Suzuki Swift นับว่าเป็นรถยนต์อีกหนึ่งรุ่น ที่อยู่ในลิสต์ช่างใจของใครหลายๆคนอยู่เสมอ เมื่อพวกเขาต้องเลือกว่า “รถอีโคคาร์ คันไหน คือตัวเลือกที่ใช่ที่สุด” ซึ่งในวันนี้ เราจะพาทุกท่านไปหาคำตอบนั้นกัน ว่ามันจะตอบโจทย์ในใจคุณหรือไม่ ?
Suzuki Swift รุ่นปัจจุบัน โมเดลปี 2022 ถือเป็นเจเนอเรชันที่ 3 ของรถยนต์ตระกูล “สวิฟท์” ที่ถูกนำมาผลิตและวางจำหน่ายในประเทศไทย มาตั้งแต่ช่วงปี 2018 ซึ่งเท่ากับว่าในตอนนี้ถือเป็น ปีที่ 5 ของอายุตัวถังรุ่นปัจจุบันกันแล้ว ทว่าหากมองในภาพรวม มันก็ยังคงเป็นรถยนต์อีกหนึ่งรุ่นที่น่าสนใจสำหรับใครที่มองหาความคุ้มค่ากันอยู่ในปัจจุบัน
โดยสำหรับตัวรถ Swift ที่เราได้นำมาทดสอบและ รีวิว ในครั้งนี้ ก็คือตัวรถรหัส GLX ซึ่งถือเป็นตัวบนสุดประจำรุ่น ที่มาพร้อมกับหน้าตา และฟังก์ชันที่สุดเท่าที่ทาง Suzuki จะให้ได้บนตัวรถรุ่นนี้ เริ่มจากในส่วนของภายนอก ทั้ง
- เส้นสายรอบคันเน้นความโค้งมน แต่มีสัดส่วนที่ชัดเจนและลงตัวตั้งแต่หัวจรดท้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชิ้นแก้มข้างซุ้มล้อหน้า-หลัง
- กระจังหน้าสีดำเงา พร้อมแถบเส้นโครเมียมคาดกลาง
- ไฟหน้าแบบ LED Projector พร้อมแถบไฟ Daytime Running Light
- ไฟท้าย LED
- ไฟตัดหมอกที่กันชนหน้า
- ชุดล้ออัลลอยด์ก้านปัดเงาขนาด 16 นิ้ว รัดด้วยยางขนาด 185/55-16
ส่วนงานตกแต่ง และอุปกรณ์ภายในห้องโดยสารเอง ก็รองรับการใช้งานขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวันที่ครับครันเช่นกัน ทั้ง
- มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ และความเร็วแบบเข็มกวาด สามารถอ่านค่าได้ง่าย ที่ถูกคั่นกลางด้วยชุดจอ MID แบบ LCD ขาว-ดำ สำหรับแสดงผลค่าต่างๆ เช่น ระยะทางรวม, ระยะทางทริป, เวลา, และอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
- พวงมาลัยหุ้มหนังทรงสปอร์ตแบบ D-Shape ปรับได้ 4 ทิศทาง และที่ก้านพวงมาลัยมีปุ่มกดสำหรับสั่งการระบบต่างๆภายในรถแบบมัลติฟังก์ชัน
- ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์แบบ Push Start ทำงานร่วมกับชุดกุญแจ Keyless ที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องกดปลดล็อครถเพื่อเปิดประตู (เพียงแค่ถือกุญแจ แล้วเดินมาใกล้ๆก็เปิดประตูได้เลย) หรือกดล็อค เพื่อล็อครถ (เพียงแค่ถือกุญแจแล้วเดินห่างออกไปสัก 2-3 เมตร รถจะล็อคตนเองโดยอัตโนมัติ) ก็ได้
- แผงคอนโซลงานออกแบบเน้นเส้นสายที่ดูเป็นสัดส่วนชัดเจน ไม่หวือหวา แต่ก็ไม่ดูโบราณ และเน้นโทนสีดำเป็นหลัก
