Home » คนรวยอยากได้ ซุปเปอร์คาร์หัวใจสันดาปฯ มากกว่า ซุปเปอร์คาร์ขุมกำลังไฟฟ้าล้วน
ข่าวสารยานยนต์

คนรวยอยากได้ ซุปเปอร์คาร์หัวใจสันดาปฯ มากกว่า ซุปเปอร์คาร์ขุมกำลังไฟฟ้าล้วน

Rimac ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตหน้าใหม่ ที่ทำตลาดรถยนต์ระดับซุปเปอร์คาร์ต้องหวั่นไหวครั้งใหญ่ ด้วยการเปิดตัว Rimac Nevera ซุปเปอร์คาร์ไฟฟ้าออกมา พร้อมกับสมรรถนะที่แม้แต่เจ้าตลาดหลายๆคันยังหวั่น แต่ดูเหมือนมันจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเมื่อถึงเวลาของการลุยตลาดจริง

Rimac

เพราะจากการเปิดเผยข้อมูลโดย Mate Rimac ผู้บริหารสูงสุดของ Rimac ระบุแบบยอมรับกันตามตรงว่า Rimac Nevera รถซุปเปอร์คาร์พลังงานไฟฟ้าของแบรนด์ ไม่สามารถทำยอดขายได้ดีตามที่ตนเองหวังเท่าไหร่นัก

เพราะแม้มันจะมาพร้อมกับสมรรถนะที่แรง และเร็วกว่ารถซุปเปอร์คาร์ขุมกำลังสันดาปไปหลายคัน แถมยังครองสถิติรถโปรดักชันคาร์ที่เร็วที่สุดในเนอร์เบิร์กริง แต่จากแผนการตั้งเป้าผลิตรถขายให้ได้ราวๆ 150 คัน นับตั้งแต่วางขายจริงตั้งแต่ปี 2022 จนตอนนี้ตัวรถกลับสามารถมองหาเจ้าของที่ครอบครองมันได้เพียง 50 คันเท่านั้น และมีทีท่าว่าอัตราการเดินยอดขายจะช้าลงไปเรื่อยๆอีกด้วยหลังจากนี้

โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Rimac Nevera ไม่สามารถเดินยอดอขายได้ดีเท่าไหร่นัก แม้มันจะมีสมรรถนะตัวรถที่เจ๋งพอตัว ทาง CEO ของแบรนด์ก็ระบุว่ามันเกิดจากในมุมมองของลูกค้าซึ่งเป็นระดับอภิมหาเศรษฐีทั้งหลาย รถซุปเปอร์คาร์ไฟฟ้านั้นดูมีสเน่ห์น้อยกว่าซุปเปอร์คาร์ขุมกำลังสันดาปภายใน และทำให้มันไม่เหมาะที่จะนำมาสะสมไว้ในคอลเลคชันที่ตนต้องมี

“เราเริ่มการพัฒนา Nevera ในช่วงปี 2016-2017 ซึ่งตอนนั้นรถยนต์ขุมกำลังไฟฟ้ายังถูกมองว่าเจ๋ง” Rimac กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับเหล่าสื่อ “(แต่ในตอนนี้) เรากลับพบว่าถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังเตรียมจะกลายเป็นยานยนต์กระแสหลัก, ทว่ากลุ่มผู้ใช้ในระดับบนกลับต้องการสิ่งที่ทำให้พวกเขาดูแตกต่างออกไป”

โดย Mate Rimac ได้ยกตัวอย่างโดยการเปรียบเทียบรถยนต์ของเขาเป็นนาฬิกาสมาร์ทวอชท์ อย่าง Apple Watch ว่าแม้มันจะมีขีดความสามารถในการใช้งานที่สูงแค่ไหน สามารถใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์มากเท่าไหร่

แต่เหล่าเศรษฐีก็ยังคงต้องการและหลงไหลใน นาฬิกาแบบกลไก ที่แม้จะดูโบราณ (เพราะใช้กันมานาน) และมีความสามารถหลักแค่เพียงใช้บอกเวลา ซึ่งก็แม่นยำน้อยกว่า เพราะเป็นระบบกลไกที่ต้องมีการปรับตั้งค่ากันอยู่บ่อยๆ แต่นาฬิกาแบบกลไกเหล่านั้น ก็ยังดูน่าสนใจและให้คุณค่าทางจิตใจต่อลูกค้าเหล่านั้นมากกว่ามาโดยตลอดจนตอนนี้

