ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้ง BYD Dolphin และ Honda City ที่ถูกเปิดราคาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ต่างก็ได้รับความสนใจจากชาวไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นใหม่ ที่อยากได้รถยนต์คันแรกให้ตนเองไว้ใช้งานสักคัน
ว่าแต่คันไหนล่ะ ที่เหมาะกับคุณมากกว่ากัน ?
โดยสาเหตุที่เรามองว่า BYD Dolphin และ Honda City ต่างเป็นรถยนต์ที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ เพราะส่วนหนึ่ง คนรุ่นใหม่บางกลุ่ม ที่ทำงานมาสักพัก จนเริ่มมีเงินมากพอ อาจมองว่ารถยนต์อีโคคาร์บางคันนั้นเล็กเกินไป และในขณะเดียวกันก็อาจยังไม่จำเป็นต้องมองรถยนต์ในกลุ่มคอมแพ็ค เพราะใหญ่เกินไป
นอกจากนี้ ตัวรถทั้งสองคันที่เกริ่นมา ก็คือรถขนาดซับ-คอมแพ็ค ที่พึ่งเปิดตัวใหม่ล่าสุด จึงทำให้พวกมันต่างก็น่าจับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับช่วงราคาที่คนรุ่นใหม่ยังสามารถเอื้อมถึงได้ง่าย ไม่แรงจนเกินไปด้วยเรทราคาไม่เกิน 7 แสน บาท …
ซึ่งใช่ครับ ตัวรถรุ่นที่เรา จะนำมาเปรียบเทียบกัน ก็คือตัวรถ BYD Dolphin รุ่น Standard Range และ Honda City รุ่น SV ที่ต่างก็ให้ออพชันเพียงพอ และคุ้มค่าสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว แต่มันจะมีอะไรบ้างนั้น เราลองมาดูกันเลยดีกว่า
มิติตัวรถ
Honda City SV | BYD Dolphin Standard Range | |
ความยาว | 4,580 มิลลิเมตร | 4,150 มิลลิเมตร |
ความกว้าง | 1,748 มิลลิเมตร | 1,770 มิลลิเมตร |
ความสูง | 1,467 มิลลิเมตร | 1,570 มิลลิเมตร |
ความสูงใต้ท้องรถ | 134 มิลลิเมตร | 130 มิลลิเมตร |
ระยะฐานล้อ | 2,589 มิลลิเมตร | 2,700 มิลลิเมตร |
ความห่วงล้อคู่หน้า/คู่หลัง | 1,497 / 1,483 มิลลิเมตร | 1,530/1,530 มิลลิเมตร |
น้ำหนักตัวรถ | 1,156 กิโลกรัม | 1,506 กิโลกรัม |
ขุมกำลัง ระบบขับเคลื่อน
Honda City SV | BYD Dolphin Standard Range | |
รูปแบบขุมกำลัง | เครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบเรียง ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ (DOHC) 3 สูบ 12 วาล์ว VTEC TURBO | มอเตอร์ไฟฟ้าเดี่ยว |
ระบบขับเคลื่อน | ชุดเกียร์ CVT + ระบบขับเคลื่อนชุดล้อคู่หน้า | ขับเคลื่อนล้อคู่หน้า |
แรงม้าสูงสุด | 122 PS ที่ 5,500 รอบ/นาที | 94 PS |
แรงบิดสูงสุด | 173 นิวตันเมตร ที่ 2,000 – 4,500 รอบ/นาที | 180 นิวตันเมตร |
แหล่งพลังงาน | ถังน้ำมันเชื้อเพลิง ความจุ 40 ลิตร | Blade Battery ขนาด 44.9 kWh |
ค่าใช้จ่ายโดยคร่าวๆ หากต้องเติมน้ำมันเต็มถัง หรือชาร์จไฟเต็มแบตฯ | ไม่เกิน 1,442 บาท (ค่าน้ำมัน 36.05 บาท/ลิตร ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2566) | ไม่เกิน 337 บาท (ค่าไฟ 7.5 บาท/หน่วย แบบ On Peak ตู้ PTT EV ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2566*) |
อัตราสิ้นเปลืองพลังงาน | 23.8 กิโลเมตร/ลิตร** | ไม่ระบุ |
ระยะทางในการวิ่งสูงสุด | ไม่เกิน ~950 กิโลเมตร/ถัง | 410 กิโลเมตร/ชาร์จ (NEDC)** |
ค่าใช้จ่ายต่อกิโลฯ | ราวๆ 1.50 บาท/กิโลเมตร*** | ราวๆ 1.21 บาท/กิโลเมตร*** (กรณีชาร์จไฟกับตู่ PTT EV ช่วง On Peak เท่านั้น) |
*สาเหตุที่ต้องอ้างอิงค่าใช้จ่ายด้วยอัตราค่าไฟของ PTT EV ช่วง On Peak เนื่องจากโจทย์ของผู้ที่สนใจในตัวรถ BYD Dolphin Standard Range ครั้งนี้ คือผู้ใช้รุ่นใหม่ ที่อาจจะพักอาศัยในคอนโด ซึ่งไม่มีตู้ชาร์จในที่จอดรถ ทำให้ต้องชาร์จไฟจากตู้ PTT EV
