Home » Mitsubishi Xforce HEV … ช่วงล่างเซทจบ เครื่องยนต์ รอท้าพิสูจน์
Bust First Drive รีวิว

Mitsubishi Xforce HEV … ช่วงล่างเซทจบ เครื่องยนต์ รอท้าพิสูจน์

ปีนี้ นับเป็นปีที่ค่ายรถยนต์ต่างพยายามเดินเกมสู่ศึกในตลาดรถยนต์อเนกประสงค์อย่างหนักหน่วง หนึ่งในแบรนด์ที่เราคาดไว้แล้วว่าต้องมาในปีนี้ นั่นคือ Mitsubishi กั บรถยนต์อเนกประสงค์ B-SUV , Mitsubishi Xforce ของพวกเขา ที่ขายในหลายตลาดอาเซียน ไปแล้วก่อนหน้านี้

Mitsubishi Xforce HEV

การเปิดตัว Mitsubishi Xforce HEV ในไทยเป็นครั้งแรกในโลก ได้สร้างกระแสให้คนกลับมามองมิตซูบิชิอีกครั้ง โดยเฉพาะทุกคนต่างรู้ดีอยู่เต็มอกกว่า มิตซูฯ เก่งในการทำรถยนต์อเนกประสงค์มาช้านาน การมาของรถยนต์ครอสโอเวอร์รุ่นนี้นับเป็นการเดินเกมที่น่าสนใจ แม้ว่าพวกเขาต้องฝ่าด่านอรหันต์ทั้งรถยนต์จากจีน หรือแม้แต่เพื่อนร่วมชาติกลุ่มนี้ Honda HR-V เป็นราชันย์ทางด้านยอดขายไปพร้อมกับ Toyota Yaris Cross

จุดกำเนิดของ Mitsubishi Xforce มาจากเรือนร่างตัวต้นแบบที่ชื่อว่า Mitsubishi xfc concept ทางมิตซูบิชิ หมายมั่นปั้นมือในการทำตลาดรถแนวนี้ในทางอาเซียน หลังเข้าไปอยู่ใต้ปีกนิสสันแล้วมองเห็นลู่ทางในการสร้างแบรนด์ที่ไม่ต้องบินไกลไปถึงอเมริกาและยุโรป

Xforce ถ้าย้อนลงไป บรรพบุรุษของมันคือ Mitsubishi ASX ซึ่งชื่อของมัน ย่อมาจากคำว่า Active Sport Crossover รถรุ่นนี้ขายในช่วง 2012-2017 ในหลายประเทศในอาเซียน แต่บ้านเราดันไม่ยอมนำมาขาย

ผมยังจำได้ตอนมีโอกาสขับรถข้ามไปยังมาเลเซีย เห็นครั้งแรกมันเป็นรถทีน่าสนใจ ขนาดกำลังดี มีความเหมือนกับ Lancer หน้าปลาฉลาม น่าแปลกที่มันไม่ยอมมาขาย ทั้งที่ตลาดรถยนต์อเนกประสงค์เล็กในไทยก็เฟื่องฟูในยุคดังกล่าว จนเปิดตลาดให้กลายเป็นตลาดใหญ่อย่างวันนี้

ตัวรถลุคสปอร์ต

ถ้าเปรียบเทียบกับเจ้าตลาด อย่าง Honda HR-V และ Toyota Yaris Cross ที่ได้รับความนิยม

งานออกแบบของ Mitsubishi Xforce นำเสนอภาพความสปอร์ตมากกว่า และมันตรงจริตคนเอเชียอย่างเราๆท่านๆ ไม่มากก็น้อย

สาเหตุ มาจากการวางหมากให้รถรุ่นนี้ทำตลาดในทางอาเซียนเท่านั้น ยังไม่มีนโยบายขายในภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากรถคันนี้เกิดจากการศึกษาตลาดทางอาเซียนโดยตรง ที่มีความคิดเห็นคล้ายๆกัน ในหลายๆอย่าง

