แม้ “เทคโนโลยีระบบขับขี่อัตโนมัติ” จะถูกพัฒนามาไกลจนใครหลายคนมองว่าการทำให้มันสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ อาจใช้เวลาอีกไม่นาน แต่ทาง Nvidia บริษัทยักษ์ใหญ่ในโลก IT กลับไม่ได้คิดเช่นนั้น
จากบทสัมภาษณ์ของ Ali Kani หัวหน้าแผนกเทคโนโลยียานยนต์ของ Nvidia เปิดเผยกับสื่อฯดังสัญชาติอังกฤษอย่าง AutoCar ถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “เทคโนโลยีระบบขับขี่อัตโนมัติ” ว่ามันยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกไกล และ “ไม่ปรากฏให้เห็นกันในทศวรรษนี้” กว่าที่จะสามารถวางใจให้มันทำงานแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์
“มันคือการเดินทางของทศวรรษหน้า, ตอนนี้เรายังทำได้ไม่ใกล้เคียงเลย, มันยากมากจริงๆ” Ali กล่าว
และแม้ผู้ผลิตรถยนต์บางรายเช่น Elon Musk จาก Tesla ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีระบบขับขี่อัตโนมัติได้ดีกว่าใคร จะบอกว่าบริษัทของเขาสามารถทำมันได้สำเร็จแน่นอนภายในสิ้นทศวรรษนี้ก็ตาม แต่ Ali ก็มองว่ามันยังต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆจากปัจจุบันอีกมากเพื่อให้มันสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทฺธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น เพื่อให้สอดรับกับตัวซอฟท์แวร์ที่ถูกเขียนขึ้นมาใหม่อยู่ตลอด
“ตัวซอฟท์แวร์ที่เราพัฒนาขึ้นมาใหม่ในตอนนี้ มีความแตกต่างจากซอฟท์แวร์ที่เราพัฒนาไว้เมื่อปีก่อนมาก” Ali กล่าว “ตอนนี้เราสร้างมันขึ้นด้วยชุดคำสั่งภาษาขนาดใหญ่, เหมือน ChatGPT ที่คุยด้วยคลิปวิดีโอ, และไม่มีใครเคยทำมันมาก่อนในโลกยานยนต์เมื่อสามปีที่แล้ว”
“เพราะการออกแบบโมเดล(ซอฟท์แวร์)ในลักษณะนี้ต้องใช้พละกำลังในการคำนวน(จากชิปคอมพิวเตอร์)สูง, และต้องใช้แบนด์วิทความจำในการคำนวนสูง, คุณต้องใช้เซนเซอร์มากขึ้นทั้ง LiDar และเรดาร์, และคุณยังต้องคอยปรับชุดความคิด(อัลกอริทึม)ของโปรแกรมให้มีความปลอดภัยและเข้ากับอุปกรณ์ที่มี ซึ่งทั้งหมดต้องทำงานคู่ขนานกันไปและหมายความว่ามันยิ่งต้องใช้พลังในการคำนวน(จากชิปประมวลผล)ที่มากขึ้นไปอีก” ซึ่งดูเหมือนว่ามันฮาร์ดแวร์เหล่านี้ก็อาจจะยังดีไม่พอสำหรับชุดซอฟท์แวร์ใหม่ที่พวกเขาคิดขึ้นมา
และด้วยความที่มันคือระบบซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้ควบคุมยานพาหนะ ดังนั้นโอกาสที่ผู้ผลิตจะปล่อยให้มันเกิดข้อผิดพลาดจึงต้องเป็นไปได้น้อยมากๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ เพราะหากมันทำให้เกิดอันตรายขึ้นมาแม้แต่นิดเดียว ก็อาจจะส่งผลเสียต่ออุตสากรรมในภาพรวมเป็นวงกว้าง
ดังนั้น นาย Ali จึงมองว่า นอกจากการต้องพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรัดกุมแล้ว ทางผู้ผลิตก็ไม่ควรที่จะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ออกมาด้วยความเร่งรีบมากเกินไปอีกด้วย เพราะผลเสียของมันอาจร้ายแรงถึงชีวิตของผู้ใช้งาน
“ภาคอุตสาหกรรมควรที่จะใจเย็นๆเกี่ยวกับเรื่องนี้” Ali กล่าว “ถ้าเกิดบริษัทหนึ่งเกิดความผิดพลาดขึ้นมา, ภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดก็จะต้องถอยหลังลงไปอีกหลายปี” เพื่อกลับไปทบทวนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งด้วยความเป็นเทคโนโลยีขึ้นสูง ดังนั้นความซับซ้อนในการแก้ไขข้อผิดพลาดจึงมากขึ้น และต้องใช้เวลาในการแก้ไขมากขึ้นตาม
“ดังนั้นเราต้องทำตัวให้มีความรับผิดชอบมากที่สุดและไม่ใช้ทางลัด, คุณจะสามารถทำมันขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อคุณได้พิสูจน์แล้วว่ามันปลอดภัยที่จะนำไปใช้แล้วจริงๆ” ซึ่งมันก็ยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์กันอีกยาวนานเลยทีเดียว ในสายตาของบริษัท Nvidia ที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ของโลกในปัจจุบัน