Home » รีวิว Triumph Tiger 900 GT Pro / Rally Pro สองเสือตัวรอง สมรรถนะไม่รองตามชื่อ
Motorcycle-Review คอมอเตอร์ไซค์

รีวิว Triumph Tiger 900 GT Pro / Rally Pro สองเสือตัวรอง สมรรถนะไม่รองตามชื่อ

ย้อนไปในงาน Motor Show 2024 ที่ผ่านมา ทาง Triumph Motorcycles ได้มีการเปิดตัว Triumph Tiger 900 GT Pro / Rally Pro รุ่นใหม่ให้ชาวไทยได้สัมผัสและจับจองกันเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน พวกเขาก็ไม่ชักช้า รีบเชิญเหล่าสื่อ ให้เข้าร่วมโอกาส ทดสอบ และ รีวิว ตัวรถกันในทันที

และใช่ครับ ทางทีมงาน Ridebuster เราเอง คราวนี้ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในสื่อฯ ที่ได้เข้าร่วมอีเวนท์การทดสอบ และ รีวิว ตัวรถ Triumph Tiger 900 GT Pro / Rally Pro รุ่นใหม่ ครั้งนี้ด้วย หลังจากที่เราไม่ได้จับรถมอเตอร์ไซค์จากแบรนด์อังกฤษนี้มาเนิ่นนาน โดยก่อนหน้านี้คือตอนที่เราได้รับเชิญไปทดสอบรุ่นพี่ของมันอย่าง Triumph Tiger 1200 Rally Pro / Rally Explorer อีกด้วย

กลับมาที่ตัว 2024 Triumph Tiger 900 สำหรับ รุ่นใหม่ ในคราวนี้ ก็เรียกว่าได้รับการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนหลายจุดด้วยกัน แม้ว่าหากคุณมองเพียงผ่านตา อาจจะไม่ได้สังเกตเห็นความแตกต่างที่ว่านั้นเท่าไหร่นัก เพราะทรวดทรงรถยังคงคล้ายเดิม ไฟหน้า ชิลหน้า ไฟท้าย ชุดเฟรม หน้าตาของชุดล้อ และระบบเบรกที่เห็นได้แต่ไกล ก็ยังคงมีหน้าตาเหมือนเดิม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันได้รับการปรับเปลี่ยนงานออกแบบเปลือกนอกใหม่ในหลายๆจุด ตั้งแต่จงอยบังโคลนหน้า ที่ถูกปรับรูปทรงให้ดูยื่นยาวสอดเข้ามาหาตัวรถด้านในมากกว่าเดิม โดยสังเกตได้จากแนวการช้อนที่เลยเข้ามาใต้แนวไฟเลี้ยวคู่หน้า ช่วยให้ตัวรถดูปราดเปรียวยิ่งขึ้น ตัวไฟตัดหมอกคู่หน้า ก็มีการเก็บงานขายึดให้เรียบร้อยมากขึ้น ไม่ได้มีสายไฟโยงออกมาให้ตงิดลูกตาแต่อย่างใด

ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือแม้แผงหม้อน้ำและพัดลม จะติดตั้งเข้ากับโครงรถพร้อมทำมุมเกือบ 90 องศา เพื่อให้สามารถแผ่รับลมจากด้านหน้าได้อย่างเต็มที่ แต่ชุดแฟริ่งด้านข้างก็ได้ถูกออกแบบใหม่ให้มันสามารถพาลมร้อนที่ออกจากหม้อน้ำซ้าย-ขวา ไหลแหวกออกไปทางด้านข้างตัวรถ คล้ายๆพี่ใหญ่ 1200 จากเดิมที่เคยพัดเข้าหาตัวผู้ขี่ให้โดนบ่นอีกต่อไป (แต่พี่ใหญ่ 1200 จะอาศัยการติดตั้งแผงหม้อน้ำให้หันออกไปด้านนอกแนวโครงรถนิดๆตั้งแต่แรก)

นอกนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนช่วงครึ่งหลังใหม่อีกเล็กน้อย แต่ที่เห็นได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ก็คือรูปทรงปลายท่อใหม่ให้ดูมีมิติมากกว่าเดิม ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวผู้เขียนก็ต้องบอกว่ามันดูดีขึ้นมากจริงๆ

ในส่วนการ์ดแครงก์ด้านล่าง ที่หากเป็นตัวรถรุ่น GT Pro จะไม่มีการติดตั้งชิ้นส่วนพลาสติกอกล่างเข้ามา จากเดิมที่เคยมีในรุ่นก่อนหน้า ทว่าในฝั่ง Rally Pro กลับมีการขยายรูปทรงการ์ดแครงอลูมิเนียมใหม่ ให้ใหญ่กว่าเดิมแทน