- ที่คอนโซลกลางเป็นจุดติดตั้งชุดจอแสดงผลระบบอินโฟเทนเมนท์ขนาด 8 นิ้ว ซึ่งรองรับการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้งานระบบ Apple CarPlay หรือ Android Auto ผ่านการต่อสาย USB ทางด้านล่างคอนโซลที่มีมาให้ 1 ช่อง ข้างกันกับพอร์ทจ่ายไฟแบบ 12 โวลท์อีก 1 ช่อง
- ระบบปรับอากาศภายในห้องโดยสารเป็นแบบอัตโนมัติ พร้อมจอ LCD แสดงโหมดการทำงาน, อุณหภูมิ, และความแรงลม แต่ยังไม่ใช่ระบบแอร์แบบแยกส่วน
- สวิทช์บนแผงประตูฝั่งคนขับ นอกจากจะมีปุ่มปรับกระจกข้างประตูทั้ง 4 บาน (เฉพาะฝั่งผู้ขับที่เป็นแบบ One-Touch Down) ยังมีปุ่มปรับตำแหน่งกระจกมองข้างแบบไฟฟ้า และปุ่มสั่งพับกระจกมองข้างไฟฟ้ามาให้ด้วย
- เพิ่มความสะดวกสบายให้กับสาวๆชาวของเยอะด้วยช่องเก็บของอเนกประสงค์ และช่องใส่ชวดน้ำ 7 ตำแหน่ง
- เบาะนั่งทรงสปอร์ต แต่ยังหุ้มด้วยผ้า
- เบาะแถว 2 รองรับการติดตั้งที่นั่งสำหรับเด็กมาตรฐาน ISOFIX และสามารถพับเก็บแบบ 60 : 40 ได้ เพื่อเพิ่มพื้นที่การเก็บสัมภาระทางด้านหลังให้มีความจุมากถึง 265 ลิตร
หากแค่นั้นยังไม่พอ ตัวรถ Suzuki Swift ยังมีจุดขายในเรื่องความปลอดภัย และระบบอำนวบความสะดวกผู้ใช้อีกหลายรายการด้วยกัน นั่นคือ
- โครงสร้างตัวถังแพลตฟอร์ม HEARTECT ผลิตขึ้นจากเหล็กกล้า ทนแรงดึงสูง ซึ่งไม่ได้มีแค่เพียงความแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังทำให้น้ำหนักตัวถังเบาลง ช่วยในเรื่องการจัดสมดุลตัวรถที่ดีกว่า
- โครงสร้างสำหรับรองรับระบบกันสะเทือนหน้า-หลัง ถูกออกแบบให้เชื่อมต่อเป็นแนวเดียวกัน เพื่อช่วยในเรื่องของการกระจายแรงสั่นสะเทือนต่างๆ
- ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง ได้แก่ 2 ลูก ที่พวงมาลัย กับคอนโซลฝั่งผู้นั่ง, 2 ลูกทางด้านข้างเบาะนั่งผู้ขับ และผู้โดยสารแถวหน้า, และอีก 2 จุดคือม่านถุงลมด้านข้างที่พาดยาวจากแนวกระจกประตูคู่หน้า ไปจนถึงแนวกระจกประตูคู่หลัง
- ระบบป้องกันล้อล็อคตายขณะเบรก หรือ ABS
- ระบบกระจายแรงเบรก หรือ EBD
- ระบบควบคุมสเถียรภาพการทรงตัว หรือ ESP
- ระบบล็อคความเร็ว หรือ Cruise Control
- ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน หรือ Hill Hold Control
- ระบบกล้องมองหลัง
ด้านข้อมูลทางเทคนิคเพิ่มเติมที่สำคัญ ก็จะมีรายละเอียดดังนี้
- มิติตัวรถ
- ความยาว : 3,845 มิลลิเมตร
- ความกว้าง : 1,735 มิลลิเมตร
- ความสูง : 1,495 มิลลิเมตร
- ความสูงใต้ท้องรถ : 120 มิลลิเมตร
- ความยาวฐานล้อ : 2,450 มิลลิเมตร
- ความกว้างฐานล้อคู่หน้า : 1,520 มิลลิเมตร
- ความกว้างฐานล้อคู่หลัง : 1,525 มิลลิเมตร
- รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด : 4.8 เมตร
- ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง : 37 ลิตร
- น้ำหนักตัวรถ : 910 กิโลกรัม (สำหรับรุ่น GLX)
สัมผัสภาพรวมจากบรรยากาศภายในห้องโดยสาร
สำหรับบรรยากาศภายในห้องโดยสาร สิ่งที่เป็นจุดเด่นแรกของ Swift ก็คือ แม้ดูจากภายนอก มันจะเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก แต่ปรากฏว่ามันกลับให้ความรู้สึกที่โปร่ง โล่ง ตั้งแต่การเปิดประตูเพื่อเข้าไปนั่ง และทัศนวิสัยภายในที่กว้างกว่าใครในคลาสเดียวกัน ไม่ว่าจะสำหรับผู้โดยสารตอนหน้า หรือผู้โดยสารตอนหลัง (ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีช่องเก็บของคันกลางห้องโดยสาร)
ในส่วนของตัวเบาะนั่ง แม้จะยังเป็นเบาะผ้า แต่ส่วนตัวผู้ทดสอบก็ค่อนข้างจะชอบเบาะเช่นนี้มากกว่าเบาะหุ้มหนังอยู่แล้ว เพราะมันไม่ค่อยสะสมความร้อนในตอนที่รถต้องจอดตากแดด และมีความสากเสียดทานกับเสื้อผ้าและกางเกงกำลังดี ไม่หนืดเกินไปเมื่อเทียบกับเบาะหุ้มหนัง เมื่อประกอบกับพวงมาลัยแบบ D-Shape ที่ไม่ต้องพะวงเรื่องความแคบช่วงต้นขา หรือตำแหน่ง เพราะมันสามารถปรับได้ถึง 4 ทิศทาง และแผงประตูต่างๆที่ไม่ได้ยื่นเข้ามาหาตัวมากเกินไป ทำให้ผู้ขับไม่ต้องรู้สึกอึดอัดเท่าไหร่นัก
ด้านรูปทรงของเบาะเอง เมื่อเทียบกับตัวผู้ทดสอบที่เป็นผู้ชายสูงเพียง 168 เซนติเมตร แต่หนักถึง 90 กว่ากิโลกรัม หรือว่าง่ายๆคือเป็นผู้ชายหุ่นหมี ก็สามารถนั่งได้ค่อนข้างสบายบนเบาะนั่งของมัน และถึงแม้จะบอกว่าเบาะเป็นทรงสปอร์ตที่มีปีกออกมารับแรงเหวี่ยง แต่มันก็ไม่ได้บีบเข้ามามากเท่าไหร่นัก จนผู้ทดสอบยังอาจรู้สึกถึงแรงเหวี่ยงอยู่บ้างตอนเลี้ยวโค้งแรงๆ
ส่วนเบาะนั่งสำหรับผู้โดยสารตอนหลังเอง ก็จัดว่าให้ความรู้สึกในการนั่งที่ค่อนข้างสบาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความกว้าง และองศาการเอนขอพนักหลัง เรียกได้ว่าหากต้องไปรับผู้ใหญ่ของครอบครัวมานั่งเดินทางเข้าเมืองไปด้วยกันคงไม่มีใครโดนบ่นแน่นอน แต่หากต้องนั่งไปด้วยไกลๆ ก็อาจจะโดนบ่นเรื่องอื่นแทน (ซึ่งนั้นเราจะไปว่ากันต่อในส่วนระบบช่วงล่าง)
จุดสังเกตในเรื่องนี้ ก็คงมีแค่เพียงในเรื่องความนุ่มของเบาะนั่ง ที่หากเป็นการใช้งานเพียงสั้นๆ ขับไปทำงานในเมืองเพียงไม่นาน หลายๆท่านก็อาจจะรู้สึกว่ามันคือความนุ่มที่กำลังดี แต่หากนั่งนานๆไป เช่นการเดินทางระยะไกลแบบนั่งในรถไม่ต่ำกว่า 3-4 ชั่วโมง งานนี้ก็อาจเริ่มรู้สึกเมื่อยขึ้นมาบ้าง (หรือว่าผู้ทดสอบแก่เกินไปแล้วหว่า ?)
