Kia AD

Home » Honda จับ “4 อเนกประสงค์” พาสื่อฯลองของ “ขึ้นภูทับเบิก” ไหวมั้ย ?

Kia AD

รีวิว

Honda จับ “4 อเนกประสงค์” พาสื่อฯลองของ “ขึ้นภูทับเบิก” ไหวมั้ย ?

รถยนต์อเนกประสงค์ ถือเป็นหนึ่งในตลาดรถยนต์ที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆในทุกปี และ Honda เอง ก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่มีรถยนต์กลุ่มนี้ให้เลือกหลากหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นใหญ่ ว่าแต่เมื่อมันถูกนำมาใช้งานแบบครอบครัวพากันไปแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่าง “ภูทับเบิก” ล่ะ จะเป็นอย่างไรบ้าง ?

สำหรับทริปในครั้งนี้ คือทริป “Honda SUV V Drive All Lives” ที่ทาง Honda จัดขึ้นมาเพื่อให้สื่อมวลชน ได้ลองสัมผัสกับเหล่ารถอเนกประสงค์ของแบรนด์ ซึ่งมีให้ลูกค้าชาวไทยได้เลือกซื้อกันหลากหลายรุ่น หลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน ซึ่งจะแบ่งเป็น

2 พี่น้องขุมกำลังไฮบริด สำหรับผู้ที่อยากได้รถยนต์อเนกประสงค์ซึ่งให้ได้ทั้งสมรรถระการขับขี่อันยอดเยี่ยม และมีความประหยัดติดตัว สอดรับกับยุคน้ำมันแพง และมาพร้อมกับระบบความปลอดภัย Honda Sensing ครบครัน นั่นคือ Honda HR-V e:HEV และ Honda CR-V e:HEV

และ

2 พี่น้องขุมกำลังเบนซินล้วน สำหรับผู้ที่อยากได้รถยนต์อเนกประสงค์ที่ใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องกังวลในเรื่องของการดูและรักษา แต่ยังคงมาพร้อมกับระบบความปลอดภัยที่ทันสมัย อย่างระบบ Honda Sensing ครบครัน นั่นคือ Honda WR-V และ Honda BR-V

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มหลังยังมี Honda CR-V 1.5 Turbo ที่ได้เครื่องยนต์ตัวจี๊ด เบนซิน 1.5 ลิตร เทอร์โบ มาให้ทดสอบด้วย โดยที่ฟังก์ชันพื้นฐานในเรื่องระบบ Honda Sensing ก็ไม่ได้ถูกตัดทิ้งไปเช่นกัน

โดยรูปแบบการทดสอบหลักๆคือการจำลองสถานการณ์การใช้งานแบบครอบครัว หรือ เพื่อนพากันเที่ยวที่เดียว เต็มคันรถ ไปยังแหล่งท่องเที่ยวแลนด์มาร์คสำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ นั่นคือ “ภูทักเบิก” ซึ่งไม่ได้มีจุดเด่นแค่ในเรื่องของยอดวิวทิวทัศน์ที่สวยงามเท่านั้น

แต่ถนนที่ใช้ในการเดินทางไปยังจุดหมายแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับช่วงที่ใกล้ถึงจุดหมายปลายทาง มีทั้งความคดเคี้ยวจากทางโค้งต่อเนื่อง บวกกับความสูงชัน จนถึงขั้นอาจอันตรายสำหรับผู้ขับมือใหม่อีกด้วย

ทำให้หลายคนอาจมองว่า มันอาจเป็นสิ่งที่ยากเกินความสามารถของเหล่ารถอเนกประสงค์ของทาง Honda ที่ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์ดีเซลตามฉบับคนไทยนิยมเลยสักรุ่น หรือไม่ ?

