ช่วงปีที่ผ่านมา “รถยนต์ไฟฟ้า” กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียดในวงการรยานยนต์ ถึงนวัตกรรมการขับขี่ยุคใหม่ไม่ใช้นำมันลดการปล่อยไอเสีย หนึ่งในนั้นคงไม่มีใครสร้างกระแสได้เท่ารถยนต์ Nissan LEAF รถยนต์ไฟฟ้าที่ยอดขายสูงสุดทั่วโลก ที่เข้ามาขายในไทยส่งท้ายปีที่ผ่านมา
รถยนต์ Nissan LEAF สร้างชื่อให้นิสสันกลายเป็นผู้นำรถยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นในวันนี้ ด้วยความตั้งใจสร้างรถยนต์ไฟฟ้าที่ทุกคนเป็นเจ้าของได้ ดังชื่อของมัน LEAF สะท้อนมาจากประโยคว่า Leading, Environmentally Friendly, Affordable Family Vehicle และวันนี้มันมาถึงเมืองไทยพร้อมให้เราสัมผัสอย่างเป็นทางการครั้งแรก
Nissan LEAFนิสสัน ลีฟ เวอร์ชั่นที่ขายในปัจจุบันออกวางจำหน่ายในปี 2017 ด้วยการพัฒนาต่อยอดจากรถยนต์ต้นแบบ Nissan IDS Concept ออกโชว์ในงาน Tokyo Motor Show 2015 ภายใต้ความคิดนิสสันต้องการพัฒนารถยนต์ที่มีความแปลกใหม่แตกต่าง จากรถรุ่นเดิมที่ดูแล้วทรงล้ำสมัยเกินไปราวกับหลุดออกมาจากหนังไซไฟ
รุ่นใหม่ทางนิสสันวางองค์ประกอบตัวรถสำคัญไว้ 2-3 ประการ อย่างแรกต้องมีความปราดเปรียว ดูสปอร์ต เราจะเห็นว่าใบหน้าของ Nissan LEAF ใหม่ มีการกดช่วงหน้าลาดต่ำได้ทรงความเป็นรถสปอร์ตในเรือนร่างรถยนต์ 5 ประตูที่เราคุ้นเคย
ตัวรถได้กระจังหน้า V Motion 2.0 ให้ความครบองค์ทรงสปอร์ตมากขึ้น ไม่ดูเป็นรถล้ำยุคนำสมัยเทียบเท่ารุ่นเดิม จมูกเป็นทรงตันไม่มีช่องระบายความร้อนมากมาย เหนือจมูกเป็นช่องชาร์จไฟฟ้า ถ้าสังเกตทางด้านข้างจะพบว่า ช่วงระยะล้อทั้งหน้า-หลังอยู่ติดปลายกันชน ทำให้ง่ายต่อการขับขี่โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้เดินทางในเมือง
แต่ถ้าคุณมองที่ขนาดตัวรถ Nissan LEAF มันมีขนาดไม่ต่างจากรถคอมแพ็คคาร์ทั่วไปที่เรารู้จักกันด้วยความยาวเพียง ,480 ม.ม. กว้าง 1,790 มม. และสูง 1,540 มม. ลงตัวด้วยระยะฐานล้อยาว 2,700 มม.
