หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ใครหลายคนยังคงกังวลเมื่อใช้รถยนต์ไฟฟ้า ก็คือเรื่องของระยะทางในการใช้งานต่อชาร์จ ซึ่งเหล่าผู้ผลิตต่างก็พากันคิดค้นวิธีแก้ปัญหากันไปต่างๆนาๆ และหนึ่งในนั้นก็คือ ทาง Ford ที่เลือกการแก้ปัญหาด้วยการทำ เพาเวอร์แบงค์ ให้เสียเลย
จากข้อมูลสิทธิบัตรชุดล่าสุดที่พึ่งถูกเปิดเผยสู่โลกสาธารณะของ Ford ว่าด้วยเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ อย่าง การทำแบตเตอรี่แยก สำหรับติดตั้งบนหลังคารถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มระยะทางในการใช้งานให้กับตัวรถ ซึ่งคล้ายกับการที่มนุษย์เราในทุกวันนี้ พากันพก “เพาเวอร์แบงค์” ติดกระเป๋าไว้ เพื่อชาร์จโทรศัพท์มือถือ ป้องกันปัญหาแบตฯหมดระหว่างวัน
และด้วยหลักการในข้างต้น ประกอบกับภาพตัวอย่างในสิทธิบัตรที่เข้าใจง่าย เราจะเห็นได้ว่า แบตเตอรี่เสริม ที่ทาง Ford คิดค้นขึ้นมานั้น ได้ถูกออกแบบให้ติดตั้งไว้บนหลังคารถยนต์ ด้วยแร็คหลังคา เหมือนการติดตั้งกล่องเก็บสัมภาระเหนือรถยนต์แบบปกติ
และวิธีการใช้งานก็เหมือนจะง่ายดาย โดยการโยงสายไฟเป็นหัวปลั๊กชาร์จออกมาแล้วเสียบไปที่รูชาร์จของรถเพียงเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องทำหัวชาร์จลับเพิ่มเติมแต่อย่างใด (ส่วนการตั้งค่าระบบภายในรถ อาจจะต้องยกยอดไว้ก่อน เนื่องจากการจดสิทธิบัตรในครั้งนี้ ไม่ได้มีการเปิดเผยลึกถึงขั้นอธิบายวิธีการใช้งานโดยละเอียด)
อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญของการติดตั้งแบตเตอรี่เสริมบนหลังคาที่ว่านี้คือ หากคุณเป็นผู้ที่เคยใช้รถยนต์พร้อมติดตั้งกล่องบรรทุกสัมภาระบนหลังคามาก่อน ก็จะพอทราบกันดีว่าขนาดแร็คหลังคาพร้อมกล่องธรรมดาๆ หลายจังหวะยังต้องใช้ 2 คนช่วยกันติดตั้ง ไม่ใช่แค่ด้วยเหตุผลในเรื่องของน้ำหนัก ทว่ายังรวมถึงเรื่องของขนาดด้วย
เพราะหากจะให้แบตเตอรี่มีขนาดใหญ่พอ จนสามารถสำรองระยะทางการวิ่งให้กับแบตเตอรี่ลูกหลักได้ มันก็ควรจะทำให้ผู้ขับสามารถใช้งานมันได้อีกอย่างน้อยๆราวๆ 50-80 กิโลเมตร ซึ่งสำหรับรถยนต์แล้ว อาจจะต้องใช้แบตเตอรี่ที่มีขนาดราวๆ 8-9 kWh
ซึ่งข้อมูลที่เรามี ระบุว่าแบตเตอรี่ของ Toyota Prius PHEV รุ่นปี 2012 ที่มีความจุ 4.4 kWh ก็พกพาเอาน้ำหนักติดตั้งเองมา มากถึง 80 กิโลกรัมเข้าไปแล้ว นั่นจึงหมายความว่า น้ำหนักแบตฯ สำหรับระบบเพาเวอร์แบงค์พกพาบนหลังคารถที่ Ford ออกแบบไว้อยู่ตอนนี้ อาจมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 150 กิโลกรัม หรืออาจสูงได้ถึง 200 กิโลกรัม เมื่อรวมแพ็คเกจการติดตั้งทั้งหมด
นอกจากข้อกังวลในเรื่องความยากลำบากในการติดตั้งด้วยแรงคน ที่อาจต้องใช้มากถึงราวๆ 4-5 คน ยังมีความน่ากังวลในเรื่องความแข็งแรงของหลังคา และแร็คด้วยว่า มันต้องถูกเสริมความแข็งแรงมากเพียงใด จึงจะรับน้ำหนักขนาดนี้ได้ และไม่เพียงเท่านั้น มันยังอาจมีผลถึงสมรรถนะของตัวรถที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปพอสมควรด้วย โดยเฉพาะเรื่องของจุดศูนย์ถ่วงที่มีผลถึงความเสถียรในการเข้าโค้งอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ในเอกสาร ทาง Ford ระบุว่า แบตเตอรี่พกพา แบบติดตั้งบนหลังคา ได้ถูกออกแบบบมาเพื่อใช้งานทั้ง ในแบบ “ขาย หรือ เช่า เพื่อการใช้งานเดินทางแบบทุรกันดาร เป็นต้น” นั่นจึงหมายความว่า แท้จริงแล้วแบตฯเสริมนี้ อาจมีไว้เพื่อรองรับลูกค้าที่อยากนำรถยนต์ไฟฟ้าของตนเองไปเข้าป่า แต่กลัวแบตฯหมดกลางทางขึ้นมา
ก็สามารถเดินทางไปยังศูนย์บริการ เพื่อทำการเช่า และ ติดตั้งแบตฯเสริมนี้ให้กับรถยนต์ของตนเองได้ ซึ่งแน่นอนว่าทางศูนย์บริการ ก็จะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือเฉพาะ ที่ทำให้ช่างสามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมนี้ให้กัลูกค้าได้สบายๆอยู่แล้ว
แต่ในส่วนลูกค้าที่ต้องการจะซื้อขาดไปเลย จะแก้ปัญหาการติดตั้ง หรือถอดอุปกรณ์เสริมนี้ออก ด้วยตนเองที่บ้านกันอย่างไร ? ก็ต้องรอติดตามกันต่อไป เมื่อถึงเวลาที่ Ford อยากจะเปิดบริการนี้จริงๆ