การเปิดตัวมาสด้า 3 ใหม่ สร้างกระแสพูดถึงอย่างมาก การกลับมาของรถยนต์คอมแพ็คคาร์ไม้เบื่อไม้เมาเจ้าตลาด ผู้สร้างจุดขายในโลกยุคใหม่ แทบพูดได้เต็มปากว่า มาทีหลังปังกว่า ด้วยแนวคิดการออกแบบใหม่ พร้อมความคิดทางวิศวกรรมหักปากกาเซียน ได้สร้างกระแสในสังคมอีกครั้ง
มาสด้า 3 ใหม่ ถูกพูดถึงในหลายประเด็นจากคนทั่วไป จนอาจจะทำให้คนที่กำลังตัดสินใจซื้อไขว้เขว แต่นั่นไม่ได้ทำให้ยอดขายรถยนต์คันนี้สะดุด ยอดจอง 4 วัน 1,000 คัน ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นในยุคอเนกประสงค์ครองเมือง ทั้งที่ยังไม่มีรีวิวอ่านมากนัก นอกจากขับชิมลาง 2 รอบสนามทดสอบ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว
วันนี้ถึงเวลาเสียที กับการ ขับจริงบนถนน “มาสด้า” พาเราบินลัดฟ้าไปยังเมืองภูเก็ต สวรรค์แดนใต้ให้หวดเจ้าคอมแพ็คคาร์บนถนนหลวงเมืองไทยจริงจัง และหลังจากผมลองขับรถคันนี้ในรุ่น Fastback ผมพูดได้เต็มปากกว่า กลับรู้สึกเหมือนขับรถสปอร์ต ที่มีความเป็นรถบ้าน ทั่วๆไป หนึ่งคัน
All New Mazda 3 ใหม่ กลับมาพร้อมการออกแบบ Kodo Design เจนเนอร์เรชั่นที่ 2 งวดนี้มาสด้านำเสนอแนวคิดการออกแบบใหม่ (อีกแล้ว) พวกเขาคงจับทีมออกแบบไปฝึกวิชาเซน เข้าถึงจิตวิญญาณศิลปะญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิด Less is More (น้อยแต่มาก)
แนวความคิดนี้ นักออกแบบมาสด้า สะท้อนมาตั้งแต่ Mazda RX Vision Concept จนกระทั่งมาเป็น Mazda Kai Concept ต้นแบบว่าที่เจ้ามาสด้า 3 ในปี 2017
เราคงต้องปรบมือให้กับความกล้าของมาสด้า ท้าทายงานออกแบบ พวกเขาแทบจะเอารถต้นแบบมาขายจริงเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะเจ้ารุ่น 5 ประตู งวดนี้ใช้คำเรียกใหม่ว่า “Fast back” อันมาจากงานออกแบบเทลาดเส้นหลังคา ตั้งแต่กลางตัวรถมายันบั้นท้าย
ถ้ามองเส้นสายงานคิลป์บนตัวรถมาสด้า จะเห็นได้ว่า มันดูสะอาดตาไม่หวือหวา มีเส้นคมสันให้รู้สึกกระแทกสายตาเวลามอง เหตุผลในการออกแบบรถสไตล์นี้มาจากความต้องการเล่นแสงและเงา จนบางครั้งมองบางมุมกลายเป็นดูเหมือนรถบุบ ทั้งที่เป็นเรื่องวิถีทางงานศิลป์
หนนี้ทางมาสด้า จัดการปรับบุคลิกงานออกแบบ มาสด้า 3ใหม่ สะท้อนตัวตนแตกต่างกันมากขึ้น ในรุ่นซีดาน 4 ประตู มาสด้า วางแนวทางจับกลุ่มคนรักความหรู ดูพรีเมียมไม่สปอร์ตจ๋า เหมือนรุ่นที่ผ่านมา กลับกันรถคู่ใจเราในวันนี้ Mazda 3 2.0 SP Fastback กลับเน้นเด่นในความสปอร์ต บางมุมมองอาจกวน อารมณ์
เริ่มตั้งแต่กระจังหน้าคนละลาย รายละเอียด signature Wing ปรับเป็นสีดำเททัลลิคมาในโทนดุ กันชนหน้ามองเผินๆ อาจเหมือน ที่จริงสังเกตให้ดีมีรายละเอียดต่างกัน ไฟหน้าใช้ชุดเดียวกัน มาพร้อมโคมไฟโปรเจคเตอร์ ส่องสว่างด้วยไฟหน้า LED
