Home » Subaru Forester 2.0 i-S มิติใหม่แห่งครอสโอเวอร์
Full Review รีวิว

Subaru Forester 2.0 i-S มิติใหม่แห่งครอสโอเวอร์

ในยุคนี้เชื่อเลยว่าเราจะซื้อรถยนต์สักคัน ต้องมีชั่วครู่หนึ่งที่คิดว่าจะซื้ออเนกประสงค์ ในตลาดวันนี้ เชื่อเลยว่าหลายคนเริ่มสนใจ เจ้า  Subaru  Forester ใหม่ ไม่น้อยด้วยราคาไม่แพง แถมประกอบไทย จึงเริ่มวางใจได้เรื่องอะไหล่ ประกอบกับความเป็นแบรนด์ที่รู้จักมานาน และราคาขายที่ไม่ได้ไกลเกินเอื้อม มองเผินๆ ถูกกว่าคู่แข่งอีกต่างหาก

Subaru Forester เป็นรถอเนกประสงค์ครอสโอเวอร์ที่ทางซูบารุ พัฒนาอย่างจริงจัง มาตั้งแต่ปี 1997 หลังจากเริ่มเห็นทางสว่างในการพัฒนารถยนต์ Subaru Legacy Outback   ทางทีมงานเมืองกุนมะ ค้นพบว่า ตลาดเริ่มมีความต้องการรถยนต์อเนกประสงค์มากขึ้นและในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนไปสู่รถประเภทนี้ แถมพวกเขาต้องการรถที่มาเติมช่องว่างตลาดกลุ่มใหม่ ไม่ว่าจะเพื่อสร้างรายได้ให้บริษัท ไปจนถึงดึงคนเข้าแบรนด์

อันที่จริงโครงการพัฒนารถอเนกประสงค์ ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์ มีแนวคิดในช่วงเดียวกับการพัฒนา  Subaru Impreza   ที่ออกมาในปี 1992 ซูบารุโชว์รถต้นแบบครั้งแรกในงาน  Tokyo Motor Show  ปี 1995  ก่อนเริ่มขายหลังจากนั้น 2 ปี

แนวคิดของซูบารุตรงไปตรงมาชัดเจน พวกเขาต้องการรถอเนกประสงค์ที่มีความสูงโปร่ง ท่านั่งสบายด้วยการวางช่วงสะโพกให้สูง มันต้องมาพร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ  Subaru  Forester  หรือที่ชาวซูบารุในต่างประเทศ เรียกมันในชื่อเล่นว่า “Forzy” (ฟอสซี่)  จึงเริ่มต้นด้วยการเอาโครงสร้างหลักของ  Subaru  Impreza  มาพัฒนาใส่เครื่องบ๊อกเซอร์ 2.5 ลิตร ลงไป (ในญี่ปุ่นมีรุ่น 2.0 ลิตร และ 2.0 ลิตรเทอร์โบด้วย) ในเวลานั้นทางซูบารุโฆษณารถคันนี้ว่า “SUV tough, Car Easy”  หรือถ้าแปลเป็นไทย ก็น่าจะได้ว่า “ลุยก็ได้ขับง่ายดั่งเก๋ง”

ตอนซูบาร ฟอร์เรสเตอร์รุ่นแรก เริ่มออกขายในญี่ปุ่น มันถูกวางแผนให้มาแทน   Subaru Gravel Express บรรพบุรุษ ที่ภายหลังกลายเป็นเชื้อไฟให้กำเนิดรถ Subaru XV

ในประเทศอเมริกา   Subaru  Forester เป็นรถที่มีชื่อเสียงอย่างมาก ด้วยการเป็นอเนกประสงค์รุ่นแรกที่ไม่ต้องติดคำเตือนว่า “ระวังอาจพลิกคว่ำได้ง่าย” เนื่องจากหน่วยงานรัฐบาลทางด้านความปลอดภัยในสหรัฐเห็นว่ารถคันนี้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ และไม่มีทางที่จะพลิกคว่ำได้ นับเป็นข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่ง จนได้ความโดดเด่นด้านความปลอดภัย

ปี 2002 ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์รุ่นที่ 2 ปรากฏกายขึ้นบนเวทีงาน  Chicago Motor Show  มันยังคงใช้แพลทฟอร์มเดียวกับ   Subaru Impreza  เช่นเคยแนวคิดการออกแบบยังคงเน้นในทรงกล่องดั่งรุ่นที่ผ่านมา เพียงแต่ปรับการออกแบบให้เข้ายุคสมัยมากขึ้น

เครื่องยนต์ยังคงเหมือนเดิมมีทั้ง 2.0 / 2.0 เทอรโบ และ 2.5 ลิตร เข้าประจำการในเจ้าเนกประสงค์รุ่นนี้ สำหรับใครที่ชอบความเร้าใจแตกต่าง ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์ รุ่นที่ 2 เป็นรถรุ่นแรกที่มีการแนะนำรุ่น XT เวอร์ชั่นแรงสุดขั้ว ยกเครื่องยนต์ 2.5 ลิตรเทอร์โบชาร์จ 224 แรงม้าเข้าประจำการ

รถรุ่นนี้พูดได้เต็มปากว่าเป็นอเนกประสงค์สายแรงรุ่นแรกๆ ในตลาดโลก ซูบารุค่อนข้างจริงจังกับมันมากด้วยการยกชิ้นส่วนจากสำนักแต่ง   STI จำนวนมากเข้ามาใช้ แม้ว่าจะไม่ใช่ทุกคนที่ซื้อรถรุ่นนี้ หากก็กลายเป็นรถที่หลายคนชื่นชอบ เพียงคิดว่าคุณขับอเนกประสงค์ธรรมดาๆ ไปจ่ายตลาด ถ้าใครมาเผลอแหย่คุณเข้าให้ เพียงกดคันเร่ง คู่แข่งคุณก็ทำได้เพียงอ้าปากค้างเท่านั้น (รถบ้านๆ มันแรงได้ไง)

ไม่ใช่เพียงความแรงจากรุ่น  XT  เท่านั้น ในออสเตรเลีย  ฟอร์เรสเตอร์รุ่นที่ 2 ฝากประวัติศาสตร์สำคัญ ด้วยการเป็นอเนกประสงค์รุ่นแรกๆ ผ่านมาตรฐานการชน  ANCAP  ในระดับ 5 ดาว หลังจากอัพเดทในปี 2005

ต่อมาในปี 2007 ซูบารุซุ่มเงียบเปิด  Subaru  Forester  ใหม่รุ่นที่ 3 ฉลองคริสมาสในประเทศญี่ปุ่น  ก่อนจะแนะนำในงาน North America International Auto Show ในปี  2008 

แนวคิดการออกแบบรุ่นที่ 3 ค่อนข้างเหมือนเดิมในเรื่องการพยายามรักษาความโปร่งในการโดยสาร จนในงวดนี้ นาย มาโมรุ อิชิอิ ในฐานะหัวหน้าทีมออกแบบเวลานั้น ตัดสินใจว่า น่าจะถึงเวลาปรับขยายตัวถังรถให้ใหญ่ขึ้นเพื่อตอบการใช้งานมากขึ้น

ตัวถังรถรุ่นนี้ จึงมีการปรับขยายขนาดยาวขึ้น 76 มม. กว้างขึ้น 46 มม. และสูงขึ้นถึง 110 มม. แนวทางการออกแบบเริ่มเข้ามาในทางความหรูหรา ด้วยกระจังหน้าโครเมี่ยม และไฟหน้าขนาดใหญ่ดูมีความทันสมัยมากกว่ารุ่นก่อนๆ ตลอดจนยังมีการปรับปรุงโครงสร้างและระบบกันสะเทือนหลัง ให้มีความสบายในการโดยสารมากขึ้น ขยายฐานล้ออีก 89 มม. เพื่อให้มีพื้นที่โดยสารมากขึ้น รวมถึงปรับความสูงจากพื้นถึงท้องรถขึ้นมาเป็น 230 มม.