นอกจากการปรับปรุงระบบจัดเรียงลมร้อนออกจากตัวผู้ขี่ แบบเดียวกับพี่ใหญ่ Tiger 900 ร่างใหม่ทั้ง 2 รุ่น ยังได้รับการติดตั้งชุดหน้าจอมาตรวัดแบบ Full Digital ขนาด 7 นิ้ว ซึ่งยกมาจาก Tiger 1200 อีกด้วย แถมยังใส่ลูกเล่นมาชนิดที่ว่าแทบจะครบครัน ไม่เว้นแม้กระทั่งระบบการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ หรือกล้อง GoPro ผ่านสัญญาณบลูทูธ

ติดเพียงตรงที่ว่าในหลายๆครั้ง หน้าจออาจจะไม่สามารถตอบสนอง หรือทำงานได้รวดเร็วเท่าไหร่นัก ในทันทีที่เราเปิดระบบการทำงานของรถ เพราะต้องรอทั้ง Welcome Screen หรือ หน้าจอต้อนรับ ตอนเปิดสวิทช์นาน กว่าจะเข้าสู่หน้าจอแสดงผลหลัก แต่หากคุณรีบอยากไปต่อมากๆ อันที่จริง เราก็สามารถเปิดสวิทช์รถ แล้วกดสตาร์ทได้เลย โดยไม่ต้องรอหน้าจอพร้อมใช้งาน (แต่การจะปรับค่าลูกเล่นอื่นๆภายในจอ ดูเหมือนจะต้องใช้เวลารีบูทระบบนานอยู่พอสมควร แล้วแต่จังหวะ)

อีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดไอเดียมาจากพี่ใหญ่ด้วยเช่นกัน ก็คือการติดตั้งแผ่นยางซับแรงสั่นสะเทือนที่ตุ๊กตาแฮนด์ เพื่อลดอาการสั่นเครือที่แฮนด์บาร์ ทำให้ผู้ขี่สามารถใช้รถเดินทางในระยะทางไกลๆได้อย่างผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

หากเท่านั้นยังไม่พอ ตัวรถ Tiger 900 Rally Pro ยังจะได้รับการติดตั้งตุ๊กตาแฮนด์แบบใหม่ ที่จะย่นระยะให้ตำแหน่งแฮนด์ถอยมาด้านหลังอีก 15 มิลลิเมตรด้วยกัน เพื่อการจัดท่าทางช่วงบนระหว่างขับขี่ที่มีความเป็นธรรมชาติมากกว่า ไม่ว่าจะตอนนั่งขี่บนถนนดำปกติที่ไม่ได้รู้สึกว่าทำให้ผู้ขี่ไซส์เอเชียจะนั่งแล้วจมมากเท่าไหร่นัก เหมือนพี่ใหญ่ 1200 หรือตอนยืนขี่บนทางฝุ่นเอง ผู้ขี่ก็ยังสามารถจัดท่าทางได้สบายๆ อาจจะยังต้องโน้มตัวอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าน้อยกว่าโฉมก่อนหน้านี้พอสมควร

ทั้งนี้ แม้ในฝั่งตัวรถรุ่น GT Pro จะไม่ได้ใช้ตุ๊กตาแฮนด์ที่ถอยมาด้านหลังเหมือนคู่แฝดตัวโย่ง แต่ด้วยความเป็นตัวรถที่เน้นการวิ่งทางดำมากกว่า จึงทำให้ การที่แฮนด์ของมันไม่ได้ถอยมาด้านหลังมากนัก และในทางกลับกันมันก็ทำให้เราสามารถโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อสู้กับแรงเหวี่ยงในยามที่ต้องเล่นโค้งด้วยความเร็วสูงๆได้อย่างเหมาะสมมากกว่า

นอกนั้นในส่วนของท่านั่งช่วงครึ่งล่าง สิ่งที่น่าชมก็คือ แม้ตัวรถจะมาพร้อมกับเครื่องยนต์ 3 สูบเรียง แต่การออกแบบรูปทรงถังน้ำมัน และการบีบเฟรม กับตัวเบาะช่วงใต้หว่างขา กลับไม่ได้ให้ความร้สึกที่กว้างเกินไป จนทำให้การใช้น่องหนีบรถช่วงที่ต้องยืนขี่มีความลำบาก หรือต้องโก่งขาเลยสักนิด และอันที่จริง คือแทบไม่ต่างจากรถที่ใช้เครื่องยนต์ 2 สูบเรียงเสียด้วยซ้ำ