จุดที่ผมชอบ นั่นคือ งานออกแบบตัวรถทางด้านหน้า แม้ว่าเห็นแวบแรก เราจะรู้สึกว่า ทำไมคนญี่ปุ่นชอบออกแบบรถมาสไตล์หน้าบึ้ง ดีไซน์เหมือนแอบโกรธนาย เห็นมาแล้ว 3 แบรนด์ ส่วนใหญ่มาแนวนี้ทั้งหมด เว้น ฮอนด้าที่หน้าตาจะเป็นสไตล์ค่อนข้างไปทางคิกขุ เว้นตัว RS ที่จะได้หน้าตาโทนสปอร์ต ไม่ใช่โทนหน้าบึ้ง

หน้าตา X Force ยังมีความเป็น Mitsubishiness รวมถึงงานออกแบบ Dynamic Shield อยู่บ้าง แต่ทอนความเข้มแข็งลงให้ความรู้สึกปราดเปรียวสปอร์ตมากกว่า ภายใต้การออกแบบที่เรียกว่า “Solid X Sleek”

ถ้าแปลความให้เข้าใจง่าย Solid คือ เส้นที่เป็นสันดูแข็งแกร่ง แต่มันถูกนำมายำกับความ sleek อันหมายถึง ความปราดเปรียว

ความแปลกนี้เห็นได้ตั้งแต่ จมูกหน้าที่ยื่นออกมา คล้ายความรู้สึกรถสปอร์ต และในส่วนของชุดไฟหน้าที่แยกสัดส่วนไฟหรี่และไฟใหญ่เหมือนเดิม ชายล่างที่ทำให้ดูแข็งแกร่งบึกบึน

เส้นสายในรายละเอียดรวมๆ จะออกไปในทางสปอร์ตปราดเปรียวมากกว่า B-SUV รุ่นอื่น เป็นหน้าตาที่เห็นแล้วเกททันที ว่า นี่ รถมิตซูบิชิ แน่นอน

ทางด้านข้างทุกรุ่นได้ล้อขอบ 18 นิ้ว ติดตัวมาเลย ล้อออกแบบให้มีลายตัน ที่จริงแล้วมันทำแบบนี้เพื่อหลักอากาศพลศาสตร์ แต่เมื่อก้านล้อใหญ่ดูแล้วแข็งแรงน่าใช้ มันย่อมาพร้อมน้ำหนักที่มากด้วย

จุดที่น่าสนใจของรถรุ่นนี้จริงๆ น่ะหรือ คือ ช่วง หลังเสา C ตรงช่วงประตูหลัง มีงานออกแบบที่ทำให้มันดูเหมือนมีความ Wide Body มีเส้นไหล่ ที่ออกแบบมาเพิ่มความรู้สึกกว้างให้กับตัวรถ ยิ่งใครซื้อหรือสนใจตั้งแต่ รุ่น Ultimate ขึ้นมา ซึ่งจะมีทางเลือกหลังคาทูโทน มันจะยิ่งดูสปอร์ตมากขึ้น เนื่องจากช่วงหลังคาสีดำจะทำตัดออกมาแบบ floating Roof

ด้านหลังเติมความสปอร์ต ด้วยไฟท้ายรมดำ เป็นโคมสโมคที่เราไม่เคยเห็นในรถรุ่นอื่นมาก่อน ตัวไฟทำออกมาเป็น T Shape รับเข้ากับรายละเอียดทางด้านหนเา ฝาท้ายทำให้มีความกึ่งแบนมีเส้นสันชัดเจน

ตอนแรกมองเผินๆเส้นนี้ จะคล้ายๆ กับ Mitsubishi Mirage จนคุณขยี้ตา อ้อนี่มัน XForce ต่างหากแอบเหมือนเบาๆ

ไหนๆ ก็พูดถึงเรือนร่างรถแล้ว ถ้าเราลองเปรียบกับ คู่แข่งรายสำคัญ Honda HR-V e:HEV เราจะพบว่า มันมีความยาวกว่า +43 มม. กว้างกว่า +20 มม.​สูงกว่า +60 มม.​และมีระยะฐานล้อยาวกว่า +40 มม.​ และมิติตัวรถ ของ X Force ยังเอาชนะ Toyota Yaris Cross ได้ด้วย เรียกว่าใหญ่ที่สุดในคลาส แทบจะสุดกราฟ เท่าที SUV B จะมอบให้ได้

