ในบรรดากระแสรถยนต์ที่ขายดีในเวลานี้ ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยครับว่า “รถอเนกประสงค์” เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก อาจจะด้วยหลายอย่างที่ทำให้คนสนใจ ไม่ว่าจะคนมีรถยนต์หลายคันในบ้านมากขึ้น กิจกรรมในชีวิตวันว่างที่เปลี่ยนไป ทั้งหมดกลายเป็นความครบเครื่องที่ทุกคนต้องการจบในรถคันเดียว…ถ้าเป็นไปได้
ตลอดหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่รถยนต์อเนกประสงค์ขนาดเล็กเริ่มกลายเป็นที่นิยมในประเทศไทย รถอเนกประสงค์กลุ่ม 1500 ซีซี กลายเป็นกลุ่มที่หลายคนมองข้าม ในตลาดดั้งเดิมมีเพียง Ford Ecosport และ Nissan Juke ซึ่งทั้งคู่ต่างโรยราตามอายุไขผลิตภัณฑ์ หรือ Honda BR-V ที่เข้ามาทำตลาดล่าสุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนจะยังไม่ปังอย่างที่ควร
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ค่ายรถยนต์น้องใหม่ MG , Morris Garage สนใจตลาดกลุ่มนี้ ยิ่งกอปรกับระยะหลัง MG 3 ตัวท๊อปรุ่น Xross ขายดี จนรถขาดตลาดแบบงงๆ ทำให้ทางแบรนด์สายเลือดอังกฤษทุนจีน มองเห็นโอกาสทางการตลาดที่จะแนะนำอเนกประสงค์แท้ๆ ที่มีความเพียบพร้อมครบครัน และลงตัวในการใช้งานในทุกด้าน ในราคาไม่ไกลเกินเอื้อม
MG ZS นับเป็นการเดินหมากครั้งสำคัญของ MG หลังจากพวกเขาเดินเกมรุกกลุ่มอเนกประสงค์มาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาด้วย MG GS หากเราก็ยังเห็นรถบนถนนไม่มากเท่าที่ควร การแนะนำ MG ZS เป็นการพลิกเกมพลิกโฉมหน้าการตลาด ในการแนะนำรถยนต์ที่ครบครันลงตัว พร้อมใช้งาน ทั้งหมดอยู่ในงบประมาณที่ไม่ว่าใครก็จับต้องได้ ราคาเริ่มต้นที่ 679,000 บาท และสูงสุดที่ 789,000 บาท
หรือแทบจะพูดว่าเพิ่มจากอีโค่คาร์รุ่นท๊อปราวๆ 50,000 บาท และสูงสุดมีราคาไม่เกินรถคอมแพ็คคาร์ ทำให้ MG ZS โด่งดังขึ้นมาทันที …. มันถูกมาก เมื่อเทียบกับการได้รถยนต์อเนกประสงค์คันหนึ่งมาเป็นคู่ซี้ในชีวิต ยิ่งเทียบว่า เพิ่มมูลค่าผ่อนรถเก๋ง 1500 ซีซี อีกไม่กี่บาทก็ได้รถอเนกประสงค์ ยิ่งทำให้หลายคนคิดไม่ตก…ในเวลานี้
เรื่องราวต่างที่ผมได้ยินมาหลังจาก MG ZS เริ่มปรากฏตัวตามโชว์รูมและมีคนสั่งจองอย่างล้นหลามจนผลักให้ยอดขายของ MG ทะยานมาเสียอยู่ในอันดับต้นของยอดขายรถอเนกประสงค์ ในการรายงานยอดขายรถยนต์ในแต่ละเดือนของเว็บพี่จิมมี่ Headlightmag ทำให้ผมต้องลัดคิวการทำรีวิวเจ้าอเนกประสงค์สายเลือดอังกฤษคันนี้ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
การพบเจอ MG ZS อีกครั้ง ยังทำให้ผมต้องมนต์การออกแบบของค่ายรถยนต์รายนี้ การออกแบบใหม่งานออกมาน่าสนใจ รถดูน่าใช้ ดูดีทรงคุณค่าเกินราคาขายของมัน ตั้งแต่ใบหน้าที่มาพร้อมโคมไฟหน้าโปรเจคเตอร์ทุกรุ่น ตั้งแต่รองท๊อปมาพร้อมไฟ Daytime Running Light ที่เรียกว่า “London Eye” ทรวดทรงด้านหน้าเปลี่ยนการออกแบบทรงนกโกรธมาเป็นกระจังหน้า 6 เหลี่ยม ดูเลอค่าตั้งแต่แรกเห็น บางครั้งคนอื่นมองผ่านๆ อาจนึกว่าคุณขับรถญี่ปุ่นยี่ห้อที่มีต้นกำเนิดจากเมืองฮิโรชิม่า มันค่อนข้างคล้ายมากราวกับเป็นฝาแฝดกันเลย
ด้านข้าง MG ZS พกล้ออัลลอยทูโทนขอบ 17 นิ้ว เลือกใช้ยางดีขั้นเทพ (เฉพาะตัวท๊อป) Yokohama Db Decibel V551 ขนาด 215/50/R17 บนหลังคาติดตั้งราวหลังคาสีเงิน รุ่นท๊อปที่กำลังจะไปขับในวันนี้มาพร้อมหลังคาพาโนรามิคซันรูฟ เป็นบานกระจกยาวครอบคลุมทั้งการโดยสารตอนหน้าและตอนหลัง สามารถเปิดช่องลมได้เฉพาะตอนหน้าเท่านั้น
ส่วนบั้นท้ายลงตัวกับไฟท้ายแบบ Led ทรงใหม่ดูดีมีสไตล์ ฝาท้ายเปิดแบบสไตล์สปอร์ต ดูเหมือนหยิบเอาความคิดจากรถอังกฤษเลือดเยอรมัน MINI มาใช้ เราเพียงผลักตราโลโก้ MG เพื่อเปิดฝาท้าย ทีแรกอาจจะงงๆ มึนๆ หาที่เปิดไม่เจอก็ไม่ต้องแปลกใจ ผลักไปเลยที่โลโก้ก็เปิดได้สบายมาก
เดินรอบรถจนครบ ผมสังเกตว่า MG ZS ไม่มีช่องรูกุญแจแล้วนับเป็นความน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับรถยนต์ยุคใหม่ สุดทันสมัยคันนี้ หากที่จริงแล้วช่องเสียบรูกุญแจถูกซ่อนไว้ที่ประตูฝั่งคนขับเผื่อเหตุในกรณีฉุกเฉินยามจำเป็น
ไม่มีปุ่มแบบนี้เชื่อว่าหลายคนเข้าใจว่ามันเป็นระบบสัมผัสหรือกุญแจ Keyless แน่ ตามความทันสมัยของรถยุคนี้ ผมเดินแล้วดึงประตูอยู่หลายนาที … เอ๊ะ!! ทำไมรถไม่เปิด … ในใจคิด หรือเรากดไม่ถูกจุด ทัชไม่ถูกที่ รถไม่ยอมปลดล็อคให้
ท่ามกลางอากาศที่ร้อน กลัวตัวดำกว่านี้ ก็เลยตัดสินใจว่า เอารีโมทมากดเปิดนั่นแหละดีแล้ว ..
