Kia AD

Home »  Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium สมรรถนะเอาเรื่อง ได้ใจสายแคมป์

Kia AD

Full Review รีวิว

 Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium สมรรถนะเอาเรื่อง ได้ใจสายแคมป์

ลุงคำที่เราใช้เรียกแทนคนที่มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตผ่านมาหลายร้อนหลายหนาวจนวันนี้เดินทางใกล้มาถึงบั้นปลายชีวิต

หลายคนมักจะมอง คนสูงอายุว่า เป็นคนหมด ศักยภาพ ทั้งๆ ที่หลายคน ก็ยังมีไฟในการใช้ชีวิตอยู่ เพียงแต่สังขารมันไม่เที่ยง ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามกาลเวลา สิ่งของที่ใช้ รวมถึงรถยนต์ที่ขับ ก็ต้องตรงกับสังขารที่เป็น จะมาใช้รถสปอร์ตช่วงล่างแข็งๆ ขับแล้ว โอโห้เก็บทุกหลุม กระดอนทุกรอยปะถนนไม่ได้ แม้ใจจะรักความเร็ว เคยชื่นชอบรถอย่าง Evolution มาวันนี้มีครอบครัว มีภรรยาและลูก ที่เราไม่ได้ต้องดูแลแค่ตัวเอง ยังมีคนที่เรารัก รถต้องขับปลอดภัย มั่นใจทุกทาง

ฟังแบบนี้ ดูแล้ว ชีวิตมนุษย์ ออกแนวดราม่า น่าสงสาร ทว่าหัวใจที่ยังเปี่ยวด้วยความชื่นชอบรถ รถต้องขับดี ขับสนุก เข้าโค้งได้ประทับใจ ยิ่งวันนี้เทคโนโลยีใหม่รถยนต์ไฟฟ้า มาจ่อคอหอย กลายเป็นที่นิยมในวันหน้า ราคาน้ำมันก็กลับมาแพงอีกในยุค

ท่านผู้อ่านครับ …. นี่มันละครในชีวิตจริง ที่ผมเชื่อว่าที่ทุกคน ต้องประสบอยู่ในวันนี้

แล้ว มันจะมีไหม รถยนต์คันเดียว ที่ตอบทุกอย่างที่เราเล่ามา 3 ย่อหน้าเต็มๆ บางคน อาจจะบอกว่า ไม่มีหรอก เพราะรถสมบูรณ์แบบ ไม่มีจริงในรถโลกใบนี้ ต้องมีบางอย่างแหละที่ไม่ตรงโจทย์ แต่ถ้าผมพูดว่า ผมค้นพบ รถคันนั้นที่สร้างสมดุลในชีวิตให้คุณได้ ถ้าคุณมองข้ามบางอย่างไป จะสนใจหรือไม่ …

Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium White Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium White

ผมขอแนะนำให้ พบกับ เจ้า Mitsubishi Outlander PHEV ที่ออกมาขายในไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว หลายคนอาจะเห็นรีวิวจากหลายสื่อที่พูดไปในทำนองเดียวกัน ทั้งสื่อเล็กสื่อใหญ่ ว่าแก่… สูงวัย รถเก่า รวมถึงยอดขาย ที่ต้องยอมรับว่า มันไม่ปังอย่างที่คิด

แต่ถ้าความแก่ ความเก่า มันกลับเป็นความเก๋า มันเป็นรถที่ได้รับการพิสูจน์แล้ววว่าระบบขับขี่ที่ให้มานั้น เหมาะสมกับการใช้งานจริง ด้วยยอดขายกว่า 270,000 คัน เมื่อนับยอดรวม ตลอด 7 ปี ตั้งแต่ปลายปี 2013 มาจน เดือน ธันวาคมปี 2020 …. นั่นแสดงว่า ต้องมีอะไรซ่อนอยู่ แม้วันนี้รุ่นใหม่จะโชว์โฉม และหลายคนคาดว่า เดี่ยวไทยก้ต้อเอามาขาย แหละ แต่มันมีบางอย่าง ที่รถรุ่นนี้มี มันคือ เสน่ห์ของความเป็น มิตซูบิชิ

เรื่องราวการพัฒนา

Mitsubishi Outlander PHEV ออกขายในปี 2013 ปลายปี ตกเป็นข่าวดังมาก เนื่องจากในเวลานั้นไม่มีใครคิดถึงคำว่า PHEV หรือ Plug in Hybrid Vehicle มาก่อน เอาแค่รถยนต์ไฮบริดในตอนนั้น ยังยอดขายไม่ปังมาก เหมือน 10 ปีก่อน

Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium White Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium White

ความกล้าของมิตซูบิชิ มอเตอร์ ทำให้ พวกเขาได้รับความสนใจจากลูกค้าทั่วโลก โดยเฉพาะทางฝั่งยุโรป ที่มีความเข้มงวดทางด้านไอเสียมากพอสมควร มิตซูบิชิ ศึกษาตลาดที่นี่มานาน รวมถึงในญี่ปุ่นเองก็เริ่มเข้มงวดในเรื่องของไอเสียมากขึ้น

ที่ผ่านมา แบรนด์พยายามวางแนวทางตัวเองใหม่ เริ่มจากการพัฒนารถยนต์ Mitsubishi i-Miev ในปี 2009 และวางจำหน่ายเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก ที่จริงในบางมุมของกระแสข่าวตอนนั้น มีการออกมาเปิดเผยว่า มิตซูบิชิ เล็งเห็นปัญหา ในเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้า ที่ยังมีความยุ่งยากมาก แม้แต่ในญี่ปุ่น ที่มีการส่งเสริมสถานีชาร์จไฟฟ้า เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามที่สาธารณะ ก็ตาม หากก็ยัง มีประเด้นเรื่องกำลังหัวชาร์จ ที่ทำให้ลูกค้าต้องรอนาน และแบตเตอร์รี่ในเวลาที่รถรุ่นนี้เริ่มทำตลาดก็ยังไม่ทันสมัยเท่าในเวลานี้ด้วย

มิตซูบิชิ จึงมองไพ่ในมือ ที่พวกเขามี การสร้างสุดยอดเทคโนโลยี ควรจะดึงแก่นของแบรนด์ออกมาโชว์ ตำนาน ที่พอจะจับต้องได้ และถ่ายทอดสู่รุ่นต่อไป คนทั่วไปรู้จัก

  • Mitsubishi Pajero เจ้าแห่งทะเลทราย อดีตแชมป์ ดาการ์ มาหลายสมัย แม้ตอนหลังจะไม่ได้ลงแข่งแล้วก็ตาม จุดเด่นอีกด้าน คือความหรูหราทันสมัย เหนือระดับ
  • Mitsubishi Evolution รถซุปเปอร์ซีดาน ขวัญใจสายซิ่งและทางฝุ่น จุดเด่น คือ เครื่องยนต์ 4G63 เทอร์โบ ที่มีความทนทาน และ ระบบขับเคลือนสี่ล้อที่คสบคุมได้ดังใจ ยิ่งในระบบใหม่ ตอนที่ออกมาใน Evo X ในชื่อ Super All Wheel Control ได้รับคำชมอย่างมาก
  • ท้ายสุด Mitsubishi i-Miev รถยนต์ไฟฟ้า ซิตี้คาร์รุ่นแรก จากผู้ผลิตญี่ปุ่น และน่าจะเรียกว่า เป็นรุ่นแรกของโลกยุคใหม่ที่ผลิตในรูปแบบ Mass Production ด้วยความสามารถในการขับขี่จากระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ทำให้ประหยัดน้ำมัน และค่าใช้จ่าย

ในเวลานั้น ตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ เพิ่งจะเริ่มเฟื่องฟูเท่านั้น ยังไม่เหมือนวันนี้ ตลาดกลุ่มนี้ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ก็เห็นจะเป็นรถยนต์กลุ่ม Compact Crossover เนื่องจากราคาไม่แพง ขนาดตัวรถกำลังพอกับการใช้งาน ลูกค้าส่วนใหญ่ ไม่ได้มองรถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง หรือขนาดใหญ่มาก

ตลาดที่มิตซูบิชิ หมายตา ก็คือในยุโรป และในญี่ปุ่น เดิมที มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ ออกมาวางจำหน่ายแล้ว ในรุ่นเครืองยนต์สันดาปและได้รับการตอบสนองที่ค่อนข้างดี ในเวลานั้นไม่มีใครคิดย่า มันจะมีรุ่น PHEV ออกมา จนกระทั่งข่าวเริ่มรั่วไหลออกมา รวมถึงภาพของรถที่ผลิตออดมาพร้อมส่งมอบ ทำให้ตลาดรถยนต์ทั่วโลกตื่นตัว

วันที่ 26 ธันวาคม ปี 2012 ทางมิตซูบิช มอเตอร์ ประกาศแนะนำ รถยนต์ Mitsubishi Outlander PHEV อย่างเป็นทางการ และพร้อมจะวางจำหน่ายตั้งแต่ต้นปี 2013 เป็นต้นไป ในประเทศญี่ปุ่น

ตอนที่เปิดตัว รถรุ่นนี้ มันเป็นรถอเนกประสงค์รุ่นแรกในตลาดรถยนต์เวลานั้นที่มาพร้อมระบบไฮบริดเสียบปลั้ก PHEV ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ แซงหน้าบริษัทรถยนต์จากยุโรปด้วยซ้ำ

เมื่อเริ่มวางจำหน่ายรถรุ่นนี้ก็ได้รับความสนใจอย่างมาก หลังจากวางจำหน่ายในญี่ปุ่น ก็เริ่มวางจำหน่ายในญี่ปุ่น ,ในตลาดกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากกระแสความนิยมรถยนต์อเนกประสงค์ ประกอบกับเทคโนโลยีใหม่ มันเป็นรถ PHEV ที่ขายดีที่สุดในโลก เมื่อปี 2014 และ ถ้าเทียบกับรถที่ใช้ไฟฟ้าเสียบปลั้กได้ในปี เดียวกัน มันอยู่ในอันดับ 3 เป็นรองเพียง Tesla Model S และ Nissan LEAF เท่านั้น

การมาไทย

เอาล่ะครับ นั่นเป็นประวัติคร่าวๆ ที่หลายคนก็คงพอหาอ่านได้จากอินเตอร์เน็ต การโคจรกลับมาพบกันของ Mitsubishi Outlander PHEV ครั้งนี้ ผมเตรีท บททดสอบสุดโหด หลังจากเคยขับไปแล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่าน

