นการขี่แบบแบ่งกลุ่ม ตามสไตล์ความชอบของสื่อฯแต่ละเจ้า นั่นคือ
- “สายเดินทาง” – เน้นการขี่ทางไกลพอประมาณ มีผ่านเส้นทางที่เป็นดินแดง หรือทางลูกรังบ้าง แต่เน้นการทำระยะเป็นหลักจากกรุงเทพฯเข้าสู่ตัวจังหวัดระยอง
- “สายลุย” – ระยะทางสั้นลงมาจากกลุ่มแรกเล็กน้อย แต่จะเน้นการผ่านเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เดินทางไปทำไร่สวนต่างๆในตัวจังหวัดระยอง
- “สายชิล” – ระยะทางสั้นสุด แต่จะเน้นไปที่การขี่ตามเส้นทางรูปแบบหลากหลาย จำลองการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้ใช้ทั่วไปเป็นหลัก ที่อาจอยากได้รถไว้ขี่เที่ยว ข้ามจังหวัดในระยะทางไม่ไกลมากนัก หรืออาจจะลงทางฝุ่นบ้างแต่เพียงแค่พอขำๆเท่านั้น
ทั้งนี้ ถามว่าทำไม ทาง Thai Honda ถึงเลือกจัดเส้นทางทดสอบที่แตกต่างกัน ในวันเดียว ?
คำตอบก็คือ เพื่อเป็นการสื่อสารกับผู้ทดสอบว่าเจ้ารถ Honda CL-Series คันนี้สามารถใช้งานได้ในหลากหลายรูปแบบจริงๆ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในการขี่ของสื่อแต่ละเจ้าที่แตกต่างกันไป
และในส่วนของ ตัวผมเอง ผู้ทดสอบจากทีมงาน Ridebuster แม้จะขี่รถบนทางดำเป็นประจำและใช้รถมอเตอร์ไซค์ทรงสปอร์ตจ๋าในชีวิตประจำวัน แต่จับพลัดจับผลู จู่ๆผมก็ได้ไปขี่ในกลุ่ม “สายลุย” เสียอย่างนั้น !!
ซึ่งตอนที่บรีฟเส้นทาง ผู้นำทริปบอกว่ามีทางฝุ่นที่ต้องขี่ผ่านมากกว่า 50% ของเส้นทางเลยทีเดียว สำหรับกลุ่มนี้ (กลุ่มอื่นจะขี่ผ่านทางลูกรังเพียงราวๆ 20-30% ของเส้นทาง)
และเนื่องจากในการทดสอบครั้งนี้ ทีมงาน Ridebuster ได้รับโจทย์ในการทดสอบ Honda CL-Series แบบ “สายลุย”
ผู้ทดสอบจึงอยากจะขอลองวอร์มกับ Honda CL300 ที่เป็นน้องเล็กเบาๆในช่วงครึ่งแรกของเส้นทางก่อน เพราะตอนที่ได้ทดสอบมันเป็นครั้งแรกเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ส่วนตัวผู้ทดสอบค่อนข้างติดใจในตัวรถรุ่น 300 มากกว่าตัว 500
เพราะตัว 300 มีความเบา และคล่องตัว สามารถซอกแซกในทางแคบๆ ในสนามของศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัย ฮอนด้า ที่สุขาภิบาล ดีกว่าตัว 500 แบบรู้สึกได้
แต่ เซอร์ไพรซ์ของผู้ทดสอบยังไม่จบลงแค่นั้น เมื่อถึงรอบที่ต้องไปขี่รถจริงๆ พี่ทีมงาน Thai Honda ได้เข้ามาบอกตัวผู้ทดสอบว่า “รอบนี้จอห์นขี่ CL500 ไปยาวๆจนจบเซสชันเลยนะ ไม่ต้องสลับ…”
“ครับ…จัดไปคร้าบบบบบบ”