“นาฬิกาอย่าง Apple Watch สามารถทำทุกอย่างได้ดีกว่า, มันสามารถทำสิ่งต่างๆได้ตั้งเป็นพันอย่าง, มันแม่นยำกว่ามาก, มันสามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจคุณได้ด้วยซ้ำ, แต่ไม่มีใครอยากจ่ายเงิน 200,000 เหรียญ (ราวๆ 7 ล้านกว่าบาท) ให้กับนาฬิกา Apple Watch” Rimac กล่าว

เพราะแม้ท้ายที่สุด นาฬิกากลไกอาจดูโบราณ (ในรูปแบบทางเทคนิค) และมีความซ้ำซ้อนในการดูแลรักษา แต่มันกลับยังคงมีเศรษฐีมากมายที่ยอมทุ่มเงินหลายแสน หรือล้านเหรียญซื้อพวกมันไว้ในครอบครองอยู่ตลอด แม้หลายครั้งต้องแก่งแย่งคิวจองกันก็ตาม

ซึ่งสิ่งที่ Rimac ยกตัวอย่างมานั้น ก็เป็นการเปรียบเทียบที่ดีเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับภาพลักษณ์ของรถยนต์ซุปเปอร์คาร์ไฟฟ้าสมรรถนะสูง แรงม้าเกือบ 2,000 ตัว ราคา 2 ล้านเหรียญ หรือราวๆ 73 ล้านบาท ที่ตนเองขาย กับเหล่ารถซุปเปอร์คาร์ หรือไฮเปอร์คาร์ของผู้ผลิตรายอื่นที่มีราคาใกล้เคียงกันหรือแพงกว่า แต่มาพร้อมกับขุมกำลังเครื่อยนต์สันดาปภายใน ซึ่งแม้จะเป็นเทคโนโลยีที่หลายคนมองว่ามาถึงทางตันแล้ว แต่ยังคงเร้าอารมณ์และได้ใจเหล่าอภิมหาเศรษฐีเงินหนามากกว่าอยู่ดี

ด้วยเหตุนี้ ประกอบกับการที่จู่ๆกระแสความต้องการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของผู้คนทั่วโลกที่ลดลง ซึ่งไม่ใช่แค่ในระดับมหาเศรษฐี แต่ยังรวมถึงประชาชนคนชนชั้นกลาง ลงไปถึงคนรากหญ้า

จึงทำให้ตัว Mate Rimac มองว่าเขายังไม่เห็นโอกาสที่กระแสความต้องการในการครองครองรถซุปเปอร์คาร์ไฟฟ้าจะกลับมาพุ่งสูงอีกครั้งเหมือนตอนที่ตนเริ่มพัฒนา Rimac Nevera อีกเลยในเร็วๆนี้

และนั่นก็หมายความว่าในฝั่งผู้ผลิตที่เป็นเหมือนแบรนด์ญาติกัน (เพราะต่างสลับกันถือหุ้นไว้ในระดับครึ่ง-ครึ่ง) อย่าง Bugatti เอง ก็ไม่จำเป็นต้องรีบผันตัวมาทำซุปเปอร์คาร์ไฟฟ้าในเร็วๆนี้เช่นกัน

เราจึงไม่ต้องแปลกใจไป หากสุดท้ายเราจะพบว่าทางแบรนด์ยังคงทำตัวตายตัวแทน Chiron ให้มาพร้อมกับขุมกำลังเครื่องยนต์สันดาปภายในต่อไปอยู่ดี แถมยังเป็นเครื่องยนต์สูบเยอะดังเดิมอีกด้วย แม้จะไม่ใช่แบบ W16 เทอร์โบ 4 ตัว แต่เป็น V16 ไร้ระบบอัดอากาศก็ตามที (แต่เครื่องยนต์ที่ว่านี้ ก็ยังคงทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าในแบบไฮบริดอยู่ เพื่อการลดมลภาวะทางอากาศ ตามข้อกำหนดของภาครัฐในหลายๆประเทศ)

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.