ทางด้านข้างมาสด้าเติมรายละเอียดน้อยมาก พื้นประตูเน้นความโค้งมลปราดเปรียว เสา A บางลง เส้นหลังคาลาดเทจากช่วงเสา B ไปถึงตัวรถทางด้านหลัง ได้อารมณ์คล้ายรถสปอร์ต อย่าง Volkswagen Scirocco และ Hyundai Veloster ผสมผสานระหว่างกัน ตั้งแต่รุ่นกลางขึ้นมาติดตั้ง ล้ออัลลอยขอบ 18 นิ้ว พร้อมยาง 215/45/R18 ตอบลูกค้า ที่ดูแปลกตาที่สุด คงจะเป็นเสา C หนาเตอะ ทำเอาหลายคนรู้สึกถึงความบดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ และการโดยสารตอนหลังนั่งไม่สบาย
ทางด้านหลัง ผมมีโอกาสคุยกับ คุณโคอิชิโร่ ยามากุชิ ผู้จัดการโครงการพัฒนามาสด้า 3 ใหม่ เขาบอกว่า “รู้ไหม นี่คือจุดที่งานออกแบบเป็นจริงยากที่สุด”
ทีมออกแบบต้องเจรจราต๊ะอวยกับวิศวกรเถียงกันคอเป็นเอ็นในห้องประชุม เนื่องจากนักออกแบบดันใส่รายละเอียดไฟท้ายเข้ามาที่แผงประตูท้าย ในทางการผลิตถือว่าทำได้ยากมาก เราคงเคยเห็นแผงไฟท้ายในประตูมานับต่อนัก โดยมาก มันจะเป็นชุดทับทิม หรือโคมไฟหลอกตา วางไว้ให้สวยงาม
การใส่ไฟท้ายจริงเป็นหนังคนละม้วน ไฟท้ายในฝาประตูมันจะโปนถลึงออกมาคล้ายในมาสด้า 3 ตัวแรก ทีมออกแบบต้องการให้มันเนียนเรียบไปกับฝาท้าย นั่นหมายถึงพวกเขาต้องทำฝาท้ายให้บางลงแล้วยังต้องแข็งแรง เพื่อใส่ไฟท้ายเข้าไปด้วย มันยากเอาการ เนื่องจากต้องใช้การผลิตขั้นสูง เอาใจนักออกแบบ
คุณโคอิชิโร่ บอกผมว่า ถ้ามีโอกาสลองเปิดฝาท้ายดู จะพบว่า ประตูรวมกับไฟท้าย มีความหนาเท่าความหนาจอโน๊ตบุ๊คเท่านั้น
ฝาท้าย Mazda 3 Fastback จึงมีความยากในการผลิตจนเป็นคันจริง ความรู้สึกหลายคนอาจจะไม่คิดว่ามันจะยากเย็นอะไรขนาดนั้น
ผมตบเท้าเดินถอยหลังมองท้ายรถมาสด้า 3 ฟาสแบ๊ค มองหลายมุมคิดถึงท้ายรถอิตาลียี่ห้อที่ไม่ใช่ซุปเปอร์คาร์ รายละเอียดฝาท้ายเรียบเนียน ได้อารมณ์รถยุโรปมาเต็มๆ อีกจุดที่แตกต่างระหว่างรุ่น 4 ประตู กับ 5 ประตู คือไฟท้าย เจ้าฟาสแบ็คดีไซน์ไฟท้าย โดนัท 4 ดวง ทรงเขม่นตามองรถคันหลัง ได้ความกวนอารมณ์ ….
ความจริงแล้ว ผมมองมาสด้า 3 ใหม่หลายครั้ง พลันนึกถึงงานออกแบบมาสด้ารุ่นแรก มันมีกลิ่นอายหลายอย่างคล้ายกัน อาทิเสา C หนา ในรุ่น 5 ประตู หรือท้ายสั้นในรุ่น 4 ประตู นี่ยังไม่รวมการใส่รายละเอียดไฟท้ายในบานประตู จนในความรู้สึกบางอารมณ์ เหมือนมาสด้า หยิบงานเก่ามา Cover ใหม่
เปิดประตูสำรวจห้องโดยสาร ประตูบานหน้า-หลัง มีขนาดกำลังดี มองแล้วก้าวเข้าออกสะดวกโยธิน สิ่งเดียวที่เป็นอุปสรรคสำหรับคนตัวสูง หนีไม่พ้นหลังคาเตี้ย ท่าเข้าห้องโดยสารที่ดี ต้องก้าวเท้าเข้าไปก่อนแล้วย่อตัวตาม ระวังหัวศรีษะจะได้ไม่โขกจนต้องพึ่งยาหม่องตราถ้วยทอง
ด้านหลังการเข้าออกจะลำบากกว่าเล็กน้อย เนื่องจากเส้นสายสาย 5 ประตูเทลาดเองลงทางด้านหลังตั้งแต่เสากลางเป็นต้นไป ทำให้ห้องโดยสารทรวดทรงดูแคบเข้าออกยากขึ้นไปอีก ในความรู้สึก