ทว่าในทางกลับกัน เมื่อเป็นจังหวะนั่งขี่ หากผู้ขี่ต้องการจะหนีบถังจริงๆ หลายครั้งอาจรู้สึกว่าตัวถังน้ำมันช่วงกลางหว่างขาอาจแคบไปสักนิดเสียด้วยซ้ำ ซึ่งหากคุณเป็นคนที่ชอบขี่รถบางๆ ย่อมติดใจแน่นอน แต่ถ้าคุณเป็นคนชอบใช้หัวเข่าหนีบถังแน่นๆ ก็อาจจะต้องปรับตัวกันสักนิด และจัดท่าทางในการขี่สักหน่อย ถึงจะสามารถหนีบตัวรถได้อย่างมั่นใจมากขึ้น (แต่ก็เข้าใจได้ว่ามันแลกมากับการหนีบจังหวะยืนขี่ที่คล่องตัวมากจริงๆ)

ถัดจากเรื่องของตำแหน่งแฮนด์บาร์ สิ่งที่เราควรจะไล่กันต่อเลย ก็คงเป็นเรื่องเบาะนั่ง และสมดุลตัวรถยามหยุดนิ่ง

กล่าวคือ ในฝั่ง GT Pro จะมาพร้อมกับเบาะนั่ง ที่สามารถปรับความสูงได้ 2 ระดับ นั่นคือ 820 มิลลิเมตร และ 840 มิลลิเมตร ซึ่งแน่นอนว่า สำหรับผู้ขี่ไซส์เอเชียบางคน เช่นผู้ทดสอบที่สูง 168 เซนติเมตร ก็อาจจะมีปัญหา หรือต้องปรับตัวในการขึ้นคร่อมสักหน่อย เพราะแม้จะใส่รองเท้าพื้นหนากว่าปกติหน่อยๆแล้ว แต่ก็ยังต้องเขย่ง อุ้งเท้าจิกพื้นตอนพยายามวางเท้า 2 ข้างพอสมควร

แต่การวางเท้าเพียง 1 ข้าง ยังคงสามารถทำได้สบายๆ โดยที่แทบไม่จำเป็นจะต้องเอียงก้นช่วย และไม่ต้องใช้แรงในการค้ำรถมากนักในจังหวะเตรียมจอด และถ้าดูจากตัวเลข บวกด้วยน้ำหนักตัวที่อยู่ในเรท 222 กิโลกรัม จึงทำให้หากคุณเป็นคนที่เคยชินกับการขี่รถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็มีเบาะสูงราวๆ 800 – 810 มิลลิเมตร และน้ำหนักราวๆ 200 – 210 กิโลกรัม อยู่แล้ว สามารถปรับตัวเข้าหารถ ในเรื่องของการคุมน้ำหนักรถซ้าย-ขวาได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าไหร่นัก

ส่วนฝั่ง Rally Pro ที่แม้จะปรับเบาะเตี้ยสุดแล้ว แต่มันก็ยังมีตัวเลขแตะระดับ 860 มิลลิเมตร อยู่ดี (ถ้าปรับระดับสูงสุด จะอยู่ที่ 880 มิลลิเมตร) ถือว่าสูงเอาเรื่องไม่น้อย สำหรับผู้ขี่ที่มีส่วนสูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร นั่นจึงทำให้การจะขึ้นคร่อมรถแต่ละครั้ง เราจะใช้วิธีการยืนบนพื้นแล้วค่อยวาดขาขวาขึ้นคร่อมตรงๆเลยไม่ได้ ต้องใช้วิธีเอาขาซ้ายเหยียบบนพักเท้า แล้วยกตัวขึ้นก่อน จึงจะวาดขาขึ้นคร่อมรถได้ง่าย

และแน่นอนว่า ด้วยความสูงระดับนี้ การจะวางเท้าลงทั้งสองข้างให้สัมผัสพื้นนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เต็มที่ก็ได้แค่ปลายเท้าจิกพื้นนิดๆเท่านั้น โดยเฉพาะหากคุณเป็นผู้ขี่ที่มีน้ำหนักตัวไม่มากนัก ก็จะยิ่งใช้น้ำหนักตัวเองกดให้โช้กหลังยุบลงได้ไม่เยอะ และทำให้การจอดรถแต่ละครั้ง ต้องมีการโยกก้นเผื่อระยะขามากกว่า GT Pro ขึ้นมาอีกประมาณหนึ่ง