แต่ก่อนที่จะไปว่ากันถึงสัมผัสในการขับขี่ เราอยากจะให้ทุกท่านได้ลองอ่านรายละเอียด ถึงความเป็นมา ของรถมอเตอร์ไซค์ตระกูล CL-Series และงานออกแบบของเจ้ารถรุ่นนี้สักหน่อย ซึ่งเราได้เคยทำข้อมูลไว้แล้ว ในการรีวิวแบบน้ำจิ้มๆ ครั้งก่อนหน้า
หรือ หากท่านขี้เกียจย้อนไปอ่าน เราก็จะขอเล่าแบบสั้นๆว่า Honda CL-Series นั้น ไม่ใช่ไลน์อัพรถมอเตอร์ไซค์ตระกูลใหม่ของค่ายปีกนกแต่อย่างใด ทว่ามันเป็นตระกูลรถมอเตอร์ไซค์ที่ครั้งหนึ่ง ทางค่ายได้เคยทำออกมาขายช่วงยุคปี 60’s-70’s ซึ่งเป็นยุคแรกๆของรถมอเตอร์ไซค์แนว “สแครมเบลอร์”
แต่ในขณะที่ต้นตระกูลของ Honda CL-Series ใช้พื้นฐานในการสร้างจากรถมอเตอร์ไซค์ตระกูล CB มาปรับแต่ง ยกสูงทั้งช่วงล่าง แฮนด์บาร์ และแนวท่อไอเสีย
ตัวรถเจเนอเรชันใหม่ล่าสุด กลับใช้พื้นฐานโครงสร้างของรถมอเตอร์ไซค์ตระกูล Rebel หรือ “CMX” มาดัดแปลงแทน เพื่อให้มันง่ายต่อการทำเป็นรถมอเตอร์ไซค์แนวสแครมเบลอร์มากกว่า
แต่หากอ่านเพียงบรรทัดข้างต้น หลายคนอาจจะยังคงมีความคิดว่า “อ้าว แบบนี้ Honda CL-Series ก็เหมือนกับ Rebel ยกสูง แค่นั้นน่ะสิ ?” ทว่าความจริงคือ อาจจะใช่ แค่ในแนวคิด แต่ในทางปฏิบัติ Honda ไม่ได้ทำกันลวกๆแบบนั้นเลยสักนิด
เพราะแม้ไฟหน้า, ไฟเลี้ยว, ไฟท้าย, เรือนไมล์ หรือมาตรวัดดิจิตอล, ชุดเมนเฟรมที่เป็นโครงสร้างแบบเหล็กถัก, สวิงอาร์มหลัง ของ Honda CL-Series ทั้งสองรุ่นได้แก่ CL300 และ CL500 จะมีหน้าตาที่ละม้ายคล้ายคลึงกับ Honda Rebel Series ทั้ง Rebel 300 และ Rebel 500 เป็นอย่างมาก
แต่ในความเป็นจริง ชุดเฟรมที่ว่า กลับถูกดัดแปลงช่วงเปลท้ายใหม่ ให้ยกสูงมากขึ้น และรับกับเบาะนั่งแบบใหม่ที่ทั้งสูง ใหญ่และยาวกว่าเดิม, ระบบกันสะเทือนของตัวรถ ก็ถูกเปลี่ยนใหม่ยกชุด ให้เป็นแบบที่มีช่วงยุบมากกว่าเดิม และถูกเซ็ทอัพใหม่ ให้มีความนุ่มนวลขึ้นมาก, ชุดล้อหน้า-หลัง ก็ถูกปรับใหม่ ไปใช้ของ Honda CB500X (เจเนอเรชันที่ 3 ตัวที่ยังใช้ดิสก์เบรกหน้าเดี่ยว), และยังมีการปรับปรุงยิบย่อยอื่นๆอีกมากมาย
ไม่เว้นแม้กระทั่งเครื่องยนต์ เองก็ได้รับการปรับจูนกล่อง ECU ใหม่ โดยเน้นไปที่การเพิ่มแรงบิดในรอบกลางมากให้มีความติดมือมากขึ้น รวมถึงชุดสเตอร์หลังเอง ก็มีการเพิ่มฟันให้มากขึ้น เพื่อปรับอัตราทดให้จัดจ้านกว่าเดิม เมื่อเทียบกับ Rebel
ดังนั้น ถึงใครจะปรามาสว่า Honda CL-Series เจเนอเรชันล่าสุดนั้น เหมือน Rebel Series ราวกับเป็นรถคันเดียวกันที่ถูกยกสูงขึ้นเท่านั้น
เราขอย้ำอีกครั้ง ว่าให้คุณคิดใหม่ จะดีกว่า…
