หลังการเปิดตัวไลน์ผลิต และเปิดวางจำหน่าย 2024 ORA Good Cat ล็อตผลิตไทยไปเพียงไม่นาน ทาง Great Wall Motor ก็ได้มีการเทียบเชิญเหล่าสื่อฯ ให้เข้าร่วมขับขี่ทดสอบ และ รีวิว เจ้า “แมวไทย” ล็อตใหม่นี้แทบจะในทันที และทีมงาน Ridebuster เอง ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
แต่… ก่อนที่จะไป รีวิว สัมผัสต่างๆที่ได้จากการทดสอบ เราของพาทุกท่านมาทำความรู้จัก ‘แบบสั้นๆ’ กันสักหน่อยดีกว่า ว่าเหล่า 2024 ORA Good Cat ล็อตผลิตไทยโฉมใหม่ล่าสุดนั้น มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไรบ้าง ?
เริ่มจากหน้าตา ที่เรียนกันตามตรงว่า มันไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเลย ในส่วนของงานดีไซน์ ตัวรถยังคงมาพร้อมกับภาพลักษณ์แบบลูกผสมระหว่างความโมเดิร์นและความคลาสสิค หรือ ดีไซน์ร่วมสมัย ในแบบที่ทำให้ใครหลายคนเคยหลงไหลมาตั้งแต่ที่มันเผยโฉมเป็นครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2021 ไม่ว่าจะเป็น ไฟหน้า Projector-LED โคมกลม, ตัวถังเส้นสายโค้งมนทรงแฮชท์แบก, ล้อลายเล็บเท้าแมว ในรุ่นธรรมดา และลายสปอร์ตในรุ่น GT
แต่ในส่วนของเฉดสีภายนอก ก็จะมีการปรับเปลี่ยนใหม่เล็กน้อย โดยในฝั่ง ORA Good Cat ยังคงมีเฉดสีตัวถังภายนอกให้เลือกเกือบครบทุกเฉดตามเดิม เว้นเพียงตัวรถสีฟ้าที่ถูกตัดทิ้งไป และในฝั่ง ORA Good Cat GT ก็มีการเปลี่ยนเฉดสีภายนอกใหม่ จากโทนดำ/แดง กับ เทา/แดง เป็น ดำ/เหลือง กับ เทา/เหลือง แทน
ด้านภายในห้องโดยสาร ก็มีการเปลี่ยนงานออกแบบในบางชิ้นส่วนใหม่ ได้แก่ชุดคอนโซลกลาง ที่แต่เดิมเคยเป็นแท่นติดตั้งลูกบิดปรับตำแหน่งเกียร์ ก็ได้ถูกเปลี่ยนเป็นถาดสำหรับวางโทรศัพท์มือถือพร้อมระบบไวร์เลสชาร์จ และเพิ่มความยาวของช่องเก็บของใต้ที่วางแขนให้มากขึ้น
โดยที่คราวนี้ ลูกค้าจะต้องใช้ก้านกระดกทางด้านขวาของคอพวงมาลัยเป็นตัวปรับตำแหน่งเกียร์เหมือนรถยุโรประดับพรีเมียมหลายๆแบรนด์แทน และที่จะลืมไม่ได้ก็คือผู้ใช้สามารถปรับตำแหน่งพวงมาลัยทั้งสูง-ต่ำ และใกล้-ไกล ได้แล้ว (เดิมปรับได้เพียง สูง-ต่ำ)
นอกจากนี้ สำหรับตัวรถ Good Cat GT ยังจะได้รับการปรับเปลี่ยนดีไซน์เบาะนั่งใหม่ ให้เป็นแบบสองตอน ไม่สามารถปรับความสูง-ต่ำของหัวหมอนได้ ซึ่งให้อารมณ์แบบรถสปอร์ตมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ในส่วนฟังก์ชันใหม่ๆที่เพิ่มขึ้นมาเอง หลักๆแล้วก็จะเริ่มจาก การเพิ่มระบบความปลอดภัยอย่าง “ระบบชะลอความรุนแรงของการชนครั้งที่ 2” เข้ามา
