ทุกคนทราบดีว่า Ford Everest เป็นเอสยูวีขนานแท้ ชนิดที่ว่าเข้ามาเปลี่ยนโฉมวงการรถอเนกประสงค์ ทำให้คู่แข่งทุกค่ายต้องปรับตัวสู้ศึก โดยการปรับโฉมล่าสุดที่ได้เครื่องดีเซลเทอร์โบคู่ 2.0 ลิตร กับเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ช่วยให้ขุนเขาคันใหญ่นี้เป็นที่น่าสนใจขึ้นไปอีก
เมื่อมีใครซักคนกำลังคิดจะซื้อรถอเนกประสงค์ PPV/SUV มาเป็นม้างานรับใช้คนในครอบครัว นอกจากรถจากฝั่งญี่ปุ่นที่นิยมมาช้านานแล้ว ยังมีตัวเลือกจากสหรัฐอเมริกา นามว่า Ford Everest อันเปรียบได้กับเพชรน้ำงามภายใต้บริษัทฟอร์ด ที่โมเดลก่อนหน้านี้มันได้เข้ามาสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่วงการ ด้วยประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย เทคโนโลยี และอุปกรณ์อัดแน่นจัดเต็ม จวบจนถึงวันนี้การปรับโฉมครั้งใหม่ในปี 2018 เจ้าเอเวอร์เรสกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ด้วยขุมพลังดีเซลเทอร์โบ 2.0 ลิตร มีทั้งรุ่นเทอร์โบเดียว-คู่ และส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด เป็นจุดขายหลัก
ความแตกต่างเมื่อแรกเห็น Ford Everest 2018 แล้วนึกเทียบกับรุ่นก่อนหน้า จะมีจุดหลักๆ ให้แยกได้ไม่ยาก เริ่มจากจุดเด่นชัดเจนที่สุดนั่นก็คือ ล้ออัลลอยลายใหม่ ตั้งแต่ไซส์ 18-20 นิ้ว กับการสังเกตุป้ายบ่งบอกรุ่นเครื่องยนต์ ตรงบริเวณเหนือซุ้มล้อที่รุ่นเทอร์โบเดี่ยวจะเขียนว่า Everest ส่วน Bi-Turbo เป็นรุ่นสูงสุดขับสี่ นอกเหนือจากที่กล่าวมาก็ไม่มีอะไรจะบอกได้ชัดเท่า
การก้าวเข้าสู่ห้องโดยสารไม่จำเป็นต้องหยิบกุญแจมากดปุ่มปลดล็อคอีกต่อไป เพราะกุญแจอัจฉริยะกับปุ่มสตาร์ทถูกติดตั้งมาแล้วบน Everest 2018 ส่วนการเปิดประตูท้ายก็ทันสมัยไม่แพ้ใคร เพราะคราวนี้ฟอร์ดใส่ระบบเปิดประตูแบบไม่ต้องใช้กุญแจมาให้แล้ว
แผงแดชบอร์ดหน้านี่เรียกว่าแทบเหมือนเดิมทุกประการ ทั้งปุ่มเครื่องปรับอากาศ ทริมวัสดุตกแต่ง พวงมาลัย จอแสดงผลหน้าคนขับ รวมถึงจอสัมผัส 8 นิ้ว กับระบบสาระบันเทิงที่รองรับ Sync3 โดยเชื่อมต่อฟีเจอร์ Apple CarPlay ได้ แต่กับ Android Auto ยังไม่สามารถใช้งานได้ สำหรับสุ้มเสียงของรถคันนี้จัดว่าดีงามในระดับที่คนทั่วไปฟัง
ถัดลงมาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไประหว่าง Everest 2017 กับ 2018 เรียกว่าผู้อ่านจะรู้สึกเหมือนกับเล่นเกมจับผิด โดยหัวเกียร์อัตโนมัติของรุ่นใหม่จะมีปุ่ม + – เพิ่มมาไว้ให้ผู้ขับขี่เลื่อนระดับ แต่รุ่นเก่าจะไม่มีปุ่มนี้
