หลังจากที่ปล่อยให้เป็นคำถามกันอยู่นานนับปี ล่าสุด ทาง Toyota ก็ได้ออกมาเปิดเผยความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำถาม กำหนดการผลิตขายจริง ของ Toyota Hilux BEV กันสักที
Toyota Hilux BEV ถูกเิดตัวสู่สายตาชาวโลกครั้งแรกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022 และจากนั้นไม่นานทางค่ายก็ได้มีการโปรโมทมันโดยการนำไปวิ่งทดสอบภายใน ต่อด้วยการให้สื่อมวลชนชาวไทยได้ทำการทดลองนั่งแบบพอหอมปากหอมคอ จนกระทั่งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก็ได้มีการทำรถตัวต้นแบบหลักสิบคันไปวิ่งทดสอบในฐานะรถรับส่งมวลชนในตัวเมืองพัทยาเพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ
ล่าสุด ตามการรายงานของสื่อใหญ่ระดับโลกอย่าง Reuters ระบุว่า Pras Ganesh รองประธานใหญ่ของ Toyota Motor Asia ได้มีการยืนยันเป็นที่เรียบร้อยว่าตอนนี้ทาง Toyota ได้เคาะกำหนดการที่จะผลิตตัวรถ Hilux BEV เอาไว้แล้ว นั่นคือจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2025 และสถานที่ผลิตก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นโรงงานของ Toyota ในประเทศไทยเรา
“ความต้องใจของเราคือการขึ้นไลน์ผลิต Hilux BEV ที่นั่น” Pras Ganesh กล่าวในบทสัมภาษณ์กับสื่อ Reuters ในงานประชุมอนาคตยานยนต์แห่งเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคือการประชุมและสัมนาของเหล่าผู้ผลิตเกี่ยวกับเทคโนโลยียานยนต์พลังงานไฟฟ้า
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นการเปิดเผยข้อมูลมากเกินไปนัก Ganesh จึงไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลใดๆเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวรถออกมาอีก ไม่ว่าจะเป็นช่วงราคา แต่หากทาง Toyota ยังคงยืนยันที่จะทำขาย Hilux BEV เฉพาะรุ่นหัวเดี่ยว มันจึงไม่ควรมีราคาที่สูงไปกว่าตัวรถ Hilux Revo หัวเดี่ยวตอนนี้มากนัก เพื่อจูงใจเหล่าผู้ประกอบการให้เลือกซื้อเจ้ากระบะไฟฟ้าคันแรกของตระกูล Hilux คันนี้ไปใช้งานในเชิงพานิชย์กันต่อ
และแม้นาย Ganesh จะยังไม่มีการเปิดเผยถึงข้อมูลจำนวนการผลิตตัวรถเช่นกัน แต่เจ้าตัวก็ยอมรับว่าทาง Toyota เองก็กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะผลิต Hilux BEV ในไทยให้มีจำนวนมากพอที่จะรองรับการส่งออกไปวางจำหน่ายในต่างประเทศด้วย
อย่างไรก็ดี แม้กำหนดการผลิตตัวรถเพื่อขายจริงจะถูกขีดเส้นคร่าวๆเอาไว้แล้ว แต่ Ganesh ก็ยอมรับว่าตอนนี้พวกเขายังคงต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขการใช้งานของตัวรถ Hilux BEV ให้ดีและถี่ถ้วน เพื่อการออกแบบและผลิตตัวรถในขั้นสุดท้ายได้อย่างมั่นใจว่ามันจะมาพร้อมกับออพชันที่เหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของระยะทางในการใช้งานสูงสุดต่อชาร์จ จากขนาดแบตเตอรี่ที่ให้มา
“ยิ่งเราให้ระยะทางในการใช้งานมากเท่าไหร่, ก็หมายความว่ายิ่งต้องใช้แบตเตอรี่(ขนาดใหญ่ขึ้น)มากเท่านั้น, และนั่นก็หมายถึงน้ำหนักตัวรถเองจะต้องเพิ่มขึ้นด้วย, และก็หมายความว่ามันจะยิ่งสามารถแบกน้ำหนักบรรทุกได้น้อยลงอีก”
“ดังนั้น (การให้ขนาดแบตเตอรี่ที่เหมาะสม) มันจะตอบโจทย์กับความต้องการในการใช้งานของลูกค้าหรือไม่ ? ยังคงเป็นปัยหาใหญ่สำหรับเรา, เรายังคงพยายามอย่างหนักเพื่อเข้าใจให้ได้ว่าพวกเขา(ลูกค้า)จะใช้งานรถยังไง”