Kia AD

Home » รีวิว GWM Tank 500 HEV อเนกประสงค์ลุคหรู แต่ดูลุยได้กว่าที่เห็น !

Kia AD

Suzuki AD

Bust First Drive รีวิว

รีวิว GWM Tank 500 HEV อเนกประสงค์ลุคหรู แต่ดูลุยได้กว่าที่เห็น !

หลังการเผยโฉมในไทยมาได้ปีกว่า ล่าสุด GWM Tank 500 HEV ก็ได้เปิดให้สื่อได้ทดสอบ และ รีวิว กันแล้ว ซึ่งมันจะให้ความรู้สึกที่ดีเหมือนหน้าตารึเปล่าล่ะ ?

สำหรับ รีวิว GWM Tank 500 HEV ในครั้งนี้ เราคงจะไม่ขอไล่เรียงกันถึง รายละเอียดหน้าตาตัวรถ หรือออพชันต่างๆที่ให้มาในตัวรถมากนัก เนื่องจากทางทีมงาน Ridebuster ได้มีการเขียนถึงรายละเอียดเหล่านี้ไปแล้วหลายครั้ง

และรวมถึงฝั่งคุณผู้อ่านเอง ก็คงคุ้นหน้าค่าตาของมันจนะแทบไม่ต้องสาธยายอะไรมากมายนักกันอยู่แล้ว เพราะอย่างที่เราได้ระบุไว้ในตอนต้นเรื่องว่าจริงๆแล้วเจ้ารถอเนกประสงค์รุ่นนี้ ถูกนำมาเผยโฉมให้ชาวไทยได้สัมผัสกันตั้งแต่ปลายปี 2021 หรือปีกว่าๆเข้าไปแล้วเลยทีเดียว

แต่เพื่อไม่ให้ผู้อ่านเสียเวลาในการย้อนหาข้อมูลมากเกินไป เราจึงจะยังคงพาไปไล่รายละเอียดงานตกแต่งและออพชันต่างๆของตัวรถโดยคร่าวๆอยู่บ้าง

เริ่มจากงานตกแต่งภายนอกตัวรถ ที่เน้นการใส่ภาพลักษณ์ ดูหรู สง่างาม ด้วยด้านหน้าพร้อมกระจังโครเมียมขนาดใหญ่คาดแถบแนวนอนพร้อมโลโก้ TANK ขนาบข้างด้วยไฟหน้า Intelligent LED พร้อม Daytime Running Light และไฟตัดหมอก LED ด้านล่าง

เสริมความบึกบึนด้วยชิ้นแก้มข้าง และฝากระโปรงแบบนูนออกจากแนวตัวรถ ตามสไตล์ของรถยนต์ตัวลุย

พร้อมกันนี้ยังมีบันไดข้างระบบไฟฟ้าพร้อมฟังก์ชัน เปิด-ปิดอัตโนมัติเมื่อเปิด-ปิดประตู หลังคาซันรูฟแบบพาโนรามิคขนาดใหญ่ เปิด – ปิดด้วยระบบไฟฟ้า ราวหลังคา เสาอากาศแบบ Shark fin ล้ออัลลอยขนาด 20 นิ้ว และ 19 นิ้ว แล้วแต่รุ่นย่อย

ด้านหลังมาพร้อมไฟท้าย Vertical LED ดีไซน์แนวตั้ง มาพร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 ให้ความสว่างชัดเจนเพื่อความปลอดภัยและสปอยเลอร์ท้ายช่วยในเรื่องแอร์โรไดนามิค

ประตูท้ายเปิดบานเดียวใหญ่แบบ Horizontal พร้อมระบบดูดไฟฟ้าช่วยผ่อนแรง หรือระบบปิดประตูแบบ Soft-Closed, เสริมภาพลักษณ์ลุยด้วยการติดตั้งยางอะไหล่ไว้ที่ประตูท้าย พร้อมฝาครอบเก็บงานอย่างดี และมีกล้องมองหลังฝังเอาไว้ที่ตัวฝาอย่างลงตัว

