เผยโฉมออกมาสักที กับตัวตายตัวแทนของ Bugatti Chiron ไฮเปอร์คาร์ตัวแรง ซึ่งนั่นก็คือเจ้า Bugatti Tourbillon ที่ทุกท่านเห็นกันอยู่ในขณะนี้
Bugatti Tourbillon (บูกาตติ ทัวร์บิลลอน) แม้มองผ่านตา อาจจะรู้สึกว่ามันไม่ได้มีความแตกต่างจากรุ่นพี่อย่าง Chiron มากนัก แต่หากคุณลองเจาะรายละเอียดงานออกแบบให้ดี ก็จะพบว่ามันแทบไม่มีชิ้นส่วนใดเลยที่เหมือนเดิม เว้นแค่เพียงลายเส้นหลักของตัวถังตั้งแต่หัวจรดท้าย ไฟหน้า และกรอบซุ้มประตูรูปจันทร์เสี้ยว ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากนกเหยี่ยวที่เร็วที่สุดในโลก นั่นคือเหยี่ยวเพเรกริน เท่านั้น
ส่วนกระจังหน้าของมัน แม้จะยังคงเป็นทรงโดม แต่ก็มีการขยายปากให้กว้างขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่ในคราวนี้มันมีเสามาคั่นกลาง ซึ่งเข้าใจได้ว่าเพื่อการรับอากาศเข้าสู่ระบบระบายอากาศและการดักอากาศที่เต็มที่มากขึ้น และหากมองจากด้านบน ก็จะพบว่าอุโมงค์ลมที่ว่านี้ถูกวางตำแหน่งให้ยื่นออกมาด้านหน้ามากกว่าเดิม เพื่อการแหวกอากาศที่ดีกว่า
โดยที่ด้านข้างกันชนหน้า ก็ยังคงเป็นที่ตั้งของช่องดักลมขนาดใหญ่ พร้อมครีบตัดอากาศตรงกลาง ซึ่งยื่นออกมารับกับแนวช่องดักลมกลางได้อย่างลงตัว และดูจะช่วยสร้างแรงกดทางด้านหน้ารถได้ดีไม่แพ้กับชายล่างกันชนหน้าที่เป็นชิ้นงานคาร์บอน 2 ชั้น
ไฟหน้าตัวรถ แม้จะยังคงเป็นแบบฝั่งละ 4 ดวง แบบวางยาวแพนออกไปทางด้านข้างดังเดิม แต่มันก็ถูกปรับวงแหวนแถบไฟ DRL ใหม่ ให้ดูทันสมัยมากขึ้น ตัวฝากระโปรงหน้าเอง ก็มีการปรับใหม่ให้ดูแบนราบกว่าเดิม แต่หากคุณสังเกตให้ดีก็จะพบว่าชิ้นส่วนฝากระโปรงของมัน จริงๆเป็นแค่ชิ้นแผ่นปิดเล็กตรงๆกลางเท่านั้น
นอกนั้นล้วนเป็นชิ้นงานที่เชื่อมต่อกับกันชนหน้าและแก้มข้างซุ้มล้อให้เป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมด ซึ่งนอกจากจะช่วยในเรื่องของการแหวกอากาศที่ดีแล้ว หากรถถูกกระแทกจนชิ้นส่วนด้านหน้าเสียหายที แม้จะเพียงเล็กน้อย แต่ก็เท่ากับว่าคุณต้องเปลี่ยนมันทั้งหัวอีกด้วย
ด้านกลางลำตัว แม้จะยังคงใช้ลายเส้นแบบพระจันทร์เสี้ยว แต่มันกลับมีความแตกต่างจากเดิมอยู่มากพอสมควร ทั้ง หลังคาที่มีการทำครีบเรียงอากาศเล็กๆอยู่ตรงกลางวางเป็นแนวยาวไปตามตัวถัง ซึ่งอันที่จริงด้านใต้ของมันก็เป็นคานกลางสำหรับเสริมความแข็งแรงของตัวถัง
ไม่เพียงเท่านั้น กรอบกระจกยังถูกออกแบบใหม่ โดยจะไม่ใช่แบบตัดแนวยาวไปจนถึงด้านในช่องลม แต่ถูกตัดกรอบแล้วเสยขึ้นไปตามแนวขอบประตูแทน ซึ่งเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าในคราวนี้ บานประตูของมัน จะมีการจัดมุมการเปิดให้เป็นแบบปีกนกคล้ายๆกับของ Ford GT ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวหลังคาเอง จริงๆก็ถูกทำให้เป็นชิ้นเดียวกันกับบานประตูด้วย (นั้นจึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมหลังคาของมัน จึงต้องมีการวางคานค้ำให้เป็นแนวตรงกับตัวถัง ไม่ใช่แนวขัดหรือแนวขวาง)