และด้วยน้ำหนักตัวที่อาจจะไม่ได้มากนักในความเป็นรถแอดเวนเจอร์ไบค์ แต่ก็มีตัวเลขหลัก 228 กิโลกรัม แถมยังมีน้ำหนักกดไปที่ล้อหน้ามากกว่า GT Pro จึงทำให้การยกรถ เพื่อเก็บขาตั้ง ต้องใช้แรงเยอะกว่าปกติเล็กน้อย เว้นเสียแต่ว่าคุณจะมีเทคนิคช่วย อย่างเช่นการหักแฮนด์ไปด้านขวา หรืออที่สบายกว่านั้น คือให้เพื่อนช่วยตั้งรถก่อนเก็บขาตั้ง

สิ่งสำคัญที่ทำให้น้ำหนักตัวรถ ท่านั่ง และความสูงเบาะของ Tiger 900 ตัว GT Pro กับ Rally Pro ต่างกัน ก็ไม่ใช่แค่เพราะแฮนด์บาร์ หรือการติดตั้งอุปกรณ์ส่วนเสริมที่มากกว่า แต่ยังเป็นเพราะการเซ็ทอัพ และการใช้อุปกรณ์ช่วงล่างต่างๆของตัวรถ ที่ต่างกันด้วย

เริ่มจากในฝั่ง GT Pro ที่เน้นการใช้งานแบบวิ่งทางดำ 60 ทางฝุ่น 40 จะใช้ชุดล้ออัลลอยด์ ขนาด 19 นิ้ว ทางด้านหน้า และ 17 นิ้ว ทางด้านหลัง รัดด้วยยาง Metzeler TouranceTM ขนาด 100/90-19 และ 150/70R17 ตามลำดับหน้า-หลัง

ขณะที่ตัวระบบกันสะเทือนเอง ก็จะใช้โช้กหน้าตะเกียบคู่หัวกลับขนาดแกน 45 มิลลิเมตร จาก Marzocchi พร้อมช่วงยุบ 180 มิลลิเมตร และด้านหลังเป็นโช้กต้นเดี่ยว ช่วงยุบ 170 มิลลิเมตร ทำงานร่วมสวิงอาร์มอลูมิเนียมแขนคู่ ซึ่งเจ้าโช้กหลังที่ว่านี้ก็มาจากแบรนด์เดียวกันกับด้านหน้า แต่พิเศษกว่าเล็กน้อยคือมีระบบปรับค่าพรีโหลด และรีบาวน์ด้วยไฟฟ้า ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปตามโหมดการขับขี่ที่ใช้ หรือผู้ใช้จะปรับค่าเองเป็นโหมดๆไปก็ได้ ตามชอบ

ส่วนในฝั่ง Rally Pro ซึ่งจะเน้นการใช้งานแบบเอาไว้วิ่งทางฝุ่นเป็นหลักมากกว่า ก็จะมาพร้อมกับชุดล้อซี่ลวดทูบเลส ขนาด 21 นิ้ว ทางด้านหน้า กับ 17 นิ้วทางด้านหลัง รัดด้วยยาง Bridgestone Battlax Adventure ขนาด 90/90-21 และ 150/70-R17 ตามลำดับ

ฝั่งระบบกันสะเทือน ก็แน่นอนว่าต้องได้รับการปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยหันไปใช้ชุดโช้กอัพจาก Showa แทน ทั้งตัวโช้กหน้าตะเกียบคู่หัวกลับ ขนาดแกน 45 มิลลิเมตร พร้อมความสามารถในการปรับเซ็ทได้ทุกค่า ไม่ว่าจะเป็นพรีโหลด (ความแข็ง-อ่อน สปริง) และความหนืดของโช้กในการยืด-ยุบ (Rebound-Compression) แถมยังมีช่วงยุบที่มากขึ้น เป็น 240 มิลลิเมตร

เช่นเดียวกัน โช้กหลังที่แม้จะทำงานร่วมกับชุดสวิงอาร์มอลูมิเนียมแขนคู่และชุดกระเดื่องทดแรงแบบเดิม ชุดเดียวกับ GT Pro ทว่ามันก็มาพร้อมกับลูกเล่นความสามารถในการปรับได้ทุกค่า และแม้จะเป็นการปรับค่าด้วยมือทั้งหมด แต่ก็มีช่วงยุบมากถึง 230 มิลลิเมตรด้วย เพื่อความสามารถในการซับแรงกระแทกยามบุกตะลุยทางฝุ่นที่ดีกว่า

แล้วด้วยการติดตั้งช่วงล่าง กับชุดล้อ-ยาง ที่ต่างกัน รวมถึงน้ำหนักที่ต่างกัน ทำให้ตัวรถมีนิสัยที่แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ?