ในส่วนของการขี่ใช้งานจริง เราก็ต้องย้ำอีกครั้งว่า มันไม่ได้มีส่วนใด ที่เหมือนกับ Rebel เลย
ทั้งในส่วนท่านั่ง ที่ว่ากันตั้งแต่แฮนด์บาร์ซึ่งถูกยกให้สูงขึ้น จนอยู่ในระดับที่เกือบจะเท่ากับ Honda CB500X และความกว้างที่มากกว่า จึงทำให้ท่าทางการขี่ของลำตัวช่วงบน จะรู้สึกว่าอาจต้องกางแขนออกนิดๆ เพื่อให้เรามีความทะมัดทะแมงในการควบคุม
หรือหากจะจัดท่าแบบนั่งขี่ชิลๆ จริงๆมันก็ทำได้ และให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างสบาย อาจจะรู้สึกแขนตกหน่อยๆ แต่ก็ยังพอเข้าใจได้ว่า ตำแหน่งแฮนด์เดิมๆของเจ้ารถคันนี้ มันถูกออกแบบมาเผื่อการขี่ในท่ายืนด้วย ซึ่งทันที่ได้ลองยืนขี่จริงๆ ตัวผู้ทดสอบก็บอกเลยว่าประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะเราสามารถทำได้สบายๆ โดยแทบไม่ขัดเขินเลยสักนิด
เว้นอยู่แค่เพียงจุดเดียวก็คือ ตัวถังน้ำมัน ที่ส่วนตัวผู้ทดสอบมองว่า มันแอบอยู่ลึกจากตำแหน่งพักเท้ามากไปหน่อย จึงทำให้แม้ถังน้ำมันของตัวรถ จะมีแผ่นยางกันลื่นมาให้ แต่การจะใช้หัวเข่าหนีบถัง ก็ยังต้องใช้วิธีโน้มตัวและหัวเข่าเข้าไปหาถังน้ำมันนิดๆอยู่ดี
ในส่วนเบาะนั่งเอง ด้วยความสูงระดับ 790 มิลลิเมตร หลายคนอาจกังวลในเรื่องของการขึ้นคร่อม แต่ในความเป็นจริงแล้ว เนื่องจากตัวเบาะเป็นแบบตอนยาว อยู่ในระดับเดียวกันตั้งแต่ช่วงคนขี่และคนซ้อน ทำให้การวาดขาเพื่อขึ้นรถสำหรับผู้ชายที่สูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร ไม่ใช่ปัญหาเลยสักนิด
ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยช่วงล่างที่ค่อนข้างนุ่ม เช่นเดียวกับตัวเบาะ ทำให้เมื่อขึ้นคร่อมรถอยู่ในท่าเตรียม หรือท่าจอด บวกกับความที่ตำแหน่งเบาะในช่วงหว่างขาไม่ได้กว้างมากนัก ทำให้ผู้ทดสอบยังคงสามารถใช้เท้าทั้งสองข้างวางแตะพื้นตอนรถตั้งตรงได้สบายๆ แถมยังมีระยะให้หย่อนขาได้อีกเล็กน้อยด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ดี ในส่วนตัวพักเท้า แม้ตอนทดสอบในสนามฝึกที่ศูนย์ Honda Safety Riding ตัวผู้ทดสอบจะทักไปว่า พักเท้าของมันแอบรู้สึกต่ำไปหน่อย จนในหลายๆจังหวะที่กำลังเอียงรถเลี้ยวเพลินๆ ก็มักจะพบอาการพักเท้าขูดพื้นอยู่บ่อยครั้ง ทว่ามันก็มีโอกาสน้อยครั้งมากๆที่คุณจะเลี้ยวรถเยอะจนพักเท้าขูดติดพื้นขนาดนั้น เว้นเสียแต่คุณมั่นใจในหนทางข้างหน้าจริงๆ