โดยสำหรับรถที่เราจะได้ทดสอบในครั้งนี้ แม้จะบอกว่าทาง Honda จัดรถอเนกประสงค์ของตนเองมาให้เหล่าสื่อฯผู้ร่วมทริปได้สัมผัสกันอย่างครบครันทุกไลน์อัพ แต่ด้วยเวลาที่จำกัด จึงทำให้สื่อแค่ละคน จะสามารถสัมผัสรถได้เพียง 2 รุ่นเท่านั้น

และตัวรถที่เราทีมงาน Ridebuster ได้ขับเป็นคันแรกในวันออกเดินทาง ก็คือ

Honda WR-V รุ่น RS

ตัวรถรุ่นนี้ ถือเป็นน้องเล็กสุดของเหล่ารถอเนกประสงค์จาก Honda ที่ทางค่ายพยายามนำเสนอมันในเรื่องของความคล่องตัว และความเป็นมิตรกับผู้ใช้ ไม่ต้องกังวลใจกับปัญหาจุกจิก เนื่องจากรถมีความเรียบง่าย เหมาะกับผู้ใช้วัยรุ่นยุคใหม่ ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างครอบครัวในชุมชนเมือง

และแม้โดยพื้นฐาน ตัวรถรุ่นนี้จะถูกออกแบบให้เน้นการใช้งานในเมืองเป็นหลัก แต่จากที่เราได้ลองสัมผัสตัวรถเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร เราก็พบว่ามันเองก็สามารถตอบความต้องการของผู้ใช้งานในโจทย์ลักษณะนี้ได้ดีเช่นกัน

แรกสุดเลย แม้ตัวรถอาจจะมีขนาดไม่ใหญ่โต แต่จากที่เราได้ลองนั่งเดินทางกันโดยมีมนุษย์หุ่นหมี 2 คน และมนุษย์หุ่นปานกลางอีก 1 คน นั่งไปด้วยกัน

ในมุมส่วนตัวของผมกลับไม่ได้รู้สึกว่ามันจะอึดอัดมากเท่าไหร่นัก เพราะตัวบานกระจกภายในรถค่อนข้างสูง ทำให้การนั่งยังรู้สึกว่ารถดูโปร่งอยู่บ้าง ส่วนความแคบ อาจจะทำให้มีปัญหาในเรื่องของระยะแขน-แขน ของผู้โดยสารตอนหน้าที่รู้สึกติดกันไปนิด ทว่าก็ไม่ได้มีการเบียดเสียด หรือชนกันเลยสักนิด ไม่ว่าจะเป็นในจังหวะที่ต้องเปิดช่องเก็บของตรงกลาง หรือเอื้อมมือไปกดลูกเล่นต่างๆบนหน้าจอขนาด 7 นิ้ว ตรงกลางคอนโซลรถ

ส่วนการนั่งโดยสารตอนหลังเอง อาจจะมีพื้นที่วางขาน้อยไปบ้าง แต่สำหรับผู้ทดสอบที่มีส่วนสูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร ก็ยังมองว่าระยะในการขยับขายังค่อนข้างสบาย และเบาะนั่งกับพนักหลังก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกเมื่อยแต่อย่างใด แถมในหลายๆจังหวะ ยังพากันหลับไปง่ายๆเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวผมเอง หรือพี่ๆคนอื่น ที่สลับมานั่งด้านหลังก็ตาม

ทั้งนี้ เสียงแวดล้อมจากภายนอกตัวรถ อาจจะเข้ามาได้ง่ายเกินไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเสียงลม ตอนที่วิ่งด้วยความเร็วราวๆ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือเสียงจากยาง เวลาเจอหลุม หรือรอยต่อถนนที่ขรุขระ แต่ทั้งหมดนั้น ส่วนตัวผู้ทดสอบไม่ได้ติดขัดใดๆ เพราะยังอยู่ในระดับที่ไม่ได้กับทำให้เราสื่อสารกันภายในรถไม่ได้ และแค่เปิดเพลงกลบเบาๆก็ไม่ได้รู้สึกถึงเสียงดังกล่าวแล้ว

