Home » Full  Review : BYD e6  … รถยนต์ไฟฟ้ามาแล้วนะเธอ
Full Review รีวิว

Full  Review : BYD e6  … รถยนต์ไฟฟ้ามาแล้วนะเธอ

ย้อนกลับไปในร้อยกว่าปีที่ผ่านมา การกำเนิดขึ้นของเครื่องยนต์สันดาปภายใน ถือเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญ ต่อเนื่องมาจากยุคของการปฏิวัตอุตสาหกรรม เราทดแทนเครื่องจักรไอน้ำ ด้วยเครื่องยนต์เพื่องานต่าง ๆ เมื่อเราจับมันมาติดล้อใส่พวงมาลัยมันคือรถยนต์ …. และเราทุกคนรู้จักกันดี

20 ปีที่แล้ว   Toyota   เป็นบริษัทรถยนต์รายแรกๆที่เห็น ความจำเป็นที่จะต้องก้าวต่อไปในนวัตกรรมยานยนต์ พวกเริ่มโครงการพัฒนารถยนต์ไฮบริดและขายมันอย่างจริงจัง แต่ในระยะ 10ปีที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้า เป็นเสียงลือเสียงเล่าอ้างนวัตกรรมยานยนต์ยุคใหม่ มันเริ่มเข้ามาใกล้ประเทศไทยมากขึ้น เมื่อมีคนพูดถึงและวางขายในกลุ่มคนที่สนใจ จนมีขับบ้างบนถนนแล้วประปราย

ประกายความสนใจครั้งสำคัญเกิดขึ้นตั้งแต่ 7 ที่แล้ว ในงาน   Boi Fair   2011  เมื่อบริษัทรถยนต์ชั้นนำในประเทศหลายเจ้าต่างถือโอกาสจัดแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของบริษัทในอนาคต และในบรรดาหลาย ๆ นวัตกรรมในวันนั้น “รถยนต์ไฟฟ้า” เป็น ก้าวสำคัญ ของการเปลี่ยนแปลง

จากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลากว่า 7 ปี ตั้งแต่คนไทยเริ่มรู้จักรถยนต์ไฟฟ้า หลายบริษัทรถยนต์เริ่มส่งสัญญาณเดินหน้าเอาจริงในการเปิดตัวและวางขายนวัตกรรมรถยนต์ในอนาคต ไม่ว่าจะ  Nissan   บอกพร้อมลุยรถยนต์   Nissan  Leaf   มาตั้งแต่ต้นปีนี้ และมีแววขายภายในก่อนสิ้นปีนี้ หากในอีกมุมแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน   BYD   กลับช่วงชิงความพร้อมในการวางขายรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรายแรกในประเทศไทย เคียงข้าง   Hyundai   ที่มาเปิดตัว   Hyundai ioniq   ในงานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ผ่านมา และ เป็น   BYD   ที่พร้อมให้เราลองรถยนต์ไฟฟ้าของพวกเขา

คนจำนวนไม่น้อยอาจไม่รู้จัก   BYD   มาก่อน แบรนด์   BYD  (Build Your Dream) เป็นแบรนด์รถยนต์จากประเทศจีน   …. พูดแบบนี้ บางคนอาจจะไม่สนใจแล้ว ปิดรีวิวหนี ก็ไม่แปลกใจนัก … แต่ถ้าผมพูดว่า   Tesla  คือเสือรถยนต์ไฟฟ้าโลกตะวันตก   BYD   ก็คือเจ้ารถยนต์ไฟฟ้าโลกตะวันออก ก็คงจะไม่ผิดนัก

แบรนด์   BYD   อาจไม่ใช่ที่รู้จักของคนไทย แต่ในประเทศจีนพวกเขาถือเป็นบริษัทรถยนต์ชั้นนำที่ประสบความสำเร็จในการผลิตรถยนต์ประเภทไฮบริดและรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเต็มระบบ  เป็นบริษัทรถยนต์จากประเทศจีนที่สำคัญ ซึ่งประสบความสำเร็จจากการผลิตรถยนต์ประเภทพลังงานรูปแบบใหม่ หรือ new energy vehicle

 และพวกเขาไม่ใช่เพียงมีแค่รถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น  BYD   ยังจัดทำรถบัสประจำทางไฟฟ้า ,รถตู้เพื่อการขนส่งขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า   BYD T3  (ซึ่งจะเข้ามาขายในไทยปลายปีนี้) แต่ที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักกัน และสร้างชื่อเสียงให้แบรนด์อย่างมาก คือเจ้า   BYD e6 …  รถที่เรานำมาทดสอบในวันนี้

รถยนต์   BYD e6   ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จของ   BYD   เนื่องจากเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกออกแบบให้มีความแตกต่างจากรถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์อื่นๆ ในตลาด ด้วยสไตล์ที่ก้ำกึ่งระหว่างความเป็นรถยนต์อเนกประสงค์สไตล์ครอบครัว หรือ   MPV   ผสานกับทรวดทรงที่ดูคล้ายกับรถแบบ   SUV จนแทบจะกล่าวว่าเป็นรถสไตล์อเนกประสงค์คันแรกๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่รถยนต์ไฟฟ้า

สไตล์ที่แตกต่างดังกล่าวก่อกำเนิดให้   BYD  e6   ถูกนำมาใช้เพื่องานขนส่งมวลชนเป็นรถยนต์สาธารณะประเภทรถแท็กซี่ให้บริการในหลายเมืองในประเทศจีน , ฮ่องกง ไปจนถึงเป็นแท็กซี่ให้บริการในกรุงนิวยอร์ค และชิคาโก้ ในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย

การออกแบบตัวรถ   BYD e6 ทางบริษัทมุ่งเน้นในการสร้างสรรค์รถรุ่นนี้ออกมาเป็นสไตล์รถยนต์อเนกประสงค์ โดยผสมผสานกลิ่นอายของความเป็นรถยนต์   MPV   กับรถ   SUV   เข้าไว้ด้วยกัน

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

ตัวรถทางด้านหน้าเล่นเส้นสายรายละเอียดความทันสมัยอย่างครบครัน กระจังหน้าที่มีช่องระบายคลมเข้าระบบขนาดเล็กลงบ่งบอกความทันสมัยทักทายด้วยเส้นสายการออกแบบที่ดูปราดเปรียวทางด้านหน้า ด้วยเส้นฝากระโปรงที่เทลาดลง และไฟหน้าขนาดใหญ่ให้โคมโปรเจคเตอร์ เสียดายยังส่องสว่างด้วยไฟหน้าฮาโลเจน ชุดไฟเลี้ยวใช้ไฟ   LED  สีส้ม สวมด้วยกันชนหน้าเพิ่มความทันสมัย แถมด้วยไฟตัดหมอกแบบ   LED  ซึ่งยามปกติ จะเป็นไฟหน้า  Day Time Running Light   สำหรับขับขี่ในเวลากลางวัน

ด้านข้างไม่เน้นรายละเอียดมากมาย ใช้เส้นสายเรียบง่ายตามแบบฉบับรถ   MPV   ติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว มาพร้อมยางขนาด 225/65/R17   คันที่ขับใช้ยาง   Maxxis Victra 510  เป็นยางประเภททัวร์ริ่งใช้ขับขี่ทั่วๆ ไป ไม่ได้หวือหวาอะไรนัก แถมกระจกมองข้างพับเก็บด้วยระบบอัตโนมือ

ทางด้านท้าย   BYD  ด้วยสไตล์ที่ดูเป็นอนเกประสงค์แบบ   SUV   บางมุมทำเอานึกถึงดีไซน์รถจากประเทศอังกฤษเหมือนกัน  ให้โคมไฟท้ายแบบสปอร์ต เป็นโคมขาวคล้ายแบบไฟแต่ง แต่เป็นแบบนี้มาจากโรงงาน ให้ไฟท้ายแบบ   Led  ติดตั้งสปอร์ยเลอร์หลังมาเสร็จสรรพ พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

