ผลการศึกษาคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย ประจำปี 2560 โดย เจ.ดี. พาวเวอร์ (J.D. Power 2017 Thailand Initial Quality StudySM (IQS)) เปิดเผยในวันนี้ว่า จำนวนปัญหาที่เกิดขึ้นต่อรถยนต์ 100 คัน (PP100) ที่เจ้าของรถยนต์ใหม่รายงานเข้ามา ทำสถิติต่ำสุดในปีนี้ โดยปัญหาลดลงในทุกหมวดหมู่ ยกเว้นปัญหาจากภายในรถยนต์
ค่าเฉลี่ยคุณภาพรถใหม่โดยรวมอยู่ที่ 83 PP100 ในปี 2560—ลดลง 4 ปัญหา จาก 87 PP100 ในปี 2559—และถือเป็นการทำผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดของอุตสาหกรรมนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการศึกษาในปี 2543
ปัญหาทั้งหมดได้ถูกนำมาสรุปผลเป็นจำนวนปัญหาที่พบต่อรถยนต์ใหม่ 100 คัน (ในที่นี้ เรียกว่า PP100) โดยรถยนต์รุ่นใดที่ได้คะแนน PP100 ต่ำกว่า แสดงว่ารถยนต์รุ่นนั้นเกิดปัญหาน้อยกว่าหรือ รถรุ่นนั้นมีคุณภาพที่สูงกว่า
จากการศึกษาในปีนี้ ระบุว่า คุณภาพรถยนต์ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นหรืออย่างน้อยก็สามารถรักษาคุณภาพไว้ในระดับเดิมในทุกหมวดหมู่ ยกเว้นปัญหาจากภายในรถยนต์ เนื่องจากยังมีการรายงานปัญหาที่เกี่ยวกับคุณภาพของวัสดุภายในห้องโดยสาร รวมทั้งเสียงรบกวนหรือเสียงกอกแกกจากแผงหน้าปัดและแผงข้างประตู อย่างไรก็ตาม ปัญหาภายนอกรถยนต์ยังคงเป็นปัญหาที่มีการรายงานเข้ามาบ่อยที่สุด เมื่อเทียบกับปัญหาในหมวดหมู่อื่นๆ ของรถยนต์
ศิรส สาตราภัย ผู้จัดการ เจ.ดี. พาวเวอร์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “จากการที่ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ทวีความดุเดือดในการแข่งขันเพื่อรักษา และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในสถานการณ์ที่ตลาดในประเทศยังอยู่ในภาวะทรงตัว การพัฒนาคุณภาพสินค้าจึงเป็นส่วนที่ต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญ”
“นับเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ที่ได้รับรถยนต์ที่มีการออกแบบและการผลิตที่ดีขึ้นในราคาที่ใกล้เคียงกันกับปีก่อน เป็นที่น่าสังเกตว่าสาเหตุของความไม่พอใจที่มาจากความยากในการใช้งานเริ่มมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะปัญหาภายในรถยนต์ ซึ่งกลายมาเป็นหมวดหมู่ที่มีอิทธิพลลำดับสองที่ส่งผลต่อความพีงพอใจโดยรวมในคุณภาพรถยนต์ปีนี้ รองจากปัญหาที่เกิดจากประสบการณ์การขับขี่”
ลูกค้าที่รถยนต์มีปัญหาคุณภาพที่น้อยกว่า มีความตั้งใจที่จะเก็บรถของพวกเขาไว้ใช้งานเป็นระยะเวลาที่นานกว่า — การศึกษานี้พบว่า เจ้าของรถยนต์ที่คาดว่าจะเก็บรถยนต์ของตนไว้ใช้งานมากกว่า 5 ปี ประสบปัญหาเพียง 79 PP100 โดยเฉลี่ย เทียบกับ 103 PP100 ในกลุ่มเจ้าของรถยนต์ที่คาดว่าจะเก็บรถยนต์ไว้ใช้งานเพียง 5 ปี หรือน้อยกว่า ยิ่งกว่านั้น กลุ่มแรกมีความเป็นไปได้มากกว่าที่พวกเขาจะแนะนำรุ่นรถและแนะนำแบรนด์รถยนต์ที่ใช้อยู่ให้ผู้อื่นอย่างแน่นอน เมื่อเทียบกับกลุ่มหลังที่มีความเป็นไปได้น้อยกว่า
นอกจากนี้ในการสำรวจของ JD Power ยังพบ 3 ปัญหาสำคัญที่ส่งผลถึงความพึงพอใจต่อคุณภาพรถ ได้แก่