ในทางกลับกัน ด้วยการจัดตำแหน่งพักเท้าในลักษณะดังกล่าว จึงทำให้ท่าทางในการนั่งขี่ มีความสบายพอตัวไม่ว่าจะเป็นท่ายืน ท่านั่ง หรือท่าเตะขาตอนที่คุณอยากสไลด์ก้น เป็นต้น
ฝั่งเครื่องยนต์ ของ Honda CL500
ก็อย่างที่เราได้เคยลงข้อมูลไปก่อนหน้านี้ ว่าขุมกำลังของเจ้า CL500 ก็ยังคงเป็นเครื่องยนต์ 2 สูบเรียง 471cc 4 วาล์วต่อสูบ DOHC ระบายความร้อนด้วยน้ำ ที่ทาง Honda ใช้มาแล้วในรถมอเตอร์ไซค์ของตนเองหลากหลายรุ่น ตั้งแต่ CBR500R, CB500F, CB500X, และ Rebel 500
แต่เพื่อให้เครื่องยนต์ลูกนี้ สามารถตอบสนองในแบบของรถแสครมเบลอร์ได้ดียิ่งขึ้น ทาง Honda จึงได้มีการปรับจูนมันใหม่ ซึ่งน่าเสียดายที่ทางวิศวกรไม่ได้บอกว่าพวกเขาทำการปรับปรุง หรือปรับเปลี่ยนในจุดใดบ้าง แต่ผลลัพท์ที่ได้คือ เครื่องยนต์ของ CL500 (รวมถึงเครื่องยนต์ของ CL300) จะมีความโดดเด่นในเรื่องของแรงบิดในรอบต้น ถึงกลางค่อนสูง ที่ติดมือมากกว่าเพื่อนๆที่ใช้เครื่องยนต์พื้นฐานเดียวกัน (แต่แรงม้ากับรอบปลายก็จะลดลงหน่อยแลกกันไป)
ไม่เพียงแค่นั้น หากเทียบอัตราทดสเตอร์ของ CL500 กับ CB500F ฝ่ายแรกจะใช้สเตอร์หลังที่มีฟันเยอะกว่า 1 เบอร์ จึงทำให้อัตราเร่งของมันยิ่งจัดจ้านขึ้นไปอีก ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ จากการทดลองบิดกระแทกคันเร่ง ที่เห็นได้ชัดว่ามันมีความพุ่งตัวกว่าเพื่อนๆค่อนข้างมาก
แต่ทั้งหมดที่ว่ามานั้น ก็อาจจะทำให้ความเร็วตอนปลายหายไปบ้าง ซึ่งนั่นไม่ใช่สาระสำคัญอยู่แล้วสำหรับเจ้าแสครมเบลอร์คันนี้
และจากการออกแบบเครื่องยนต์ในลักษณะข้างต้น ทำให้แม้ในการทดสอบที่ศูนย์ฝึกขับบขี่ปลอดภัย Honda ครั้งแรก ส่วนตัวผู้ทดสอบจะรู้สึกว่ามันแอบทำให้รถพุ่งเกินไปหน่อย ที่จะเข้าทางดำแคบๆ แต่พอได้นำมันมาขี่ด้วยโจทย์ของกลุ่มสายลุย กลับกลายเป็นว่ามันให้ความสนุกมากกว่าที่คิด
เพราะจริงอยู่ว่าหากคุณเปิดคันเร่งแรงไปแม้แต่นิดเดียวบนทางฝุ่น ท้ายรถอาจจะเกิดอาการสไลด์ได้ง่าย แต่ความสไลด์ที่ว่า ก็ไม่ได้เป็นอาการที่จู่ๆก็จะขวางออกมาแบบให้คุณไม่ทันได้ตั้งตัว
แถมในความเป็นจริง ด้วยแรงบิดในช่วงกว้าง บวกกับการจัดตำแหน่งท่าทางของเบาะนั่ง พักเท้า และชุดแฮนด์ จึงทำให้เราสามารถคุมอาการของรถ ไม่ว่าจะด้วยการคุมคันเร่ง หรือการใช้ตัวจัดแจงสมดุลของรถแล้วเพลินไปกับการสไลด์ก้นได้ดีเลยทีเดียว
ส่วนการทดสอบในเรื่องอัตราสิ้นเปลือง และความเร็วสูงสุด คงต้องหาโอกาสยืมรถมาทดสอบแยกเดี่ยวกันอีกที เนื่องจากการทดสอบแบบขี่เป็นกลุ่ม ไม่เอื้อให้เราสามารถเก็บค่าเหล่านี้ได้นั่นเอง..