ส่วนที่ว่าทำไมถึงต้องเลือกค่าใช้จ่ายในจังหวะ On Peak ? ก็เนื่องจากช่วงเวลาที่คนกลุ่มนี้สะดวกไปชาร์จ อาจเป็นช่วงก่อน 22.00 น. ก่อนเข้าที่พัก เพื่อพักผ่อนนั่นเอง
**อิงตามข้อมูลในโบรชัวร์
***เป็นค่าประมาณการโดยอิงจากการคำนวนตัวเลขในโบรชัวร์เท่านั้น ในการใช้งานจริงยังมีอีกหลายหลายตัวแปรที่ทำให้เกิดการคาดเคลื่อนได้ ทั้งอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงที่สามารถเพี้ยนตามการใช้งานของบุคคลนั้นๆ เช่นเดียวกันกับระยะทางในการวิ่งของแบตเตอรี่ ที่สามารถเพี้ยนตามสภาพการใช้งานของแต่ละบุคคลเช่นกัน
ระบบกันช่วงล่าง และระบบบังคับเลี้ยว
Honda City SV | BYD Dolphin Standard Range | |
ระบบพวงมาลัย | เพาเวอร์ไฟฟ้า | ไฟฟ้า |
ระบบบกันสะเทือนด้านหน้า | อิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท | อิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท |
ระบบกันสะเทือนด้านหลัง | ทอร์ชันบีม | ทอร์ชันบีม |
ระบบเบรกด้านหน้า | ดิสก์เบรกแบบมีครีบระบายความร้อน | ดิสก์เบรกแบบมีครีบระบายความร้อน |
ระบบเบรกด้านหลัง | ดรัมเบรก | ดิสก์เบรก |
ขนาดวงล้อ | 15 นิ้ว | 16 นิ้ว |
ขนาดยาง | 185/60 R15 | 195/60 R16 |
ออพชันและลูกเล่นที่น่าสนใจ
Honda City SV | BYD Dolphin Standard Range | |
เบาะนั่งภายในห้องโดยสาร | หนังแท้และหนังสังเคราะห์สีดำ | หนังสังเคราะห์ล้วน |
งานตกแต่งชิ้นส่วนภายในห้องโดยสาร | สีดำ / สีแดงเข้ม | ทูโทน มีให้เลือกหลายคู่สีแล้วแต่สีภายนอก |
พวงมาลัย | มัลติฟังก์ชัน หุ้มหนัง 3 ก้าน ปรับได้ 4 ทิศทาง | มัลติฟังก์ชัน หุ้มหนัง 3 ก้าน D-Chape ปรับได้ 4 ทิศทาง |
มาตรวัด | TFT 4.2 นิ้ว พร้อมไฟแสดงผลการขับขี่แบบประหยัดน้ำมัน ทำงานร่วมมาตรวัดเข็มกวาด | หน้าจอ Full-Digital TFT ขนาด 4 นิ้ว ติดตั้งบนคอพวงมาลัย |
ระบบปลดล็อค และสตาร์ทเครื่องยนต์ | กุญแจ Keyless + พร้อมปุ่ม Push Start | กุญแจ Keyless + พร้อมปุ่ม Push Start |
หน้าจออินโฟเทนเมนท์ | ขนาด 8 นิ้ว แบบ Advanced Touch รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto แบบไร้สาย | หน้าจอสีระบบสัมผัสขนาด 12.3 นิ้ว พร้อมรองรับระบบ Apple CarPlay + Android Auto |
ลำโพง | 4 จุด | 6 จุด |
ระบบปรับอากาศ | อัตโนมัติ เฉพาะตอนหน้า ยังไม่มีช่องแอร์หลัง | ดิจิตอล ไม่มีระบบอัตโนมัติ เฉพาะตอนหน้า พร้อมระบบกรอง PM 2.5 ยังไม่มีช่องแอร์หลัง |
เบรกมือ | คันชัก | ไฟฟ้า พร้อมระบบ Auto Hold |
ระบบความปลอดภัย
Honda City SV | BYD Dolphin Standard Range | |
กล้องมองรอบคัน | ไม่มี (แต่มี LaneWatch) | มี |
ระบบป้องกันล้อล็อค | มี | มี |
ระบบกระจายแรงเบรก | มี | มี |
ระบบควบคุมการทรงตัว | มี | มี |
ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี | ไม่มี | มี |
ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน | มี | ไม่มี |
ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา | ไม่มี | มี |
ระบบช่วยเตือนขณะถอยรถ | ไม่มี | มี |
ระบบช่วยช่วยเบรกขณะถอยรถ | ไม่มี | มี |
ระบบเตือนก่อนการชน พร้อมระบบช่วยเบรกก่อนการชนด้านหน้า | มี | มี |
ระบบตรวจจับแรงดันลมยาง | ไม่มี | มี |
ระบบปรับไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติ | มี | มี |
ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน | มี | มี |
ระบบควบคุมให้อยู่ในเลน | มี | มี |
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ | มี | มี |
ถุงลมนิรภัย | 2 จุด | 6 จุด |
รุ่นย่อยและราคาวางจำหน่าย
Honda City SV | BYD Dolphin Standard Range |
679,000 บาท | 699,999 บาท |
สรุปความเหมาะสมใครเหมาะกว่ากัน ?
