Tesla ยังคงชื่นชอบในการสร้างความฮือฮาให้กับวงการอุตสาหกรรมยานยนต์เสมอ โดยหลังการเปิดตัว Tesla Cybertruck ไปเพียงไม่นาน ล่าสุดพวกเขาก็ได้มีการส่งพิมพ์เขียวของหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญในรถกระบะสุดล้ำคันดังกล่าว ให้กับเหล่าคู่แข่งอีกด้วย
สำหรับเทคโนโลยีสำคัญดังกล่าว แท้จริงแล้วก็คือ หลักการทำงานของระบบจ่ายไฟเลี้ยงอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆภายในตัวรถแบบใหม่ ด้วยแรงดันขนาด 48 โวลท์ ซึ่งทาง Tesla พึ่งนำมาใช้กับ Tesla Cybertruck ของตนเองแบบเต็มตัว
โดยประโยชน์หลักๆของการใช้ระบบจ่ายไฟเลี้ยงระบบรถด้วยแรงดันขนาด 48 โวลท์ หากให้สรุปแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือเมื่อระบบหันมาใช้แรงดันไฟที่สูงขึ้น แม้ระบบของรถจะยังต้องการพลังงานไฟฟ้าในวัตต์เท่าๆเดิม แต่มันก็สามารถจ่ายกระแสไฟน้อยลงได้
ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ผลิตสามารถใช้สายไฟเส้นเล็กลงได้มากพอสมควร รวมถึงยังลดจำนวนการใช้โมดูลย์สำหรับรับสัญญาณต่างๆ และยังลดการใช้อุปกรณ์จำพวก ฟิวส์ หรือรีเลย์ แล้วไปใช้การคุมกระแสไฟด้วยซอฟท์แวร์แทน ซึ่งช่วยลดความซับซ้อนและความยุ่งยากในการติดตั้ง ไปจนถึงการไล่ระบบสายไฟในยามที่ต้องซ่อมบำรุง แถมยังลดต้นทุนในการผลิต และลดน้ำหนักรถในภาพรวมได้อีกด้วย
เช่นเดียวกันตัวกล่องควบคุมต่างๆก็จะมีแผงระบายความร้อนที่เล็กลง เพราะไม่จำเป็นต้องทำให้ใหญ่โตเพื่อสู้กับความร้อนที่ปล่อยออกมาจากโหลดของกระแสไฟเท่าเดิมอีกต่อไป
และในขณะเดียวกันด้วยแรงดันไฟที่สูงขึ้น จึงทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางชิ้น เช่น คอมเพรสเซอร์แอร์, ระบบไฟส่องสว่างของรถทั้งคัน, และอื่นๆ ที่ถูกออกแบบมารองรับกับระบบจ่ายไฟลักษณะนี้ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ชิ้นส่วนที่ยังคงออกแบบให้รองรับการทำงานร่วมกับระบบจ่ายไฟ 12 โวลท์แบบดั้งเดิมเดิมอีกต่างหาก
และเนื่องจากทาง Tesla ก็ตั้งใจที่จะผลักดันให้มันเป็นมาตรฐานใหม่ และเข้ามาทำหน้าที่แทน ระบบจ่ายไฟเลี้ยงแรงดัน 12 โวลต์ แบบดั้งเดิม ที่ถูกใช้งานในโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ มาโดยตลอดระยะเวลากว่าหลายสิบปี
จึงทำให้ทาง Tesla ตัดสินใจที่จะแจกจ่ายพิมพ์เขียวของเทคโนโลยีและหลักการทำงานของระบบนี้ให้กับเหล่าผู้บริหารของผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์อื่น ซึ่งอาจติดปัญหาในการหันมาใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ทั้งจากปัญหาในเรื่องของตัวระบบควบคุม หรือการออกแบบชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี Jim Farley ผู้บริหารสูงสุดของ Ford Motor Company ที่ได้ออกมาให้การยอมรับว่าเจ้าตัวได้รับชุดข้อมูลดังกล่าวจาก Tesla มาแล้วจริงๆ
อย่างไรก็ดี แม้ประโยชน์ในข้างต้น จะทำให้การหันมาใช้ระบบจ่ายไฟ 48 โวลท์ ดูน่าสนใจมาก ทั้งจากการประหยัดต้นทุนจากการใช้สายไฟที่น้อยลง ลดความซับซ้อนในการประกอบ และยังทำให้อุปกรณ์เซนเซอร์กับอุปกรณ์ประมวลผลต่างๆสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนฮาร์ดแวร์ หรือซอฟท์แวร์
แต่หากมองกันให้ดี เราก็จะพบว่ามันมีความเป็นไปได้สูง หรือเป็นไปได้แน่ๆ ที่อุปกรณ์ต่างๆที่จะต้องทำออกมาเพื่อรองรับกับมาตรฐานการจ่ายไฟใหม่นี้ในยุคแรกๆ จะมีราคาที่สูงกว่าอุปกรณ์ของระบบจ่ายไฟ 12 โวลท์พอสมควร
เพราะหากไม่นับตัวสายไฟที่จะถูกลง เนื่องจากมีการใช้ทองแดงน้อยลง ที่เหลือก็ดูจะต้องแพงกว่าเดิมไปเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น แบตเตอรี่ 48 โวลท์, กล่องควบคุมที่แม้จะเล็กลงก็จริง แต่ก็ต้องมีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อการประมวลผลที่ซับซ้อนกว่าเดิม
เช่นเดียวกับต้นทุนในการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่มีความยิบย่อยมากกว่า, และในส่วนของการดูแลรักษา แม้ชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์จะน้อยลง แต่ด้วยความซับซ้อนของพวกมันที่มากขึ้น ก็ทำให้การซ่อมบำรุง อาจมีความยุ่งยาก หรือต้องใช้ความรู้เฉพาะทางมากยิ่งขึ้น
งานนี้ก็ต้องมารอดูกันต่อไปว่า แล้วผู้ผลิตรายอื่นๆจะคิดเห็นอย่างไร กับเทคโนโลยีที่ทาง Tesla พยายามผลักดัน เพราะการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีนี้ อาจฟังแล้วดูดี และเหมาะที่จะไปต่อมากๆ เพื่อยกระดับการใช้งานรถยนต์ในอนาคต
แต่ในทางกลับกัน มันก็มีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆที่ต้องแลกด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะในมุมของผู้ผลิตเอง ที่ต้องแบกรับต้นทุนในการพัฒนาช่วงแรก แม้ต้นทุนในการผลิตจะลดลง
หรือในมุมของผู้บริโภค ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่อง จากการหันไปใช้เทคโนโลยีใหม่ๆนี้ เพราะใช่ว่าเมื่อรถผลิตด้วยต้นทุนถูกลงแล้ว รถจะถูกลงตาม เนื่องจากอย่าลืมว่ายังมีต้นทุนในการพัฒนา และค่าใช้จ่ายเมื่อต้องซ่อมบำรุง หากชิ้นส่วนรถที่มีความซับซ้อน หรือล้ำสมัย เกิดมีปัญหาอีก
แล้วคุณล่ะ คิดเห็นกันอย่างไร ?
ข้อมูลจาก thedriven.io, Blink Drive