เข้ามาข้างในกวาดสายตามองรอบคัน รุ่นท๊อป MG ZS 1.5 X Sunroof มาพร้อมการตบแต่งให้ดูหรูหราด้วยภายในทูโทน สีน้ำตาลกาแฟแซมด้วยสีดำ โทนการตบแต่งแบบนี้เคยมีมาในรถยนต์หลายรุ่น และส่วนใหญ่กลับถูกติติงว่าเป็นการออกแบบที่ดูสูงวัยไปหน่อย มันเหมาะกับรถสไตล์หรูราคาหลายล้านมากกว่า
หากความคิดเรื่องการผสมผสานสีอย่างลงตัวรถอเนกประสงค์คันนี้กลับไม่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น รถกลับดูดีขึ้นมาทันตาเห็น การตบแต่งหลายจุดด้วยสีน้ำตาลช่วยเพิ่มความสว่างในห้องโดยสาร และมันดูดีกว่าพี่น้องกลุ่มอเนกประสงค์ 1500 ซีซีทุกรุ่น ที่เน้นการตบแต่งเรียบๆ ธรรมดา อาจเน้นโทนดำเป็นหลักด้วยซ้ำมีเพียง Nissan Juke ที่ใช้ความคิดสัจจะวัสดุมาพ่วง เล่นโทนสีวัยรุ่นดำแดง
ผมเลยมองว่าความคิดเอ็มจีในการทำสีทูโทนออกมาแสดงถึงตัวตนความเป็นปัจเจกในการต้องการความดูดีอย่างชัดเจน และดูลงตัวอย่างมาก สิ่งเดียวที่ดูจะตะขิดตะขวงใจ คือ สีน้ำตาลมักจะเข้มขึ้นเมื่อผ่านไปนานๆ ทั้งจากคราบสกปรกในการใช้งาน และการดูแลจากน้ำยาเช็ดภายใน คำถามที่เราไม่สามารถตอบได้ ผ่านไปนาน ๆ มันจะดูน่าเบื่อหรือไม่ … คงต้องรอผู้ใช้จริงเท่านั้นจะตอบได้
ภายในห้องโดยสารที่ตบแต่งอย่างลงตัว MG ZS ตอบโจทย์ด้วยเบาะนั่งคู่หน้าขนาดใหญ่ผมกับเดือน (แฟน) นั่งได้สบายเดินทางไกลสะดวกไร้ปัญหา ตัวเบาะทั้งคู่ยังคงปรับด้วยมือ ตรงหน้าคนขับรถมาพร้อมเรือนไมล์เรืองแสง มีหน้าจอแสดงข้อมูลอัจฉริยะแบบสีขาวดำ , บอกข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นในการขับขี่ อาทิ ระยะทาง , ระยะทางคงเหลือวิ่งได้ , ความประหยัดน้ำมันในระหว่างทริปการเดินทาง น่าแปลกทางเอ็มจีจัดวางเรือนไมล์งงๆ เข็มความเร็วมาอยู่ฝั่งซ้าย และเลขรอบเครื่องยนต์มาอยู่ทางฝั่งขวา
เหลียวมาตรงกลางจะพบชุดหน้าจอสัมผัส ขนาด 8 นิ้ว ใช้งานเป็นทั้งระบบเครื่องเสียงและระบบเชื่อมต่อทางไกล I Smart
ภายในห้องโดยสารตั้งแต่รุ่นรองท๊อปขึ้นมาติดตั้งลำโพงทั้งหมด 6 จุด คุณภาพเสียงกลางๆไม่หวือหวามาก ดีพอจะฟังเพลงร๊อคแล้วไม่ถึงกับขาดเสียงเบส แต่ถ้าแบบฟังสนุกจริงๆ น่าจะหาลำโพงดีๆ กว่านี้มาใส่
ถัดลงมาจากจอเป็นชุดสวิทช์ควบคุมแอร์เห็นหน้าตาเป็นปุ่มแบบนี้ หลายคนเข้าใจว่าเป็นระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ความจริงมันคือระบบปรับอากาศปกติ ที่ใช้ชุดควบคุมแบบดิจิตอลเท่านั้น เมื่อคุณกดเปลี่ยนค่าต่างๆ จะแสดงผลบนหน้าจอร่วมด้วย
สำหรับคนขี้ร้อนผมกล้าพูดว่า แอร์ MG ZS นี่น่าจะถูกใจ เพราะมันทำงานดีเย็นเร็วมาก ถึงมากที่สุด สู้อากาศเมืองไทยที่ร้อนแบบวัวตายควายล้มได้สบาย กลับกันกับคนขี้หนาวอาจจะดูเป็นปัญหาบ้าง แอร์รถอังกฤษรายนี้ออกจะเย็นยะเยือกสักหน่อยยามใช้งาน แม้ว่าจะหรี่สุดลมเบาสุดก็อาจะรู้สึกสะท้านได้เหมือนกัน
ลงมาด้านหลังพื้นที่เก็บสัมภาระค่อนข้างเยอะพอตัวเก็บของได้มาก ไม่ขี้เหร่เท่าไรนัก เบาะนั่งตอนหลังเองก็พับได้ในอัตรา 60/40 ด้วย แต่เบาะยังพับไม่ถึงกับราบเรียบถ้าไม่เอาหัวหมอนทรงหน้าเอเลี่ยนออกจากตัวเบาะเสียก่อน ….
