อาจจะจริงอยู่ว่าในปัจจุบัน “รถยนต์ไฟฟ้า” มักเป็นรถที่มาพร้อมกับระบบความปลอดภัยในการขับขี่แบบเชิงรุกมากมาย จนใครหลายคนมักชอบเอาประเด็นนี้มาขิงรถยนต์ขุมกำลังสันดาปภายใน แต่หากเป็นเรื่อง “หลักกายภาพ” โดยเฉพาะ “มวลตัวรถ” อันแสนหนักอึ้งล่ะก็ มันอาจดูไม่น่าไว้ใจเท่าไหร่นัก เมื่อถึงเวลาคับขันขึ้นมา
จากรายงานของมหาวิทยาลัย University of Nebraska-Lincoln ซึ่งมีฝ่ายวิจัยและทดสอบความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะเรื่อง ความเสียหายของตัวรถเมื่อมีการหลุดโค้ง หรือพุ่งไปเฉี่ยวชนกับราวกั้นถนน รวมถึงบาริเออร์
เผยให้เห็นว่าในตอนนี้ ราวเหล็กกั้นถนน ที่ภาครัฐทั่วโลกใช้เป็นมาตรฐานเพื่อป้องกันไม่ให้รถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุเกิดแหกโค้งจนหลุดลงข้างทาง ซึ่งอาจเกิดความเสียหายหนักจนถึงแก่ชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนน อาจแข็งแรงไม่พอที่จะรับกับแรงปะทะของเหล่ารถยนต์ไฟฟ้าในยุคปัจจุบันได้อีกต่อไป
โดยจากการทดสอบโดยหน่วยงานข้างต้น ที่ใช้รถกระบะไฟฟ้า Rivian R1T วิ่งพุ่งเข้าใส่ราวเหล็กกั้นถนน ด้วยความเร็ว 96 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยมุมปะทะราว 80 องศา (เกือบตั้งฉาก) ปรากฏว่ามันกลับฝ่าแนวราวเหล็กกั้นถนนไปได้อย่างง่ายดาย เหมือนราวเหล็กไม่มีความหมายใดๆที่จะหยุดรั้งไม่ให้มันหลุดจากขอบถนนได้เลย และราวเหล็กก็เป็นเพียงแถบริบบิ้นที่นักวิ่งฝ่าเข้าเส้นชัย ในการแข่งขันโอลิมปิก ที่สามารถปลิ่วว่อนไปอย่างง่ายดายยังไงยังงั้น
แถมหากเราลองสังเกตกันต่อให้ดี ก็จะพบว่าตัวรถยังพุ่งไปชนกับบาริเออร์ปูนทางด้านหลัง ด้วยความเร็วเกือบเต็มพิกัด (เพราะราวเหล็กแทบไม่ได้ชะลอความเร็วของตัวรถลงเลย) และด้วยโมเมนตัมของตัวรถที่ยังคงสูงอยู่จึงทำให้แผงแบริเออร์ปูน อย่างน้อย 6 ท่อน (หนักท่อนละราวๆ 1 ตัน พอดิบพอดี) เคลื่อนตัวเพราะแรงปะทะของตัวรถอย่างชัดเจน และยังมีแบริเออร์อีก 1 ท่อนชั้นถัดมา เคลื่อนตัวจากแรงปะทะของรถที่ลอยเพราะปะทะกับแบริเออร์ชันแรก เขยื้อนไปด้วยเป็นชั้นสุดท้ายอีก
แน่นอน สาเหตุสำคัญที่เป็นเช่นนั้น หลักๆแล้วก็เป็นเพราะน้ำหนักตัวของรถกระบะไฟฟ้า คันที่ถูกนำมาทดสอบนี้ มีน้ำหนักตัวมากถึง 7,000 ปอนด์ หรือราวๆ 3,175 กิโลกรัม
ซึ่งเป็น น้ำหนักตัวรถที่อยู่ในช่วงค่าเฉลี่ยของรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับการใช้งานส่วนบุคคล ที่มักมีตัวเลขทะลุหลัก 1 ตันปลายๆ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด A-Segment หรือ Compact Car ไปจนถึง 3 ตันกว่าๆ ในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดกลางขึ้นไป
และแม้ว่ามันอาจจะฟังดูเยอะกว่าที่เราคุ้นชินกับน้ำหนักของรถกระบะขุมกำลังสันดาปภายในหลายๆคันในไซส์เดียวกันอยู่เพียงราวๆ 20-50%
แต่ทางหน่วยงานต้นทางยังระบุอีกว่า ด้วยจุดศูนย์ถ่วงที่ค่อนข้างต่ำ และยังรวมอยู่ในจุดเดียวมากเกินไป จึงทำให้แม้มันจะส่งผลในเรื่องการขับขี่ การควบคุมที่ค่อนข้างดี