เมื่อหย่อนตัวลงบนเบาะนั่งสัมผัสแรกรู้สึกได้ว่าเบาะนั่งโอบช่วงเอว เมื่อจัดท่านั่งต่างๆ ลงตัวตามสูตรสำเร็จ จะพบว่าเบาะดันช่วงก้นกบเล็กน้อย ตัวเบาะชุดนี้ดีงามเรื่องการปรับท่านั่งได้ละเอียดด้วยความสามารถปรับไฟฟ้า 10 ทิศทาง พร้อมบันทึกท่านั่งได้ 2 ตำแหน่ง เบาะมีตัวดันหลังมาให้เสร็จสรรพ ช่วงน่องสามารถปรับรองช่วงต้นขาเพิ่มได้นิดหน่อย หัวหมอนดันช่วงหัวเล็กๆไม่มากนักกำลังดี ท่านั่งองค์รวมเมื่อได้ท่านั่งค่อนข้างสบาย แม้จะดูบีบๆ ช่วงสะโพกก็ตาม
ตรงหน้าคนขับ มาสด้า ปรับรายละเอียดเรือนไมล์ใหม่ แม้นจะเป็นทรง 3 วงกลมไม่เปลี่ยนแปลงจากรุ่นเดิม แต่วงกลมตรงกลาง เป็นชุดจอแสดงผล TFT LCD ขนาด 7 นิ้ว สามารถปรับรายละเอียดการใช้งานได้หลายรูปแบบ อาทิ เป็นเรือนไมล์ความเร็ว, เป็นจอแสดงการทำงานระบบความปลอดภัย I Active Sense
ในเรือนไมล์นี้ ทางด้านซ้ายมือเป็นวัดรอบเครื่องยนต์ ด้านขวาบอกค่าอื่นๆ ที่จำเป็นต้องรู้ และขอบคุณมาสด้า ที่ไม่ตัดตัววัดอุณหภูมิหม้อน้ำออกไป แม้นเด็กรุ่นใหม่จะไม่รู้ว่ามันมีประโยชน์อย่างไร หรือบางค่ายรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องแสดงผล ส่วนตัวผมกลับรู้สึกอุ่นใจ ที่มันอยุู่บนหน้าปัด เตือนทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ
บางข้อมูลมาสด้า ก็ดันทำรวบจนแรกๆ ไม่ชิน อย่างระดับน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเกจดิจิตอลงวางตั้งเอาไว้ ข้างจอ TFT ในการบอกระดับตรงนี้ จะทำหน้าที่ควบคุมกับคำนวณระยะทางที่เหลือวิ่งได้ ส่วน Odo Meter จะอยู่ทางฝั่งซ้าย ข้างๆ เรือนไมล์รอบเครื่องยนต์
กวาดตารอบๆ เทียบกับรุ่นเดิม รายละเอียดในห้องโดยสารต่างๆ ดูสะอาดตากว่าที่เคย งวดนี้ หน้าตา Head Up Display อันจิ๋ว ดูแล้วปวดตามากในรุ่นเดิม กลายเป็นอุปกรณ์ สะท้อนบอกข้อมูลบนกระจกบังลมหน้า คล้าย Mazda CX-5
วงพวงมาลัยเปลี่ยนงานออกแบบใหม่ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนผมยืมเจ้า Mazda MX-5 ใหม่ ไปซิ่งเล่น และมันดูเหมือนพวงมาลัยวงนี้ไม่มีผิดเพี้ยน ตัวพวงมาลัยไม่เหมือนแนวคิดค่ายอื่น อยากให้ห้องโดยสารดูสปอร์ต ต้องปรับพวงมาลัยเป็นวง D Shape
มาสด้าโยนความคิดนี้ทิ้ งพวงมาลัยพวกเขาเป็นวงกลมธรรมดา ดูเรียบหรูหุ้มด้วยหนัง มีปุ่มต่างๆ ให้ใช้งานเท่าที่จำเป็นวางอยู่บนก้าน ซ้าย-ขวา ไม่ว่าจะปุ่มควบคุมจอเรือนไมล์ ,ปรับเครื่องเสียง หรือ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ขนาดพวงมาลัยกำลังดีไม่ใหญ่เว่อราวกับขับรถเมล์ หรือ เล็กราวกับขับรถโกคาร์ทในสนามแข่ง กลับให้ความรู้สึกดูดี
เหลียวมองตรงกลาง ระบบ Mazda Connect ให้ จอภาพขนาด 8.8 นิ้ว ทรงจอ ยาวมากขึ้น ชุดจอนี้ควบคุมด้วยปุ่มในตำแหน่งคอนโซลกลางเป็นหลัก บอกข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม รวมถึงรายละเอียดระบบความบันเทิงในรถ
ถัดลงมาเป็นระบบปรับอากาศ แยกอิสระซ้ายขวาได้ตามต้องการ น่าเสียดาย มาสด้าดูงกเรื่องช่อง USB สักหน่อย มีเพียงจุดเดียวที่เห็นด้วยสายตา อาจจกลัวว่ามากไปแล้วจุดูไม่สวยงาม