ในด้านสมดุล และการควบคุม จุดนี้ เราต้องทำความเข้าใจกันเยอะหน่อย…
นอกจากท่านั่งของตัวรถ ที่ถูกออกแบบให้ผู้ขี่สามารถจัดท่าทางตามสถานะการณ์การใช้งานต่างๆได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะทางดำ, ทางดิน, หรือแม้กระทั่งทางลูกรัง การจัดสมดุลของตัวรถเอง ก็เรียกได้ว่าอยู่ในจุดกึ่งกลางอย่างพอดิบพอดี ไม่ได้รู้สึกว่าหน้ารถหนักหรือเบาจนเกินไปแต่อย่างใด
เพราะแม้ก่อนหน้านี้ ส่วนตัวผู้ทดสอบ อาจจะรู้สึกว่าตัว CL500 แอบมีความหน่วง ในการต้องพลิกเลี้ยวตัวรถท่ามกลางช่องทางแคบๆด่านทดสอบในศูนย์ฝึก Honda Safety Riding ไปบ้าง แต่เมื่อมาลองใช้งานบนถนนจริงๆ ที่ทางไม่ได้แคบขนาดนั้น
หรือในหลายๆจังหวะส่วนใหญ่ ผู้นำทริปยังพาเราไปเข้าทางลูกรังอยู่บ่อยๆ (ตามที่เกริ่นไว้ในข้างต้น ว่ากลุ่มการทดสอบของเราคือ “สายลุย”) ความหน่วงที่ว่า กลับทำให้ตัวรถดูมีความ “หน้านิ่งกว่า” เสียด้วยซ้ำ เพราะแม้การโยกรถเพื่อหลบอุปสรรคต่างๆจะรู้สึกหน่วงๆไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกเปลืองแรงเลยสักนิด
และในส่วนการแก้อาการ เวลาที่รถมีอาการท้ายดิ้น หรือท้ายขวาง เพราะตัวผู้ทดสอบพยายามเปิดคันเร่งให้ท้ายรถสไลด์ออก ตามสไตล์การขี่บนทางฝุ่นที่ควรจะเป็นของรถมอเตอร์ไซค์แนวสแครมเบลอร์ กลับรู้สึกว่ารถพยายามอมจังหวะช่วยเราไว้หน่อยๆเสียด้วยซ้ำและทำให้การสไลด์ก้นเป็นไปแบบสบายๆ คุมคันเร่งอย่างเดียวก็ออกแอคชันเท่ๆได้แล้ว ไม่ต้องกังวลว่ารถจะหน้าส่ายให้หวาดเสียวง่ายๆแต่อย่างใด
ด้านการทำงานของระบบกันสะเทือนเอง หลักๆแล้วทาง Honda เซ็ทช่วงล่างหน้า-หลังของ CL-Series มาไว้ให้ค่อนไปทางนุ่มพอสมควร และมีความหนืดเพียงนิดๆ เพื่อไม่ให้รถดูหวิวเกินไปแค่นั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังก็ตาม
นั่นจึงทำให้สิ่งที่ตามมาก็คือ “ความเด้งดึ๋ง” ของช่วงล่างที่มากพอสมควร จนทำให้หากเป็นการขี่รถบนทางดำ ที่มีร่องหลุมให้พบเป็นพักๆ ตัวรถจะมีอาการโคลงขึ้นลงไปมาอยู่เกือบทุกครั้ง ราวกับคุณกำลังขี่ CRF300 Rally อยู่