ไลน์อัพเครื่องยนต์โดยรวมไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่เครื่อง 2.5 ลิตร เทอร์โบในรุ่น   XT  มีกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 263 แรงม้า และเป็นครั้งแรกที่ทางซูบารุลองของเปิดตัวเครื่องยนต์ดีเซลบ๊อกเซอร์ ซึ่งมันจบไม่สวยนัก

ปี 2012 ซูบารุตัดสินใจไปรุกตลาดจีน ด้วยการเปิดตัว  Subaru  Forester เจนเนอร์เรชั่นที่ 4 ในงาน กวางโจว มอเตอร์โชว์ 2012 ก่อนหิ้วไปโชว์ในงาน นิวยอร์ค ออโต้โชว์ ในปี 2013

แนวทางการปรับปรุงในเจนเนอร์ชั่นที่ 4 ทางซูบารุ ดูเหมือนจะมุ่งเน้นในแง่ของการพัฒนาเรื่องการประหยัดน้ำมันเป็นโจทย์สำคัญ พวกเขาตัดสินใจหันมาใช้ชุดเกียร์   CVT   ครั้งแรกในรุ่นนี้ การเปลี่ยนมาใช้ชุดส่งกำลังใหม่ ซูบารุต้องแลกกับการลดความสามารถในการลากจูงลงเหลือเพียง 680 กก. และสาวกส่วนใหญ่โดยเฉพาะในอเมริกาไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไรนัก

เรื่องขนาดตัวรถมีการปรับความกว้างเพิ่มขึ้น 15 มม. ยาวขึ้น 36 มม. ยืดฐานล้ออีก 36 มม. หน้าตาออกแบบใหม่ตามสไตล์การออกแบบกระจังหน้า 6 เหลี่ยมทันยุคทันสมัยมากขึ้น ทรวดทรงยังคงเป็นอเนกประสงค์ทรงกล่องเหมือนเดิม ในญี่ปุ่นและแถบเอเชียมาพร้อมเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ในรุ่น i-L  ส่วนรุ่นแรงรหัส   XT เป็นครั้งแรกที่ปรับมาเป็นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เทอร์โบในทุกตลาด แทนที่เครื่อง 2.5 ลิตร เทอร์โบเดิม ที่วางขายเฉพาะในอเมริกา

ส่วนออพชั่นใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาและสร้างความสนใจแก่ลูกค้าไม่น้อย คือระบบช่วยลุย  X- Mode   ระบบนี้จะทำการสั่งการควบรวมระหว่าง เครื่อง,เกียร์ และระบบขับเคลื่อนสี่ล้อของรถ  ตลอดจนระบบควบคุมการทรงตัว ให้ทำงานผสานกัน ช่วยฝ่าอุปสรรคง่ายขึ้นในทางออฟโรด และในญี่ปุ่นเองมีการแนะนำ   Subaru  Eyesight   ระบบช่วยเหลือในการขับขี่สู่เจ้าป่าอเนกประสงค์

ประเทศไทยและแถบอาเซียน เริ่มวางขาย ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์ใหม่ ในปี 2013 โดยระยะแรกเป็นรถในรูปแบบนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีราคาแพงมาก ประมาณ 1.5 ล้านบาทในรุ่น 2.0 i-L  และ 2.42 ล้านบาท สำหรับรุ่น  XT   

การวางจำหน่ายในไทยช่วงแรก เรียกว่าฝืด ยอดขายไม่กระเตื้อง แต่ด้วยอานิสงค์จาก  Subaru  XV   ที่เริ่มขายในช่วงเวลาไล่เรี่ยกันมียอดขายพอเดินได้ เนื่องจากรถมีราคาถูกกว่า ทำให้บริษัท ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะผู้ถือสิทธิในการจัดจำหน่ายรถซูบารุในแถบเอเชีย ตัดสินใจขอทางซูบารุ นำรถเข้ามาประกอบในโรงงานที่ประเทศมาเลเซีย โดยประกอบทั้ง Subaru XV   และ  Subaru Forester  เพื่อวางขายในแถบอาเซียน

การประกาศครั้งนั้นผมอยู่ในเหตุการณ์ และดีใจที่ได้ฟังจากปากของนายเกลน ตันที่มาแถลงไขในงาน   Motor Expo 2013  และในปี 2015 เราเริ่มเห็นการปรับราคาลงของรถยนต์  Subaru XV ก่อนที่ Subaru Forester  รุ่นปรับโฉม  จะมีการปรับราคาลงมาจนอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ มีหลายรุ่นมากขึ้น ทำให้มียอดขายกระเตื้องขึ้นจนเราเห็นพวกมันจำนวนมากบนถนนปัจจุบัน

ในปี 2017 เครือตันจงประกาศจับมือกับ Fuji Heavy  Industry  ในการจัดตั้งโรงงานในประเทศไทยเพื่อผลิตรถยนต์   Subaru  Forester ทำให้คนสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะคนไทยติดภาพชื่นชอบสมรรถนะในการขับขี่รถซูบารุ จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปี โรงงานซูบารุในประเทศไทยเดินสายการผลิต มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และมีการเปิดโรงงานเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา มันเป็นนิมิตใหม่ของรถซูบารุในไทยเลยก็ว่าได้ (อ่านเรื่องโรงงานซูบารประเทศไทยได้ที่นี่)

ตัดกลับมาที่ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์ โฉม 5 รุ่นที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทย เผยโฉมครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายน ปี 2018 ในเวลาช่วงหลังสงกรานต์เพียงเล็กน้อย ท่ามกลางเวทีนิวยอร์ค ออโต้โชว์ 2018

ตอนเห็นภาพครั้งแรก พูดตามตรงว่ารู้สึกเหมือนรถมันดูไม่ค่อยแตกต่างจากรุ่นเดิมมากนัก เส้นสายการออกแบบเหมือนเพียงเปลี่ยนแปลงให้ทันยุคสมัยมากมากขึ้น อาทิ กระจังหน้า 6 เหลี่ยมขนาดใหญ่ ให้ความรู้สึกดูหรูหรา รวมถึงไฟหน้าขนาดใหญ่กว่าเดิม ลงตัวกับไฟท้ายทรงก้ามกุ้งตามยุคสมัย อัพเดทล้อเป็นขนาด 18 นิ้วในทุกรุ่น

ขนาดมิติตัวรถ ปรับให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย  ตัวรถมีความยาว4,625 มม. (+15มม.) กว้าง 1,815 มม.(+20 มม.) สูง 1,730 มม. (-5มม.)  ให้ระยะล้อ 2,670 มม.  (+30มม.)  ยังคงระยะความสูงจากพื้นถึงท้องรถ 220 มม. เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ตารางเปรียบเทียบ ขนาดรถ รุ่นเดิม กับรุ่นปัจจุบัน

  2015-2018 Subaru Forester 2019 Subaru  Forester
ความยาว (มม.) 4,610 4,625
ความกว้าง (มม.) 1,795 1,815
ความสูง (มม.) 1,735 1,730
ระยะฐานล้อ (มม.) 2,640 2,670
น้ำหนักเปล่าตัวรถ (กก.) 1,450 1,542

หัวใจหลักสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่เพียงแค่การปรับขนาดรถและการออกแบบ ทางซูบารุ ยังแนะนำโครงสร้างตัวถังใหม่  Subaru Global Platform (SGP)  ในรถยนต์อเนกประสงค์คันนี้ ชูความสามารถในการขับขี่มากขึ้นและปลอดภัยยิ่งขึ้น

รุ่นที่ขายในอเมริกาติดตั้งเครื่องยนต์   Boxer 4 สูบขนาด 2.5 ลิตร รหัส  FB25 ให้กำลัง 185  PS   ทำแรงบิด 239 นิวตันเมตร ยังขับด้วยระบบเกียร์ Lineartronic CVT  งวดนี้ระบบ   Symmetrical All Wheel Drive มีความสามารถในการลุยมากขึ้น  ด้วยระบบ Dual  Function X- Mode   สามารถปรับการตอบสนองได้ 2 รูปแบบ คือ   Snow/Dirt  กับ   Deep Snow/ Mud   รวมถึงติดตั้งระบบ  Variable Torque Distribution (VTD)   ให้ระบบอิเล็คทรอนิกส์ช่วยในการควบคุมแรงบิดแบ่งกำลังตามที่สมควร

ไม่นานนักเวอร์ชั่นสำหรับตลาดเอเชียก็เปิดตัวตามมาหลังจากนั้น 4 เดือน ต้องขอบคุณ ซูบารุ ที่ให้เกียรติทีมงาน   Ridebuster เข้าร่วมการเปิดตัวครั้งนี้ที่ประเทศไต้หวันด้วย 

ตัวรถในเวอร์ชั่นเอเชียออกแบบไม่ต่างจากเวอร์ชั่นอเมริกา เว้นเพียงไม่มีรุ่นสปอร์ต  X- Break แต่งขลิปส้มวางขาย มันแตกต่างจากตลาดประเทศญี่ปุ่นและอเมริกา ด้วยเครื่องยนต์ บ๊อกเซอร์ 4 สูบ ขนาด 2.0 ลิตร ให้กำลัง 156 PS   ทำแรงบิด 196 นิวตันเมตร  ยังขับเคลื่อนด้วยระบบ   Lineartronic CVT   ให้อัตราทด 3.600-0.512

การเดินทางครั้งนั้น ผมมีโอกาสสัมผัสเจ้า  Subaru Forester รุ่นใหม่บ้างเล็กน้อย แต่ก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ทั้งสภาพอากาศที่มีฝนตก รวมถึงการทดสอบสั้นๆ 2 สเตจ ได้แก่ การทดสอบในสนามแข่งรถ ก็ไม่ใช่สนามขนาดใหญ่แบบสนามช้างบ้านเรา ส่วนอีกสนามเป็นการทดสอบในรูปแบบ ออฟโรค สั้นๆ 