ส่วนด้านหลังออกแบบลงตัวด้วยไฟท้ายทรงบูมเมอร์ฉกฉวยมาจากพี่รถสปอร์ตประจำค่าย ทรง 5 ประตู มีการเล่นรายละเอียดหลังคา น่าเสียดายในไทยมีเพียงสีขาว สีเดียวไม่มีทางเลือกให้ลูกค้า ทั้งที่เป็นรถยนต์นำเข้าทั้งคัน จากประเทศญี่ปุ่น
รับกุญแจมาจากทีม PR สะดุดตากับความเท่าเทียมกุญแจทรงสหกรณ์ของนิสสัน ไม่ว่าจะกระบะ , อีโค่คาร์ ,อเนกประสงค์ ไม่คิดจะเปลี่ยนให้มันรู้สึกดูภูมิใจสักหน่อยหรือ
เมื่อเปิดประตูห้องโดยสารกวาดสายตาอย่างรวดเร็ว จะเห็นถึงแนวทางการออกแบบสไตล์ Minimal รถดูไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างเรียบง่ายไปหมด ไม่ว่า จะคันเกียร์จอยสติก จริงๆ ใช้งานง่ายแค่มันไม่เหมือนกับคันเกียร์ดั้งเดิมของเรา ตรงหน้าคนขับเป็นจอเรือนไมล์ดิจิตอลฝั่งซ้าย ด้านขวาบอกความเร็ว
ส่วนตรงกลางให้เครื่องเสียงพร้อมจอขนาด 5 นิ้วมาด้วย ข่าวดี คือมีระบบ Around View Monitor มาให้ด้วย ข่าวร้าย คือผมยังรู้สึกว่าจอเล็กไปสักหน่อย น่าจะดีกว่านี้ถ้าเป็นจอขนาด 7 หรือ 8 นิ้ว ถัดลงมาเป็นระบบแอร์ออโต้ปรับความเย็นสบาย
รถให้ความรู้สึกทันสมัยก็จริง แต่กลับขาดฟังก์ชั่นจุกจิกยุกยิกคนอยากได้ (อีกแล้ว) เช่นระบบชาร์จมือถือไร้สาย เป็นต้น ทำให้เราไม่รู้สึกว่ามันหวือหวาอะไรนัก แถมหลายคนจับวัสดุอาจบ่น โว๊ะ!! นี่มันอะไรกัน ทำไมคุณภาพพลาสติกมันดูแย่เพียงนี้
อันที่จริงเรื่องนี้อธิบายได้ครับว่า นิสสัน ลีฟมีความตั้งใจ ในการทำรถรักษ์โลกมากกว่าแค่รถยนต์ไฟฟ้า ทางนิสสัน จึงจับเอาขยะบางส่วนที่เราทิ้งขว้างจนซาเล้งเก็บไปชั่งกิโลขายมาเป็นวัตถุดิบทำอุปกรณ์ภายในรถใหม่บางอย่าง อาทิ วัสดุเบาะทั้งหมดในห้องโดยสาร รวมถึงที่ผมนั่งอยู่ ทำมาจากพลาสติดประเภท PET ส่วนใหญ่มาจากขวดน้ำดื่มที่ทานกันเป็นประจำ
เช่นเดียวกันพลาสติดคอนโซลแผงประตูต่างๆ มาจากวัสดุพลาสติดยานยนต์เก่าที่ถูกขึ้นรูปมาใหม่ แล้วนำมาติดตั้งในรถ ไปจนถึงวัสดุซับเสียงบางจุด ทำมาจากผ้าเก่าๆ ต่าง ซึ่งทั้งหมดทำให้รถคันนี้อาจดูไม่หรูหราไม่น่าแพงถึง 1.9 ล้านบาทไปบ้างก็ตามที
ใต้เรือนร่างเจ้ารถยนต์ไฟฟ้า นิสสัน ลีฟ แนะนำระบบขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังเทียบเท่าเครื่องยนต์ 150 แรงม้า ตั้งแต่ 3,283 – 9,795 รอบต่อนาที และทำแรงบิด 320 นิวตันเมตรสูงสุดตั้งแต่ออกตัวจนถึง 3,283 รอบต่อนาที ส่งกำลังบำรุงด้วยชุดแบตเตรอ์รี่ลิเธียมไอออนขนาด 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง กำลังขับลงชุดถ่ายกำลัง Single Speed Gear Reduction ไม่มีอัตราทดมาเย่อให้รู้สึกสนุกแบบรถยนต์ปกติทั่วไป