ภายในเน้นทันสมัย

เปิดประตูมาดูภายในห้องโดยสาร เมื่อกวาดสายตาไปในห้องโดยสาร Mitsubishi XForce HEV คุณจะพบบางอย่างที่คุ้นตา

อย่างเช่น จอเรือนไมล์คนขับขนาด 8 นิ้ว เห็นปุ๊ป ก็รู้ทันที ว่า มาจากการหยิบยืมจากทั้ง Pajero Sport และ Xpander นอกจากนี้ บรรดา แผงแอร์,​คันเกียร์ ,​ปุ่มสตาร์ท ต่างๆ หลายอย่างก็เริ่มคุ้นหน้าค่าตาเช่นกัน จนรู้สึกเหมือนเป็นการเอาของมายำรวมๆ กัน

ถ้าจะถามว่าใหม่หมดจริงๆ คงเป็นจอระบบความบันเทิงขนาด 12.3 นิ้ว มันใหญ่ที่สุดในคลาสรถ B-SUV แน่ๆ

ไม่เพียงเท่านี้ลูกเล่นในจอนี้ ยังครบเครื่องหลายฟังชั่นที่คุณสามรรถเลือกได้ตามต้องการ โดยเฉพาะส่วนที่น่าสนใจสายขับ คือการติดตั้งระบบ Aveonics มาให้

Mitsubishi Xforce HEV

มันคือฟังชั่นจับเอาข้อมูลต่างของระบบคอมพิวเตอร์ในรถมาแสดงผลให้คุณได้รับรู้กันชัดๆ ไปเลย เสมือนคุณมีเกจ OBDII ที่นิยมมากในบรรดาขาซิ่ง แต่คันนี้มีมาให้เลย และค่อนข้างจะบอกรายละเอียดได้มากพอสมควรเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมี Off Road Meter มาให้ บอกค่า มุมไต่,มมจาก และรวมถึง ยังมี ตำแหน่งการหมุนพวงมาลัยอีกด้วย

ถ้าคุยเรื่องความบันเทิงตัวจอนี้ก็ยังรองรับการเชื่อมต่อไร้สายในทั้ง Apple Car Play และ Android Auto และยิ่งถ้าคุณใช้กล้อง 360 องศาในระหว่างการขับขี่ ความละเอียดจอจัดว่าไม่ธรรมดา มันบอกค่าชัดเจนและใหญ่สะใจ กว่ารถทุกรุ่นที่คุณเคยขับมาในกลุ่มนี้แน่นอน

Mitsubishi Xforce HEV

ไฮไลท์สำคัญ​ของภายในห้องโดยสารใน Mitsubishi xforce HEV อยู่ที่ระบบเครื่องเสียงในตัวท๊อป Ultimate -X ที่มาพร้อมกับเครื่องเสียงจาก Yamaha พกลำโพงมาทั้งสิ้น 8 ตำแหน่ง แต่ไม่มี SubWoofer เสียอย่างงั้น

ชุดลำโพงนี้ทางมิตซูบิชิ มอเตอร์ และ ยามาฮ่า ได้ร่วมกันทำงานตั้งแต่การออกแบบภายในห้องโดยสาร แตกต่างจากค่ายอื่น นี่ไม่ใช่การที่มิตซูบิชิเดินไปบอกยามาฮ่าว่า เฮ้!! ขอซื้อลำโพงมาใส่รถเราหน่อย แต่เป็นการทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น เพื่อให้มิติเสียงดีขึ้น เพิ่มความสุนทรีย์แก่ผู้ใช้มากขึ้น

ทุกอย่างถูกออกแบบให้อยู่ในจุดที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางตำแหน่งลำโพง ,​ การออกแบบและซับเสียงช่วงแผงประตู รวมถึง การพัฒนาตระแกรง ที่มีความพิเศษเฉพาะรุ่น บางกว่าเพื่อให้การเปล่งออกมาทำได้ดีกว่า

แค่นั้นไม่พอในจอเครื่องเสียง มันจะยังมาพร้อมกับ Preset 4 ค่า อาทิ Lively, Powerful ซึ่งแต่ละโหมดก็จะเหมาะกับรูปแบบเพลงที่แตกต่างกัน (ควรเลือกให้เหมาะกับความต้องการของเราเอง)