ตัวรถ   BYD e6   นำเสนอด้วยขนาดตัวรถที่เทียบเท่าคลาส  Compact Crossover – Compact MPV  มีความยาวตลอดคัน  4,560 มม. กว้าง  1,822 มม. สูง 1,630 มม.  ตอบโจทย์ด้วยระยะฐานล้อ  2,830 มม. มิติตัวรถใกล้เคียงรถยนต์   MG GS  ค่อนข้างมาก หากในความรู้สึกที่ยืนมองรถ   BYD e6   หลายครั้ง มันคือกลับรู้สึกถึงความใหญ่โตมากกว่า เป็นรถที่ดูแล้วกว้างกว่าในความรู้สึกเป็นจริง

กดสวิทช์ข้างประตู ก็เข้ารถได้ง่ายสบายมาก เจ้าอเนกประสงค์ไฟฟ้าคันนี้พกระบบกุญแจ   Key Less  มาพร้อมสรรพเรื่องอำนวยความสะดวกในการขับขี่

เมื่อเปิดประตูเข้ามา คุณจะรู้สึกแปลกใจในรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ ด้วยคอนโซลหน้าขนาดใหญ่ เรือนไมล์ที่เคยอยู่ตรงหน้า ถูกโยกไปไว้ตรงกลาง คล้าย Toyota Vios   รุ่นเก่า  แต่วางทำมุมเข้าหาคนขับอำนวยความสะดวกการใช้งาน กดปุ่มสตาร์ท ที่แอบอยู่ทางข้างขวา มาพร้อมช่องใส่เหรียญ
รถตอบรับการทำงานด้วยเสียงตื้ดหนึ่งที หน้าจอ TFT   เริ่มต้นการทำงาน ส่วนติดต่อกับผู้ขับขี่ออกแบบมาค่อนข้างล้ำหน้ามากลืมความเป็นจีนไปได้เลย มันดูสะดวก ใช้งาน บอกค่าที่จำเป็น ได้แก่ ความเร็วของรถที่ขับขี่ , การเหยียบคันเร่งให้กำลังมอเตอร์ไฟฟ้า นับเป็นกิโลวัตต์  ข้างกัน เป็นชุดจอแสดงข้อมูลอัจฉริยะ บอกเรื่องการใช้พลังงาน และ ทริปมิเตอร์ ฝั่งขวาใกล้คนขับ บอก   energy Cycle   หรือ กระบวนการใช้ หรือชาร์จไฟฟ้าตัวรถ

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

ตรงหน้าคนขับให้พวงมาลัยมัลติฟังชั่น มีปุ่มปรับข้อมูลหน้าจอ และ ปุ่มระบบ   Cruise Control   มาให้  ตรงกลางคอนโซลหน้าให้ระบบเครื่องเสียงมาในสไตล์   Built   รองรับ   CD Mp 3  และช่องสัญญาณภายนอก AuX   แต่ดันไม่ให้การเชื่อมต่อ   Bluetooth   และหรือช่องเสียบฟังเพลงจาก   USB   ทำให้สำหรับคุณที่บ้าการใช้โทรศัพท์ อาจแปลกใจว่า รถยนต์ไฟฟ้าแต่ไม่มีช่องชาร์จนั้นฟังดูประหลาดนิดๆ

ถัดจากเครื่องเสียงลงมาเป็นระบบปรับอากาศออโต้ การใช้งานค่อนข้างสะดวกเรียบง่ายใกล้ แต่ระบบปรับอากาศรถคันนี้อาจพาอารมณ์เสียบ้าง มันไม่ทำงานทันทีจะใช้เวลา 30- 60 วินาที จึงเริ่มทำความเย็น

ขวามือคนขับฝั่งความเป็นคันเกียร์ใช้วิธีการดันไปด้านขวา แล้วเลือก ดันขึ้นเพื่อถอยหลัง เข้าเกียร์   R ,  ดันไปข้างๆ เฉยๆ  เข้าเกียร์  N  ,ส่วนดันไปข้างแล้วดันลงเข้าเกียร์ D  ใช้ช่วงแรกอาจจะไม่ชิน แต่ขับบ่อยๆ เดี๋ยวก็ดีเอง

ส่วนด้านล่างลงมาเป็นชุดสวิทช์ต่างๆ อาทิ เปิด-ปิด ระบบเซ็นเซอร์ถอยหลัง , เปิด-ปิดระบบควบคุมการทรงตัว , ปรับความสว่างหน้าจอ TFT  ,ไฟฉุกเฉิน  ,โหมดการขับขี่เลือกได้ระหว่าง   Eco / Sport ,ปุ่มเซทค่า   Trip    และ ปุ่ม   Dis Charge

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

เจ้าปุ่ม   Dis Charge   นี่เป็นเรื่องแปลกและน่าสนใจของ   BYD   ผมเรียกมันว่า “ปุ่มช่วยเพื่อน” สมมุติคุณมีเพื่อนสนิทใช้ รถ BYD   ที่เป็นไฟฟ้าเหมือนกัน เพื่อนคุณอาจจะกลับบ้านไม่ได้ เนื่องจากไฟไม่พอ คุณสามารถเอารถไปหาเพื่อนแล้วต่อสายจากรถของคุณไปชาร์จให้รถเพื่อนได้ เพียงกดปุ่มนี้แบ่งไฟให้ เท่าที่ต้องการ เปลี่ยนรถเป็นพาวเวอร์แบงค์เคลื่อนที่  …เป็นไงเจ๋งไหมครับ … 

ด้านเบาะนั่งเป็นเรื่องน่าเซ็งแท้สำหรับคนตัวใหญ่ เบาะนั่งเจ้ารถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ออกแบบมาค่อนข้างสูง ทำให้อาจเป็นปัญหาคนประเภทสูงใหญ่นั่งแล้วจะรู้สึกว่าสูงสักหน่อย ครั้นจะเอาลงก็ไม่ได้ เนื่องจะไม่มีปุ่มปรับระดับสูง-ต่ำ  เบาะฝั่งคนนั่งก็เช่นกัน

รถที่เราได้รับมาบุเบาะเป็นภายในสีทูโทนดูสว่างเพิ่มความรู้สึกกว้างได้อีก ส่วนเบาะนั่งตอนหลัง คนตัวใหญ่นั่งสบาย ที่นั่งอาจแข็งเล็กน้อย แต่ท่านั่งกำลังดี เอนหลังนิดๆ พร้อยหลับได้สบาย  ส่วนหลังรถเมื่อเปิดฝาท้ายจะมีพื้นที่เก็บสัมภาระความจุ  450 ลิตร และยังสามารถเพิ่มพื้นที่ด้วยการพับเบาะหลังลงแบบ 100%    (ไม่สามารถพับแยกได้)

วิธีการพับเบาะก็ไม่ง่าย ปกติเราอาจจะคุ้นกับกด ดึง หรือโยก แต่   BYD  ใช้การดึงสายด้ายข้างตัวเบาะทั้งสองด้านจึงจะพับได้ … ถามผมค่อนข้างจะใช้งานยากไปหน่อย แถมการพับก็ไม่ได้ว่าจะราบเรียบเสียทีเดียว แต่ก็ดีพอในการใช้งาน

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

ตั้งแต่เริ่มทำรีวิวรถยนต์มานานนับสิบปี นี่น่าจะเรียกว่าเป็นครั้งแรกที่เราทำรีวิวรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้งานจริงบนถนนเมืองไทย หลังจากที่มีกระแสมายาวนานว่าจะเข้ามาขายในไทย

แต่เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าแตกต่างรถยนต์ทั่วไปโดยสิ้นเชิง เพื่อความเข้าใจตรงกัน และอ่านรีวิวได้อย่างเข้าใจ ผมอยากให้ทุกท่าน เริ่มด้วยการโยนความรู้เดิมๆ ทิ้งไปเสีย แล้วหันไปนึกถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วๆ ไป 1 ชิ้น ที่สามารถวิ่งไปกับคุณได้

