แม้เครื่องยนต์โรตารี จะได้ฤกษ์กลับมาอีกครั้ง ในตัวรถ Mazda MX-30 R-EV ที่พึ่งถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อไม่นานมีนี้ แต่ด้วยความที่มันยังมีอยู่เพียงในฐานะเครื่องปั่นไฟ จึงทำให้นั่นยังไม่ใช่สิ่งที่ Mazda พึงพอใจในสิ่งที่เป็นเท่าไหร่นัก
มนต์สน่ห์ของเครื่องยนต์โรตารี แท้จริงแล้วมีอยู่หลายข้อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบกันทำงานที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เพราะไม่ได้ใช้ลูกสูบที่เคลื่อนไหวในทิศทางขึ้น-ลง เป็นเส้นตรง แต่ใช้ลูกสูบสามเหลี่ยมที่หมุนวนภายแบบโรเตอร์, ความสามารถทางกลไก ที่ทำให้มันสามารถสร้างพละกำลังได้มหาศาล ในปริมาตรกระบอกสูบที่เล็กกว่า และใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่า กระทัดรัดกว่า และเบากว่าเครื่องยนต์ทั่วๆไป
ดังนั้น แม้การกลับมาของเครื่องยนต์โรตารีครั้งล่าสุดนั้น จะเป็นการกลับมาแค่เพียงในฐานะเครื่องปั่นไฟให้กับมอเตอร์ไฟฟ้า แต่ทาง Mazda ก็ยังคงศึกกษาความเป็นไปได้ ที่จะทำรถสปอร์ตซึ่งมีขุมกำลังเป็นเครื่องยนต์รอบจัดเสียงแสบหูนี่ว่านี้อยู่
“โรตารี คือสัญลักษณ์ของเรา” Yoshiaki Noguchi ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยและพัฒนาขุมกำลังของ Mazda กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ Autocar “มันคือความฝันของเหล่าวิศวกรใน Mazda ที่จะทำรถสปอร์กับเครื่องยนต์โรตารี”
แต่ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบัน ด้วยข้อบังคับทางกฏหมาย และทิศทางการตลาด จึงทำให้ทาง Mazda จำเป็นต้องทุ่มกำลังทั้งเงินทุน และมันสมองของวิศวกรในการทำรถไฟฟ้าให้ได้เสียก่อน จึงจะกลับมาทำเครื่องยนต์โรตารีให้สมบูรณ์พอสำหรับการเกิดใหม่ ในฐานะขุมกำลังหลักของตัวรถ
“ตอนนี้มันยังไม่ใช่เวลาของมัน, แต่หากสถานการณ์ของบริษัทดีขึ้นกว่านี้มาก (หมายถึงการทุ่มพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้สมบูรณ์ก่อน), เราก็จะกลับมาคิดถึงความฝันนี้อีกครั้ง”
และอย่างที่เหล่าสาวกพอจะทราบกัน ว่าแม้เครื่องยนต์โรตารีจะมีข้อดีในเรื่องการสมรรถนะและสุ้มเสียงมากแค่ไหน แต่ในทางกลับกัน มันก็มีข้อเสียในเรื่องของอัตราสิ้นเปลือง ที่ส่งผลถึงค่าการปล่อยมลพิษ และความทนทาน จนเป็นเหตุให้ต้องถูกยกเลิกการผลิตไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน
จึงทำให้ใครหลายคนต่างสงสัยว่าแล้วเหตุใดทำไมทาง Mazda ถึงสามารถนำเครื่องยนต์รูปแบบนี้กลับมาใช้ได้อีกครั้ง กับรถยนต์ที่เน้นความรักษณ์โลก ด้วยเทคโนโลยีลูกผสมแบบไฮบริดอย่าง MX-30 R-EV ?
จากคำถามในข้างต้น Noguchi ระบุว่า ทางวิศวกรต้องพัฒนารถโดยมีความท้าทายถึง 3 ประการใหญ่ๆด้วยกัน เริ่มจากความประหยัด ที่ตัดสินใจแก้ด้วยการใช้ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสู่ห้องเผาไหม้โดยตรง หรือเทคโนโลยีระบบ Direct Injection, ไล่เบาเสื้อสูบ(โรเตอร์)ด้วยการเปลี่ยนมาใช้วัสดุอลูมิเนียม, เพิ่มอัตราส่วนกำลังอัดเป็น 11.9 : 1 (เครื่องยนต์ Rotary ที่ทำขายจริงลูกสุดท้ายก่อนหน้านี้ ในรถ RX-8 มีอัตราส่วนกำลังอัดภายในห้องเผาไหม้ที่ 10 : 1)
และแน่นอน สิ่งสุดท้ายก็คือการเพิ่มความหนาของตัว Apex Seal รวมถึงปรับปรุงสารเคลือบใหม่เพื่อความทนทาน และยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ให้ยาวนานขึ้น ซึ่งเราก็หวังว่ามันจะเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เครื่องยนต์โรตารี สามารถถูกนำกลับมาใช้งานได้จริงอีกครั้ง ในฐานะขุมกำลังหลักของรถสปอร์ตตัวจี๊ดสักคัน ไม่ใช่แค่ขุมพลังให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าของรถเอสยูวีขนาดเล็กอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้