ด้านความสบายเวลานั่งขับรถถือว่าหาตำแหน่งที่เหมาะสมได้ง่าย ด้วยเบาะปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง แต่ตัวดันหลังนั้นไม่มีให้ ใครที่มีปัญหาเรื่องปวดหลังคงต้องมาลองนั่งดูก่อน ครั้นกระโดดไปนั่งตำแหน่งเบาะแถว 2 ความสบายจัดอยู่ในเกณฑ์ดีเทียบเท่าคู่แข่ง มีช่องแอร์เหนือศีรษะทั้งสองฝั่ง แถมสามารถปรับความแรงลมได้ตามต้องการ ทั้งนี้ ช่องเสียบปลั๊กไฟแบบขาปกติจัดไว้รองรับการชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป อย่างไรก็ตาม ราวมือจับไว้ยึดเหนี่ยวเวลาพ่อบ้านขาซิ่งโยนใส่โค้งบนเขาจะไม่มีมาให้ แต่ยังเอื้อมมือไปจับตรงเสาข้างเบาะคนขับได้อยู่
จบเรื่องความหล่อกับความสบายเวลาเดินทางกันไป เพราะหัวใจสำคัญของการปรับโฉมปี 2018 อยู่ที่เครื่องกับเกียร์ล้วนๆ โดยจากเดิมที่เคยคบหาเครื่องดีเซลเทอร์โบ 4 สูบ ขนาด 2.2 ลิตร 160 แรงม้า กับเครื่องดีเซลเทอร์โบ 5 สูบ ขนาด 3.2 ลิตร ที่ส่งม้าผ่านเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด บัดนี้มันถูกแทนที่ด้วยขุมพลังใหม่ที่เล็กลง กับเกียร์อันมีสปีดถี่ยิบ!!
ทางฟอร์ดเกิดไอเดียถอดเครื่องรุ่นเก่าออกทั้งหมด แล้วแทนที่ด้วยขุมพลังสองระดับความแรง แต่อยู่บนพื้นฐานเครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ 2.0 ลิตร เท่ากัน ต่างเพียงใช้เทอร์โบลูกเดียวกับเทอร์โบคู่ โดยรุ่นโบเดี่ยวให้กำลัง 180 แรงม้า ที่ 3,500 รอบต่อนาที แรงบิด 420 นิวตันเมตร ที่ 1,750-2,500 รอบต่อนาที ส่วนรุ่นเทอร์โบคู่ม้ามี 213 ตัว ที่ 3,750 รอบต่อนาที แรงบิด 500 นิวตันเมตร ที่ 1,750-2,000 รอบต่อนาที โดยทั้งสองเครื่องส่งกำลังสู่ล้อหลัง และแบบ 4 ล้อ ด้วยเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ที่มีอยู่บน Ford F-150 รวมถึง Mustang
จากประสบการณ์ที่ได้ขับ Ford Everest Titanium + รุ่นท็อปขับสอง เทอร์โบเดี่ยว เราพบว่าการขับขี่เดินทางบนถนนหลวงมีกำลังให้เรียกใช้เหลือเฟือ เพียงแต่การออกตัวจาดจุดหยุดนิ่ง อาการเกียร์กระโดดจาก 1 ไป 3 ไป 5 จะรู้สึกถึงการตัดต่อกำลังอยู่บ้าง แต่พอวิ่งลอยตัวช่วง 100 กม. เป็นต้นไป เกียร์จะอยู่ตรงเกียร์ 9 ครั้นพอเร่งแซงจึงค่อยสับลงมารีดกำลังที่เกียร์ 7 ไม่ว่าคุณจะกระทืบคันเร่งที่ความเร็วสูง หรือกดคันเร่งเพียงครึ่งหนึ่ง เกียร์ก็จะลดตำแหน่งลงที่ 7 เสมอ เรียกว่าสปีดเยอะช่วยถนอมชิ้นส่วนเกียร์ไม่ให้ต้องรับแรงเค้นได้แบบน่าสนใจ