หลายคนคงแปลกใจ ทำไม มิตซูบิชิ เกิดสนใจเมืองไทยขึ้นมา ในการวางจำหน่ายรถยนต์รุ่นนี้ อันที่จริง มันต้องย้อนไปราวๆ ปี 2015 ทางมิตซูบิชิ มอเตอร์ ประเทศไทย เคยมีความพยายามจะวางจำหน่าย แต่เมื่อคิดสารตะแล้วนำรถรุ่นนี้เข้ามา จะมีราคาขายเฉียด 4 ล้านบาท จึงพับโครงการนำเข้ามาขายไป หากก็ติดอยู่ในใจชาวทุ่งรังสิตเรื่อยมา

ภาพจากงาน Drive off line Mitsubishi outlander PHEV

ในที่สุดภาครัฐ BOi ก็มีแผนส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไอบริดและรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ทางมิตซูบิชิ สบช่องในการลงทุนและเพิ่มไลน์อัพสินค้าใหม่ๆ จาก ที่มีกระบะ และ อเนกประสงค์จากกระบะ รวมถึงรถอีโค่คาร์ ซึ่งที่จริงมิตซูบิชิ พยายาม มองหาช่องทางใหม่ๆ เช่น Mitsubishi Delica นำเข้ามาขายช่วงสั้นๆ

โครงการส่งเสริมการลงทุนนี้ดูเหมือนจะเข้าทาง ด้วยการพัฒนาสายการผลิตที่แหลมฉบัง ผลิตรถยนต์ไฮบริดเสียบปลั้ก PHEV ที่ทางญี่ปุ่นคาใจ มานาน ในที่สุดก็มีโอกาส นำสุดยอดเทคโนดลยี เข้ามาประกอบในเมืองในไทย โดยชิ้นส่วนทั้งหมด เป็นการนำเข้า แล้วประกอบตามมาตรฐานเฉกเช่นในโรงงานญี่ปุ่น ซึ่งประเทศไทย เป็นฐานการผลิต PHEV ที่ 2 และ เป็นแห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่นที่ทำให้หลายคนต้องจับตาอย่างมาก พอสมควร ด้วยงบลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท

ที่สำคัญ ในเบื้องต้น โรงงานแห่งนี้ ผลิตรถป้อนตลาดในประเทศไทยเท่านั้น ยังไม่มีการผลิตรถขายให้ ประเทศอื่นๆ

เจอหน้าอีกครั้ง !! Mitsubishi Outlander GT Premium

การพบกันครั้งนี้ ทาง มิตซูบิชิ โยนกุญแจ Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium มาให้ รถรุ่นท๊อปสุด คันนี้ ราคาค่าตัวอยู่ที่ 1,749,000 บาท แม้ว่าจะแพงพอสมควร เมื่อเทียบว่าราคาเดียวกัน อาจจะได้ PPV เจ๋งๆ คันโต เครื่องดีเซลขับใช้งานง่าย ทนทานถึกกว่า แต่เทียบกับราคาขาย หากต้องนำเข้าจากโรงงานในประเทศญี่ปุ่น ถือว่ามีราคาถูกลงกว่าครึ่งจากที่ควรจะเป็น

Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium White Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium White

เจอหน้าค่าตาครั้งนี้ เราก็ยังรู้สึกว่า จะมองให้ตายอย่างไร หน้าตาของ เอาท์แลนเดอร์ ก็ยังดูสูงวัยไปพอสมควร แม้ผมจะอยู่ในวัย 37 ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ก็ยังคิดว่ารถค่อนข้างแก่ดูสูงวัย ไม่มีทางเลย จะดึงดูดใจวัยรุ่น

ทรวดทรงพูดกันตามจริง มันทำให้ผมนึกถึง Mitsubishi Pajero sport โฉมก่อน นั่นก็ไม่แปลก เพราะรถรุ่นนี้ เริ่มพัฒนาในช่วงเวลาใกล้ๆ กันทำให้งานออกแบบ ก็ถือว่าดูย้อนยุคหน่อย ทว่ามันยังดูร่วมสมัย ไม่น่าเบื่อ ความโดดเด่น อยู่ที่กระจังหน้าสีดำ Dark Chrome ให้ความสปอร์ต ลงตัวกับล้ออัลลอย ลายก้านถี่ขนาด 18 นิ้ว พกยาง Dunlop SP Sport 5000 ยางระดับ High Performance ปกติ มักอยู่ในรถสปอร์ตทั้งหลายมากด้วย

Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium White Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium White

ด้านท้ายรถ แนะนำฝาท้ายไฟฟ้า สำหรับ Mitsubishi Outlander PHEV GT-Premium มาพร้อมไฟท้ายทรงนอนขนาดใหญ่ ระหว่างไฟท้ายมีโครเมี่ยมให้ความรู้สึกดูหรู หากกลายเป็นความเด่นของไฟท้าย และสปอร์ยเลอร์หลังขนาดใหญ่ ทำให้รถดูสปอร์ตมากกว่าเดิมพอสมควร

มิติตัวรถ มีขนาดค่อนข้างใหญ่พอสมควร ด้วย ความยาว 4,695 มม. กว้าง 1,800 มม. และสูง 1,710 มม. ระยะฐานล้ออยู่ที่ 2,670 มม. ความสูงจากพื้นถึงท้องรถค่อนข้างจะเตี้ยสักหน่อยอย่างที่ 190 มม. เทียบกับอเนกประสงค์บางรุ่นที่ขายในตลาด ค่อนข้างจะเตี้ยกว่ามาก จนดูแล้วไม่เหมาะกับใครที่คิดว่า มีขับสี่ จะเอามันไปลุยเส้นทางออฟโรด

เมื่อเปิดประตูเข้ามาในห้องโดยสาร เจ้า Outlander PHEV ต้องรับด้วยความเรียบง่ายหรูหราทันสมัย มีความเป็นญี่ปุ่นมากอยุ่พอสมควรในรถคันนี้

อย่างแรกที่สะดุดตาทันที คือ เบาะนั่งที่มาพร้อมการตัดเย็บ Daimond Cut ในการตบแต่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการโดยสารดูหราในการใช้งาน ทั้งตอนหน้าและตอนหลัง เบาะนั่งฝั่งคนขับออกแบบมาเป็นปรับไฟฟ้า พกที่ดันหลังมาให้บรรเทาความเหนื่อยล้ายามเดินทางไกล

คุณจะแปลกใจ ถ้านั่งรถคันนี้ไปแล้วรู้สึกว่ามันจัดท่านั่งในการขับขี่ออกมาใกล้เคียงกับความเป็นแนวเดียวกับรถ MPV ที่รองนั่งค่อนข้างสูง พอสมควร ทำให้เวลาเรานั่ง ขาจะตั้งฉากพอดี ขณะที่พนักพิงหลังแม้ว่าจะปรับให้ตั้งตรงที่สุดก็ยังอยู่ในตำแหน่งเอนหลังอยู่ดี ที่จริงเบาะสามารถปรับให้ต่ำลงได้ แต่ มันจะเป็นการเอนลงทั้งเบาะ ส่วนตัวผมไม่ถนัดเบาะแบบนี้

นี่อาจจะเป็นเบาะนั่งในรถ SUV ที่ผมว่าค่อนข้างแปลกที่สุดนับตั้งแต่เคยผ่านมือรถกลุ่มนี้

ทางด้านเบาะคนนั่งตอนหน้า จากที่รองนั่งในหลายโอกาส มันติดตั้งในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเบาะคนขับ เข้าใจว่าส่วนหนึ่งเพื่อลดการโคลงตัวเวลาคนขับซิ่งรถ หรือเข้าโค้งแรง เบาะนั่งเป็นปรับไฟฟ้าเช่นกัน

ในส่วนการโดยสารตอนหลัง พื้นที่การโดยสารอาจไม่ได้เหลือเฟือ มีให้มากมายนัก แต่ก็มีพื้นที่ในการโดยสารมากพอ ในการวางขาเดินทาง เบาะนั่งหลัง มีหลายระดับในการเอนหลัง ถ้าเอาสบายสุด คือ ปรับลงไปสุดจะเอนท่ากำลังสบาย ที่จริง มิตซูบิชิ ออกแบบช่วยพนักพิงหลังมาเตี้ยไปนิด ทำให้เวลาขับขี่ค่อนข้างจะรู้สึกว่า จะแปลกๆหน่อย

เมื่อสัมผัสจริงดึงหัวหมอนสูงขึ้น กลับกลายเป็นว่ารถคันนี้ ออกแบบที่นั่งมาค่อนข้างดี ที่รองนั่งก็ค่อนข้างยาว ลูกเล่นเบาะนั่งหลัง มีช่องแอร์ ช่อง USB และ ปลั้กชาร์จ

ตัวเบาะหลังมีความสามารถในการปรับพับได้ 60/40 เมื่อปรับแล้ว พื้นที่สัมภารจะยาวสูงสุดถึง 180 เซนติเมตร แถมยังพับได้ราบเรียบ จนคุณสามารถใช้เป็นที่นอนในรถได้สบาย ยามเหนื่อยร่างเพลียกางเต๊นท์ น่ามรสุม ให้รถเป็นที่พักผ่อนได้สบาย

กลับมาทางด้านหน้า งานออกแบบช่วงคอนโซลหน้า ลูกเล่นต่างๆอาจดูไม่หวือหวา เท่ารถสมัยใหม่ แต่ก็ถือว่ามีครบเครื่องเท่าที่ลูกค้าต้องการ

เริ่มจากพวงมาลัย 4 ก้านให้ความรู้สึกหรูหรา บนพวงมาลัย มีปุ่มควบคุมเครื่องเสียง ทาฝั่งซ้าย ฝั่งขวาเป็นการควบคุม Cruise Control รอบมือจับพวงมาลัยอกแบบในขนาดกำลังดี ไม่ใหญ่ไป หรือ เล็กไป ขนาดวงก็กำลังเหมาะสม