โดยส่วนตัว,ผมเป็นคนฟังเพลงหนัก แนว Rock เสียส่วนใหญ่ แม้ว่ารถคันนี้จะไม่มีลำโพงเฉพาะเบส หรือ ซับวูฟเฟอร์ มาให้ แต่พอกด Powerful เล่นเพลงจากวงโปรด Linkin Park ก็ทำได้ดีในระดับนร่าประทับใจ เบสพอมีให้ได้รู้สึกตึ๊บๆ เร้าอารมณ์ ถึงจะทำได้ดีในระดับที่น่าพอใจ ในใจก้ยังอยากให้มันมีซับวูฟเฟอร์มาให้อยู่ดี

ทางด้านเบาะนั่งเป็นอีกเรื่องที่โดดเด่นไม่แพ้กัน แอบแปลกใจที่เบาะคู่หน้าทำออกมาค่อนข้างสูงนิดหน่อย เหมือนจะพยายามทำให้มันมีความรู้สึกสัมผัสเหมือนรถ MPV ข่าวดีคือตอนนี้เบาะคนขับ เป็นปรับไฟฟ้า 8 ทิศทางเรียบร้อย สว่นทางผู้โดยสารตอนหน้ายังเป็นปรับมืออยู่เหมือนเดิม

ตัวเบาะทำออกมาค่อนข้างใหญ่ นั่งแล้วแอบรู้สึกคล้ายรถ SUV คลาสใหญ่กว่าบางรุ่นติดเพียงท่ามันนั่งสูงไปหน่อยในความเห็นส่วนตัวของผม

เบาะตอนหลัง การโดยสารทำออกมาได้ดีน่าประทับใจ เบาะนั่งหลังมีขนาดใหญ่ไม่พอยังเสริมที่รองนั่งค่อนข้างหนา เน้นความสบายฝยการโดยสารจริงจัง พนักผิงหลังสามารถปรับเอนได้ 8 ระดับ เอาไว้ขิงคนอื่นได้แน่ แต่ความจริงในการใช้งานเราอาจจะใช้แค่ตั้งนั่งโดยสาร เอนนอน และ เอนหลัง เท่านั้น แต่ใช่ 8 ระดับทำให้คุณมีจังหวะมากกว่าคนอื่น ก็เท่านั้นเอง

พูดถึงการเอนอีกสิ่งที่น่าสนใจ คือ เบาะนั่งหลังของ XForce ออกแบบให้ปรับพับได้ในอัตรา 40/20/40 เป็นครั้งแรกในรถกลุ่มนี้ แต่ !!! การพับ 20 นั้น มันจะติดกับทางเบาะฝั่งขวา แถม ตรง 20 นั้น เป็นหนักเท้าแขนและช่องวางแก้วน้ำที่ไม่สามารถปิดได้

เมื่อพับ มันไม่ได้ราบเรียบ อย่างที่หลายคนอาจจะหวังไว้ โดยเฉพาะ สายจักรยานที่คงมองว่าพับแล้ว น่าจะพอวางจักรยานได้ โดยไม่ต้องพับเบาะหลังลง จนสุดท้ายผมกะด้วยสายตา ยังไงก็ควรพับเบาะลงฝั่งหนึ่งจะดีกว่า

หากถามว่าการโดยสารตอนหลัง ผมชอบอะไร ตอบตามตรงเลย ชอบพื้นที่การโดยสารที่ค่อนข้างกว้างขวางใหญ่ ทั้งพื้นที่เหนือหัว ,​พื้นที่วางขา และ ช่วงตัว โดยเฉพาะช่วงตัวนั้น มาจากการออกแบบแผงประตูเว้นหลบผู้โดยสาร นอกจากนี้ ที่วางแขน ยังทำมาดีสมดุล ระหว่างซ้ายและขวา

แล้วอย่างสุดท้าย คนตัวใหญ่ขึ้นลง รถคันนี้ค่อนข้างสะดวกมากๆ เนื่องจากประตูบานหลังเปิดได้ค่อนข้างกว้างพอสมควร ช่วยให้การขึ้นลงสะดวกกว่าเดิม