คำตอบนั้นก็บอกได้เลยว่ามาก และอาจทำให้คุณต้องคิดให้ดีก่อนซื้อพอสมควร เพราะนอกจากความสูงเบาะ และน้ำหนัก ที่อาจทำให้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ขี่แอดเวนเจอร์ไบค์มือใหม่ และให้ผลลัพธ์ต่างกันอย่างชัดเจน เรื่องนิสัย และบุคลิกของตัวรถจากเซ็ทอัพช่วงล่างที่ต่างกันเอง ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องคิดด้วยว่ามันจะเหมาะสมกับวิธีการใช้งานตัวรถของคุณจริงๆหรือไม่ ?

แน่นอน ในฝั่ง GT Pro แม้จะยังคงมาพร้อมกับรูปลักษณ์แบบแอดเวนเจอร์ไบค์ แต่มันกลับให้ความสามารถในการใช้งานบนถนนดำที่น่าสนใจ ทั้งในเรื่องของความฉับไวการควบคุมและความคล่องตัวที่ดี การจะเล่นโค้งกับเจ้าเสือตัวรองรุ่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้อย่างมั่นใจ และทำให้เราสนุกไปกับการเล่นโค้งต่างๆได้เป็นอย่างดี

ไม่ว่าจะโค้งแคบหรือกว้าง เจ้าเสือตัวนี้ก็พร้อมจะไปตามสั่งทั้งหมด คุณอาจจะต้องเผื่อแค่ในเรื่องของช่วงยุบ และส่วนสูงตัวรถที่มากสักหน่อย จากรูปทรงของตัวรถก็เท่านั้น และต้องไม่ลืมว่าตัวรถยังมาพร้อมกับโช้กหลังไฟฟ้า ซึ่งจะมีการปรับเซ็ทติ้งพื้นฐาน ตามโหมดการขับขี่ที่เลืกไว้ ให้เหมาะกับสภาพเส้นทาง

หรือถ้าคุณรู้สึกว่าการเซ็ทติ้งเดิมๆของโรงงานยังหนืดไม่พอ เราก็ยังสามารถเซ็ทเพิ่มเองได้อีกง่ายๆด้วยการเลื่อนแล้วเลือกจากฟังก์ชันในหน้าจอเท่านั้น

ที่น่าสนใจก็คือ แม้ตัวรถจะถูกออกแบบมาให้เน้นการวิ่งบนทางดำมากกว่า Rally Pro แต่การนำเจ้า GT Pro ไปลุยบนเส้นทางกรวดหินที่ไม่ได้โหดมากนัก มีร่องหลุมพอประมาณ และมีทราบให้ได้หวาดเสียวกันเล่นๆ ตัวรถก็สามารถบุกตะลุยผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ง่ายๆเช่นกัน

เว้นแค่เพียงรถอาจจะมีการเลื้อยๆไปมาสักหน่อย เพราะยางที่ติดรถมา เน้นการวิ่งบนทางดำ-ทางฝุ่น แบบ 70-30 นั่นเอง แต่ก็มีข้อดีตรงที่ว่า หากคุณไม่มั่นใจ อยากจะขอจอดรถดูไลน์ก่อน คุณก็สามารถทำได้ง่ายกว่า Rally Pro เพราะเบาะเตี้ยกว่า และน้ำหนักเบากว่า

ในทางกลับกัน ตัวรถ Rally Pro ก็แน่นอนว่ามันจะต้องโดดเด่นในเรื่องของการบุกตะลุยทางฝุ่น ที่ในสภาพเส้นทางเดียวกัน เจ้าเสือรองตัวลุยคันนี้ จะสามารถเก็บอาการจากพื้นถนนได้อย่างอยู่หมัดมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นทั้งอาการเลื้อยผ่านร่องทราย หรือการซับแรงจากหลุมบ่อต่างๆ ชนิดที่ว่าคุณเพียงแค่ประคองรถให้อยู่ มองไลน์ให้แม่น แล้วเดินคันเร่งต่อไปชิวๆได้เลย