ตามด้วยระบบอำนวยความสะดวกสบายอย่าง ระบบ “Waiting Mode” หรือ โหมดรอ ที่ผู้ใช้สามารถสตาร์ทรถเปิดแอร์ทิ้งไว้ แล้วนั่งรอในรถ โดยไม่ต้องเปิดไฟส่องสว่างรออบคันให้แยงตาชาวบ้านในยามค่ำคืนได้
ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเหล่าพ่อบ้านทั้งหลาย หรือใครก็ตามที่ต้องจอดรอผู้โดยสารในรถเป็นระยะเวลานานๆ และโหมดนี้ยังไม่จำกัดระยะเวลาในการเปิดอีกด้วย นั่นจึงหมายความว่าคุณสามารถใช้งานมันในลักษณะของการนำรถไปนอนแคมปิ้งได้ด้วย
เพียงแต่ตัวหน้าจอต่างๆภายในรถจะไม่ได้ดับตาม เนื่องจากมันยังไม่ใช่โหมดแคมป์ปิ้งอย่างแท้จริง และมีข้อจำกัดในเรื่องของปริมาณแบตฯขั้นต่ำที่ยังต้องคงเหลือไว้ให้ผู้ใช้ยังสามารถขับรถไปยังจุดชาร์จได้เพียงพออยู่
และในที่สุด ยังมีการเพิ่มโหมดจ่ายไฟ หรือระบบ V2L ที่สามารถจ่ายไฟได้สูงสุด 3300 วัตต์ ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการจ่ายไฟให้กับพัดลม, ลำโพง, และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนักได้เหลือเฟือ
แต่เมื่อเปิดโหมดจ่ายไฟนี้ขึ้นมา ระบบปรับอากาศในรถอาจทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าไหร่นัก เนื่องจากระบบถูกดึงไฟไปให้กับระบบ V2L
ทั้งนี้ ตัวเงื่อนไขการใช้งานระบบ V2L ใน ORA Good Cat ซึ่งมีให้ใช้เฉพาะในรุ่น Ultra และ GT จะมีข้อสังเกตใหญ่ๆอยู่ 2 ประการ คือ
- ผู้ใช้จะไม่สามารถเปิดใช้งานระบบได้ หากรถมีปริมาณไฟอยู่ในแบตเตอรี่เหลือไม่ถึง 30%
- ผู้ใช้ยังไม่สามารถตั้งลิมิตเปอร์เซ็นต์ของปริมาณไฟสำหรับการใช้งานได้ หมายความว่า เมื่อเปิดการใช้งานระบบนี้ขึ้นมาแล้ว ระบบจะไม่มีการตัดไฟใดๆทั้งสิ้น จนกว่าแบตเตอรี่ของตัวรถจะเหลือน้อยกว่า 25% จึงทำให้อาจเกิดกรณีใช้ไฟเพลินข้ามคืน จนตื่นเช้ามาแล้วไฟแบตฯเหลือน้อย จนผู้ใช้อาจเหลือเปอร์เซ็นต์แบตฯไม่พอสำหรับขับรถจากจุดพักไปยังสถานีชาร์จได้
- สายไฟสำหรับใช้งานระบบ V2L ที่เป็นของแบรนด์ GWM โดยตรง ไม่ได้แถมติดรถมาให้ และยังไม่มีการระบุราคาซื้อแยกในตอนนี้ (แต่ทั้งนี้ทางผู้บริหารอาจกำลังพิจารณาโปรโมชัน และราคาของอุปกรณ์เสริมส่วนนี้อยู่ เพื่อส่งเสริมการขายต่อไป)
อีกไฮไลท์สำคัญ ที่ทางค่ายมีการระบุว่า “เปลี่ยน” อย่างเป็นทางการ ก็คือ แบตเตอรี่ ที่เปลี่ยนมาใช้ “LFP” หรือ “แบตเตอรี่ไอออนฟอสเฟส” ขนาด 57.70 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในทุกรุ่นย่อย จากเดิมที่จะใช้แบตฯ LFP ขนาด 47.788 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในรุ่น 400 Pro และ NMC (แบตเตอรี่ชนิดลิเธียม Ternary) ขนาด 63.139 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในรุ่น 500 Ultra และ GT