ถ้าเทียบกับ SUV ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2018 ขึ้นมา หน้าจอเรือนไมล์แบบเข็ม ก็พูดตามตรงว่า ดูเอาท์ เชยระเบิด หากในความจริงอีกด้านไมล์เข็มนั้นก็บอกค่าแม่นยำ ทำงานแบบ ณ บัดยาวไม่ต้องรอประมวลผล ทางฝั่งซ้าย บอกสถานะการทำงาน เฉกเช่นรถไฮบริด ส่วนที่ผมว่าแปลก แต่ดี คือ การให้เข็มชี้วัด ระดับพลังที่เครื่องยนต์ให้กำลังในขณะนั้น เป็นหน่วยกิโลวัตต์ แทนการบอกรอบเครื่องยนต์ ซึ่งไม่มีประโยชน์ในรถยนต์ไฮบริด

สำหรับใครที่ไม่ค่อยอินกับเรื่องรถยนต์เท่าไรนัก หน่วย KW หรือ กิโลวัตต์ ถูกใช้บอกกำลังของเครื่องยนต์มาตั้งแต่ปีมะโว้ ก่อนที่มอเตอร์ไฟฟ้า จะใช้หน่วยเดียวกัน แทนการตอบสนองการให้กำลังในวันนี้

มาตรวัดแบบนี้ผม ก็เพิ่งจะเคยเห็นครั้งแรกในรถคันนี้นี่แหละ แล้วส่วนตัวก็ชอบมันมากเสียด้วย มันเหมือนการแสดงบนหน้าจอว่า เฮ้ ตอนนี้ คุณกำลังใช้กำลังกี่แรงม้า ซึ่งเครื่องยนต์นี้ ให้กำลังขับสูงสุด 94 กิโลวัตต์ หรือ 128 แรงมา้ มันเหมือนกับ คุณดูข้อมูล Realtime ของกำลังแรม้าที่ใช้ ซึ่งส่วนตัวยังไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน

ตรงกลางเรือนไมล์มี MID บอกข้อมูลต่างๆที่จำเป็นอยากจะทราบการทำงาน รวมถึงข้อมูลการขับขี่ต่างๆ ถัดขั้นมาหลังพวงมาลัย มีแป้น Paddle Shift อันที่จริงแป้นนี้มีไว้เพื่อใช้หน่วงกำลังมอเตอร์ลดความเร็ว เดี๋ยวผมจะมาเล่าต่อว่ามันทำงานอย่างไร

ย้ายสายตามาทางด้านหน้า เครืองเสียงจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว อาจจะดูเริ่มเอาท์แล้วในยุคนี้ ที่จอรถราคาไม่กี่แสนก็ยังให้จอ 10 นิ้ว หากมันก็ลงตัวในความรู้สึก เป็นไปตามการออกแบบตามยุคสมัย จอเครื่องเสียงนี้ ทำหน้าที่ให้ข้อมูล ระบบไฮบริดด้วย ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่มากขึ้น

มันยังมีลูกเล่นการเชื่อมต่อบุลทูธ ไปจนถึง Apple Car Play และ Andriod Auto มาให้ลูกค้าด้วย เรื่องการขับกล่อมเป็นหน้าที่ของลำโพง 6 จุด แอบเสียใจที่ตัดออพชั่น ลำโพง Rockfordfosgate ไป ทั้งที่เคยมีในญี่ปุ่น

ส่วนห้องสัมภาระท้ายมีพื้นที่เก็บของเยอะ เหลือเป็นทุ่ง ความยาวจากหลังเบาะมาถึงท้ายประตู อยู่ราวๆ 1 เมตร (100 ซ.ม.) มันมากพอที่คุณจะจัดข้าวของเข้าไปในรถได้อย่างสบาย โดยเฉพาะสายแคมปิ้งชอบขน ราวกับย้ายบ้าน ดูเหมือน มิตซูบิชิ จะรู้ข้อนี้ ก็เลยจัดพื้นที่สัมภาระมาอลังการงานสร้าง ไม่พอช่องปลั้ก บ้าน AC 1500 W ยังถูกติดตั้งเพิ่มเข้ามาสำหรับใช้งาน ยามต้องการ

การวิศวกรรม

ใต้เรือนร่างที่เราสาธยายยกใหญ่ มิตซูบิชิ สรรค์สร้างรถคันนี้บนพื้นฐานโครงสร้าง Mitsubishi GS Platform มันอาจเป็นโครงสร้างรุ่นเก่า ตั้งแต่ทางมิตซูบิชิทำงานร่วมกับ Daimler Chysler ในปี 2005 หาก โครงสร้างนี้ก็ยังใช้มายาวนาน จนถึงปัจจุบัน ยังใช้ในรถหลายรุ่น

อาจจะกล่าวได้เต็มปากว่า นี่คือโครงสร้างที่ผลิต และพัฒนาโดยมิตซูบิชิ มอเตอร์ เพราะหลังจากเข้ามาอยู่ใต้ปีกนิสสัน ทางค่ายทรีไดมอนด์ ก็เริ่มพัฒนารถจากโครงสร้างใหม่ของทางนิสสัน ไม่ได้พัฒนาจากดีเอ็นเอที่พวกเขาปั้นแต่งขึ้นมาเอง

ไฮไลท์ทีเด็ดของ Mitsubishi Outlander PHEV คล้ายกับที่เรากล่าวไปตอนต้นว่า ทางบริษัทต้องการสร้างความแตกต่างในการจับเอาตำนานมาสู่ถนน เอาความเด่นมารวมมิตร ให้ขับสนุกเร้าใจใช้งานได้ดี

สิ่งที่ทั้ง Mitsubishi Pajero, Mitsubishi Evolution มีเหมือนกัน คือความเป็นเอกในเรื่องระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่จริงระบบขับเคลื่อนของมิตซูบิชิไปไกลกว่าที่เราคิดมาด พวกเขาวางแนวทางของระบบที่เรียกว่า Mitsubishi All Wheel Control

แนวความคิดของ All Wheel Control มีที่มาจากการกรำศึกแข่งขัน Darkar, WRC และอื่นๆ อีกมากในอดีต มิตซูบิชิ เริ่มมองประโยชน์ของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อว่าเป็นเรื่องจำเป็นในการใช้งาน ช่วยให้รถมั่นคงทุกสถานการณ์ในการขับขี่ ไม่ว่าจะการออกตัว, การเข้าโค้งหรือกระทั่งในการเบรก ชะลอ หรือหยุดอย่างมั่นใจ

อันที่จริง การขับรถนั้นมีความลึกซึ้งอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการถ่ายโอนน้ำหนักระหว่างการขับขี่ มิตซูบิชิมองว่ามันเป็นเรื่องที่จำเป็น ในการพัฒนารถให้ขับสบายทุกการเดินทาง

หลักการของระบบ คือการใช้ฟังชั่นอิเล็กทรอนิกส์ในรถ เข้ามาช่วยบริหารจัดการในการทำงานของระบบขับเคลื่อยสี่ล้อ อันประกอบด้วย

  • ระบบเบรก ABS
  • ระบบ Traction Control
  • ระบบ Active Yaw Control

ข้อมูลทั้งหมด ถูกรวมนำมาประมวลผลในการทำงานระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ให้การตอบสนอที่ดีในการขับขี่

ระบบที่อยุ่ใน Outlander PHEV ค่อนข้างจะมีความพิเศษมากกว่าในแง่การใช้งาน เดิมทีอย่างที่หลายคนทราบระบบขับเคลื่อนสี่ล้อต้องมาพร้อมเพลาขับเพื่อถ่ายกำลังจากเครื่องยนต์ไปสู่ ล้อหน้าและหลัง ระหว่างทางก็จะมีเฟืองขับอีกทอดหนึ่ง ระบบลักษณะนี้มีแรงเสียทานมาก และทำให้การควบคุมรถในแต่ละล้อเป็นไปได้ยากในความเป็นจริง

เมื่อมิตซูบิชิตัดสินใจจะลองอะไรใหม่ๆ พวกเขาเลยตัดเรื่องชุดเกียร์และเพลาขับไปสู่ การใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ทั้งทางด้านหน้าและหลัง

  • มอเตอร์ทางด้านหน้ามีกำลังขับ 60 กิโลวัตต์ หรือ 82 แรงม้า ทำแรงบิดสูงสุด 137 นิวตันเมตร
  • มอเตอร์ทางด้านหลังให้กำลังขับ 70 กิโลวัตต์ หรือ 95 แรงม้า ทำแรงบิดสูงสุด 195 นิวตันเมตร

ทั้งคู่มีเพลาขับส่วนตัวในแต่ละล้อ ในการให้กำลังขับ โดยข้อมูลจาก Active Yaw Control จะดูว่า ล้อเลี้ยวไปทางไหนแล้วจัดการลดแรงหมุนล้อที่อยู่ด้านในโค้ง เพื่อให้เกิดการถ่ายน้ำหนัก รถอาการไม่พึงประสงค์ ขณะที่ระบบ ABS ช่วยป้องกันล้อล็อคระหว่างการเข้าโค้ง และ ระบบ ควบคุมการทรงตัวทำหน้าที่นายท้าย บอกระบบให้ทำงานประสานกันว่าคนขับต้องการไปทิศทางไหน

ด้วยการเป็นมอเตอร์นี่เองทำให้การตอบสนองในการขับขี่ค่อนข้างไวกว่ารถขับเคลื่อนสี่ล้อแบบปกติ แถมยังมี 3 โหมดให้เลือกในการใช้ระบบ ขับเคลื่อนสี่ล้อประกอบด้วย

  • Normal สำหรับการขับขี่ทั่วไปเน้นความนุ่มนวล การลดการโคลงตัวในการเข้าโค้ง
  • Snow โหมดหิมะ ที่จริงหมายถึงการใช้บนถนนที่มีลื่นอย่างการขับกลางฝนนี่ก็สามารถทำได้ ระบบจะพยายามเช็คอาการลื่นไถลของยางและแก้อาการให้ไว มอเตอร์จะทำงานอย่างนุ่มนวล ลดความดุดันจากแรงบิดเพื่อให้การตอบสนองในแง่ความมั่นใจ
  • Lock โหมดนี้ เป็นโหมดการขับขี่สำหรับการลุย ในทางสมบุกสมบันการจ่ายกำลังปรับเป็น 50/50