เรื่องการโดยสารตอนหลังทำออกมาได้ค่อนข้างดี ไม่แคบเกินไปและนั่งสบายในการเดินทาง น่าเสียดายค่ายอังกฤษยึดเอาพนักเท้าแขนผู้โดยสารตอนหลังหายไป ซึ่งโดยมากจะเป็นที่วางแก้วน้ำด้วยในตัว ทำให้หากคุณเดินทางไกลแล้วคนนั่งซื้อกาแฟมากินบนรถจะประสบปัญหาการวางแก้วอย่างมาต้องสงสัยเลยครับ
ได้เวลาเดินทาง เอ๊ะ!! ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์มี แสดงว่ารถคันนี้น่าจะเป็นกุญแจ Key less ข้อสงสัยผมกับประตูเจ้าปัญหาผุดขึ้นมาอีกครั้ง…. และยังคิดกับตัวเอง ว่าสรุปเป็นกุญแจแบบใดแน่
ใต้เรือนร่างเจ้า MG ZS ใหม่คันนี้พกเครื่องยนต์ 4 สูบแถวเรียงขนาด 1500 ซีซี และแตกต่างจากคู่แข่งด้วยการทำงานด้วยระบบ Atkinson Cycle ให้กำลังสูงสุด 114 PS ที่ 6,000 รอบต่อนาที ทำแรงบิด 150 นิวตันเมตรสูงสุดที่ 4,500 รอบต่อนาที เอ็มจีท้าทายตลาดด้วยการจับเครื่องยนต์บล็อกนี้พ่วงเข้ากับเกียร์ออโต้ 4 สปีด ยกตรงมาจาก MG 5 รุ่นที่ไม่ใช่เครื่องยนต์เทอร์โบ จนสื่อหลายคนตลอดจนแฟนๆ รู้สึกไม่ค่อยชอบใจ
ตอนที่ไปขับทดสอบกลุ่มผมมีโอกาสถามเอ็มจีว่า ทำไมถึงเลือกเกียร์ชุดนี้มาใช้ ทั้งที่ก็รู้ว่าคู่แข่งส่วนใหญ่ใช้ระบบเกียร์ CVT หรือเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด (ซึ่งเอ็มจีไม่มี) ผมยังจำได้ว่าคุณนุ่นสาววัยใสน่ารัก ผู้ดูแลผลิตภัณฑ์ MG ZS(เอ็มจี แซดเอส) บอกตอบว่า นั่นเพราะต้องการให้ใกล้ชิดกับผู้ใช้ ดูแลง่ายใช้งานสะดวก หรือตีความว่า มันเรียบง่าย ก็คงไม่ผิดนัก
เรื่องนี้มองในมุมความล้าสมัยผมก็เห็นด้วย หากกลับกันมองในเรื่องความง่ายในการใช้งานผมก็เห็นด้วยเช่นกัน เกียร์อัตโนมัติ 5-6 สปีดเพิ่งเข้ามาในตลาดในระยะไม่เกิน 10 ปี ได้ และถ้าไปดูเกียร์หลายสปีดส่วนใหญ่ การเซทเกียร์ในช่วงจังหวะท้ายสุด (overdrive) จะพอๆกับเกียร์ 4 สปีดเดิม เพียงแต่อาจเน้นอัตราทดช่วงเกียร์ 3-4-5 ให้ชิดมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้ไม่ต้องเร่งเครื่องยนต์ไปมาก หรือกระทืบคันเร่งบ่อยครั้ง
ในความเป็นจริงของคนขับรถเกียร์ออโต้กว่าร้อยละ 80 ที่มีรถเก่าในบ้านก่อนยุคปี 2000 ส่วนใหญ่พวกเขาชินกับการใช้รถเกียร์ออโต้ 4 สปีด ทั้งนั้น แน่นอนในแง่ของความคุ้มค่าในการซื้อถ้าได้เทคโนโลยีใหม่มันก็น่าจะดีกว่า แถมเมื่อมองว่าอเนกประสงค์คันนี้เกิดมาสนองตอบการขับขี่ในเมืองก็ยิ่งตอบคำถามได้ดีว่าทำไมจำนวนเกียร์อาจไม่ใช่ปัญหาที่เอ็มจีมอง
ผมกวาดพวงมาลัยขับ MG ZS กลับบ้านท่ามกลางการจราจรเมืองกรุง ช่วงแรกเครื่องยนต์ 1.5 ดูจะยังไม่ค่อยเข้าขากับผมสักหน่อย หลายครั้งในความเร็วต่ำเช่นรถไหลไปช้าๆ เรื่อยๆ ท่ามกลางการจราจรติดขัด เครื่องยนต์ดูจะมีอาการสะอึกเนืองๆ สร้างความน่ารำคาญใจ
อาการดังกล่าวมาจากแนวทางการวิศวกรรมของเครื่องยนต์แบบ Atkinson Cycle ขุมพลังที่ทำงานด้วยระบบดังกล่าวโดยมากจะเป็นเครื่องยนต์สำหรับรถไฮบริดมากกว่า เป็นอีกเรื่องที่เอ็มจีกล้าท้าลอง
แนวทางของเครื่องยนต์เบนซินสันดาปภายใน ส่วนใหญ่เราจะเรียกว่าการทำงานแบบ Otto Cycle การทำงานจะประกอบไปด้วย 4 จังหวะสำคัญได้แก่
ดูด – ขั้นตอนแรกเปิดวาล์วไอดี ในระหว่างเลื่อนลูกสูบลง
อัด- ปิดวาล์วไอดี เลื่อนลูกสูบขึ้น โดยจังหวะก่อนถึงด้านบน หัวเทียนจะปล่อยกระแสไฟ จนทำให้เกิดการเผาไหม้
ระเบิด – ขั้นตอนเกิดแรงขับโดยอาศัยแรงระเบิด ดันลูกสูบลงด้านล่างดันข้อเหวี่ยงให้มีกำลังแรงบิดเกิดขึ้น
คาย – เป็นจังหวะสุดท้ายในการดันไอเสียออกไปจากห้องเผาไหม้
ถ้าดูให้ดดีคุณจะพบว่าการทำงานในแบบ Otto Cycle ใน 1 วัฏจักรการทำงาน เครื่องยนต์จะต้องทำการหมุน 2 รอบจึงจะจบขั้นตอนในการแต่ละครั้ง Atkinson Cycle จึงเกิดขึ้นด้วยความมั่นใจว่าใน 1 รอบการหมุนน่าจะทำให้จบครบวัฏจักรได้
สิ่งที่ Atkinson คิดไม่ไกลเกินจริงและเป็นไปได้ เขายังคิดต่อไปว่า ถ้าเครื่องยนต์ลดการสูญเสียกำลังขณะเลื่อนสูบลงเพื่อดูดอากาศ หรือทางวิศวกรรมเรียกว่า Pumping loss แล้วไม่ต้องใช้เวลานานในการอัดน่าจะทำให้เครื่องยนต์เกิดกำลังมากกว่า มันช่วยลดการจ่ายน้ำมันในแต่ละรอบการทำงานและมีกำลังมากขึ้น ส่งผลให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพในการขับขี่มากขึ้น
พูดมาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนน่าจะนึกไม่ออกว่าแตกต่างอย่างไร ก็ไม่น่าแปลกใจด้วยทุกคนใช่จะจบวิศวกรรมหรือมีความรู้เครื่องยนต์กลไกในเชิงเทคนิคติดตัว
จินตนาการแบบนี้ครับ คุณกำลังดูเครื่องยนต์ 4 จังหวะที่เราใช้ในปัจจุบันกันอยู่ … เราทราบ 4 ขั้นตอนในการทำงานหลักของมันกันแล้ว ลองคิดว่า ถ้าลูกสูบไม่ต้องเลื่อนลงสุด วาล์วไอดีเปิดคาเอาไว้ให้อากาศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ลูกสูบเลื่อนขึ้นในระยะที่น้อยลง และดันอากาศบางส่วนออกไปทางวาล์วไอดี ทำให้เจอแรงต้านระหว่างการอัดน้อยลง และใช้ส่วนผสมน้ำมันน้อยลงตามไปด้วย
คุณคงนึกอยู่ว่า เมื่อใช้น้ำมันน้อยลงส่วนผสมน้อยลง เครื่องยนต์มีกำลังน้อยลงด้วยนี่ … คำตอบคือใช่แล้วครับ เครื่องยนต์แอทคินสันมีกำลังน้อยกว่าเครื่องทั่วไปเล็กน้อย ทว่าก็ได้คุณประโยชน์มากกว่าในแง่ประหยัดน้ำมัน
ด้วยขั้นตอนการทำงานที่แตกต่าง การใช้จังหวะดูดน้อยทำให้แอทคินสันเป็นเครื่องยนต์ที่มีอาการสะดุดเมื่อทำงานรอบต่ำ เป็นสาเหตุว่าทำไมรถยนต์ไฮบริดส่วนใหญ่จึงใช้ระบบแอทคินสัน เนื่องจากพวกเขาทดแทนอาการดังกล่าว ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ตอบสนองดีกว่า และเครื่องยนต์เข้ามารับช่วงต่อในความเร็วสูงเท่านั้น ข้ามจังหวะที่ดูผิดปกติไปเ
ความรู้สึกผมตอนขับ MG ZS ในเมือง ยอมรับว่ารู้สึกแปลก เครื่องยนต์มีอาการสะอึกมากพอจะรู้สึกได้ โดยเฉพาะใครที่ชอบขับรถเลียคันเร่ง ค่อยๆแต้มให้มันประหยัด จะรู้สึกแปลก ๆ ถึงการทำงานของเครื่องยนต์ใต้ฝากระโปรงพอสมควร
อาการดังกล่าวสร้างความน่ารำคาญใจ เนื่องจากเครื่องยนต์เดินไม่เรียบ และจากที่ขับผมพบว่าปัญหาสำคัญข้อหนึ่งเกิดจากชุดเกียร์ที่พยายามขึ้นไปสู่เกียร์ 2 เร็วไป ด้วยการเซทอัตราทดเกียร์ห่างกันมาก ระหว่างเกียร์ 1 ( 2.875) และเกียร์ 2 ( 1.568) ทำให้เมื่อเครื่องเร่งกำลังจะเรียบเกียร์ดันไปตำแหน่งต่อไป รอบจะตกลงมากจนรู้สึกสะดุดเป็นคอมโบ แถมเกียร์ยังพยายามค้างที่เกียร์ 2 มากที่สุดในยามขับขี่ในเมือง ยิ่งทำให้อาการเครื่องเดินไม่เรียบเด่นชัดขึ้น
ระหว่างขับขี่ในเมืองพักใหญ่ ผมเจอทางสว่างทำให้อาการนี้หายไปได้ คุณต้องขับแบบเหมือนโกรธใครมา ย่ำคันเร่งให้เยอะขึ้น พยายามให้รอบสูงกว่า 2,000 รอบต่อนาทีอยู่เสมอ อาการสะอึกก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการผผลาญน้ำมันเพิ่มขึ้น และจากที่ลองขับในเมือง 58 กิโลเมตร ผมเติมน้ำมันไป 6.140 ลิตร คิดเป็นอัตราประหยัด 9.46 ก.ม./ลิตร จะว่าไปก็แอบซดอยู่เหมือนกัน
วันต่อมาผมตั้งเข็มทดสอบการขับนอกเมืองโดยให้ปลายทางยังจังหวัดลพบุรี การเดินทางผ่านถนนกาญจนภิเษกจากบางใหญ่ ถนนทางหลวงหมายเลข 347 ออกบางปะหัน เข้าถนนสายเอเชียไปตัดเข้าช่วงอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เส้นทางนี้มาสะดวกขับสบายรถไม่ติดการจราจรคล่องตัว
เมื่อขับทางไกลแบบนี้ MG ZS แสดงอภินิหารระบบกันสะเทือน มันนั่งสบายเป็นรถ MG ที่มีช่วงล่างนุ่มที่สุดตั้งแต่ขับมา ช่วงล่างของรถออกอาการคล้ายรถยนต์ Nissan Juke มันดูจะโดดๆ เด้งๆ คล้ายรถบักกี้ หากก็ขับได้อย่างมั่นใจ ช่วงขับด้วยความเร็วพวงมาลัยไฟฟ้าค่ามาตรฐาน (สามารถปรับได้ 3 โหมด,ในเมือง,สปอร์ตและมาตรฐาน) จะตึงมือมากขึ้นเล็กน้อยอยู่ในช่วงกำลังพอดี ควบคุมได้ง่าย แอบอารมณ์สปอร์ตบ้างเล็กๆ จะหักเปลี่ยนเลนก็มั่นใจ
ยามเดินทางไกล รถคันนี้กลายเป็นอเนกประสงค์ที่ขับได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ จากที่ขับด้วยความเร็ว 120-140 ก.ม./ช.ม. การทรงตัวดีไม่พอ การเก็บเสียงในห้องโดยสารก็ค่อนข้างดีในระดับที่น่าพอใจ
จะมีก็แต่ชุดเกียร์ 4 สปีด เริ่มเกวนใจอยู่บ้าง ด้วยอัตราทดที่น้อย ทำให้ระหว่างเดินทางกินรอบเครื่องสูงเอาเรื่อง ที่ 120 ก.ม./ช.ม. ใช้รอบเครื่องสูงถึง 3,000 รอบต่อนาที แถมกรณีคุณต้องขับบนถนน 2 เลนสวน อัตราเร่งก็ยังไม่สู้ดีเท่าที่ควร ผมแนะนำว่าให้ดูจังหวะดีๆ มันไม่ใช่รถที่วิ่งแซงพุ่งทะยานออกไปอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแบบพี่ชาย MG GS