ภายในสารเอง ก็ได้ถูกออกแบบให้เน้นไปที่ความหรูหรามากกว่าภายนอก ทั้งจากตัวเลือกสีภายในห้องโดยสาร แบบ น้ำเงิน-เบจ หรือ ดำ-เงิน ซึ่งตัวคอนโซลและแผงประตู จะถูกหุ้มด้วยวัสดุหนังสังเคราะห์อย่างดี และมีการเก็บรายละเอียดชิ้นงานต่างๆค่อนข้างเนี๊ยบ

นอกจากนี้ตัวรถยังมีไฟตกแต่งห้องโดยสาร Ambient Light ที่สามารถปรับแต่งได้หลายสี และปรับตั้งให้กระพริบไฟตามจังหวะเพลงได้อีก

ปิดท้ายด้วยชุด หน้าจอกลางอัจฉริยะแบบสัมผัส ขนาด 14.6 นิ้ว รองรับความบันเทิงได้ทั้ง Apple CarPlay, Android Auto, หน้าจอแสดงผลข้อมูลการขับขี่พร้อมมาตรวัดดิจิทัล ขนาด 12.3 นิ้ว หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่บนกระจกด้านหน้า ลำโพง Infinity จำนวน 12 ลำโพง

ส่วนคอนโซลเกียร์ตรงกลางถูกออกแบบมาอย่างสวยงาม ด้วยการจัดวางปุ่มต่างๆพร้อมออกแบบสัญลักษณ์ลูกเล่นต่างๆที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจได้ง่าย ไม่เว้นแม้กระทั่งคันเกียร์แบบไฟฟ้าที่ดูแปลกตาเหมือนคันบังคับเครื่องบินในภาพยนต์ Sci-Fi และ Dial หรือลูกบิดปรับโหมดการขับขี่ที่มีให้เลือกถึง 11 แบบ

ฝั่งพวงมาลัยมัลติฟังก์ชันเอง นอกจากหน้าตาจะดูดี ยังเป็นแบบปรับไฟฟ้าปรับแบบ 4 ทิศทาง พร้อมแป้น Paddle Shift สำหรับเปลี่ยนเกียร์ ให้สัมผัสในการจับที่กระชับมือ ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป และด้วยความเป็นพวงมาลัยไฟฟ้า จึงทำให้มันสามารถแปรผันความหนืดตามความเร็วได้ด้วย (ซึ่งเราจะอธิบายความรู้สึกในส่วนการใช้งานต่อไปในภายหลัง)

ตัวเบาะนั่งที่ให้มาก็หุ้มจะเป็นแบบด้วยหนังแนปป้าทั้งหมด ไม่อมความร้อน และมีความนุ่มเป็นพิเศษทุกที่นั่ง เช่นเดียวกับระบบพัดลมระบายความร้อนใต้เบาะ ที่จะมีให้ทั้งเบาะแถว 1 และ แถว 2

และสำหรับเบาะคู่หน้า จะมีลูกเล่นเพิ่มอีก ทั้งในส่วนของ ระบบปรับตำแหน่งไฟฟ้า ที่สามารถปรับได้ถึง 8 ทิศทาง ในฝั่งผู้ขับ และ 6 ทิศทาง สำหรับฝั่งผู้โดยสารด้านข้าง

ซึ่งจากการที่ได้ลองใช้งาน ผู้ทดสอบพบว่า นอกจากความนุ่ม ที่ทำให้เรารู้สึกนั่งได้สบาย แทบไม่พบการสะสมความร้อนที่ตัวเบาะเลย โดยเฉพาะเมื่อเปิดระบบเป่าลมใต้เบาะ ตลอดระยะทางการทดสอบกว่า 300 กิโลเมตรแล้ว ขนาดเบาะยังค่อนข้างใหญ่ ทำให้ผู้ขับไซส์หมีนั่งได้สบายๆ ไม่รู้สึกอึดอัด เว้นเพียงตัวดันเบาะช่วงสะโพก ที่ส่วนตัวผู้ทดสอบมองว่าแม้จะปรับให้ดันน้อยสุดแล้ว ก็ยังรู้สึกดันหลังมากไปอยู่ดี