ด้านการขับเคลื่อน ทางมิตซูบิชิ ออกแบบระบบขับเคลือน PHEV มาเป็นเอกสิทธิพิเศษ เฉพาะ ด้วยการให้ระบบเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร มากอดคอกับมอเตอร์ไฟฟ้า ขุมพลัง 2.4 ลิตร รหัส 4B12 บล็อกนี้ถ้าอ่านสเป็คแล้วไม่ได้แรงเว่อวังอลังการ กำลังสูงสุดของมันแค่ 128 แรงม้า และแรงบิดเพียง 199 นิวตันเมตรเท่านั้น

สาเหตุสำคัญก็มาจากการปรับจูนเครื่องยนต์ให้เป็นแบบ Atkinson Cycle เพื่อประสิทธิภาพในการผลาญน้ำมันน้อยลง ในไทยเทียบกับ เพื่อบ้านอย่างออสเตรเลียกำลังเครื่องยนต์น้อยกว่านิดหน่อยในแง่แรงบิด จาก 211 นิวตันเมตร เหลือเพียง 199 นิวตันเมตร เนื่องจากบ้านเราพัฒนาให้รองรับ E20 ได้ด้วย

แต่ถึงเครื่องยนต์จะม้าน้อยก็ใช่ว่าจะเป็นปัญหาในการขับขี่มากมายนัก เพราะส่วนใหญ่ความเร็วต่ำเป็นหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้าและโหมดการทำงานระบบไฮบริดมิตซูบิชิ ก็วางหมากไว้ ว่าให้ทำงานในแต่ละรูปแบบดังนี้

EV Drive Mode โหมดการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วน ระบบจะทำงานโดยอาศัยพลังงานในแบตเตอร์รี่ในการขับเคลื่อนรถ โดยไม่ใช้เครื่องยนต์ในการทำงานเลย โดยปัจจุบันแบตเตอร์รี่ ขนาด 13.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถวิ่งได้ไกลราวๆ 55 กิโลเมตร ตามมาตรฐานการทดสอบในประเทศไทย ถ้ายึกตามโหมด NEDC จะได้ราวๆ 53 กิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับของไทย

Series Drive Mode โหมดนี้เครื่องยนต์จะทำหน้าที่ในการปั่นกระแสไฟฟ้าไปยังแบตเตอร์รี่ ขณะที่แบตเตอร์รี่จ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังมอเตอร์ทั้ง 2 ตัว

Pararelle Drive Mode ใช้ในยามความเร็วสูง ระบบจะใช้กำลังเครื่องยนต์ขับลงล้อโดยตรง ขณะที่มอเตอร์ไฟฟ้า เป็นลูกคู่ช่วยในแง่ของอัตราเร่ง ระหว่างขับขี่ จะทำงานในรูปแบบ นี้เมื่อขับความเร็วสูงเท่านั้น

ส่วนเรื่องแบตเตอร์รี่ ที่จริงมีการอัพเกรดมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมใช้แบตเตอร์รี่ขนาด 12 กิโลวัตต์ชั่วโมง ก็อัพเกรดขึ้นมาเป็นแบตเตอร์รี่ 13.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทีเด็ดรถคันนี้อยู่ที่ช่องชาร์จที่มี ทั้งแบบชาร์จปกติ AC ด้วยหัวแบบ Type 1 และ ช่องชาร์จเร็วแบบรถยนต์ไฟฟ้า(DC) แบบ Chademo

ระยะเวลาในการชาร์จ ตามรายละเอียดทางเทคนิค

  • การชารจแบบ AC จะใช้เวลา 4 ชั่วโมง ด้วยตู้ชาร์จ
  • การชาร์จแบบ DC จะใช้เวลาเพียง 25 นาที (จากที่ลองชาร์จจริง ใช้เวลาเพียง 22 นาทีเท่านั้น )

ตัวรถ ยังให้ ที่ชาร์จฉุกเฉิน แต่เป็นปลั๊ก อุตสาหกรรม หัวกลม ไม่ใช่เป้นเต้าเสียบ 3 ขา ทำให้ในความเป็นจริง คุณจะไม่สามารถหาปลั้กแบบนี้ได้เลย เว้นว่าแจ็คพอทจริงๆ นอกจากที่กล่าวแล้ว ยังมีสายแปลกจาก Type 2 มาเป็น Type 1 ให้ด้วย แต่สายนี้ เข้าใจว่าเป็นสายสำหรับตู้ชาร์จประเภทถอดสายได้ ซึ่งคุณสามารถปลดหัวของตู้ออกแล้วใช้สาย ที่ให้มาแทน

เรื่องการบังคับความคุมรถเป็นหน้าที่ของ ชุดพวงมาลัยไฟฟ้า Electric Power Assited ทำงานเข้าขากับระบบกันสะเทือนแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลงทางด้านหน้า และด้านหลัง ให้เป้นหน้าที่กำกับท้ายโดย ระบบมัลติลิงค์

การสั่งหยุดเป็นหน้าที่ของระบบ ดิสก์เบรกระบายความร้อนทางด้านหน้า ด้านหลังเป็นจานปกติ อาจฟังดูแล้วทำไม รถ 300 แรงม้าให้เพียงแค่นี้ นั่นเพราะ มิตซูบิชิ ได้ออกแบบรถคันนี้ให้ การหน่วงมอเตอร์หรือ Kers ได้ถึง 5 ระดับ มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าปกตเิเสียอีก ที่มักมีเพียง 3 ระดับ

การใช้งานง่ายดายผ่าน แป้น Paddle Shift จริงๆ มันถูกเรียกว่า Regenerative Braking Level Selector ใครที่เคยใช้ระบบ Paddle Shift มา อาจจะสับสนสักนิด ปกติ ตบ แป้น – รถมันจะพุ่ง ใน เจ้า Outlander PHEV ตบแป้นนี้ รถจะหน่วงอย่างชัดเจน ทั้งแป้นซ้ายและขวา

โดยใน แป้นลบ จะหน่วยเริ่มที่ระดับ B3 เป็นค่ากลางๆ ไม่หนักมาก และ ในแป้นบวก จะทำงานที่ค่า B1 เป็นค่าเริ่มต้น โดยผู้ขับขี่สามารถเลือกปรับน้ำหนักเองได้ตามต้องการ ค่าสูงสุดคือ B5 และค่าต่ำสุดคือ B0 หรือไม่หน่วงเลย ระบบจะค้างการทำงานต่อไปจนกว่า ผู้ใช้จะกด ฝั่งบวกราวๆ 2 วินาที จึงจะยกเลิกการทำงาน

การทดลองขับในเมือง

รับรถวันนี้ แบตเตอร์รี่เต็มน้ำมันเต็ม เช็ครถพร้อม เราออกเดินทาง เจ้า Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium ทรงลุงอาจจะดูแก่ แต่พอขึ้นมานั่งแล้วสบายใจไม่น้อย

ตัวรถ กวาดสายตาไป ปุ่มไม่เยอะ จนน่ารำคาญการจัดวางองคประกอบในการใช้งาน จัดว่าทำมาได้อย่างลงตัว คันเกียร์ เป็นแนวลากข้างแล้วขึ้นลง ซึ่งเป็นลักษณะของคันเกียร์ไฟฟ้า การเข้า P เป็นการกด จำง่าย ตรงคอนโซลกลางนี้ ก็จะมีปุ่มต่างๆ ที่เราต้องใช้เวลาขับขี่ วางไว้ให้เสร็จสรรพ ได้แก่ โหมดของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ, ปุ่ม sport ที่ให้มาขนาดใหญ่มหึมา

ข้างคอนโซลเกียร์ ยังมี โหมดควบคุมแบตเตอร์รี่ SAVE / Charge และ ปุ่มโหมด EV สำหรับใช้พลังงาานจากแบตเตอรืรี่อย่างเดียวไม่ใช้เครื่องยนต์

โหมด Save กับ Charge ทำงานในแบบนี้ครับ

SAVE – หมายถึง คุณต้องการรักษาระดับ แบตเตอร์รี่ ณ ปัจจุบัน เอาไว้ เก็บไปใช้ในทางข้างหน้า ระบบจะหาวิธีบริหารจัดการแบตเตอร์รี่ แต่ไม่ใช่ว่าแบตเตอร์รี่ไม่ถูกใช้งานเลย ไฟฟ้าจะถูกนำไปใช้บ้าง แต่ระบบจะคอยเติมกลับเข้ามาให้

Charge – โหมดนี้จะใช้เมื่อแบตเตอร์รี่หมดหรืออยู่ในระดับต่ำ แล้วคุณไม่เห็นว่ามีจุดชาร์จในระยะใกล้ สามารถกดให้ระบบสั่งครื่องยนต์ทำงาน เป็นเครื่องปั่นไฟฟ้า และขับเคลื่อนรถไปได้พร้อมกันนั่นเอง

จะว่าไปการใช้รถ Plug in Hybrid ในเมือง มีข้อดีประการสำคัญ ถ้าคุณมีแบตเตอร์รี่เต็มเปี่ยม ก็สามารถใช้การขับเคลือนด้วยไฟฟ้าล้วน แบบรถยนต์ไฟฟ้าได้เลย ไม่มีปัญหา

ไม่ว่าคุณจะกดโหมด EV ที่ผมกล่าวหรือ ไม่ Mitsubishi Outlander PHEV ก็จะมุ่งเน้นการขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอยู่แล้ว ในช่วงความเร็วต่ำ

โหมด Save และ Charge มีประโยชน์ มากถ้าคุณ หัดใช้งาน และเรียนรู้มัน ซึ่งรถยนต์ PHEV รุ่นใหม่ๆ ไม่มีโหมดนี้

เมือสถานการณ์โควิด เรื่มคลี่คลาย กรุงเทพมหานคร ก็กลับมารถติดเช่นเดิม การใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนในเมือง ทำให้เราค่อนข้างสบายใจไม่กังวลกับค่าน้ำมัน

ถ้าบ้านคุณอยู่ชาญเมืองเดินทางเข้าเมือง ระยะทางต่อการชาร์จ ที่เคลมไว้ 55 กิโลเมตร ก็ต้องยอมรับว่าไม่มีมากมายเท่าไรนัก คุณอาจใช้ไฟฟ้าตอนขาไป แล้วขากลับอาจจะต้องมีใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนบ้างช่วงสุดท้าย เนื่องจากระยะทางที่จำกัด และ การทำงานของระบบ ที่เน้นในความเร็วต่ำไปจนถึงความเร็วเดินทาง 120 ก.ม./ช.ม. สบายๆ