อย่างไรก็ดีถึงจะกินรอบเครื่องสูงและเร่งแซงไม่ดีเด่นอย่างที่หลายคนอาจคาดหวังกับแบรนด์ MG แต่เรื่องความประหยัดขับนอกเมืองทำให้เราประหลาดใจไม่น้อย
เรากำลังพูดถึงรถขนาด 1,258 กิโลกรัมที่มีผม และจักรยานคันเก่ง บวกกับสัมภาระตีเสียว่ามีอีกสัก 110 กิโลกรัม ผมขับเดินทางด้วยความเร็ว 110-140 ก.ม/ช.ม. ใช้ความเร็วส่วนใหญ่ที่ 120 ก.ม./ช.ม. ผมคำนวณอัตราเฉลี่ยบริโภคน้ำมันได้ 13.1 ก.ม./ลิตร มันประหยัดในระดับที่น่าพอใจเมื่อขับนอกเมือง แต่เมื่อคิดว่า รถรุ่นนี้เกิดมาเพื่อขับในเมืองมากกว่าหรือเปล่า ก็ดูน่าครุ่นคิดไม่น้อย
i– smart อัจฉริยะใช้ได้ … แต่ยังไม่สะดวกนัก…
ผมเชื่อว่าหลายคนที่ดูเจ้า MG ZS(เอ็มจี แซดเอส) คงจะหลงคารมค่ายรถยนต์เกาะอังกฤษที่ชูจุดขายในเรื่องความทันสมัยโดดเด่น มันมาเป็นแพ็คเกจความครบครันด้วยระบบที่เรียกว่า i-Smart
ระบบ I Smart เป็นระบบเชื่อมต่อรถเข้ากับศูนย์ข้อมูลหลัก ช่วยอำนวยความสะดวกในการขับขี่มากขึ้น ผ่านการทำงาน 3 ส่วนสำคัญ คือตัวรถ (ทำงานผ่านหน้าจอ) แอพพลิเคชั่น (MG Smart Application) และท้ายสุดศูนย์บริการข้อมูลของเอ็มจี ทั้งหมดผสานกันทำให้เกิดความชาญฉลาดในการใช้งาน
MG Smart application
ตอนรับ MG ZS คันนี้ ผมสอบถามเรื่องการใช้ระบบ i smart มาเป็นอย่างดีทราบดีว่าลูกค้าหลายคนค่อนข้างรู้สึกว้าวกับมัน เมื่อนับว่าเป็นฟังชั่นที่มากับตัวรถทันทีไม่ต้องซื้อเพิ่ม แถมรถที่มีระบบนี้ก็ไม่ได้มีราคาแพงเว่อวังค์มากมาย
แอพพลิเคชั่น I Smart ในปัจจุบัน สามารถโหลดได้ที่แอพเปิล สโตร์และเพลย์ สโตร์ สำหรับผมแล้วใช้มือถือแอนดรอย ( Samsung Galaxy Note5 ) จึงโหลดที่เพลย์สโตร์ เมื่อโหลดมาแล้วขั้นแรกต้องลงทะเบียนก่อน ซึ่งก็จะมีคำแนะนำบอกอยู่ แต่รถทดสอบเราทางเอ็มจีจัดการลงทะเบียนมาให้แล้ว ผมจึงมีหน้าที่แค่เข้าสู่ระบบ โดยใช้ยูสเซอร์ และ พาสเวิร์ดเท่านั้น ที่เหลือจำพินโค๊ด 6 หลัก เอาไว้ใช้สั่งการ
เมื่อเข้าสู่ระบบทุกครั้ง ระบบจะทำการตรวจสอบสถานะรถทั้งหมดทุกรายการ อาทิ เครื่องยนต์ ,พวงมาลัย ระดับน้ำมัน ,การล็อคประตู ทุกอย่างจะถูกประมวล ดูว่าปกติหรือไม่
ถ้าปกติก็จะขึ้นสถานะปกติ ถ้าไม่จะขึ้นคำว่า “ผิดปกติ” ซึ่งคุณสามารถตรวจสอบได้ว่า ระบบใดทำงานผิดปกติ อย่างในกรณีที่ผมทดลอง คือ ระดับน้ำมันผิดปกติ นั่นเพราะน้ำมันติดขีดแดงนั่นเอง
ในหน้าจอนี้ก็จะมีการแสดงระดับน้ำมัน , ระยะทางที่เหลือ รวมถึง 2 ปุ่มทางด้านล่าง เป็นล็อคกับปลดล็อคประตู และปุ่มที่ดูเหมือนหิมะ คือระบบสั่งการรถให้ทำงานเปิดระบบปรับอากาศล่วงหน้า ซึ่งเมื่อสตาร์ทเครื่องแล้วจะทำงานเป็นเวลา 10 นาที เลยทีเดียว ผมว่ามันค่อนข้างนานไป สัก 5 นาทีก็น่าจะพอ เนื่องจากการใช้งานจริงก็คงอยู่ใกล้ๆ กับรถมากกว่า
ส่วนการเปิดประตู ระบบสามารถสั่งการได้จริง แต่ยังไม่สะดวกนัก การประมวลผลใช้เวลานานเกินไป เมื่อนับว่าคุณแค่ต้องการปลดล็อคประตูเข้ารถ ดันใช้เวลานานกว่าการหยิบกุญแจรีโมทขึ้นมากด ซึ่งผมก็แปลกใจที่ MG ไม่ยอมให้ Keyless มาเลยทีเดียว ทำเอาเซ็งอยู่ใช่น้อย ยิ่งเมื่อคิดว่ารถทันสมัยสุดเป็นอินเตอร์เน็ตคาร์ ดันมาตกม้าตายให้กุญแจรีโมทธรรมดา ที่ต้องควาญหาขึ้นมาเปิดประตูทุกครั้ง เป็นสิ่งที่ผมว่าดูแปลกๆ ประหลาดๆ ในการใช้งาน ทั้งที่รถในรถก็มีปุ่มสตาร์ทมาให้แล้วด้วยซ้ำไป
นอกจากออพชั่นควบคุมตัวรถทั้ง 2 ออพชั่นแล้ว ในแอพลิเคชั่นยังมีฟังชั่นค้นหาตำแหน่งรถของเราในกรณีที่คุณหารถไม่เจอ มันใช้งานร่วมกับแผนที่จาก Google แสดงผลทันที แต่ผมยังไม่ลองว่าในพื้นที่อับสัญญาณเช่นในห้าง , ในที่จอดรถใต้ดินจะยังทำงานได้หรือไม่
ส่วนฟังชั่นสุดท้ายเชื่อว่า ภรรยาหลายคนคงชอบ โด่งดังมาตั้งแต่ยุค Inkanet คือ electric fence หรือขอบเขตอิเล็กทรอนิกส์ ใช้แจ้งเตือนคุณเมื่อรถขับออกนอกพื้นที่ หรือขับเข้าใกล้ในพื้นที่ ผมยังแอบแซวว่า นี่เป็นฟังชั่นที่ศรีภรรยาชอบมาก สามมีชู้ก็รู้ติดตามง่าย ท่านชายจะเผลอไผลใช้รถเอ็มจีก็ระวังให้ดี หากภรรยาท่านถือแอพไอสมาร์ท บอกเลยว่านี่มันเครื่องติดตามพฤติกรรมท่านดีๆ นี่แหละครับ