ในด้านการขับขี่ แม้จะเป็นน้องเล็ก ที่ได้เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ไร้ระบบอัดอากาศ กำลังสูงสุด 121 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 145 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยชุดเกียร์ CVT แต่ด้วยตัวรถที่ค่อนข้างเบา จึงทำให้การทำความเร็วในช่วง 80-120 ไม่มีปัญหา สามารถไหลและใช้เร่งแซงได้สบายๆ ส่วนการเรียกอัตราเร่งในช่วงความเร็วต่ำ อาจจะไม่ได้พุ่งพล่านมากนัก ทว่าถ้ามองในเรื่องของการใช้งานทั่วๆไป มันก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่าอืดเลยสักนิด (คือสำหรับคนทั่วไป อัตราเร่งเท่านี้ ถือว่าพอต่อการใช้งานแล้ว)

ส่วนโจทย์หินที่สุดของการเดินทางครั้งนี้ อย่างการขับรถขึ้นภูทับเบิกที่มีทั้งความชัน และคดเคี้ยว แถมการทดสอบครั้งนี้ ยังเป็นการขับแบบคาราวาน ที่ต้องต่อแถวกัน จนบางครั้งก็แทบไม่มีจังหวะให้เลี้ยงคันเร่ง หรือไหลความเร็วเพื่อดันเนิน หรือบางครั้ง กำลังจะดันเนินอยู่ดีๆ รถคันข้างหน้าก็อาจจะติดขัด จนทำให้เราไม่สามารถเร่งส่งในจังหวะที่ควรจะเป็นได้อีก ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมว่าเรานั่งกันบนรถ 3 คน รวมสัมภาระอีกเล็กน้อย ตามประสาชายโฉด 3 นาย

แต่ตัวรถก็ไม่ได้ออกอาการเหนื่อย หรือขึ้นเนินไม่ไหวเลยสักนิด และสามารถไต่เนินขึ้นสบายๆ ไม่เว้นแม้แต่จังหวะที่เป็นโค้งหักศอกชันๆ ซึ่งหลายคนอาจเคยกะจังหวะผิดแล้วรถนิ่งคาเนินกันมาแล้ว แต่กลับเจ้า WR-V คันที่เรานั่งกันอยู่นี้ ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องดังกล่าวเลยสักนิด

ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ทักษะของผู้ขับเองก็มีผลเช่นกัน แต่ผมไม่ได้หมายถึงตัวเองนะ เพราะจังหวะนี้เป็นพี่สื่อฯอีกท่านขับให้ ส่วนผมไปนั่งหลัง และกำลังสบายใจเฉิบกับวิวทิวทัศน์ต่างๆ โดยไม่ได้กังวลเรื่องขีดความสามารถของรถเลยสักนิด

ขณะที่เรื่องอัตราสิ้นเปลือง น่าเสียดายที่เราไม่สามารถวัดเลขแบบชัดๆได้ แต่จากที่ลองดูบนหน้าจอ ด้วยการขับเป็นคาราวาน และมีบางช่วงที่อาจจะต้องทำความเร็วบ้าง แต่ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองบนหน้าจอ ก็ยังอยู่ในช่วง 16-17 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งถือว่าค่อนข้างน่าพอใจเลยทีเดียว

ในการทำงานของช่วงล่างเอง อาจจะมีอาการให้ตัวเยอะไปบ้างในส่วนของช่วงล่างด้านหลัง ซึ่งหากเป็นผู้สูงวัยมานั่นงด้านหลัง อาจจะเวียนหัวได้ง่าย โดยเฉพาะในยามที่ผู้ขับเผลอเล่นโค้งเพลินไปหน่อย แต่เป็นแค่การย้วยจากช่วงยุบที่ค่อนข้างเยอะเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ตัวช่วงล่างด้านหน้ามันก็ยังคงให้ความกระชับ คล่องตัว มีความจิกไปกับโค้งได้เป็นอย่างดี ไม่แพ้รถแฮชแบ็คท์ที่ส่วนสูงน้อยกว่า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผมชอบในเรื่องแฮนเดิลลิ่ง ของเจ้ารถคันนี้มากๆ