ผลสรุปในเบื้องต้นตอนนั้น ฟอร์เรสเตอร์ใหม่ ขับดีขึ้นในเรื่องความสบาย ทั้งบนถนน และในเส้นทางลุย รถนิ่มนวลขึ้น ความสามารถในการลุยมากขึ้น เนื่องจากระบบ   X- Mode   นั่นคือที่บอกได้ในตอนนั้น  …

ล่วงเลยมาอีก 4 เดือนในที่สุด  Subaru Forester   ใหม่ ก็เปิดตัวขายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในงาน Motor Expo  2018  และเป็นครั้งแรกที่โชว์ผลงานรถที่ประกอบจากโรงงานในประเทศไทย สู่สาธารณชน

การวางจำหน่ายเจ้าป่ารุ่นใหม่ในไทย แบ่ง ออกเป็น 3 เกรด ได้แก่ 2.0 i-L ,2.0i-S  และ   2.0 i-S eyesight  รถ 2 รุ่นแรก จะพร้อมส่งมอบตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 แถมด้วยการประกอบในประเทศไทย ทำให้ราคาขายตั้งมาอยู่ในระดับดีมาก จนรถ 100 คันแรก พร้อมข้อเสนอพิเศษ ขายหมดเกลี้ยงใน 4 วัน นับตั้งแต่เปิดตัว สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ค่ายดาวลูกไก่ในไทย

ผมเชื่อว่า หลายคนยังมีคำถามวนเวียนในใจ ที่ยังต้องการคำตอบ แม้แต่คนที่ตัดสินใจจองเจ้าป่าคันใหม่ไปแล้ว ว่า รถรุ่นนี้ขับดีแค่ไหน แน่นอนว่าภายใต้ชื่อ ซูบารุ ไม่เคยสร้างความผิดหวัง ดั่งคำขวัญ Confident in Motion

ย้อนไปตอนไปเจอมันที่ประเทศไต้หวัน ผมมีโอกาสนั่งฟัง นาย โทโมยูกิ นูโนเมะ ผู้จัดการโครงการทั่วไป ส่วนงานวางแผนผลิตภัณฑ์และพอร์ทโฟลิโอ ของ  Subaru  Cooperation  แสดงปาฐกถา ก่อนเปิดตัวรถรุ่นจำหน่ายในเอเชีย เขากล่าวอย่างน่าสนใจว่า การพัฒนา Forester  ใหม่คือการตั้งใจให้มันมีคุณค่าความเป็นรถอเนกประสงค์สูงสุด 

ทางซูบารุทำการบ้านกับเจ้าของรถยนต์อเนกประสงค์ และคนที่มีแนวโน้มจะซื้อรถยนต์อเนกประสงค์ ว่าพวกเขาต้องการรถแบบไหนอย่างไร เพื่อหาปัจจัยสำคัญในการพัฒนา

ข้อมูลต่างๆ ถูกนำมาตีโจทย์เพื่อพัฒนาฟอร์เรสเตอร์ ใหม่ และพวกเขาได้โจทย์ตั้งต้นในรถรุ่นนี้ 3 ข้อ

  • Trust
  • Comfort With love ones
  • Stir of Adventure

ประการแรก ความไว้ใจในการขับขี่ หรือ Trust  เนื่องจากรถอเนกประสงค์โดยภาพรวมเป็นรถสำหรับครอบครัว รถควรมีความปลอดภัยมาก ไว้ใจได้สามารถขับได้ทุกทีโดยที่จะไม่พอคุณไปทานข้าวลิงกลางทาง นั่นตรงกับสิ่งที่ซูบารุมองอยู่เช่นกันเมื่อตอนพัฒนาโครงสร้างใหม่ Subaru  Global Platform 

ข้อต่อมา ผู้ซื้อต้องการรถที่เป็นมิตรต่อผู้โดยสารด้วย หรือ  Comfort for love ones  ห้องโดยสารต้องมีขนาดใหญ่กว้างขวางนั่งสบายยามเดินทาง และข้อสุดท้าย  Stir of Adventure  หรือ พร้อมลุย มันต้องเป็นรถที่ขับดีเปี่ยมด้วยสมิมรรถนะในการขับขี่ พร้อมดินทางในเส้นทางลุย ถ้าต้องการ

ทั้ง 3 โจทย์ที่กล่าวมา ตอนผมนั่งฟังในเวลานั้น บอกเลยว่ายังไม่ค่อยเข้าใจ ความคิดของซูบารุเท่าไรนัก มันเหมือนภรรยาคุณบอกว่า วันนี้จะทำข้าวผัดปลาเค็มให้ทาน แล้วเกาหัวพร้อมถามกลับว่า มันจะอร่อยหรือ??  

เจอหน้า Subaru  Forester   ครั้งนี้ ผมยังคงรู้สึกเหมือนหลายครั้งที่เห็น เจ้าฟอสซี่ ดูสูงวัยกว่าเดิมเปลี่ยนภาพลักษณ์เดิมสู่ภาพอเนกประสงค์หรูมากขึ้น กระจังหน้า 6 เหลี่ยมขนาดใหญ่ มาพร้อมฝากระโปรงอลูมิเนียม ไฟหน้าขนาดใหญ่ส่องสว่างด้วยไฟ  LED   มาพร้อมไฟขณะขับขี่เวลากลางวัน   Day Time Running Light

ในรุ่น  2.0 i-S มาพร้อมไฟตัดหมอกหน้าแบบ   LED   ติดตั้งราวหลังคา ,สปอรย์เลอร์หลังคา พร้อมเสาอากาศคลีบฉลาม ท้ายรถให้ประตูท้ายไฟฟ้าอัพเดทให้ทันยุคสมัย งานออกแบบมาในสไตล์ภูมิฐานแอบสปอร์ตพร้อมไฟท้ายก้ามกุ้งอันเป็นเอกลักษณ์เด่น ที่คนไม่รักก็เกลียด ติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว จัดมาพร้อมยางขนาด 225/55 R18  ตอบเรื่องการขับขี่

ตัวรถรุ่นใหม่ ผมว่ามันค่อนข้างออกไปในทางดูดีมีฟังก์ชั่นความสบายมากขึ้น เมื่อเทียบกับตัวเก่าที่เคยผ่านมือมา ระบบกุญแจ   Keyless   ช่วยให้เข้าห้องโดยสารอย่างง่ายดาย แถมยามค่ำคืนยังมีฟังก์ชั่นเปิดไฟในรถเพื่อความปลอดภัย เมื่อคุณเดินเข้ามาใกล้ๆ ตัวรถ ที่ข้างประตูมีไฟส่องพื้นช่วยให้สะดวก เผื่อคุณเผลอเรอทำอะไรตก จะได้หาง่าย

เมื่อก้าวเข้าไปในห้องโดยสาร สัมผัสลงเบาะนั่งคนขับปรับไฟฟ้า เช่นเดียวกับเบาะคนนั่ง คุณรู้สึกได้ถึงความสบายจากหนังหุ้มเบาะ ตัวเบาะออกแบบมีขนาดค่อนข้างใหญ่พอสมควรนั่งสบายยามเดินทางไกล น่าเสียดายถ้าให้ตัวบันทึกท่านั่ง มาด้วยน่าจะดูสมบูรณ์กว่านี้

ตรงหน้าคนขับมาพร้อมพวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นปรับ 4 ทิศทาง ด้านซ้ายคุมเครื่องเสียงและและหน้าจอแสดงข้อมูลอัจฉริยะ ด้านขวาให้ระบบ  Cruise Control  มาพร้อมสรรพสำหรับการใช้งาน มีโหมด  S-I Drive ให้ใช้เผื่อใครมาห้าวจะลองซิ่งดูกับคุณ กดเปลี่ยนโปรแกรมเกียร์ขับสนุกขึ้นอีกโข หลังพวงมาลัยให้แป้น   Paddle Shift   เผื่ออยากเปลี่ยนเกียร์ จะกระดิกใช้เมื่อไรก็ได้

ตรงกลางคอนโซลหน้าด้านบนยังมีจอแสดงข้อมูล บอกได้หลายอย่าง ทั้งข้อมูลทางด้านสมรรถนะ เช่นความร้อนหม้อน้ำ น้ำมันเครื่อง , อัตราประหยัดและระยะทางที่เหลือ , การทำงานของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ  คุณสามารถเลือกปรับตามความต้องการใช้งานได้ที่พวงมาลัย

ถัดลงมาเป็นเครื่องเสียงใหม่ขนาดหน้าจอ 8 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อ  Bluetooth   ใช้งานง่ายและสะดวก มาพร้อมแผนที่นำทางเพื่อการเดินทาง ตัวแผนที่ออกจะแปลกกว่าชาวบ้านเขาหน่อย วาดเป็นเส้นการ์ตูน ผมว่าก็แนวดี การแสดงผลในเมืองเป็นกึ่งสามมิติ พร้อมข้อมูลการจราจร ณ เวลาจริง นอกเมืองระหว่างทางเป็น 2 มิติ ให้รายละเอียดง่ายต่อความเข้าใจ