การวัดค่าระบบทั้งในแง่การทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า และขนาดความจุของแบตเตอร์รี่รถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนจนเครื่องชาร์จไฟฟ้า คุณจะเจอหน่วยสำคัญ ที่จะพบหน้าบ่อยขึ้น คือ  กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง หรือ   Kwh  

หน่วยกิโลวัตต์ เป็นหน่วยที่สูงกว่า วัตต์ (Watt)   1 กิโลวัตต์ มีค่าเท่า 1,000 วัตต์ ส่วน กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง  Kwh  หมายถึงการกินกำลังไฟฟ้าต่อการใช้งาน 1 ชั่วโมง และมันเป็นหน่วยที่หน่วยงานทางด้านระบบไฟฟ้าในประเทศไทยใช้เก็บค่าบริการจากเราเวลาเราใช้ไฟฟ้าจากระบบ หรือ กริด โดยดูตามค่าการใช้งานจริง

ดังนั้น สรุปข้างต้น ก่อน คือ 1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เท่ากับ 1 หน่วยไฟฟ้า …. เข้าใจตรงกันนะครับ

หน่วยกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงเรียกว่า เป็นพระเอกในรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตส่วนใหญ่ใช้หน่วยนี้ในการบอกค่ากำลังความจุของแบตเตอร์รี่ และการชาร์จ ส่วนกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนบอกค่าเป็นกิโลวัตต์ เมื่อขับเคลื่อน จึงจะกินกำลังเป็นกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

ในกรณีของ   BYD e6   เจ้ารถยนต์ไฟฟ้าคันนี้โฉมนำเข้าจากประเทศจีนมาขายในไทย (สเป็คไทย) ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดกำลัง 100 กิโลวัตต์ หากเปรียบเทียบกับกำลังเครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่เรามักชอบวัดความสามารถมันเป็นแรงม้า ก็จะเท่ากับ 134 แรงม้า (1 กิโลวัตต์เท่ากับ  1.34 แรงม้า) หรือประมาณการว่ามีกำลังเท่าเครื่องยนต์ 1.6- 1.7  ลิตร สมัยก่อน เช่น ใน   Lotus Elise   เป็นต้น

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

แต่กำลังมอเตอร์ที่ฟังดูน้อยมาก เมื่อเทียบกับขนาดตัวรถที่ใหญ่ระดับอเนกประสงค์ขนาดคอมแพ็ค  กลับจะทำให้คุณแปลกใจ มอเตอร์ไฟฟ้าชุดนี้สามารถผลิตกำลังแรงบิดได้สูงถึง 450 นิวตันเมตร เทียบเท่าความสามารถของเครื่องยนต์ดีเซล 2.8 ลิตร ปัจจุบัน

ด้านแหล่งพลังงานหลักของ   BYD e6   ใช้แบตเตอร์รี่  lithium iron phosphate (LiFePO
4
)  หรือ  LFP  Battery  ขนาด 80 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง การชาร์จ 1 ครั้ง ทาง  BYD   เคลมความสามารถในการขับขี่ได้  400 กิโลเมตร  (ทางผู้ให้ข้อมูลกับเราของ   BYD   ประเทศไทย บอกกับเราว่า ระยะทางขับจริงบนถนนจนหมดจะได้ระยะประมาณ 350 กิโลเมตร และจากข้อมูลทาง   BYD  จีน ระบุว่า รองรับการชาร์จไฟ 4,000 Cycle )

หลายคนอาจจะอยากทราบว่า การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้เต็มพร้อมใช้งาน  400 กิโลเมตร ใช้เวลาเท่าไร

เรื่องนี้เราต้องยกความรู้เรื่องระบบไฟฟ้ามาอธิบายกันต่อ

ในแง่การชาร์จไฟฟ้ากลับเข้าแบตเตอร์รี่ หน่วยกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง หมายถึงกำลังไฟฟ้าที่คุณจะได้จากเครื่องชาร์จต่อชั่วโมง เมื่อเสียบปลั้กชาร์จให้กับรถ แต่กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงก็ หาใช่จะเป็นทุกอย่างของการชาร์จไฟฟ้า คุณต้องเข้าใจทีมงานของกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงอีก 2 หน่วย

1.โวลต์ หรือแรงเคลื่อนไฟฟ้า ยิ่งไฟฟ้ามีแรงดันมาก ก็ยิ่งสามารถบรรจุได้เร็ว ปกติไฟบ้านทั่วไปมีแรงดัน 220-230 โวล์ต แต่ไฟโรงงาน หรือที่บางคนน่าจะเคยได้ยินในชื่อ “ไฟ 3 เฟส “ สามารถให้แรงดันสูงถึง 380-400 โวล์ต

2.แอมแปร์  เป็นค่าที่ใช้พูดถึงกระแสไฟฟ้าที่วิ่งผ่านในระบบว่ามีความแรงมากน้อยแค่ไหน  ยิ่งแอมป์แปรสูง ก็หมายถึงไฟผ่านมาก ลองนึกถึงที่ชาร์จมือถือครับ แอมป์สูงก็ยิ่งชาร์จเร็ว

สำหรับ   BYD e6  ในประเทศไทยที่พกแบตเตอร์รี่ขนาด 80 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง หากคุณต้องการใช้งานชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน ทาง   BYD  มีแท่นชาร์จขนาด 7 กิโลวัตต์ ราคา 37,900 บาท สำหรับไฟฟ้า 220 โวลต์ ใช้กระแสไฟฟ้า 32 แอมป์ จะใช้เวลาในการชาร์จไฟฟ้า 11.5 ชั่วโมงโดยประมาณ ( ถ้าจะติดเครื่องชาร์จตัวนี้ บ้านทั่วไปต้องเปลี่ยนมิเตอร์เป็น 30/100เนื่องจาก แอมป์มิเตอร์ปกติ 15 (45) ให้กำลังกระแสไฟฟ้าสูงสุดเพียง 30 แอมป์) 

แต่ถ้าคุณต้องการชาร์จไฟเร็วแบบด่วนที่สุดต้องติดตั้งเครื่องชาร์จเร็วขนาด 40 กิโลวัตต์ ราคาจำหน่าย  129,900 บาท สำหรับไฟฟ้า 400 โวล์ต ใช้กระแสไฟฟ้า 63 แอมป์  จะใช้เวลาในการชาร์จเพียงชั่วโมงครึ่ง หรือ 90 นาทีเท่านั้น (ที่ไม่ใช่ 2 ชั่วโมง เนื่องจากมีความสามารถในการชาร์จเร็ว ถึงระดับ 80% อย่างรวดเร็ว หลังจาก 80% จะอัดประจุช้าลง)

 

ฟังเรื่องน่าเวียนหัวเกี่ยวกับระบบไฟฟ้ามามาก ได้เวลาไปขับกันสักที

ระหว่างที่ผมนั่งฟังทางทีมงาน   BYD   อธิบายเกี่ยวกับตัวรถ เราก็นั่งติดแอร์เย็นฉ่ำไปด้วยหมุนข้อมือดูนาฬิกาเรานั่งฟังแลกเปลี่ยนข้อมูลถึง 20 นาที บนหน้าปัดจากแบตเตอร์รี่ที่เคยเต็ม 100%  ตอนนี้หายไป 2%   ถ้าผมคูณเป็นกำลังวัตต์ที่หายไปจากแบตเตอร์รี่ในกรณีรถจอดนิ่งๆ 20 นาที คุณจะใช้ไป 1.6 กิโลวัตต์ เท่านั้น ระหว่างที่นั่ง มีโอกาสมองหน้าปัด ถ้าจอดนิ่งๆ อยู่เฉยๆ ไม่เคลื่อนตัว รถจะกินไฟฟ้าเพียง 1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง หรือ พูดกันแบบบ้าน คือ คุณจอดนอนข้างทางโดยไม่ต้องเช่าโรงแรมยังได้