เครื่องยนต์ อัตราการตอบสนอง และอัตราสิ้นเปลือง
- รหัสเครื่องยนต์ : K12M
- รูปแบบเครื่องยนต์ : เบนซิน, 4 จังหวะ, 4 สูบเรียง, DOHC, 16 วาล์ว, ระบายความร้อนด้วยน้ำ
- ขนาดกระบอกสูบ x ช่วงชัก : 73.0 x 71.5 มิลลิเมตร
- อัตราส่วนกำลังอัด : 11.4 : 1
- ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง : หัวฉีดคู่ DualJet
- กำลังสูงสุด : 83 แรงม้า PS ที่ 6,000 รอบ/นาที
- แรงบิดสูงสุด : 108 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบ/นาที
- น้ำมันเชื้อเพลิงที่รองรับ : เบนซิน, แก๊สโซฮอล์ E10, แก๊สโซฮอล์ E20
- อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงตามเคลม : 23+ กิโลเมตร/ลิตร
- ระบบส่งกำลัง : เกียร์อัตโนมัติ CVT
- ระบบขับเคลื่อน : 2 ล้อหน้า
ด้านการทำงานของเครื่องยนต์ ซึ่งอันที่จริงก็ถือว่าเป็นบล็อคล่าสุดของ Swift ซึ่งแม้ว่ามันจะมีแรงม้าน้อยลงกว่ารุ่นพี่ก็ตาม แต่เทคโนโลยีต่างๆที่ใส่มาให้ กลับไม่ได้ทำให้มันดูช้าลงแต่อย่างใด ทั้งจากการใช้หัวฉีดแบบ Dualjet, การใช้ระบบเกียร์ CVT ที่ถูกปรับเซ็ทใหม่ และการที่น้ำหนักตัวถังเบาลงหลายกิโลกรัม
นั่นจึงทำให้จากการทดสอบขับขี่จริง ผู้เขียนพบว่าอัตราเร่งตีนต้นของมันก็ยังคงมีความตอบสนองต่อเท้าที่กดลงไปเพียงเบาๆได้เป็นอย่างดี หากเป็นการใช้งานในเมืองที่มีรถติดๆขัดๆ การออกตัวจากหยุดนิ่ง หรือทำอัตราเร่งจากความเร็วช่วงราวๆ 10-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่ได้มีความรู้สึกว่าอืดอาดแต่อย่างใด (ออกไปทางพุ่งนิดๆเสียด้วยซ้ำ)
แต่ทั้งนี้ หากคุณเป็นคนเท้าหนัก การเติมคันเร่งแบบกดพรวดเดียว อาจรู้สึกว่ารถไม่สามารถทำคันเร่งได้ตามใจสั่งเท่าไหร่นัก ส่วนหนึ่งก็เพื่อการถนอมเกียร์ให้ยังคงมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งหากคุณไม่กังวลก็เปลี่ยนไปใช้โหมด S เพื่อสั่งให้เกียร์ช่วยรั้งรอบเครื่องยนต์ให้สูงขึ้นอีกหน่อยก็ได้ ทว่าส่วนตัวผู้ทดสอบก็ยังพบว่าอัตราเร่งความเร็วในช่วง 70-110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ของมัน ก็ยังไม่ได้รวดเร็วตามใจแบบรถเครื่อง 1.6 เท่าไหร่นัก
ยังดี ที่การทำอัตราเร่งช่วงความเร็วหลังจากนั้นกลับไม่มีตกและไหลขึ้นเรื่อยๆจนแตะหลัก 140-150 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้สบายๆ ซึ่งก็ถือว่าพอถูไถกันได้ แต่ไม่แนะนำเท่าไหร่หากคุณไม่รีบจริงๆก็อย่าทำตามกันจะดีกว่า เพราะมันเริ่มเป็นความเร็วที่เกินกฏหมายกำหนดไปไกลแล้ว
ด้านตัวเลขอัตราสิ้นเปลือง แม้เจ้า Swift จะไม่มีระบบไฮบริดมาช่วย แต่ด้วยเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็ก แถมยังมีระบบ EGR มาช่วยหมุนเวียนไอเสียให้กลับไปสันดาปในห้องเผาไหม่ จนกว่าจะสะอาด จึงทำให้การใช้งานมันในเมืองมีความประหยัดในระดับที่น่าประทับใจ ด้วยตัวเลขเฉลี่ยในเมืองราวๆ 17-19 กิโลเมตร/ลิตร หรือถ้าหากขับเดินทางนอกเมือง ด้วยความเร็วเดินทาง ราวๆ 90-110 กิโลเมตร/ชั่วโมง เลขอัตราสิ้นเปลืองก็จะดีขึ้นหน่อย มาอยู่ที่ราวๆ 19-21 กิโลเมตร/ชั่วโมง และถ้าคุณเหยียบซัดหนักๆ ใช้ความเร็วหลัก 120-130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นมา เลขอัตราสิ้นเปลืองที่ว่านี้ก็จะตกไปอยู่ที่ราวๆ 16-18 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งเอาจริงๆก็ยังถือว่าอยู่ในจุดที่พอรับได้อยู่ดี