แต่ถึงแม้เบาะจะนุ่มเป็นอย่างมาก แต่เมื่อถึงเวลาที่เราอยากจะลองสาดโค้งเล่นๆ ตัวผู้ขับก็ใช่ว่าจะหลุดจากแนวตัวเบาะได้ง่ายๆแต่อย่างใด ไม่เพียงเท่านั้น ตัวระบบนวดที่ติดรถมา จากที่ได้ลองเล่น ยังช่วยเสริมความผ่อนคลายให้กับผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี จนบางทีอาจจะรู้สึกผ่อนคลายเกินไปจนกลัวจะเคลิ้มขณะขับรถไปเลยด้วยซ้ำ

ด้านการนั่งโดยสารเบาะแถวสอง ก็ให้ความสะดวกสบายไม่แพ้ด้านหน้า เพราะแม้ตัวเบาะจะไม่ได้มีระบบปรับไฟฟ้า และไม่มีระบบนวด แต่ก็ยังมีระบบพัดลมเป่าจากเบาะทางด้านล่าง และตัวพนักหลังก็สามารถปรับเอนได้มากพอสมควร

ขนาดเบาะทั้งพนักหลัง และเบาะนั่งเองก็ใหญ่รับกับผู้โดยสารไซส์หมี 2 คนได้สบายๆ หรือต่อให้มีมนุษย์หุ่นปานกลางอีกคนมานั่งคั่นกลางก็ยังไหวไม่อึดอัด นอกจากนี้ระยะวางขา หรือ Leg Room ก็จัดว่าเหลือเฟือ เรียกได้ว่าต่อให้คุณเป็นมนุษย์ที่สูงถึง 180 เซนติเมตรกว่าๆ ก็ยังสามารถนั่งได้สบายๆ เบาะหน้าไม่ติดหัวเข่าได้ง่ายๆแน่นอน

รวมถึงตัวหลังคาเองก็ค่อนข้างสูง พอได้กระจกพาโนรามิคซันรูฟแบบ 2 โซน ทั้งฝั่งเบาะคู่หน้า-คู่หลัง และยังมีกระจกด้านข้างบานใหญ่ จึงทำให้ตัวรถดูโปร่งพอสมควร จนอาจเรียกได้ว่าโปร่งที่สุดแล้วในหมู่รถยนต์อเนกประสงค์ที่อยู่ในกลุ่มขนาดตัวไล่เลี่ยกัน

GWM Tank 500 HEV

สิ่งที่น่ารำคาญใจในเรื่องของการโดยสารภาพรวมคงมีเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น นั่นคือ ส่วนตัวผู้ทดสอบมองว่าตัวรถมีเสียงตึงตังจากใต้ท้องรถ ในยามที่ล้อวิ่งผ่านรอยแตก รอบป่ะบนถนนต่างๆเข้ามามากเกินไป โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวรถมาพร้อมกระจกลดเสียงรบกวน หรือ Acoustic Glass แบบรอบคัน (รถอเนกประสงค์คันอื่นๆที่อยู่ในกลุ่มไล่เลี่ยกันส่วนใหญ่จะให้แค่บานหน้า)

จึงทำให้มันเก็บเสียงจากภายนอกช่วงครึ่งบนได้ดี แต่ก็ทำให้เสียงจากชุดล้อและช่วงล่างตัวรถแทรกเข้ามาถึงตัวถังได้ชัดขึ้นแทน จนอาจทำให้เกิดความรำคาญ หรือความเหนื่อยล้ายามที่ต้องนั่งเดินทางไกลๆได้ หากคุณไม่ใช่คนที่ชอบขับรถไปด้วยฟังเพลงไปด้วย เพื่อกลบเสียงเหล่านี้แทน

ในด้านการควบคุม และบังคับเลี้ยวต่างๆ

เริ่มจากการทำงานของตัวพวงมาลัย ที่ด้วยความเป็นพวงมาลัยไฟฟ้า ดังที่เราได้เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้หากเป็นการขับที่ความเร็วต่ำมากๆ ตั้งแต่หยุดนิ่ง จนถึงช่วงไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง น้ำหนักพวงมาลัยจะค่อนข้างเบาจนน่าตกใจ เพราะผิดกับวิสัยตัวรถที่ค่อนข้างใหญ่ ทว่าหากคุณเป็นผู้ที่ไม่ได้มีแรงแขนมากนัก ก็อาจจะถูกใจกับน้ำหนักพวงมาลัยเช่นนี้