เพียงป้ายเท้าลงไปบนคันเร่งของมัน รถก็จะพุ่งปรี๊ดเป็นปรอทแตกไปข้างหน้าอย่างทันอกทันใจ ความรู้สึกใกล้เคียงรถสปอร์ต ดึงหลังจมเบาะถีบตัวหนักแน่นคล้ายรถกระบะ แต่ไม่มีซุ่มเสียงแผดยาวๆ ให้กวนใจ เวลาจอดนิ่งๆ ท่ามกลางรถติด จะไม่มีแรงสั่นสะเทือนใดมารบกวน ทำให้รู้สึกผ่อนคลายกว่าพอสมควร
เมื่อจะออกตัวเดินทางไกลขับทางยาวๆ รถยนต์ไฟฟ้าจะวิ่งเงียบกริบไร้เสียงรบกวนใดๆ มีเพียงเสียงลมกับเสียงยางจากถนน มาทักทายให้รู้สึกถึงความเร็วกันบ้าง และด้วยการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า มันจึงมีแรงบิดทันทีทุกเมื่อที่เราต้องการ (Instant Torque) กดเรียกเป็นมาพุ่งไปมุดได้แทบทุกรู ที่อยากไปไม่ต้องรอจังหวะเกียร์ปรับอัตราทด หรือรอรอบเครื่องให้ได้แรงบิดสูงสุด รอให้เทอร์โบทำงาน
นิสสัน ลีฟ มุดง่ายมาก เพียงกดคันเร่งลงไปรีดกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า ทันทีที่กดเท่ากับทันทีที่เร่ง เมื่อไม่มีช่วงหน่วงจังหวะการขับขี่ทำให้คุณรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นในยามต้องเร่งแซง ยิ่งเมื่อขับในเมืองพวงมาลัยนิสสัน ลีฟวิศวกรรมมาเบาหวิวขับง่าย เอาใจสตรีเพศสุดๆ ท่านชายอาจจะถูกใจสิ่งนี้ถ้าคุณเป็นนักมุดนักปาดมืออาชีพ
แถมด้วยการจัดวางแบตเตอร์รี่ไว้ตรงกลางตัวรถ ทำให้จุดศูนย์ถ่วงเจ้านี่อยู่ต่ำกว่ารถยนต์ปกติทั่วไป เวลาเข้าโค้งรู้สึกได้เลยว่าการโคลงตัวน้อยกว่า รวมถึงเวลาคุณเปลี่ยนเลนด้วยความเร็ว เจ้าใบไม้สายรักษ์โลก ไม่ทำให้ผิดหวัง รู้สึกดูไม่มั่นใจ มันกลายเป็นรถที่ผมรู้สึกได้ถึงสมรรถนะในการขับขี่ที่ดีมั่นใจ มากกว่ารถยนต์คอมแพ็คคาร์บางรุ่น
น่าเสียดายทางนิสสันยังใช้หลักการวิศวกรรมช่วงล่างด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม ทำให้ในบางจังหวะผ่านถนนขุรขระจะมีอาการดีดเด้งบาง โดยเฉพาะช่วงคอสะพาน มันไม่มีทางนุ่มนวลเท่ารถช่วงล่างหลังอิสระ ถ้ามองว่ารถคันนี้เน้นขับสั้นๆไปกลับบ้านชานเมืองเข้ามเองทำงาน ก็ถือว่าทำได้ดีทีเดียว
ในรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ ยังมีระบบพิเศษที่เรียกว่า E- Pedal เอาแรงต้านของมอเตอร์ไฟฟ้าเมื่อทำงานในมุม Regenerative Motor มาใช้ให้เกิดประโยชน์ จนคุณไม่จำเป็นต้องใช้เบรกในขับรถเลยอย่างได้
ระบบนี้ไม่ทำงานอัตโนมัติ ต้องเปิด-ปิดเอาเองที่คอนโซลกลาง คำแนะนำผมคือ ให้ใช้เวลาขับรถในเมืองจะเหมาะที่สุด เนื่องจากใช้ความเร็วต่ำ เมื่อคุณเหยียบคันเร่งรถก็จะเร่งปกติ แต่เมื่อปล่อยคันเร่ง มอเตอร์ไฟฟ้าจะช่วยหน่วงความเร็วให้สูงสุด 0.2 G ดีพอจะช่วยคุณหยุดรถได้โดยไม่ต้องเบรก