และด้านท้าย ตัวรถก็มาพร้อมกับแถบไฟท้ายแบบใหม่ ซึ่งจะไม่ได้ขีดเป็นเส้นตรงตัดแนวท้ายรถ แต่เป็นการไล่เส้นไปตามขอบบนของตัวถังด้านท้าย โดยที่ตรงกลาง ก็จะใช้ดวงไฟเป็นตัวอักษรชื่อแบรนด์ และในมุมนี้ คุณก็จะยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แนวสันรีดลมจากฝากระโปรงหน้า ที่พาดผ่านหลังคา ก็จะยังคงลากลงมาคั่นกลางฝาห้องเครื่อง และเป็นที่ตั้งของไฟเบรกดวงที่ 3 ในตัว
ส่วนกันชนท้าย ก็ไม่จำเป็นต้องเรียกว่ามีอยู่ก็ได้ เพราะมันได้กลายเป็นชิ้นดิฟฟิวเซออร์รีดอากาศงานคาร์บอนขนาดใหญ่ แถมยังสูงจนสามารถมองเห็นหน้ายางชิ้นเขื่องเกินครึ่งหนึ่งของความสูงล้อ เพื่อสร้างแรงดูดใต้ท้องรถให้มากที่สุด จะได้ทำให้ตัวรถมีความนิ่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการใช้งานช่วงความเร็วสูงๆ
โดยไม่ต้องพึ่งแรงกดของสปอยเลอร์เลยแม้แต่น้อย เพราะส่วนใหญ่ก็จะแลกมากับแรงต้านอากาศที่สูง ดังนั้นสปอยเลอร์หลังของมัน จึงมีหน้าที่มาช่วยเสริมแรงกดแค่ในช่วงความเร็วปานกลางเท่านั้น หากเป็นการขับในช่วงความเร็วสูงๆ สปอยเลอร์จะถูกพับเก็บซ่อนเอาไว้ตามเดิม เหมือนกับตอนจอด (หรือเจ้าของจะให้มันเปิดค้างไว้เท่ๆก็ได้ แล้วแต่รสนิยม)
ภายในห้องโดยสาร ยังคงเป็นรถยนต์แบบ 2 ที่นั่ง (จะ 4 ที่นั่งก็แปลก) และเน้นความหรูหราสุดกู่เช่นเดิม โดยในส่วนเบาะนั่งเราคงไม่ต้องไล่รายละเอียดมากนัก เพราะท้ายที่สุดเจ้าของรถแต่ละคนก็เลือกเปลี่ยนวัสดุการตกแต่งกันตามฉบับของตนเองอยู่ดี
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ชุดคอนโซลกลางของมัน ที่เป็นแบบคั่นกลางระหว่างผู้ขับและผู้โดยสาร คราวนี้ได้ถูกปรับใหม่ให้ใหญ่และกว้างมากขึ้น เพื่อรองรับปุ่มปรับลูกเล่นต่างๆของตัวรถที่ครบครันกว่าเดิม ทั้งระบบปรับอากาศ, ประตู, เบรกมือไฟฟ้า, และตำแหน่งเกียร์ ที่กลายเป็นสวิทช์เกียร์ไฟฟ้าแล้วเป็นที่เรียบร้อย ไม่ใช่คันเกียร์แบบดั้งเดิมอีกต่อไป
และหากคุณสงสัยว่า รถคันหลาย “ร้อยล้านบาท” เช่นนี้ ทำไมถึงไม่มีจอกลางมาให้ ? คำตอบจริงๆก็คือมันมี แต่จะเป็นจอที่พับเก็บซ่อนเอาไว้เหนือคอนโซลกลาง และจะเด้งขึ้นมาภายใน 2 วินาที เมื่อผู้ใช้เข้าเกียร์ถอยหลัง เพื่อฉายภาพจากกล้องมองหลังเท่านั้น หรือไม่ก็จะใช้เวลาในการเด้งขึ้นมาราวๆ 5 วินาที เมื่อผู้ใช้ต้องการจะเชื่อมต่อจอเข้ากับโทรศัทพ์มือถือผ่านระบบ Apple CarPlay