แต่เนื่องจากตัวรถที่เราได้จับคู่ทดสอบครั้งนี้ คือ ORA Good Cat Ultra เราจึงขอเทียบกับ ORA Good Cat 500 Ultra ล็อตผลิตในประเทศจีนเป็นหลัก ซึ่งด้วยตัวแบตเตอรี่ที่เปลี่ยนไป จึงทำให้ระยะทางในการใช้งานสูงสุดต่อชาร์จของมันลดลงเล็กน้อย จาก 500 กิโลเมตร/ชาร์จ เหลือ 480 กิโลเมตร/ชาร์จ ตามมาตรฐาน NEDC
ส่วนรุ่น Pro ตอนนี้มีระยะทางการวิ่งเท่าตัว Ultra แล้วเรียบร้อย จากเดิมที่เคยวิ่งได้ 400 กิโลเมตร/ชาร์จ ขณะที่ตัว GT ระยะทางในการใช้งานสูงสุดจะลดลงจาก 500 กิโลเมตร/ชาร์จ เหลือ 460 กิโลเมตร/ชาร์จ
ซึ่งนั่นคือทั้งหมดที่ทาง GWM ระบุให้ทุกคนได้รับรู้ในเอกสารโบรชัวร์…
ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลที่เราได้รับรู้เพิ่มเติมในวันทดสอบก็คือ ด้วยวัสดุการทำแบตเตอรี่ที่เปลี่ยนไป จึงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแค่เรื่องความสเถียรและความทนทานต่อสภาพอากาศของประเทศไทยมากกว่า รวมถึงต้นทุนในการผลิตที่น้อยกว่าแบตเตอรี่แบบ NMC (เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ตัวรถมีราคาถูกลง) เท่านั้น
แต่มันยังทำให้น้ำหนักตัวรถเพิ่มขึ้นอีกร้อยกว่ากิโลกรัมด้วยกัน (ไม่มีการระบุตัวเลขน้ำหนักที่เพิม่ขึ้นมาแบบชัดๆ)
สิ่งที่ตามมาก็คือ ทางฝ่ายเทคนิคระบุว่าตัวรถ ORA Good Cat ล็อตผลิตไทยจำเป็นจะต้องมีการปรับเซ็ทช่วงล่างใหม่ด้วย ซึ่งก็น่าเสียดายอีกครั้งที่พวกเขายังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า การปรับเซ็ทช่วงล่างใหม่ที่ว่า เกิดขึ้นในส่วนใดบ้าง
นอกไปเสียจากการระบุว่ามันได้ปรับไปใช้ “สปริงโช้ก รุ่นใหม่ ที่มีความยาวมากขึ้น” ซึ่งตัวสปริงใหม่นี้ ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนค่า K หรือ ความแข็งของตัวสปริงแต่อย่างใด
แต่ถ้าให้คิดตามกันดีๆ หากทางค่ายมีการปรับไปใช้สปริงโช้กใหม่ที่ยาวขึ้น แต่ยังคงจับมันยัดเข้าไปในเบ้าโช้กเดิมอยู่ ก็หมายความว่าแท้จริงแล้วมันคือการเพิ่มความแข็งของสปริงในอีกนัยหนึ่งเพื่อให้รับกับน้ำหนักตัวรถที่มากขึ้นได้เช่นกัน
ส่วนสาเหตุที่ไม่มีการปรับเพิ่มความแข็งสปริง จากการเปลี่ยนวัสดุ หรือ เพิ่มความโตของเส้นผ่านศูนย์กลางขดเหล็กที่ใช้ทำสปริง แล้วไปใช้การเพิ่มระยะความยาวของเหล็กเส้นก่อนนำมาทำขดสปริงแทน ก็อาจมีเหตุผลมาจากเรื่องของต้นทุน และความสะดวกในการผลิตเช่นกัน
แล้วการเปลี่ยนไปใช้สปริงที่ยาวขึ้น ทำให้รถขับต่างจากเดิมมั้ย ?