การทำงานและการตอบสนองของระบบช่วงล่าง
- ด้านหน้า : แบบอิสระ ปีกนกเดียว แม็คเฟอร์สัน สตรัท พร้อมคอยล์สปริง
- ด้านหลัง : แบบทอร์ชันบีม พร้อมคอยล์สปริง
เบื้องต้น ระบบกันสะเทือนของ Swift ก็จะเห็นได้ว่ามันเป็นระบบกันสะเทือนยอดนิยมของรถยนต์นั่งคลาสนี้อยู่แล้ว เนื่องจากไม่มีความซับซ้อน ดูแลรักษาง่าย แต่ได้สมรรถนะที่เหมาะสมกับขนาดตัว น้ำหนัก และความแรงของตัวรถ
และจากการใช้งานจริง หากเป็นการใช้งานในชีวิตประจำวันแบบมีเพียงผู้ขับ และผู้โดยสารนั่งข้างกัน ลักษณะการทำงานของช่วงล่างที่ติดรถมา ผู้ทดสอบพบว่าความสามารถซับแรงช่วงความเร็วต่ำยังไม่สามารถเก็บได้หมดจดเท่าไหร่นัก แต่จะดีขึ้นเรื่อยๆเมื่อเริ่มใช้ความเร็วในระดับ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไปจนถึงหลักราวๆ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นช่วงที่กำลังเหมาะสำหรับการใช้งาน
และถึงแม้ช่วงล่างจะติดกระด้างนิดๆในช่วงความเร็วต่ำ ทว่าเมื่อประกอบกับแพลตฟอร์มโครงสร้างใหม่ และน้ำหนักตัวที่ค่อนข้างเบา จึงทำให้เราสามารถหักเลี้ยวได้อย่างรวดเร็ว กระชับ คล่องตัว และมั่นใจดีมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงความเร็วต่ำ-กลาง ส่วนในการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงนิดๆ ตัวรถอาจจะมีอาการโช้กจมลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้น่าหวาดเสียวจนผู้ขับต้องพะวงในเรื่องการถ่ายน้ำหนักพวงมาลัยแต่อย่างใด เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาโดยตลอดสำหรับรถยนต์ตระกูล Swift จาก Suzuki และที่ดีกว่ารุ่นพี่จริงๆก็คือมันมีทั้งความมั่นคง และคล่องตัวกว่ารุ่นพี่ขึ้นมาอีกขั้นนั่นเอง
จุดที่น่าสังเกตในจุดนี้ ก็คงมีแค่เพียงตอนที่ หากเราต้องไปเดินทางไปกับครอบครัว แบบครบทุกที่นั่ง (คือนอกจากมีผู้โดยสารนั่งเบาะข้างหน้าไปด้วยกันแล้ว ยังมีผู้โดยสารนั่งในเบาะแถวหลังทั้ง 2 ไปด้วย) เมื่อนั้นตัวโช้กหลังจะเริ่มมีอาการ “ตึงตัง” ขึ้นมาค่อนข้างชัดเจน จนผู้โดยสารทางด้านหลังบ่นอุบเป็นพักๆ ว่าให้ขับช้าๆลงหน่อย เพื่อลดแรงกระแทกที่เกิดขึ้น
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องของโช้กที่นิ่มเกินไป เพราะการเข้าโค้งด้วยความเร็วปานกลางตอนที่รถมีน้ำหนักภายในห้องโดยสาร ก็ไม่ได้มีอาการย้วยผิดปกติไปจากตอนวิ่งแบบมีผู้ขับตัวคนเดียวเท่าไหร่นัก
แต่คาดว่าเป็นเพราะช่วงยุบโช้กหลังที่น้อยไปสักหน่อย จึงทำให้มันเกิดอาการโช้กยันง่ายไปนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแรงกระแทกจากฝาท่อ หรือหลุม ไม่ก็ยางมะตอยที่ใช้ปะผิวถนน ซึ่งก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยบนถนนในเมืองกรุงเทพฯนั่นเอง