แผนที่นำทาง ใน Subaru Forester

เรื่องความสบายระบบปรับอากาศเแยก 2 โซน ซ้าย-ขวา จะได้ไม่ต้องทะเลาะกันว่า ฉันหนาว เธอร้อน ถัดลงมาเป็นเรื่องอุปกรณ์ใช้ในการขับขี่ ไม่ว่าคันเกียร์ รวมถึงสวิทช์ X Mode  หมุนซ้ายหรือขวา เพื่อเลือกโหมดที่ต้องการ  และกดลงถ้าต้องการกลับเข้าสู่โหมดปกติ ข้างกันมีเบรกมือไฟฟ้ามาให้ พร้อมระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติ   AVH   คุณไม่ต้องเหยียบเบรกแช่เวลารถติด และสามารถออกตัวด้ทันทีเพียงเดินคันเร่ง  สะดวกมากเมื่อขับในเมือง

ทางด้านหลัง ที่นั่งเบาะหลังจัดท่าอยู่ท่าที่สบายเอนเล็กๆ กำลังพร้อมหลับ น่าเสียดายตัวที่รองนั่ง ส่วนตัวรู้สึกว่าสั้นไปหน่อย ทำให้ดูเหมือนนั่งไม่สบาย ที่วางขามีเหลือพอสมควร แถมยังมีช่อง   USB  สำหรับชาร์จมือถือให้กำลัง 2.1A   เสียบชาร์จเต็มไวลองใช้แล้วชอบพร้อมช่องปรับอากาศ ช่วยกระจายลมเย็นให้พร้อยหลับง่ายขึ้น

แต่ที่รู้สึกชอบมากคือ ความสูงโปร่งของห้องโดยสาร เนรมิตออกมาราวกับนั่งรถตู้ แถมกระจกบานหลังยังมีขนาดใหญ่ ประดุจคุณนั่งอยู่ในตู้ปลา

ผมจำได้ว่า คุณ โทโมยูกิ กล่าวในตอนแถลงข่าวว่าในห้องโดยสารมีการปรับระยะห่างระหว่างผู้ขับขี่ และคนนั่งตอนหน้าเพิ่มขึ้นอีก 20 มม. เช่นเดียวกับพื้นที่วางขาของผู้โดยสารตอนหลังเพิ่มอีก 33 มม. ส่วนห้องสัมภาระท้ายรถเพิ่มความกว้างช่วงห้องอีก 1,300 มม. มันกว้างพอจะวางถุงกอล์ฟตามแนวขวางตัวรถ

ส่วนถ้าใครเป็นสายปั่นจักรยานแบบผม คงต้องบอกว่า ฟอร์เรสเตอร์ใหม่ พอจะมีพื้นที่วางจักรยานเสือหมอบแนวตั้งได้ 2-3 คัน  (ต้องใช้อุปกรณ์เสริม) ถ้าพับเบาะแถวหลังลงไปทั้งหมด มันช่วยให้การขนย้ายสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับทรงแบนๆ ของ   Subaru XV

การขับทดสอบในเมือง

รับรถเรียบร้อยโบกมือลาทีมพีอาร์ซูบารุอีกครั้ง เป็นโชคดีงวดนี้ได้สีใหม่ Jasper Green  Metallic   โทนประมาณเขียวทหาร มีให้คุณเลือกถ้าชอบสีไม่เขรอะง่าย แปลกตา และดูดีในหลายสภาพแสง

รับรถปุ๊ปก็ขับเข้าเมืองปั้ปไหนๆ มาถึงเสรีไทย ขับอีกหน่อยก็สุวรรณภูมิ ผมจึงขับไปแวะปั่นจักรยานที่เลนฟ้าสักหน่อย รีบกลับเวลา 4 โมงเย็น ดูไม่มีอะไรมากไปกว่าเอาเวลาไปทิ้งบนถนนแถมยังเสียสุขภาพจิตเปล่าๆ

รีวิว   Subaru Forester 2019

ขับมาช่วงแรก ผมรู้สึกแปลกๆ เจ้าฟอสซี่ใหม่ มันไม่เหมือนซูบารุที่คุณเคยสัมผัสมาทั้งหมด ช่วงขับในเมืองความเร็วต่ำ กระดื้บตามการจราจรในความเร็วไม่เกิน 80 ก.ม./ช.ม รถดูนุ่มนิ่มนั่งสบาย ที่แน่ๆ ผมบอกได้เลยว่า ช่วงล่างด้านหน้าถูกเซทให้มีความแข็งกว่าทางด้านหลังพอสมควร เวลาผ่านหลุมบ่อ เช่น ฝาท่อแรงสะเทือนด้านหน้าจะตึงตังกว่า ส่วนทางด้านหลัง รู้สึกโช้คจะ Bump  และ  Rebound  ช้ากว่าเล็กน้อย

รีวิว   Subaru Forester 2019

ขับในเมืองแบบนี้แม้นรถคันใหญ่ก็ดูคล่องแคล่ว พวงมาลัยไฟฟ้า น้ำหนักเบากำลังดี มีระยะฟรีนิดเดียวคัดง่าย ให้วงเลี้ยวแคบ 5.4 เมตรเท่านั้น และที่ดีไม่แพ้กัน คือระบบเบรก ที่หันมาใช้แบบจานเบรกระบายความร้อน (Ventilated Disc)  ทั้ง 4 ล้อ มันรู้สึกหยุดมั่นใจ จะเสียก้ต้องแป้นเบรกให้ความรู้สึกค่อนข้างตื้น จนขับแรกๆ คุณอาจมีเบรกหัวทิ่มหัวตำ ต้องเบรกแบบเลี้ยงแป้น ค่อยๆ เลียเข้าไป

ด้านเครื่องยนต์บอกเลยว่าขับเมืองรู้สึกว่า มันดูอืดอาดไปนิด อาจด้วยน้ำหนักตัวเปล่าสูงถึง 1,542 กก. (ยังไม่รวมผู้ขับขี่) น้ำหนักขนาดนี้กับ 156 แรงม้า เอาจริงๆ คุณไม่ได้รีดกำลังออกมาใช้เต็มที่ในเมืองหรอก คุณทำได้ เพียงปล่อยเบรกคลานๆ ไปตามๆ กัน ถ้ามีจังหวะได้เร่ง ผมค้นพบว่า ช่วง 0-60 ก.ม./ช.ม. ค่อนข้างตอบสนองช้า อืดอาด และดูเร็วขึ้นหลังจากนั้น ดังนั้นถ้าขับในที่รถเยอะในเมือง จะหวังปรู๊ดปร๊าดแทรกแถวคงยาก

การขับทดสอบในเมือง  รีวิว   Subaru Forester 2019

เอาตามตรงช่วงแรกๆ ผมรู้สึกเซ็งกับฟอร์เรสเตอร์ใหม่ ความรู้สึกคล้ายๆ กันนี้คุณสามารถหาได้ในรถอเนกประสงค์จากกระบะ หรือ  PPV   แต่ถ้านับว่า รถคันนี้ออกแบบมาสำหรับการใช้งานครอบครัว คุณมีลูกเด็กเล็กแดง หรือผู้เถ้าผู้แก่ นั่งด้วยในรถ ผมถือว่าใช่มันต้องประมาณนี้แหละ

การขับทดสอบในเมือง  รีวิว   Subaru Forester 2019

ผมขับฟอร์เรสเตอร์ใช้งานในเมืองในสภาพเจอรถติดเป็นส่วนใหญ่ ขึ้นทางด่วนใช้ความเร็วบ้างนิดหน่อย (ไม่เกิน 100 ก.ม./ช.ม) การขับขี่ในเมืองผมว่าได้เรื่องความคล่องตัว และความสบายในการโดยสารเป็นสำคัญ

ในที่สุดก็ได้เวลาจับอัตราประหยัดผมขับฟอร์เรสเตอร์ในเมือง 2-3 วัน มีระยะทางทั้งสิ้น 272 ก.ม. เติมน้ำมันไป 27.65 ลิตร อัตราประหยัดคือ 9.8 ก.ม./ลิตร ท่ามกลางการจราจรเมืองกรุงติดขัด ขับด้วยความเร็วไม่เกิน 90 ก.ม./ช.ม.