ตัวคอนโซลกลางได้รับการออกแบบใหม่หมด จุดเปลี่ยนแปลงหลัก คือที่วางแก้วน้ำ ย้ายไปไว้ด้านหน้า ทำให้มีพื้นที่ในการเก็บของมากขึ้น ช่วงคันเกียร์ มีปุ่มโหมดสปอร์ต พร้อมระบบเบรกมือไฟฟ้า และเบรก Auto Hold มาให้ครบคัน ส่วนที่ผมชอบเป็นพิเศษ หนีไม่พ้นกล่องคอนโซลกลางขนาดใหญ่ ใส่มาให้ครบ การเปิดกล่อง อาจจะประหลาดสักหน่อย ต้องเลื่อนถอยหลังแล้วพลิกฝา ตัวฝาเอง ทำได้ทั้งปิดกล่องคอนโซลและเป็นที่เท้าแขนในระหว่างขับขี่ ตัวฝาเลยหุ้มหนังมาให้ครบครันเสร็จสรรพ
หลายคนจะซื้อมาสด้า 3 กังวล เรื่องการโดยสารตอนหลัง ได้ข่าวว่าแคบมหาประลัย ทั้งที่ฐานล้อเพิ่มไปกว่า 25 มม. เรื่องนี้ผมเองมีโอกาสไปลองนั่งเป็นระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร ระหว่างปล่อยเพื่อนสื่อขับทดสอบ พูดกันตามจริงว่า คนตัวใหญ่ไซส์หมี อาจจะนั่งแล้วรู้สึกว่าพอดีตัว ไม่ได้รู้สึกแคบอย่างที่หลายคนเข้าใจ ระยะวางเท้าจัดมาพอดี เข่าไม่ชน พื้นที่เหนือหัวมีอีกเพียงนิดหน่อย แค่ไม่เหลือมากนัก
ลักษณะท่านั่งตอนหลังรุ่น ฟาสแบ็คจะให้ท่านั่งชันหลังขึ้นมาหน่อย ผมเข้าใจว่าสาเหตุหนึ่งที่สำคัญมาจากเสาซีหนา ถ้าเอนมากไปจะเห็นช่วงเสาตรงขอบสายตาทำให้อาจรู้สึกว่ามันคับแคบได้ ทีมออกแบบมาสด้าคงตระหนักเรื่องเลยทำหลังให้ชัน เพื่อให้สายตาคนนั่งหลังอยู่ตรงช่วงปลายกระจกข้าง
ส่วนความสบายเบาะนั่งเห็นแบบนี้อยากจะบอกว่าชั้นหนึ่ง ตัวเบาะนั่งมีความนุ่มสบายพอตัวเมื่อรวมกับชุดหนังที่นำมาใช้ตบแต่งรถ ตรงกลางมีที่เท้าแขนมาให้ใช้งาน แอร์ตอนหลังมีมาให้ ขาดเพียงช่อง USB สำหรับชาร์จมือถือ สมควรจะให้มาสักหน่อยก็ได้
การทดลองขับ
เวลามีน้อย ผมไม่รอช้ากระโดดขึ้นตำแหน่งคนขับไม้แรกทันควัน ใต้เรือนร่างมาสด้า 3 ใหม่ มีการพัฒนาหลายเรื่อง ผมจะเล่าให้ฟังสั้น ๆ ก่อนไปขับพิสูจน์กัน (เล่ายาวๆ ไว้รอจับมันมาขับเองอีกที)
มาสด้า 3 ใหม่ ด้วยความเป็นรถคอมแพ็คคาร์ ตัวทำเงินของมาสด้า มันจึงเป็นรถที่มีพการพัฒนาหลายอย่าง หนึ่งในหลายสิ่งที่มาสด้าตั้งใจใส่เข้ามานอกจากการออกแบบสุดงดงามภายนอก มันยังเป็นรถรุ่นแรกในบริษัทได้โครงสร้างใหม่ Mazda Sky Activ Vehicle Architect
การพัฒนาโครงสร้างใหม่ของมาสด้าฟังอาจจะคิดว่า คงเหมือน TNGA ของ Toyota หรือ Subaru Global Platform ความคิดของมาสด้าไกลกว่านั้น พวกเขาศึกษาธรรมชาติการเดินของมนุษย์ พบว่า เวลาเราเดินหัวเราจะไม่สั่นคลอนไปมา หรือถ้ามีก็น้อยมาก
หลักการศึกษาวิจัยดังกล่าว ถูกนำมาสร้างเป็นหัวข้อพัฒนาโครงสร้าง 4 ประการสำคัญ คือ
-เบาะนั่งจะต้องมีการโอบกระชับช่วงสะโพก และ ทำให้กระดูกสันหลังมีทรง S Shape
-โครงสร้างมีความแข็งแรงและเก็บเสียงที่ดีขึ้น
-ระบบช่วงล่างจะต้องทำงานในเชิงการซับแรงกระแทกแนวตั้งดีขึ้น
-ลดช่วงห้ตัวของยางในแนวตั้ง ลดแรงสะเทือนที่เกิดขึ้นในระหว่างการขับขี่