รถสตาร์ทไว้แล้ว ผมอำลาคุณทราย พีอาร์สุดสวย ที่มาส่งให้เราเดินทางโดยสวัสดิภาพกับรถยนต์ไฟฟ้า .. เมื่อออกขับบนถนนเมืองกรุง สัมผัสแรกรถยนต์ไฟฟ้า   BYD e6  ให้ความรู้สึกแตกต่างจากรถยนต์ใช้น้ำมันเดิมๆ ทั่วไปอย่างชัดเจน

ด้วยการจัดวางแบตเตอร์รี่ที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก รถคันนี้ให้อารมณ์คล้ายคุณขับรถอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ที่มีพิกัดประมาณ 2 ตัน ความจริงความรู้สึกนี้จะใกล้เคียงกับใครที่มีโอกาสขับรถยนต์อเนกประสงค์ที่นั่งเต็ม 7 ที่นั่งพร้อมสัมภาระ มันรู้สึกได้ถึงความหนักแน่นของรถ  ก็ไม่น่าแปลกใจนักด้วยน้ำหนักตัวเปล่าถึง 2,420 กิโลกรัม ถ้าบวกผมเข้าไปอีกเฉียดๆ 100 กิโลกรัม ก็ตีเสียว่า รถคันนี้มีน้ำหนักสุทธิ 2,500 กิโลกรัมโดยประมาณ

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

ความหนักอึ้งของมันไม่ใช่ปัญหาในการขับขี่ มอเตอร์ไฟฟ้ากำลัง 100 กิโลวัตต์ สามารถพาคุณเร่งผ่านการจราจรไปได้ง่าย อันที่จริงผมรู้สึกว่ามันค่อนข้างให้ความรู้สึกเร่งเร็วในระดับที่น่าพอใจจากแรงบิด 450 นิวตันเมตรของรถ

น้ำหนักพวงมาลัยในเมืองค่อนข้างเบาขับง่ายมาก สามารถคัดพวงมาลัยได้ตามต้องการ แต่ด้วยตัวรถที่มีขนาดใหญ่และความรู้สึกค่อนข้างหนัก ทำให้คุณอาจรู้สึกอุ้ยอ้ายและไม่คล่องตัวยามจะต้องแทรกแบบรถยนต์ทั่วๆ ไป อาจทำให้รู้สึกหวั่นใจบ้างในช่วงแรก แต่เมื่อคุ้นชินหรือหากคุณมีประสบการณ์ขับพวกอเนกประสงค์คันใหญ่มาก่อน พอจะขับได้คล่องตัวบ้าง

ในช่วงแรกที่อยู่ท่ามกลางการจราจรติดขัดเมืองกรุง  BYD e6   ให้ความรู้สึกเงียบสงบในการขับขี่ การไร้เครื่องยนต์ทำให้รถไม่มีแรงสั่นสะเทือนในการทำงานเมื่อจอดติดอยู่นิ่งท่ามกลางการจราจร คุณรู้สึกได้ถึงความสบายในการโดยสารเพิ่มขึ้นกว่ารถธรรมดาดั้งเดิม

เมื่อการจราจรเคลื่อนตัว เราเหยียบคันเร่งลงไป มอเตอร์ไฟฟ้าก็พาร่าง 2.4 ตันพร้อมผมออกตัวอย่างรวดเร็ว แต่ยังคงความนุ่มนวลไม่ดุดันกระโชกโฮกฮากแบบรถดีเซล ด้วยน้ำหนักตัวของรถและพละกำลังที่ไม่ได้มากมายอะไรไปกว่า 1.5-1.6 ลิตร

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

ในระหว่างขับในเมือง ผมพบปัญหาสำคัญของ  BYD e6   คือรถคันนี้มีทัศนวิสัยในการมองยังไม่ดีนัก อาจจะด้วยผมตัวสูงจึงนั่งเต่อขึ้นไป ทำให้หลายครั้งพบว่า เจอมุมอับที่เสาเอ แถมด้วยความเงียบของรถยนต์ไฟฟ้าเวลาขับไปเจอพวกมอเตอร์ไซค์ หรือคนเดินเท้าสมควรจะต้องระวังให้ดี 
โดยเฉพาะพวกที่ไม่ค่อยระวังเนื้อระวังตัว ความเงียบของรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหอกข้างแคร่ภัยอันตรายเหมือนกัน บางทีพวกเขาอาจจะตกใจ และไม่รู้หรือระวังตัวมาก่อนว่ามีรถยนต์กำลังเคลื่อนเข้ามาใกล้ๆ

ผมใช้เวลา 2 วันในการขับเข้า-ออกระหว่างนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร โดยเลือกเวลาไพรม์ไทม์ในการเดินทาง เช่น เช้าเช้าตรู่และตอนเย็นวันทำงาน  โดยขับจากราชพฤกษ์เข้าถนนสาธร ผ่านสะพานตากสิน และกลับออกมาขับแถวบ้านย่านเมืองนนทบุรีบ้างเล็กน้อยๆ แต่เห็นแบบนี้ผมขับไปตั้ง 101.6 กิโลเมตร ไฟฟ้าจากที่เต็มปรี่ 100%  ตอนนี้ เหลือ 66%   

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

ผมคำนวณการกินพลังงานของรถยนต์ไฟฟ้า  BYD e6   โดยหาเป็นค่ากิโลวัตต์จากแบตเตอร์รี่ออกมา โดยเทียบ 100%  แบตเตอร์รี่เท่ากับ  80 kwh ถ้าแบตเตอร์รี่หายไปเหลือ 66%   เท่ากับใช้ไป 34%   ของแบตเตอร์รี่ หรือใช้ไป27.2 kwh จากระยะทางวิ่งในเมืองทั้งหมด 101.2 กิโลเมตร  เท่ากับ การกินพลังงาน 3.73 กิโลเมตร ต่อ 1 kwh  (ขับในภาวะการจราจรจริง)  

(แต่ถ้าเอาการคำนวณบนหน้าปัดของตัวรถ  BYD e6   จะแสดงหน่วยเป็น kwh /100 กิโลเมตร จะได้ตัวเลข 21.2  kwh/100 km  โดยวัดเพียง 50 ก.ม. สุดท้ายที่เราเพิ่งจะวิ่ง)



ลองเดินทางไกลในรถยนต์ไฟฟ้า 

จะซื้อรถทั้งที่จะมีรถเพียงใช้ในเมืองคนบางกลุ่มอาจจะคิดว่ารถยนต์ไฟฟ้าไม่คุ้นเลย แถมราคาดันแพงทะเล่อเฉียด 2 ล้านบาท กลับไปซื้อรถยนต์ใช้น้ำมันจะดีกว่า

ภาพหนึ่งที่ติดในใจคนไทย คือรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่สามารถขับเดินทางออกต่างจังหวัดได้ เนื่องจากปัญหาสำคัญคือ ระยะทางต่อการชาร์จที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่มาก

โชคดีที่ปัจจุบัน จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มมีเปิดให้บริการบ้างแล้ว ในนนทบุรีแถวบ้านผู้เขียน มีจุดชาร์จของ   EA Anywhere  เริ่มเปิดให้บริการแล้วหลายจุดแถมในตอนนี้เขาให้ทดลองใช้ฟรีด้วย … 

ผมจึงถือโอกาสนี้ไปลองใช้จุดชาร์จของ   EA Anywhere  เตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางไกล …. เป้าหมายในการเดินทางวันนี้คือ การเดินทางไปยังหาดเจ้าสำคัญจังหวัดเพชรบุรี … ครั้นจะเดินทางด้วยแบตเตอร์รี่เต็มก็ดีจะไม่ท้าทาย บางคนอาจะตั้งแง่ว่า ระยะทาง 400 กิโลเมตร ไปกลับเพชรบุรี มันง่ายไป