เท่าที่ทดลองขับมาด้วยความเร็ว 80 ก.ม./ช.ม. ระยะหยุดรถ จะอยู่ที่ 40-50 เมตร โดยประมาณ ขับช่วงแรงอาจรู้สึกแปลกๆ หน่อย พอเริ่มชินก็จะกะระยะได้เก่งขึ้น ว่าเมื่อไรควรปล่อยคันเร่งให้รถไหลจนหยุดไปเอง
ทางนิสสันเผยว่า การใช้ e-pedal ช่วยในการขับขี่ในเมืองทำให้รถมีระยะทางการขับขี่ดีขึ้น โดยเฉพาะถ้าใช้ร่วมกับ Eco Mode อาจได้ระยะทางสูงสุดตามที่เคลมจาก NEDC , 311 กิโลเมตร แต่ตอนที่ผมขึ้นมาบนรถทีแรกเห็นระยะทางเพียง 276 กิโลเมตร และเมื่อกด Eco Mode เพิ่มเป็น 285 กิโลเมตร
จากการขับจริงในภาวะขับรวมๆ ในเมือง รถติด- วิ่งชานเมืองเข้าเมือง ผ่านทางถนนการจราจรสุดโหด แล้ววนกลับมายังจุดเริ่มต้นบนถนนพระราม 9 การขับทดสอบทั้งหมดวิ่งด้วยระยะทาง 99.7 กิโลเมตร เหลือระยะทางขับได้อีก 148 กิโลเมตร (แบตเตอร์รี่เหลือ 56% ) เท่ากับนิสสันลีฟจะขับได้ 250 กิโลเมตรในโลกความจริง
ถ้านำเอาระยะทาง มาคำนวณความประหยัดที่เราใช้ในการขับทดสอบจะพบว่า วันนี้เราใช้ไฟฟ้าไปเพียง 17.6 กิโลวัตต์ เมื่อคำนวณปริมาณไฟฟ้าในแบตเตอร์รีที่เราใช้จริง และจะใช้เวลาชาร์จไฟฟ้าประมาณ 6 ชั่วโมงเท่านั้น (ถ้าใช้ที่ชาร์จพกพาที่ให้มากับรถ)
ค่าไฟฟ้าปกติตีว่าหน่วยละ 4 บาท วันนี้ผมเดินทางรอบเมืองโดยใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอร์รี่เป็นเงินทั้งสิ้น 17.6*4 เท่ากับเพียง 70.4 บาทเท่านั้น ถ้านำมาหารเป็นค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรกับตกเฉลี่ย กิโลเมตรละ 70 สตางค์เท่านั้นถือว่าถูกมากเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี Nissan LEAF มี 2- 3 ประเด็นที่ควรรู้ก่อนคบหาดูใจควงมาจอดที่บ้าน เป็นคู่ใจคันใหม่ในดรงรถของคุณ
ประการแรก การชาร์จรถยนต์ นิสสัน ลีฟ มีหัวชาร์จ 2 ประเภท คือ หัวชาร์จญี่ปุ่น Chademo ซึ่งในไทยไม่เคยเห็นมีในสถานที่ชาร์จสาธารณะ ส่วนหัวชาร์จอีกแบบ เป็นหัวชาร์จประเภท Type 1 มีตัวชาร์จพกพาให้กำลังไฟชาร์จ 3.6 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง แถมมากับรถ ใช้เวลา 12 ชั่วโมงจึงจะชาร์จแบตเตอร์รี่จากศูนย์ จนเต็ม 100% แต่เต้าเสียบดันเป็นเต้าเสียบอุตสาหกรรม หาที่ใช้ยากและไม่มีทางจะได้ใช้เลย เว้นแต่คุณเดินเต้ารับอุตสาหกรรมใหม่ (ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม)
ถ้าต้องการชาร์จไฟให้เร็วกว่านี้ต้องติดตั้ง Wall Box มีราคาค่าตัวราวๆ 2-3 หมื่นบาท จาก Delta Electric ให้กำลังชาร์จ 6.6 กิโลวัตต์ ใช้เวลาชาร์จจนเต็มเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้าคิดว่าติดตั้งหัวชาร์จที่บ้านเพิ่มไม่สะดวก ทางนิสสันให้สายเคเบิลมาตรฐานแปลกหัวชาร์จจาก Type 1 เป็น Type 2 ในรถทุกคันด้วย สามารถใช้ได้กับตู้ชาร์จสาธารณะ EA Anywhere ส่วนผลกระทบสายแปลงเรายังไม่ได้ทดลองในครั้งนี้