การเดินทางในเมืองเราจึงลอง ปล่อยให้ระบบทำงานตามปกติ ไม่กด EV หรืออะไร แทบทุกช่วงความเร็วใช้งาน รถเป็นระบบมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนใช้พลังงานจากแบตเตอร์รี่ จนกระทั่งไฟฟ้าหมดลมลงไป เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร จึงมารับบทบาทในการขับเคลื่อนแทนที่

เครื่องยนต์ โดยมาจะทำงานในแบบ Series Hybrid Mode เป็นหลัก ในช่วงความเร็วเดินทางจะปั่นไฟฟ้า ให้แบตเตอร์รี่ไปพร้อมกับที่เราใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ได้ตามความเร็วที่ต้องการ

ดังนั้นในเมือง เจ้า Outlander PHEV ช่วยคุณประหยัดน้ำมันได้มากพอสมควรเกินคาด ใครจะคิดว่า รถอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ น้ำหนักเฉียด 2 ตัน จะสามารถทำอัตราประหยัดได้น่าประทับใจพอตัว

จากที่ทดลองขับในระยะทาง 67.8 ก.ม. เราเติมมันไปเพียง 3.91 ลิตรเท่านั้น คิดเป็นอัตราประหยัด 17.38 ก.ม./ลิตร ถือว่าเป็นอัตราประหยัดที่ค่อนข้างดีทีเดียว แต่หากคุณขับในระยะทางที่ไฟฟ้าขับเคลื่อนได้ครอบคลุม แม้ว่าจะเคลมกันที่ 55 ก.ม. ต่อการชาร์จ แต่ในการใช้งานจริงยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่นการขับขี่ของเรา รวมถึง สภาพการจราจร เอาเป็นว่าระยะทาง 40 กิโลเมตร ถือว่าคลอบคลุม ถ้าไม่ขับเกินนี้ คุณเสียเพียงแค่ค่าไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ส่วนระบบความปลอดภัยต่างๆ มากมายที่ให้มา ในรถรุ่น GT Premium ก็มีหลายอย่างที่เราได้ใช้งานจริงในเมือง อาทิ ระบบกล้อง 360 องศา ,ระบบเตือนมุมอับสายตา , ระบบเบรกและป้องกันชนทางด้านหน้า

จากที่มีโอกาสได้ลองบางระบบในช่วงขับขี่ในเมือง ผมรู้สึกว่า การตอบสนองของระบบค่อนข้างจะไม่ดุวุ่นวาย หรืออ่อนไหวในการเตือนจนน่ารำคาญ ระบบจะเตือนเมื่อถึงจังหวะจำเป็นนคับขันจริงๆ

ยกตัวอย่างระบบเตือนมุมอับสายตา จะขึ้นมาพร้อมเสียงสั้นๆ ในจังหวะที่มีรถในมุมที่เราอาจไม่ทันดูจริงๆ เช่นเดียวกับระบบ Rear Cross Traffic Alert หรือเตือนมุมอับสายตา ขณะถอย หลังจะเตือนเมื่อมีเหตุการณ์ในระยะที่อาจจะเป็นอันตรายต่อเรา

ที่จริง เจ้า Mitsubishi Outlander PHEV ยังมีฟังชั่นรีโมท คุณสามารถควบคุมรถผ่านแอพพลิเคชั่นได้ด้วย เช่นระบบปัรบอาากศ การตั้งเวลาชาร์จไฟ หากมันกลับทำงานเพียงในระยะ Bluetooth เท่านั้น ไม่ได้เป็นฟังชั่นเชื่อมต่อแบบรถสมัยใหม่ บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันใช้งานได้ไม่สะดวกเท่าไรนัก

การขับขี่นอกเมือง

ที่จริงก่อนได้ เจ้า Mitsubishi Outlander PHEV มา ผมคิดไว้แล้วว่าอยากจะได้รถคันนี้ เดินทางไกล ย้อนไปเมื่อตอนทดสอบกลุ่ม มันก็โชว์ศักยภาพทางยาวให้เราเห้นบ้าง แต่รถขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่มีโหมดการขับขี่ต่างๆ มากมายนั้น น่าจะเหมาะกับทางโค้ง ซึ่งผมไม่นึกถึงที่ไหนนอกจาก จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งผมไปเป็นประจำทุกปี ด้วยบรรยากาศ ที่ค่อนข้างสวยงาม และยังมีความเป็นธรรมชาติอย่างมาก

การเดินทางครั้งนี้ ไปเที่ยวอย่างเดียวมันไม่สนุก ระยะหลัง ผมกับเดือน เราเปลี่ยนอารมณ์ มาเที่ยวสไตล์กางเต๊นท์กันมากขึ้น การกางเต๊นท์ ใครที่เที่ยวแบบผม จะทราบดีว่า ข้าวของมันเยอะมาก มากจนบางทีผมบอก พอเถอะ …. นี่เที่ยวเอาความชิล ไม่ใช่เที่ยวเอาความสบาย

จินตนาการไม่ออก ว่าวันนี้เราขนอะไร ลองมาดูรายการของครับ เรามี

  • กล่อง 55 ลิตร 2 ใบ
  • เต๊นท์ Coleman 270 BC Cross Dome 1 หลัง
  • เก้าอี้สนาม 2 ตัว
  • กระติ๊กน้ำแข็ง 1 ใบ
  • กล่องโฟม
  • กล่องใส่ของใบเล็ก จุ 30 ลิตร
  • รถเข็น Coleman


นี่คือเท่าที่ผมนึกออกนะ เพราะ เดือนเป็นคนเตรียมของทั้งหมด เรียกว่าขนราวกับย้ายบ้าน อะไรทำนองนั้น ปกติแล้วรถอเนกประสงค์ก็มีพื้นที่จุสัมภาระประมาณหนึ่ง มากพอจะตอบสนองในการใช้งานได้ดี ทว่าก็ยังมีข้อจำกัด เมื่อเจอของชิ้นใหญ่ อย่างกล่อง 55 ลิตร ที่เรานำไป โดยากมันจะกินพื้นที่เยอะ มาก รวมถึง ของประเภทชิ้นยาว อาทิ เต๊นท์ , เก้าอี้สนาม เมื่อเรา วางจะจัดของค่อนข้างลำบากมาก

นั่นไม่ใช่กับเจ้า Outlander PHEV จริงๆ ตอนเห็นรถครั้งแรก ผมก็สงสัย ทำไมไหนๆ ก็ไหนๆ ทำเบาะ 7 ที่นั่ง น่าจะดีกว่า แต่ปรากฎว่า ไม่ใช่ ทาง มิตซูบิชิ ทำรถคันนี้ให้มีพื้นที่โดยสารใหญ่ อลังการมาก จนผมก็สงสัย มาวันนี้เข้าใจ รถคันนี้ น่าจะออกแบบมาเอาใจสายแคมป์
ที่จริงหลายคนอาจจะไม่ทราบ คนญี่ปุ่น ชอบเที่ยวตั้งแคมป์มากๆ มีจุดกางเต๊นท์มากมายทั่วญี่ปุ่น ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ท้ายรถทำให้จัดการได้อย่างสะดวกสบาย ผมสามารถ ขนของได้เที่ยวเดียว แล้วจัดทุกอย่างลงตัวไม่ต้องมานั่งใชวิชาการจัดของขั้นเทพเหมือนรถรุ่นอื่นๆ เขา

ปลายทางวันนี้ จังหวัดเพชรบูรณ์ การขับรถปกติ จะอยู่ที่ 5 ชั่วโมง ถ้ารวมการจอดพักระหว่างทาง และกินข้าว เผลอๆ ทริปนี้ จะใช้เวลา 6-7 ชั่วโมงในการเดินทาง

ผมตัดสินใจออกเดินทางตั้งแต่ ช่วงตี 4 เอาจริงๆ กว่าจะล้อหมุนก็ราวเกือบตี 5 เราผ่านออกปทุมธานี เข้าพหลโยธิน ตัดออกไปยังเส้นทางหลวง 21 สระบุรี-หล่มสักยิ่งยาว ไปตามทางเรื่อยๆ

วานนี้ เราชาร์จไฟฟ้าหัวชาร์จ Chaedemo ได้ 80% ของแบตเตอร์รี่ ได้มา 6.9 หน่วย มีระยะทางขับไฟฟ้าเพียง 37 กิโลเมตร เอาเข้าจริง ขับด้วยความเร็ว 100-120 ก.ม./ช.ม. ไฟฟ้า หมดลม ตอนเลี้ยวออกถนน 347 หลังจากวิ่งยาวจากบ้านที่บางใหญ่ ใช้ถนนราชพฤกษ์ ประมาณการว่า มีระยะทางขับไฟฟ้าจริง 24-25 กิโลเมตรเท่านั้น

เมื่อไฟฟ้าหมดลง ระบบก็เข้าสู่การทำงานในโหมดไฮบริด โดยส่วนใหญ่จะใช้การทำงานในแบบ Series Hybrid โหมด ถ้าคุณใช้ความเร็วไม่เกิน 110 ก.ม./ช.ม. จากที่สังเกต ระบบจะทงานโดยปั่นล้อและปั่นไฟ ในช่วงสั้นๆ เมื่อไฟฟ้าได้ระดับหนึ่ง จะใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อนแทน ทำแบบนี้สลับไปเรื่อย

การทำงานแบบคู่จนานจะเกิดขึ้นเมื่อยามคุณเร่งแซงเท่านั้น ระบบจะผสานการทำงานของเครืองยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้า ให้คุณเร่งผ่านได้รวดเร็วทันใจ โดยในระหว่างการเปลียนโหมด หรือการตัดต่อกำลังเครื่องยนต์และมอเตอร์ ไม่มีอาการสะดุดให้เห็น สิ่งเดียวที่ทำให้รู้ว่ารถทำงานระบบอะไร คือ เข็มไมล์ KW วัดพลังขับที่ให้ติดตัวมาดูต่างหน้ากับ ถ้าคุณดูผ่านจอด เรื่องการถ่ายทอดพลังงาน ก็จะพอทราบได้