ผมจึงยึดเอาความคิดคนทั่วไปที่เชื่อว่าจะใช้รถไฟฟ้าจริง คือ การมาแวะเตรียมตัวก่อนการเดินทางเช่นแวะกินกาแฟแถวบ้านแล้วชาร์จรถไปด้วย

ผมแวะชาร์จที่หัวชาร์จของ   EA Anywhere   ที่ปั้ม   Susco  กาญจนาภิเษก แถวบางแค โดยก่อนชาร์จมีแบตเตอร์รี่เหลือใช้ได้ 45%   ผมกับเดือนเราใช้เวลาชาร์จ BYD e6  อยู่ 1 ชั่วโมง 4 นาที หรือ 64 นาที ระหว่างรอเรากินกาไปพลางๆ เราได้ไฟฟ้ามาเพิ่ม 22.5 กิโลวัตต์  

ขึ้นรถพบว่าแบตเตอร์รี่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 28%   เรามีประจุแบตเตอร์รี่ 73%   รถบอกเราขับได้อีก 286 กิโลเมตร  มันแทบจะเป็นระยะทางที่พอดีในการไป-กลับ หาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี จนถึงสถานีชาร์จที่สุดใกล้บ้าน จึงวางแผนว่าจะต้องไปชาร์จอีกที แถววังมะนาว เป็นร้านอาหาร ชื่อ “ครัวบ้านขวัญ”

เราขับ   BYD e6   จากกาญจนาภิเษกมุ่งหน้าถนนพระราม 2 ระหว่างทางใช้ความเร็ว ขับด้วยความเร็ว 100-120 ก.ม./ช.ม.

เมื่อขับทางไกล มันดูเป็นรถที่ขับได้มั่นใจ และนิ่มนวลในการโดยสารพอสมควร ระบบช่วงล่างแบบ     Independent   Dual  Cross Arm   ทางด้านหน้า พร้อมเหล็กกันโคลง และ  Independent  Dual  Rocker Arm  พร้อมเหล็กกันโครงทางด้านหลัง ให้ความรู้สึก ถึงความที่นิ่มนวลในการโดยสาร  ช่วงคอสะพานบางครั้งมีอาการยวบยาบบ้าง ซึ่งก็คงมาจากน้ำหนักตัวรถ และการเซทสปริงกับโช๊ค

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

ในจังหวะขับแซง เปลี่ยนเลนในความเร็ว รถดูมีความรู้สึกมั่นใจไม่โคลงเคลง เรื่องลมปะทะ  ทางด้านข้างไม่มีผลจากน้ำหนักตัวรถมหาศาล ในเรื่องการเร่งแซงกดคันเร่งไปช่วงแรกจะรู้สึกว่ามันยืดยาดเล็ก แต่เมื่อกำลังมอเตอร์ได้มันจะพาคุณแซงอย่างรวดเร็ว และถ้าอยากทันใจมากกว่า กดไปโหมดสปอร์ต การตอบสนองคันเร่งกับมอเตอร์ไฟฟ้าดูจะสัมพันธ์มากกว่า

เราแวะทานข้าวที่ร้านอาหารครัวบ้านขวัญพร้อมจอดรถชาร์จไฟฟ้าเอาไว้ แต่ปรากฏว่า ที่นี่ไฟไม่แรงพอที่จะชาร์จได้เยอะ เราได้มาเพียง 2%  ของแบตเตอร์รี่ หรือประมาณ 2.5 กิโลวัตต์เท่านั้น

งานนี้เราจึงต้องเสี่ยงดวงยอมขับไปยังหาดเจ้าสำราญ แล้วกลับออกมาเพื่อชาร์จที่ตู้ EA Anywhere   ที่   FN Outlet   เพชรบุรี  จึงจะสามารถเดินทางกลับถึงที่ชาร์จในกรุงเทพได้

เราขับจากครัวบ้านขวัญไปยังปลายทางหาดเจ้าสำราญ ถึงที่หมายได้สำเร็จตามหวังโดยระยะทางจาก จุดสตาร์ท  Susco   กาญจนาภิเษก จนถึงหาดเจ้าสำราญ เราขับมาทั้งสิ้น   140.3 กิโลเมตร เราเหลือแบตเตอร์รี่เพียง 38%   และระยะทาง 139 กิโลเมตรเท่านั้น เพื่อเข้ากรุงเทพ

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

ผมคำนวณอัตราประหยัดนอกเมืองเจ้า   BYD e6   เราเดินทางด้วยแบตเตอร์รี่เต็ม 73%   จากกรุงเทพ  โดย บวก 2%   ที่ชาร์จที่ครัวบ้านขวัญ  รวมถึงเป็น 75%  ลบออกจาก 38%  เมื่อถึงที่หมาย เราใช้ไป 37% ของแบตเตอร์รี่  เท่ากับเราใช่ไป 29.6 kwh  ในการเดินทางครั้งนี้ หรือเทียบเป็นอัตราประหยัดเท่ากับ  4.73 กิโลเมตร/ 1 kwh   

(ส่วนบนหน้าปัดแสดงอัตราประหยัด 19.4 kwh / 100 ก.ม. โดยดูจากระยะทาง 50 ก.ม. สุดท้าย)



สรุป   BYD e6 – รถยนต์ไฟฟ้า น่าใช้กว่าที่คิด

 

ผมขับในโหมดประหยัดกลับออกมาจากหาดเจ้าสำราญ แล้วมาแวะพักที่   FN Outlet   เพชรบุรี  เป็นที่จอดสุดท้าย ก่อนขับไปยังนนทบุรี แถวบ้าน

ผมคุยกับเดือนเราพูดถึงความน่าใช้ของรถยนต์ไฟฟ้าว่า รถยนต์ไฟฟ้าในวันนี้อาจจะยังดูเป็นนวัตกรรมลำบากในการใช้งานอยู่บ้าง เนื่องจากจุดชาร์จยังน้อย และบางจุดอาจยังมีปัญหาเรื่องการเติมพลังงาน (เข้าใจว่ามาจากประเด็นเรื่องกริดไฟฟ้าในพื้นที่)

จากที่ขับ   BYD e6   มาตลอด 4 วันในการเดินทาง ผมค่อนข้างพอใจกับความประหยัดของรถยนต์ไฟฟ้ามากๆ รถ   BYD e6   ใช้แบตเตอร์รี่ขนาด 80 kwh  ถ้าเราใช้หัวชาร์จของ  EA Anywhere   ที่มีขนาดกำลังไฟตู้ชาร์จ 22  kwh   จะใช้เวลาชาร์จจนเต็ม (หากไม่มีประจุเลย)  ประมาณ 4 ชั่วโมง ซึ่งในตอนนี้ยังให้ใช้ฟรี
แต่ถ้าเมื่อไรมีการเก็บเงินหรือมีค่าใช้จ่ายจากที่เห็นบนตู้ พวกเขาคิดค่าบริการ  4 ชั่วโมง หรือ  240 นาที เพียง 150 บาทเท่านั้น

การคำนวณ เรื่องค่าเดินทางรถยนต์ไฟฟ้า ออกจะวุ่นวายสักหน่อย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ มันพาผมทานยาพาราไป 3 ครั้ง นอนเกาหัวอีก สี่ตลบ แต่ท้ายสุด ผมตัดสินใจประยุกต์ วิธีการคำนวณของรถยนต์ทั่วไปมาใช้

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

โดยใช้สูตร (ระยะทางที่วิ่ง / อัตราประหยัดที่ทำได้)  X   อัตราค่าไฟฟ้าต่อกิโลวัตต์ / ระยะทาง = ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง/ก.ม.