ข้อต่อมาเราจะพบว่า Nissan LEAF เวอร์ชั่นขายในไทย ยังเป็นเวอร์ชั่นปกติแบตเตอร์รี่ 40 Kwh แถมยังไม่ใช่รถรุ่นท๊อปออพชั่น ซึ่งจะมีระบบช่วยขับอัตโนมัติต่างๆ ติดตั้งมาด้วย ไม่ว่าจะระบบ Pro Pilot 2.0 ,ระบบอ่านป้ายจราจร, ระบบอ่านเส้นจราจร (ทั้งที่รถแบรนด์อื่นเริ่มแนะนำเข้าสู่ตลาดมานานแรมปี)
ผมเรียนสอบถามฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์ นิสสัน ลีฟ ว่าทำไมบ้านเราถึงไม่เอาเวอร์ชั่นท๊อปมาขายเลย (ไหนๆ จะขายราคาแพงแล้ว ก็น่าจะให้ออพชั่นครบๆ) ได้รับคำตอบว่า มีความกังวลเรื่องราคาขาย เนื่องจากปัจจุบันราคาก็ถือว่าแพงจนหลายคนถอยกรูดไปตามๆ กัน อันเป็นผลพวงจากภาษีนำเข้าและกำแพงภาษีในประเทศไทย
ในมุมมองผมคิดว่า ถ้าไหนๆ จะนำเข้าราคาแพงแล้ว ก็ควรจะมาแบบจัดเต็มไปเลย น่าจะดีกว่า ถ้ามีออพชั่นล้ำสมัยต่างๆ ให้ลูกค้าได้ลิ้มลอง เพราะคนกลุ่มที่เป็น Innovator คงไม่ชอบเพียงว่าขับรถยนต์ไฟฟ้ามันดูโก้เก๋ เชื่อนะว่าพวกเขาต้องการอะไรมากกว่านั้น
นอกจากนี้ก็ไม่แน่ใจว่า ทางเลือกอย่างสีรถ ทำไมต้องจำกัดกับลูกค้า ทั้งที่ลูกค้ากลุ่มซื้อราคาขนาดนี้ต้องการทางเลือกในการใช้เงินของพวกเขา อย่างน้อยถ้าเลือกสีได้ก็ยิ่งน่าจะยังพอดึงดูดใจลูกค้าได้บ้างไม่มากก็น้อย
วันนี้แม้ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตสั้นๆ กับรถยนต์ไฟฟ้า นิสสัน ลีฟ วันนี้มาถึงไทยในราคา 1.99 ล้านบาท เราต้องยอมรับว่าราคาแพงจนทำเอาหลายคนที่เคยเตรียมเฮถอยหนี หลังจากขับ ผมว่ารถยนต์ไฟฟ้า นิสสัน ลีฟ ขับดีพอสมราคาคุย และตำแหน่งรถยนต์ไฟฟ้าเจ้าตลาดโลก เพียงแต่ต้องยอมรับว่า มันขาดอีกหลายออพชั่นที่ควรมี ไม่ว่าจะระบบ Pro Pilot การน่าจะมีทางเลือก รุ่น 60 กิดลวัตต์ ที่อาจจะเหมาะกับวิถีคนไทยชอบขับรถไปทั่วมากกว่า การไร้ทางเลือกให้ลูกค้า
ถ้าคุณถามกลับว่า นิสสัน ลีฟ น่าซื้อไหมในเวลานี้ มันน่าซื้อถ้าไม่ตะขิดตะขวงใจเรื่องออพชั่นที่ให้มาน้อยไปนิด ยิ่งถ้ามองถึงความเป็น Dedicate Model หรือรถที่เกิดมาเพื่อสร้างเป็นรถยนต์ไฟฟ้า มีอีกรุ่นจากค่ายแบรนด์เกาหลี ผมว่า Nissan LEAF ดูน่าใช้กว่าเยอะ
เพราะแตกต่างจากรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอื่น ด้วยการเป็นรถที่ออกแบบและสร้างให้มันเกิดมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Dedicate Model ดังนั้นทรงของรถยนต์คันนี้ จะไม่ไปอยู่ในรถรุ่นอื่นแน่นนอน ถ้าคุณขับรถคันนี้ใครก็จดจำได้ว่าคุณขับรถยนต์ไฟฟ้าไม่มีทางที่จะสับสนกับรถรุ่นอื่นไปได้