และเมื่อตัวรถเริ่มมีความเร็วสูงขึ้นเรื่อยๆ น้ำหนักและความหนืดของพวงมาลัยก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในแต่ละระดับน้ำหนักนั้นก็ค่อนข้างเหมาะสมกับความเร็ว อาจจะมีระยะฟรีตรงกลางให้รู้สึก และต้องใช้ระยะในการหัก หรือสาวพวงมาลัยเพื่อเลี้ยวมากไปอยู่บ้าง โดยเฉพาะในยามที่ต้องเข้าโค้งแคบๆ แต่โดยรวม ตัวความหนืดของพวงมาลัยก็ยังอยู่ในระดับที่มั่นคงและมั่นใจใช้ได้เลยทีเดียว

แต่เนื่องจากตัวรถค่อนข้างสูง น้ำหนักค่อนข้างเยอะ (ตัวรถหนักราวๆ 2.6 ตัน !) และช่วงล่างเซ็ทมาให้มีช่วงยุบเยอะ จึงทำให้หากเราสาวหรือหักพวงมาลัยเร็วเกินไป ตอนที่รถเริ่มมีความเร็วพอประมาณ เราก็จะพบว่าตัวรถมีอาการโคลงให้รู้สึกพอสมควร

หรือหากเป็นการสาดโค้งยาวๆ ด้วยความเร็วสูงๆ ก็จะพบว่าตัวรถมีการเอี้ยวตัวพอสมควร ซึ่งในจุดนี้อาจทำให้ผู้โดยสารตอนหลังรู้สึกเมารถได้ง่าย

และในขณะเดียวกัน หากถนนที่เราขับรถผ่านไปด้วยความเร็วปานกลาง-ค่อนข้างสูง มีรอยแตกของยางมะตอยมากๆ ตัวระบบกันสะเทือนของเจ้ารถอเนกประสงค์คันนี้ กลับส่งแรงกระเทือนขึ้นมาถึงภายในห้องโดยสารมากกว่าที่ควรจะเป็น จนอาจทำให้เกิดการรำคาญได้ง่ายๆ เช่นเดียวกับเรื่องเสียงดังที่เราได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์โดยพวกเราทีมงาน Ridebuster มองว่าอาการของรถในยามที่มันวิ่งผ่านรอยแตกต่างๆบนถนน แล้วส่งแรงสะเทือนขึ้นมามากผิดปกตินั้น อาจเป็นเพราะทางค่ายมีการออกแบบความเร็วในการคืนตัวของช่วงล่างไว้ค่อนข้างไว จึงทำให้ตัวโช้ครีบเด้งสู้กับผิวถนนมากไปสักหน่อย

GWM Tank 500 HEV

ส่วนข้อดีของการเซ็ทติ้งช่วงล่างในลักษณะดังกล่าวก็คือ เมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วสูงพอประมาณ มันกลับให้ความนิ่งพอสมควร หรือหากเป็นการนำรถไปวิ่งบนทางลูกรัง ตัวรถเองก็มีความนิ่งและสามารถรูดผ่านร่องหลุมเล็กๆบนทางดินลักษณะดังกล่าวได้โดยไม่มีอาการโช้คยันให้รู้สึกได้ง่ายๆเช่นกัน นั่นก็เพราะโช้คมีการคืนตัวรับกันได้อย่างพอดิบพอดีนั่นเอง

เรียกได้ว่าช่วงล่างเดิมๆนั้น อาจไม่เหมาะสำหรับการขับบนทางดำที่เต็มไปด้วยรอยแตกในช่วงความเร็วต่ำ-ปานกลาง เพราะอาจมีอาการสะเทือนส่งมาถึงผู้โดยสารภายในรถมากไปสักหน่อย

แต่หากเป็นการขับบนทางลูกรังไปเลย ช่วงล่างนี้กลับทำให้เราสามารถควบคุมมันได้อย่างมั่นใจ แม้จะใช้ความเร็วที่ค่อนข้างสูง (สำหรับทางในลักษณะดังกล่าว) รวมถึงหากเป็นการขับรถด้วยความเร็วสูงๆไปเลย ก็จะทำให้รถมีความนิ่งมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งในจุดนี้คุณผู้อ่านอาจจะต้องลองชั่งใจกันดู ว่ารับกันได้หรือไม่ ?