การพัฒนาและวิศวกรรม

ใต้เรือนร่าง Mitsubishi XForce HEV มาพร้อม โครงสร้างตัวถังแบบ Monoque ตามสไตล์รถอเนกประสงค์ประเภท ครอสโอเวอร์

จุดเด่นสำคัญในรุ่นนี้ เมื่อเทียบกับที่ขายในหลายตลาดอาเซียน คือ มันเป็นรุ่นแรกและในวันนี้ไทยยังเป็นรุ่นเดียวที่มาพร้อมกับระบบขับเคลื่อนไฮบริด Mitsubishi e:Motion

ระบบนี้หลายคนอาจคุ้นเคยตั้งแต่เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ไปเมื่อปีที่แล้ว ใน Mitsubishi Xpander HEV ในรายละเอียดระบบโดยส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม ไม่ว่ามันจะมาพร้อมเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.6 ลิตร รหัส 3A92 หรือจะเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า ที่มีกำลังขับเพียง สูงสุด 116 PS และแรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร

แต่ในหนนี้ ทางมิตซูบิชิ บอกกล่าวอย่างเต็มปากว่า ระบบไฮบริด ใน Mitsubishi Xforce เป็นคนละเจนเนอร์เรชั่นกัน กับตั ว Xpander ซึ่งประเด็นก็มาจากการปรับปรุงรายละเอียดทางเทคนิคหลายประการ

ข้อสำคัญของความแตกต่างมาจากการปรับปรุงชุดเกียร์จากเดิมมาใช้ลูกใหม่ โดยเกียร์ใหม่ล่าสุดที่มาจากผู้ผลิต Aisin มีอัตราทด 2 จังหวะ คือ ต่ำและ สูง (คล้ายใน Honda HR-V) ใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า ส่งกำลังลงล้อ

โดยจากข้อมูลของทาง มิตซูบิชิ ระบบใหม่นี้ จะทำงานในรูปแบบ ไฮบริดคู่ขนานได้มากขึ้น ใน 2 จังหวะสำคัญ คือการขึ้นทางลาดชัน และ การขับขี่ด้วยความเร็วคงที่ (Cruising)

ในการขึ้นทางลาดชันจะใช้อัตราทดในจังหวะ Low ส่วนการขับในทางราบความเร็วสูง ตัวเกียร์จะเปลี่ยนมาใช้ในจังหวะ High นอกจากนี้บางจังหวะยังสามารถปลดคลัทช์ ที่ต่อเข้ากับมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อลดการทำงานได้ด้วย

ไม่เพียงเท่านี้เครื่องยนต์แม้ว่าแพ็คเกจจะเหมือนเดิม แต่ทางมิตซูบิชิชี้แจงว่า ตอนนี้ทางบริษัทปรับจูนใหม่ จน Thermal Efficient สูงถึง 40% หรือ จะพูดให้เข้าใจง่ายที่สุด ตัวเครืองยนต์มีความสามมรถในการใช้ประโยชน์จากพลังงานในน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น เผาไหม้สะอาดขึ้น จนผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ ยูโร 6 B และหากเราดูจากตัวเลขแรงม้า จะพบว่า มันมีกำลังมากขึ้นเป็น 107 แรงม้า สูงสุดที่ 6,000 รอบต่อนาที และให้แรงบิดสูงสุด 134 นิวตันเมตรเท่าเดิม

ด้านแบตเตอร์รี่ไฮบริดยังไม่คงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มาพร้อมLithium-ion ความจุ 1.1 kWh เหมือนที่เคยประจำใน Xpander HEV

เรื่องการควบคุมและการขับขี่ เซทติ่งตัวรถไม่ได้ทำให้เราแปลกใจด้วย ระบบพวงมาลัยผ่อนแรงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าส่วนช่วงล่าง ก็เซทมาตามมาตรฐานของ B-SUV คือ ด้านหน้าแม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม

แต่ ทางมิตซูบิชิ ทำการบ้านหนักมาในเรื่องช่วงล่างและการควบคุม มีการทดสอบจริงบนถนน หรือ Road Test ไปมาแล้วทั่วไทย ในระยะแสนกว่ากิโลเมตร เพื่อให้มั่นใจว่านี่น่าจะเป็นช่วงล่างที่ดีที่สุด