1.การอธิบายการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆ: เจ้าของรถยนต์ที่ได้รับการอธิบายถึงการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆ ในรถยนต์อย่างละเอียดในวันส่งมอบรถรายงานปัญหาน้อยกว่าเจ้าของรถยนต์ที่ไม่ได้รับการอธิบาย (83 PP100 ต่อ 91 PP100 ตามลำดับ)
2.สมรรถนะเครื่องยนต์: ปัญหาที่มีรายงานเข้ามาบ่อยที่สุดในปี 2560 เทียบกับปี 2559 ได้แก่ ปัญหาเครื่องยนต์ไม่มีกำลัง/ อืด เมื่อสตาร์ทรถครั้งแรกของวัน, หลังจอดรถ หรือที่ความเร็วต่ำ (รายงานอยู่ที่ 2.6 PP100 ในปี 2560 จาก 1.4 PP100 ในปี 2559) ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของปัญหาที่มีการรายงานเข้ามาบ่อยที่สุดในการศึกษาปี 2560
3.คุณภาพส่งผลต่อความภักดี: ความภักดีและความตั้งใจในการกลับมาซื้อแปรผันตรงกับความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อคุณภาพโดยรวมของรถยนต์ โดย 77% ของเจ้าของรถยนต์ที่พอใจเป็นอย่างมากกล่าวว่า พวกเขาจะแนะนำรุ่นรถที่ใช้อยู่ “อย่างแน่นอน” และ 67% กล่าวว่าพวกเขาจะกลับมาซื้อรถยนต์แบรนด์เดิมอีก “อย่างแน่นอน” ส่วนเจ้าของรถยนต์ที่ผิดหวังหรือรู้สึกเฉยๆ กับคุณภาพรถยนต์ของตัวเอง มีเพียง 42% ที่กล่าวว่าจะแนะนำรุ่นรถยนต์ที่ใช้อยู่แก่ผู้อื่น และมีเพียง 30% ที่จะกลับมาซื้อรถยนต์แบรนด์เดิมอีก
ทั้งนี้การศึกษาวิจัยครั้งนี้ พบว่า ฟอร์ด ครองคุณภาพรถยนต์ใหม่ทั้งในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดใหญ่ และกระบะ ได้แก่ เอเวอเรสต์ (56 PP100) ในประเภทรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่; เรนเจอร์ ไฮไรเดอร์ เอ็กซ์–แค๊ป (80 PP100) ในประเภทรถกระบะตอนขยาย; และเรนเจอร์ ดี–แค๊ป (60 PP100) ในประเภทรถกระบะ 4 ประตู
โตโยต้า ครองคุณภาพทางด้านรถนั่ง ได้แก่ ยาริส (76 PP100) ในประเภทรถยนต์ขนาดเล็ก; วีออส (54 PP100) ในประเภทรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น; และโคโรล่า อัลติส (46 PP100) ในประเภทรถยนต์ขนาดกลาง
ส่วนฮอนด้า เอชอาร์–วี (62 PP100) ครองอันดับหนึ่งในประเภทรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดเล็ก
ทั้งนี้ ผลการศึกษาคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย (IQS) ประจำปี 2560 ได้จากการประเมินคำตอบของเจ้าของรถยนต์คันใหม่ 4,866 รายที่ซื้อรถยนต์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถกระบะ และรถยนต์อเนก-ประสงค์ จำนวน 76 รุ่น จากทั้งหมด 12 ยี่ห้อ โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกันยายน 2560
การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาถึงปัญหาต่างๆ ที่เจ้าของรถยนต์ใหม่ประสบในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยการศึกษานี้ได้สอบถามถึงปัญหามากกว่า 200 รายการ จากทั้งหมด 8 หมวดหมู่ (โดยเรียงลำดับตามจำนวนของปัญหาที่มีการรายงานเข้ามา); ได้แก่ ปัญหาภายนอกรถยนต์; ปัญหาเครื่องยนต์/ ระบบเกียร์; ปัญหาจากประสบการณ์การขับขี่; ปัญหาภายในรถยนต์; ปัญหาจากระบบฮีท-เตอร์, ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์ (HVAC); ปัญหาเครื่องเสียง, ความบันเทิงและระบบนำทาง (ACEN); ปัญหาจากอุปกรณ์, ปุ่มควบคุม และแผงหน้าปัด; และปัญหาจากที่นั่ง