แนวคิดทั้งหมด ในแง่การวิศวกรรม พวกเขาพัฒนาเบาะนั่งใหม่ เปลี่ยนตั้งแต่โครงสร้างตัวเบาะ เราจึงรู้สึกว่านั่งแล้วฟิตตูดฟิตก้นกว่าเดิม ที่มีตัวดันหลังมาให้เพื่อทำให้สรีระกระดูกสันหลังเราโค้งให้ความสบายในการขับขี่
ในด้านตัวรถมาสด้า พัฒนารถมาสด้า 3 ใหม่ พิถีพิถันเลือกใช้เหล็กมากขึ้นในแต่ละจุด อาทิ ส่วนที่ต้องรับแรงกระแทกกระเทือน จะใช้เหล็ก High Tensile Steel 1,310 mpa , 1,180 Mpa และ 980 MPa ในระหว่างการเชื่อมต่อโครงสร้างจะวางวัสดุซับเสียงระหว่างเชื่อมโครงสร้างเก็บเสียงในห้องโดยสาร ตลอดจนยังวางแผนในการเจาะรูโครงสร้าง ไม่เจาะสุรุ่ยสุร่าย ทำให้มีเสียงรบกวน
เรื่องการพัฒนาระบบกันสะเทือน ก็น่าจะอย่างที่หลายคนรู้ว่า หลักๆ คือ เปลี่ยนระบบกันสะเทือนหลังเป็น ทอร์ชั่นบีม (Torsion Beam) พาเอาสาวกคนชอบวิจารณ์ถึงกับหยิบยกมาเป็นประเด็นเรื่องการลดต้นทุน ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบกันะสะเทือนทั้งหมด
ผมถูก คุณ โคอิชิโรj เรียกไปคุยส่วนตัว (หลังขับทดสอบ) เพราะแกจำได้ว่า ผมเคยถามเรื่องระบบช่วงล่างหลังมาสด้า เมื่อครั้นงาน Sneak Preview , เขาบอกผมว่า ทอร์ชั่นบีมเราไม่ได้เหมือนค่ายอื่น มีความพิถีพิถัน ในการเลือกใช้เหล็ก คานขวาง รวมถึงการปั้มขึ้นรูปคานขวาง และที่สำคัญที่สุดเลย คือ การพัฒนา Bushing (ลูกยางช่วงล่าง) ด้วยเทคโนโลยีใหม่ สามารถผสมคุณลักษณะเนื้อยางได้ 2 ด้าน (เข้าใจว่าน่าจะเหมือนหน้า A หน้า B) รวมถึงติดตั้งลักษณะของหัว Ball joint ในบางจุด
สาเหตุสำคัญ!! ทำไมมาสด้าเลือกใช้ทอร์ชั่นบีม คุณ โคอิชิโร่ บอกว่า เพราะต้องการจัดการแรงสะเทือนจากถนนที่ส่งมาจากยาก ให้ไม่มีแรงสะท้อนต่อเนื่อง จากเดิมทียืดยุบ จะเกิด 2 แรง ให้เหลือแรงเดียว ยกตัวอย่างการขึ้นลูกระนาด จะเกิดแรงผลักไปด้านหลัง เมื่อล้อสัมผัสตัวลูกระนาด เช่นเดียวกันมันยังมีแรงสะเทือนขึ้นไปยังด้านบนด้วย
การเกิดแรงแบบนี้มาสด้าต้องการให้เป็นไปในจังหวะเดียว หรือ รวม 2 แรงเคลื่อนมาเป็นจุดเดียวจึงพัฒนาระบบช่วงล่างใหม่ โดยเฉพาะการเคลื่อนไวของปีกนก (ทางด้านหน้า) เขากล่าวว่า ถ้าเราเลือกใช้มัลติลิงค์ด้านหลัง จะทำให้มีการเคลื่อนตัวมากขึ้น เราต้องพัฒนาหรือใส่ Bushing ต่างๆ เพิ่มขึ้น มาสด้ามองว่า เราใส่ได้ไม่มีปัญหา จะทำแบบนั้นก็ได้ แต่ลูกค้าจะต้องดูแลพวกมัน
ดังนั้น เราจึงวิจัยแล้วพบว่า ถ้าเราใช้ทอร์ชันบีม นอกจากประหยัดค่าลูกหมากลูกยางให้ลูกค้าแล้ว เรายังจำกัดการเคลื่อนไหวตัวรถได้ง่ายขึ้นด้วย
ผมหวังว่า เรื่องนี้คงเคลียร์ สำหรับหลายคนที่ไถ่ถามประเด็นนี้เข้ามา
ในด้านยาง มาสด้าแค่เปลี่ยนแม็กใหญ่ขึ้นใช้ยางแก้มเตี้ยลง และยางที่มาสด้าใช้ จะเป็นยางที่มีขอบแก้มแข็งแรงหนาเป็นพิเศษ เพื่อซับแรงจากถนน ซึ่งในรถทดสอบ เราเห็นว่า มาสด้าเลือกใช้ยาง yokohama DB Decibel เข้าใจว่าเป็นรุ่น V552 ยางรุ่นนี้เป็นยางที่ให้ทั้งประสิทธิภาพและสมรรถนะในการขับขี่
…..