เรียนตามตรง ก็คงต้องบอกว่าต่าง แต่มันต่างน้อยมากๆ จนหากคุณไม่ใช่คนที่ใช้ตัวรถรุ่นก่อนหน้ามาก่อนเป็นประจำอยู่แล้วจะสามารถสัมผัสมันได้
แต่เราก็ต้องบอกกันต่ออีกว่า มันเป็นการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ค่อนข้างดีกว่าเดิม เพราะก่อนหน้านี้หลายคนอาจรู้สึกบ้างว่า ORA Good Cat นั้น เป็นรถยนต์ที่ติดกระด้างนิดๆ เวลาเจอหลุม หรือรอยแตกบนผิวถนน ก็มักจะส่งอาการจากแรงกระแทกเหล่านั้นขึ้นมาหาผู้โดยสารภายในรถมากสักหน่อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติเดียวกัน ที่ล้วนเซ็ทช่วงล่างในทางตรงกันข้าม (ติดนุ่ม จนหลายครั้งก็นุ่มเกิน)
และแม้จากการวิเคราะห์โดยคร่าวๆ (เท่าที่เรามีข้อมูลในตอนนี้) จะดูเหมือนว่าตัวรถ “แมวไทย” มาพร้อมกับชุดระบบกันสะเทือนใหม่ที่ได้สปริงแข็งขึ้น ทว่าเมื่อได้ลองขับ กลับได้ข้อสรุปว่าเป็นการทำเพื่อไม่ให้รถย้วยเกินไปจากน้ำหนักรถที่เพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมากต่างหาก
เพราะจากการที่ได้ลองสัมผัสตัวรถเป็นระยะทางราวๆ 100 กว่ากิโลเมตร ส่วนตัวผู้ทดสอบมองว่าคราวนี้ตัวรถสามารถจัดการเรื่องการซับแรงกระแทกได้ดีกว่าเดิมเล็กน้อย โดยเฉพาะพวกรอยต่อ หรือรอยแตกถนนที่มีความเนียนขึ้นอีกนิดหน่อย จึงทำให้มันกลายเป็นรถที่มีความนุ่มนวลในการโดยสารขึ้น และอยู่ในระดับที่ควรเป็นมากกว่าเดิมแล้วในครั้งนี้
ในขณะเดียวกัน แม้น้ำหนักตัวรถจะมากขึ้นเยอะ แต่ก็มากขึ้นจากตัวแบตที่กองอยู่ใต้รถ ทำให้ศูนย์ถ่วงรถอยู่ต่ำลงกว่าเดิม ส่งผลให้อาการโคลงตัวของรถ กลับมีความวูบวาบน้อยลง และให้ความรู้สึกตามสั่งมากขึ้นด้วย (แม้น้ำหนักพวงมาลัยในแต่ละโหมด จะไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากนักก็ตาม)
ดังนั้นในส่วนการทำงานของระบบกันสะเทือนจึงถือว่าค่อนข้างน่าพอใจ เพราะทางค่ายสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดจากน้ำหนักตัวรถที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการแก้ข้อติงจากตัวรถที่เป็นล็อตผลิตจีนในคราวเดียวกันได้อีกด้วย
ติดก็แค่เพียงเรายังไม่มีโอกาสได้ลองตัว GT ที่หลายคนมองว่ามันมีช่วงล่างค่อนข้างแข็ง ในล็อตผลิตจีน ว่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเหมือนกับตัวรถรุ่น Ultra หรือไม่ ซึ่งคงต้องรอทีมงาน Ridebuster ทดสอบกันต่อไปในโอกาสหน้า
ในด้านความสามารถของการเรียกอัตราเร่ง เราก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ตัวรถ ORA Good Cat ล็อตผลิตไทยนั้น ไม่ได้มาพร้อมกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลังสูงสุดแรงขึ้นจากตัวรถล็อตผลิตจีนเลยสักรุ่น
นั่นจึงหมายความว่าตัวรถรุ่น Ultra ที่เราได้จับคู่ทดสอบด้วยนั้น ยังใช้มอเตอร์กำลังสูงสุด 143 แรงม้า PS และแรงบิดสูงสุด 210 นิวตันเมตร เท่าเดิมเหมือนตัว 500 Ultra แต่อย่างน้อยก็มีการเคลมความเร็วสูงสุดเพิ่มขึ้น จาก 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เท่ากับรุ่น GT แล้วเป็นที่เรียบร้อย
ซึ่งเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนก็มักจะคิดว่า แบบนี้อัตราเร่งของมันก็คงไม่ได้ต่างไปจากเดิมเลยน่ะสิ