และยังคงมองว่าสำหรับผู้ที่เมินมันด้วยเหตุผลเรื่องของออพชัน และราคา แต่ยังคงคิดว่าเรื่องของสมรรถนะตัวรถในการขับขี่และควบคุมเป็นเรื่องสำคัญ ก็ควรจะมาลองขับเจ้านี่ดูสักครั้ง แล้วจะบอกเลยนี่แหล่ะ คือจุดเด่นสำคัญของตัวรถรุ่นนี้ เมื่อเทียบกับเพื่อนๆร่วมคลาสจากแบรนด์อื่นๆ

ส่วนตัวรถรุ่นที่ 2 ที่เราได้ขับในวันขากลับ ก็คือน้องรองของเหล่ารถอเนกประสงค์จาก Honda ที่สามารถสร้างยอดขายไปได้ถล่มทลายพอสมควร แม้จะมีคนติงในเรื่องออพชันไปบ้าง อย่าง Honda HR-V e:HEV รุ่น RS

โดยสำหรับการขับในวันนี้ ผมตัดสินใจขอขับเป็นไม้แรก นั่นคือไม้ที่ต้องขับลงเขาไปจนถึงร้านอาหารมื้อเที่ยง ซึ่งข้อดีก็คือ ผมจะได้ตอบข้อสงสัยว่า เมื่อรถคันนี้ใช้ระบบขุมกำลังแบบไฮบริดแล้ว มันจะมีผลถึงการใช้งานในจังหวะลงเขาชันๆ ที่แตกต่างจากรถยนต์ขุมกำลังสันดาปภายในล้วนๆหรือไม่ ?

และใช่ครับ มันต่าง แต่ต่างกันในเรื่องของการทำความเข้าใจหลักการเล็กน้อย นั่นคือ จากเดิมที่เราเคยใช้วิธีเล่นระดับเกียร์บวก-ลบ กันไป คราวนี้ก็เปลี่ยนใหม่ มาเป็นการบวก-ลบ ระดับความหน่วงของมอเตอร์ไฟฟ้าแทน ซึ่งด้วยความที่รถของเราเป็นตัว RS จึงใช้วิธีควบความหน่วงดังกล่าว ด้วยแป้นแพดเดิ้ลชิฟท์ตรงหลังพวงมาลัย

อย่างไรก็ดี แม้ความหน่วงของมอเตอร์จะค่อนข้างหนัก ทว่าเมื่อถึงจังหวะที่ทางชันจริงๆ ก็ดูเหมือนว่าตัวมันเอง จะออกอาการดึงรถไม่อยู่เช่นกัน จึงทำให้เรายังต้องอาศัยการใช้เบรกช่วยบ้าง

ซึ่งตัวเบรกของ HR-V ก็ถูกออกแบบมาให้สามารถไล่น้ำหนักได้ง่าย ไม่มีทั้งความกังวลว่ามันจะทำให้หน้าทิ่มจนท้ายหมุนได้ง่าย หรือจะอยู่ลึก หรือทื่อเกินไป จนทำให้รถไหลแหกโค้งไปก่อนหรือเปล่าเลยสักนิด ว่าง่ายๆคือตัวระบบเบรกนั้นเซ็ทมาได้ดี ไว้ใจได้ หายห่วงสำหรับการลงเขา

นอกจากนี้ในจังหวะขาลงที่ว่า ยังเป็นการขับรถฝ่าทางเปียก เพราะมีทั้งหมอกและฝนหนัก ซึ่งหลายคนอาจกังวลในเรื่องของความลื่น แต่จากประสบการณ์ของผู้ทดสอบในครั้งนี้ ก็พบว่ายางที่ติดรถมายังสามารถทำงานได้ดี