ทางไกล..เปลี่ยนไปเป็นรถคนละคัน

ความนิ่มนวลในรถซูบารุมันช่างประหลาด ด้วยเหตุว่ามันคือซูบารุ และทุกคนยินยอมพร้อมใจอยู่แล้วที่จะค้นพบช่วงล่างปึ๋งปั๋งมั่นใจ หลังขับในเมืองผมเรียนตามตรงว่าเริ่มถอดใจกับเจ้าฟอร์เรสเตอร์ไปสักหน่อย หากก็ยังไม่หมดหวังกับมัน

อันที่จริง ระยะหลังมีรถหลายรุ่นที่เซทรถมาให้มี 2 บุคลิก คันหนึ่งที่ผมเคยเจอคือ   Nissan X – Trail   2.5  ขับในเมืองเหมือนเกวียนเรียกพี่ แข็งกระด้างนั่งไม่สบาย แต่ขับนอกเมือง .. เออ ใช้ได้แฮะ  ส่วนตัวคิดว่า Subaru  Forester น่าจะเป็นรถ 2 บุคลิก เช่นกัน และผมคิดไม่ผิด

การขับทดสอบนอกเมือง  รีวิว subaru Forester 2019

เส้นทางวันนี้ผมตั้งใจเลือกเส้นทางไป อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ 1 วิ่งในเส้นทางเดียวกับตอนเทส   Subaru XV   และ 2.หาพื้นที่ไปลุยออฟโรด ดึงความสามารถ นอกถนนออกมา

การทดสอบครั้งนี้เราเลือกวันอาทิตย์ เพราะผมประจักษ์แล้วว่า วันเสาร์รถมักติดขัดยาวตั้งแต่บางใหญ่ไปยันศาลายา วันนี้วันอาทิตย์หลายคนคงนอนอยู่บ้าน บ้างคงไปเดินห้างใกล้ๆ

ถนนกาญจนาวันนี้ค่อนข้างโล่งใช้ความเร็วได้สูง 120ก.ม./ช.ม. ผมผ่านโค้งต่างระดับฉิมพลี ออกมาทางถนนปิ่นเกล้านครชัยศรี ขับด้วยความเร็ว 90-110 ก.ม./ช.ม. มาเรื่อย ช่วงนี้รถเยอะใช้ความเร็วไม่ได้มากมาย

เมื่อขับด้วยความเร็ว 90 ก.ม./ช.ม. ขึ้นไป ผมเริ่มแปลกใจ อาการโยน-โคลงหายไป เป็นไปได้สูงที่โช้คอัพของ Subaru Forester  มีวาล์วปรับแรงดันน้ำมัน โช้คดูตึงขึ้นตอบสนองดีขึ้น เก็บรอยต่อหลุมบ่อทำได้ดี คนนั่งหน้าอาจรู้สึกสะเทือนสักหน่อยเหมือนกับผู้ขับขี่ จากระบบกันสะเทือนแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท

ทางด้านหลังราวกับหนังคนละม้วน คนที่มีโอกาสนั่งหลังเจ้าป่า ไม่ว่าจะนัท น้องทีมงาน หรือ เดือน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ด้านหลังนั่งสบายมาก ผมมีโอกาสลองนั่งสั้นๆ เปลี่ยนให้เดือนขับบ้าง ที่นั่งหลังถูกยกสูงเล็กน้อย เห็นภาพทางด้านหน้า และรู้ว่าผู้ขับขี่กำลังทำอะไรอยู่

ระหว่างที่ผมใช้สิทธิคำว่า “แฟนขับ” ยอมรับว่า ตอนหลังนั่งสบาย ชอบมาก แรงสั่นสะเทือนจากถนนมายังห้องโดยสารตอนหลังน้อยมาก ยืนยันว่าโช้คอัพหลังเซทนิ่มกว่าด้านหน้าเล็กน้อย และระบบกันสะเทือนหลังแบบปีกนกอิสระ 2ชั้น ทางด้านหลัง ทางซูบารุ ชี้ว่า พวกเขาเปลี่ยนจุดยึดกันโคลงหลังใหม่ โดยยึดตรงกับตัวถังรถ ช่วยจำกัดแรงสะเทือนที่เกิดขึ้น เมื่อรวมกับความแข็งแรงโครงสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 มันก็เลยซับแรงดีขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

ความสบายในการโดยสารตอนหลัง ฟอร์เรสเตอร์ จัดอยู่ในระดับยอดเยี่ยม เสียงรบกวนในห้องโดยสารก็น้อย ถ้าขับไม่เกิน 120 ก.ม./ช.ม.  คุณสามารถนั่งเล่นโทรศัพท์ได้สบายไม่เวียนหัว หรือรู้สึกถึงแรงเหวี่ยงในโค้ง แม้ผู้ขับขี่จะเมามันส์อยู่ก็ตาม ด้วยท่านั่ง แอร์เย็นๆ และการซับแรงกระเทือนดีเยี่ยม อย่าแปลกใจ ถ้าคุณหันไปด้านหลังแล้วพบว่า คนที่เรารักหลับไปแล้ว

การขับทดสอบนอกเมือง  รีวิว subaru Forester 2019

ผมเปลี่ยนกลับมาขับต่อไปยังปลายทาง เมื่อขับด้วยความเร็ว พวงมาลัยไฟฟ้าจะตึงมือขึ้นเล็กน้อย ช่วยให้คุณขับมั่นใจเมื่อใช้ความเร็ว อัตราทดพวงมาลัยที่ว่องไวมีระยะฟรีเล็กๆ 1-2 องศา กลายเป็นเรื่องดี ถ้าคุณชอบขับมุดไปมา ตามการจราจร

การเข้าโค้งยังคงความมั่นใจ แต่ต้องยอมรับว่า ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์ใหม่ มีความสูงและหนักกว่าเดิม ทำให้ หลายครั้งอาจรู้สึกว่ารถมีอาการโคลงตัวเมื่อบิดรวดเร็วพวงมาลัยก่อนเข้าโค้ง แถมผมยังค้นพบว่า ถ้าเข้าโค้งแรงไป มันจะมีอาการ อาการท้ายไหลหรือ  Over Steer ด้วย อาการนี้ไม่ได้น่ากลัวอะไร เนื่องจากเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา เพียงคุณคัดทิศทางตามที่จะไป ที่เหลือระบบขับสี่จะช่วยคุณจัดการเอง

ขับทางไกลแบบนี้ เครื่อง 2.0 ลิตร ที่เคยอืดอาดเปลี่ยนบุคลิกไปคนละเรื่อง เมื่อคุณขับไปถึงความเร็ว 90 ก.ม./ช.ม. เติมคันเร่งปุ๊ปเร่งปั้ปทันใจอย่างยิ่ง แถมยิ่งคุณขับที่ความเร็วเกิน 100 ก.ม./ชม. ขึ้นไป ยิ่งรู้สึกว่ามันดูเร็วเป็นพิเศษ

ผมเปิดหาอัตราทดเกียร์ในระหว่างแวะทานข้าวกลางวัน Subaru Forester  ใช้เครื่องยนต์และเกียร์เดียวกันกับน้องชาย   Subaru XV 

ตารางแสดงอัตราทดเกียร์  Subaru  Forester

  Subaru  Forester
ช่วงอัตราทด 3.600-0.512
เกียร์ 1 3.600
เกียร์ 2 2.155
เกียร์ 3 1.516
เกียร์ 4 1.092
เกียร์ 5 0.843
เกียร์ 6 0.667
เกียร์ 7 0.557
เกียร์ถอยหลัง 3.687
อัตราทดเฟืองท้าย 3.900

แต่ส่วนตัวคิดว่า ความแตกต่างน่าจะอยู่ที่โปรแกรมเกียร์น่าเซทต่างกัน จากที่ขับ สังเกตว่า   Forester   พยายามใช้อัตราทดเกียร์ต่ำกว่าเกียร์สุดท้ายในตำแหน่งเกียร์   D   บ่อยครั้ง เพื่อให้ได้ความเร็วตามที่ผู้ขับขี่ต้องการ แทบทุกครั้งที่คุณกดคันเร่ง เกียร์จะขึ้นอัตราทดสุดท้ายเมื่อเราเริ่มถอนคันเร่งแล้วขับแบบเลี้ยงไปเรื่อย เรื่องนี้จะเด่นชัด เมื่อคุณใช้ระบบ   Cruise Control   

ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการให้ไม่รู้สึกเหนื่อยเมื่อขับนอกเมือง โดยเฉพาะเรากำลังพูดถึงน้ำหนักพิกัด 1,542 กก. นั่นมากกว่า   XV ถึง 103 กก. มันคงไม่สนุกแน่ ถ้ารถแช่เกียร์สูง ไม่ยอมตัดมาลงเกียร์ต่ำกว่าในยามเร่งแซง

การทำแบบนี้ทำให้รถขับดีตอบสนองคล่องแคล่วว่องไว หากก็แลกมาด้วยเรื่องอัตราประหยัดน้ำมัน จากบางใหญ่ไปสวนผึ้งเป็นระยะทางกว่า 175 ก.ม. (ด้วยความเร็ว 90-130 ก.ม./ช.ม.) มีช่วงถนนเลนสวนเข้าสวนผึ้ง ราวๆ 20 ก.ม. นั่ง 2 คน ได้อัตราประหยัดเพียง 11.50 ก.ม./ลิตร

มันอาจจะประหยัดกว่านี้ ถ้าขับบนทางไกลด้วยความเร็วคงที่ยาวๆ และน่าจะแย่กว่านี้ ถ้านั่งเต็มคัน 4 คนพร้อมสัมภาระ เมื่อเทียบกับการขับในเส้นทางเดียวกันกับ   Subaru XV  เราทำได้  12.64 ก.ม./ลิตร ผมว่า   Subaru Forester   ทำได้ 11.5 ก.ม./ลิตรก็สมน้ำสมเนื้อกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น 

