Boi สยบข่าว นิสสันปิดโรงงงานที่ 1 ในไทย ชี้ นิสสัน ลงทุนเพิ่ม เตรียมผลิตรถยนต์ไฮบริดรุ่นใหม่ ออกขายในปี 2569 ด้านนิสสันชี้ ความเข้าใจคาดเคลื่อน แค่ปรับโรงงาน 1 เป็นโรงงานตัวถัง
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภายหลังจากทราบข่าว การเตรียมปิดโรงงานแห่งที่ 1 ในประเทศไทย บีโอไอได้หารือกับ นายโทชิฮิโระ ฟูจิกิ ประธานบริษัทนิสสัน ภูมิภาคอาเซียน และนิสสัน ประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โดยผู้บริหารของนิสสันได้ชี้แจงว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการรวมสายการผลิต (Line Integration) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุน และเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการและปรับโครงสร้างธุรกิจทั่วโลกของนิสสัน โดยจะเป็นการรวมกระบวนการผลิตรถยนต์บางส่วนจากโรงงานที่ 1 ซึ่งเป็นโรงงานดั้งเดิมที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ไปยังโรงงานที่ 2 ที่อยู่ในพื้นที่ติดกัน ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2557 พร้อมทั้งจะดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพสายการผลิต
ส่วนโรงงานที่ 1 จะถูกปรับให้เป็นโรงงานประกอบตัวถังและปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วน รวมถึงงานโลจิสติกส์ภายในโรงงาน ขณะที่การประกอบรถยนต์ของนิสสัน จะไปรวมอยู่ที่โรงงานที่ 2 ซึ่งนิสสันเตรียมเริ่มดำเนินการตามแผนตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป ความพยายามดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการปรับลดต้นทุนคงที่ในการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสม และเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในประเทศไทย
นอกจากนี้ ผู้บริหารของนิสสัน ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยจะยังคงเป็นตลาดสำคัญของนิสสันในภูมิภาคอาเซียน โดยฐานการผลิตในไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในอาเซียนที่นิสสันเป็นผู้ลงทุนเอง อีกทั้งยังใช้ประเทศไทยเป็นฐานของสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) เพื่อกำกับดูแลกิจการในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนด้วย บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเติบโต พัฒนาแบรนด์และธุรกิจในตลาดอาเซียนและประเทศไทยต่อไป โดยมีแผนจะลงทุนเพิ่มเติม เพื่อผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในประเทศไทย ซึ่งมีแผนจะเปิดตัวในช่วงปี พ.ศ. 2569 – 2570 และจะขอรับการส่งเสริมตาม “มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งจะมีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับการผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) เหลือร้อยละ 6 – 9 มีผลตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2569 – 2575)
สำหรับ มาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฮบริด (HEV) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้
(1) ต้องมีการลงทุนในไทยเพิ่มเติม ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ภายในปี 2570
(2) ต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ เช่น Traction Motor, Reduction Gear, Inverter, BMS, DCU ตั้งแต่ปี 2571
(3) ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (ADAS) อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ
(4) ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สูงสุดไม่เกิน 120 g/km โดยกรณีปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 6 และกรณีปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101 – 120 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 9
“รัฐบาลและบีโอไอมุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โดยเฉพาะ กลุ่มบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้ลงทุนในไทยมายาวนานกว่า 50 ปี เพื่อให้ยังคงมีความสามารถในการแข่งขัน และสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างราบรื่น เห็นได้จากการที่บอร์ดอีวีและบีโอไอได้ออกมาตรการ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น BEV, PHEV, HEV และ MHEV โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์แห่งอนาคตของภูมิภาคและของโลก” นายนฤตม์ กล่าว
ทางด้าน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ได้ ส่งแถลงการณ์ ออกชี้แจง ความคาดเคลื่อนในการนำเสนอข่าว ของหลายสำนัก โดยมีข้อความ ว่า
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการฟื้นฟูกิจการทั่วโลกของนิสสันและการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่กำลังดำเนินการในภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย
นิสสันจะทำการรวมกระบวนการผลิตรถยนต์บางส่วนจากโรงงานที่ 1ไปยังโรงงานที่ 2 ในประเทศไทย และดำเนินการปรับปรุงสายการผลิตซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2025
ภายใต้แผนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนคงที่และเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในประเทศไทย
โรงงานที่1 จะยุติการประกอบรถยนต์ โดยจะถูกปรับให้เป็นโรงงานประกอบตัวถัง ประกอบชิ้นส่วนพลาสติก และปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วนรวมถึงงานโลจิสติกส์ภายในโรงงาน
ทั้งนี้ประเทศไทยจะยังคงเป็นตลาดสำคัญของนิสสันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเติบโต และพัฒนาแบรนด์และธุรกิจ ในตลาดอาเซียน และประเทศไทยต่อไป
ที่มา Boi– Nissan