ทั้งนี้ จุดขายของภายในตัวรถจริงๆ คือชุดพวงมาลัยสุดอลังการงานสร้าง ที่ไม่ใช่แค่แปลกตาด้วยรูปทรงก้าน ที่เป็นแบบยึดบน-ล่าง (ไม่มีก้านซ้าย-ขวา) พร้อมการจัดตำแหน่งปุ่มคุมฟังก์ชันก์ต่างๆสุดพิศดารเท่านั้น
แต่ยังสะดุดตาสุดๆด้วยชุดมาตรวัดแบบอนาล็อค จำลองอารมณ์ของนาฬิกากลไก (Mechanical Watch) มาแบบเต็มสูบ และที่สำคัญคือมันสามารถแสดงผลข้อมูลต่างๆได้ค่อนข้างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ทางด้านซ้าย คือ อุณหภูมิน้ำมันเครื่องยนต์, น้ำมันเครื่อง, ระดับน้ำมัน, ระดับแบตเตอรี่ของระบบไฮบริด, ทางด้านขวา คือเกจระดับพลังของเครื่องยนต์/มอเตอร์ ที่ใช้อยู่แบบ Real-Time และตรงกลาง คือ เกจรอบเครื่องยนต์ และความเร็วทั้งแบบเข็มกวาด และแบบเลขดิจิตอล
ด้านโครงสร้างหลักของตัวรถ แน่นอนว่าต้องเป็นแบบโครงคาร์บอนโมโนค็อกซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อมันโดยเฉพาะ เนื่องจากต้องมีโครงสร้างส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งของแบตเตอรี่ขนาด 25 kWh สำหรับระบบไฮบริด ซึ่งรอบรับการใช้งานแบบวิ่งด้วยโหมดไฟฟ้าล้วนได้ไกลสุด 60 กิโลเมตร/ชาร์จ และเปลี่ยนวัสดุสร้างปีกนกของระบบกันสะเทือน จากเหล็กเป็นอลูมิเนียมฟอร์จ
จึงทำให้รถยังคงมีน้ำหนักเพียง 1,995 กิโลกรัม ซึ่งอยู่ในระดับพอๆกับ Chiron แม้ว่าเจ้า Tourbillon จะเป็นไฮเปอร์คาร์พลังไฮบริดก็ตาม
และแม้ขุมกำลังของมัน จะเป็นเครื่องยนต์ V16 ขนาด 8.3 ลิตร แต่ด้วยการออกแบบโดยสำนัก Cosworth บวกกับความสามารถในการปั่นรอบสูงสุดหลัก 9,000 รอบ/นาที จึงทำให้มันสามารถเค้นแรงม้าสูงสุดได้มากถึง 1,000 PS ซึ่งแทบจะเทียบเท่ากับขุมกำลังดั้งเดิมของ Veyron เวอร์ชันแรกสุด ซึ่งใช้เครื่องยนต์ W16 ขนาด 8.0 ลิตร อยู่แล้ว ทั้งๆที่เครื่องยนต์ลูกใหม่นี้ ไม่ได้พึ่งระบบอัดอากาศใดๆ ต่างจากรุ่นพี่ (ก่อนหน้าไปอีก 1 เจน) ที่เครื่องยนต์ต้องใช้เทอร์โบถึง 4 ตัวด้วยกัน
แต่เพื่อให้เจ้า Tourbillon มีสมรรถนะที่เหนือกว่า Chiron ทาง Bugatti จึงได้ทำการเพิ่มมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าไปอีก 2 ชุด เพื่อแยกกันขับเคลื่อนชุดล้อคู่หน้า และคู่หลัง ซึ่งพละกำลังสูงสุดที่มอเตอร์คู่นี้ทำได้ จะอยู่ที่ราวๆ 1,005 PS
ทว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ และเพื่อยืดอายุการใช้งานของตัวรถ มอเตอร์ไฟฟ้าคู่นี้จึงจะถูกจำกัดพลังเอาไว้ที่ราวๆ 800 PS เท่านั้น เมื่อถูกใช้งานจริง และทำให้ตัวเลขพละกำลังสุทธิของขุมกำลังไฮบริดที่อยู่ในเจ้าไฮเปอร์คาร์รุ่นนี้ มีตัวเลขที่ 1,800 PS
โดยแม้ท้ายที่สุด ทางค่ายจะยังไม่ยอมบอกว่าแรงบิดสูงสุดที่ขุมกำลังใหม่ของไฮเปอร์คาร์รุ่นนี้อยู่ที่เท่าใด แต่ยังไงมันก็ต้องมากกว่าเดิมเยอะแน่นอน ด้วยความเป็นขุมกำลังไฮบริด เมื่อประกอบด้วยการทำงานร่วมกับชุดเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 8 สปีด ลูกใหม่