GWM Tank 500 HEV

ด้านขุมกำลังที่ให้มา ก็เป็นเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร พร้อมระบบเทอร์โบแปรผัน (VGT) ให้กำลังสูงสุด 244 แรงม้า พร้อมแรงบิดเครื่องยนต์ สูงสุด 380 นิวตัน-เมตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Parallel Hybrid ซึ่งมอเตอร์ที่ว่านี้ ก็จะให้กำลังสูงสุด 106 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 268 นิวตัน-เมตร พร้อมโหมดการขับขี่ถึง 11 รูปแบบ

ซึ่งแม้ทางค่ายจะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขกำลังสุทธิ แต่จากการหาข้อมูลหลังไมค์ ดูเหมือนว่ามันจะมีตัวเลขกำลังรวมระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าอยู่ที่ราวๆ 300 ตัว และแรงบิดสูงสุดราวๆ 500 นิวตันเมตร

ด้านระบบส่งกำลังเอง ก็เป็นแบบเกียร์ อัตโนมัติ 9 สปีด พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ Full-Time ที่สามารถปรับโหมดเป็นแบบ 4 Low ตามฉบับตัวลุยได้ และในตัวรถรุ่น Ultra ที่เราได้นำมาทดสอบ ก็ยังมีระบบล็อคเฟืองท้ายไฟฟ้า ให้ครบๆ ทั้ง หน้า กลาง หลัง

หรือเอาจริงๆ ระบบยังสามารถปรับไปส่งกำลังขับเคลื่อนเฉพาะชุดล้อคู่หลังได้ด้วย แต่จะเป็นฟังก์ชันลับที่จะทำงานเมื่อคุณขับรถด้วยโหมด Eco เท่านั้น และมันจะทำงานแค่เฉพาะตอนที่รถวิ่งบนทางตรง แห้งๆ ยาวๆ หากมีการเข้าโค้ง หรือพื้นลื่น เปียกน้ำ เปียกฝน ระบบจะกลับมาขับเคลื่อนด้วยชุดล้อทั้ง 4 ทันที เพื่อรักษาสเถียรภาพของตัวรถ

GWM Tank 500 HEV

สำหรับการใช้งานจริงในส่วนเครื่องยนต์ ต้องอธิบายก่อนว่า แม้รถคันนี้จะได้เครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ ขนาด 2.0 ลิตร ที่จับคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้าแบบไฮบริด แต่มันก็ยังไม่สามารถเรียกอัตราเร่ง แบบพุ่งทะยานตอนออกตัวได้ติดเท้า เท่ากับรถอเนกประสงค์เครื่องยนต์ดีเซลทั้งหลาย

แต่จุดสังเกตก็คือ หลังจากที่มอเตอร์สามารถช่วยดันรถที่หนักถึง 2.6 ตัน ให้สามารถไต่ความเร็วถึงหลัก 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป การเรียกความเร็วต่อจากนั้นก็จะเริ่มมีความต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งกดคันเร่งต่อ ก็ยิ่งรู้สึกว่าพละกำลังของมันสามารถเรียกได้ยาวขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถใต่ความเร็วที่สูงกว่านั้นได้อีกสบายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการขับด้วยโหมดสปอร์ต ที่มีความจัดจ้านสุดๆ