ระบบจะทำงานแบบนี้ไปเรื่อย จนกระทั่ง ผมมาค้นพบว่า ทำไมเราไม่ใช่ความสบายจาก Adaptive Cruise Control ร่วมด้วย เมื่อกดใช้งาน การจัดเก็บพลังงานกลับทำได้ดีกว่ามากมาย จากเดิมระบบจะจัดเก็บจนได้ระยะทางเพียง 2 ก.ม. ระบบจะเพิ่มเป็นระยะทาง 3-4 ก.ม. แล้วแต่สถานการณ์ ก่อนหันมาใช้การขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแทน รวมถึงรับบยังฉลาด รู้จักการไหลรถ การเร่งไม่กระโชกโฮกฮาก ซึ่งย่อมดีกว่ามาก แต่ผมค้นพบเรื่องนี้ตอนขากลับ …

ในขาไปจึงเป็นการขับด้วยตัวเองล้วนๆ ใช้ความเร็ว 100-120 ก.ม./ช.ม. บางช่วงใช้ความเร็ว 130 ก.ม./ช.ม เนื่องจากต้องเร่งแซง จากบางใหญ่ ผมแวะเติมน้ำมันครั้งแรกที่ปลายทางปตท. ตัวเมืองเพชรบูณ์ ระยะทางขับ สุทธิ 346.3 ก.ม. เติมน้ำมันไป 26.68 ลิตร คิดอัตราประหยัดได้ 12.97 ก.ม./ลิตร ด้วยการขับขี่ใน Normal Mode

ส่วนขากลับที่ใช้ Adaptive Cruise Control +Eco mode เติมจากปตท. แถวแยกพ่อขุนผาเมือง มาเติมอีกทีที่ สระบุรี ระยะเดินทางจริง 262.4 เติมน้ำมันไป 19.22 ลิตร คิดเป็นอัตราประหยัด 13.59 ก.ม./ลิตร มีอัตราประหยัดดีขึ้นอย่างชัดเจน

ดังนั้น ในการเดินทางไกล ถ้าเป็นไปได้ ควรใช้ระบบ Adaptive Cruise Control ช่วยให้คุณประหยัดกว่ามาก มันเป็นเหตุผลที่ดีในการตัดสินใจว่า ควรซื้อ Mitsubishi Outlander PHEV GT-Premium ถ้าไหนๆ จะซื้อแล้ว

ลองยัดโค้ง

หลังทานข้าวเที่ยงเสร็จ เราเดินทางต่อไปยังปลายทางน้ำหนาว การขึ้นน้ำหนาวทำได้ 2 ทาง คือขึ้นทางอำเภอหล่มเกาส กับทางชุมแพ

แต่ถ้าใครชอบความท้าทาย ผมแนะนำว่า ควรขึ้นทางอำเภอชุมแพ จะสนุกกว่ามาก คุณได้ท้าทายกับเส้นทางทางหลวง หมายเลข 12 ที่เหมือนประตูเชื่อมระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับ ภาคเหนือตอนใต้ ช่วงจากหล่มสักไป อำเภอชุมแพ จะมีช่วง ถนนเลนสวน เนื่องจากผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เส้นทางตรงนีจัดว่าค่อนข้างท้าทายมาก เป็นหนึ่งในถนนที่มีความสวยงาม ยังหลงเหลือในประเทศไทย

Mitsubishi Outlander PHEV มีระบบขับเคลื่อน สี่ล้อ Super All Wheel Control ที่ทำงานด้วยระบบ Twin Motor โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ที่จริง ตอนทดสอบกลุ่ม ผมก็คิดว่าเจ้านี่ค่อนข้างนิ่งคุมง่าย เขาให้มาขับทางกรวดหิน ก็ควบคุมรถได้อย่างดีเยี่ยม แต่ว่าตลอดวันนั้นไม่ได้ลองทางโค้งเท่าไรเลย

มาหนนี้ ถนนสาย 12 จะเป็นพื้นที่ในการพิสูจน์หนทางโค้ง ผมไม่รอช้าที่จะบดคันเร่งขับไปตามทาง เส้นทางโค้ง จุดนี้ มีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นโค้งแคบ โค้งลับตา มีบางจังหวะเป็นโค้งกว้างบ้าง ตามเส้นทาง

ถนนที่มีโค้งแบบนี้ โดยส่วนใหญ่ ไม่ว่าคุณเป็นคนนั่งหรือคนขับก็สามารถเหนื่อยล้าได้ เนื่องจากทางโค้งมีแรงเหวี่ยง เวลาขับเข้าโค้ง รถจะมีการเอนตัว ต่อเนื่องตามหลักฟิสิกส์

แต่เจ้า Outlander ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ทำงานในเงื่อนไขระบบ Super All Wheel Control กลับแก้ไขเรื่องนี้ได้รถเข้าโค้งได้ดี แรงเหวี่ยงน้อย จนผมสนุกไปกับเส้นทาง มากกว่าหวั่นใจ ไม่ว่าจะโค้งกว้างโค้งแคบ รถก็ดูเชื่อง อยู่ใต้อาณัติการควบคุม ผมลองทำความเร็วเพิ่ม จนเป็นความเร็วเดินทางปกติ 100-120 ก.ม./ช.ม. ในเส้นทางนี้ หลายคนอาจจะมองว่าอันตรายแล้วล่ะ จะเร็วขนาดนี้ในทางโค้งแบบนี้

แต่ความจริง ถ้าคุณนั่งอยู่ในหลังพวงมาลัยเจ้านี้ คุณจะไม่รู้สึกแบบสิ่งที่คุณคิด รถตอบสนองดั่งใจ ควบคุมได้ตามต้องการ จนแม้แต่ผมที่ขับรถญี่ปุ่นอีกแบรนดืที่มีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อเป็นมาตรฐาน มาขับคันนี้ยังต้องทึ่ง เฮ้ย มิตซูบิชิทำได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ จะดีเกินไปแล้ว!!!

อีกอย่างที่ประทับใจเวลาขับทางโค้ง คือการตอบสนองให้กำลังเวลาขับผ่านทางแบบนี้ การเดินคันเร่งมีความสำคัญมาก กับเครื่องยนต์บางทีเดินมากไปน้อยไปหาความพอดียาก พอมาเป็นการใช้มอเตอร์ไฟฟ้า มีความละเอียดละออกว่าการตอบสนองเป็นไปตามเท้า

จะเร่งแซงก็มั่นใจ ถ้ากระทืบแบบเต็มบาทา ก็จะเข้าสู่โหมด ไฮบริดคู่ขนาน เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้ากอดคอกัน จ้ำอ้าวเร่งรถพิกัดสองตันเศษๆ เมื่อรวมผม เดือน และ สัมภาระ เร่งแซงฉับไว สบายๆ

ทางบนเขามีขึ้นก็ต้องมีลง ปกติ เราจะใช้เบรกกันจ้าละหวั่น บางทีเบรกกันจนถึงขีดจำกัดมีอันตราย สำหรับ Outlander PHEV ด้วยการใช้มอเตอร์ไฟฟ้า จึงมีการหน่วงจากมอเตอร์ ด้วย Kers เป็นการใช้เบรกรีเจนเนอร์เรทีฟ ไฟฟ้ากลับเข้าแบตเตอร์รี่ อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า

ระบบของเจ้านี่ มีทั้งสิ้น 5 ระดับ ในเส้นทางเขาแบบนี้ เมื่อลงทางลาดชันมากๆ สามารถใช้ระดับ 3 ไปจนถึงระดับ 5 ถ้าใช้จนชินแล้ว คุณจะเหมือนผม แทบไม่เบรกรถเลย ถ้าไม่ใช่โค้งที่คิดว่าแคบจริง เราสามารถใช้มอเตอร์ช่วยหน่วงแล้วโยนรถเข้าไปได้เลย ตรงนีอาจต้องใช้ความกล้า และความเคยชินอยู่บ้างในการขับขี่

เมื่อคุณชินแล้วจะพบว่า เจ้าอเนกประสงค์ทรงลุงคันนี้เชื่อง ขับสนุกขับมันส์มากในทางโค้ง จนคุณจะคิดถึงประสบการณ์ขับบนเขา แล้วไม่อยาดให้มันหมดไป

ในแง่การโดยสาร ระบบ Super All Wheel Control เรียกว่า ทำได้ดีเกินหน้าตาอย่างมาก การลดการโคลงตัวของรถ ทำให้นั่งโดยสารสบาย แม้จะต้องขับผ่านทางโหดๆ อย่างทางโค้งต่อเนื่อง ซึ่งในญี่ปุ่นก็มีไม่น้อย

อีกอย่างที่ต้องกล่าวถึงคือเบาะที่ออกแบบมาสบายหากก็ยังกระชับอย่างน่าอัศจรรย์ แม้ทีแรกเราว่าท่านั่งรู้สึกแปลกๆอารมณ์ขับ MPV พอขับนานๆ ยิ่งยาว ทางไกลรู้สึกว่ามันไม่เมื่อยเลยแม้แต่น้อย เป็นหนึ่งในเบาะนั่งที่นั่งได้อย่างสบาย ร่างไม่ช้ำเมื่อถึงปลายทางแม้เราจะต้องผ่านมาหลายโค้งก่อนถึง ที่หมายปลายทาง น้ำหนาว

อัศจรรย์ไฟฟ้า ..ฟังชั่นเด่นหนึ่งเดียวที่เหนือใคร

ในที่สุด เราก็ถึงที่หมายปลายทาง ลานกางเต๊นท์ ที่เราตั้งใจจะมากันในทริปนี้ ปกติแล้ว สำหรับสายกางเต๊นท์เราก็จะอยู่กินกันสมรรถะ ก่อฟื้น เตาถ่านอะไรก็ว่ากันไป

แต่เจ้า Mitsubishi Outlander PHEV นั้นพิเศษกว่าชาวบ้าน ตรงระบบสามารถเปลี่ยนตัวเองจ่ายไฟฟ้าออกมาใช้งานได้ด้วย ให้กำลังสูงสุด 1500 วัตต์ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่มากมายหรอก แต่เมื่อยามคุณไปแคมป์จะหาไฟฟ้าใช้ ถ้าที่ลานไม่มีไฟฟ้าให้อย่างในอุทยาน เจ้านี่กลายเป็นรถที่พึ่งพาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ความพิเศษของรถรุ่นนี้เหนือ PHEV รุ่นอื่น คือการมีหัวชาร์จเร้ว ที่ทำให้คุณชาร์จไฟฟ้าได้เร็วมาก ขึ้น และใช้ไฟฟ้าได้บ่อยขึ้น