สตาร์ทเครื่องยนต์พร้อมออกเดินทาง ใต้เรือนร่างมาสด้า 3 ใหม่ทุกรุ่น Mazda ให้เครื่องยนต์ Mazda sky Activ G 2.0 Upgrade ให้กำลังสูงสุด 165 แรงม้า ทำแรงบิด 213 นิวตันเมตร ขับด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด
เครื่องยนต์ตัวนี้ได้รับการพัฒนาใหม่หลายรายการ ตั้งแต่ปรับปรุงท่อทางเดินน้ำในบล็อกเครื่องยนต์, หัวลูกสูบใหม่ ,แหวนลูกสูบใหม่ รวมถึงยังติดตั้งชุดหัวฉีดใหม่ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงรายการหลักๆ ที่เกิดขึ้นในขุมพลังบล็อกนี้
แม้นว่าจะไม่ได้มีกำลังเพิ่มขึ้นกว่ารุ่นเดิม หากสังเกตจะพบว่า เครื่องยนต์บล็อกนี้ปล่อยไอเสียน้อยลงเหลือเพียง 149 กรัม/กิโลเมตรเท่านั้น และแรงกำลังอัดเครื่องยนต์เหลือเพียง 13.0: 1 จากเดิม 14.0 : 1
หมายความว่า ในความจริงมาสด้า 3 ใหม่ มีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น เพียงแค่มาสด้าอาจะคิดว่าไม่ต้องทำกำลังเพิ่มขึ้นจากเครื่องยนต์รุ่นนี้
ระหว่างสนทนากับคุณ โคอิชิโร่ ผมบอกว่า ทำไมมาสด้าไม่ทำเครื่องยนต์บล็อกนี้ให้แรงทั้งที่รู้ว่า อีกเพียง 8 แรงม้า ก็เท่ากับ Honda Civic 1.5 เทอร์โบ ผมเลยแนะนำให้พวกเขาพัฒนาเครื่องยนต์ให้มีกำลังเป็น 173 แรงม้า อย่างน้อยก็เท่าเจ้าตลาด
คุณโคอิชิโร่เข้าใจที่ผมพูด เขายินดีจะส่งการวิพากษ์ของเราไปให้ทีมวิศวกรที่ฮิโรชิม่า … หลังเสร็จจากกลับไปสำนักงาานใหญ่
กลับมาในตอนนี้ผมกวาดพวงมาลัยออกจากจุดเริ่มต้น สัมผัสแรกมาสด้า 3 ระหว่างขับในทางแคบๆ จากโรงแรมไปสู่ถนนใหญ่ รู้สึกถึงความสปอร์ตทันทีได้สัมผัส
พวงมาลัยมาสด้า 3 ใหม่ น้ำหนักกำลังไม่มากหรือน้อยไป จังหวะควงมีความหนืดตึงมือ กระชับต่อการตอบสนอง มันจะเปลี่ยนทิศทางรถเมื่อเราหมุนเกิน 2 องศา ถือว่าเหมาะสมกำลังดีกับคนทั่วไปขับรถ เร็วกว่านี้เหมาะกับสายฮาร์ดคอร์
การซ้อมมือช่วงแรกเข้าสู่การทดสอบจริงจังเมื่อเราขับออกถนนใหญ่ข้ามสะพานสารสินไปพังงา ถนน แถวพังงา เพิ่งจะทำใหม่ เป็นฝั่งละ 2 เลน เสน้ทางมีความคดโค้งอยู่บ้าง พอให้สนุกสนานได้ตลอดทาง
เมื่อขับไปเรื่อยๆ สังเกตว่า เสียงเครื่องยนต์บล็อกใหม่จะเงียบกว่าบล็อกเก่าพอสมควร โดยเฉพาะเวลาคิกดาวน์ถีบรอบเครื่องเร่ง ยัน ช่วงแรงม้าสูงสุด เสียงของมันดูเงียบกว่ารุ่นที่ผ่านมาพอสมควร
การตอบสนองชุดเกียร์ 6 สปีด งวดนี้ปรับปรุงโปรแกรมใหม่ ช่วงเวลาเราคิกดาวน์ไปแล้วเร่ง ถ้าถอนเท้า เกียร์จะไม่รีบตัดรอบไปเกียรสูงกว่าทันที มันจะค้างตำแหน่งเดิมอยู่ประมาณ 2-3 วินาที เพื่อให้เราสามารถกดเร่งเพิ่มได้ถ้าต้องการ
เรื่องการตอบสนองของชุด Paddle Shift ถือว่าไวมาก กดเปลี่ยนกดเปลี่ยน การต่อเกียร์ ออกมาค่อนข้างเนียนในความเร็วต่ำ ส่วนความเร็วสูง จะมีดึงกระชากบ้างให้อารมณ์ Feel The Drive กันไป