ลุยโหด ห้วยคอกหมู …สมบุกสมบันครบเครื่อง

ชื่อ  “Forester”   ไม่ได้ตั้งขึ้นมาให้สวยงามเท่านั้น อันที่จริง ตั้งแต่รถรุ่นนี้เกิดขึ้นมา มันทำให้คอออฟโรดหลายคนต้องแปลกใจมานับไม่ถ้วน และรุ่นใหม่ทางซูบารุก็วางแผนให้มันพร้อมลุยยิ่งขึ้นด้วย

ตอน  Subaru  XV   เปิดตัว ที่ไต้หวันในปี 2017 (ฟอร์เรสเตอร์ใหม่ยังไม่เปิดตัว) ทางซูบารุ เผยว่า   Subaru  Forester   ใหม่ ถูกวางแผนเป็นรถอเนกประสงค์พร้อมลุย ในเวลานั้นหลายคนยังนึกภาพไม่ออกว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร จนกระทั่งเมื่อเปิดตัวพร้อมกับระบบ   X Mode ใหม่ เลือกโหมดได้ เราเริ่มเห็นความตั้งใจของซูบารุมากขึ้นในเรื่อง การพยายามทำรถลุยได้อย่างสมบุกสมบัน

ย้อนไปยังตอนเปิด   Ridebuster.com  ใหม่ๆ ผมเคยนำ   Subaru Forester  2.0 i-P มาลองทำเรื่องบ้าที่สุด ที่คิดว่าคงมีคนเคยทำมา ผมขับรถรุ่นนี้ขึ้นเขากระโจม ท่ามกลางสายตาของคอออฟโรด ณ ปลายทาง พวกเขามองว่าเจ้าอเนกประสงค์คันนี้ไม่น่ามาได้ … อ่านการลุยเขากระโจมได้ที่นี่ 

Subaru-Forester-Koa-krajom (4)

การไปลุยโหดอาจไม่ใช่ทางของใครหลายคน แต่ซูบารุเองรู้ว่าโครงสร้าง   Subaru  Global Platform  ไม่ได้มีดีในเรื่องความปลอดภัย หรือการขับขี่บนถนนอย่างเดียว การใช้เหล็กดีขึ้น ทำให้โครงสร้างมีความแข็งแรงมากขึ้น หมายถึงการลดอาการบิดตัวของโครงสร้างเมื่อขับในทางทุรกันดาร สามารถเป็นจุดขายอีกด้านได้ด้วย

ทำไมห้วยคอกหมู …. ไม่เลือกเขากระโจม

ผมบอกก่อนเลยว่า รถทดสอบเราใหม่มาก การขึ้นเขากระโจม ความโหดร้ายของเส้นทางไม่ใช่ประเด็น แต่เรื่องคือมันต้องลุยน้ำระดับ 60-80 เซนติเมตร ผมสำรวจสภาพอากาศก่อนเดินทางพบว่ามีฝนตกทางราชบุรีต่อเนื่อง ตามภาษาเขตเงาเขาตะนาวศรี จึงคิดว่า ไว้เพื่อนสื่อท่านอื่น ยืมทดสอบจนหนำใจก่อน ค่อยว่ากัน เขากระโจม น่าจะดีกว่า

อีกประการผมอยากเปรียบเทียบความรู้สึกกับรถ  PPV (คันล่าสุดที่เอามาคือ   Nissan  Terra)  ตลอดจนเทียบกับน้องชายของมัน  Subaru  XV ที่เราเคยเอามาขับเมื่อต้นปีที่แล้ว

ทางขึ้นห้วยคอกหมูวันนี้ บอกเลยว่าค่อนข้างจะโหดได้ใจ  โดยเฉพาะเมื่อฝนตก ทางที่นี่จะกลายเป็นทางลูกรังมีร่องน้ำร่องลึก โหด พอๆ กับเขากระโจม ต่างกันเพียงคุณไม่ต้องขึ้น เนินชัน หรือต้องข้ามน้ำเท่านั้นเอง

ทดสอบ  off road   subaru  Forester 2019

ต้อนรับขึ้นห้วยคอกหมูวันนี้เริ่ม ต้นทางด้วยร่องลึกขนาดใหญ่ น่าจะเกิดจากฝน และชาวออฟโรด สายปั่นมาขุดไว้ ดูเหมือนเจ้าหน้าที่ตชด. พยายามเอาหินกับทรายมาปิดร่อง มันกลายเป็นเนินสลับที่มีหินก้อนใหญ่ มีความยากขึ้นไปอีก

งานนี้ต้องพึ่งตัวช่วย   Subaru Forester   ใหม่ มาพร้อมระบบ ช่วยลุยที่เรียกว่า   X Mode   ในรุ่น  i-S   เป็นระบบ  Special  X-Mode แบ่งเป็น 2 รูปแบบขับขี่ คือ  Dirt-Snow   และ  Deep Snow – Mud   2 ระบบนี้แตกต่างกันตรงที่ การเปิด หรือ ปิด การทำงานของระบบ   TCS   หรือระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ซึ่งอาจจำเป็นในบางสถานการณ์ เช่นทางโคลน ทราย เพื่อทำให้รถพ้นอุปสรรคง่ายกว่า

ผมเลือก โหมด   Dirt-Snow  ปกติ เนื่องจากสภาพทางเป็นหินและ ร่องลึก  บวกกับเนินสลับที่เรากำลังเจอ จะมีโอกาสทำให้ล้อลอยหน้ายก ค่อนข้างมาก TCS   จะช่วยให้สามารถถ่ายกำลังจากล้อฟรีไปยังล้ออีกด้านได้ ทำให้ฝ่าอุปสรรคง่ายกว่า

ทดสอบ  off road   subaru  Forester 2019

ด่านแรกผมพยายามเลือกไลน์ที่เจอเนินสลับน้อยที่สุด ปรากฏมันกลายเป็นว่าตรงนั้นเป็นทราย ดินไม่แน่น เข้าไปแล้วปั่นจนเริ่มขุด เราจึงไม่มีทางเลี่ยงอื่น นอกจากผ่านเนินสลับเข้าไปอย่างเดียว

ข้อดีของฟอร์เรสเตอร์ที่หลายคนคงคาดไม่ถึง มาก่อน เป็นเรื่องการออกแบบให้รถมีช่วงยื่นสั้น ทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง ช่วยให้มันมีระยะมุมไต่สูงถึง  22.9 องศา มีมุมจาก 24.6 องศา และมุมคร่อม 19.6 องศา แถมตัวรถยังมีความสูงจากพื้น  220 มม. มากที่สุดในกลุ่มครอสโอเวอร์กลุ่มเดียวกัน

มุมต่างๆ ที่ผมพูดไปนั้น เป็นข้อดีในเรื่องการออฟโรด มันหมายถึงคุณสามารถเลี่ยงการครูดไม่ให้กวนใจ สำหรับเนินสลับด่านแรก ยากหน่อยตรงที่เป็นเนินที่เปี่ยมด้วยทราย ผมต้องเร่งเครื่องเพื่อรีดแรงบิด แล้วรอ  X Mode   ช่วยจัดการระบบ   TCS   ถ่ายกำลังล้อที่ฟรี ไปอีกด้าน ดันเราผ่านอุปสรรคไปได้

ผ่านด่านแรก เราหลุดมาได้แบบเหนื่อยหน่อย เพราะต้องเข้าใจการทำงานของ  X Mode มันไม่เหมือนการขับ   PPV   หรือ กระบะที่อาศัยการปั่นเพียงอย่างเดียว ปั่นผ่านก็คือจบ ระบบของซูบารุมันเหมือนมีเพื่อนคู่คิดว่าเมื่อไรควรจะช่วย มันเน้นให้เราใช้กำลังแรงบิด และความสามารถของรถก่อน ที่จะใช้ระบบ   TCS ช่วยเราอีกที

ทดสอบ  off road   subaru  Forester 2019
ทดสอบ  off road   subaru  Forester 2019

ระหว่างเส้นทางเป็นหินต่อเนื่อง ผมเริ่มชอบ ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์   ขึ้นมาบ้าง ความรู้สึกของโครงสร้างตัวรถที่แข็งแรงขึ้น ทำให้ มันมีการบิดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับตัวเดิม เหมือนขับรถอเนกประสงค์   PPV   มากกว่าขับครอสโอเวอร์ เมื่อเข้ามาลุยทางแบบนี้

การซับแรงสะเทือนจากทางขุรขระเข้าสู่ห้องโดยสารน้อยมาก มันเป็นรถขับลุยได้อย่างสบายอย่างแท้จริง ไม่เหมือน PPV   คุณยังพอรู้สึกแรงกระแทกจากทางด้านล่าง กลับกันฟอสซี่ ซับแรงกระแทกด้วยโครงสร้างของมัน ทำให้ความรู้สึกสั่นสะเทือนน้อยกว่า เว้นยามที่คุณต้องผ่านร่องหินหลุมบ่อขนาดใหญ่ อันนั้นคงไม่มีรถอะไรช่วยได้