ดังนั้น ถ้าสรุปจุดต่าง ระหว่างระบบที่มีอยู่ใน Xpander HEV เทียบกับ XForce มีดังนี้

  1. เครื่องยนต์พละกำลัง 95 แรงม้าเป็น 107 แรงม้า และสามารถทำ Thermal Efficient ได้สูง 40%
  2. ชุดเกียร์มี 2 จังหวะ (มี Low และ High)จากเดิมจังหวะเดียว
  3. มอเตอร์ไฟฟ้ามีการปรับให้ชุดคลัทช์สามารถ Disconnect ได้ เพื่อลดภาระการหน่วงของมอเตอร์ไฟฟ้า
  4. มีการปรับปรุง มอเตอร์กำเนิดไฟฟ้าให้มีขนาดเหมาะสม และรวมระบบมอเตอร์ขับเคลื่อน ชุดส่งกำลัง ให้อยู่ในแพ็คเกจเดียวกัน
  5. ปรับปรุงระบบจัดการพลังงานและควบคุมความร้อนของแบตเตอร์รี่ ให้ดีกว่ารุ่นเดิม

ดังนั้น มันเป็นคนละเจนหรือไม่ ผู้อ่านลองพิจารณากันดูครับ

การทดลองขับ

การทดลองขับในวันนี้ เป็นการขับทดสอบในภาวะสนามทดสอบ โดยมีด่านต่างๆมากมาย แต่รวมๆ จะเน้นไปที่การทดสอบ การควบคุม และช่วงล่าง หรือ เราเรียกว่า Handling เป็นหลัก มากกว่าพละกำลังของเครื่องยนต์

ก่อนลองขับ ทางมิตซูบิชิ ส่ง พี่คนหนึ่ง ชื่อ “พี่ชาย” ขึ้นมานั่งเป็นบัดดี้ผม จนคุยไปคุยมา ผมถึงมารู้ภายหลังว่า แกเป็นคนที่พา Xforce ท่องทั่วไทย ทดสอบรถเพื่อเก็บค่าและให้ข้อมูลในการปรับปรุงช่วงล่าง

ในด่านแรกจะเป็นด่านทดสอบ Mini Circuit หลักๆ เพื่อดูการตอบสนองช่วงล่างและการโคลงตัว เป็นสำคัญ

ก่อนจะออกตัว เราได้รับคำแนะนำให้ใช้โหมด Normal ค่ามาตรฐานของรถคันนี้ ซึ่งใน Xforce ก็ยังมี 7 โหมดการขับขี่ เหมือนกับใน Xpander แบ่งเป็น 5 โหมด ถนน 2 โหมดลุย

โหมดถนน ยังแบ่งเป็นโหมด EV ได้แกj EV Priority และ Charge นอกนั้นจะมี ในส่วน Normal , Tarmac (เทียบเท่า สปอร์ต) และ ถนนลื่ม

ส่วน 2 โหมดลุย คือ Gravel กับ Mud ซึ่งเราจะได้ลองในงวดนี้ด้วยครับ

Mitsubishi Xforce HEV Review

ออกตัวครั้งแรกกับ X Force ภายใต้ภาวะนั่ง 2 คน น้ำหนักน่าจะมี ราวๆ 170 กก. ได้ รถค่อนข้างพุ่งแต่ไม่ถึงกับหลังติดเบาะ มันยังมีความนิ่มนวลไม่สปอร์ตมุทะลุ จนเกินงาม

งวดนี้ยังไม่ได้ทดลองอัตราเร่ง 0-100 ก.ม./ช.ม.​แต่จากที่ลองเหยียบดูในหลายรอบ ในช่วงใช้งานทั่วไป 50-120 ค่อนข้างจะตอบสนองได้ดี ด้วยการทำงานผสานระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า

ในเรื่องการตอบสนองการขับขี่ ในโหมด Normal รถจะเซทออกมากลางๆ แอบสปอร์ตนิดๆ ไม่ถึงกับนุ่มสบาย ตามสไตล์ค่ายมิตซูบิชิ