อย่างไรก็ดี ตอนที่ได้สลับไปขับรุ่น Titanium + ขับสี่ เครื่องเทอร์โบคู่ เราจึงรู้ทันทีว่ากำลังเครื่อง 213 แรงม้าให้ความต่างกับรุ่นโบเดี่ยวอยู่พอสมควร ทั้งตอนออกตัวที่เป็นไปด้วยความนุ่มนวล สวนทางกับเข็มไมล์ที่เร่งขึ้นชี้ทะยานสู่เลขหลักร้อยเพียงชั่วครู่ ยิ่งเมื่อขับใช้ความเร็วเดินทางไกล 120-140 กม./ชม. การกดคันเร่งแค่ครึ่งเดียวก็พอให้รถฉีกแซงได้แบบทันใจไม่ต้องลุ้น ทั้งนี้ พละกำลังของรุ่นโบเดี่ยวจะด้อยกว่าชัดเจนก็ตอนจะแซงแบบเฉียบขาด คือถ้ากดคันเร่งนุ่มๆ พอกันจะสัมผัสได้ไม่ชัดนัก แต่หากกดเต็มเท้าพอกัน รู้เลยว่าโบคู่มันเด่นกว่าตรงไหน
ในแง่การขับขึ้นเขาเครื่องยนต์ทั้งสองตัวให้สมรรถนะเพียงพอ เพราะคงจะไม่มีใครบ้ากดคันเร่งเต็มเท้าพาคนในครอบครัวพุ่งอย่างรวดเร็ว เอาเป็นว่าการทดสอบขับ Everest บนเขาจากเราบอกได้ว่า ขับแบบคนธรรมดาอ่ะเหลือๆ แต่ถ้าขับไม่สนใจคนนั่ง ใส่โค้งเต็มที่ ลงเนินแทบจะเหาะ คนกลุ่มนี้คงจะคิดว่าเครื่องโบเดี่ยวกับคู่อืดไปเลยก็ได้
เอาล่ะมาคุยกันประเด็นที่หลายคนคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ ว่าเฮ้ย!! ใช้เครื่องดีเซล 2 ลิตร แถมอัดทั้งโบเดี่ยวโบคู่มาอีก งานนี้ต้องประหยัดกว่าเดิมชัวร์… เราบอกได้นะ ว่ามันไม่ประหยัดกว่าเดิมเลย ตัวเลขที่โชว์ขึ้นตรงจอข้างเข็มไมล์นี่ เฉลี่ยอยู่ราว 8.7-9.8 กม./ลิตร สำหรับการขับเดินทางไกลสลับกับถนนขึ้นเขาลงห้วย เอาเป็นว่าใครหวังความประหยัดก็คงเสียใจนิดๆ ทั้งนี้ ถ้าผู้อ่านเป็นคนขับปกติ เท้าเบา อาจจะได้ตัวเลขดีกว่าที่เราทดสอบก็ได้
มาพูดถึงพวงมาลัยที่ยังคงเป็นไฟฟ้าเหมือนรุ่นก่อน ฟีดแบ็คที่รู้สึกได้ทันทีคือเหมือนรุ่นเดิมเลย เน้นความเบา หมุนคล่อง มีระยะฟรีที่แอบคมหน่วงน้อยไปเมื่อเทียบกับคู่ในตลาดส่วนใหญ่ แต่หากเป็นคนขับรถเก๋งมาก่อนอาจจะชอบ เรียกว่าขับในเมืองนี่อย่างพลิ้ว พอเอามาซิ่งบนทางหลวงระยไกลก็มั่นใจได้ ยิ่งพอขึ้นเขาลงทางชันคิดเลยว่าจะวิ่งไลน์โค้งอย่างไร พวงมาลัยตัวนี้ตอบสนองให้ได้ดั่งใจหวัง และส่วนที่เกี่ยวข้องกันอย่างต่อไปคือช่วงล่าง…