การขับขี่อันสนุกเร้าใจ ขาดไม่ได้คงจะเป็นระบบกันสะเทือนตัวรถ หลายคนสบประมาทการใช้ทอร์ชั่นบีมของมาสด้า ว่าไม่มีทางเข้าโค้งได้ดีเท่าระบบมัลติลิงค์ ใครขับรถไปภาคใต้บ่อย คงจะรู้ดีว่า ภายใต้บ้านเราถนนก็คดเคี้ยวไม่ธรรมดากับเขาเช่นกัน
ระหว่างทางผมขับใช้ความเร็วประมาณหนึ่ง แล้วเข้าโค้งอย่างรวดเร็วหลายครั้ง ความรู้สึกช่วงล่างมาสด้า 3 เวลาเข้าโค้ง เรียนตามตรงว่า ถ้าผมผูกตาคุณมานั่งมาสด้า 3 โดยไม่บอกว่าช่วงล่างหลังเป็นทอร์ชั่นบีม ก็คงต้องคิดว่ามันเป็นมัลติลิงค์แน่ มันเข้าโค้งได้เนียน
ต้องขอบคุณอีกผู้ช่วยสำคัญ ระบบ GVC Plus มันคือ ระบบ G Vectoring Control เดิม ถูกพัฒนาใหม่มีความสามารถในการตอบสนองเพิ่มขึ้น ระบบนี้จะทำงานร่วมกับเบรก จังหวะพวงมาลัย และคันเร่ง โดยลดความเร็วล้อนอกโค้ง ตอบสนองการเข้าโค้งดีขึ้น คมกริปในทุกจังหวะ
ระบบนี้เดิมทีทำงานดีอยู่แล้ว จังหวะการทำงานค่อนข้างเร็วพอสมควร เวลาเราเข้าโค้ง ในเวอร์ชั่นใหม่ มาสด้าพัฒนาการตอบสนองเร็วขึ้น คุณไม่ต้องตั้งท่าเข้าโค้งนาน ขับมาแล้ว โยนเข้าไปได้เลย ระบบจะช่วยคุณตลอดตั้งแต่เข้าโค้ง ซึ่งรุ่นใหม่มันทำงานจนกระทั่งคุณออกโค้งหรือ พวงมาลัยตั้งตรง และจากที่ขับท่ามกลางทางโค้งต่อเนื่อง เมืองพังงามันตอบสนองเวลาเราโยนจากโค้งหนึงไปถึงอีกโค้งได้ดีพอสมควร
มันให้ความมั่นใจในการขับขี่มากจนคุณไม่หวั่นในการทำความเร็ว แม้นเวลาขับเข้าโค้ง รวมถึงโครงสร้างใหม่ใช้เหล็กหนาขึ้น และระยะต่ำสุดถึงพื้นเพียง 135 มม. น้อยลงกว่าเดอิม 20 มม. ทำให้การโคลงตัวของรถยิ่งน้อยลงไปอีก ในหลายจังหวะ ผมลองเข้าโค้งในความเร็วเดียวกับเวลาที่ผมขับ Subaru XV รถส่วนตัว มาสด้า 3 ใหม่ ทำได้อย่างน่าเหลือเชื่อ เวลาเข้าแรงๆ ฟาสแบ็คจะให้อาการท้ายสไลด์เล็กๆ ได้ความรู้สึกควบคุมง่าย เพียงบังคับให้หน้าจิกโค้งไปตามไลน์ที่เราต้องการเท่านั้น
ผมรู้สึกว่ามันเป็นรถขับไปได้ตามใจคิดมากที่สุด ถ้าไม่นับรถหรูหราราคาหลายล้านบาท คนขับสนุกคนนั่งสบาย การยุบ-ยืดของโช๊ค โดยรวมเป็นไปในจังหวะเดียว ไม่มีอาการสะท้านต่อเนื่อง ยกเว้นเจอ 2 หลุดต่อกัน แน่นอนว่า ด้วยความเป็นทอร์ชั่นบีม ทำให้เวลารูดผ่านพื้นต่างระดับ อย่างคอสะพาน แรงกระแทกจากด้านหลังจะมากกว่าทางด้านหน้า
มันส่งคนนั่งหลังอาจรู้สึกว่านั่งไม่สบายตัวเท่า อย่างตอนหลังๆ ผมมานั่งด้านหลังค้นพบว่า เวลากระแทกหลุมด้านหลังจะสั่งสะเทือนกว่า ไม่สบายเท่าการนั่งหน้า ถ้าคุณมีคนโดยสารตอนหลังบ่อย อาจจะได้รับคำบ่นบ้าง ถ้าใช้ความเร็ว กลับกันกันถ้าใช้ความเร็วปกติชน 90-110 ก.ม./ช.ม. การซับแรงกระเทือนเวลากระแทกข้างหลังถือว่าทำได้ดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
จนรู้สึกขับเหมือนรถสปอร์ต การโดยสารมีความเป็นรถบ้าน ให้ 2 ขั้วต่างกันเมื่อคุณเปลี่ยนระหว่างตำแหน่งคนขับและคนนั่ง เป็นรถที่ทุกคนในบ้านอาจรักมัน