ซึ่งอันที่จริงต้องบอกว่า มันคือนิสัยการเรียกอัตราเร่งในแบบที่รถเครื่องยนต์เบนซินควรจะเป็นอยู่แล้ว และอาจถูกจริตผู้ใหญ่ที่ไม่ชอบรถพุ่งๆให้หวาดเสียวเวลาใช้งานในเมือง แต่ชอบรถที่สามารถไต่ความเร็วบนทางตรงช่วงความเร็วสูงๆได้อย่างเรียบเนียนมากกว่า และทั้งนี้ก็ต้องขอบคุณชุดเกียร์ 9 สปีด ที่สามารถทำงานได้ดี ทั้งในจังหวะที่ให้มันทำงานด้วยตัวเอง หรือจังหวะที่เราลองเล่นแป้นแพดเดิ้ลชิฟท์ก็ด้วย

GWM Tank 500 HEV

จุดสังเกตของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังที่ให้มาในตัวรถรุ่นนี้ คงมีแค่เพียงเรื่องอัตราสิ้นเปลือง ที่ไม่ได้ดูดีมากเท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับความเป็นรถยนต์ไฮบริด เพราะจากที่เราได้ลองทดสอบมา โดยวิธีการขับแบบแอบตะบี้ตะบันสักนิดหนึ่ง แถมยังมีแอบเอาไปลุยพอหอมปากหอมคอบ้าง ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองที่ได้นั้น ก็ถือว่าต่ำกว่าหลัก 10 กิโลเมตร/ลิตร เลยทีเดียว

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะอันที่จริง ทาง GWM ก็ระบุกับเราตรงๆว่า ระบบไฮบริดที่ใส่มานั้น ไม่ได้ใส่มาเพื่อให้รถมีความประหยัดอยู่แล้ว แต่ใส่มาเพื่อให้ตัวรถมีอัตราเร่งที่ดีและต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงความเร็วปานกลางต่างหาก และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงจากที่เราได้ทดสอบมาในวันนี้

ส่วนการเก็บอัตราสิ้นเปลืองอย่างจริงจัง ไว้หากเรามีโอกาสได้นำรถไปวิ่งทดสอบยาวๆ เราจึงจะมาขอไล่เรียงถึงผลทดสอบที่ได้โดยละเอียดอีกครั้งในภายภาคหน้า

สุดท้ายคือเรื่องของการความสามารถในการบุกตะลุย ที่ทาง GWM พยายามพรีเซนต์เหลือเกินว่าจริงๆแล้วเจ้า Tank 500 คันนี้ แม้จะมีภาพลักษณ์โดดเด่นในด้านหรู แต่ก็มีฟังก์ชันที่จัดเต็มเพื่อการบุกตะลุยเช่นกัน

ทั้ง กล้อง 360 องศา ที่คมชัดจริง ตามเคลม สามารถปรับหมุนได้รอบคัน แล้วแต่ความชอบ ที่หน้าจอกลาง แถมยังมีระบบประมวลผลภาพใต้ท้องรถ เพื่อดูอุปสรรคใต้ท้องรถที่เรากำลังจะวิ่งคร่อมไปอีก (ย้ำอีกครั้งว่า มันคือภาพที่ได้จากการประมวลผลิระหว่างกล้องหน้าและกล้องหลังรวมกัน ไม่ได้มีการติดตั้งกล้องไว้ใต้ท้องรถจริงๆ)

นอกจากนี้ตัวรถยังมีหน้าจอแสดงผลในโหมด Off-Road ที่มีฟังก์ชันย่อย ในเรื่องของการวัดองศาความชันของพื้นที่รถกำลังไต่อยู่ มีระบบคำนวนความลึกของน้ำที่กำลังวิ่งผ่าน ซึ่งทั้งหมดล้วนใช้งานได้จริง

และที่เป็นไฮไลท์ที่สุดคือระบบ Tank-Turn ที่แม้ขั้นตอนในการใช้งานจะแอบยุ่งยากซักหน่อย เพราะมีขั้นตอนเปิดใช้งานมากกว่า 4 ขั้น แต่เมื่อคุณใช้บ่อยๆ ก็จะเริ่มชินและทำได้อย่างคล่องมือ และจากการได้ลองใช้งาน เราก็พบว่ามันช่วยให้รถสามารถเลี้ยวในวงที่แคบกว่าปกติได้จริง โดยอาจร่นลงมาได้แคบสุดถึง 2 เมตร นิดๆด้วยซ้ำ