ฟังชั่นขอบข่ายอิเลกทรอนิกส์
ระบบ I Smart ในรถ
ทางด้านระบบ I smart ภายในรถ ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญด้วยกัน คือ 1.การใช้งานการสั่งการด้วยเสียง (ภาษาไทย) 2.ระบบนำทางพร้อมข้อมูลการจราจร และ 3. การทำงานร่วมกับศูนย์ข้อมูล
ในการใช้งานด้วยเสียงภาษาไทย ระบบ I Smart ตอบโจทย์ได้เพียง “พอใช้”ใช้เท่านั้น ในความคิดผม ตลอด 4 วันที่อยู่กับเอ็มจี แซดเอส ผมกล้าพูดว่า ระบบยังทำงานได้ไม่ดีเท่าที่หวัง การทำงานของมันคล้ายกับระบบสั่งการด้วยเสียงของฟอร์ดในยุคแรก และแถมด้อยกว่าเล็กน้อยด้วย
การทริกเกอร์ หรือ เริ่มให้ทำตามคำสั่งด้วยคำว่า “Hello MG” มีข้อจำกัดในการใช้งานหลายประการตั้งแต่ ระบบยังไม่ค่อยตอบสนองต่อคำพูดเท่าที่ควร ไม่ใช่สั่งปุ๊ปแล้วจะมาทันที หรือบางครั้งสั่งมา แต่มาช้า คล้ายอาแป๊ะวัยชราในร้านขายของชำที่กว่าจะลุกมาขายของถามว่า “ลื้อจะเอาอะไร” เราก็หยิบของชิ้นนั้นเอง น่าจะง่ายกว่า
ยิ่งกว่านั้นในช่วงการใช้งานจริง ซึ่งส่วนใหญ่ผมทดลองสั่งในขณะขับรถด้วยความเร็วตั้งแต่ 80 – 120 ก.ม./ช.ม. ผลปรากฎว่า การสั่งงานด้วยเสียงตั้งแต่ความเร็ว 100 ก.ม./ช.ม. ขึ้นไปไม่เคยสำเร็จสักครั้ง อาจด้วยการสำรวจเสียงจากไมโครโฟนของระบบที่น่าจะตรวจพบการรบกวนจากเสียงลมและเสียงบดยางระหว่างการขับขี่ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบเสียงผู้ใช้ได้ ต้องใช้การกดปุ่มบนพวงมาลัยแทน
แถมในยามขับขี่การสั่งการระบบอาจคิดว่าคุณใช้คำสั่งอื่น และทำงานผิดพลาด เช่น เปิดซันรูฟ กลายเป็นเป่าเท้า เป็นต้น ดังนั้นถ้าถามว่าระบบใช้งานได้จริงไหม คำตอบคือใช้งานได้จริง เพียงอาจจะยังไม่สะดวกนัก
นอกจากระบบทริกเกอร์ยาก และใช้งานด้วยเสียงยังไม่สนองตอบดีเท่าที่ควรจะเป็น เรื่องสำคัญที่ทางเอ็มจีกลับมองข้าม คือการใส่บทสนทนาให้ผู้ใช้พูดรู้ ว่าควรพูดอะไรกับระบบ
ตลอด 4 วัน ผมมั่นใจว่า คำสั่งที่ใช้บ่อยและได้ผลที่สุด คือเปิดและปิดซันรูฟ แต่ระบบ I smart ยังสามารถทำงานอย่างอื่นได้อีก ยกตัวอย่าง สั่งการเบาหรือเพิ่มความแรงลมของระบบปรับอากาศ,ปรับแอร์โหมดเป่าเท้าหรือเป่าตัว ,ปรับเพิ่มหรือลดความเย็นแอร์ ,เปิด-ปิดแอร์,เปิดหน้าต่างคนขับ (แต่ไม่ปิดไม่ได้) ,เล่นเพลงถัดไป หรือก่อนหน้านี้
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นคำสั่งที่ผมพบว่าสามารถใช้งานได้จริงในระบบ I Smart และผมเชื่อว่ามีเยอะกว่านี้ เพียงแต่เรายังไม่ทราบคำสั่ง แนะนำจากใจ ให้ทำคู่มือคุยกับระบบก็น่าจะดีไม่น้อย
นอกจากการสั่งการด้วยเสียงแล้วการเชื่อมต่อของ I Smart ยังมีส่วนสำคัญในระบบแผนที่นำทางของ MG ZS คุณสามารถตรวจสอบสภาพการจราและหาเส้นทางหลีกลี่ยงได้ ทางเอ็มจีเคยคุยกับผมว่า บริษัทตั้งใจจะแสดงข้อมูลการจราจรแบบ ณ เวลาจริง หรือ Real Time ในระยะ 50 กิโลเมตร จากกรุงเทพ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกกับผู้ใช้อย่างมาก
จากการทดสอบผมยังไม่พบแผนที่จราจรดังกล่าว แต่ระบบจะมีการแจ้งกรณีพบเหตุฉุกเฉินในเส้นทางที่ไป จึงจะมีการแนะนำเส้นทางใหม่เกิดขึ้น
แต่สิ่งที่ผมว่าน่าจะเป็นอีกฟังชั่นที่ทางผู้ใช้ น่าจะได้ใช้บ่อยในรถ คือการติดต่อศูนย์ข้อมูล เพื่อขอข้อมูลการเดินทางหรือ POI มายังหน้าจอของคุณ เป็นสิ่งที่สะดวกมาก ผมทดลองขอ POI โรงพยาบาลท่าวุ้ง ระหว่างขับรถที่ลพบุรี ก็สามารถทำงานและใช้งานได้จริง
เพียงแต่ตลอดระหว่างการทดสอบกดสื่อสารกับศูนย์ข้อมูล พบว่า หลายครั้งเมื่อโทรเข้าระบบแล้ว พนักงานปลายสายจะไม่ได้ยินเราสนทนา ยกตัวอย่างเช่นขาไป ผมจะลองขอ POI ธกส. ลพบุรี สถานที่ทำงานของเดือน (ซึ่งจริงๆ ก็รู้ว่าไปทางไหน) ตอนนั้นขับอยู่ช่วงทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดอยุธยา ด้วยความเร็ว 90 ก.ม./ช.ม.
ผม : สวัสดีครับขอ POI ธกส. ลพบุรีหน่อยครับ
MG : สวัสดีค่ะ ขอสถานที่ ธกส. ลพบุรีหรือ คะ
จากนั้น
MG : ลูกค้าคะ ได้ยินไหมคะ ไม่ทราบว่ายังอยู่ไหมคะ
ผม : ยังอยู่ครับ ใช่ครับ ธกส. ลพบุรี
MG : ไม่ได้ยินลูกค้าเลยค่ะ ขออนุญาตติดต่อกลับนะคะ ….