แต่ก่อนอื่น เนื่องจากเราใช้บริการตู้ขอ    EA Anywhere   ที่คิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมง เราจึงต้องมาคำนวนเบื้องต้นในการหาค่าไฟฟ้าเป็นหน่วยกิโลวัตต์ หัวชาร์จของตู้ชาร์จ วิ่ง 22kwh  หนึ่งนาทีจะมีกำลัง 0.366 kwh ต่อนาที

หาค่า 1 kwh   เท่ากับ  1/ 0.366  kwh  เท่ากับ 1 Kwh  จะใช้เวลา  2.73 นาที โดยมีค่าบริการนาทีละ 120/80 = 1.5 บาท  (ใช้เวลา 2 ชั่วโมง หาค่า เนื่องจากเราชาร์จ 75 และ 81 นาที)

ฉะนั้นค่าบริการต่อหน่วยไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ เท่ากับ  1.5 บาท X   2.73 นาที จะได้ 1 kwh  จากเครื่องชาร์จ   = 4.09 บาท  (อาจดูแพงแต่แลกกับความสะดวก และไม่ต้องเสียเงินติดตั้งชาร์จเจอร์ หรือซื้อชาร์จเจอร์ แถมต้องเปลี่ยนมิเตอร์ไฟบ้าน ถือว่าคุ้มค่า)

ในการเดินทางในเมือง ผมใช้ไฟฟ้าในการขับรถคันนี้รอบๆ เมืองไป 27.2 kwh   ได้ระยะทาง  101.2 กิโลเมตร นำไฟฟ้าที่ใช้ไปมาหาค่า ตามสูตร จะได้ 27.2 kwhX4.09บาท = 111.24 บาทหารด้วยระยะที่วิ่งได้  101.2 เท่ากับ  1.09 บาท ต่อกิโลเมตร

ส่วนการวิ่งนอกเมือง ที่ผมไปหาดเจ้าสำราญ  ผมใช้ไฟไป 29.6 kwh   จากการขับ 140.3 กิโลเมตร (ด้วยความเร็ว 100-120 ก.ม./ช.ม. ผมจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในการชาร์จ (ประมาณการจากการคำนวณ)  121.06  บาท   เราใช้จ่ายในการเดินทาง  0.86 บาท ต่อกิโลเมตร  

  ระยะทางที่เดินทาง ไฟฟ้าที่ใช้ในการเดินทาง
(กิโลวัตต์)
ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จากตู้ชาร์จ   EA Anywhere *
(บาท)
ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อกิโลเมตร อัตราประหยัด
การเดินทางในเมือง 101.2 27.2 111.24 1.09 บาท ต่อกิโลเมตร 3.73 ก.ม./ 1 kwh
การเดินทางนอกเมือง 140.3 29.6 121.06 0.86 บาทต่อกิโลเมตร 4.73  ก.ม./1 kwh

*การคำนวนค่าใช้จ่ายที่ตู้ คำนวณโดยหาค่าประมาณการหน่วยไฟฟ้า จากค่าบริการที่เปิดเผย และกำลังเครื่องชาร์จต่อนาที อาจมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย

ส่วนกรณีที่คุณใช้ไฟบ้านชาร์จจะถูกกว่าพอสมควร (แต่ก็ลงทุนด้วยเรื่องตู้ชาร์จ ขนาด 7 kwh ราคา 37,900 บาท  และการแก้ไขระบบมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้าน) ในการคำนวณอัตราปกติทั่วไป ผมขอยกการใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย  เพราะน่าจะเป็นปกติเมื่อคุณมีการชาร์จไฟบ้านและใช้ไฟในบ้าน  ค่าไฟฟ้าดังนี้
คำนวณค่าเดินทางในเมือง โดยอ้างอิงจากข้อมูลการทดสอบ

คำนวณค่าเดินทางในเมือง โดยอ้างอิงจากข้อมูลการทดสอบ ค่าไฟฟ้า บาท ต่อหน่วย (kwh) เปรียบเทียบในการเดินทางในเมืองใช้ไฟฟ้า  27.2 kwh เป็นค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อกิโลเมตร (101.2 กิโลเมตร)
1-150 หน่วยแรก 2.7628 75.14 บาท 0.74 บาท ต่อกิโลเมตร
151-400 หน่วย 3.7362 101.62 บาท 1.00 บาท ต่อกิโลเมตร
400 หน่วยขึ้นไป 3.9361 107.06 บาท  1.05 บาท ต่อกิโลเมตร

 

หมายเหตุ 1หน่วย เท่ากับ 1 กิโลวัตต์ ,ไม่คิดค่า   Power Factor  ค่าบริการ และค่าภาษี

คำนวณค่าเดินทางนอกเมือง โดยอ้างอิงจากข้อมูลการทดสอบ

 

คำนวณค่าเดินทางนอกเมือง โดยอ้างอิงจากข้อมูลการทดสอบ ค่าไฟฟ้า บาท ต่อหน่วย (kwh) เปรียบเทียบในการเดินทางในเมืองใช้ไฟฟ้า  29.6 kwh เป็นค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อกิโลเมตร (140.3กิโลเมตร)
1-150 หน่วยแรก 2.7628 81.77  บาท  0.58บาท ต่อกิโลเมตร
151-400 หน่วย 3.7362 110.59  บาท 0.78 บาท ต่อกิโลเมตร
400 หน่วยขึ้นไป 3.9361 116.5  บาท 0.83 บาท ต่อกิโลเมตร

 

ส่วนถ้าใครใช้ค่าไฟฟ้าแบบ   TOU  ที่มีค่าใช้ไฟฟ้าแบบ On Peak   และ   Off Peak   จะมีค่าใช้จ่ายในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า   BYD e6   ตามข้อมูลการทดสอบดังนี้
การเดินทางในเมือง

  ค่าไฟฟ้า บาท ต่อหน่วย (kwh) เปรียบเทียบในการเดินทางในเมืองใช้ไฟฟ้า  27.2 kwh เป็นค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อกิโลเมตร (101.2 กิโลเมตร)
On Peak 5.2674 143.27  บาท  1.41 บาท ต่อกิโลเมตร
Off Peak  2.1827 59.36  บาท  0.58 บาท ต่อกิโลเมตร

 

การเดินทางนอกเมือง

  ค่าไฟฟ้า บาท ต่อหน่วย (kwh) เปรียบเทียบในการเดินทางในเมืองใช้ไฟฟ้า  29.6 kwh เป็นค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อกิโลเมตร (140.3กิโลเมตร)
On Peak 5.2674 155.91  บาท 1.11 บาท ต่อกิโลเมตร
Off Peak  2.1827 64.60  บาท 0.46 บาท ต่อกิโลเมตร

 

จากข้อมูล เรื่องค่าใช้ไฟฟ้า คำนวณเป็นกิโลเมตรทั้งหมด จะพบว่า การชาร์จไฟฟ้าที่ตู้  EA Anywhere   หรือ ไฟฟ้าบ้านตามอัตราปกติ มีค่าใช้จ่ายไม่ต่างกันมาก และตู้ชาร์จเร็วเหมือนจะดีกว่า เพราะมีหัวชาร์จกำลังสูงกว่า และคุณไม่ต้องลงทุนเรื่องเครื่องชาร์จไฟฟ้า  รวมถึงดัดแปลงระบบไฟฟ้าที่บ้าน

แต่ถ้าสังเกต และในการใช้งานจริง รถยนต์ไฟฟ้าเราขับกลางวันและชาร์จในเวลากลางคืน การหันมาใช้ค่าบริการแบบ   Tou   แบบที่มีค่าตามช่วงเวลาจะถูกกว่า การชาร์จรถไฟฟ้าตามปกติ และตู้ชาร์จครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว (ชาร์จในช่วงเวลากลางคืน)

 

ในแง่ความประหยัดจากรถยนต์ไฟฟ้า คงจะเห็นกันไปแล้ว ทีนี้ในด้านสมรรถนะ รถยนต์ไฟฟ้าอาจจะถูกคาดหวังจากหลายคนอยู่บ้าง เนื่องจากชื่อเสียงของบางแบรนด์ที่มีดีด้านสมรรถนะ