แต่โครงสร้างที่แข็งแรงก็มาพร้อมข้อเสียหนึ่งที่สำคัญ คือล้อจะลอยจากพื้นได้ง่ายมาก เนื่องจากโครงสร้างมีการบิดตัวน้อย ผมลุยงวดนี้เป็นครั้งแรก ที่ผ่านเนินสลับร่องน้ำแล้ว รู้สึกว่า ล้อลอยบ่อยมากที่สุด

ทดสอบ  off road   subaru  Forester 2019

แม้ว่าจะมีตัวช่วยในเรื่อง   TCS   ทำให้แม้นล้อลอยยังจะสามารถผ่านต่อไปได้  หากในเชิงความรู้สึกของคนที่ไม่เคยขับออฟโรดเลยอาจไม่ค่อยถูกใจ เวลาลอยไม่ว่า หน้าหรือหลังยกจะมีความตกใจไม่น้อย ยิ่งถ้าไปกับภรรยาที่ไม่ใช่สายบู๊ คงจะต้องมีกรี๊ดกร๊าดบ้างล่ะ

ผมเดินทางไม่นานก็ถึงด้านบนของห้วยคอกหมู ด่านโหด หลักๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเนินสลับและร่องน้ำ Subaru Forester   มีผู้ช่วยที่ดี X-Mode สามารถขับเดินทางได้สบายมาก เพียงเลือกไลน์ลุยให้ถูก ที่เหลือรถจัดการให้

สรุป Subaru Forester 2.0 i-S   เป็นทุกสิ่งของคำว่า “รถอเนกประสงค์”

ตั้งแต่   Subaru  Forester  เริ่มเปิดตัวเป็นต้นมา ผมรู้ว่าทุกคนสนใจรถรุ่นนี้ไม่มากก็น้อย ส่วนหนึ่งด้วยราคาขายที่ตั้งมาดีมาก และความเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงทางด้านสมรรถนะทุนเดิม ทำให้คุณไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า มันควรอยู่ในรายการรถน่าซื้อ ปี 2019

หลังจากขับ   Subaru Forester   ในทุกรูปแบบ ทุกเส้นทาง ผมอยากจะบอกคนที่ได้จองไปแล้ว หรือกำลังคิดจะซื้อว่า “คุณไม่ผิดหวัง” มันไม่เหมือนรถอเนกประสงค์ครอสโอเวอร์ทั่วไป ซูบารุพยายามทำให้รถคันนี้เป็นทุกอย่างของการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง

มันพกส่วนผสมประหลาดๆ มาในแบบที่ซูบารุ คิดว่าลูกค้าน่าจะชอบ มันดูดีในสไตล์หรู นั่งสบาย พ่อตาแม่ยาย ศรีภรรยาไม่บ่น ขับดีในเมืองนิ่มนวล นอกเมืองมั่นใจ เบื่อๆในวันว่างก็ไปลุยได้ หากยังชอบความเร้าใจ มีใครมาแซวทักทายเวลาอยู่คนเดียว ก็พร้อมซิ่ง จับไปเชือดในโค้ง อัตราเร่งเจ้านี้อาจจะไม่หวือหวา 0-100 ก.ม. /ช.ม. ในเวลา 12.97 วินาที   และ 80-120 ก.ม./ช.ม. ใน 7.97 วินาที ความเร็วสูงสุด รถรุ่นนี้ทำได้  194 ก.ม./ช.ม.

ผมยอมรับว่า ไม่เคยเจอรถอเนกประสงค์ครอสโอเวอร์ที่ออกมาในแบบนี้มาก่อน ซูบารุทำตัวราวกับพ่อครัวอาหารฟิวชั่นจากแดนอาทิตย์อุทัย ที่พยายามประกาศก้องโลก ว่า เฮ้ย!! ครอสโอเวอร์มันดีได้กว่านี้อีก เขาวางเป้าหมายของพวกเขาในการให้อรรถรสในรถยนต์อเนกประสงค์ใหม่อย่างชัดเจน มันฟังดูประหลาด พร้อมคำถามเป็นไปได้หรือ แต่ในที่สุดเมื่อเขาปรุงแต่งออกมา ใครขับลองแล้ว ราวกับต้องมนต์สะกด ไม่แปลกใจที่ทุกคนที่ไปลองขับกลับมาพร้อมใบจองเป็นแถวๆ  

Subaru Forester 2.0 I-S

นี่คือครอสโอเวอร์ที่หลายคนใฝ่ฝัน มันนั่งสบาย ลุยได้ และเมื่อชิน … ขับง่ายใช้งานสะดวก ทำให้ผมนึกถึงคอนเซปต์โฆษณาแรกของ   Forester  ว่า “ลุยก็ได้ขับง่ายดั่งเก๋ง” โดยที่คุณไม่ต้องซื้อ   PPV   ที่นั่งไม่สบายในเมือง แถมยังมีราคาแพงกว่ามาก รุ่นขับสี่  PPV  ต้องมีราคา 1.4 ล้านบาทขึ้นไป กลับกันฟอร์เรสเตอร์ 2.0 i-S คันนี้ ราคาเพียง 1.38 ล้านบาทเท่านั้น

Subaru Forester 2.0 I-S

ถึงเราจะพูดในแง่ดีของ เจ้าป่า มามาก ทว่าก็ต้องยอมรับว่า ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์ใหม่ เปลี่ยนตัวเองไปตลอดกาล เมื่อช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ผมจับรถรุ่นเก่า  2.0 i  มาขับ แล้วรู้สึกว่ารถดูออกมามีความวัยรุ่นมากกว่ารุ่นใหม่ มันดูมีความเป็นซูบารุ รถแข็งดูหนึบขาดความนิ่มนวล ขับมั่นใจ ความสบายในการโดยสารอาจจะอยู่ท้ายรายการของการพัฒนาด้วยซ้ำ

มันสะท้อนข้อเท็จจริงบางประการ และตั้งแต่ผมจับรถที่พัฒนาภายใต้โครงสร้างใหม่ ทั้ง 2 รุ่น ไม่ว่า เอ็กซ์วี และ ฟอร์เรสเตอร์ สัมผัสได้ว่า พวกมันถูกปรับให้เหมาะสมกับคนทั่วไปมากขึ้น ลดดีกรีความสปอร์ตไปพอสมควร เหมือนเดิมเป็นผัดเผ็ด วันนี้กลายเป็นผัดเปรี้ยวหวาน ทานกับข้าวแล้วมันอร่อยต่างกัน

ตารางเปรียบเทียบข้อมูลการทดสอบรถ   Subaru  Forester  เก่า-ใหม่

  2016 Subaru Forester 2.0 I 2019 Subaru  Forester 2.0 i-S
ความประหยัด ในเมือง (กม./ลิตร) 10.52 9.8
ความประหยัด นอกเมือง (กม./ลิตร) 12.31 11.5
ความประหยัด BonntestMode (กม./ลิตร) 12.8 13.7
ข้อมูลอัตราเร่ง
อัตราเร่ง 0-100 ก.ม./ช.ม. (วินาที) 11.99 12.98
อัตราเร่ง 80-120 ก.ม./ช.ม.  (วินาที) 9.01 7.97
น้ำหนักเปล่าตัวรถ (กก.) 1,450 1,542

ยิ่งถ้านำข้อมูลของรถรุ่นเก่า (2.0i)  มาเปรียบเทียบ จะพบว่า

  • ขนาดตัวรถที่ใหญ่และโครงสร้าง  SGP   ทำให้รถแบกน้ำหนักมากขั้น
  • น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ทำให้กินน้ำมันมากขึ้นไปด้วย ทั้งในเมืองและนอกเมือง
  • อัตราเร่งในช่วงต้นรุ่นเก่าดีกว่า แต่รุ่นใหม่อัตราเร่งช่วงเร่งแซงดีกว่า
  • ตัวเก่ามีความแข็งกระด้างแบบซูบารุมากกว่า ตัวใหม่ขับและนั่งสบายกว่า  

ดังนั้น ถ้าคุณมองหาความเป็นซูบารุในรถรุ่นใหม่  อาจจะเหลือน้อย เพราะในทางหนึ่งซูบารุก็ต้องการจับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ หันมาสนใจในแบรนด์ ลดความดิบเดิมมันดีต่อคนกลุ่มใหม่ หากคนที่ชื่นชอบหรือใช้รถแบรนด์นี้มายาวนานอาจจะรู้สึกว่า มันเปลี่ยนไปตลอดกาล

อย่างไรก็ดี ซูบารุยังคงต้องกลับไปทำการบ้านอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการออกแบบรถที่ยังคงดูสูงวัยไปสักนิด โดยเฉพาะส่วนตัวที่ไม่ชอบเลย คือไฟท้ายก้ามปูทางด้านหลัง รถคันนี้พยายามทำให้ดูภูมิฐานมากขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นเดิม ผมเชื่อว่านั้นคือความตั้งใจของทีมออกแบบ