บรรดาช่วงล่างรถอเนกประสงค์ SUV/PPV ไซส์ 7 ที่นั่งที่เราเคยขับ ตัวเจ้า Everest ยอดขุนเขาสูงเทียมฟ้า จะอยู่ในกลุ่มค่อนไปทางนุ่ม ช่วงล่างซับแรงสะเทือนได้ดี ด้อยกว่า Pajero Sport กับ Terra อยู่หน่อยเมื่อวิ่งในความเร็วต่ำกับเดินทางไกล สำหรับการโคลงตัวตามสไตล์รถสูง จัดว่าอยู่ในกลุ่มหัวแถว เพราะรุ่นโบคู่ขับสี่ที่เราขับ มอบความมั่นใจเวลาโยนใส่โค้งได้เต็มเปี่ยม มันปรากฏอาการโยนตัวน้อยกว่าคู่แข่ง คนนั่งจะไม่รู้สึกมึนหัวง่าย ส่วนเมื่อวิ่งความเร็วสูงแล้วผ่านเนินหลังเต่า ช่วงล่างจะโยนยวบเพียง 1 ครั้งกับแถมอีกนิด แต่ไม่ถึงขั้นเด้งไปมา สรุปสั้นๆ ใครชอบฟีลแบบรถเก๋งให้เอาเจ้าขุนเขาไปอัพเกรดช่วงล่าง แล้วคุณจะได้รถบ้านอันมีช่วงล่างเฟิร์ม ขับสนุก ลุกนั่งสบายตัวจริง
มาถึงเรื่องการห้ามล้อกันบ้าง Ford Everest ยังคงมอบแป้นเบรกที่มีระยะจับดีงาม การเกลี่ยเบรกทั้งตอนวิ่งช้าๆ หรือซัดมาอย่างเร็วทำได้ง่ายโดยไม่ต้องลุ้น เรียกว่าเบรกของรถคันนี้อยู่ในระดับเกรด A+ เลยทีเดียว ส่วนจะชอบหรือไม่ชอบนั้นขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละบุคคล ท่านต้องลองมาสัมผัสเอง
ทีนี้ ประเด็นความเงียบที่หากพูดถึงกลุ่มรถอเนกประสงค์ คนซื้อมักซีเรียสไม่แพ้หัวข้ออื่นๆ เราบอกได้ว่าเสียงล้อแทบไม่ได้ยินเลย จะมีก็ตอนรูดผ่านถนนพังๆ ด้วยความเร็ว ส่วนเสียงลมนั้นจะเริ่มได้ยินเมื่อวิ่งเกิน 120 กม./ชม. ถึงจะวิ่งเกินกว่านี้ระดับเสียงลมที่เข้ามาก็ไม่ได้ดังมากมาย ยังสามารถพูดคุยกันในรถได้ตามปกติ
เกือบจะจบบทความเกือบลืมประสบการณ์สำคัญ โดยระหว่างที่เราขับรถบนเส้นทางมุ่งหน้าตัวเมืองสระบุรี ก็ได้ไปเหยียบเข้ากับอะไรไม่รู้ ได้ยินเสียงตู้มเหมือนหินก้อนโตดีดซุ้มล้อ หลังจากขับต่อไปไม่ถึง 10 วินาที ระบบแจ้งเตือนลมยาง TPMS ได้แสดงว่าลมยางเริ่มรั่วซึม ทำให้เราต้องรีบนำรถออกไปจอดยังปั๊มน้ำมันข้างทาง ผลคือยางรั่วจนแบนรถติดพื้น นี่ถ้าเราไม่ได้ระบบนี้แจ้งเตือนคงจะเสียหายหนักกว่านี้
สรุปสั้นๆ ตามสไตล์แอดมินนัท!! Ford Everest Titanium + 4WD ตัวท็อป เป็นรถที่แรงไม่แพ้ใคร อย่าให้แรงดึงหลังไม่ติดเบาะมาหลอกคุณว่ามันอืด จงมองเข็มวัดความเร็วซะ ประเด็นเกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างเกียร์ออโต้ 10 สปีด พวงมาลัย เบรก และช่วงล่าง เหล่านี้แหละคือความกลมกล่อมที่ผสานกัน เพื่อทำให้ยอดขุนเขากลายเป็นรถอเนกประสงค์ที่เหมาะกับทุกครอบครัว ไม่แพ้คู่แข่งหน้าไหนในตลาด
ขอบคุณ ฟอร์ด ประเทศไทย ที่เชิญร่วมทดสอบรถอเนกประสงค์ Ford Everest ใหม่ มา ณ โอกาสนี้
ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com
[ngg src=”galleries” ids=”750″ display=”basic_thumbnail”]