และแม้ตัวรถจะไม่มีโช้กหลังไฟฟ้า แต่มันกลับมีลูกเล่นโหมดการขับขี่แบบ Off-Road Pro ที่ทำให้ผู้ขี่สามารถวาดลวดลายบนทางฝุ่นได้อย่างอิสระ และจัดเต็มมากกว่า แต่นั่นก็แลกมากับความเสี่ยงที่มากกว่าด้วย หากคุณไม่ได้มีทักษะในการขี่บนทางฝุ่นที่ดีพอ

ส่วนการขี่บนทางดำ ก็ใช่ว่าจะด้อยกว่า GT Pro มากมายนัก เนื่องจากด้วยตัวเบาะที่สูง และท่านั่งที่หลังตรงกว่า ทำให้ผู้ขี่สามารถมองทิวทัศน์ตามทางได้กว้างและไกลกว่า จึงทำให้การขี่ยืนระยะยาวๆ อาจรู้สึกสบายจากท่าทางในการขี่มากกว่า

ทว่าด้วยช่วงล่างเดิมๆที่ติดเซ็ทอัพมาให้มีช่วงยุบเยอะกว่า เพื่อซับแรงในจังหวะลุย จึงทำให้อาการโคลงตัวของรถ เมื่อขี่บนทางดำมีมากกว่า GT Pro อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะตอนเบรก ตอนเร่ง หรือตอนเลี้ยวโค้ง ซึ่งหากเป็นการขี่รถตัวคนเดียว ไม่ได้แบกสัมภาระไปมากมายอะไร ก็คงไม่ใช่ปัญหานัก แต่ถ้ามีคนซ้อนไปด้วย ก็อาจจะต้องยั้งมือ หรือปราณีตในการเลี้ยวสักหน่อย เพื่อลดการโคลงตัวของรถให้น้อยลง ไม่เช่นนั้นก็ต้องวุ่นวายกับการเซ็ทติ้งโช้กหลังด้วยมือไปๆ-มาๆ

ด้านระบบเบรกเอง ก็ถือว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทาง Triump ให้มาอย่างจัดเต็ม ตั้งแต่ Tiger 900 โฉมก่อนหน้า ด้วยคาลิปเปอร์เบรกหน้าโมโนบล็อค 4 พอท Brembo Stylema ซึ่งถือว่าเป็นคาลิปเปอร์เบรกรุ่นท็อปสุดแล้ว เท่าที่ผู้ผลิตจะติดมาให้จากโรงงาน และมันยังทำงานร่วมกับจานเบรกคู่ขนาด 320 มิลลิเมตร

ขณะที่ตัวเบรกหลังก็เป็นแบบจานเดี่ยวขนาดใหญ่ถึง 255 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับปั๊มเบรก 1 พอท แบบโฟลทติ้งเมาท์ ซึ่งอันที่จริงก็มีมาให้ตั้งแต่โฉมก่อนเช่นกัน

ทว่าสิ่งที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปในคราวนี้ ก็คือตัวระบบอิเล็กทรอนิกส์ของตัวระบบกระจายแรงเบรก และระบบ ABS ใหม่ ซึ่งในกรณีที่ตังเบรกอาจทำงานได้ดีเกินไป โดยเฉพาะบนทางฝุ่น ระบบความปลอดภัยทั้ง 2 อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น ก็จะสามารถจัดการทั้งเฉลี่ยแรงเบรก และควบคุมอัตราการจับปล่อยของผ้าเบรกได้อย่างเรียบเนียนมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้น ก็คือการที่คราวนี้ตัวรถมาพร้อมกับระบบช่วยเบรก ในกรณีที่ผู้ขี่กำเบรกหน้า ระบบจะสั่งการให้เบรกหลังทำงานด้วย แม้ผู้ขี่ไม่ได้เหยียบแป้นเบรกก็ตามที และจะเป็นการคุมน้ำหนักเบรกที่เหมาะสม เพื่อความสามารถในการลดชะลอความเร็วสูงสุด โดยไม่ทำให้รถเป๋ไปมา แม้บนทางฝุ่น

แต่ทั้งนี้ หากคุณเปิดระบบ Off-Road ระบบ ABS ที่ล้อหลังจะถูกปิดไปโดยอัตโนมัติ ดังนั้นจึงอย่าเผลอลืมตัวเด็ดขาด เพราะถ้าคุณกดเบรกหลังไม่ดูตามาตาเรือเมื่อไหร่ ท้ายรถก็จะพร้อมขวางทันที เว้นแต่คุณจะเป็นมือโปรฯ อยากให้ท้ายรถขวางก่อนเลี้ยวหักศอกอยู่แล้ว