สำหรับ   BYD e6   มันเป็นรถยนต์ฟ้าที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี  2011 แต่พึ่งจะได้ฤกษ์เข้ามาขายในประเทศไทย  ในปีที่ผ่านมา  จากที่ตลอด 4-5 วันที่รับรถคันนี้ มีระยะทางรวม 700 กิโลเมตรในการทดสอบ เจ้า   BYD e6   มีปัญหาหลักเรื่องน้ำหนักตัวของมัน พิกัดเปล่า 2,420 กก. มาพร้อมกำลังขับมอเตอร์ไฟฟ้า 100 KW   เทียบเท่ากำลัง 134 แรงม้า ถือว่า น้อยไปหน่อยในความเป็นจริง ถึงแรงบิดจะดี 450 นิวตันเมตร

มันออกตัวไม่ปรู๊ดปร๊าดอย่างบางคนหวัง ออกจะเน้นขับนิ่มนวลสบายๆ  ด้วยซ้ำ ไป ด้วยน้ำหนักตัวที่มากทำให้   BYD e6  ประสบประเด็นมวลตัวเมื่อเบรกที่ดูเหมือนจะรู้สึกคล้ายว่าคุณเบรกไม่อยู่ โดยเฉพาะคนที่ผ่านมือรถยนต์ขนาดเล็กน้ำหนักเบามาก่อน อย่างเดือน หรือเจ้าโอปอ น้องในทีมงาน   Ridebuster   จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พี่บอล ทำไมเหมือนรถเบรกไม่อยู่ ความจริงคือมันหนักและเวลาเบรกก็เลยดูไถลนิด ไม่เบรกง่าย เหมือนรถเล็ก ๆ  ต้องใช้การปรับตัว โดยการเว้นระยะห่างจากคันหน้าครึ่งคัน จะช่วยให้มั่นใจเวลาเบรกมากขึ้น

เรื่องการบังคับเลี้ยวปรับทิศทางจะไปหวังให้รถ ขับคล่องคงยาก น้ำหนักตัวมาก เป็นปัญหาบ้างเมื่อคิดอยากจะเปลี่ยนเลนเร็วๆ  โดยเฉพาะพ่อนักมุดทั้งหลาย บอกเลยว่า หมดสิทธิแน่นอน การขับแทรกในช่วงการจราจรคับคั่งทำได้ ถ้าคุณไปแบบมีสไตล์ มุดเนียนๆ เจ้า  BYD e6   ก็พอจะไปวัดไปวาได้ 

ส่วนเมื่อใช้ความเร็วขับออกนอกเมือง น้ำหนักตัวรถ   BYD e6  กลายเป็นเพื่อนคู่ใจ นอกจากรถจะขับได้มั่นใจมากๆ แล้วยังให้ความนิ่มนวลด้วย อาจมียวบช่วงสะพาน และด้วยน้ำหนักตัวมากทำให้เวลาเข้าโค้งด้วยความเร็ว อาจรู้สึกถึงแรงเหวี่ยงมากกว่า

หากภาพรวมเจ้า  BYD e6   เป็นรถไฟฟ้าที่เน้นใช้งานทั่วๆไป ไม่ได้มีสมรรถนะหวือหวา เหมือนที่คุณอาจจะได้ยินจากแบรนด์อื่นๆ

ทีนี้มาดูตัวเลขสมรรรถนะกันบ้าง ตัวเลขอัตราเร่ง ของรถที่หนัก 2,420 กก. มาพร้อมกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าเท่าเครื่องยนต์ 134 แรงม้าเท่าเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร คงจะให้มันเร่งดีคงยาก

จากการทดสอบอัตราเร่ง 0-100 ก.ม./ช.ม. โดยใช้โหมดขับปกติ ซึ่งเป็น   Eco Mode   เราได้นำเอาอัตราเร่งดีที่สุด 3 ครั้ง มาประมวลข้อมูล (สาเหตุที่ไม่ได้ใช้โหมดสปอร์ต เนื่องจากต้องกดเปลี่ยนโหมด และไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ)

  ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่  3 เฉลี่ย
อัตราเร่ง   0-100 ก.ม./ช.ม. 17.98 18.00 17.99 17.99
อัตราเร่ง  80-120 ก.ม./ช.ม. 18.02 18.00 20.00 18.67

 

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า   BYD e6   มีอัตราเร่ง  0-100 ก.ม./ช.ม เฉลี่ย  17.99 วินาที และ 80-120 ก.ม./ช.ม. เฉลี่ยที่ 18.67 วินาที

สาเหตุที่อัตราเร่ง  80-120 ก.ม./ช.ม. ไม่ดีนัก เนื่องจากมอเตอร์ไฟฟ้าจะให้แรงบิดสูงในรอบต่ำ ส่วนกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า  134 แรงม้า หรือ 100 Kwh   ก็ถือว่าน้อยเทียบกับขนาดตัวเปล่า  2,420 กก.

เมื่อรวมปัจจัยการทดสอบผู้โดยสารและผู้ขับขี่ 2 คน หรือบวกอีกคนละ 100 กก. โดยประมาณ น่ำหนักรวมก็น่าจะราวๆ 2,620 กก. ผมไม่แปลกใจกับตัวเลขที่ได้ แต่ในความจริงยามขับขี่มันดูไวกว่า ข้อมูลตัวเลขการทดสอบอัตราเร่งมาก รถคันนี้สามารถทำความเร็วปลายได้ถึง 149 ก.ม./ช.ม.  (เหมือนเป็นการล็อคเอาไว้)  ส่วนการกินกำลังไฟฟ้าเมื่อขับเร็วก็ไม่เลวร้าย มันกินกำลังไฟฟ้าเพียง  3.19 กิโลเมตร ต่อกิโลวัตต์เท่านั้น  แต่ช่วงที่เหยียบหนักๆ อาจจะเหลือ 2 กิโลวัตต์ต่อกิโลเมตร



…… ผมขับ  เจ้า   BYD e6   เป็นครั้งสุดท้าย พยายามตั้งคำถามถึงความน่าใช้ และมันคุ้มค่าหรือยังที่จะคบหา ด้วยราคาค่าตัว 1,890,000 บาท เป็นค่าตัว มาพร้อมการรับประกันมอเตอร์ไฟฟ้าและชุดเกียร์ 5 ปี 150,000 ก.ม.  แบตเตอร์รี่รับประกัน  5 ปี  หรือ 500,000 กิโลเมตร ฟังดูก็น่าสนใจไม่น้อย

จากที่ขับรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ มันน่าสนใจเหมาะกับคนที่ใช้รถยนต์ในเขตชานเมือง ไม่เน้นขับรถเดินทางต่างจังหวัด เป็นรถที่เหมาะสำหรับขับใช้งานวันทำงานอยู่ออฟฟิศ ผมมั่นใจว่าราคาค่าใช้จ่ายประหยัดกว่ารถยนต์อีโค่คาร์แน่นอน

เพราะส่วนที่สำคัญและจะไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ การดูแลรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไป รถยนต์ไฟฟ้า มีของเหลวเพียง  น้ำมันเฟืองท้าย , น้ำมันเบรก และ น้ำยาหม้อน้ำเท่านั้น เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไป การดูแลตามระยะมีค่าใช้จ่ายน้อยลง อย่างน้อยคุณไม่ต้องมากังวลเรื่องการดูแลรักษา ทุก 10,000 กิโลเมตร 

รถยนต์ไฟฟ้า BYD e6

ถ้า 1 ปี เราขับรถประมาณ 20,000 ก.ม. ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของคนส่วนใหญ่ เราแทบจะไม่ต้องดูแลอะไรเลย นอกจากผ้าเบรก กับยาง เท่านั้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็ต่ำลง จากการทดลองขับขี่จริง เราพบว่า ค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตร จะเหลือเฉลี่ยที่  1 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายรถยนต์ใช้น้ำมัน ถือว่าต่ำลงมาก