โดยไม่มีเลยสักครั้งที่ยางจะออกอาการลื่นไถล หรือมีอาการเป๋ไปมา แม้บางจังหวะ ผมจะลองใช้ความเร็วเพื่อเร่งแซงรถคันหน้าที่กลัวหลุดโค้ว แล้วมัวแต่เลียเบรก จนทำให้เราเสี่ยงเบรกไหม้ไปด้วยก็ตาม (ย้ำอีกครั้ง ว่าเราไม่ได้ตั้งใจจะเร็ว แต่บางจังหวะ ก็จำเป็นต้องไหลรถแซงข้ามไป เพื่อลดความเสี่ยงของการเบรกไหม้ จากการเลียเบรกตามรถคันหน้า ซึ่งจะทำอาจทำให้เราแหกโค้งตามไปด้วย เพราะเบรกไม่อยู่)

แน่นอน ในส่วนการทำงานของช่วงล่างเอง เมื่อเทียบกับ WR-V รุ่นน้องของมัน ที่เราขับไปก่อนหน้านี้ ผมพบว่า HR-V ให้ช่วงล่างที่มีช่วงยุบน้อยกว่า จึงทำให้หากมองไปที่การซับแรง เวลาเจอหลุมหรือหลังเต่าใหญ่ๆ เจ้าพี่รองคันนี้ จะให้ความรู้สึกหนักแน่น เพราะแรงกระแทกที่ส่งผ่านช่วงล่างขึ้นมามากกว่า

แต่ในทางกลับกัน เมื่อเป็นการขับด้วยความเร็วพอประมาณ หรือการขับรถโยนโค้งไปมา ผมก็พบว่าแม้ความจิกของหน้ารถจะไม่ได้หนีไปจาก WR-V มากนัก เพราะน้องเล็กของมันทำการบ้านในเรื่องนี้ได้ดีพอสมควร แต่การโยนตัวของรถกลับน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่ามันจะมีน้ำหนักมากกว่าก็ตาม

และนั่นก็รวมถึงการขับบนทางตรงด้วยความเร็วสูงๆที่ดูนิ่งกว่าด้วย ซึ่งทั้งนี้ไม่รวมถึงจังหวะที่ถนนมีลอนคลื่นๆเยอะๆ เพราะหากเป็นจังหวะดังกล่าว ส่วนตัวผมก็มองว่าความหนืดของโช้กอัพที่ติดรถมายังน้อยไปอยู่ แต่ก็เข้าใจได้ว่านั่นเพื่อให้มันสามารถซับแรงกระแทกจากการใช้งานในช่วงความเร็วปกติ สำหรับผู้ใช้งานทั่วๆไปได้ดี

ในด้านการทำงานของระบบขุมกำลัง ก็ถือได้ว่าเจ้า HR-V e:HEV นั้นมีอัตราเร่งที่ติดเท้าอยู่พอตัว จนถึงขั้นเหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไปเลยก็ว่าได้ ด้วยความเป็นขุมกำลังแบบไฮบริด ที่มีมอเตอร์แรงบิดสูงสุด 253 นิวตันเมตร เป็นขุมกำลังหลักสำหรับใช้ในการเรียกอัตราเร่งจากช่วงความเร็วต่ำ-กลาง

เรียกได้ว่าจะเร่งแซงเมื่อไหร่ก็ได้ แม้ไม่ต้องกดไปใช้โหมด Sport ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ในการวิ่งทริปครั้งนี้ เรามีผู้โดยสารเป็นผู้ชายหุ่นหมี 2 คน กับหุ่นปานกลางอีก 1 คน น้ำหนักรวมสัมภาระ ได้ราวๆ 260-270 กิโลกรัมนั่งกันอยู่

ส่วนความประหยัดเอง ก็ถือว่าเป็นจุดขายสำคัญของมัน ที่ในการวิ่งทดสอบครั้งนี้ ก็ยังคงทำได้ดี ด้วยตัวเลขหลัก 21-22 กิโลเมตร/ลิตร จากการขับรถด้วยความเร็วใช้งาน ซึ่งถือว่าน่าประทับใจเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มว่าจะทำได้ดีมากกว่านี้อีกด้วยซ้ำ หากช่วงท้ายเราไม่รีบจริงๆ เพราะกลัวเจอรถติดในตัวเมืองกรุงเทพฯ