รอบต่อมา ผมเปลี่ยนเป็นโหมด Tarmac ทางพี่ชายไขข้อสงสัยผมหมดจด แกบอกคำว่า Tarmac ใช้ครั้งแรกใน Mitsubishi Evolution มาตอนนี้ใช้แทนคำว่า สปอร์ต นั่นแหละ

พอกดปุ๊ปออกตัวปั๊ป กล้าพูดว่ามันแตกต่างอย่างชัดเจน ปกติ ในแต่ละโหมดของรถหลายรุ่นจะปรับเพียง การตอบสนองระบบขับเคลื่อน ,​คันเร่ง แต่ มิตซูบิชิปรับทั้งพวงมาลัย และการตอบสนองของระบบควบคุมการทรงตัว รวมถึง AYC ด้วย

โค้งแรกกำลังมาถึง พอยกคันเร่งปุ๊ป การตอบสนองรีเจนหนักหน่วงกว่าโหมดปกติ ผมได้รับคำอธิบายว่า พอเข้าโหมดนี้เกียร์จะเข้าในโหมด B แทน D เพื่อให้มีการหน่วงมากที่สุด การขับในช่วงแรกแทบจะเหมือนผมขับรถในระบบ One Pedal เพียงยกแล้วเข้าโค้งได้เลย ไม่ต้องเบรก เวhนโค้งแคบ โค้ง ก.ไก่ ที่ต้องใช้ความเร็วที่เหมาะสมในการขับขี่ จะไเ้ไม่ลงไปกินหญ้าข้างทาง

ในโหมดนี้ พวงมาลัยจากหนักขึ้นเล็กน้อย การตอบสนองพวงมาลัยคมขึ้นมาจากการปรับ AYC ตอบสนองเร็ว ขึ้น อาการรถจะค่อนข้างไปทางหน้าจิก เวลาเข้าโค้งแค่ถอนคันเร่ง เอาความเร็วตามเหมาะสม คัดพวงมาลัย แล้วเดิมคันเร่งได้เลย ทำให้ความสนุกในการขับขี่ดีขึ้น

พอมาถึงทางตรง จังหวะเร่ง การตอบสนองทำได้ค่อนข้างเร็วกว่า Normal พอตัว ถ้าเราจุ่มคันเร่ง ณ จุดเดียวกัน Tarmac จะไปไวกว่า อยู่ประมาณหนึ่ง

ทางด้านระบบกันสะเทือนไม่ว่าขับในโหมดไหน นี่เป็นสิ่งเดียวที่ไม่ได้ปรับให้ความแตกต่าง ช่วงล่างของ Xforce มาในทางเฟิร์มมั่นใจ

ในความเฟิร์มมันยังมีความนุ่มในระดับที่น่าพอใจ เวลาโยนโค้ง รถจะมีอาการโคลงตัวค่อนข้างน้อย แต่ยังมีอยู่บ้างถ้าคุณเข้าโค้งด้วยความเร็ว แต่การโคลงตัวจะมาในแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมาจากการใช้ระบบควบคุมกระจายแรงบิดระหว่างล้อซ้าย-ขวา AYC (Active Yaw Control) เข้าช่วยในระหว่างการเข้าโค้ง

ที่จริงระบบนี้ทำงานอยู่แล้วตลอดเวลา แต่การตอบสนองจะเร็วช้านั้น ขึ้นอยู่การปรับโหมดของผู้ขับขี่ ใน Tarmac จะไวกว่ามาก ทำให้รถควบคุมได้ดั่งใจมากกว่า

ลองคลุกฝัุ่นก็สนุกไปอีกแบบ

แม้ว่า Mitsubishi Xforce HEV จะพัฒนาขึ้นมาเป็นครอสโอเวอร์ ไม่ได้เน้นเพื่อการลุย แต่มิตซูบิชิ ไม่ลืมจะใส่ความสามารถให้มัน แม้ว่านี่คือรถอเนกประสงค์ขับเคลื่อนสองล้อหน้าก็ตามที

โหมด Garvel เป็นอีกหนึ่งที่ผมได้ลองขับในครั้งนี้ ในสนามทดสอบสั้นๆ หลังปรับโหมด พวงมาลัยจะมีน้ำหนักกลางๆ ไม่หนักมากเท่า Tarmac แต่หนักกว่า Normal อยู่บ้าง AYC ถูกทำให้ตอบสนองไว ส่วนอัตราเร่งเหมือนกับ Normal