ฝั่งระบบเบรกที่ให้มาแบบ ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ (เฉพาะรุ่น GLX ที่เราได้มาทดสอบ) ก็สามารถทำงานได้ดี มีระยะเบรกที่ค่อนข้างสั้น ด้วยน้ำหนักตัวรถที่ค่อนข้างเบา โดยที่ตัวแป้นเบรกเองก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าต้องกดลึกจนเกินไป หรือเอาจริงๆคือใช้ระยะในการกดเท้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตัวเบรกก็เริ่มทำงานแล้ว ในขณะที่ความสามารถในการไล่แรงเบรกก็ทำได้อย่างกระชับ สัมพันธ์กับน้ำหนักเท้า ถือว่าหายห่วงได้เลยในจุดนี้
สรุป รีวิว Suzuki Swift GLX รุ่นปี 2022 แม้หากมองจากออพชันต่างๆที่ให้มา มันอาจจะดูล้าสมัยไปบ้าง ทั้งจากเครื่องยนต์ ที่ยังไม่ได้เป็นแบบ 1.0 ลิตร พ่วงเทอร์โบ และระบบความปลอดภัยที่ยังให้มาเพียงเท่าที่จำเป็น
แต่หากมองจากสมรรถนะในการใช้งานแบบเพียวๆ ต้องบอกว่ามันยังคงเป็นรถอีโคคาร์อีกหนึ่งรุ่น ที่ให้ความมั่นใจในการขับขี่สูงเป็นอันดับต้นๆของคลาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหล่าผู้ชื่นชอบการมุด ลัดเลาะไปตามซอกซอย หรือการจราจรแคบๆ ทั้งช่วงตัวและช่วงล่างของมันที่คล่องตัวสุดๆ รับรองว่าตอบโจทย์คุณในจุดนี้แน่นอน
และไม่เพียงเท่านั้น ด้วยความที่มีเทคโนโลยีต่างๆเพียงเท่าที่จำเป็น จึงทำให้ในการใช้งานระยะยาว มันย่อมมีความเสี่ยงจากปัญหาจุกจิกจากระบบต่างๆที่อาจทำงานผิดพลาดน้อยกว่ามาก (หรืออาจจะไม่มีเลย เพราะมันไม่มีให้ใช้ตั้งแต่แรก) ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ราคาขายต่อของมันเอง ก็ไม่ได้ตกง่ายๆเสียด้วย เนื่องจากมันเป็นรถที่มีความต้องการสูงอยู่เหมือนกันในตลาดรถมือสอง
โดย Suzuki Swift 2022 มีรุ่นย่อยสำหรับการวางจำหน่ายในประเทศไทยทั้งหมด 3 ตัวเลือกด้วยกัน ได้แก่
- Suzuki Swift GL (รุ่นเริ่มต้น) : ราคาเริ่มต้น 567,000 บาท
- Suzuki Swift GLX (รุ่นบน ที่เรานำมาทดสอบในครั้งนี้ : ราคาเริ่มต้น 637,000 บาท
และรุ่นย่อยใหม่ล่าสุดที่พึ่งเปิดตัวได้ไม่นาน คือ
- Suzuki Swift GL Plus (รุ่นกลาง มาพร้อมกับชุดแต่งรอบคัน เสริมภาพลักษณ์สปอร์ตให้เหนือกว่ารุ่น GL ขึ้นมาอีกนิด) : ราคาเริ่มต้น 572,000 บาท
หากผู้อ่านท่านใดสนใจ สามารถรับชมตัวรถคันจริงได้ที่ศูนย์บริการและตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ Suzuki ทั่วประเทศตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หรือใครอยู่ในตัวเมืองกรุงเทพฯและใกล้เคียง สามารถสอบถามโปรโมชันพิเศษได้ที่งาน BIG Motor Sales 2022 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-28 สิงหาคมนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ก็ได้
ขอขอบคุณ บริษัท ซุซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้การสนับสนุนรถยนต์ Suzuki Swift GLX สำหรับการทดสอบโดยทีมงาน Ridebuster ในครั้งนี้
ทดสอบ, ภาพ, เรียบเรียง : รณกฤต ลิมปิชาติ