หากลองเทียบกับรถประเภทเดียวกันที่มีขนาดใกล้เคียงกัน  จากการทดสอบรถยนต์อเนกประสงค์คอมแพ็คหลายรุ่น ส่วนใหญ่ จะกินน้ำมันในเมืองประมาณ 9 กิโลเมตร ต่อลิตร และ นอกเมืองอยู่ที่ 14 กิโลเมตร ต่อลิตร 

หากมาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการเดินทางกับรถยนต์ไฟฟ้า

  อัตราประหยัดโดยเฉลี่ยจากข้อมูลการทดสอบรถอเนกประสงค์  Compact เปรียบเทียบ (ก.ม./ลิตร) ค่าใช้จ่ายในการเดินทางรถอเนกประสงค์ใช้น้ำมัน รถอเนกประสงค์ไฟฟ้า
BYD E6   
กินกำลังไฟ / ค่าใช้จ่าย เมื่อวิ่งระยะทางเท่ากัน
ส่วนต่างที่เกิดขึ้น 
การเดินทางในเมือง 9 29.30 บาท/ลิตร 2.41 kwh  / 9.8  บาท 19.5 บาท
การเดินทางนอกเมือง 14 29.30 บาท ลิตร 2.95 kwh / 12.11  บาท 17.19 บาท

 

หมายเหตุ  1.ราคาน้ำมันเปรียบเทียบ คือ แก๊สโซฮอล 95 ราคา ณ วันที่เขียน บทความ คือ ลิตรละ 29.30 ( 12 มิถุนายน 2561) 2. ราคาหน่วยไฟฟ้า อ้างอิงจากราคาหน่วยไฟฟ้าที่ตู้ชาร์จ   EA Anywhere จากการคำนวณ 4.09 บาท/kwh  3.ค่าการกินกำลังไฟรถยนต์ไฟฟ้า BYD e6 อ้างอิงจากการทดสอบในบทความรีวิวนี้

 

ผมว่า ค่าใช้จ่ายเราถูกลงมากพอสมควร และราคานี้ แม้ว่าเราอาจจะพอซื้อรถยนต์หรู รถไฮบริดกลุ่มซีดานกลาง แต่ถ้าคุณไม่ได้ใส่ใจเรื่องแบรนด์ ผมว่า 1.89 ล้านบาท ค่าตัว   BYD e6   เทียบกับความประหยัดเกิดขึ้นถือว่ารับได้ และใช่ว่าไกลเกินเอื้อม เรื่องระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จก็เรียกว่า สมเหตุสมผลในการใช้งาน 

ถ้าสนใจรถยนต์ไฟฟ้า BYD e6   คุณต้องยอมรับบางเรื่องก่อนตัดสินใจ 

1. ศูนย์บริการเต็มรูปแบบ ยังไม่โผล่มาให้เราได้เห็นเป็นรูปร่าง เราจึงยังกังวลเรื่องการดูแล และอะไหล่  ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นในอนาคต หรือเร็วๆ นี้

2จัดออพชั่นยังเหมือนขาดๆ เกินๆ บางอย่าง ถ้าจะเอาไปทำเป็นรถแท็กซี่พอไหว แต่ถ้ากะว่าขายสำหรับใช้งานส่วนบุคคลด้วยน่าจะต้อง ปรับออพชั่นน่าใช้กว่านี้ เช่นเครื่องเสียงต้องเป็นชุดจอภาพ , หรือกระจกมองข้างพับไฟฟ้า ที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ รถคันนี้ไม่มีช่องเสียบชาร์จ   USB   มาให้ หรือกระจกฝั่งคนขับออโต้กดลง แต่ไม่ขึ้นออโต้  แถมเบาะนั่งก็ปรับสูงต่ำไม่ได้ เป็นปัญหาที่สมควรจะต้องแก้ไข เพราะคนไทยมีทั้งคนตัวใหญ่และคนไซส์มินิ  เป็นเรื่องที่อยากให้ทาง   BYD   ประเทศไทย สมควรกลับไปดูเรื่องสเป็คสักหน่อย อาจจะทำเป็นอีกรุ่นออกมา คนละรุ่นกับแท็กซี่ เน้นออพชั่นโดนๆ ให้คนสนใจ ก็จะดีมาก

3.หากประสงค์ชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน ต้องมีการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้า และซื้อตู้ชาร์จ 7 kwh ที่สามารถใช้ไฟบ้านได้ ราคา 37,900  บาท  แต่นั่นหมายความว่า คุณต้องลงทุนเกือบ 60,000 บาท เพื่อปรับปรุงบ้านรองรับรถยนต์ไฟฟ้า

4.จุดชาร์จยังไม่ครอบคลุมมาก ในรีวิวนี้ จะเห็นได้ว่าเราใช้บริการของ   EA anywhere   ในการชาร์จ ซึ่งโชคดีว่า แถวบ้านผู้ทดสอบ มี หลายจุดชาร์จ แต่บางพื้นที่อาจจะยังไม่ครอบคลุมนัก แต่ถ้าคุณอยู่ในพื้นที่กทม. และปริมณฑล ตอนนี้ใช้งานได้ดีแล้ว และดีกว่าที่จะไปลงทุนซื้อตู้ชาร์จเองที่บ้านด้วย ในความเห็นของผม

ถ้าทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมาคุณรับได้ รถยนต์ไฟฟ้า เป็นคำตอบที่ดีในการเดินทาง มันเหมาะการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน ขับซื้อของแถวบ้าน หรือไปรับ-ส่งลูก จากโรงเรียน มีระยะทางที่แน่นอนชัดเจน เส้นางขับประจำ เหมาะกับจอมวางแผนที่จะมองหาหัวชาร์จตลอด ว่า มันอยู่ที่ไหนบ้าง และเราจะไปใช้บริการได้ที่ไหนบ้าง

 

รถยนต์ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมการขับขี่ยุคใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น ผมยอมรับว่านี่คือก้าวแรกของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มันอาจยังไม่สมบูรณ์แบบ มันต่างจากรถยนต์ที่เราใช้ในปัจจุบันมาก แต่ไม่ต่างไปทั้งหมด BYD e6   เป็นรถรุ่นแรกและเพียงไม่กี่รุ่นที่เข้ามาเปิดตลาดกลุ่มนี้ในประเทศไทย

ผมมั่นใจว่า มีหลายคนสนใจ และอยากลองรถยนต์ไฟฟ้า …. จากที่ผมลองกล้าพูดว่านี่คืออนาคตรถยนต์สำหรับคนเมือง ถ้าคุณใช้ถูกใช้เป็น คุณประโยชน์รถยนต์ไฟฟ้าอาจทำให้คุณลืมรถยนต์ใช้น้ำมันไปได้เลย

 

ขอบคุณ บริษัท ไรเซน เอเนอร์จี จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน   BYD ที่เอื้อเฟื้อรถยนต์  BYD e6   มาให้เราขับในโอกาสนี้

 
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง นักทดสอบรถยนต์ และ คอลัมนิสต์ เว็บไซต์   Ridebuster.com  ติดตามผลงานการเขียน และข้อมูลที่น่าสนใจได้ทาง  Facebook 

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com

[ngg_images source=”galleries” container_ids=”607″ display_type=”photocrati-nextgen_basic_thumbnails” override_thumbnail_settings=”1″ thumbnail_width=”200″ thumbnail_height=”160″ thumbnail_crop=”1″ images_per_page=”20″ number_of_columns=”3″ ajax_pagination=”1″ show_all_in_lightbox=”0″ use_imagebrowser_effect=”0″ show_slideshow_link=”0″ slideshow_link_text=”[Show slideshow]” order_by=”sortorder” order_direction=”ASC” returns=”included” maximum_entity_count=”500″]



แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.