ในทางแบบนี้ เมื่อใช้ความเร็ว จะเกิดอาการลื่นไถลได้ง่าย นั่นคือสาเหตุที่ AYC ต้องทำงานอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับ พวงมาลัย ตอบสนองเร็วไม่แพ้กัน ทำให้แก้อาการได้ว่องไว เมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์

การตอบสนองคันเร่ง แม้จะใกล้เคียงกับ Normal แต่มีความหน่วงกว่าในการปล่อยพลัง จะมีมากกว่า เพื่อไม่ให้รถลื่นไถลตรเกินงาม ในระหว่างที่เรากำลังหวดมันไปทางสมบุกสมบัน

ส่วนช่วงล่างให้ความมั่นใจ การซับการสะเทือนในทางแบบทำได้ดีเกินหน้าตา โช๊คไม่มีอาการยัน มันค่อนข้างมีช่วงยืดยุบยาว แต่ถ้าถามหาความสบายก็พอมีให้บ้าง ไม่ได้มีความกระด้างมาก แต่ก็ไม่ได้นุ่มแบบพรมวิเศษ

สรุปเบื้องต้น Mitsubishi xForce HEV โดดเด่นที่ช่วงล่าง แต่ต้องขับถนนดูก่อน

วันนี้กับสัมผัสแรก Mitsubishi Xforce HEV ความโดดเด่นของมันนั้นอยู่ที่การตอบสนองของระบบช่วงล่าง ซึ่งพัฒนาออกมาได้ค่อนข้างจบ กับลักษณะถนนเมืองไทย

การใช้เวลาหลายเดือนในการทดสอบ ปรับปรุงให้เข้าที่ทำให้ในวันนี้ ถ้าจะเลือกรถครอสโอเวอร์กลุ่มนี้สักคันไปซิ่งบนถนน นี่คือตัวเลือก ที่ผมจะเลือกไปขับอย่างแน่นอน

Mitsubishi Xforce HEV Review

อย่างไรก็ดี,​ด้วยช่วงล่างที่มีความค่อน้ขางมาทางเฟิร์มขับมั่นใจ ในแบบมิตซูบิชิ มันก็ยังตอบสนองในการโดยสารได้ดีในระดับหนึ่ง แต่จะสู้เจ้าตลาดได้ไหม วันนี้ยังไม่สามารถตอบได้เนื่องจากเป็นการทดสอบในสนามจำลองไม่ใช่บนถนน ที่มีพื้นผิวหลายแบบมากกว่า

นอกจากนี้ ในส่วนของเครื่องยนต์ เท่าที่ขับ ระบบตอบสนองได้ดีในระดับหนึ่ง ถึงจะไม่ได้วัด 0-100 ก.ม/ช.ม​แต่ก็ขับสนุกไม่แพ้เจ้าตลาด ซึ่งถ้ามีโอกาสวัสด 0-100 รวมถึง วัดอัตราประหยัดในภาวะการขับขี่จริงคงจะบอกได้มากกว่านีี้อย่างชัดเจน

แม้ว่า เรื่องสมรรถนะวันนี้บอกได้คร่าวว่าๆ ขับดี มีดีเอ็นเอ มิตซูบิชิอย่างเปี่ยมล้น และช่วงล่างที่มั่นใจ รวมถึงบุคคลิกที่มีความหลากหลายในคันเดียวมากกว่า B-SUV รุ่นอื่นในตลาด

แต่สิ่งที่ตอบได้ในวันนี้ชัดๆ คือ มันเป็นรถที่ดีไซน์สวยงาม และขับดีเหมือนหน้าตาไม่แพ้ใคร ถ้าเทียบกับเจ้าตลาด เจ้านี่น่าสนใจกว่าเยอะ โดยเฉพาะความสามารถในการขับขี่ที่มีอย่าง้ฃเปี่ยมล้น โดยเฉพาะใครที่ชอบขับรถเร็วเน้นความมั่นใจ คันนี้จบๆเลย

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.