การใช้ไฟฟ้า อย่างแรกขอให้คุณมั่นใจคุณมีไฟฟ้าในแบตเตอร์รี่ โดยใช้ โหมด Charge ถ้าสมมุติคุรวิ่งทางยาว เพื่อปั่นไฟฟ้าเข้าแบตเตอร์รี่ ช่วงที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือความเร็วไม่เกิน 100 ก.ม/ช.ม. ระบบจะทำการปั่นไฟฟ้าเข้าแบตเตอร์รี่ เพื่อให้พร้อมในการใช้งาน

เท่าที่เราลองปั่นไฟฟ้าดูจะทำงานได้ราวๆ 60-70% ของปริมาตร แบตเตอร์รี่ มีระยะทาง 30 ก.ม. โดยประมาณ

ในกรณีเดียวกันคุณอาจจะหาตู้ชาร์จไฟฟ้าจิ้มชาร์จปกติ แล้วกด Save ขับมายังปลายทางก็ได้

เมื่อต้องการใช้ไฟฟ้าก็เพียงสตาร์ทเครื่องยนต์แล้ว กดปุ่มทางด้านล่าง AC 1500 วัตต์ ปลั้กไฟฟ้า จะใช้งานได้ทันที อำนวยความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะสายแคมป์ ที่ยังรักสบาย เช่น คุณผู้หญิงต้องการจะเป่าผม หรือ เราอาจจะเปลี่ยนมาเป็น บรรยากาศ หมูกระทะเตาไฟฟ้า ก็ทำได้

แม่บ้านถูกใจสิ่งนี้ แม้จะมาแคมป์ ก็ยังสามารถเสริมสวยได้สบายๆ Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium ChargingMitsubishi Outlander PHEV GT Premium Chargingจุดชาร์จ หัว Chademo ปัจจุบัน มีเยอะขึ้น โดยเฉพาะตู้ของ PEA Volta

ที่จริงความสามารถของ Outlander ไปไกลกว่านั้น ในกรณี คุณมีกระท่อมปลายนา หรือบ้านพักในที่ห่างไกล ที่ไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึง คุณสามารถติดตั้งตัว Bi-Directional Charger เจ้าตู้นี้เป็นทั้งปลั้กชาร์จ และใช้รับพลังงานจากรถมาใช้ในบ้านได้ด้วย

ถ้ายังจำได้เมื่อ หลายปีแล้วที่ญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวจนไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ เจ้ารถคันนี้กลายเป็นฮีโร่ รวมตัวกันเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับหมู่บ้าน และยังถูกใช้เป็นรถสื่อสาร เมื่อเกิดภัยพิบัติในญี่ปุ่นด้วย ทั้งหมดเป็นไปได้ ด้วยการชาร์จไฟฟ้าในตัวและพกพาแบตเตรอ์รี่ที่มีมากพอต่อการใช้งาน

นี่คือรถที่ทาง หน่วยงานในญี่ปุ่นใช้ในการเชื่อมสัญญาณการสื่อสาร เมื่อเกิดภัยพิบัติ เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนคนญี่ปุ่น

ลองหน่อยเส้นทางออฟโรด

หลังจากผ่านทางโค้ง ผ่านทางไกล เราคิดว่า เหลือบททดสอบสุดท้ายที่ยังไม่น่าจะมีใครเอาไปลองแบบนี้ นั่นก็คือ ทางออฟโรด

ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่า คำว่า Off Road มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับรถเก๋งไปได้ จนถึงระดับ ที่ต้องใช้สายลุยตัวจริงยางโหด หลังจากถามคนในท้องที่เราค้นว่าที่น้ำหนาว มีที่เที่ยวอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ จุดชมวิว ภูฮี … เท่าที่ถามเขาบอกว่า ไปได้สบายมากแต่เนื่องจาก ก่อนหน้าที่เรามีฝนตก จึงยังไม่แน่ใจว่าทางจะเป็นอย่างไร
เส้นทางจากที่พักไปภูฮี ระยะทางไม่ไกลมาก แต่คาดว่าน่าจะท้าทายไม่น้อยเหมือนกัน ที่นี่เราทราบมากว่ามันเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ของน้ำหนาว เราเริ่มวิ่งผ่านหมู่บ้าน แล้วเมทื่อถนนสิ้นสุดลง ทางไป ภูฮี คือทางดินบนภูเขา ที่มีร่องลึกและรอยล้อรถไถ จากชาวบ้านที่เข้ามาทำการเกษตร ระหว่างทาง

ทางแบบนี้ถึงคิว การใช้โหมดขับเคลือนสี่ล้อ Lock Mode ระบบจะไม่แปรผันการขับเคลื่อนหน้าหลัง จะส่งให้มันขับกำลังหน้าหลังเท่าๆ กัน ตลอดที่เราใช้งาน

เส้นทางถือว่าโหดในระดับหนึ่งแต่ไม่มาก อุปสรรค อยุ่ที่รอยลอรถไถ้าที่กดให้ดิน ตรงกลางสูง จนต้องระวังอาการโดนแขวนระหว่างเดินทาง

มอเตอร์ไฟฟ้าที่ดูเป็นมิตรบนถนนดินดำ มาทางลุย รู้สึกว่าค่อนข้างคุมยาก เนื่องจากแรงบิดสูงในรอบต่ำ ทำให้หลายครั้งกดเบาๆ บางทีกลายเป็นตะกุย ด้วยแรงบิดส่งมาให้เยอะเกินไป แถมอุปสรรคสำคัญอีกอย่าง คือระยะความสุงจากพื้นถึงท้องรถ 190 มม. อาจะยังน้อยไปหน่อย กับเส้นทางสายลุย

คุณต้องใจเย็นค่อยๆ เดินคันเร่ง เลือกไลน์การขับขี่ที่ถูกต้องเสมอ ป้องกันการครูดใต้ท้อง หรือรถโดนแขวน เราขับมาตามทางเรื่อย มีจุดขึ้นเนินการสามารถผ่านไปได้อย่างง่ายดาย

ด้วยระยะความสูงใต้ท้องที่ไม่มากในเส้นทางวิบากมากๆ อาจจะทำให้ผ่านอุปสรรคไปได้ยากบ้าง

เรามาถึง ภูฮี แต่ที่ดันกลายเป็นจุดชมวิวร้าง แล้วที่สำคัญ ถนนยังมีเส้นทางไปต่อได้ เราตัดสินใจขับรถต่อไปตามทาง วิวอันซีน ทำให้เรารู้สึกผ่อนคล้าย ในขณะที่เส้นทางขับสบายไม่ได้โหดหินมาก ระหว่างทางมีหลุมบ่อ และหินคอยต้อนรับเรื่อยๆ

จนกระทั่ง เรามาถึงเนินหิน จุดนี้ทางข้างหน้า เราต้องไต่หิน เพื่อจะได้ไปต่อในเส้นทาง ซึ่งเท่าที่ประเมินด้วยสายตา ถ้าเป็นรถกระบะ สามารถไปได้สบายๆ

ผมตัดสินใจ ให้เดือนลงไปดูไลน์ เนื่องจากใต้ท้องรถเตี้ย อาจจะครูดได้ เราผ่านจึ้นมาได้ครึ่งหนึ่งปรากฎว่ารถไม่สามารถไปต่อได้เพราะล้อฟรี

ผมคิดว่า อาจะต้องปั่นหนี ก็เลย ปิดระบบควบคุมการทรงตัว กลับกลายเป็นว่ายิ่งฟรีทิ้ง กลับมาเปิดระบบรถก็ไม่ไป ผมตัดสินใจ ตัดจบทริปแค่นี้ เพราะถือว่าสอบไม่ผ่าน

Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium Off Road Test Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium Off Road Test จุดชมวิว ภูฮี ณ อำเภอน้ำหนาว

หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมใช่ไหมครับ ทัง้ที่รถเป็นขับเคลื่อนสี่ล้อ ล้อหน้าไปไม่ได้ ล้อหลังต้องดัน จากที่ผมดูวิดีโอตอนลุยค้นพบว่า ล้อหลังไม่ค่อยให้กำลังเท่าไรนัก มันเลยไม่สามารถดันรถขึ้นไปได้อย่างที่เราคาดหวัง จริงๆ ผมเชื่อว่า ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากโหมด Lock ด้วยที่จะเน้นการส่งกำลัง เท่าๆ กัน ไม่ว่าเหตุผลอะไร รถคันนี้จะผ่านไปได้ ถ้าล้อหลัง ออกแรงช่วยดัน มากกว่า

ผมเองก็ลิมว่าควรลองใช้โหมดอื่นๆ ดูบ้าง ก็ดันไม่ได้ใช้ ไม่อยากขึงขัง กลัวรถจะพังแล้วงานหยาบ

แต่กับเส้นทางนี้ที่ผ่านมาได้ ก็ถือว่า Mitsubishi Outlander PHEV คันนนี้สอบผ่านระดับหนึ่ง ทางฝุ่น ทางดิน และทางกรวด ไปได้สบายมาก แต่ถ้าเริ่มต้องมีปีนป่ายอาจจะยังไม่ใช่ทางของรถคันนี้

Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium Off Road Test Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium Off Road Test ถ้าทางโหดขนาดนี้ อาจไม่ใช่ทางของ Mitsubishi Outlander

สรุป Mitsubishi Outlander PHEV GT-Premium ลุงโหดผู้ใจดี

กว่า 3 วัน 2 คืนที่อยู่บนน้ำหนาว ยอมรับว่า ตัวเองเข้าใจอะไรเยอะขึ้นเกี่ยวกับ คุณลุง Outlander PHEV รถคันนี้พูดได้เต็มปากว่า คนพัฒนาเหมือนจงใจ ออกแบบมาให้สายแคมป์ โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะการใช้ไฟฟ้าได้ ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่พาคุณไปได้ทุกที่ ถามันไม่โหดมาก ความนั่งสบายเหนือระดับ กว่ารถอื่นๆในคลาสเดียวกัน

สำหรับใครที่อยากรู้สมรรนถะการขับขี่ เจ้า Mitsubishi Outlander PHEV เห็นหน้าตาแบบนี้อย่างนี้ ก็แรงอยู่นะ

  • อัตราเร่ง 0-100 ก.ม./ช.ม. เฉลี่ยที่ 10.6 วินาทีโดยประมาณ มีบางรอบได้ 9.9 วินาที
  • อัตราเร่ง 80-120 ก.ม./ช.ม. เฉลี่ย 7.14 วินาที
  • ความเร็วปลายสูงสุด 175 ก.ม./ช.ม.