เครื่องยนต์ของ Tiger 900 โมเดลปี 2024 ทั้ง 2 รุ่น ไม่ว่าจะ Rally Pro หรือ GT Pro ต่างก็เป็นบล็อคเดียวกัน ไม่ได้มีการปรับจูนให้แตกต่างกันใดๆทั้งสิ้น

ทว่าหากเทียบกับตัวรถโฉมก่อนหน้า ขุมกำลัง 3 สูบเรียง DOHC 12 วาล์ว ขนาดความจุ 888cc ระบายความร้อนด้วยน้ำของมัน ก็ถือว่าได้รับการปรับจูนใหม่ ทั้งไส้ในโดยเฉพาะในส่วนฝาสูบ และกล่อง ECU ใหม่ ส่งผลให้คราวนี้มันสามารถทำแรงม้าได้มากขึ้นกว่าเดิมอีก 13% จาก 95 PS เป็น 108 PS ที่ 9,500 รอบ/นาที และยังทำแรงบิดสูงสุดได้ 90 นิวตันเมตร ที่ 6,850 รอบ/นาที โดยทางค่ายระบุว่า มันยังให้อัตราสิ้นเปลืองที่ดีขึ้นกว่าเดิมอีก 9% ด้วย

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเสียดายเล็กน้อยของการทดสอบรีวิวในครั้งนี้ ก็คือการที่ตัวผู้ทดสอบเอง ยังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสตัวรถ Tiger 900 เจเนอเรชันก่อนหน้า จึงทำให้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าขุมกำลังที่ถูกปรับจูนใหม่ของมัน มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากแค่ไหน

แต่หากให้มองในมุมของความเป็นรถมอเตอร์ไซค์แอดเวนเจอร์ไบค์คลาสกลาง ส่วนตัวผู้ทดสอบกลับรู้สึกว่าเครื่องยนต์ของมันนั้น สามารถเรียกอัตราเร่งที่ทำให้คุณสามารถตามรถแอดเวนเจอร์ไบค์รุ่นใหญ่ได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าไหร่ ต่อให้จะเป็นการขี่ด้วยโหมด Road เท่านั้นก็ตาม

เนื่องจากมันสามารถเรียกความเร็วปลายได้ไวพอตัว (โดยเฉพาะในโหมด Sport) แม้จะดูเหมือนรถจะถูกล็อคความเร็วเอาไว้ที่ราวๆ 205 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ซึ่งอันที่จริง พี่ใหญ่ Tiger 1200 ก็ถูกล็อคความเร็วสูงสุดไว้เท่านี้เช่นกัน)

โดยแม้แรงต้นของมัน อาจไม่ได้พุ่งพล่าน ไม่ว่าจะทั้งจากความเป็นเครื่องยนต์ 3 สูบเรียง หรือความเป็นเครื่องยนต์ที่ยังไม่ใหญ่โตมากนัก ทว่าส่วนตัวผู้ทดสอบก็มองว่า มันแค่ดูน้อยกว่ารถแอดเวนเจอร์ไบค์รุ่นใหญ่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

และเมื่อถึงย่านกำลังช่วงกลาง บวกกับความลื่นไหลของตัวระบบชิฟท์เตอร์ 2 ทางขึ้น-ลง ที่ให้มา ความสนุกในการใช้คันเร่งของมัน จะเริ่มแสดงผลอย่างต่อเนื่องในทันที นั่นจึงทำให้เราสามารถละเมียดละไมไปกับการคุมท้ายรถได้ง่ายกว่า ไม่ว่าจะตอนขี่บนทางดำ หรือโดยเฉพาะบนทางฝุ่น

สิ่งที่เราคงต้องค้างกันไว้ก่อน ก็คือเรื่องของความสามารถในการเรียกอัตราเร่ง เมื่อรถต้องเจอกับน้ำหนักสัมภาระเยอะๆ เช่นการมีคนซ้อน หรือการแบกของในปี๊บ 3 ใบ เพราะมันน่าจะเป็นสิ่งที่ตัวรถต้องเจอ เมื่อไปอยู่กับผู้ใช้จริงมากกว่า

รวมถึงตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเองก็ด้วย ที่แม้ในตอนทดสอบครั้งนี้ เราจะได้ตัวเลขเฉลี่ยที่ราวๆ 22-23 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งเมื่อคำนวนจากปริมาณน้ำมันในถังขนาด 20 ลิตร แล้ว มันก็จะสามารถวิ่งได้ไกลสุดที่ไม่น้อยกว่า 400 กิโลเมตรต่อน้ำมัน 1 ถัง แต่มันก็ยังเป็นเพียงแค่การมองจากตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองบนหน้าจอ เป็นการวิ่งตัวเปล่า และใช้ความเร็วได้ไม่มากนัก