จึงส่งผลให้มันสามารถทำอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ภายในเวลาเพียง 2.0 วินาที ซึ่งหากยังไม่พอ มันก็สามารถเร่งจาก 0-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ภายในเวลาน้อยกว่า 5.0 วินาที หรือถ้ายังสะใจไม่พอ ตัวเลขเวลาในการเรียกอัตราเร่งจาก 0-300 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังน้อยกว่า 9.0 วินาที
เรียกได้ว่าในขณะที่รถบ้านทั่วๆไป ยังไม่สามารถแตะความเร็วถึงหลัก 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงด้วยซ้ำ เจ้า Tourbillon ก็ทำความเร็วเกิน 300 กิโลเมตร/ชั่วโมงไปแล้ว
และเนื่องจากมันเป็นรถที่สามารถทำความเร็วสูงสุดได้มากถึง 445 กิโลเมตร/ชั่วโมง เราจึงมีข้อมูลตัวเลขอัตราเร่งจาก 0-400 กิโลเมตร/ชั่วโมงด้วย นั่นคือทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายในเวลาไม่เกิน 25 วินาที และตัวเลขเวลาทั้งหมดนี้ ถือว่าเร็วกว่ารุ่นพี่อย่าง Chiron ทั้งหมด โดยเฉพาะกับอัตราเร่งจากหยุดนิ่งถึงช่วงความเร็วทะลุ 400 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่ไวกว่ากันยู่ราวๆ 7.6 วินาที
แต่ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ ในการใช้งานปกติ ตัวรถจะถูกจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 380 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น (ปลอดภัยแล้วหรือ ?) หากลูกค้าอยากใช้ความเร็วเกิน 400 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนรถคันนี้ ก็จำเป็นจะต้องใช้กุญแจปลดล็อคความเร็ว (Speed Key) เพิ่ม ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโดยทาง Bugatti ว่าคุณรับมือกับความเร็วนี้ไหวจริงๆเท่านั้น ถึงจะสามารถซื้อกุญปลดล็อคความเร็วนี้ได้
โดยราคาสำหรับการวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการของ Bugatti Tourbillon ก็ได้มีการเปิดตัวเลขเริ่มต้น (ไม่รวมออพชันเสริมที่ลูกค้าตัวจริงย่อมใส่เพิ่มในภายหลังกันอยู่แล้ว) ก็จะอยู่ที่ 3.8 ล้านยูโร แบบรวมภาษีในยุโรป แล้วเป็นที่เรียบร้อย หรือหากคิดเป็นเงินไทย ก็จะอยู่ที่ราวๆ 149 ล้านบาท ซึ่งถือว่าแพงกว่า Chiron เล็กน้อยที่ราวๆ 20 ล้านบาท
และในขณะที่รุ่นพี่ของมัน มีการจำกัดจำนวนการผลิตไว้ที่ 500 คันทั่วโลก (รวมทุกรุ่นย่อยพิเศษที่ทยอยเปิดตัวอยู่เรื่อยๆ) เจ้าน้องใหม่คันนี้ กลับถูกจำกัดจำนวนการผลิตไว้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น นั่นคืออยู่ที่ 250 คันทั่วโลก โดยเจ้าของรถคิวแรกๆ จะได้รับการส่งมอบภายในช่วงปี 2026 เป็นต้นไป