หากมองจากออพชันเพียงอย่างเดียว ปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่า แม้ BYD Dolphin Standard Range จะมีราคาที่แพงกว่า Honda City SV อยู่ราวๆ 20,000 กว่าบาท แต่ออพชันต่างๆที่ให้มาก็ถือว่ามีความจัดเต็มกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนระบบ ADAS ที่ครบครันกว่า และลูกเล่นภายในห้องโดยสารที่น่าสนใจกว่า (แต่ก็ยังตายน้ำตื้นในบางจุด เช่นระบบไฟหน้าสูง-ต่ำอัตโนมัติ ที่ดันไม่มีมาให้เสียอย่างนั้น)
นอกจากนี้ ด้วยความเป็นรถยนต์ไฟฟ้า แม้แรงม้าของมันจะดูน้อยกว่ากันพอสมควร และแรงบิดก็สูงกว่า City SV เพียงไม่มาก แต่จากการที่ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสสัมผัสตัวรถทั้งสองรุ่นมาแล้ว ก็พบว่าอัตราการตอบสนองต่อคันเร่งของ Dolphin ตัวล่างคันนี้ มีความติดเท้าและต่อเนื่องในช่วงความเร็วต่ำๆ-ปานกลางที่ดีกว่า ซึ่งนั่นจึงทำให้มันมีความคล่องแคล่วในการใช้งานในเมือง เช่นการชิงจังหวะออกตัว หรือการเร่งออกจากไฟแดงมากกว่า
ไม่เพียงเท่านั้นหากลองสังเกตกันให้ดี ก็จะพบว่าตัว Dolphin มาพร้อมกับขนาดตัวถังที่แอบกว้างกว่าเล็กน้อย รวมถึงระยะฐานล้อเองก็ยาวกว่าอย่างเห็นได้ชัด (แม้ตัวถังจะสั้นกว่า เพราะเป็นรถท้ายตัด หรือ Hachback ก็ตาม)
จึงทำให้การนั่งภายในห้องโดยสารของ Dolphin นั้น แอบรู้สึกได้ถึงความกว้าง และความโปร่งที่มากกว่า City อยู่พอประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้โดยสารตอนหลัง แถมตัวรถยังมีช่วงล่างที่เน้นความนุ่มนวล ทำให้การซับแรงจากฝาท่อ ทางรถไฟ หลุมบ่อต่างๆ สามารถทำได้ค่อนข้างเนียนกว่าคู่แข่ง
แล้ว City ไม่มีอะไรที่ดีกว่าบ้างเหรอ ? คำตอบก็คือ จริงๆก็มี มีเยอะด้วย
เพราะแม้ Honda City จะไม่ได้มาพร้อมขุมกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า ที่นอกจากจะไม่สามารถทำอัตราเร่งในตีนต้นได้ติดเท้า แต่ด้วยความเป็นเครื่องยนต์ 1 ลิตร ที่เสริมกำลังด้วย เทอร์โบชาร์จ จึงทำให้หากจะขับจริงๆจังๆ มันก็ไม่ได้มีอัตราเร่งที่ขี้ริ้วขี้เหร่สักเท่าไหร่นัก สำหรับการใช้งานในเมือง จริงๆคือถึงขั้นกำลังดีแล้วด้วยซ้ำ แค่ไม่มากเท่ารถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ ด้วยขนาดตัวรถที่ค่อนข้างเล็ก และเบากว่า บวกกับการเซ็ทอัพช่วงล่างที่มีความกระฉับกระเฉงกว่า จึงทำให้การต้องควบคุมรถไปตามช่องจราจรต่างๆ การเข้าออกซอกซอยต่างๆ มีความคล่องตัวกว่า Dolphin อย่างมีนัยยะสำคัญ
ส่วนความประหยัดค่าพลังงานเอง ก็ต้องยอมรับว่ายังไงก็ไม่มีทางสู้กับรถยนต์ไฟฟ้าได้ เพราะค่าพลังงานต่อหน่วยนั้นต่างกันหลายเท่า จนเมื่อคิดถึงตรงนี้ หลายคนอาจอยากจะเบือนหน้าหนีจากการใช้รถยนต์น้ำมันไปเลยดีกว่า เพราะแบกค่าน้ำมันต่อเดือนไม่ไหว