นอกจากนี้ เรื่องความประหยัดรุ่นใหม่ดูจะไม่สู้ดีนักกับเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร ที่ต้องมาแบกน้ำหนักเปล่า 1,542 กก. มันอาจเป็นรถออกตัวอืดและเร่งแซงดี หากก็แลกด้วยการเชนเกียร์เป็นระวิง ทำให้อัตราประหยัดไม่ดีเอาเสียเลย ถึงเครื่อง 2.5 ลิตร จะดูมีขนาดใหญ่ไป แต่ด้วยน้ำหนัก และความจำเป็นในการโดยสารและขนสัมภาระ

ผมอยากให้ตันจง ลองศึกษาการติดตั้งเครื่อง 2.5 ลิตร น่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่านี้ ในเรื่องความประหยัด และสมรรถนะในการขับขี่ อันเป็นจุดขายของคำว่า “ซูบารุ” ขนาดในญี่ปุ่นที่เข้มงวดการขับขี่ ถนนส่วนใหญ่เป็น 2 เลนสวนแทบทั้งประเทศ ยังใช้เครื่อง 2.5 ลิตร ในบางประเทศ อย่างประเทศไทย – มาเลเซีย ควรใช้เครื่องยนต์ 2.5 ลิตรเช่นกัน แถมจะได้แยกลูกค้า จาก   Subaru XV   อย่างชัดเจนด้วย ยิ่งถ้าจ่ายต่างกันไม่เกิน 5 หมื่นบาท ผมว่าลูกค้าก็ยินดีที่จะจ่าย เพื่อสมรรถนะที่ดีกว่า

นอกจากนี้ ด้วยการออกแบบรถเป็นทรงสูง ทำให้จุดศูนย์ถ่วงรถอยู่สูงตามไปด้วย เทียบกับ  Subaru  XV   เจ้าป่าเข้าโค้งแล้วดูเหวี่ยงกว่า แถมใครที่ขับเข้าโค้งแรง ควรระวัง รถอาจจะมีอาการท้ายไหลหรือ   Oversteer เล็กๆ น่าจะเป็นผลมาจากการติดตั้งกันโคลงเข้ากับแชสซีตัวรถ เมื่อรวมกับโครงสร้างอันแข็งแรงทำให้มันกลายเป็นอาการสไลด์  ในเวลาเข้าโค้ง หรือคุณสะบัดพวงมาลัยเร็วๆ เหมือนเตือนว่า เฮ้!! เร็วไปแล้ว

ผมเคยคุยกับวิศวกรโครงสร้าง ซูบารุ ครั้นตอนเทสรถรุ่นนี้ที่ประเทศไต้หวัน ในสภาพมีฝนตก พื้นแฉะ ในโค้งแคบอาการท้ายออกเด่นชัดมาก และมันไม่น่าพิศมัย กับคำว่า “รถครอบครัว” เขาแปลกใจเล็กๆ กับการแสดงความเห็นของผม และได้โน้ตกลับไปปรึกษากับทีมวิศวกรที่สำนักงานใหญ่

ผมกำลังจะพูดกับคุณในแบบเดียวกัน ว่า แม้ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์จะมีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ก็อย่าวางใจ ทะลึ่งเข้าโค้งแรงๆไม่ดูสี่ดูแปด เนื่องจากรถมีความสูง ตามหลักฟิสิกส์ วัตถุที่มีส่วนสูงจะรับแรงเหวี่ยงมากกว่า คุณควรเข้าโค้งด้วยความเร็วที่เหมาะสม เชื่อว่า คงไม่ใครระห่ำฟัดโค้งแรงเวลาที่มีศรีภรรยานั่งประจำตำแหน่งอยู่ เว้นแต่คุณขับคนเดียว

 ถ้าบังเอิญเข้าโค้งแรงไป เจออาการนี้ ไม่ต้องตกใจ เพียงบังคับตามทิศทางโค้ง ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ จะช่วยกู้สถานการณ์ ให้เองไม่จำเป็นต้องแก้อาการใดๆ ครับ

ท้ายสุดคงเป็น เรื่องระบบ  X- Mode  ส่วนตัวผมชอบทีมีตัวช่วยในการลุย มันดีสำหรับสายลุยมือใหม่ หรือคนไม่เคยลุยมาก่อนเลย ก็สามารถขับฟอสซี่ไปลุยได้สบาย ปัญหาคือความซับซ้อนของระบบที่พยายามใช้เครื่อง เกียร์ และระบบควบคุมการทรงตัวร่วมกันฝ่าอุปสรรค ระบบจะพยายามทำงานเป็นขั้นตอน ไม่สามารถลัดขั้นตอนได้

รีวิว ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์

ในการทดสอบทางออฟโรด ผมใช้โหมด   snow -Dirt   ประจักษ์ว่า ระบบจะรอจนกว่ารถจะมีอาการ จึงจะช่วยไม่ได้รีบช่วยทันทีทันใด มันอาจแตกต่างถ้าคุณขับ  Deep Snow- Mud   เพราะระบบจะยกเลิกการทำงานของระบบ   TCS   ออกไป หมายถึงคุณช่วยตัวเอง หากก็ไม่ได้เหมาะกับทุกสภาพเส้นทาง เช่นทางหินร่องลึก อย่างห้วยคอกหมู ต้องมีอาการล้อลอยแน่ๆ ใช้  TCS   ช่วยด้วยน่าจะดีกว่า

ตลอดจนด้วยการควบรวมฟังก์ชั่นต่างๆ ไว้ในระบบทำให้ บางครั้งสร้างความน่ารำคาญ โดยเฉพาะระบบ   Hill Decent control   ไม่สามารถกดปิดได้ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่เคยลุย อาจชอบ เพราะมันทำให้รถคุมง่าย แต่กับคนที่มีประสบการณ์ หลายครั้งกลายเป็นน่ารำคาญใจ ระบบเบรกให้ก็ลงเนินช้าเสียเวลาในหลายจังหวะ พอกดคันเร่งระบบปลดล็อคให้ก็กลายเป็นไหลลงเนินเร็วไป เจ้าระบบนี้ควรมีปุ่มยกเลิกมาให้เพิ่ม เผื่อผู้ขับขี่อาจจะอยากคุมเอง

 ผมอยากฝากซูบารุว่า น่าจะต้องมีคอร์สอบรม X- Mode  สำหรับลูกค้า เนื่องจากศักยภาพของมันสามารถลุยสมบุกสมบันได้ดีมาก แต่หลักการอันซับซ้อน ทำให้หลายคนอาจยังไม่เข้าใจ และในที่สุดกลายเป็นไม่กล้าใช้งาน ทั้งที่มีของดีกับมือ

รีวิว ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์

ระหว่างผมนั่งเขียนรีวิวชิ้นนี้ ผมมองฟอสซี่ใหม่ ที่จอดหน้าบ้าน ซูบารุได้ทำสิ่งที่ค่ายอื่นทำไมได้ และไม่คิดจะทำ พวกเขาเปลี่ยนความเชื่อรถอเนกประสงค์ครอสโอเวอร์ไปตลอดกาล และทำสำเร็จตามโจทย์และเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้

Subaru  Forester  ใหม่ เป็นรถที่ครบเครื่องในแบบรถอเนกประสงค์ควรเป็น มันมาพร้อมฟังก์ชั่นความสบาย นั่งโดยสารได้ วางใจในทุกเส้นทาง คนขับยังสนุกกับถนนหนทาง พร้อมลุยทุกสถานการณ์ เหมาะได้ทั้งเป็นรถครอบครัว หรือ รถสำหรับท่านผู้บริหาร ถ้าคุณอยากนั่งสบายๆ ตอนหลัง

สำหรับผมไม่เคยเห็นครอสโอเวอร์ใด ทำได้แบบนี้ มันจะต้องดีอย่างเสียอย่างเสมอ ผมนั่งมองรถ ที่ต้องนำไปคืนในอีกไม่นานนี้ คิดถึงโจทย์ของซูบารุ อันงุนงงครั้งแรกที่เขาสู้อุตส่าห์อธิบายอย่างนาน ที่ประเทศไต้หวัน พอหลังลองขับจริง ผมกล้าพูดว่า รถคันนี้ไม่ทำให้ผิดหวัง มันครบเครื่อง กับ 3 สิ่งที่พวกเขาตั้งโจทย์ไว้ วางใจได้ ,สะดวกสบายกับคนที่คุณรัก และมีจิตวิญญาณพร้อมลุย

ผมว่า นี่แหละคือ สิ่งที่คนซื้อรถอเนกประสงค์ตั้งใจมองหาในรถครอสโอเวอร์ ในวันนี้ !!!

ชมวีดีโอรีวิว Subaru Forester ได้ที่นี่

เรื่องและขับทดสอบโดย ณัฐยศ ชูบรรจง

ขอบคุณ บริษัท ทีซี ซูบารุ จำกัด เอื้อเฟื้อรถทดสอบ   Subaru Forester   2.0  I S  มาให้ทดสอบ

ข้อมูลประกอบบทความจาก Wikipedia

รูปประกอบ   Subaru cooperation Japan

[ngg src=”galleries” ids=”1133″ display=”basic_thumbnail”]

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.