การแข่งขัน Super Taikyu ถือเป็นหนึ่งในเวทีประลองสำคัญที่ทาง Toyota ใช้ในการทดสอบรถยนต์ของพวกเขาเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรถยนต์ร่างต้นแบบที่มาพร้อมกับขุมกำลังสันดาปภายในแต่มีเชื้อเพลิงเป็นก๊าซไฮโดรเจน
และแม้ในปี 2023 ที่ผ่านมา ทาง Toyota จะพึ่งมีการเปลี่ยนผ่านตัวแข่งจาก Toyota GR Yaris เป็น Toyota GR Corolla แถมยังมีการเปลี่ยนรูปแบบเชื้อเพลิง จากก๊าซไฮโดรเจน เป็น ไฮโดรเจนเหลว ซึ่งมีความหนาแน่นเชิงพลังงานมากกว่า ทำให้รถสามารถวิ่งได้ไกลขึ้นจากปริมาตรถังจุเชื้อเพลิงที่เท่ากันแล้ว
แต่เนื่องจากเทคโนโลยีในส่วนอื่นๆ ยังคงถูกออกแบบไว้เพื่อทำงานร่วมกับการใช้เชื้อเพลิงแบบก๊าซไฮโดรเจนอยู่ ทำให้ล่าสุดในการแข่งขันปี 2024 ทาง Toyota ก็ได้มีการตัดสินใจปรับปรุงตัวรถเพิ่ม โดยเน้นการเสริมทั้งความทนทาน และระยะทางในการวิ่งให้มากกว่าเดิม และเหมาะกับการใช้งานร่วมกับเชื้อเพลิงแบบไฮโดรเจนเหลวมากกว่าเดิมด้วย
เริ่มจาก การปรับปรุงกลไกปั๊มเชื้อเพลิงใหม่ ให้มีความทนทานยิ่งขึ้น โดยจากเดิมที่จะเป็นปั๊มแบบลูกสูบชักซึ่งขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ไฟฟ้าแบบเฟืองเดี่ยว ซึ่งในการใช้งานจริง ตัวลูกปืนรับแรงกระทำจากแรงดันของก๊าซไฮโดรเจนที่คลายตัวออกมาจากสถานะของเหลวระหว่างถูกถ่ายจากถังเก็บเชื้อเพลิงก่อนเดินทางผ่านตัวปั๊มไปยังหัวฉีดเข้าเครื่องยนต์นานๆไม่ไหว
เมื่อประกอบกับการที่แรงกระทำซึ่งส่งมาจากลูกสูบไปยังตลับลูกปืนของเฟืองขับไม่สม่ำเสอ ทำให้เมื่อใช้งานไปได้เพียงไม่นาน ตัวลูกปืนในฟันเฟืองขับมักเกิดความเสียหายจนไม่สามารถใช้งานต่อได้อย่างรวดเร็ว จนทางทีมช่างต้องเปลี่ยนปั๊มฯตัวนี้ทุกๆ 8 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับว่าพวกเขาต้องเสียเวลาในส่วนนี้ถึง 3 รอบ ต่อ 1 การแข่งขัน (1 การแข่งขัน แข่งกัน 24 ชั่วโมง)
มาในคราวนี้ ทางวิศวกร ก็ได้มีการออกแบบปั๊มใหม่ โดยทำการเพิ่มเฟืองขับข้อเหวี่ยงก้านสูบปั๊มเข้าไปอีก 1 ชุด รวมเป็น 2 ชุด ประกบหน้า-หลังกับตัวข้อเหวี่ยงก้านสูบปั๊ม ทำให้มันสามารถรองรับแรงกระทำได้สูงขึ้น และมีระยะเวลาในการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ซึ่งทาง Toyota ระบุว่าในคราวนี้ทีมช่างไม่จำเป็นต้องปวดหัวกับการเปลี่ยนปั๊มฯทั้งชุดอีกต่อไป เพราะมันจะสามารถใช้งานได้แบบลูกเดียวจบจนหมดการแข่งขัน 24 ชั่วโมงแน่นอน
การปรับปรุงเรื่องที่ 2 คือการปรับเปลี่ยนรูปทรงถังเก็บไฮโดรเจนเหลวใหม่ ให้สามารถจุไฮโดรเจนเหลวได้มากขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นถังทรงกระบอกกลม ความจุ 150 ลิตร ซึ่งสามารถจุไฮโดรเจนเหลวได้ทั้งหมด 10 กิโลกรัม ก็กลายเป็นถังทรงกระบอกวงรี ความจุ 220 ลิตร ที่สามารถจุไฮโดรเจนเหลวได้มากขึ้นเป็น 15 กิโลกรัม
และด้วยความสามารถในการจุเชื้อเพลิงที่มากขึ้นกว่าเดิม 1.5 เท่า จึงทำให้การเติมไฮโดรเจนเหลวเต็มถังคราวนี้ จะสามารถใช้วิ่งรอบสนามแข่ง Fuji Speedway ซึ่งยาว 4.563 กิโลเมตร/รอบ ได้ราวๆ 30 รอบ จากเดิมที่เคยทำได้ 20 รอบ หรือหากคิดเป็นระยะทาง ก็เท่ากับว่ามันจะสามารถวิ่งได้ไกลสุด 135 กิโลเมตร จากเดิมที่เคยทำได้ 90 กิโลเมตร ต่อเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเหลวหนึ่งถัง
และท้ายสุด คือการปรับปรุงชุดระบบกรองและดักคาร์บอนจากบรรยากาศใหม่ โดยคราวนี้ได้มีการเพิ่มระบบปรับเปลี่ยนโหมด การดัก หรือ แยกคาร์บอน ออกจากอากาศ ได้เองแบบอัตโนมัติเข้าไป เพื่อให้มันสามารถทำงานได้อย่างเหมาะสมแม้กระทั่งในระหว่างแข่งขัน จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ ทีมช่างจะต้องเป็นคนคอยปรับโหมดการทำงานของมันเองด้วยมือทุกครั้ง เมื่อรถกลับเข้ามาสู่พิทเท่านั้น
ทั้งนี้ ข้อมูลการปรับปรุงทั้งหมด ที่ฟังดูแล้วเหมือนเป็นการพัฒนาที่มีความเปลี่ยนแปลงในทางบวกพอสมควร แต่ในการใช้งานจริง กลางสนามแข่งขันจริงๆ จะเป็นผลสำเร็จตามทฤษฎีที่เหล่าวิศวกร Toyota คำนวนไว้หรือไม่ ? รออัพเดทข้อมูลกันไได้เลยในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้