ระบบชาร์จกระแสไฟฟ้าแบบไร้สาย อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมนุษย์หลายคน ที่คุ้นชินกับการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนยุคปัจจุบัน แต่มันกลับเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆหากเราต้องดัดแปลงมันไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า
กล่าวคือ แม้เทคโนโลยีระบบชาร์จโทรศัพท์มือถือแบบไร้สายจะถูกแนะนำในตลาดโลกมานานหลายปี ทว่ามันกลับยังมีข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้มันไม่สามารถนำไปดัดแปลงสำหรับการใช้งานกับรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายๆ
เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้ว ระบบชาร์จไฟไร้สายในปัจจุบัน ยังมีระยะและรัศมีในการทำงานที่ค่อนข้างจำกัดมากๆ สังเกตได้จากการที่หากคุณขยับโทรศัพท์เคลื่อนจากตำแหน่งที่ควรบนถาดชาร์จไร้สายเพียงนิดเดียว หลายครั้งระบบก็ไม่ยอมทำงานต่อ หรือไม่มีการชาร์จเกิดขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น หากระยะสูง-ต่ำ ของตัวโทรศัพท์ อยู่ห่างจากถาดชาร์จมากเกินไป อาจจะด้วยการติดชั้นเคสที่ใส่อยู่ ก็ทำให้คลื่นแม่เหล็กจากถาดชาร์จไร้สายไม่สามารถถ่ายพลังงานไปยังตัวแบตเตอรี่ของโทรศัพท์ได้เช่นกัน
จากข้อจำกัดข้างต้น ทำให้เรายิ่งเห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีระบบชาร์จไร้สายสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ายังต้องใช้เวลาในการพัฒนาที่ก้าวกระโดดกว่าในปัจจุบันมาก เพราะโจทย์ของการใช้งานระบบนี้ คือต้องใช้งานให้ได้ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ากำลังเคลื่อนที่ ซึ่งหมายความว่าตำแหน่งของรถสามารถคลาดเคลื่อนไปมาจนหลุดจากรัศมีของคลื่นแม่เหล็กจากแถบตัวปล่อยพลังงานได้ง่ายๆ
ไม่เพียงเท่านั้น อีกสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็คือเรื่องของสภาพผิวถนนที่อาจมีความไม่สม่ำเสมอ หรือขรุขระ จนทำให้ระยะห่างระหว่างแผ่นแม่เหล็กบนถนน ไม่สามารถรักษาระยะที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายพลังงานไปยังตัวรับคลื่นแม่เหล็กใต้ท้องรถได้อีก
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ในปัจจุบัน แม้รถยนต์หลายคันในต่างประเทศ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่ใช้ในระบบขนส่งสาธารณะ จะถูกระบุว่ามาพร้อมกับระบบชาร์จไฟแบบไร้สาย แต่ความเป็นจริงมันยังคงต้องมีแผ่นโลหะสำหรับลากและสัมผัสไปกับแถบแม่เหล็กบนถนนเพื่อรับพลังงานแบบตรงๆตัวอยู่ดี และจะยังคงติดปัญหาเรื่องความเสี่ยงที่แผ่นเหล็กอาจหลุดจากแนวแถบแม่เหล็กขณะขับเคลื่อนอยู่เรื่อยๆ และยังรวมถึงการสึกหรอของตัวแผ่นเหล็กที่ต้องถูกเสียดสีไปมาระหว่างกันอีกด้วย
เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทาง Hyundai จึงได้มีการเสนอไอเดียที่น่าสนใจเอาไว้หลายข้อด้วยกัน โดยหากอิงจากสิทธิบัตรที่พวกเขาจดเอาไว้ ก็จะมีตั้งแต่ การเลือกออกแบบให้ตัวแถบแม่เหล็กรับคลื่นใต้ท้องรถ สามารถให้ตัว และขยับขึ้น-ลง ได้กึ่ง-อิสระจากตัวรถ เพื่อรักษาระยะห่างของตัวมันเองให้เหมาะสมสำหรับการรับพลังงานอยู่เสมอ โดยไม่เกี่ยงว่าสภาพผิวถนนจะขรุขระ หรือสูง-ต่ำจากใต้ท้องรถมากน้อยแค่ไหน
และเพื่อให้ตัวแผ่นแม่เหล็กรับพลังงาน สามารถขยับขึ้น-ลงได้อย่างถูกต้อง ระบบสั่งการปรับตำแหน่งแผ่นแม่เหล็ก ก็จะทำงานร่วมกับกล้องหน้ารถ และกล้องใต้ท้องรถ หรืออาจรวมถึงเรดาร์ เพื่อดึงข้อมูลสภาพผิวถนนที่รถกำลังจะวิ่งผ่านมาประมวลผลในการปรับระยะความสูงของแผ่นแม่เหล็กแบบ Real-Time
โดยหากระยะการขยับของแผ่นแม่เหล็กใต้ท้องรถยังให้ตัวได้ไม่มากพอ ทาง Hyundai ก็ระบุว่าพวกเขาอาจใส่ระบบช่วงล่างไฟฟ้าที่สามารถแปรผันความสูง-ต่ำของรถ ตามสภาพผิวถนนเข้าไปเพิ่มอีก เพื่อให้มั่นใจที่สุดว่าระบบชาร์จไร้สายจะยังสามารถใช้งานได้ในทุกสภาพผิวถนน
อย่างไรก็ดี แม้เทคโนโลยีระบบแผ่นแม่เหล็กรับสัญญาณให้ตัวได้ ที่ทาง Hyundai นำเสนอแนวคิดไว้ อาจดูใช้งานได้จริงมากแค่ไหน แต่การลงทุนทำระบบสร้างคลื่นแม่เหล็กบนถนนที่สามารถทำงานและจ่ายพลังงานได้ดีและเสถียร ซึ่งหมายความว่ามันย่อมมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ ยังเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐอยู่ดี
ดังนั้นหากภาครัฐไม่ได้สนับสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมเทคโนโลยีดังกล่าวนี้อย่างจริงจัง ท้ายที่สุดมันก็ยังคงเป็นระบบที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้นี้อยู่ดี