สิ่งที่ผู้ทดสอบสามารถติงได้จริงๆในครั้งนี้ ก็คือเรื่องของรอบเครื่องยนต์ ที่แอบจะเปลืองไปสักนิดในช่วงความเร็วเดินทาง ซึ่งเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ก็ไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนมากนัก แต่เป็นเพราะรูปแบบเครื่องยนต์แบบ 3 สูบ จึงต้องใช้รอบในการเค้นกำลังมากกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์ 2 สูบ เป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั่นเอง ทว่ามันก็แลกมาซึ่งสุ้มเสียงจากปลายท่อที่ไพเราะกว่ามากจริงๆ จนเหมือนกับว่าคุณกำลังฟังเสียงรถแข่ง Moto2 ยังไงยังงั้น (แค่ไม่ดังเท่า)

ก็ถือได้ว่าการทดสอบ รีวิว ครั้งนี้ ทำให้เราสัมผัสถึงอารมณ์ของ Triumph Tiger 900 GT Pro และ Triumph Tiger 900 Rally Pro ได้อย่างพอผมปากหอมคอ และน่าประทับใจอยู่ไม่น้อย จากขีดความสามารถตัวรถ ที่แม้จะถูกระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นเพียง “ตัวรองของตระกูล” ทว่ามันกลับมีลูกเล่นและสมรรถนะในหลายๆด้าน ที่สามารถสู้กับ แอดเวนเจอร์ไบค์รุ่นใหญ่ ของค่ายอื่นได้สบายๆ

โดยเฉพาะเรื่องของขุมกำลัง ที่ถูกปรับจูนมาได้ค่อนข้างดี จนทำให้พี่ๆบางคนอาจถึงกับหนีไม่ออก และในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้น รถแอดเวนเจอร์ไบค์ตัวจริง ก็ยังคงสามารถปรับตัวเข้าหามันได้ง่าย

และถึงแม้มันจะยังเป็นเพียงตัวรอง แต่ลูกเล่นที่ให้มาครบครัน สามารถใช้งานได้จริง กับระบบกันสะเทือนช่วงล่าง ที่ให้มาก็จัดเต็มมาก จนชนิดที่ว่า ขาดแค่เพียงระบบปรับไฟฟ้าแบบแปรผันตามสภาพผิวถนนเท่านั้น ก็สู้กับรุ่นใหญ่ได้ตรงๆ

ดังนั้นหากคุณ เป็นคนที่ขี่รถได้แข็งพอแล้ว แต่มองว่าตนเองไม่จำเป็นต้องขยับไปเล่นตัวใหญ่ต่อ เจ้า Tiger 900 ทั้งสองรุ่นนี้ ก็น่าจะสามารถเป็นตัวจบให้กับคุณได้จริงๆ อยู่ที่ว่าคุณจะจบกับคันไหนก็เท่านั้น

ระหว่าง GT Pro ซึ่งเหมาะกับผู้ที่เน้นการเดินทางบนทางดำ และเข้าทางฝุ่นไปแคมป์ปิ้งบ้างในเส้นทางที่ไม่ได้โหดหินมากนัก หรือจะเป็น Rally Pro ที่สามารถขี่ทางดำได้แบบชิลๆ แต่เมื่อถึงทางลุย เจ้านี่ก็จะกลายร่างเป็นเสือ ที่พร้อมตะกรุยไปทุกเส้นทางกับคุณได้เป็นอย่างดีแน่นอน ถ้าคุณมือตึงพอ

โดย Triumph Tiger 900 MY2024 มีราคา และสี สำหรับการวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ดังนี้

  • Triumph Tiger 900 GT Pro : ราคา 639,000 บาท มี 3 เฉดสีให้เลือก ได้แก่ GRAPHITE / SAPPHIRE BLACK, CARNIVAL RED / SAPPHIRE BLACK, และ SNOWDONIA WHITE / SAPPHIRE BLACK
  • Triumph Tiger 900 Rally Pro : ราคา 659,000 บาท มี 3 เฉดสีให้เลือก ได้แก่ CARBON BLACK / SAPPHIRE BLACK, ASH GREY / INTENSE ORANGE, และ MATT KHAKI GREEN / MATT PHANTOM BLACK
แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.