แต่ทั้งนี้ระหว่างที่ระบบทำงาน คุณอาจจะรู้สึกแปลกๆอยู่บ้าง เพราะรถจะเลี้ยวและเคลื่อนตัวเป็นจังหวะๆ เนื่องจากระบบใช้วิธีล็อคล้อหลังด้านในเอาไว้เป็นพักๆ เพื่อให้ล้อดังกล่าวจิกแล้วดึงหน้ารถเข้าด้านในนั่นเอง

อีกระบบที่น่าชมก็คือ ระบบ Off-Road Cruise Control ที่สามารถทำงานได้ตั้งแต่ความเร็วหยุดนิ่ง จนถึงราวๆ 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งช่วยให้เราสะดวกสบายในการขับรถบนทางดิน หรือทางขรุขระชันๆเป็นอย่างมาก และโดยปกติ หากเป็นการดันเนินตามฉบับขาลุย นักขับประสบการณ์สูงมักใช้วิธีกดคันเร่งค้างไว้ เพื่อไม่ให้รถคาเนินกันอยู่แล้ว

การใช้ระบบนี้ จึงทำให้เราไม่ต้องกังวลเรื่องจังหวะการคุมคันเร่ง ว่าจะกดเยอะ หรือกดน้อยไป แค่เลือกระดับความเร็ว และปล่อยให้รถมันไหลไปเอง หากเร็วไป เราก็แค่คลอเบรกดึงจังหวะไว้เท่านั้น

ต้องบอกว่า สำหรับการทดสอบ รีวิว แบบ First Impression กับ GWM Tank 500 ครั้งนี้ ส่วนตัวทีมงาน Ridebuster โดยสรุปแล้ว ค่อนข้างประทับใจกับตัวรถในหลายๆด้าน ทั้งเรื่องความหรูหรา และความเนี๊ยบของชิ้นส่วนตกแต่งต่างๆภายในห้องโดยสาร, ระบบลูกเล่นต่างๆของตัวรถ ที่ตอนแรกดูเหมือนจะใส่มาเพื่อความหวือหวา หรือเอาไว้อวดเท่านั้น แต่ไปๆมาๆทุกอย่างล้วนเป็นของที่ใช้งานได้จริง และช่วยให้เราอุ่นใจที่จะใช้งานมันจริงๆ

รวมถึงเครื่องยนต์ที่แม้จะไม่ได้โดดเด่นในเรื่องความประหยัด แต่ก็มีลักษณะนิสัยที่แตกต่างไปจากรถอเนกประสงค์กลุ่มไล่เลี่ยกัน โดยแตกต่างไปทางบวกหากคุณเข้าใจมันอีกด้วย

ติดก็แค่เพียงด้วยระยะเวลาที่จำกัด จึงทำให้เรายังไม่สามารถเล่นระบบต่างๆของตัวรถได้เต็มที่มากนัก, ระบบกันสะเทือนที่ออกแบบมาดูเหมือนจะเน้นการขับด้วยความเร็วสูง หรือไม่ก็ลงดินไปเลยมากไปหน่อย และในเรื่องของราคาวางจำหน่าย ที่เรายังไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะคุ้มค่ากับสิ่งต่างๆที่ให้มา หรือสามารถตบกับคู่แข่งได้หรือไม่

ซึ่งทั้งนี้ก็ต้องรอติดตามดูกันต่อไป ทั้งในวันประกาศราคาขายจริง วันที่ 28 กันยายน ที่จะถึงนี้ และการทดสอบแบบฟูลรีวิว ที่เราจะหาโอกาสนำรถมาทดสอบแบบจัดเต็มให้ได้ในเร็ววันเช่นกัน

ขอขอบคุณ Great Wall Motors ที่ให้โอกาสทีมงาน Ridebuster ได้เข้าร่วมทดสอบ GWM Tank 500 ในครั้งนี้

ทดสอบ/เรียบเรียง : รณกฤต ลิมปิชาติ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.