แต่หากมองในมุมของผู้ใช้รถยนต์มือใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ อาจไม่ได้อยู่บ้านของตนเอง แต่อยู่หอพัก หรือคอนโด การใช้รถน้ำมัน ที่สามารถขับไปเติมที่ไหนก็ได้ และไม่เสียเวลาในการนอน เพราะต้องรอชาร์จรถก่อนกลับเข้าที่พัก อาจเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์กับรูปแบบ และประหยัดเวลาสำหรับการใช้ชีวิตพักผ่อนของคุณมากกว่า
ด้านความสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร แม้ตัวรถจะมีขนาดเล็กกว่าในด้านกว้าง แต่พอนั่งจริงๆ มันก็ไม่ได้ถึงกับบอึดอัดกว่ามากนัก ที่น่าสนใจคือ เบาะนั่งของ City ดันแอบให้ความรู้สึกที่โอ่อ่ามากกว่า Dolphin อยู่นิดหน่อยซะงั้น (แต่ย้ำว่าเฉพาะตัวเบาะนั่ง)
และแม้ลูกเล่นต่างๆจะให้มาน้อยกว่า แต่ทุกอย่างที่มีก็ถือว่าเพียงพอแล้ว สำหรับการใช้งานเท่าที่จำเป็น หรือเกินกว่านั้นนิดหน่อย ยกตัวอย่างเช่นระบบ ADAS ที่แม้ฟังชันก์จะน้อยกว่า แต่ก็หมายความว่าผู้ใช้ไม่ต้องปวดหัวกับค่าบำรุงรักษาในระยะยาว ซึ่งคนทำงานรุ่นใหม่อย่างเราๆที่ยังมีเงินเดือนไม่สูงมากนัก ควรระวังเรื่องนี้ไว้ก่อน จะดีกว่า
ดังนั้น ถ้าตัดเรื่อง หน้าตา, ความคล่องตัว, พื้นที่ภายในห้องโดยสาร, และสมรรถนะของตัวรถ ที่ดีด้อยไปคนละแบบ
หากคุณเป็นคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างให้ความสำคัญในเรื่องลูกเล่นล้ำๆ ตามฉบับรถยนต์ไฟฟ้า และไม่ได้ติดขัดเรื่องการชาร์จไฟ (อาจจะมีบ้านเป็นของตนเอง ซึ่งสามารถติดตั้งตู้ชาร์จที่บ้าน แล้วใช้ได้เลย ไม่ต้องแย่งใคร) การเลือก BYD Dolphin Standard Range อาจเป็นตัวเลือกที่ใช่สำหรับคุณ
แต่หากคุณคือคนที่ต้องพักอาศัยในหอพัก หรือคอนโด การใช้รถยนต์ไฟฟ้า แทบจะกลายเป็นหนังคนละม้วนกับกลุ่มก่อนหน้า เพราะคุณต้องคำนวนระยะทางให้ดี และกว่าจะได้ชาร์จรถแต่ละที ก็อาจจะต้องไปตบตีแย่งชิงที่ชาร์จกับชาวบ้าน ให้เสียเวลาพักผ่อนก่อนเข้านอนอีก
การเลือก Honda City จึงน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะกับคุณมากกว่า ไม่ใช่แค่ด้วยเหตุผลในข้างต้น แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินกับรถขึ้นมา
และในกรณีที่คุณมีรถยนต์เพียงคันนี้เพียงคันเดียว ที่ไม่ใช่แค่ต้องใช้ในเมืองเท่านั้น แต่ยังต้องเผื่อว่าสักวันจะใช้มันเดินทางไปต่างจังหวัดไกลๆด้วย การเลือกรถที่สามารถเข้าศูนย์บริการซึ่งมีที่ตั้งครอบคลุม หรือไม่เช่นนั้น จะเข้าอู่นอกที่ส่วนใหญ่ ยังไงก็สามารถเช็คและแก้ไขอาการเบื้องต้นของรถคุณได้ เจ้า City ก็ยิ่งตอบโจทย์คุณขึ้นไปอีก
สุดท้ายนี้ ก็ลองช่างใจกันดูครับ ว่าลึกๆแล้ว คุณคือมนุษย์วัยทำงานรุ่นใหม่ ที่มีโจทย์การใช้ชีวิตแบบไหน เหมาะกับรถคันใดมากกว่ากัน ?