Home » ระบบ Honda E-Clutch คืออะไร ? ดียังไง ? ช่วยอะไรได้บ้าง ?
Bust Technic คอมอเตอร์ไซค์ เคล็ดลับเรื่องรถ

ระบบ Honda E-Clutch คืออะไร ? ดียังไง ? ช่วยอะไรได้บ้าง ?

ในงาน EICMA Show 2023 ช่วงหัวค่ำวานที่ผ่านมา นอกจากทาง Honda จะเปิดตัวรถมอเตอร์ไซค์โมเดลใหม่ๆหลากหลายรุ่น ยังมีการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกนำมาใช้จริงกับรถมอเตอร์ไซค์ครั้งแรกในโลกอย่างระบบ “E-Clutch” ด้วย ซึ่งมันคืออะไรกันล่ะ ?

หากให้นิยามแบบง่ายๆ ระบบ Honda E-Clutch ก็คือ “ระบบคลัทช์ไฟฟ้า” ที่ถูกใส่เข้ามาเพื่อลด หรือตัดปัญหา ที่นักบิดมือใหม่มักเป็นกันเมื่อต้องกระโดดมาขี่รถมอเตอร์ไซค์ที่มีระบบคลัทช์มือ นั่นคือปัญหาการคลอคลัทช์ ปล่อยคลัทช์ไม่ถูกจังหวะ จนทำให้มักเกิดอาการเลียคลัทช์มากเกินจำเป็นจนคลัทช์สึกไว หรือ ไหม้ได้ง่าย การออกตัวสะดุด ออกตัวแล้วดับ หรือ เบาดับ

และร้ายแรงสุดคือรถดับตอนกำลังจะยูเทิร์มจนทำให้เกิดการล้มแปะ เพราะปล่อคลัทช์เร็วเกินไป ซึ่งโชคดี รถอาจจะแค่มีร่องรอยความเสียหายเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าโชคร้าย รถที่กำลังพุ่งตรงมา อาจชนคุณซ้ำจนบาดเจ็บหนักได้

รวมถึงหากมองในมุมของผู้ที่มีประสบการณ์ในการใช้งานรถมอเตอร์ไซค์คลัทช์มือจนคล่องแล้ว ก็จะได้ความสะดวกสบายในการใช้งานเพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลข้างต้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้งานในเมือง

โดยหลักการทำงานของระบบคลัทช์ไฟฟ้าที่ว่านี้ หลักๆแล้วก็มีประเด็นสำคัญตรงที่ มันจะคอยจัดการควบคุมจังหวะการจับ-ปล่อย คลัทช์ของรถมอเตอร์ไซค์ให้ โดยจะคอยควบคุมในหลายสถานการณ์ ทั้ง

  • ในทันทีที่สตาร์ทเครื่องยนต์ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถกดเกียร์ จากเกียร์ N ไปเกียร์ 1 (หรือ 2) สำหรับเตรียมออกตัวได้เลย โดยไม่ต้องมากำก้านคลัทช์เอง ระบบจัดการให้
  • จังหวะออกตัว ก็จะคลอและคุมจังหวะการจับของคลัทช์ให้
  • จังหวะเตรียมจอด ก็จะจากคลัทช์ให้อย่างนุ่มนวล

รวมถึง

  • เนื่องจากระบบคลัทช์ไฟฟ้านี้ จะอาศัยการทำงานร่วมกับระบบควิกชิฟท์เตอร์ ซึ่งแต่เดิม ก็ช่วยให้ผู้ขี่ไม่ต้องแตะคลัทช์ในจังหวะงัดเกียร์ขึ้น-ลงอยู่แล้ว

    มันก็ยังจะมีการคลอคลัทช์ให้เล็กน้อย เพื่อลดแรงกระทำระหว่างเฟืองเกียร์อีกทาง และช่วยคุมน้ำหนักที่เท้าผู้ขี่ต้องใช้ในการเตะคันเกียร์ ให้เป็นไปอย่างนุ่มนวล หรือ จะเอาหนักหน่อยๆ ก็แล้วแต่ความต้องการผู้ใช้ได้อีกด้วย