อย่างไรก็ดี มาสด้า 3 ใหม่ ไม่ได้มีดีเรื่องการขับขี่เพียงอย่างเดียว การเก็บเสียงในห้องโดยสาร เทียบกับคอมแพ็คคาร์จากญี่ปุ่นในวันนี้ ก็ถือว่า “ขั้นเทพ” เสียงลมผ่านเข้าห้องโดยสารถือว่าน้อยมาก เช่นเดียวกับเสียงจากผิวถนนเช่นกัน การเก็บเสียงที่ดี ทำให้ สุนทรีย์ในการขับขี่ดีขึ้น เวลาจะพูดคุยกับผู้โดยสารด้วยกันทำได้ง่ายขึ้น
ยิ่งกว่านั้น ด้วยการพัฒนาให้ห้องโดยสารเงียบขึ้น ทำให้คุณได้สุนทรีย์จากการฟังเพลงผ่านเครื่องเสียง Boseพกลำโพง 12 จุด ตอบความวัยรุ่นให้ความกระหึ่มสะใจ ระดับร้านเครื่องเสียงคงบอก ถ้าพี่จะใส่มาให้ขนาดนี้ผมปิดกิจการก็ได้
เครื่องเสียงชุดนี้ดีงามด้วยเสียงเบสแน่นๆ จากซับวูฟเฟอร์ และเสียงกลาง ขับจากลำโพง 8 เซนติเมตร รวมถึงชุดทวีตเตอร์ ซ่อนไว้ตามจุดต่างๆ ในห้องโดยสาร แถมการจัดวางลำโพงยังอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อให้คุณภาพเสียงดีที่สุด ระหว่างขับเพื่ออรรถรสความมันส์ในการขับขี่ เราต้องฟังเพลงจาก Linkin Park ผมพอใจกับคุณภาพเครื่องเสียงมาก ไม่นึกว่า จะเจอเครื่องเสียงติดรถที่มีคุณภาพประเสริฐขนาดนี้มาก่อน
สรุป All New Mazda 3 Fastback มั่นใจขับดีขึ้น 100%
ผมลงจากมาสด้า 3 ก่อนเปลี่ยนมานั่งในตำแหน่งคนนั่ง พร้อมคิดว่า มาสด้า 3 ใหม่ มันไม่ธรรมดาเลย
เอาความจริง ผมรู้สึกว่า มันเป็นรถตรงจิตตรงใจคนชอบขับรถ สมกับคำว่า Driver Centric Design คุณได้รถที่ขับสนุกในระดับหนึ่ง สามารถเข้าโค้งได้ราวกับรถสปอร์ต ขับมั่นใจสนุกทุกโค้ง ยิ่งใครรู้จังหวะ ใส่ไลน์เข้าโค้งเป็นด้วยแล้ว มันเป็นรถที่คู่ควรใช้ขับในประจำวัน จะรีบเร่งไปรับแฟน ก็หวดได้สบายมาก ไม่มีปัญหาใดๆ
ส่วนเรื่องว่า ใช้ทอร์ชั่นบีมแล้วไม่มีมีทางเข้าโค้งดีเท่าช่วงล่างมัลติลิงค์ ผมกล้าพูดว่า ไม่จริง!! เจ้านี่เกาะโค้งเนียนหนึบเป็นตุ๊กแก เว้นแต่จะเข้าโค้งด้วยความเร็วอภิมหาโคตรเร็วจริงๆ อันนั้นไปว่ากันอีกเรื่อง วันนี้เท่าที่สัมผัสเข้าโค้ง ที่ความเร็วผิดมนุษย์มนา 120-140 ก.ม./ช.ม. มันก็ทำได้ประทับใจ
ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างใหม่โยนตัวน้อยลง และ G Vectoring Control เมื่อมันทำงานรวมกับช่วงล่าง ความรู้สึกทุกครั้ง มัน รถสปอร์ตดีๆ นี่แหละ
ยิ่งกว่านั้นตัวรถให้ความรู้สึกพรีเมี่ยมในหลายองค์ประกอบ อาทิ การเลือกใช้วัสดุภายใน , การเก็บเสียงในห้องโดยสาร ตลอดจน เครื่องเสียงระดับคุณภาพ ฟัง Linkin Park ได้เสียงเบส กีตาร์กลอง ออกมาได้ครบเครื่อง ไม่เคยหาแบบนี้ที่ไหนได้ ยกเว้นเครื่องเสียงจาก JBL ในรถอีกยี่ห้อ ซึ่งเจ้านั้นราคาก็พุ่งสูงกว่าคันนี้อีกหลายแสน
ถึงแม้ผมจะชมเปราะหลายเรื่อง และวันนี้ไม่มีอะไรวิจารณ์นัก เราก็ยังบอกไม่ได้หลายเรื่องอาทิ อัตราประหยัด และการใช้งานในชีวิตประจำวัน
คำตอบพวกนี้ผมสัญญาว่า จะกลับมาตอบอีกครั้ง เมื่อ มีโอกาส นำมาสด้า 3 ใหม่ มาขับใช้งานใน Full Review … เร็วๆนี้ ยังไงคงต้องรบกวนทีมงาน มาสด้าด้วยนะครับ
เรื่องและขับทดสอบโดย ณัฐยศ ชูบรรจง