ไม่เว้นแม้กระทั่งตอนที่เบรกหนักๆ หรือตอนเปิดคันเร่งออกจากโค้ง คุณก็จะเจอกับอาการหน้าจม ท้ายยวบ แทบไม่ต่างจากรถเอนดูโร่ใส่เปลือกแบบดาการ์คันที่เราอ้างอิงเลยสักนิด เว้นเพียงข้อเดียวคือ หากเทียบกันลึกๆจริงๆ อาการต่างๆที่ว่าของเจ้า CL500 คันนี้ จะมีความนิ่งกว่าพอประมาณ ด้วยน้ำหนัก และศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่ากันพอสมควร
แต่ถ้ามองเพียงแค่นี้ หลายคนอาจจะบอกว่า อ้าว งี้ช่วงล่างก็แย่สิ เพราะขี่ทางดำแบบบความเร็วไม่สูงมากนัก (เฉลี่ยราวๆ 80-120 กม./ชม.) ยังยวบยาบเสียขนาดนั้น…
ความจริงคือ คุณต้องไม่ลืมว่า เจ้า CL คือรถที่ถูกสร้างขึ้นในแนว ‘สแครมเบลอร์’ ซึ่งถูกออกแบบมาเผื่อลุยบนทางดินแดง ทางกรวดเล็ก หรือทางลูกรังด้วย ดังนั้นด้วยการเซ็ทอัพช่วงล่างให้ติดนิ่มเป็นพิเศษ และมีความหนืดพอประมาณ จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว กับโจทย์ที่ Honda อยากให้มันเป็น
และอย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่แรก ว่าในการทดสอบคราวนี้ ทีมงาน Ridebuster ได้ถูกจับไปขี่ในกลุ่ม’สายลุย’ จึงทำให้ผู้ทดสอบได้งัดประสิทธิภาพของช่วงล่างตัวรถออกมาค่อนข้างเต็มที่ และบอกเลยว่ามันทำได้ดีอย่างน่าประทับใจ
เพราะแม้ตัวรถจะมีการโคลงตัวขึ้น-ลง ในจังหวะที่รถเจอหลุมบ่อต่างๆ แต่ในทางกลับกัน มันก็ทำให้แรงสั่นสะเทือนต่างๆจากหลุมเหล่านั้น ไม่ได้ส่งมาถึงตัวผู้ขี่รุนแรงหรือสะท้ายสะเทือนแต่อย่างใด และค่อนไปทางเก็บได้เนียนๆนวลๆเสียด้วยซ้ำ
หรือหากเป็นการลงทางฝุ่นขึ้นมาจริงๆ ด้วยช่วงล่างเซ็ทอัพนี้ จึงทำให้ผู้ทดสอบ และพี่ๆท่านอื่นในกลุ่มเดียวกัน สามารถขี่มันรูดไปกับทางดินแดงที่มีความขรุขระพอประมาณด้วยความเร็วราวๆ 60-70 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วสำหรับทางแบบนี้) ได้สบายๆ ไร้กังวล ไม่ต้องกลัวเข่าพัง แขนพัง ตับ ไต ไส้ เคลื่อน แต่อย่างใด (คือบิดๆไปเลย มันไปได้จริงๆ)
ทั้งนี้ คุณก็ยังต้องไม่ลืมว่า ยังไงมันก็คือรถสแคลมเบลอร์ ไม่ใช่รถเอนดูโร่ ดังนั้น ถึงช่วงล่างจะสามารถซับแรงได้ดีแค่ไหน แต่มันก็ยังคงมีความนุ่ม และช่วงยุบก็ไม่ได้เยอะมากนัก คุณจึงยังต้องระวัง อย่าเหิมเกริม บวกรถเข้าหลุมลึกๆหนักเกินไป เพราะคุณอาจเจออาการโช้กหลังยุบจนสุดแล้วยันจนดีดคุณได้ง่ายๆอยู่ดี
สรุป การทดสอบในแบบ ‘สายลุย’ กับ Honda CL500 ครั้งนี้
บอกเลยว่ามีหลายอย่างที่น่าประทับใจ และคุณอาจต้องทำความเข้าใจมันให้ดี…