    โดยสามารถเซ็ทความแข็ง-อ่อน ของน้ำหนักที่ต้องใช้งัดคันเกียร์ได้ 3 ระดับ (Soft/Medium/Hard) และยังเซ็ทแยกได้เลย ระหว่างขาขึ้นและขาลง แล้วแต่ผู้ใช้สะดวก

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ระบบ E-Clutch จะยุ่งเกี่ยวแค่เฉพาะในเรื่องของการจัดการระบบคลัทช์เท่านั้น ไม่ได้มีความสามารถในการเปลี่ยนเกียร์ขึ้น-ลงให้อัตโนมัติ เหมือนระบบเกียร์ DCT ที่ผู้ขี่สามารถเลือกได้ว่าจะให้รถเปลี่ยนเกียร์ขึ้นลงให้ (เหมือนรถยนต์เกียร์อัตโนมัติปกติ) หรือจะเปลี่ยนเกียร์ขึ้นลงเอง ด้วยปุ่มกดที่ประกับแฮนด์ซ้าย (เหมือนรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ มีแป้นแพดเดิ้ลซิฟท์ที่พวงมาลัย)

และทาง Honda ยังไม่ได้บอกว่า พวกเขาเซ็ทให้ระบบจากคลัทช์ตอนไหน หรืออิงกับค่าใด เช่น จะจากคลัทช์เมื่อรถไต่ระดับความเร็วลงจนถึงขั้นที่กำหนด หรือต้องใช้เซนเซอร์ก้านเบรกด้วย เพื่อยืนยันว่าผู้ขี่กำลังจะจอดรถจริงๆ ถึงจะจากคลัทช์ให้เสริมอีกชั้นเพื่อความปลอดภัย

หรือ หากผู้ใช้มองว่า ในบางจังหวะ อยากจะจัดการระบบคลัทช์ด้วยตนเอง เช่นในจังหวะที่อยากจะเล่นรอบออกตัวชิงไฟในสนามแข่ง หรือ อยากคลอคลัทช์ไว้หน่อย ในจังหวะที่รถติดๆ กลัวรถพุ่งมากเกินไป หรือเอาง่ายๆคือ รู้สึกว่าระบบทำงานไม่ถูกใจ

ผู้ขี่ก็สามารถกำก้านคลัทช์เพื่อคุมเองได้เลยทันที โดยเมื่อระบบพบว่า ผู้ขี่มีการกำคลัทช์ด้วยตนเอง ระบบนี้จะตัดการทำงานของตนเองทิ้ง รวมถึงตัดการทำงานของชิฟท์เตอร์ออกไปด้วย

แต่ในกรณีที่ผู้ขี่ไม่ยุ่งกับก้านคลัทช์ นานเกิน 2 วินาที e-Clutch ระบบจึงจะกลับมาทำงานอีกรอบ ให้คุณสามารถขึ้น-ลงเกียร์ แบบไม่ใช้คลัทช์ ต่อไปได้ หากรถยังคงมีความเร็วอยู่ แต่หากเป็นการออกตัวจากความเร็วหยุดนิ่ง ระบบจะกลับมาทำงานอีกครั้ง หลังการปล่อยคลัทช์ในจังหวะออกตัวภายในระยะเวลา 5 วินาที

หรือ หากผู้ขี่มองว่าตนเองมีทักษะมากพอแล้ว หรืออยากสนุกกับอารมณ์ดั้งเดิมของการใช้คลัทช์ ก็สามารถปิดระบบทิ้งตลอดเวลาได้เลย รวมถึงหากอยากปิดการทำงานของระบบควิกชิฟท์เตอร์ก็สามารถทำได้เช่นกัน

แต่ทั้งนี้ การเปิด-ปิด ระบบ E-Clutch และ ควิกชิฟท์เตอร์ที่ว่านี้ จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อรถหยุดสนิท และไม่มีการใช้คันเร่งเท่านั้น รวมถึงเมื่อเซ็ทระบบไว้แล้ว จะไม่มีการรีเซ็ทระบบใหม่ เมื่อดับเครื่องยนต์แต่อย่างใด หากปิดกุญแจ แล้วเปิดเพื่อสตาร์ทรถใหม่ ระบบจะยังคงทำงานตามเซ็ทติ้งล่าสุดเสมอ