ทว่าเมื่อรวมกับน้ำหนักตัวรถที่ค่อนข้างมาก มันก็ทำให้ตัวรถมีแรงเหวี่ยง รวมถึงพลังงานแรงเฉื่อยเมื่อเกิดการปะทะกับสิ่งกีดขวางที่มากกว่าอีกราว 20-50% จนราวเหล็กกั้นถนนที่ยังคงออกแบบไว้รับแรงปะทะจากรถยนต์ขุมกำลังสันดาปภายในมาเนิ่นนาน ไม่สามารถช่วยชะลอหรือลดความเสียหายของอุบัติเหตุที่เกิดจากรถยนต์ไฟฟ้าได้ดีพออีกต่อไป
นอกจากนี้ หน่วยงานเดียวกันนี้ ยังเคยนำรถยนต์ Tesla Model 3 มาทดสอบการชนในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยเป็นการจำลองการหลุดโค้ง ที่ความเร็วราว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่มีมุมปะทะราว 30 องศา กับแนวราวเหล็กกั้นถนน
ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่นัก เพราะตัวรถทดสอบคันดังกล่าวก็พุ่งผ่านราวเหล็กกั้นไปอย่างง่ายดายเช่นกัน
เพราะแม้น้ำหนักตัวจะมีตัวเลขเพียงราวๆ 1 ตันปลายๆ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ราวเหล็กกั้นถนนซึ่งใช้ในการทดสอบสามารถรับได้สบายๆ (รายงานการทดสอบระบุว่า ราวเหล็กที่ใช้ในการทดสอบ ปกติจะสามารถรับแรงปะทะของรถยนต์ขุมกำลังสันดาปภายในซึ่งหนักราวๆ 2 ตันได้)
แต่ด้วยจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ จึงทำให้แนวแรงปะทะอยู่ต่ำจากแนวรับแรงปะทะของแผงกั้นมากเกินไป และส่งผลให้ตัวรถทดสอบมุดลอด แล้วถอนแนวราวเหล็กกั้นไปอย่างง่ายดาย
จากผลการทดสอบข้างต้นทั้ง 2 รายการ หากจะตีความว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ เมื่อรถเกิดเสียการควบคุมจนหลุดไปปะทะกับแผงกั้นถนน มากกว่ารถยนต์ขุมกำลังสันดาปภายใน ก็ย่อมได้
แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักที่เราจะเหมารวมไปเสียทั้งหมด เพราะหากมองในอีกมุม ก็หมายความว่าทางหร่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนเอง ก็อาจจะถึงเวลาแล้วที่พวกเขาต้องปรับปรุงแนวราวกั้นถนน และอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ให้รับกับรถยนต์ไฟฟ้ายุคปัจจุบัน และยุคใหม่ที่กำลังจะตามมาอีกมากในอนาคต ด้วยในตัว
ทว่าในระหว่างนี้ สำหรับใครที่กำลังใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือสนใจที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้า ก็พึงระวังกันไว้ก่อนก็ดี เพราะแม้รถยนต์เหล่านี้จะมีระบบป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่มากมายเพียงใด
แต่เมื่อพลาดขึ้นมา (ซึ่งอาจจะมีโอกาสน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีวันเกิดขึ้นเลย) ก็หมายความว่าเรามีประตูสำหรับหลีกเลี่ยง หรือลดผ่อนความเสียหายที่เกิดจากการปะทะน้อยกว่ารถยนต์สันดาปอยู่ดี อย่างน้อยก็จนกว่าที่ทางภาครัฐจะทำการปรับปรุงอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งก็ยังไม่มีใครสามารถระบุได้ว่าแล้วมันจะเกิดขึ้นเมื่อใดกันแน่