ถ้าเทียบกับคอมแพ็คคาร์ทั่วไป ก็ต้องยอมรับว่า มันค่อนข้างเร็วกว่าราวๆ 2-3 วินาที มาจากการตอบสนองมอเตอร์ไฟฟ้าที่รวดเร็วทันใจด้วย ส่วนหนึ่ง

Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium White Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium White ทีจริง นี่คือรถที่ดีอีกคัน แต่เสียดายมาช้าไปนิด ถ้ามาในราคานี้สักหลายปีก่อน อาจเป้นรถสร้างชื่อให้ มิตซูบิชิ

ถึงจะเร็วกว่าไม่มาก แต่เรื่องทางโค้ง เทียบกับ Compact Crossover ในกลุ่มเดียวกัน ผมยกให้ Outlander PHEV ขับดีกว่ามากพอสมควร ด้วยความโดดเด่นจากมอเตอร์ไฟฟ้าตอบสนองเร็ว การทำงานอย่างสอดผสานช่วยลดการโคลงตัว จนนั่งสบาย ผู้โดยสารไม่บ่น ในยามเรากำลังสนุกกับทางโค้ง

เรื่องอัตราประหยัด ก็ต้องยอมรับว่า มันโดดเด่นมาก กับการขับขี่ในเมือง ด้วยความสามารถขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ให้ผลลัพธ์ เรื่องความประหยัดน้ำมัน แม้ต้องยอมรับว่า ระยะทางการขับขี่ ต่อการชาร์จใช้งานจริง จะยังรู้สึกน้อยไปนิด เทียบกับ PHEV สมัยใหม่ ที่มีระยะทางมากกว่า ซึ่งก็มาพร้อมแบตเตอร์รี่ขนาดใหญ่อันหนักอึ้ง อาการรถขับไม่สนุกผิดกับเจ้านี่

ผมลองสรุปอัตราประหยัดน้ำมัน ในภาพรวม ได้ดังนี้

  • การขับขี่ในเมือง ได้อัตราประหยัด 17.38 ก.ม./ลิตร (ชาร์จไฟฟ้าเต็ม)
  • การขับขี่นอกเมือง (ขาไป) อัตราประหยัด 12.97 ก.ม./ลิตร (ชาร์จไฟฟ้า ได้ระยะทาง 37 ก.ม.)
  • การขับขี่นอกเมืองบนเขาและออฟโรด อัตราประหยัด 11.15 ก.ม./ลิตร ( ระยะทาง 406.9 ก.ม. เติมน้ำมัน 36.477 ลิตร ชาร์จไฟฟ้า ได้ 37 ก.ม. ขับ 110-120 ทางเขา)
  • การขับขี่นอกเมืองขากลับ อัตราประหยัด 13.95 ก.ม./ลิตร (ใช้ Adaptive Cruise Control + Eco Mode ไม่มีไฟฟ้าในแบต)

พามาตีแผ่แบบนี้ชัดเจนเลยว่า Mitsubishi Outlander PHEV GT Premium คุณลุงของเรา ก็ถือว่าประหยัดในระดับหนึ่ง ยิ่งในทางเขา ปกติแล้ว รถจะซดน้ำมันอย่างมาก แต่คุณลุงไม่ซดมากเท่าไร โดยเฉพาะเทียบกับรถอเนกประสงค์ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ 2.4 /2.5 ลิตร นอกเมือง จะตกอยู่ราวๆ 11-12 ก.ม./ลิตร ต้องขับแบบเซฟโซน ถึงจะได้อัตราประหยัดเท่านี้

และแน่นอนว่าการตอบสนองไม่สู้ดีเท่า Outlander อย่างที่เราได้สัมผัสอย่างแน่นอน

ส่วนที่เรารู้สึกว่า เป็นประเด็นในการใช้งาน มีบ้างอยู่หลายเรื่องครับ อย่างแรก ตามสเป็ค ถังน้ำมันรถคันนี้ คือ 45 ลิตร แต่เอาเข้าจริง ส่วนที่เราเติมใช้งานได้ มีเพียง 40 ลิตร หรือถังมีขนาดเท่ารถอีโค่คาร์บางคัน ผมมารู้เรื่องนี้ ตอนหลังจากขับบนเขา พอน้ำมันแดง เราต้องขับอีกราวๆ 20 กิโลเมตร ก่อนจะถึงปั้ม พอหัวจ่ายตัด อ่าว น้ำมันเหือดแห้ง เติมแค่ 37 กว่าลิตรเอง

เรื่องถังน้ำมันว่าเป็นประเด็นแล้ว หัวชาร์จ Type 1 ก็เป็นอีกเรื่องที่เราอยากฝากญี่ปุ่นไปพิจารณา โดยเฉพาะการหาจุดชาร์จ Type 1 นี้ค่อนข้างยากมาก ไม่เท่า Type 2 ยังดี หัว Chademo สามารถใช้งานได้ โดยเฉพาะกับตู้ PEA Volta ตามต่างจังหวัด แต่หัว Type 2 หาชาร์จกว่ากับตู้ทั่วไป ดังนั้น จะกว่า ถ้าทางมิตซูบิชิตัดสินใจเปลี่ยนหัว

Mitsubishi Outlander PHEV GT PremiumMitsubishi Outlander PHEV GT Premium

หลังจากขับยาวๆ จริง ผมก็หลงรักสมรรถนะของคุณลุงมากพอสมควร จนแอบปันใจให้เลย เรื่องการขับขี่ รถเขาดีจริงเด็ดจริง อย่าแหยม โดยเฉพาะในทางโค้ง

แต่พอถามว่า อยากได้ไหมใช่ ความรู้สึกมี แต่พอดูหน้าตารถ ที่เป็นทรงเก่าไปนิด ก็ขอพูดตามตรงว่า ยังอาจขอผ่านไปก่อน สิ่งเดียวที่ยังทำให้คนซื้อรถคันนี้ไม่ได้ คือทรงเก่า ที่มาพร้อมความแก่ ดูไม่เท่ห์เป๊ะปัง เหมือนรถรุ่นอื่น คงต้องพูดตามตรงว่า ถ้าปรับหน้าตารถให้มันเข้าเค้าพี่น้อง อย่าง เสน้สาย Dynamic shield บนพื้นฐานตัวนี้หลายคนอาจจะหันกลับมามอง

ด้วยความเป็นมิตซูบิชิ ฐานแฟนมีมากพอสมควร อยู่แล้ว และรถญี่ปุ่นที่เป็นไฮบริดเสียบปลั้ก วันนี้ก็ยังมีเพียงมิตซูบิชิเท่านั้น

ยิ่งขับแล้วก็ยิ่งเสียดาย ที่รถยนต์รุ่นนี้กลับไม่เป็นที่นิยม ด้วยงานออกแบบทรงเก่าดูโบราณ เมื่อนับว่า มันปรับปรุงครั้งล่าสุด ปี 2018 ยิ่งวันนี้โลกการสื่อถึงกันว่องไว รวดเร็ว อีกไม่กี่วัน ก็เปิดรุ่นใหม่ออกมา หลายคนที่จะต้องจ่ายเงินราคาขนาดนี้ก็คงอยากได้รุ่นใหม่ มากกว่า เนื่องจากงานออกแบบใหม่กว่า สวยกว่าเดิมเสียอีก

Mitsubishi Outlander PHEV GT PremiumMitsubishi Outlander PHEV GT Premiumสิ่งเดียวที่ขัดขวางคนซื้อ คือหน้าตา ของรถรุ่นนี้ที่หลุดมาผิดยุค แต่ทางมิตซูบิชิ คิดว่าจะเอาตัวใหม่มา … ก็น่าจะทำให้ หลายคนสนใจ

ถ้าเปรียบ รถคันนี้ ก็เหมือนคุณลุงใจดีหนึ่งคนที่เราอาจจะรู้สึก ว่า แกมากประสบการณ์ ผ่านอะไรมาเยอะ แต่ถ้าให้มาอยู่คู่กันเป็นคู่ครอง ซึ่งก็เหมือนกับการขับรถ เราอาจไม่พอใจที่เราดูเก่าไปนิด ทั้งๆที่รถในราคาขนาดนี้ อาจจะซื้อรถรุ่นใหม่กว่า

ใช่สมรรถนะรถคันนี้ดี … ดีจนเกินราคา ผมไม่ติดแล้ว กับราคาขายรถคันนี้ เพียงแต่ความรู้สึก เวลาเราต้องการรถสักคัน อย่างน้อยมันต้องดูดี ไม่เก่าหลงยุคมากไป คนไทยยังติดเรื่องงานออกแบบรถค่อนข้างมาก ให้ดีควรเปลี่ยนหน้าปรับโฉมสักหน่อย อาจจะพอถูไถไปได้

ถ้าเป็นไปได้ อยากฝากพิจารณา การนำรุ่นใหม่มาขาย แม้ว่ารุ่นจะขายไม่ดี ก็ถือว่าเป็นการซ้อมมือทางการตลาด และการผลิต ไปพลางๆ

หรือถ้าคิดว่า ประเทศไทยยังไม่สิทธิ์ สำหรับ Mitsubishi Outlander PHEV รุ่นใหม่ เนื่องจากยอดขาย อย่างน้อย ขอฝากให้นำ Mitsubishi Eclipse Cross PHEV มาพิจารณา ราคาที่ถูกลง รูปร่างที่สปอร์ตถูกใจลูกค้า สมรรถนะที่ดีเกินราคา

ถ้ามาจริง ผมนี่แหละน่าจะเป็นคนหนึ่งที่จะจับจองเป็นเจ้าของ เพราะรุ่นนี้ ขับดีทุกด้าน ประหยัดทุกประการ แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า อยากได้รถที่ทันสมัยมากกว่านี้

เรื่องและขับทดสอบ โดย ณัฐยศ ชูบรรจง

ที่มาข้อมูล
Mitsubishi Motor

Wikipedia

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*