ส่วนกลไกและวิธีการทำงานเมื่อระบบต้องจัดการคลัทช์เอง แท้จริงแล้ว มันก็ไม่ได้ยุ่งกับชิ้นส่วนระบบตัดต่อกำลัง หรือระบบคลัทช์ดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นตัว เรือนคลัทช์ แผ่นคลัทช์ แผ่นกดคลัทช์ สปริงคลัทช์ ทุกอย่างยังคงเป็นชิ้นส่วนกลไกที่เราคุ้นเคยกันอยู่

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ ในส่วน “ขากดคลัทช์” คราวนี้ จะมีการออกแบบใหม่ ให้มีลักษณะเป็นท่อนพร้อมขาเกี่ยว แยกออกเป็น 3 ท่อน และท่ออนบนสุดจะติดตั้งร่วมกับชุดเฟือง 4 ตัว ที่ขบต่อกับมอเตอร์แบบหลอดอีก 2 ตัวด้วยกัน

ซึ่งเจ้ามอเตอร์ที่มีหน้าตาคล้ายกับมอเตอร์ไดสตาร์ทรถมอเตอร์ไซค์ทั้ง 2 ตัวนี่แหล่ะครับ ที่เป็นตัวขับให้ก้านกดคลัทช์หมุน เพื่อคุมแผ่นกดคลัทช์อีกที

ขณะที่ระบบสั่งการ ว่าจังหวะไหน มอเตอร์ขับทั้ง 2 ตัว ควรจะหมุนเพื่อกดหรือปล่อยคลัทช์ จะอยู่ในชุดระบบควบคุม หรือกล่อง Control แยกออกมาจากกล่อง ECU อีกทีหนึ่ง (ว่าง่ายๆคือ ตัวรถที่มีระบบ e-Clutch จะมีกล่องควบคุม 2 กล่องด้วยกัน)

แต่ยังไงตัวกล่องก็จะคอยสื่อสาร และดึงข้อมูลอัตราการเปิดคันเร่ง รอบเครื่องยนต์ ตำแหน่งเกียร์ ความเร็วล้อ รวมถึงเซนเซอร์ก้านคลัทช์ ตามจุดต่างๆของตัวรถ มาใช้ในการประมวลผลอยู่แล้ว ว่ามันควรจะสั่งให้มอเตอร์คุมคลัทช์มากน้อยแค่ไหน หรือในจังหวะใดบ้าง

โดยน้ำหนักของชิ้นส่วนต่างๆที่เพิ่มขึ้นมาของระบบ E-Clutch นี้ จะมีตัวเลขเพียง 2 กิโลกรัมเท่านั้น และแม้ระบบกลไกของมัน อาจดูซับซ้อนในสายตาของใครหลายคน แต่หากคุณทำความเข้าใจกันดีๆ ก็จะพบว่ามันไม่ได้ซับซ้อนเลย โดยเฉพาะวิธีการทำงานของชิ้นส่วนกลไก

ขณะที่เซนเซอร์ต่างๆที่ต้องใช้เก็บค่ามาประมวลผล ก็เป็นเซนเซอร์ดั้งเดิม ที่มีอยู่ในรถมอเตอร์ไซค์ยุคปัจจุบันอยู่แล้ว ไม่ใช่ของใหม่อะไร

ดังนั้นสำหรับใครที่กังวลปัญหาในเรื่องของการบำรุงรักษา เราจึงมองว่ามันอาจไม่ได้น่ากลัวมากเท่าไหร่นัก อาจจะดูเหมือนมีความวุ่นวายมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เพิ่มเติมจากเดิมสักเท่าไหร่เลย

ที่เหลือก็รอแค่เพียงการขี่ทดสอบใช้งานจริงด้วยตัวเราเอง เพื่อดูว่ามันจะทำงานได้ดี ดังที่ทาง Honda ระบุว่ามันจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายได้จริงตามโฆษณาหรือไม่ ก็เท่านั้น ซึ่งเราก็คาดว่าจะมีโอกาสได้สัมผัสมัน ภายในช่วงไม่เกินสิ้นปีนี้

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.