แล้วก็วางสายไป … สักพักโทรกลับมาหาใหม่ ก็ยังไม่ได้ยินอีกเหมือนเดิม ผมเลยโทรเข้าไปใหม่อีกรอบ หลังเข้าถนนสายเอเซีย ก็พบอาการเดิม ปลายสายไม่ได้ยินคุณ แม้เราจะแหกปากดังลั่นรถก็ตาม กลายเป็นทำให้น่าโมโหอย่างยิ่งหนักว่าเดิม
ผมอนุมานว่า สาเหตุที่ศูนย์ข้อมูลไม่ได้ยินเรา น่าจะมาจากคุณภาพสัญญาณของ I smart ที่พึ่งพาใช้ซิมของระบบ Truemove-H ในการเชื่อมต่อระหว่างรถและการรับส่งข้อมูลทำให้มีปัญหาในการสื่อสารเกิดขึ้น จนอยากจะฝาก MG ลงไปทดสอบแก้ข้อบกพร่องเรื่องนี้โดยด่วน
ส่วนการใช้งานศูนย์บริการข้อมูล นอกจากการขอปลายทางโดยที่คุณไม่ต้องพิมพ์ให้ยาก ค้นหาให้เหนื่อยแล้ว ยังสามารถขอความช่วยเหลือยามฉุกเฉินได้ด้วยครับ เช่นขอความช่วยเหลือ เมื่อรถขัดข้อง หรือประสบอุบัติเหตถ
สรุป MG ZS 1.5 X Sunroof ซื้อสมรรถนะ….ดีกว่าหวังฉลาดล้ำ
ตอนนี้ผมกำลังขับเจ้า MG ZS คันเก่งไปคืนทาง MG ย่านศรีนครินทร์พลันปรารภกับตัวเอง โดยตั้งคำถามสั้นๆว่า “คนจะยังสนใจรถคันนี้ไหม เมื่อรู้แบบที่เราได้สัมผัสมา”
ภาพของ MG ZS ที่ทางบริษัทสร้างขึ้นมา คือรถยนต์อเนกประสงค์ที่มาพร้อมความฉลาดครบครันฟังชั่น แต่ไม่ค่อยกล่าวถึงสมรรถนะในการขับขี่สักเท่าไรนัก อาจจะด้วยการเลี่ยงข้อครหาเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด จุดตายที่คู่แข่งอาจมาแทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ ก็เป็นได้
แต่หลังขับเจ้า MG ZS ตลอด 4 วัน กล้าพูดว่า MG ZS ดูโดดเด่นในเรื่องการขับขี่มากกว่าสิ่งอื่น แบบที่เอ็มจีเป็นมาตลอด จริงอยู่ว่าเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร แอทคินสันใต้ฝากระโปรงซดค่อนข้างโหดในเมือง หากถามผมมันก็พอๆกับคู่แข่งที่เคยสัมผัสมา หากเมื่อขับทางไกลกลับตอบโจทย์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ และดีเทียบเท่ารถยนต์หลายรุ่นในตลาด
ปัญหาสำคัญที่ทางทีมวิศวกรสมควรกลับไปดูใน MG ZS(เอ็มจี แซดเอส) ไม่พ้นอาการเครื่องสะอึกที่ผมบอกในรีวิวนี้ มันไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่เกิดจากการที่เครื่องยนต์เดินไม่เรียบในรอบต่ำ (ช่วง 1000-2000 รอบต่อนาที) เบื้องต้นอย่างที่บอกไปแล้ว ลองปรับการขับขี่เลิกเลียคันเร่งแล้วเปลี่ยนเป็นกดลึกหน่อยเพื่อให้เครื่องได้เร่ง อีกวีธีที่ผมทำแล้วหายเช่นกัน คือใช้เกียร์ S เลือกอัตราทดเอง
ผมสังเกตว่าเกียร์ชอบขึ้นอัตราทดเองเร็วเกินไป ทำให้เครื่องรอบต่ำเกินไป หรือเมื่อต้องการกำลังก็ดันไม่อยู่ในช่วงที่จะรีดแรงบิดปล่อยพลังออกมา ดังนั้นทางทีมวิศวกรสมควรจะไปศึกษาพฤติกรรมการใช้งานจริงของลูกค้า แล้วเซทเกียร์ให้เหมาะสมมากขึ้น ถึงบางครั้งจะเกิดการลากรอบสักหน่อยก็ยังดีกว่า รู้สึกว่ารถเครื่องเดินไม่เรียบในช่วงรอบต่ำ มันสร้างประสบการณ์ในการใช้งานไม่ดีเลย
อย่างไรก็ดี น่าแปลกสิ่งที่ผมเดือนเราต่างเห็นพ้องให้คะแนนยอดเยี่ยมในอเนกประสงค์คันนี้ กลับกลายเป็น ระบบกันสะเทือนที่นั่งสบายที่สุดตั้งแต่ขับเอ็มจีครบทั้งไลน์อัพ มันเป็นช่วงล่างที่ผู้ใหญ่ชอบ หนุ่มนักซิ่งหรือสาวซ่าก็ยังขับมั่นใจ มันเซทติ้งมาได้ลงตัวมากที่สุดเท่าที่เคยขับอเนกประสงค์ขนาดเล็กเครื่องพันห้า ไม่กระด้างไปไม่นิ่มไป กำลังหนึบดีพอจะกระโดดสะพานและไม่ทำให้คนนั่งรู้สึกตัวลอยจากเบาะ
ผมรู้สึกว่า ช่วงล่าง MG ZS เซทออกมาคล้าย Nissan Juke แต่มีความหนึบและนิ่มนวลกว่าพอสมควร ไม่ดูห่ามเปรี้ยวสปอร์ตเกินไป เป็นรถที่ดีพอจะรับผู้ใหญ่เดินทางไปด้วย แทบจะพูดว่าดีที่สุดในการเน้นโดยสารกลุ่ม 1,500 ซีซีด้วยซ้ำ
นอกจากนี้รถระดับราคาขนาดยังโดเด่นด้วยพวงมาลัยไฟฟ้าที่สามารถเซทได้ตามต้องการ 3 โหมด คือ ในเมือง โหมดนี้พวงมาลัยจะเบาหวิวพอๆกับ Subaru XV ใหม่ และจะปรับเป็นโหมดมาตรฐานเองเมื่อใช้ความเร็วสูงเกิน 80 ก.ม./ช.ม. ส่วนโหมดมาตรฐานก็จะมีน้ำหนักกลางๆ ผู้ชายขับได้ท่านหญิงขับดี กลางๆ ไม่หนักไม่เบา ส่วนใครที่ชอบความเร้าใจขึ้นรถบอกเลยว่าผมขอ “สปอร์ต”อย่างเดียว พวงมาลัยโหมดนี้ จะตึงมือขึ้น น้ำหนักพวงมาลัยเทียบเท่า Subaru XV ตัวเก่าอย่างน้องส้ม ช่วยให้ขับสนุกขึ้น ชัดเจน แม้ช่วงล่างและอัตราเร่งจะไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม
ส่วนเรื่องการโดยสารและฟังชั่นภายในห้องโดยสารต้องยอมรับว่ามันไม่ค่อยหวือหวามากนัก หากก็มากพอกับคำว่ารถยนต์อเนกประสงค์ คุณสามารถขนจักรยานได้ทั้งคัน ,ซื้อของเข้าบ้าน หรือพกของออกทริปได้สบาย ใช้งานได้ครบตามต้องการ ในทุกบทบาทของชีวิต
อย่างไรก็ดี ระบบ I Smart ที่ดูจะเหมือนเป็นจุดแข็งของรถ เมื่อมาใช้งานจริงมันกลับดูใช้งานยากลำบาก และมีสิ่งที่ยังต้องไปปรับปรุงหลายจุดด้วยกัน
ตั้งแต่การสั่งการด้วยเสียงภาษาไทย ซึ่งอาจต้องสอนหรือมีการกำกับชุดคำสั่งที่ชัดเจนสอนลูกค้าในการใช้งาน เนื่องจากทางเอ็มจีเคยบอกกับผมว่า ระบบสั่งการเรียนรู้วิธีการพูดของผู้ใช้เป็นสำคัญยิ่งสั่งบ่อยรถยิ่งจำวิธีการพูดของคุณ ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะรถทดสอบผ่านมือหลายชายจนระบบงง ว่าจะตอบสนองอย่างไร
ประการต่อมา แอพลิเคชั่นต้องตอบสนองรวดเร็วมากขึ้น ถึงเอ็มจี จะอ้างว่า มันขึ้นอยู่กับมือถือ สัญญาณเครื่องมือถือที่ใช้ และสัญญาณ ณ จุดที่รถอยู่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถอ้างได้ หากความจริงการประมวลชุดคำสั่งในโปรแกรมยังค่อนข้างช้าอยู่ โดยเฉพาะการเปิดประตูรถ จากแอพพลิเคชั่นใช้เวลาพอๆ กับสตาร์ทรถ
ทั้งที่ความจริงการเปิด-ปิดล็อคประตูน่าจะทำได้ง่ายกว่ามาก แถมด้วย MG ZS ให้กุญแจรีโมทไม่ใช่ Keyless ยิ่งทำให้การหวังพึ่งแอพพลิเคชั่นปลดล็อคประตู ดูเท่ห์สมาร์ทมีมากขึ้นด้วย แล้วเมื่อลูกค้าพบว่ามันใช้เวลานานไป จะทำให้ประสบการณ์ในการใช้ไม่ดี
ผมอยากเสนอให้เอ็มจี ลองศึกษาเทคโนโลยีใกล้ตัวที่น่าสนใจและสามารถนำมาใช้ได้ทันที NFC (Near Field Communication) อาจจะเป็นทางออกที่ดีกว่าในการปลดหรือล็อครถ และเสียเวลาน้อยกว่าหรือเท่ากับใช้กุญแจรีโมท เพียงแต่ใช้รหัสจากเครื่องนี่แหละปลดล็อครถ ไม่ต้องมานั่งส่งสัญญาณขึ้นเครือข่าย แล้วรอเครือข่ายวิ่งมาที่รถ ราวกับไปวิ่งรอบสนามฟุตบอลอ้อมโลกให้มันเสียเวลา
ก้าวลงจาก MG ZS เป็นครั้งสุดท้าย เหลียวมองมัน พร้อมตั้งคำถามว่า เป็นเราจะซื้อไหม ….จากที่ลองขับผมบอกเลยว่า น่าสนใจกับอเนกประสงค์ในราคาขายไม่เกิน 8 แสน และไม่แพงกว่ารถเก๋ง 1500 ซีซี
ด้วยราคาจำหน่ายสุทธิ 789,000 บาท สำหรับ MG ZS 1.5 X sunroof มันครบเครื่องคุ้มค่าคุ้มราคาสมรรถนะดีในระดับที่น่าพอใจ เพียงแต่อาจขาดสิ่งละอันพันน้อยไปบ้าง อาทิไม่มีกุญแจ Keyless, ขาดที่เท้าแขนเบาะหลัง เป็นต้น
ส่วนใครที่คาดหวังกับระบบ I smart คงต้องรอให้พร้อมตอบสนองมากกว่านี้อีกสักหน่อย แม้ระบบจะใช้งานได้จริง และล้ำสมัยมากๆ แถมเป็นรถที่มีระบบ Telematic ในกลุ่มอเนกประสงค์ที่มีราคาถูกที่สุดในเวลานี้ ให้มาทันทีไม่ต้องติดเพิ่ม แต่มันยังต้องการพัฒนาต่อเพื่อความสมบูรณ์ในการใช้งานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ถ้าถามว่า MG ZS(เอ็มจี แซดเอส) น่าซื้อหรือไม่ ผมคงตอบได้ว่ามันน่าซื้อน่าใช้ ถ้าคุณมองหาอเนกประสงค์สักคันในงบประมาณเท่าเก๋ง 1,500 ซีซี สักคน เพียงแต่อย่าคาดหวังกับเทคโนโลยีอัจฉริยะของมันมาก มันเจ๋งใช้งานได้จริง แต่ยังเหมือนต้องรอความพร้อมของระบบมากกว่านี้ในอนาคต
ในจำนวนเงินขนาดนี้คุณได้อเนกประสงค์คันหนึ่งที่ดูดีครบครันฟังชั่นใช้งานตอบโจทย์การขับขี่เพียบพร้อม ผมว่า มันก็คุ้มค่าแล้ว ….
เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง นักทดสอบรถยนต์ และ คอลัมนิสต์ เว็บไซต์ Ridebuster.com ติดตามผลงานการเขียน และข้อมูลที่น่าสนใจได้ทาง Facebook
ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com
[ngg_images source=”galleries” container_ids=”511″ display_type=”photocrati-nextgen_basic_thumbnails” override_thumbnail_settings=”1″ thumbnail_width=”200″ thumbnail_height=”160″ thumbnail_crop=”1″ images_per_page=”20″ number_of_columns=”3″ ajax_pagination=”1″ show_all_in_lightbox=”0″ use_imagebrowser_effect=”0″ show_slideshow_link=”0″ slideshow_link_text=”[Show slideshow]” order_by=”sortorder” order_direction=”ASC” returns=”included” maximum_entity_count=”500″]