แต่นั่นก็ไม่ถูกไปเสียทั้งหมดครับ…
เพราะจากน้ำหนักแบตฯใหม่ที่ถ่วงและหน่วงรถเพิ่มขึ้น บวกกับการแอบปรับเซ็ทระบบสมองกล และซอฟท์แวร์ของระบบคันเร่งใหม่ จึงทำให้แม้ลักษณะการเรียกอัตราเร่งของรถ “แมวไทย” อาจดูกระฉับกระเฉงน้อยลง แต่มันก็แลกมาซึ่งความนุ่มนวล ในการควบคุมอัตราเร่งและความเร็วที่ดีขึ้นอีกหน่อย
กล่าวคือ แม้ระยะฟรีคันเร่งจะน้องลงเล็กน้อย ทำให้เมื่อเรากดคันเร่งลงไปนิดเดียว รถก็พร้อมทำความเร่งแล้ว ทว่าในจังหวะการใช้งานรถช่วงความเร็วต่ำๆ หรือการออกตัวจากไฟแดง เราจะพบว่าคราวนี้ตัวรถมีอาการ “กระโดด” ออกจากตอนจอดหยุดนิ่งน้อยลง มีความเป็นสวิทช์เปิด-เปิดน้อยลง ซึ่งในทางกลับกันนั่นก็จะทำให้ผู้ใช้ผ่อนคลายในการใช้งานจากคันเร่ง ที่มีความละเอียดต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น
ส่วนความละเอียดของคันเร่งในช่วงความเร็วปานกลางถึง-สูง ยังคงอยู่ในระดับมาตรฐาน และสามารถปรับเปลี่ยนความไวต่อปลายเท้าของผู้ใช้ได้ตามโหมดต่างๆที่มีให้เลือกทั้ง 5 โหมดดังเดิม แต่ในมุมส่วนตัวผู้ทดสอบกลับชอบการขับด้วยโหมด “ปกติ” มากที่สุด เพราะขับแล้วรู้สึกสบายเท้าสุด ไม่หนืดจนเกินไปเหมือนโหมดประหยัด และสามารถเรียกอัตราเร่งได้เหลือเฟือแล้ว ไม่จำเป็นต้องปรับไปใช้โหมดสปอร์ตให้เปลืองแบตฯแต่อย่างใด
ด้านการเก็บข้อมูลเรื่องอัตราสิ้นเปลืองพลังงาน รวมถึงระยะเบรก ที่อาจมีผลจากน้ำหนักตัวรถที่เพิ่มขึ้น น่าเสียดายที่ด้วยโจทย์และกรอบเวลาการทดสอบที่มีอยู่น้อยนิด จึงทำให้เราต้องขอเก็บคำถามนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะถึงการนำตัวรถมาทำการทดสอบแบบ Full Review ครั้งต่อไป
แต่ในการทดสอบ รีวิว แบบ 1st Impression ของ 2024 ORA Good Cat ล็อตผลิตไทยครั้งนี้ ก็ทำให้เรารับรู้ได้ว่า ทาง GWM มีการปรับแก้รถในหลายส่วนใหม่ ที่แม้อาจจะไม่มากมายนัก แต่ก็ทำให้เจ้า “แมวไทย” เป็นรถที่ให้ความสะดวกสบาย และผ่อนคลายในการใช้งานมากขึ้น
ไม่ว่าจะทั้งจาก การทำงานของช่วงล่าง ที่แต่เดิมก็ให้ความมั่นใจในการใช้งานมากเป็นอันดับต้นๆในหมู่รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท (ถึงล้านนิดๆ) อยู่แล้ว ก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก ฝั่งการทำงานของคันเร่งก็มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่เป็นข้อด้อยอีกต่อไป และการเพิ่มออพชันหรือฟังก์ชันลูกเล่นต่างๆที่ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างครบครัน สู้กับคู่แข่งได้อย่างทัดเทียม
เมื่อประกอบกับราคาวางจำหน่ายที่ถูกลงกว่าเดิม เราจึงมองว่ามันยังคงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าสนใจไม่แพ้เหล่าน้องใหม่ที่พากันถาโถมเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ณ ตอนนี้
โดยราคาสำหรับการวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการของ 2024 ORA Good Cat สนนตัวเลขอยู่ที่
- GWM ORA Good Cat PRO : 799,000 บาท (ถูกลงจาก 400 PRO : 29,500 บาท)
- GWM ORA Good Cat ULTRA : 899,000 บาท (ุถูกลงจาก 500 ULTRA : 60,000 บาท)
- GWM ORA Good Cat GT : 1,099,000 บาท (ถูกลงจากเดิม 187,000 บาท)