เพราะเราก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่า ด้วยความที่มันถูกสร้างขึ้น บนพื้นฐานของ Honda Rebel จึงทำให้ใครหลายคนอาจมองว่ามันเป็นเพียงแค่รถบ็อบเบอร์ที่ถูกนำมายกสูง แต่งหน้าทาปากใหม่เล็กน้อย แล้วขายต่อเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เจ้า CL500 นั้นก็มีโลกของมันเอง ที่สามารถทำได้ดีและตรงกับโจทย์ที่ทาง Honda อยากให้มันเป็นพอสมควร ทั้งในเรื่องของบาลานซ์ หรือสมดุลในการจัดแจงท่านั่ง ที่รองรับได้หมด ไม่ว่าจะขี่ชิล ขี่ลุย หรือขี่หวด
เครื่องยนต์ ก็แทบไม่ต้องเกริ่นอะไรมากอยู่แล้ว เพราะแต่เดิมมันก็เป็นเครื่องยนต์ที่มีแรงบิดหนักหน่วงที่สุดในคลาส คราวนี้ก็ถูกปรับจูนให้มีความจัดจ้านติดมือมากขึ้นไปอีก ดังนั้นถ้าคุณเป็นคนบ้าเติมคันเร่ง ก็จะยิ่งติดใจเจ้านี่ไปกันใหญ่
ขณะที่ช่วงล่าง อาจจะติดยวบไปบ้าง จนผมเองก็กังวลใจว่าหากใครหลายคนได้มาลอง ก็คงต้องบ่นแน่นอนว่ามันย้วยไปมั้ย แต่ย้ำอีกครั้งว่าคุณต้องคิดเผื่อการวิ่งบนทางลูกรังด้วย และถ้าคุณได้ลอง ก็จะรู้ทันที ว่าธรรมชาติของมันอีกครึ่งหนึ่งคือการวิ่งบนทางลักษณะนี้ต่างหาก..
และนี่แหล่ะ คือจุดเริ่มต้น ที่จะทำให้คุณรู้จักกับคำว่า “โลกแห่งรถสแครมเบลอร์”
โดย Honda CL-Series ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย จะมีการตั้งราคาวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการดังนี้
- New Honda CL300 มีทั้งหมด 3 สี คือ สีส้ม (Candy Energy Orange) สีเทา (Pearl Grey) และสีขาว (Pearl White) ราคาแนะนำที่ 149,900 บาท
- New Honda CL500 มีทั้งหมด 3 สี คือ สีเขียว (Mat Laurel Green) สีดำ (Mat Gunpowder Black Metallic) และสีส้ม (Candy Energy Orange) ราคาแนะนำที่ 226,800 บาท
หากเพื่อนๆท่าใดสนใจ สามารถรับชมตัวรถคันจริง และจับจองได้แล้ว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ Honda และ ศูนย์บริการ Honda BigBike ทั่วประเทศ
ขอขอบคุณ Thai Honda ที่มอบโอกาสทีมงาน Ridebuster ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบ Honda CL-Series Press Test ในครั้งนี้
ทดสอบ/เรียงเรียง : รณกฤต ลิมปิชาติ
ภาพประกอบ : Thai Honda