ท่ามกลางช่วงเวลาที่คู่แข่งในตลาดรถสปอร์ต 2 ที่นั่งขับหลังขนาดเล็กอย่าง Toyota GR86 / Subaru BRZ พากันอัพเกรดเครื่องยนต์ จนได้พละกำลังที่มากขึ้น และได้กระแสตอบรับกลับไปได้เป็นอย่างดี ฝั่ง Mazda MX-5 กลับดูเหมือนว่าจะไม่มีทีท่าเลยสักนิด ว่ามันจะถูกพัฒนาไปในแนวทางนั้น
จากการให้สัมภาษณ์กับสื่อ Carbuzz ของ Dave Coleman หนึ่งในวิศวกรทีมพัฒนารถ Miata MX-5 ของ Mazda ระบุว่า แม้คู่แข่ง ที่อาจะไม่ได้ชนกันโดยตรง แต่ก็เป็นกลุ่มรถสปอร์ต 2 ที่นั่ง ขับเคลื่อนล้อหลัง ขนาดเล็กเหมือนกัน อย่าง Toyota GR86 กับ Subaru BRZ จะมาพร้อมกับเครื่องยนต์ที่ให้พละกำลังทะลุหลัก 200 แรงม้าไปแล้ว แต่ทางฝั่งค่ายของตนเอง กลับไม่มีแววว่าจะอัพเกรดความแรงให้กับรถสปอร์ตของตนเองเลยสักนิด
“รถ Miata คือระบบ (ที่ถูกออกแบบไว้เสร็จสรรพแล้ว), รถทั้งคันถูกออกแบบไว้เพื่อกำลังที่มี(เท่านี้)เท่านั้น” Coleman กล่าว “คือถ้าเกิดจู่ๆ, เราเพิ่มเครื่องยนต์ที่แรงขึ้น แล้วก็ตามด้วยระบบบเบรกที่ใหญ่กว่าเดิม, ผลกระทบแบบลูกบอลหิมะ (ที่เมื่อกลิ้งจากภูเขาสูงแล้วจะยิ่งกินหิมะรอบข้างแล้วใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ) ก็จะเกิดขึ้น”
“ถ้าเราทำแบบนั้น มันก็จะไม่ให้ความรู้สึกแบบ Miata อีกต่อไป, มันไม่ได้หมายความว่าถ้ามันมีพละกำลังที่มากขึ้นในตนเองแล้วจะแย่, แต่มันคือการแลกเปลี่ยน(ตัวตนดั้งเดิม), คุณค่าที่เราสร้างนั่นคือความเบา(ของ Miata)คือสิ่งที่คุณ(อาจ)จะสูญเสียมันไป”
ทั้งนี้ ใช่ว่า Mazda MX-5 จะไม่เคยได้รับการอัพเกรดความแรง เพราะก่อนหน้านี้ ตอนปรับโฉมเมื่อปี 2019 จากเดิมที่เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบเรียง Skyactiv 2.0 ลิตร เคยมีแรงม้าที่ราวๆ 155 HP ก็ถูกปรับใหม่จูนแรงขึ้นเป็น 181 HP
แต่เหตุผลที่ทาง Mazda ตัดสินใจอัพเกรดเครื่องยนต์ครั้งนั้น กลับไม่ใช่เพราะต้องการเพิ่มกำลังให้กับมันเพียงอย่างเดียว ทว่าเป็นเพราะพวกเขาอยากเพิ่มความสนุกสนานให้กับผู้ใช้ด้วยการเพิ่มรอบเครื่องยนต์สูงสุด หรือเรดไลน์ให้มากขึ้นมากกว่า หรือว่าง่ายๆก็คือ แท้จริงแล้วพละกำลังที่เพิ่มขึ้น เป็นผลพลอยได้จากความอยากเพิ่มเรดไลน์ของเครื่องยนต์มากกว่า
“จุดประสงค์จริงๆของการปรับปรุงเครื่องยนต์คือการเพิ่มเรดไลน์เพื่อประสบการณ์การขับขี้ และความไหลลื่นในการต่อเกียร์ที่ 7,500 รอบ/นาที” Coleman กล่าว “แรงม้า 26 ตัว(ที่เพิ่มมา) แค่เกิดขึ้นเพราะคุณเพิ่มย่านกำลังให้ถึงเรดไลน์ก็เท่านั้น, มันไม่เคยถูกระบุเจาะจงในแผน หรือเอกสารเลย, ในท้ายที่สุด เราแค่พูดว่า, เห้ย มันได้แรงม้าเพิ่มขึ้นมา 26 ตัว (แล้วไปขยี้เรื่องรอบเครื่องยนต์มากกว่า)”
Coleman ยังระบุอีกว่า การใส่เทอร์โบเข้าไปในตัวรถ MX-5 รุ่นปัจจุบัน ก็ทำไม่ได้ด้วยเช่นกัน เพราะเครื่องยนต์ลูกปัจจุบัน เน้นที่อัตราการตอบสนอง ซึ่งไม่เหมาะกับการใส่เทอร์โบเข้าไป มันไม่ใช่สิ่งที่บริษัทต้องการ ถ้าต้องลดอัตราการตอบสนองลง
หรือหากต้องใช้เทอร์โบลูกเล็ก แต่มันก็จะทำงานได้ไม่ดีในช่วงรอบเครื่องยนต์สูงๆอีก การใส่เทอร์โบเข้าไปใน Mazda MX-5 จึงไม่เคยอยู่ในแผนงาน(ตอนท้ายสุด)เลยนั่นเอง