แม้จะมีการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้วถึง 2 รุ่น แต่ทาง Mazda กลับยังไม่มีโรงงานที่ไว้ผลิตแบตเตอรี่โดยเฉพาะของตนเองเพื่อใช้งานกับรถยนต์กลุ่มนี้เลยสักแห่ง
แต่จากการรายงานข้อมูลล่าสุด ทาง Mazda ระบุว่า ในเร็วๆนี้ พวกเขาจะมีการก่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ในประเทศญี่ปุ่นเพิ่ม โดยจะเป็นโรงงานที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าของแบรนด์โดยเฉพาะ ซึ่งถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญมากเลยทีเดียว เนื่องจากมันเป็นตัวบ่งบอกได้อย่างดีว่าในที่สุดทางค่ายก็จะได้มีความพร้อมสักทีสำหรับการลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่มีการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแค่เพียง 2 รุ่น ในประเทศจีน, โซนอเมริกาเหนือ, ยุโรป และอีกไม่กี่ประเทศเท่านั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยอาศัยแค่เพียงแบตเตอรีจากเหล่าซัพพลายเออร์เพียงอย่างเดียว
โดยโรงงานใหม่แห่งนี้ จะถูกก่อตั้งขึ้นในเมืองอิวาคุนิ จังหวัดยามากูชิ ซึ่งจะเน้นการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน เซลล์กระบอกที่ทาง Mazda ร่วมกันพัฒนาขึ้นมากับทางบริษัท Panasonic Evergy ที่ชาวไทยหลายคนรู้จักกันดี โดยหากโรงงานงานแห่งนี้มีการเปิดไลน์ผลิตอย่างเต็มกำลัง ก็คาดว่ามันจะสามารถผลิตแบตเตอรี่ได้มากสุดถึง 10 กิกะวัตต์ชั่วโมงเลยทีเดียว
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือตัวแบตเตอรี่ที่ถูกผลิตในโรงงานแห่งนี้ จะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานร่วมกับรถยนต์ไฟฟ้าที่ทางค่ายทำตลาดไปแล้วก่อนหน้านี้ทั้ง 2 รุ่น ทว่าจะมีไว้เพื่อใส่ในรถยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่ ที่ทางค่ายสร้างขึ้นและพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาใหม่เอง
ซึ่งแม้ในเอกสารรายงานล่าสุด ทางค่ายจะไม่ได้บอกช่วงเวลาการเปิดตัวรถที่แน่ชัด แต่ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก นาย Masahiro Moro ผู้บริหารสูงสุดของแบรนด์ก็ได้เคยออกมาเปรยคร่าวๆไว้แล้วว่าแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ของแบรนด์จะถูกพัฒนาจนแล้วเสร็จได้ในปี 2027 โดยมันจะมาพร้อมกับทั้ง “งานออกแบบขั้นสูง, ความสะดวกสบายขั้นสุด, และระยะทางในการใช้งานต่อชาร์จที่ไกลกว่า”
โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่ทาง Mazda มีวางจำหน่ายในปัจจุบัน ก็จะประกอบไปด้วย Mazda MX-30 รถครอสโอเวอร์ไฟฟ้าไซส์ใกล้เคียง Mazda CX-30 แต่มาพร้อมกับหน้าตาที่ดูบึกบึน และทันสมัยมากกว่า ซึ่งอันที่จริงมันก็เคยถูกนำมาโชว์ตัวในประเทศไทยของเราแล้วหลายครั้ง แต่ทางผู้บริหารก็ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะระบุว่ามันมีโอกาสถูกนำมาทำตลาดในบ้านเรามากน้อยแค่ไหน
หรือไม่แน่ว่ามันอาจไม่มีโอกาสจะนำมาทำตลาดในไทยเลยก็ได้ เนื่องจากระยะทางในการใช้งานสูงสุดต่อชาร์จเพียง 200 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น ของมันยังดูน้อยไปมาก เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนิยมคันอื่นๆของชาวไทย
ส่วนอีกโมเดลคือ Mazda EZ-6 ซึ่งเป็นรถซีดานไฟฟ้าแบบซีดาน ที่มีขนาดตัวใกล้เคียงกับรถซีดานกลุ่ม C-Segment และแท้จริงแล้ว มันก็คือรถที่ถูกสร้างขึ้นโดยใช้แพลตฟอร์มร่วมกับรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ในเครือ Changan อย่าง Deepal L07 ด้วย และเบื้องต้น มันคือรถที่ถูกทำขึ้นมาเพื่อวางจำหน่ายในประเทศจีนเท่านั้น จึงยังไม่มีความเป็นไปได้ใดๆเช่นกันที่มันจะถูกนำมาทำตลาดในประเทศไทย
ดังนั้นสำหรับใครที่สนใจรถยนต์ไฟฟ้าจาก Mazda จึงอาจจะต้องรอกันอีกยาว อย่างน้อยก็จนกว่าตัวรถยนต์ไฟฟ้าแพลตฟอร์มใหม่ที่ใช้แบตเตอรี่จากโรงงานใหม่ในญี่ปุ่นแห่งนี้พร้อมสำหรับการวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เพราะไม่แน่ว่ารถอาจจะถูกนำมาขึ้นไลน์ผลิตในไทย โดยใช้แบตเตอรี่ที่ถูกควบคุมคุณภาพโดยตรงจากโรงงานในญี่ปุ่นเองก็เป็นได้ ซึ่งเราก็ทำได้แค่ต้องรอดูความเคลื่อนไหวกันต่อไปเท่านั้นจากนี้