ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมการขับรถไปแคมป์ปิ้งในประเทศญี่ปุ่นดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และ Subaru Chiffon Try ที่ทุกคนเห็นอยู่ตอนนี้ก็เกิดมาเพื่อตอบโจทย์นั้น
ย้อนไปใน 2 เจเนอเรชันก่อนหน้า Subaru Chiffon Try คือรถเคคาร์ที่มาพร้อมกับหน้าตาเรียบง่าย เน้นการใช้งานทั่วไปสำหรับคนเมือง แต่สำหรับตัวรถเจเนอเรชันที่ 3 แม้ว่ามันจะยังคงสร้างขึ้นโดยใช้พื้นฐานร่วมกับ Daihatsu Tanto เช่นเดิม แต่ในคราวนี้ทางค่ายกลับเลือกปรับงานออกแบบมันใหม่ให้ดูทนมือทนเท้าเหมาะเข้าไปเจอทางกรวดเล็กๆและกิ่งไม้ตามรายทางมากขึ้น
กล่าวคือ คราวนี้ นอกจากการปรับงานออกแบบไฟหน้าและไฟท้ายใหม่ ตามจังหวะของการปรับโฉม แต่มันยังมาพร้อมกับชุดกันชนหน้าแบบใหม่ซึ่งทำให้ตัวรถดูบึกบึนกว่าเดิม ทั้งจากเหลี่ยมสัน และการใช้วัสดุพลาสติกด้านเป็นกรอบกันชน แถมยังมีแถบกันกระแทกสีเงิน ทางด้านหน้า
นอกจากนี้ชุดประตูด้านหน้าแบบบานพับปกติ และด้านหลังแบบบานสไลด์ไฟฟ้า ยังมีการติดตั้งแถบกันกระแทกบริเวณครึ่งล่าง และด้านบนยังมีการติดตั้งแร็คหลังคาสำหรับบรรทุกของสัมภาระเพิ่มอีก เช่นเดียวกับกันชนท้ายที่ใช้วัสดุพลาสติกด้านบริเวณขอบตัวถังซ้าย-ขวา เพื่อบ่งบอกภาพลักษณ์และจุดประสงค์ในการใช้งานอย่างชัดเจน
ท้ายสุดเรื่องงานออกแบบภายนอก ก็คือการเพิ่มเฉดสีใหม่ระหว่างสี Lake Blue Metallic ซึ่งดูสดไสสะดุดตา หรือ Forest Khaki Metallic ซึ่งช่วยเสริมภาพลักษณ์ความรักษ์ป่ารักษ์เขาได้เป็นอย่างดี
ภายในห้องโดยสารเน้นการใช้งานง่าย ด้วยปุ่มกดที่ไม่ดูวุ่นวายนัก และยังเพิ่มความโดดเด่น หรือความสนุกด้วยการติดตั้งชิ้นส่วนตกแต่งสีส้มเข้าไปตัดโทนคอนโซลหน้าและแผงข้างประตู และเพื่อความทันสมัย ตรงกลางคอนโซลหน้าจึงเป็นที่ตั้งของชุดหน้าจออินโฟเทนเมนท์ขนาด 9 นิ้ว ส่วนชุดหน้าจอมาตรวัดก็เป็นแบบจอสี Full Digital ติดตั้งไว้เหนือคอนโซลด้านหน้าผู้ขับ
นอกจากนี้ ตัวเบาะนั่งทั้ง 4 ยังถูกหุ้มด้วยวัสดุผ้ากันน้ำ ถูกใจสายแคมป์ปิ้ง โดยที่เบาะหลังยังสามารถขยับเดินหน้า-ถอยหลัง ได้มากสุดอีกกว่า 240 มิลลิเมตร เพื่อการปรับขนาดพื้นที่เก็บสัมภาระ หรือทำเป็นเตียงนอนได้สะดวกสบายมากขึ้นด้วย
ด้วยความเป็นรถเคคาร์ ดังนั้นมันจึงมาพร้อมกับขุมกำลังเครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบเรียง ที่มีขนาดความจุเพียง 660cc และสามารถทำกำลังสูงสุดได้เพียง 52 PS กับแรงบิดสูงสุดอีก 60 นิวตันเมตร ซึ่งอาจจะดูน้อยพอสมควร แต่ก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของรถยนต์กลุ่มนี้
ส่วนระบบส่งกำลังเอง ก็เป็นชุดเกียร์อัตโนมัติ CVT และแม้จะเห็นเป็นตัวรถขนาดเล็ก แต่หากลูกค้ารู้สึกว่าระบบขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า ยังไว้วางใจได้ไม่มากพอ สำหรับการขับบนทางเปียก หรือถนนลื่น ก็ยังสามารถเลือกตัวรถที่มาพร้อมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อได้ด้วย แต่เป็นออพชันที่ต้องเสียเงินเพิ่มอีกราวๆ 110,000 เยน หรือราวๆ 25,000 บาท จากราคารถตั้งต้นที่สนนตัวเลขเพียง 1,665,000 เยน หรือราวๆ 375,000 บาท