ด้านความสะดวกสบายในการโดยสารเอง ด้วยตัวถังที่ใหญ่กว่า HR-V ขึ้นมาอีกประมาณหนึ่ง จึงทำให้ส่วนตัวผมรู้สึกว่ารถจะให้ความโอฐโถงในด้านกว้างของตัวรถมากขึ้นอีกหน่อย รวมถึงพื้นที่วางขา และระยะสายตาจากห้องโดยสารด้านหน้ามาสู่ห้องโดยสารด้านหลัง

นอกจากนี้ตัวเบาะนั่งเอง ก็ดูเหมือนจะใหญ่กว่าด้วย แต่เนื่องจากรูปทรงเบาะที่ดูสปอร์ตกว่าเล็กน้อย จึงทำให้มันมีความกระชับกับตัวผู้นั่งมากกว่าในส่วนเบาะคู่หน้า ขณะที่เบาะคู่หลังเอง ในความรู้สึกผู้เขียนมองว่า ไม่ได้แตกต่างจาก WR-V มากนัก ในเรื่องความยาวเบาะรองนั่ง และความเอนของพนักหลัง แต่ด้วยความกว้างที่มากกว่า และระยะวางขาที่เยอะกว่าหน่อย จึงทำให้มันค่อนข้างนั่งสบายกว่าพอตัว

สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับการโดยสารบนตัวรถคันนี้ เอาจริงๆแล้วก็มีเพียงเรื่องของมุมมองกระจกบานข้าง ที่ส่วนตัวผู้ทดสอบมองว่ามันค่อนข้างจะเตี้ยไปหน่อย เนื่องจาก HR-V มีหลังคาที่ค่อนข้างเตี้ยและแบน เพื่อให้ตัวรถดูโฉบเฉี่ยวจากภายนอก แต่แก้ปัญหาในเรื่องนี้ ก็ยังสามารถปรับแก้ไขเฉพาะหน้าได้อยู่ ด้วยการเปิดม่านหลังคาด้านบน เพื่อเพิ่มความโปร่งภายในห้องโดยสาร

โดยนอกจากทั้ง Honda WR-V และ Honda HR-V ที่เราได้ทดสอบไป ก็อย่างที่เรียนไว้ว่าทาง Honda ยังมีรถยนต์อเนกประสงค์ให้ลูกค้าชาวไทยได้เลือกอีก 2 รุ่น นั่นคือ Honda BR-V และ Honda CR-V

ซึ่งแม้เราจะไม่ได้ขับทดสอบมันในทริปนี้ แต่จากการที่เราได้เคยลองนำมันมาทดสอบด้วยตนเอง และทดสอบในทริปเปิดตัว พวกมันต่างก็เป็นรถยนต์ที่น่าสนใจในรูปแบบที่ต่างกันไปทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นผู้ใช้ที่กำลังมองหาสิ่งใดจากรถที่คุณกำลังจะซื้อกันอยู่

แต่หากคุณเป็นคนที่มองเผื่อไว้ถึงการมีครอบครัว หรือการไปเที่ยวแบบมีหมู่คณะ มีเพื่อนฝูง มีแฟน มีพ่อ/แม่ นั่งไปด้วยแล้วล่ะก็ รถยนต์อเนกประสงค์จากทาง Honda ทั้ง 4 รุ่น ตอบโจทย์คุณได้ทั้งหมดแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และความประหยัด ด้วยราคาที่มีให้เลือกตั้งแต่ 799,000 บาท ไปจนถึง 1,729,000 บาท

ยังไงก็ลองติดต่อสอบถามข้อมูลกันได้เลย ที่ศูนย์บริการและตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ Honda ทั่วประเทศ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Comments are closed.